- - - - - - the soundtracks of my love : เพลงรักประกอบชีวิตของนิ้วกลม - - - - -






ดิฉันคิดอยู่ตั้งนานสองนาน ว่าจะเลือกกรุ๊ฟบล็อกของบล็อกคราวนี้ว่าจะให้อยู่กลุ่มไหนดีระหว่าง เพลง และหนังสือ เพราะสิ่งซึ่งจะบอกกล่าวกันต่อไปนี้เกี่ยวข้องกันกับทั้งสองอย่างด้วยอัตราส่วนที่เกือบจะเท่ากัน

มันว่าด้วยเพลงรักที่ประกอบสร้างชีวิต และความรักของหนุ่มคนหนึ่ง

หนุ่มคนนั้นมีนาม( แฝง) ว่านิ้วกลม

เรื่องมันเริ่มต้นจากบทสนทนาในเอ็มเอสเอ็น ระหว่างดิฉันที่นั่งหน้าจอท่ามกลางอากาศเย็นเล็กน้อยที่มุมหนึ่งของกรุงเทพ ในขณะที่อีกฝั่งของหน้าจออยู่ท่ามกลางอากาศเย็นจัด ๆ ณ เซี่ยงไฮ้ จริงๆ เรากำลังคุยกันถึงหนังสืออีกเล่มของเขา ไปๆ มาๆ เราก็โผล่ออกนอกเรื่องหนังสือเล่มนั้น ไปคุยถึงเรื่องความรัก คุยกันอย่างออกรสชาติขึ้นทุกขณะ จนดิฉันต้องบอกว่า " เอ๋ เขียนหนังสือรักให้พี่เล่มหนึ่งสิ" ( เอ่อ หมายถึงเขียนหนังสือรักให้ดิฉันตีพิมพ์) คราวนี้ล่ะจะ "แฉ " เรื่องความรักของนักเขียนหนุ่มมากเสน่ห์ ให้สาวๆ ได้รู้กันเสียที

กามนิตหนุ่มตอบรับทันดีทันใด แถมบอกบอกถึงโครงสร้างคร่าวๆ ที่เขาเคยคิดไว้
วันรุ่งขึ้น เขาส่งบทแรกของหนังสือเล่มนี้มาให้อ่าน แล้วจะไม่ให้เรียกเขาว่ากามนิตได้อย่างไร ทำอะไรรวดเร็วจริงๆ จนกระทั่งในอีกไม่กี่วันต่อมาต้นแบบของเขาก็เกือบจะเสร็จสมบูรณ์ เห็นเจ้าตัวบอกว่า เป็นหนังสือที่เขียนเร็วที่สุดในชีวิต และเขียนอย่าง "อิน" เสียด้วย

หนังสือเล่มนี้มันว่าด้วยเพลงรัก ที่ที่ถูกเปิดอยู่ระหว่างทางของความรักของ "นิ้วกลม" มันมีทั้งเพลงรัก เพลงเศร้า เพลงแห่งความฝัน และเพลงรักหวาน ( หยด)

วันที่ต้นฉบับเรื่องนี้ใกล้ๆ จะจบ เอ๋ก็โผล่หน้ามาทางจอสี่เหลี่ยม บอกว่า พี่แป๊ดครับ เรามาทำเพลงให้หนังสือเล่มนี้ด้วยกันไหม แสตมป์ แห่งงวง 7thSCENCE จะมาร่วมสนุกด้วย

" ... ไหนๆ แตมก็เคยแต่งเพลงหลังจากอ่านหนังสือของผมจบมาแล้ว (ซึ่งเป็นเพลงที่ผมฟังแล้วชอบมาก) ผมเองก็อยากเขียนเนื้อเพลงมาตั้งนานนม จนกระทั่งนมจะยานอยู่แล้วก็ยังไม่เคยมีเพลงออกมาฟังเล่นสักที ผมจึงลองกัดฟันชวนแตม "มาทำเพลงกันไหม ประกอบหนังสือเกี่ยวกับความรัก" ผมส่งต้นฉบับให้แตมอ่าน แล้วบอกว่า มาแต่งกันคนละเพลง แต่สุดท้ายแล้วเราลองทำงานกันแบบ "บุญธรรม พระประโทน" โดยใช้วิธี ไป-กลับ

เพลงหนึ่ง ผมเขียนเนื้อเพลงก่อน แล้วแตมเอาไปขยำกระทั่งเป็นเพลง (เก่งจริงๆ)

อีกเพลง แตมแต่งเลย เนื้อมาพร้อมทำนอง แล้วส่งมาให้ผมฟัง ผมก็แค่หยอดเนื้อบางส่วนลงไปในช่องว่างที่แตมเว้นเอาไว้ให้ "พี่บุญธรรม" ได้ทำหน้าที่ ซึ่งเพลงนี้ แตมจัดการไปเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ผมก็แค่ทำหน้าที่โรยผักชีนิดหน่อยเท่านั้นเอง

เพลงทั้งสองเพลง เสร็จคร่าวๆ แล้วครับ

เพลงหนึ่งชื่อ "วันแห่งความรัก"

อีกเพลงหนึ่งชื่อ "ทฤษฎีสีชมพู"

มันจะเป็นเพลงประกอบหนังสือเล่มที่ผมได้เกริ่นเอาไว้ ใช่ครับ หนังสือเล่มนี้จะมีซีดีแถมติดไปด้วย! "
นิ้วกลม บอกไว้ว่าอย่างนั้น


ใช่แล้วค่ะ มาถึงวันนี้หนังสือเล่มนี้จวนจะเสร็จเต็มที ทั้งเพลงที่แต่งใหม่ และหนังสือที่เขียนใหม่ของนิ้วกลม กุมภาพันธ์นี้ เจอกันแน่ๆ Limited Edition เสียด้วย

เพลงรักประกอบชีวิต ของคุณเป็นเพลงไหน เล่าสู่กันฟังบ้าง




เพลง ทฤษฎีสีชมพู - นิ้วกลมและแสตมป์




 

Create Date : 21 มกราคม 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:41:21 น.   
Counter : 3700 Pageviews.  

- - - - - เงาตนบนรอยซาย ความหมายและรางวัลแห่งการรอคอย - - - -






ซื้อหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ งานสัปดาห์หนังสือเมื่อเมษายน 2549 ผ่านไปปีกว่า ถึงได้สอยหนังสือลงมาจากชั้นหนังสือ และดีใจที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ข้ามปี 2550 ต่อปี 2551

เงาตนบนรอยซาย เป็นบันทึกของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ กับความพยายามบากบั่นถ่ายรูปกวางผา บนดอยอินทนนท์ และดอยอื่นๆ อีกหลายดอยซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำปิง ( ซายคือชื่อเรียกกวางผา ในภาษาม้ง) เขาใช้เวลารวบรวมภาพถ่ายอยู่ 3 ปี ( 3 ปีในการรวบรวมภาพ แต่ความสนใจที่มีต่อกวางผามีมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ม.ล.ปริญญากร ได้พบกวางผา บนดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอมก๋อย )

" ท้องฟ้าสีครามเข้มในฤดูหนาว หมอกหนาทึบในฤดูฝน ควันไฟป่าคละคลุ้งในฤดูแล้ง ผมดำเนินชีวิตไปพร้อมๆ กับบรรยากาศเหล่านี้" ม.ล.ปริญญากร บอกไว้ว่าอย่างนั้น ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาต้องฝ่าความหนาวเย็นและความเปียกชื้นของสายฝนไปรออยู่เป็นวันๆ ในซุ้มบังไพร เพื่อรอถ่ายภาพกวางผา ซึ่งในสามเดือนแรก แทบจะผ่านไปพร้อมกับความล้มเหลว เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพอย่างเขาย่อท้อ งานที่ทำอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เขาพบว่าการฝืนธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์อย่างเราๆ สามารถทำได้

การอ่านหนังสือของ ม.ล ปริญญากร เป็นการอ่านที่ให้อารมณ์แบบ สุภาพบุรุษ อารมณ์แมนๆ แบบนิ่งๆ ทำให้เราได้ไคร่ครวญถึงความต้องการจริงๆ ของชีวิต
สิ่งหนึ่งที่เรามักพบเสมอในงานของเขา คือการพูดถึงคนเล็กๆ ( ในความหมายของคนเล็กๆ จริง-ไม่ได้พูดเพื่อเอาเท่ เหมือนที่เรารู้สึกเวลาอ่านเจอในหนังสือเล่มอื่น)
คนเล็กๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ระดับล่างๆ คนม้ง คนกะเหรี่ยง คนเหล่านี้คือตัวละคร คือเพื่อนร่วมงานของเขา

ดิฉันชอบ ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้มาก เป็นตอนที่ ม.ล.ปริญญากร กลับมาจากซุ้มบังไพร ริมผา เมื่อมาถึงแค้มป์ที่พัก เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อนร่วมงาน ถามเขาว่า วันนี้ทำไมกลับช้า เขาบอกว่า มัวแต่ยืนดูกวางผายืนมองพระอาทิตย์ตกอยู่
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขา ถามกลับไปว่า ได้รูปดีใช่ไหม

" รูปไม่ดีหรอก แต่ได้ความรู้สึกดีๆ " ผมตอบ กวางผาตัวนั้นขึ้นมายืนบนชะง่อนหินตั้งแต่เย็น เขายืนนิ่ง นานๆ จึงหันมองทางซ้าย-ขวาสักครั้ง เวลาส่วนใหญ่คือมองไปทางขอบฟ้าด้านตะวันตก ช่วงเวลานั้นขอบฟ้ามีความงดงามไม่น้อยไปกว่าตอนเช้า

ขณะลัดเลาะไปตามหน้าผาในความมืดเพื่อกลับแคมป์ ผมรู้แล้วว่า ทำไมกวางผาชอบยืนอยู่บนชะง่อนหินเหม่อมองไปทางทิศตะวันตกยามพลบค่ำ

" ด้วยความรู้สึกแบบสัตว์ป่าตัวหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะได้พบกับแสงอุ่นๆ ของดวงอาทิตย์หรือไม่ การเฝ้ามองแสงงดงามช่วงสุดท้ายของวันนั้น เป็นเรื่องจำเป็น "
( เงาตนบนรอยซาย หน้า 125)

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ( ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้จบ ) ดิฉันค้นพบว่า หนังสือเล่มนี้ ตอกย้ำสิ่งที่ดิฉันเชื่อมาตลอด นั่นคือ ปลายทางและจุดมุ่งหมายอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก ระหว่างทางต่างหาก คือ สิ่งที่เราควรใส่ใจ การเร่งรีบดำเนินชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย อาจทำให้เราลืมมองรายละเอียดระหว่างทาง เวลาที่เรารอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรามักจะรีบร้อนให้สิ่งที่เรารอปรากฏขึ้นโดยไว จนเราลืมไประหว่างการรอนั้นมีสิ่งงดงามระหว่างทางเกิดขึ้นเสมอ

สวัสดีปี ใหม่ค่ะ

บล็อกที่เกี่ยวข้อง โลกระหว่างรอกาแฟ

ป.ล. กลับไปดูรายชื่อหนังสือที่ซื้อมาจากงานหนังสือเมื่อปีก่อนๆ ช่างดองได้ดีจริงๆ เห็นทีต้องค่อยๆ สอยลงมาจากชั้นหนังสือ เอามาอ่านเสียที ถือว่าเป็น wish list ของปีนี้เล้วกัน อ่านหนังสือที่ดองไว้ให้หมด






 

Create Date : 02 มกราคม 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:44:25 น.   
Counter : 2116 Pageviews.  

- - - - - The World is Round : เอาเข้าจริงโลกนี้ไม่ได้แบนหรอก - - - - -





หนังสือที่รวบรวม 20 ตอนแรกจากคอลัมน์ “ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์” ใน นสพ. ประชาชาติธุรกิจ โดย สฤณี อาชวนันทกุล ผู้เขียน รวมเล่มเรียบร้อย โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ ออกวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ชื่อคอลัมน์ก็บอกแล้วว่า ส่องคลื่นโลกาภิวัฒน์ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงตรวจสอบสิ่งที่มาพร้อมกับโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มที่ และเราคงปฎิเสธไม่ได้ว่ากระแสแนวความคิดหลักใหญ่ของศตวรรษที่ 21 คือกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งสฤณีบอกไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า

" ในสายตาของผู้ที่ชื่นชมโดยเพาะชนชั้นกลางผู้หลงใหลเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว โลกาภิวัฒน์เป็นพลังวิเศษที่กำลังเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ทำให้โลก "แบนลง" อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ดังคำกล่าวของ ธอมัส ฟรีดแมน ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง The Wold Is Flat: A Brief History of the Twenty-First Century ( โลกแบน ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของศตวรรษที่ 21 )

แต่ในสายตาของสฤณี และนักส่องคลื่นโลกาภิวัฒน์ อีกหลายคน ตั้งคำถามว่า โลกาภิวัฒน์ทำให้โลกแบนจริงหรือ ตัวอย่างหนึ่งที่สฤณี ยกมาจากบทวิจารณ์หนังสือ ชื่อ The World is Round โดยจอห์น เกรย์ วิจารณ์หนังสือ The Wold Is Flat ไว้และยกตัวอย่างตอนหนึ่งที่ฟรีดแมนเล่าถึงประสบการณ์ของเขาที่ไปเยือนสำหนักงานใหญ่ของบริษัทอินโฟซิส ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย

" ทางไปบริษัทอินโฟซิสคือ ถนนที่เป็นหลุม เป็นบ่อ ที่มีวัวศักดิ์สิทธิ์ รถลากพลังม้า และรถลากพลังคนแออัดเบียดเสียดอยู่ข้างๆ รถตู้ของเรา แต่เมื่อคุณผ่านหน้าประตูเข้าไป คุณจะเข้าไปอีกโลกหนึ่ง สระว่ายน้ำขนาดใหญ่เท่านรีสอร์ทอยู่ท่ามกลางหินประดับ และสนามหญ้าเรียบกริบอยู่ข้างๆ กรีพัทกอล์ฟ ในบริเวณเดียวกันมีร้านอาหารหลายร้านและคลับสุขภาพชั้นเลิศ "

ทั้งจอห์น เกรย์ และสฤณี เห็นว่าโลกนี้ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากเทคโลยีเลย กลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้รับรู้ด้วยซ้ำว่าโลกนี้มีอินเตอร์เน็ต พวกเขาไม่ได้รับผลประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ แถมบางครั้งพวกเขาได้รับผลกระทบด้วยซ้ำ ผู้เขียน The Wold Is Flat ก็ไม่ได้เชื่อมโยงหรือพูดถึงผู้คนที่ยังอยู่ในโลกกลมเลย

หลายๆ บทความในหนังสือเล่มนี้ ยังช่วยให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่ถูกละเลยในกระแส โลกาภิวัฒน์ จากมุมมองของนักการการเงินและนักวิชาการอิสระ ตัวอย่างเช่น การค้าเสรี นั้นเสรีจริงหรือถ้ามีการค้าเสรีจริงๆ ทำไมจึงมีสิ่งที่เรียกว่า การค้าที่เป็นธรรม เกิดขึ้นมาด้วย

ถ้าใครติดตามหนังสือ ของคนชายขอบมาตลอด จะเห็นจุดยืน ในการเขียนหนังสือของเธอ นับตั้งแต่ To Think Well Is Good, To Think Right Is Better และ ตกน้ำไม่ไหล คือการตั้งคำถามต่อความคิดกระแสหลัก เธอพยายามบอกว่าความคิดกระแสหลักละเลยอะไรไปบ้าง และที่สำคัญเวลาอ่านหนังสือของเธอทีไร ทำให้คิดเสมอๆ ว่าพลังของนักวิชาการอิสระ มีอยู่จริง และมีมากๆ ด้วย

รู้จัก สฤณี และพลังงานอันล้นเหลือของเธอได้มากกว่านี้ ที่นี่
//www.fringer.org/ ตอนนี้เธอกำลังมีความสุขกับคำตัดสินของศาลปกครองกรณีการแปรรูปของ ปตท.






 

Create Date : 16 ธันวาคม 2550   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:47:06 น.   
Counter : 2409 Pageviews.  

- - - - - ปริศนามนุษย์กล ของ อูโก้ กาเบรต์ "หนัง" ใน "หนังสือ" - - - - -




เมื่อวานเพิ่งได้ประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นจากการ" อ่าน" และ " ดู" หนังสือเล่มนี้


ปริศนามนุษย์กล ของ อูโก้ กาเบรต์ เรื่องและภาพโดย ไบรอัน เซลสนิค ( The Invention of Hugo Cabret by Brian Selznick ) แปลโดย ปิยณัฐ รัตนเดช สำนักพิมพ์ปลาวาฬ จัดพิมพ์

หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนผสมระหว่างวรรณกรรมเยาวชน หนังสือภาพ นิยายลึกลับ ภาพเขียน สตอรรี่บอร์ด และ"ความเป็นหนัง" หลังปกบอกว่า นี่คือ หนังเงียบที่มาในรูปแบบของหนังสือ คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นแค่คำโปรยเก๋ๆ เพื่อใหนังสือดูน่าอ่านขึ้นแต่อย่างใด เพราะว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีภาพซึ่งเป็นแค่ภาพประกอบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง ทำหน้าที่เล่าเรื่องให้เรื่องดำเนินไปเช่นเดียวกับตัวหนังสือ ที่มหัศจรรย์กว่านั้น หนังสือหนา 534 หน้าเล่มนี้ ใช้เวลาการอ่านแค่ 2 ชั่วโมง เทียบเท่ากับเวลาที่ใช้ไปสำหรับการดูหนังเรื่องหนึ่งจริงๆ




อูโก้ กาเบรต์ เป็นเด็กชายที่ไม่มีตัวตนในสายตาคนทั่วไป เขาทำหน้าที่ไขลานนาฬิกาหลายเรือนภายในชายคาของสถานีรถไฟกรุงปารีส หนังสือฉายภาพให้เห็นเด็กเร่ร่อน ในช่วงปี 1931 อูโก้คงเป็นแค่เด็กเร่ร่อนธรรมดาๆ คนหนึ่งถ้าเด็กชายไม่พาตัวเองไปค้นพบภาพเขียนลึกลับ หุ่นกลที่ถูกไฟไหม้ ชายชราเจ้าของร้านขายของเล่น เด็กหญิงที่ชอบอ่านหนังสือที่ดูเหมือนว่าความคิดความอ่านของเธอจะโตเกินตัว รวมทั้งชายหนุ่มนัยน์ตาข้างเดียวผู้ซึ่งมาช่วยอูโก้ได้เสมอในยามคับขัน ฯลฯ









ที่มาของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เซลสนิค คนเขียนเรื่องนี้ สร้างอูโก้ ขึ้นจาก อองตวน เด็กชายอายุ 12 ที่หนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ในสถานีรถไฟ ออง ตวนแห่ง The 400 blows ของฟรังซัวร์ ทรุฟโฟต์ นั่นเอง นอกจากนี้ภาพที่ปรากฏหลายๆ ภาพในหนังสือเล่มนี้ ยังได้แรงบันดาลใจจากหนังเงียบคลาสสิกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Under the roof of Paris ของเรอเน่ แคลร์ รวมไปถึง The Arrival of a Train at La Ciotat ของพี่น้องลูมิแยร์ และ A Trip to the Moon ของจอร์จ เมลเยส และแม้แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เอง ก็ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของหนังในยุคแรกๆ ด้วยเช่นกัน

ในเมื่อเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับความคลาสสิกของหนัง วิธีการนำเสนอของหนังสือเล่มนี้จึงเอาวิธีการนำเสนอของหนังมาใส่หนังสือ เช่น ภาพประกอบที่เป็นขาว-ดำ และการใช้กรอบสีดำในทุกหน้าของหนังสือ ให้อารมณ์เช่นเดียวการจ้องดูภาพจากหนังเงียบ ภาพโคลส-อัพ ที่ทำหน้าที่เหมือนกล้องกำลังซูมหน้าของตัวละครเข้ามาใกล้ๆ คนดู ภาพประกอบในหนังสือหลายๆ ภาพ โลดแล่นราวกับภาพเคลื่อนไหว นี่คือประสบการณ์การอ่านอันน่าระทึกใจอย่างยิ่ง



เรื่องราวในหนังสือจะค่อยๆ เผยออกมาทีละน้อย เหมือนฟันเฟืองของหุ่นกลต่างๆ ที่ค่อยๆ ขับเคลื่อนเมื่อเจอชิ้นส่วนที่เข้ากันได้ และมันไม่ใช่แค่ปริศนาของชีวิตเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกคลี่คลาย แต่มันคือปริศนาแห่งประวัติศาสตร์ของภาพเคลื่อนไหวทีเดียว

บทเกริ่นนำของหนังสือเล่มนี้ บอกว่า

...ก่อนจะพลิกหน้าถัดไป ผมขอให้คุณนึกภาพตัวเองนั่งอยู่ในความมืด เหมือนตอนที่ภาพยนตร์ใกล้จะเริ่มฉายบนหน้าจอ ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นในไม่ช้า คุณจะเห็นภาพสถานีรถไฟใจกลางเมืองค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นตรงหน้า คุณจะดิ่งผ่านประตูเข้าไปสู่ห้องโถงซึ่งมีผู้คนแน่นขนัด และท้ายที่สุดคุณจะสังเกตเห็นเด็กชายคนหนึ่งท่ามกลางฝูงชน เขากำลังจะเดินเข้าไปในสถานีรถไฟ ตามเขาไป เพราะนี่คืออูโก้ กาเบรต์ ในหัวของเขาเต็มไปด้วยความลับมากมาย และกำลังรอให้เรื่องราวของเขาเริ่มต้น

จะบอกว่า หนังกำลังจะฉาย หรือ หนังสือกำลังจะเริ่มต้นดีหนอ

ป.ล. 1 วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว และ คนที่จะมาทำให้หนังสือเล่มนี้โลดแล่นในจอภาพยนตร์คือ มาร์ติน สกอร์เซซี

ป.ล. 2 เอาลายเซ็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้มาอวด หนังสือที่พี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ เป็นบรรณาธิการ หรือคัดสรร รับประกันได้ว่า "ดี" และ มีสิ่งซึ่งลุ่มลึกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์, วินนี เดอะ พูห์, ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก, ฮอบบิท,โมโม่ ฯลฯ พี่เอ๋ ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือวรรณกรรมชั้นเยี่ยมอย่าง ค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ของอิตาโล คัลวิโน ด้วย







 

Create Date : 29 ตุลาคม 2550   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 19:37:01 น.   
Counter : 5327 Pageviews.  

- - - หนังสือของระหว่างบรรทัดในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติฯ - - -









หนังสือของสำนักพิมพ์เล็กๆ แทรกตัวอยู่ที่บู้ทต่างๆ ตามนี้ค่ะ

1. open books บูธ L 01 แพลนนารีฮอลล์
2. ไฮซีซั่น บูธ H 06 แพลนนารีฮอลล์
3. วารสารหนังสือใต้ดิน บูธ T29 โซน C2 (ชั้นบน)
4. Alternative Writers บูธ N 36 โซน C1 (ชั้นล่าง)



เมื่อวานเอาหนังสือไปฝากตามบู้ทต่างๆ รู้สึกคล้ายๆ ฝากลูกๆ ให้คนอื่นดูแล งานคราวนี้แม่ไม่สามารถไปดูแลลูกๆ ได้ ( กร๊าก เวอร์ไปไหมเนี่ยะ ) ฝากพี่ๆ น้องๆ ไปเยี่ยมๆ มองๆ หน่อยนะคะ

หมายเหตุ หนังสือใหม่ของจินนี่ สาระโกเศศ ( เจ้าของผลงานแปล เปลี่ยนตัวเองใน 5 นาที และโมจิ โปจิ ฯลฯ ) ส่งตรงจากญี่ปุ่น จะออกวางแผงเดือนหน้า โปรดคอยติดตาม





 

Create Date : 18 ตุลาคม 2550   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:50:36 น.   
Counter : 1937 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]