|
|
เงาจันทร์ในอัญประกาศ : อารมณ์ขันหนักสมองแบบมุกหอม วงษ์เทศ
เงาจันทร์ในอัญประกาศ มุกหอม วงษ์เทศ เขียน
ดิฉันแพ้ทางหนังสือของคุณมุกหอม ค่ะ เห็นหนังสือของเธอแล้วต้องซื้อทุกเล่ม นับตั้งแต่ วิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษของเธอที่สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมเอามาตีพิมพ์
Intellectual Might and the National Myth : A Forensic Investigation of the Ram Khamhaeng Controversy in Thai Society
พรมแดนทดลอง รวมความเรียงจากคอลัมน์ En nui ในนิตยสาร Open อารมณ์ขันของเธอร้ายมากค่ะ ตอนอ่านความเรียงเป็นชิ้นๆ ในนิตยสารก็รู้สึกว่าสนุกดี แต่พอนำมารวมเล่มก็พบว่าอ่านค่อนข้างยาก และต้องขบคิดกับ พรมแดนทดลองของเธอพอสมควร
เมื่อวานแวะร้านหนังสือ เห็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ของเธอก็ไม่รอช้า หยิบจากชั้นหนังสือมาโดยไว สำนักพิมพ์มติชนที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นใหม่หมด หรือเคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อนหรือไม่
เงาจันทร์ในอัญประกาศ ซึ่งก็คือ เงาของดวงจันทร์ในเครื่องหมายคำพูด "เงาจันทร์" นั่นเอง เมื่อเราเอาคำไหนใส่ลงไปในเครื่องหมายคำพูด มันจะกลายเป็น "สิ่งซึ่งเรียกว่า " ไม่ใช่ความหมายของคำๆ นั้นโดยตรง (ภาษาอังกฤษคือ so called ) เงาจันทร์ในเครื่องหมายคำพูดคือ" สิ่งซึ่งเรียกว่าเงาจันทร์" มุกหอมไม่ได้พูดถึงเงาจันทร์ในความหมายตรงๆ เธอพูดถึง "เงา"ของดวงจันทร์ และเป็นเงาที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดด้วย สลับซับซ้อนนักวิธีการตั้งชื่อเรื่องของเธอ
ภายในเล่มมีเรื่องสั้นรวม 10 เรื่อง ดิฉันอ่านไปแล้วสี่เรื่อง คือ เรื่องของภาษา การมาเยือนของเจ้า ฮูมไม่ใช่ฮูม (เรื่องนี้เธอพูดถึงนักปรัชญา อย่าง David Hume ) และ พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ อ่านไปได้สี่เรื่องก็พบว่าคุณมุกหอมร้ายมาก ยังคงตั้งคำถามกับการใช้ภาษา ผู้ที่ตั้งตนเป็นนายภาษา (นักตรวจสอบภาษา) ตั้งคำถามความศรัทธา หรือแม้แต่ระบบชนชั้นของสังคมไทย ข้อหนึ่งที่ดิฉันชอบในงานของคุณมุกหอม คือเธอมีอารมณ์ขัน (สำนักพิมพ์มติชนใช้คำว่า อารมณ์ขันหนักสมอง ) และมีท่าทียั่วล้อ สิ่งที่เธอพูดถึงตลอด เธอยั่วล้อแม้แต่กับงานของเธอเอง ( เรื่องคำนิยมแบบยั่วล้อนี่ เห็นตั้งแต่คำนิยมหนังสือวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษของเธอแล้วค่ะ ) ข้างล่างนี่เป็นคำนิยมหนังสือที่อยู่หลังปก เงาจันทร์ในอัญประกาศ เล่มนี้ ลองดูกันเองแล้วกันค่ะ " อัศจรรย์ เขียนไปทำไม " -บางกอกรีคอร์เดอร์ Bangkok Recorder
"ทุกหน้าเต็มไปด้วยไวยากรณ์ ...สำคัญกว่าจินตนาการ " -ทุ่งกุลา ลิเทอรารี ซัพพลีเมนท์ Thoong Kula Literary Supplement
"น่าผิดหวัง ! เงาจันทร์ในอัญประกาศ จะทำให้คุณเสียเวลาและเบื่อโลก " - เดลี่ เทเลโฟน แอนด์ แฟกซ์ Daily Telephone and Fax (อันนี้ดิฉัน ขำมากกกกกกกกกก )
"ทั้งแปลกใหม่และซ้ำเก่า...ชวนหงุดหงิด...ไม่มีภาพประกอบเลย" โคกมะดัน ไทมส์ Khok Madan Times
"บ่เป็นซาด" - ไทยลาว รีวิวออฟ บุ๊คส์ Thai-Lao Review of Books
ร้ายไหมคะ คำนิยมหนังสือของมุกหอม วงษ์เทศ
หนังสือ Metro Life เคยสัมภาษณ์คุณมุกหอม ตัดมาให้อ่านบางส่วน เผื่อผู้อ่านที่อยากรู้จักมุกหอม วงษ์เทศมากขึ้น
มุกหอม วงษ์เทศ เธอคนนี้เป็นบุตรสาวคนโต ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้มีนิยามตามหลังชื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักประพันธ์ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักหนังสือพิมพ์ อาจารย์สอนวิชาภาษาไทย เจ้าของและบรรณาธิการวารสารศิลปวัฒนธรรม ผู้ได้รับรางวัล ศรีบูรพา เมื่อปี 2536 หลังจากจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุกหอมบินไปศึกษาต่อ (M.A.) Southeast Asian Studies ที่ Cornell University และไปต่อ (M.Phil) Social Anthropogy ที่ Cambridge University
จากนั้นเธอได้รับการชักชวนจาก อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้มาร่วมทำงานใน โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ทุนจาก สกว. ทำอยู่ประมาณ 1 ปี เธอก็ลาออกมา แล้วก็ไม่ได้ทำงานประจำที่ไหนอีก นอกจากในฐานะคอลัมนิสต์ ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ และนิตยสาร OPEN
จริงๆแล้วที่ทำหลักๆ ก็คือเขียนคอลัมน์ต่างๆ ก็ไม่มากสองที่ เป็นบรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรมบางเล่ม หรือว่าอาจจะเป็นบรรณาธิการแปลเรื่อง บางเรื่องทางวิชาการ" "... ก็มีหลายเรื่องที่อยากคุย อาจจะเขียนหลายๆแนว บอกไม่ถูก คนอาจจะไม่มองว่าหลายแนว แต่สำหรับตัวเองจะมีแนวที่วิพากษ์ประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมบางเรื่อง บางทีก็จะเขียนเชิงล้อเลียน ล้อเล่น เรื่องต่างๆ มันเหมือนกับมีแง่มุมเรื่องความตลก อาจจะเป็นความงี่เง่า เป็นมุมที่คนไม่ค่อยเห็นและนึกไม่ถึง แต่ว่ามันจะทำให้เกิดความคิดเห็นและสะดุดใจขึ้นมาได้จากวิธีเขียนบางวิธี สไตล์การเขียนบางแบบจะทำให้มิติบางอย่างมันเผยออกมาให้เห็นเอง ถ้าคนอ่านอ่านละเอียด หรือว่าอ่านซ้ำๆหน่อย
วันก่อนมีเพื่อนถามว่าวงการวรรณกรรมมีอะไรใหม่ๆ ไหม วันนั้นตอบไม่ได้ แต่วันนี้ถ้าเจอเพื่อนถามอีกจะบอกว่า อ่านงานของมุกหอมสิ โดยเฉพาะเงาจันทร์ในอัญประกาศ แล้วจะได้คำตอบ
Create Date : 04 กันยายน 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:17:09 น. |
| |
Counter : 3253 Pageviews. |
| |
|
|
|
ฝนตกตลอดเวลา : การค้นหาความรักในโลกแห่งความเปียกชื้น
ฝนตกตลอดเวลา ปราบดา หยุ่น เขียน
ขอพูดถึงหนังสือจากสำนักไต้ฝุนอีกสักหนนะคะ เขาขยันทำหนังสือและส่งหนังสือมาให้อ่าน เพื่อเป็นการขอบคุณคนส่งมาให้อ่าน เลยนำมาเผยแพร่เล่าต่อกันฟัง
สำนักไต้ฝุ่นเล่าเรื่องย่อหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า " นวนิยายขนาดสั้นเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ตื่นมาในที่แปลกปลอมและจำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน เขาเรียนรู้ว่าเขาตื่นขึ้นมาในห้องของโรงแรม ชื่อ "สมานภพโมเต็ล" และบรรยากาศภายนอกโรงแรมชุ่มฉ่ำเพราะฝนโปรยปรายลงมาสม่ำเสมอ ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด นับจากการตื่นครั้งนั้น เขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์หลายเรื่องที่ค่อยๆ ทำให้เขารู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง และเธอคนนั้นเองที่ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้นไปด้วย "
ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้จบด้วยความรวดเร็ว หนังสือฉบับไม่หนานักเล่มนี้ ตรึงดิฉันให้อยากรู้เรื่องของชายหนุ่มที่จำตัวเองไม่ได้นั้นเป็นที่สุด เราค่อยๆ ได้รับความกระจ่างขึ้นมาเรื่อย ๆ ขณะค่อยๆ ติดตามเหตุการณ์ที่ชายหนุ่มผู้จำอะไรไม่ได้คนนั้นพบเจอ การเรียงลำดับบท หรือลำดับเหตุการณ์ของหนังสือเล่มนี้เก๋มากค่ะ เพราะมันเริ่มต้นจากบทที่ ลบสิบ ไปจบที่บทที่ ศูนย์ เวลาเราอ่านจึงรู้สึกเหมือนค่อยๆ อ่านย้อนหลังไปสู่เหตุการณ์ ณ ปัจจุบันของตัวละคร
และดิฉันยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับความรักของคนสองคน " ในโลกแห่งความเฉอะแฉะชุ่มฉ่ำ เขา พบเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอ คือจุดริ่มต้นของการผจญภัยในสายฝนต่างมิติ ที่เต็มไปด้วยคำถาม ความสับสน การค้นหา ความเปียกปอน ร่ม และเต่า " (จากหลังปก)
เมื่อแรกเริ่มที่อ่าน ฝนตกตลอดเวลาเล่มนี้ ได้รับความรู้สึกเหมือนอ่านนิยายวิทยาศาตร์ที่ลึกลับเล่มหนึ่ง ปราบดาพาเราไปสู่มิติที่เราไม่คุ้นชิน แถมเขายังมีสัญญลักษณ์ให้ผู้อ่านสะดุดใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเลขแปด โลโก้ของสิ่งของต่างที่ชายหนุ่มไปพบเจอ ฝนตกตลอดเวลา เต่า ฯลฯ แต่ยิ่งอ่านไปๆ ก็พบว่า คีย์สำคัญของนวนิยายเล่มนี้ยังอยู่ที่ "ความรัก" อีกเช่นเคย
"...อย่างไรก็ดีความรักกลับเป็นประเด็นที่ถกเถียงหรือผ่านการวิเคราะห์น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ปราชญ์แต่ละยุคสมัยให้ความสนใจกับความรักน้อยมาก ไม่มีใครอุทิศชีวิตไปกับการไตร่ตรองศึกษา หรือ ค้นหาทฤษฏีเกี่ยวกับความรักมากนัก...แต่มันมักเป็นปัญหาที่คนปรึกษากันเองในลักษณะวนเวียนซ้ำซาก และยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ไม่มีวันเชย เพราะมันเกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างเชยๆ อยู่แล้ว ความประทับใจจากความรัก แม้แต่การตกหลุมรักและกิจกรรมที่อุบัติในห้วงแห่งรัก มักมีรายละเอียดคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าคนคู่นั้นจะเป็นระดับผู้ปกครองประเทศ ระดับปัญญาชน หรือ ระดับคนใช้แรงงาน .." ( บางตอนจากหนังสือ )
มาร่วมสำรวจความรักของคนคู่หนึ่ง ที่อยู่ต่างมิติ ต่างเวลากันเถอะค่ะ หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ดิฉันยืนยันว่าพระเอก-นางเอกในเรื่องนี้รักกันมากเหลือเกิน
ป.ล. คำแนะนำและ คำเตือน จากหนังสือเล่มนี้
เพื่ออรรถรสและความเข้าใจที่กระจ่างกว่า อาจต้องอ่านอย่างน้อยสามครั้ง
หนังสือเล่มนี้ไม่กันน้ำ
Create Date : 22 สิงหาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:17:47 น. |
| |
Counter : 3536 Pageviews. |
| |
|
|
|
Wildwitness : คำให้การของปราบดา
วันก่อนได้รับหนังสือเล่มเล็กๆ 3 เล่ม เขียนเป็นภาษาอังกฤษ จากสำนักไต้ฝุ่น เปิดดูตอนแรกนึกว่าสำนึกหนังสือสำนักนี้ จัดทำหนังสือเด็กด้วยเสียอีก แต่พออ่านดูจริงๆ แล้วหนังสือชุดนี้ไม่จัดว่าเป็นหนังสือเด็กเสียทีเดียว
เอาเป็นว่าให้สำนักได้ฝุ่นเขาบอกแล้วกันค่ะ ว่า โครงการ Wildwitness คืออะไร
" wildwitness เป็นโครงการทดลองของไต้ฝุ่นและเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่จะผสานงานศิลปะ งานออกแบบ งานเขียน แฟชั่น และการสร้างจิตสำนึกดีๆ ให้กับคนในสังคมบริโภคนิยม เราออกแบบและจัดทำเสื้อยืด หนังสือ กระเป๋า และจะทำอย่างอื่นอีกในอนาคต ที่มีลวดลายและเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์ (ซึ่งจะจำหน่ายที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก) โดยเราจะแยก 5% จากรายได้การจำหน่ายของทุกชิ้นให้กับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ (เช่น WWF)
หนังสือ "คำให้การ" เกี่ยวกับโลมา ช้าง และหมี ด้านล่างนี้ คือผลงานริเริ่มส่วนหนึ่งของ wildwitness เนื้อหาภายในเป็นกลอนภาษาอังกฤษง่ายๆ คล้ายหนังสือนิทานสำหรับเด็ก เขียนโดยปราบดา หยุ่น ขนาดจริง 5.5 x 5.5 นิ้ว เนื้อในพิมพ์บนกระดาษปอนด์ หนา 16 หน้า เย็บกลางแบบมุงหลังคา จำหน่ายพร้อมกัน 3 เล่มเป็นชุด ในราคา 150 บาท (ถูกกว่าที่ญี่ปุ่นมหาศาล!) และ 10% ของรายได้จะโอนสู่บัญชีธนาคารของ The Wild Animal Rescue Foundation of Thailand (WAR)(www.warthai.org)..."
นอกจากการจำหน่ายทางเว็บไซต์ หนังสือชุดนี้จะปรากฏที่งานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคมที่จะมาถึง และน่าจะมีวางตามร้านหนังสือเฉพาะจุด ซึ่งจะเป็นที่ใดบ้าง กรุณารอการอัพเด็ทครั้งต่อไป
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ค่ะ
หนังสือ 3 เล่มนี้จัดวางคอนเซ็ตป์และเขียนเนื้อเรื่องโดยปราบดา หยุ่น ส่วนภาพประกอบเขียนโครงลายเส้นโดย ปาลิดา พิมพะกร
ดิฉันชอบเรื่องที่พูดถึงช้าง (ที่หลงตัวเอง ) นั่งมองกระจกทั้งวัน
" I knew a handsome elephant who was in love with his own reflection while his friends went out to play, he sat with a mirror all day... ...
The world went on without him, untill he was forgortten I used to know a handsome someone May be an elephant .
Create Date : 07 สิงหาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:18:30 น. |
| |
Counter : 1812 Pageviews. |
| |
|
|
|
ขอบฟ้าอยู่ใต้ฝ่าเท้า : โลกนี้มีไว้เหยียบ ไม่ได้มีไว้แบก
ขอบฟ้าอยู่ใต้ฝ่าเท้า
ตี้ - สุรจักร์ ชัยวรศิลป์ รวมบทบรรณาธิการจากนิตยสาร POP
เวลาเปิดอ่านนิตยสารทั้งหัวในและหัวนอกที่เรียงรายเต็มแผงหนังสือในวันเวลานี้ คุณเปิดอ่านหน้าไหนเป็นหน้าแรกค่ะ คุณเคยอ่านนิตยสาร POP ไหม
สารภาพตรงๆ ว่าดิฉันไม่เคยสนใจนิตยสารเล่มนี้มาก่อนเลย ระยะหลังนี่นิตยสารที่ได้อ่านประจำส่วนใหญ่ คนทำเขาส่งมาให้อ่านบ้าง หรือเลือกซื้อเฉพาะเล่มที่เราสนใจเนื้อหาขณะนั้น (อย่างเช่น มีบทสัมภาษณ์คนที่เรากำลังกรี๊ดอยู่ หรือมีบทความน่าสนใจ มีข้อมูลที่เรากำลังหา กำลังต้องการอยู่ ) แต่หลังจากนี้ไป เหตุผลหลักที่ดิฉันจะหานิตยสารเล่มนี้มาอ่านก็เพราะบทบรรณาธิการค่ะ
ดิฉันมีหนังสือรวมเล่มบทบรรณาธิการนิตยสาร(ไทย ) อยู่สองสามเล่ม ยังอ่านไม่จบสักเล่ม แต่เล่มนี้อ่านจบด้วยความรวดเร็ว อ่านไปยิ้มไป บางตอนแอบๆ น้ำตารื้น บางตอนหัวเราะก๊าก บอกอตี้ (ผู้เขียน ) สำนวนร้ายกาจมาก แต่ที่สำคัญที่ทำให้อ่านจบอย่างรวดเร็ว ก็เพราะบอกอตี้ คนนี้ไม่ได้มาคุยกับผู้อ่านอย่างที่บรรณาธิการคนอื่นคุยกับผู้อ่านของเขา เช่นบอกว่า เราควรจะรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร เธอไม่ได้มาบอกเราว่าเนื้อหานิตยสารในเล่มนี้มีอะไรบ้าง ไม่ได้บอกว่าวันนี้คนดังคนไหนกำลังทำอะไร ไปช้อปปิ้งที่ไหน ดาราคนนั้นกำลังเป็นแฟนใคร (นิตยสาร POP เป็นนิตยสารบันเทิง ) หรือบอกอตี้ไม่ได้บอกเราว่าเราควรแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไร (แต่เธอฉายภาพสังคมให้เราเห็นอย่างชัดเจนในบทบรรณาธิการของเธอ )
จากประสบการณ์ที่อ่านบทบรรณาธิการของนิตยสารมา พูดง่าย ๆ บทบรรณาธิการของเธอไม่ได้แสดงท่าที "ฉลาด" หรือทำท่าเย่อหยิ่งใส่คนอ่าน (บอกกอตี้บอกว่าบรรณาธิการบางคนเขียนทักทายผู้อ่านด้วยน้ำเสียงถือตัว สั้นกระชับ ประหยัดถ้อยคำ ประหนึ่งคุณนายผู้เย่อหยิ่งทักทายคนขับรถ ...และบางคนก็เทศน์สั่งสอนผู้อ่านทุกฉบับประหนึ่งหลงลืมไปว่าตัวเองเป็นแค่บรรณาธิการ หาใช่นักบวช )
แต่บทบรรณาธิการของเธอเต็มไปด้วย เรื่องของคนใกล้ตัวของเธอ แม่ คนรัก ลูกน้อง เพื่อนร่วมก๊วน เพื่อนรุ่นน้อง ผู้ชายที่เธอเจอ แต่ละเรื่องแต่ละบทที่เธอเล่ามันเปี่ยมความรู้สึก มัน...อย่างไรดีล่ะ ให้บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้มาบอกคุณจะดีกว่าไหม
"... ในทรรศนะของผม ตัวหนังสือของเธอง่าย ทว่าทิ่มแทงความรู้สึก กวนตีน แต่มีเสน่ห์ น่าหมั่นไส้ ทว่าเปิดเผย ซื่อสัตย์กับความรู้สึก ร้ายลึก แต่ตรงไปตรงมา ปากหมา ทว่าเป็นปัญญาชน มีทัศนคติที่ดี ยังไม่นับอารมณ์ขันในระดับที่สามารถเล่นตลกคาเฟ่แข่งกับโน้ต เชิญยิ้มได้สบาย
แม้ในความดิบเถื่อน แม้ในความโผงผาง ข้อเขียนของเธอกระแทกกระทั้นด้านลึกของชีวิตทุกครั้ง
สารภาพอย่างไม่เกรงจะเสียบุคลิค บทบรรณาธิการในนิตยสารซึ่งว่ากันว่าทำขายวัยรุ่นของเธอ ทำให้ผมร่ำไห้หลายเรื่อง เป็นการร่ำไห้ภายในที่ทั้งอึดอัดและขัดเขินมากที่สุดครั้งหนึ่ง..." (บางตอน จากคำนำของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ ขอบฟ้าอยู่ใต้ฝ่าเท้า )
ดิฉันชอบที่เธอบอกว่า เธอเริ่มเป็นคนทำหนังสือตั้งแต่อายุสิบแปด มีวุฒิเทียบเท่าเพียงแค่มัธยมหก อย่าว่าแต่จะจบวิชาการทำนิตยสารมาจากไหน มหาวิทยาลัยก็ไม่เคยเข้า
แต่สิ่งหนึ่งที่เธอมีมากคือเธออ่านนิตยสารอย่างบ้าคลั่งมาตั้งแต่อายุสิบสอง เธอหยุดอ่านการ์ตูนตั้งแต่อายุสิบปี ครู ที่ให้ความรู้เรื่องการทำนิตยสารแก่เธอคือ นิตยสารที่เธอกระหน่ำซื้ออย่างบ้าคลั่งนั่นเอง (เธออ่านนิตยสารหลายเล่มมาก และรู้จักนิตยสารนั้นๆ อย่างแท้จริง ด้วยว่าเธออ่านมันมาตั้งแต่เล่มแรกที่นิตยสารเล่มนั้นๆวางแผง และอ่านมันจบกระทั่งนิตยสารเหล่านั้นพากันปิดตัวลง )
และดิฉันเชื่อว่าตอนนี้ประสบการณ์การทำหนังสือกว่าสิบปี ที่เธอเวียนว่ายอยู่ในวงการหนังสือ มันคือ ครูใหญ่ที่บอกว่าเธอควรจะทำนิตยสารอย่างไร นิตยสาร POP เคยปิดตัวมาแล้ว และเพียงชั่วเวลาไม่นาน เธอก็ทำให้นิตยสารเล่มนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก (มิน่า เหล่าคนทำหนังสือเล่มนี้ถึงเรียกหนังสือของพวกเขาว่า ปอป ) นับถือจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นนักสู้ของเธอจริงๆ
การที่จะบอกว่าชอบบทไหนบ้างในนิตยสารเล่มนี้ นับได้ว่ายากยิ่ง เพราะชอบทั้งเล่ม ผู้อ่านหลายคนบอกว่าอ่านที่เธอเขียนแล้วชอบเรื่องที่เธอพูดถึงแม่มากที่สุด แสดงว่าหลายๆ คนคงเคยทำอะไรไม่ดีกับแม่ของตัวเอง ( ไม่ใช่ดิฉันค่ะ ดิฉันรักแม่มากกว่าความยุติธรรม -ตามที่นักเขียนคนนึงเคยบอก )
ดิฉันชอบตอนที่เธอเล่าให้ฟังว่าเธอเจรจาธุรกิจ (ในการเริ่มต้นทำหนังสือเล่มนี้ )อย่างไร ต้องไปหาอ่านค่ะ ถ้าเอามาเล่าในที่นี้คงยาวมาก ดิฉันเห็นภาพตามได้ตลอด มันลบภาพการเจรจาธุรกิจที่คุณเคยเจอหรือที่คิดว่าจะได้เจอออกไปได้หมดเลย
ชอบบท วันที่อยากทำความดี เธอบอกว่าการทำความดีสำหรับเธอมันเป็นเรื่องยาก ไม่เหมือนการทำความชั่ว เธอตั้งใจไปซุปเปอร์มาเก็ตเพื่อซื้อของให้เด็กอ่อนบ้านพญาไท แต่ใจมันคอยแต่จะเข็นรถไปที่ชั้นวางเหล้า (เหมือนดิฉันเลย ) การไปซื้อผ้าอ้อม นมผง ฯลฯ สำหรับเธอมันดูไม่เท่ (ดิฉันไม่เคยเดินเฉียดไปแผนกนี้เลย เคยไปยืนงงอยู่หน้าชั้นขายของสำหรับพระ จะไปทำบุญ แต่ไม่รู้จะหยิบอะไรก่อน อะไรหลังดี ) แต่ตอนหลังเธอก็ไปบ้านเด็กอ่อนพญาไทได้สำเร็จ
ชอบตอนที่เธอต่อรองกับสามล้อ ในบท นางมารร้ายกับคนขับสามล้อ เธอให้แบงค์พันแก่คนขับสามล้อ แน่นอนอยู่แล้วว่าคนขับสามล้อต้องไม่มีตังค์ทอนพอ เธอบอกว่าจะเข้าไปแลกตังค์ในเซเว่นอีเลเว่น แต่คนขับสามล้อไม่เชื่อใจเธอ เขาจะเข้าไปแลกตังค์เอง ต้องไปอ่านว่ากระบวนการ "ความไม่เชื่อใจกันของคนในสังคมเมือง " มันดำเนินต่อไปอย่างไร แต่เรื่องของเธอมักจะหักมุมนะคะ ขอบอก
ดิฉันไม่รู้ว่าเธอไปสรรหาสำนวนในการเขียนมาจากไหน ตอนนึงเธอพูดถึงตัวเองหลังจากไปปาร์ตี้มาทั้งคืน เธอรู้สึกเหมือนว่าเธอเป็น หมาขี้เรื้อนแก่ๆ ตัวนึง นอนหมดเรี่ยวแรงกดรีโมทโทรทัศน์อย่างไม่รู้สึกรู้สา
ชอบตอนที่เธอบอกเด็กวัยรุ่นว่า อย่ากักขังพลังในตัวเธอ มันเป็นตอนที่เธอเจอฝรั่งอังกฤษอายุ 19 ที่ถนนข้าวสาร เขาออกเดินทางมาประเทศเอเชียคนเดียว มันทำให้เธอนึกถึงตัวเองและวัยรุ่นไทย ในวัย 19 เธอไม่กล้าแม้แต่จะไปพัทยาคนเดียวด้วยซ้ำ ขึ้นรถเมล์ก็ไม่เป็น ไปไหนมาไหนคนเดียวก็เขิน ไม่กล้านั่งกินอาหารตามร้านอาหารคนเดียว ไม่เคยทำงานในร้านอาหารในเพื่อหารายได้พิเศษ ฯลฯ
เธอบอกว่า คุณจะเลือกแบบใดเล่า ระหว่างการใช้ชีวิตวัยรุ่นให้เต็มที่ตามความหมายของคำว่าเป็นวัยของการเรียนรู้และค้นหา กับการใช้ชีวิตวัยรุ่นที่ราบเรียบและปลอดภัย
ดิฉันเคยไปอิตาลี บางเมืองก็มีเพื่อนเที่ยว (ไปเยี่ยมเพื่อนเก่า ) บางเมืองก็เที่ยวคนเดียว ที่กรุงโรม ดิฉันเที่ยวคนเดียวอยู่หลายวัน ( มีคนเตือนว่าโรม เป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัย ทั้งจากขโมยวิ่งราวกระเป๋า ทั้งจากการหลอกต้มตุ๋นนักท่อเงที่ยว ฯลฯ ) แต่ประสบการณ์การเที่ยวคนเดียวที่โรม มีคุณค่ากับดิฉันมาก มันมีทุกอารมณ์ ทั้งสนุก ทั้งเหงา ทั้งคิดถึงเพื่อน ทั้งตื่นตาตื่นใจกับเมืองที่โอ่อาขนาดนั้น ทั้งประทับใจกับคนอิตาลี ทั้งต้องคอยวิ่งหนีหนุ่มอิตาลี (เพราะสาวคนไหน ย้ำ- ไม่ว่าคนไหนก็ตาม ถ้าไปอิตาลีแล้ว ไม่มีหนุ่มอิตาลีมาจีบ ให้มาเหยียบดิฉันได้ค่ะ ) ทั้ง ฯลฯ (ตอนที่เที่ยวคนเดียวนี้ไม่อาจจัดได้ว่าเป็นวัยรุ่นแล้ว )
เพื่อนๆ หลายคนของดิฉันตอนนี้ก็ยังไม่เคยเที่ยวคนเดียว ดิฉันอยากยุให้หลายๆ คนลองเดินทางคนเดียวดูค่ะ เป็นรสชาติในชีวิตที่คุณควรจะมีไว้เป็นประดับตัวเอง ...
นี่เป็นหนังสือรวมบทบรรณาธิการนิตยสารที่ดิฉันชอบมาก เล่มนึงทีเดียว บทบรรณาธิการในนิตยสารเล่มล่าสุด เธอพูดถึง พัทยา เมืองแห่งความชั่วร้ายแบบเหี้ยๆ ตามคำพูดของเธอ ดิฉันอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเทียบเท่าได้กับเรื่องสั้นชั้นดีเรื่องนึงทีเดียว
... ให้ตายเถอะ บอกอหนึ่ง ชั้นชอบหนังสือที่แกทำจริงๆ
Create Date : 30 มิถุนายน 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:21:08 น. |
| |
Counter : 2810 Pageviews. |
| |
|
|
|
| |
|
|
grappa |
|
|
|
|