- - - ดีไซน์ +คัลเจอร์ ความหมายและเบื้องลึกของงานออกแบบ - - -





ดีไซน์+คัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์ เขียน
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ ( 2551 ราคา 300 บาท)

เป็นหนังสือที่พออ่านถึงบทสุดท้ายแล้ว ต้องร้องว่า เฮ้ย อย่าเพิ่งจบ ยังอยากอ่านอีก
( คาดว่าคงมีเล่ม 2 เพราะคุณประชา สุวีรานนท์ยังเขียนคอลัมน์ชื่อเดียวกับหนังสืออยู่ในมติชนสุดสัปดาห์)

หนังสือเล่มนี้คือ " การสามารถย้อนกลับมาอ่านให้แตกว่า งานดีไซน์หนึ่งๆ มีรากที่มาอย่างไร ถูกหยิบใช้เละส่งผลสะเทือนอย่างไร จึงไม่ใช่อะไรนอกจากการอ่านประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้อย่างลุ่มลึก แยบคาย ทว่าอาจตรงไปตรงมา และปราศจากการครอบงำเสียยิ่งกว่าการอ่านตำราประวัติศาสตร์วัฒนธรรมฉบับทางการก็ได้" ( จากย่อหน้าสุดท้ายของคำนำสำนักพิมพ์)

ถึงแม้นชื่อหนังสือจะมีคำว่าดีไซน์ แต่มันไม่ใช่หนังสือที่จะทำให้คุณดีไซน์เก่งๆ หรือข้อมูลทางโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่มันคือสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในงานดีไซน์ บางที่สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ( ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของงานออกแบบ) มันบอกว่า เราเป็นใคร หรือเรารสนิยมแบบไหน ตัวอย่างง่ายๆ เช่นหลายคนคงเลือกตัดสินใจซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพราะการออกแบบอันแสนเก๋ไก๋ของมัน บางบทในหนังสือเล่มนี้มันอธิบายว่าการดีไซน์มันเข้าไปอยู่ในระดับจิตสำนึกได้อย่างไร แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ตัวอย่างเช่นในบทที่ว่าด้วยเก้าอี้ ชื่อตอนความสบายกับความ(โม)เดิร์น คุณประชานำเสนอว่ามีงานวิจัยของอาจารย์ทางสถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัย ยู.ซี.เบิร์กลีย์ ชิ้นหนึ่งบอกว่าการนั่งเก้าอี้เป็นผลผลิตของตะวันตก และยังเป็นเครื่องหมายทางชนชั้น เช่นเก้าอี้แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างเจ้ากับสามัญชนหรือแบ่งแยกเจ้านายกับลูกน้อง และการนั่งเก้าอี้แบบมีพนักพิงที่เรานั่งกันมาจนทุกวันนี้ เป็นความผิดพลาดอันมหันต์ในเชิงสรีรศาสตร์ของวัฒนธรรมตะวันตกด้วย เพื่อความถูกต้องทางสุขภาพ เราควรยกเลิการนั่งเก้าอี้แบบตะวันตกหันมาสนใจการนั่งกับพื้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังด้วยเก้าอี้นอนแทน ( โอ นี่มันตะวันออกชัดๆ การนั่งกับพื้น แต่อ่านถึงบทนี้แล้วก็สะท้อนใจเราต้องรอให้ฝรั่งมาบอกว่าที่คุณทำน่ะมันเป็นผลผลิตที่ผิดพลาดของวัฒนธรรมบ้านชั้นนะ)


บทที่ตัวเองชอบมากที่สุด น่าจะเป็น สำนึก มุมมอง และอุดมการณ์ของแผนที่ ที่คนเขียนร่ายยาวตั้งแต่งานดีไซน์แผนที่ชิ้นคลาสสิกของลอนดอนอันเดอร์กราวด์ มาจนถึงงานศิลปะของ
วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ If there is No corruption ที่ใช้แผนผังระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครมาเทียบเคียงกับงานศิลปะของตัวเอง และบท ภูมิศาสตร์ของความรู้สึก ทั้งสองบทนี้พูดถึงวาทกรรมเชิงพื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่อย่างหฤหรรษ์ เพราะแผนที่ทั้งหมดที่ถูกยกมาอ้างถึงในบทแรก ไม่ได้เป็นแผนที่ที่ช่วยหาพิกัดถูกต้อง แต่มันคำนึงถึงความสวยงามอย่างมากด้วย ตัวอย่างเช่นเส้นบางเส้นในแผนที่ของลอนดอนอันเดอร์กราวด์ แทนที่จะเป็นเส้นโค้งตามความเป็นจริงแต่เพื่อความสวยงามมันถูกทำให้กลายเป็นเส้นตรง หรือร่นระยะทางบางเส้นเพื่อให้สวยงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งคนลอนดอน"รับได้" กับความไม่ถูกต้องตรงนี้ แต่พอนำหลักการนี้มาใช้กับแผนที่นิวยอร์กซี้ตี้ ซับเวย์กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง คนนิวยอร์กประท้วงแผนที่ฉบับนี้อย่างฉับพลันทันใด อะไรที่ทำให้คนลอนดอนรับได้ และอะไรที่ทำให้คนนิวยอร์กรับไม่ได้ คุณประชาให้ภาพไว้อย่างสนุกสนาน

ส่วนบทภูมิศาสตร์ของความรู้สึกนั้น มันคือการบอกว่าการเขียนแผนที่ ต้องมีอุดมการณ์การสร้างชาติมารองรับด้วย บทนี้คุณประชาใช้แผนที่อุปมามาแสดงตัวอย่าง ( คือแผนที่ที่มีการตกแต่ง ดัดแปลง หรือบิดเบือนรูปทรงจนกระทั่งกลายเป็นคน สัตว์ สิ่งของ) อุปมาที่ใกล้ตัวที่สุดคือ "ขวานทอง" เป็นอุปมาที่ที่ช่วยสร้างภาพของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่มีขอบเขต เขตแดนขึ้นในใจเราทำให้กลายเป็น"รูปร่างหน้าตาของชาติ" ในสำนึกของชาวไทยมาเนิ่นนาน นั่นคือแผนที่กลายเป็นอุดมการณ์การสร้างชาติที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง (อันนี้แค่การเริ่มต้นบทนะคะ ยังสนุกขนาดนี้)

อีกบทที่ชอบมากคือบทที่พูดถึงหนังสือ Very Thai ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนโดย ฟิลิป คอร์นเวล สมิท และถ่ายภาพโดย จอห์น กอสส์ ฝรั่งสองคนที่มาใช้ชีวิตในเมืองไทยมากว่าสิบปีแล้ว หนังสือเล่มนี้บอกว่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถุงพลาสติกใส่น้ำดื่ม ลูกกรง เหล็กดัดและปลักขิก ฯลฯ ต่างหากที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย วิถีชีวิตที่อยู่ตามตรอก ซอก ซอย ตึกแถวและสวนจตุจักร อาจจะ Very Thai มากกว่าสิ่งที่อยู่ในวัดวาอาราม หรือพระราชวัง Very Thai ไม่ยึดติดที่มาหรือรากเหง้า ไม่สนใจว่าสิ่งกำเนิดจะเป็นภูมิปัญญาหรือความมักง่าย ลอกเลียนหรือสร้างใหม่ อิมพอร์ตหรือไพเรต มันอาจจะเป็นประดิษฐกรรมของคนไทยที่ใช้ประกาศฐานันดรใหม่และปลีกตัวออกห่างจากประเพณี อาจจะเกิดจากการหยิบฉวยอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น เพลงป๊อป ลัทธิบูชาผู้คน ฯลฯ หรือคุณประชาใช้ประโยคภาษาอังกฤษ อธิบาย Very Thai ว่า essence lies not in invention but transformation ทำให้คิดถึงสิ่งที่เคยได้คุยกับวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ วิชญ์อธิบายความเป็นคนไทยว่า ถ้ามีการตัดถนนแล้วไปเจออุโมงค์ คนญี่ปุ่นหรือฝรั่งอาจจะขุดอุโมงค์ใต้ดิน ทำทางเจาะทะลุผ่านอุโมงค์ไปจนได้ แต่คนไทยจะไม่ทำอย่างนั้น คนไทยจะเดินอ้อม แล้วหันกลับมาบอกเพื่อนๆ ว่าไม่ต้องขุด อ้อมไปทางนี้ก็ได้ ซึ่งพออ้อมไปแล้วอาจไปชนกำแพงก็ได้นะ แต่คนไทยก็ขออ้อมไว้ก่อน -อันนี้เป็นความสนุกของวิธีคิดของคนไทยแบบหนึ่ง



" ดีไซน์+คัลเจอร์ พยายามจะบอกเราว่าในการทำงานสร้างสรรค์นั้น วิธีคิด วิธีมองโลกที่อยู่เบื้องหลังย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด สำคัญเสียยิ่งกว่าการรู้เทคนิควิธีการที่ดี หรือการเข้าถึงเทคโนโลยีที่พร้อมสรรพเพียงใด" (จากหลังปกของหนังสือ)

จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มันสนุกทุกบทเลย มันทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างล้วนถูก Construct ขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมองหาความหมายของสิ่งเหล่านั้นเราควรจะ Deconstruct มันเสียก่อน

และมันทำให้เราสำนึกว่า แผนที่ รูปภาพ ไอคอนต่างๆ เสื้อยืด กราฟิก
โลโก เก้าอี้ แปรงสีฟัน รถถัง บลา บลา บลา มีคัลเจอร์ของคนทำและอุดมการณ์ของคนในประเทศที่ใช้สิ่งของเหล่านั้น ซุกซ่อนอยู่เสมอๆ





 

Create Date : 16 เมษายน 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:04:21 น.   
Counter : 3521 Pageviews.  

- - - และแล้วงานเลี้ยงก็เลิกลา ปิดม่านงานสัปดาห์หนังสือฯ พร้อมด้วยหนังสือที่ได้มา - - -



ตามธรรมเนียม หลังจากงานหนังสือปิดลง หนอนแถวๆ นี้จะมารายงานความเสียหาย พร้อมกับลูบคลำหนังสือที่ได้มา ปีนี้ตั้งใจซื้อหนังสือในงานหนังสือให้น้อยๆ ( แต่จะซื้อหนังสือจากร้านหนังสือให้มากขึ้น ) เอาล่ะว่ากันถึงหนังสือที่ได้มาเลย

ดีไซน์+คัลเจอร์ โดย ประชา สุวีรานนท์ ขอปรบมือให้สนพ.ฟ้าเดียวกัน ที่พิมพ์หนังสือดีๆ อย่างนี้ออกมา คราวนี้คุณประชา แล่เนื้อเถืองานดีไซน์ เพื่อเปิดให้เห็นโครงสร้างวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

สู่โลกหลังสมัยใหม่หนังสือแปล(การ์ตูน)แนะนำแนวคิดโลกหลังสมัยใหม่ Introducing Postmodernism วรนุช จรุงรัตนาพงศ์ แปล นพพร ประชากุล และชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ บรรณาธิการแปล อ่านไปได้ครึ่งเล่มแล้ว ทึ่งมากที่คนแปลสรรหาคำภาษาไทยให้ศัพท์วิชาการที่ยากๆ ได้ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก พิมพ์ ( สนพ.นี้แปลหนังสือชุดแนะนำแนวคิดออกมาหลายเล่มแล้ว)

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรม โดย ภาณุ ตรัยเวช
รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของนักเขียนเฉียดซีไรท์ บนปกบอกว่า รวมเรื่องสั้นทันสมัย ซึ่งทำให้สงสัยว่าเมื่อไหร่ สนพ.นานมี จะทำปกหนังสือให้ทันสมัยตามไปด้วย วิธีการดีไซน์และการใช้ฟอนท์บนหน้าปก ราวกับหนังสือตำรา

เสียงร่ำไห้ที่เงียบงัน โดย เคนซาบุโร่ โอเอะ ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ โดยเกาสิงเจี้ยง ทั้งสองเล่มอยู่ในกระบะช็อคโซน ของนานมี ลด ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ทั้งสองเล่ม ไปตอนแรกไม่ได้เอามาด้วย พอกลับไปดูอีกวันหาไม่เจอแล้ว แต่พนักงานนานมีคนหนึ่งไปหามาให้จนเจอ แกต้องไปค้นลังหลายลังมาก ชอบพนักงานที่ตั้งใจแบบนี้มาก

ลำนำหกพิภพ โดย พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ ชอบสำนวนของพี่สาวคนเขียน เลยสอยเล่มนี้มาด้วย (กร๊าก ) จริงๆคือ เปิดๆ ดูแล้วทึ่งที่พงศ์ศรณ์ นำรามเกียรติ์ มาตีความใหม่แล้วกลายเป็นนวนิยายแฟนตาซีของคนไทยหนา 700 กว่าหน้า สำนักพิมพ์นานมีพิมพ์ แต่ไปได้หนังสือเล่มนี้มาจากบู้ทจิตจักรวาล

คนรถไฟ โดยอาซาดะ จิโร แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของญี่ปุ่น นฆ ปักษนาวิน เคยแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ เห็นในบู้ท ส.ส.ท.เลยคว้ามาด้วย เห็นว่าสองเรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้เคยทำเป็นหนังมาแล้ว

ปีกนางฟ้า โยชิโมโต บานานา เขียน นภสิริ เวชศาสตร์ แปล เห็นหน้าปกและชื่อเรื่องอาจผ่านไปเลย แม้จะมีชื่อบานานา กำกับอยู่ แต่ นิ้วกลม เคยแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านจบไปแล้ว พบว่ามันฟื้นฟูจิตใจได้ระดับหนึ่งทีเดียว พิมพ์โดย J BOOK ( ชอบสำนวนแปลของนภสิริ แฮะ)

จดหมายจากเมืองไทย โดย โบตั๋น รักตันส่วงอู๋มาก เห็นเล่มนี้ในบู้ทใดบู้ทหนึ่งตรงโซนหนังสือเก่า เลยสอยมาด้วย ฉบับพิมพ์ปี 2535 โดยชมรมเด็ก

ปมไหม บทละครทีวีเรื่องปมไหม นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการ ได้จากโซนแลกหนังสือตรงกลางงาน จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ เอาหนังสือของตัวเองไปแลกมาหนึ่งเล่ม เลยได้หนังสือเล่มนี้มา

Lonesome Cities คนหนุ่มในเมืองหนึ่ง หนังสือทำมือของคนหนุ่ม 4 คน วุฒิชัย อนุกูล วิวัฒน์ และ นฆ เล่มนี้หมอนิลให้มา

นั่งรถไฟไปตู้เย็น โดยนิ้วกลม คนเขียนให้มา พิมพ์โดยสนพ.อะบุ้ค อ่านไปนิดหนึ่งแล้ว อยากนั่งรถไฟไปสถานที่เราไม่รู้จักหรือเราไม่เคยไปมาก่อนจริงๆ

นักปลูกป่าแห่งดาวอังคาร รวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ (แปล) สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ที่เห็นและเป็นอยู่ เจอร์ซี่ โคซินสกี้ เขียน มโนภาษ เนาวรังษี แปล หนังสือสองเล่มจากโซนลดราคาเยอะๆ ของดวงกลมสมัย โซนนี้ ลดราคา 5 เล่มหนึ่งร้อยบาท แต่อยากซื้อแค่สองเล่ม ซึ่งถ้าซื้อเล่มเดียวราคาเล่มละ 40 บาท พี่ที่ยืนอยู่ข้างๆ ( ไม่รู้จักกันมาก่อน) บอกว่าเรามารวมกันซื้อไหม จะได้ครบห้าเล่ม มีน้องอีกคนมาแจมด้วย ( ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนเหมือนกัน) สรุปแล้วรวมกันได้ 5 เล่มเลยได้หนังสือสองเล่มนี้มาในราคาเล่มละ 20 บาท

เสียงแห่งทศวรรษ รวมบทสัมภาษณ์คัดสรรของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ อภินันทนาการจากบู้ทโอเพ่น

ไพรผาดำ 4 เล่ม 4 ภาค โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ชอบเรื่องเล่าลึกลับ อาถรรพ์ของป่า ที่ลุงชาลีเขียนมาก ( เคยได้เจอตัวคุณลุงด้วย ) ชุดนี้อภินันทนาการจาก บู้ทสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ

(ผม ) เป็นศิลปิน และ ศิลปะกับถ้อยความ โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ลดราคาเหลือเล่มละ 50 บาทจากบู้ทมติชน

Walking Stories 2 มาคราวนี้เป็นรวมการ์ตูน อภินันทนาการจากบู้ทฟูลสต็อบ

และแล้วงานเลี้ยงก็เลิกลา หนังสือทั้งหลายก็โดนจับแพ็กลงลัง บู้ทที่เคยต้อนรับหนอนหนังสือก็ปิดตัวลง หลายๆ บู้ทบอกว่าเจอกันใหม่เดือนตุลาคม









เดินออกไปลงรถไฟฟ้าใต้ดิน พร้อม อ.ปกป้อง จันวิทย์ ( คนเขียน Blog Blog ) เจอคุณปราบดา กำลังเข็นหนังสือกลับสำนัก ( ตัวเองก็เข็นหนังสือกลับเหมือนกัน ยังไม่ทันได้ทักทาย แฟนหนังสือคุณปราบดาปราดเข้ามาขอลายเซ็น )


( อ้อ หนอนหนังสืออินดี้ ปลายเดือนนี้มีอินดี้บุ้คแฟร์ ที่สวนสันติชัยปราการค่ะ)






 

Create Date : 08 เมษายน 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:07:51 น.   
Counter : 2209 Pageviews.  

- - - - - หนังสือของระหว่างบรรทัดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 - - - - -





เพลงรักประกอบชีวิต โดย นิ้วกลม ความเรียงว่าด้วยความรักของนักเขียนหนุ่ม ที่กอรปขึ้นมาจากบทเพลงอันแสนหวาน แต่ใครบอกว่าความรักเป็นบทเรียนสำเร็จรูป ก่อนที่จะมาพบเพลงรักอันแสนหวานนั้น นักเขียนหนุ่มคนนี้ ก็เคยต้องเจอกับเพลงรักอันแสนเศร้า (ที่ทำให้ผู้อ่านน้ำตาคลอมาแล้ว) ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู คนเขียนฝากมาบอกว่า บางทีเราอาจจะมีเพลงรักประกอบชีวิตเพลงเดียวกัน ( ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 )



นวนิยายมีมือ โดย นิ้วกลม นวนิยายที่เกือบจะลึกลับ ผสานปริศนาการตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง บวกวิธีการเชิงทดลองในการนำเสนอ ทำให้นวนิยายมีมือมีให้รสชาติแปลกใหม่ในการอ่านนวนิยาย แถมความคิดสร้างสรรค์อีกหนึ่งกระบุงใหญ่



โลกนี้มันช่างยีสต์ โดยแทนไท ประเสริฐกุล รวมเรื่องราวยวนยีเหมือนยียวน จากบันทึกออนไลน์ของอาจารย์หนุ่มนมดำ ผู้มีใจรักความเป็นไท



โตเกียว ช็อป ช็อป และ โตเกียว กิน กิน โดย จินนี่ สาระโกเศศ ผู้ตะลุยแทบจะทุกตรอก ซอก ซอย ในกรุงโตเกียวมาแล้ว เป็นไกด์บุ้ค ที่สามารถใช้งานได้จริง มีแผนที่ประกอบทุกย่านสำคัญ ที่เป็นแหล่งสำคัญของกรุงโตเกียว มีคู่มือการเดินทางทั้งสองเล่ม ไม่พลาดแหล่งช็อปปิ้งและของอร่อยแห่งกรุงโตเกียวแน่นอน


ทั้งหมดสามารถหาซื้อ หยิบชมได้ที่บู้ท ตามรายชื่อข้างล่าง ต่อไปนี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 26 มีนาคม- 7 เมษายน 2551

โอเพ่นบุ๊คส์ E 01 โซน เพลนนารี ฮอลล์
ฟุลสต็อป G 08 โซน เพลนนารี ฮอลล์
วงกลม บูธ E 13 โซน เพลนนารี ฮอลล์
อัลเธอเนทีฟไรเตอร์ บูธ N 23 โซน C ชั้น 1
มาร์ส พับลิชชิ่ง (Mars Publishing) บูธ N 38 โซน C ชั้น 1



วันที่ 26 มีนาคม เปิดให้เข้าชมและซื้อหาหนังสือได้ตั้งแต่ 18.00 น.- 21.00 น.เป็นต้นไป

ส่วน 27 มีนาคม- 7 เมษายน เปิด 10.00 น.-21.00 น .





 

Create Date : 26 มีนาคม 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:10:58 น.   
Counter : 2349 Pageviews.  

- หนังสือสามเล่ม"จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม" " กระจกเงา เงากระจก" "ที่อื่น " บนตู้นอนรถไฟสายใต้ -

เพิ่งอ่านหนังสือสามเล่มจบไป ระหว่างทางการเดินทางขึ้นมาจากบ้านที่ใต้ คราวนี้รถไฟที่นั่ง ( สายบัตเตอร์เวิร์ท-กรุงเทพ) เสียเวลา และมาถึงชานชาลาพัทลุงช้ากว่าที่กำหนดไปเกือบๆ สามชั่วโมง แต่ตัวเองไม่ค่อยอนาทร ร้อนใจนัก เพราะช่วงเวลาที่รอรถไฟมาถึงอ่าน "จดหมายถึงนักเขียนหนุ่ม" จบพอดี



หนังสือเล่มล่าสุดของกนกพงศ์ เป็นจดหมายจากนักเขียนถึงนักเขียน เรื่องราวในจดหมายมีลักษณะส่วนตัวอยู่เล็กน้อย ( มาก) เพราะสารส่วนใหญ่ของเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องราวของความมุ่งมั่นต่อการเขียนหนังสือ การใช้ชีวิตประจำที่สอดคล้องกับชีวิตที่หุบเขาฝนโปรยไพร ที่สำคัญดิฉันชอบมากเวลาที่กนกพงศ์แลกเปลี่ยนเรื่องการอ่านกับเพื่อนในจดหมาย และแอบตื่นเต้นเมื่อรู้ว่า ช่วงเวลานั้นเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกับเขา บางเล่มที่ยังไม่อ่าน ก็อยากขวนขวายหามาอ่าน จริงๆ อยากอ่านจดหมายจากอีกด้านหนึ่งที่เขียนถึงกนกพงศ์ด้วย

ส่วนอันนี้ดิฉันอ่านแล้วก็จิ๊ดมาก และแอบน้ำตาซึมเมื่อพบว่า ตอนนี้เขาไม่มีชีวิตอยู่แล้ว "...หลังๆ มานี้ผมมักครุ่นคิดเกี่ยวแก่เรื่องชีวิตและจักรวาล ชีวิตทั้งสั้นและเล็กเหลือเกินเมื่อเทียบกับจักรวาล ทำให้ผมไม่มั่นใจต่อการกำเนิดมาของเราว่ามันจะมีค่าสำคัญอะไรบ้างหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยกิเลสตัญหาบางประการ ผมก็อยากทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ ไม่ใช่เพื่อให้เห็นว่าตัวเรามีความสำคัญ แต่เพื่อประกาศว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีชีวิตอยู่" ( หน้า 343)



ขึ้นรถไฟสี่ทุ่มกว่า เจ้าหน้าที่ปรับที่นั่งเป็นเตียงนอนเรียบร้อยแล้ว ตอนแรกว่าจะหยิบกระจกเงา เงากระจก ของอุทิศ เหมะมูล มาอ่านต่อ แต่เตียงที่แกว่งไปมาเล็กน้อยตามแรงเหวี่ยงของรถไฟ ชวนง่วงดี เลยขอเก็บไว้อ่านตอนเช้า ตื่นมาเมื่อฟ้าที่หน้าต่างสว่าง ออกไปล้างหน้าล้างตา สั่งกาแฟจากพนักงาน นั่งอ่านหนังสือของอุทิศต่อ ดองหนังสือเล่มนี้ไว้นานมาก ช่วงนี้อยากอ่านวรรณกรรมไทย เลยแซะออกมาจากชั้นหนังสือ เอาใส่กระเป๋ามาด้วย อ่านจบด้วยเวลาไม่นาน ภาษาของอุทิศดีมาก อ่านอย่างลื่นไหล ถ้าหนังสือของกนกพงศ์บอกถึงการใช้ชีวิตสงบสงัดในหัวเมืองทางใต้ แต่อุทิศกำลังจะบอกเล่าถึงการเคว้งคว้างแขวนลอยอยู่ใน" เมือง" พร้อมทั้งการหาว่าตัวเองเป็นใคร ไปด้วย

สำนักพิมพ์บอกว่า "นี่เป็นนวนิยายสะท้อนยุคสมัยที่คุณกำลังหายใจ" แน่นอนว่าฉากที่ใช้ จึงคุ้นๆ และใกล้ตัวเรามาก นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นในช่วงปี 2543-2544 ( ตีพิมพ์ในปี 2549) บางฉากอาจจะเก่าไปนิด แต่อ่านสนุกมากค่ะ
อันนี้เป็นสองสามประโยคที่ชอบ
"...มันยากหน่อยที่จะเข้าถึงความรักโดยไม่ผ่านมุมมองของเพศสภาพ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ คุณแค่ต้องค้นพบใครสักคนหนึ่งที่มองหาในสิ่งเดียวกัน.." ( หน้า 133)




หนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มบางที่สุด แต่อ่านยากที่สุด ได้ยินชื่อกิตติพล สรัคคานนท์ มาตั้งแต่อ่านบทความของเขาในนิตยสารสเกล ( ที่ตอนนี้ปิดไปแล้ว) พอเห็นเขาเขียนเรื่องสั้นด้วยเลยซื้อมาดองไว้ รู้สึกว่ากิตติพล ตั้งใจรักษาระยะกับคนอ่าน ใช้ภาษาแบบการบรรยาย ไม่มีประโยคสนทนาอยู่ในเรื่องสั้นของเขา เรื่องสั้น 13 เรื่องของเขา ดิฉันเก็ทแค่ 2 เรื่อง รู้สึกว่าตัวหนังสือของกิตติพลเย่อหยิ่ง ผลักคนอ่านออกมาตลอดเวลา แต่คงเป็นความตั้งใจของคนเขียน ที่ใช้วิธีการเขียนแบบนี้ ไม่ให้คนอ่าน"อิน" อาจจะให้เข้าใจถึงความแปลกแยกบางประการ ดิฉันเข้าใจว่าอย่างนั้น

อ่านหนังสือจบไปสามเล่ม รถไฟไทย ยังไม่ถึงกรุงเทพฯ เลย




 

Create Date : 04 มีนาคม 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:21:02 น.   
Counter : 1984 Pageviews.  

- - - - - ล่อง / รอย แห่งกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ - - - - -






วันเสาร์ที่ผ่านมา สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้จัดงานราหูอมจันทร์ ขึ้น Theme หลักคราวนี้เพื่อการรำลึกถึงกนกพงศ์ โดยเฉพาะ กิจกรรมภายในงานมีทั้ง ปาฐกาถา อ่านบทกวี และประกาศรางวัลเรื่องสั้นกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และ 10 หนังสั้นที่ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ สำหรับโครงการหนังสั้น มี "นฆ ปักษนาวิน" แห่งร้านหนัง (สือ) 2521 ณ เกาะภูเก็ต คนหนุ่มแรงเหลืออีกคน เป็นแม่งานโครงการหนังสั้นครั้งนี้


จากการไปร่วมงานเมื่อวันเสาร์ ทำให้ดิฉันคิดถึงหนังสือเล่มโปรดของตัวเอง บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร

ปกฉบับพิมพ์ครั้งแรก และ พิมพ์ครั้งที่สอง


และ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร ขบวนที่สอง ยามเช้าแห่งชีวิต


หนังสือทั้งสองเล่ม เป็นบันทึกของคนที่ทุ่มเทให้กับการเขียน เลือกวิถีชีวิตที่สงบ สงัด เพื่อให้เขียนหนังสือได้ หลังจากได้รับรางวัลซีไรท์ กนกพงศ์ เลือกที่จะกลับไปอยู่ที่ใต้ ดินแดนที่เขาคุ้นเคย เช่าบ้านท่ามกลางสวนไม้ผล และหุบเขาแห่งพรหมคีรี นครศรีธรรมราชเป็นที่เขียนหนังสือ บันทึกทั้งสองเล่ม พูดถึงการใช้ชีวิตที่นั่น ต่อสู้กับความโดดเดี่ยว ความเย้ายวนต่ออาชีพที่อาจจะทำเงินได้มากกว่า ถ้าเลือกที่จะอยู่เมืองหลวง แต่ดูเหมือนว่ากนกพงศ์จะตระหนักรู้แล้วว่า เขาเหมาะกับสิ่งใด เขาเกิดมาเพื่อสิ่งไหน กนกพงศ์จึงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหลังนี้

บ้านแห่งขุบเขาฝนโปรยไพร (ภาพจากคอลัมน์ Being there โดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นิตยสารอิมเมจ )


บันทึกทั้งสองเล่ม บันทึกถึงการใช้ชีวิตถึงคนหนุ่ม พูดถึงบ้าน ผู้คน ต้นไม้ สัตว์ป่า กำลังใจ ความเข้มแข็ง พลังที่จะต่อสู้กับความอ่อนแอของตัวเอง นอกจากนี้มันยังบอกถึงสภาพแวดล้อมของเขา เป็นบันทึกแห่งหมู่บ้าน แสดงถึงวิถีชีวิตของหมู่บ้านชนิดที่นักมานุษยวิทยาไม่สามารถทำได้เทียบเท่า เพราะมันเต็มไปด้วยเลือดเนิ้อและชีวิตของผู้ชายวัยหนุ่มที่กำลังตั้งมั่น จดจ่อกับการทำงาน

ดิฉันชอบหยิบหนังสือสองเล่มนี้มาอ่านยามที่ต้องการเติมไฟให้ตัวเอง

หมายเหตุ หนังสือเล่มล่าสุดของกนกพงศ์ คือ จดหมายถึงนักเขียนหนุ่ม เป็นจดหมายส่วนตัวที่เขาเขียนถึงเพื่อนนักเขียนด้วยกัน ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เมื่ออ่านจบแล้วจะมารีวิวต่อไป





 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 29 สิงหาคม 2557 18:38:49 น.   
Counter : 2558 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]