 |
|
เรณู ปัญญาดี แบบเรียน (กึ่ง) สำเร็จรูป
แบบเรียน (กึ่ง ) สำเร็จรูป โดย เรณู ปัญญาดี

วันก่อนไปฟังการบรรยายของคุณประชา สุวีรานนท์ เรื่อง "ความเป็นไทยกับการออกแบบกราฟิคฯ" ที่ห้องสมุด TCDC เลยคิดถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาติดหมัด (เอ ทำไมต้องติดหมัดหว่า ติดอย่างอื่นไม่ได้หรือไง ) ดิฉันชอบหนังสือเล่มนี้ของเรณู ปัญญาดีมาก ถือว่าเป็นหนังสือในดวงใจเล่มหนึ่งก็ได้ ตีพิมพ์เมื่อกันยายน ปี 2546 โดยสำนักพิมพ์ชานหนังสือ แต่ก่อนหน้านั้นเคยตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์มาก่อน
จริงๆ จะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นการรวมเล่มการ์ตูนก็คงจะเรียกไม่ได้เต็มปากนัก เรียกว่า ความเรียงที่มาในรูปของการ์ตูนจะดีกว่า เรณู ปัญญาดี นำการ์ตูนย้อนยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาให้ความหมายใหม่ โดยใส่เรื่องราวของสังคมปัจจุบันเข้าไป
การ์ตูนเชิงสังคมเล่มนี้แบ่งออกเป็นสี่ภาค คือ
1. พ่อมาจากดาวคลองถม (โฮมโปร - แม่มาจากดาวแมคโคร-โลตัส ) 2 .หางดาบ ดอทคอท 3 .ดักแด้วันนี้ ดักดานวันหน้า 4 .ก้ำกึ่งรายครึ่งสัปดาห์
ดูจากชื่อแต่ละภาค พอจะอนุมานได้คร่าวๆ เรณู ปัญญาดีตั้งใจจะพูดถึง-เสียดสี-รื้อสร้าง และ ให้ความหมายใหม่ กับเรื่องราวของ 1. ครอบครัวในสังคมสมัยใหม่ 2. เทคโนโลยีที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ 3. การศึกษา 4. สื่อในสังคมปัจจุบัน
"...อันหนึ่งซึ่งผมชอบ นั่นก็คือทีทรรศน์ที่กำกวมกับอะไรต่อมิอะไรที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในโลกปัจจุบัน ผมคิดว่าความกำกวมนี่เป็นเสน่ห์ของงาน "บทความตูน" ของคุณเรณูนะครับ หมายความว่าอย่างนี้ครับ คุณเรณู หยิบเอาความไม่ลงรอย (ทั้ง Paradox และ Contradiction ) ของชีวิตสมัยใหม่ต่างๆ ขึ้นมาเป็นเนื้อหา เป็นความแตกต่างระหว่างยุคสมัย ระหว่างวัย ระหว่างการสื่อสารยุคโบราณกับยุคไอที ระหว่างโลกาภิวัฒน์กับท้องถิ่นนิยม ฯลฯ แต่ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน นี่ก็น่าจะใช่ นั่นก็น่าจะใช่ นั่นก็ไม่น่าใช่ นี่ก็ไม่น่าใช่ กลายเป็นปัญหาที่ผู้อ่านต้องนำไปเถียงกับตัวเอง ได้ความกระจ่างชัดแก่ตนเองหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ แต่ผมเถียงแล้วก็ยังกำกวมเหมือนเก่า คือไม่มีฝ่ายให้ยืนเต็มเท้าได้สักฝ่ายเดียว
แต่นี่เป็นความเป็นจริงของโลกสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่หรือครับ... ( บางตอนจากคำนำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์)
ดิฉันอ่านคำนำของอาจารย์นิธิแล้วก็ชอบมาก ชอบความกำกวม ชอบความล้อเล่นที่เหมือนเอาจริง ชอบความเอาจริงที่เหมือนล้อเล่น อีกอย่างที่ชอบหนังสือเล่มนี้คือมันไม่ได้ "ฟันธง" ลงไปว่าสิ่งที่เขานำเสนอในการ์ตูนเล่มนี้มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นหน้าที่ผู้อ่านจะต้องไปขบคิดต่อ การ์ตูนเล่มนี้จะค่อยๆ ตั้งคำถามอย่างชาญฉลาด แล้วค่อยๆ ให้ผู้อ่าน "รู้สึกกึ่งขำกึ่งขื่น" กับสังคมรอบตัวเราขณะนี้
อยากรู้จริงๆ เชียวว่าถ้าเรณู ปัญญาดี มาเห็นสยามพารากอน จะล้อเล่นมันว่าอย่างไรหนอ
นี่เป็นตัวอย่างเบาะๆ ของการ์ตูนเล่มนี้ค่ะ
ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างการ์ตูนของเรณู ปัญญาดี ที่อยู่บนภาพปกหนังสือความเรียงเกี่ยวกับหนัง "ภาพไม่นิ่ง" ของ ปราบดา หยุ่น ( 2544 ,สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด )

Create Date : 14 ธันวาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:55:41 น. |
| |
Counter : 4362 Pageviews. |
| |
 |
|
|
เชิญ พบ เสกสรรค์ วรากรณ์ เอนก และสุวินัย ในงาน วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ค้นหาตัวตนสังคมไทย "
เอาข่าวสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คมาฝากค่ะ
openbooks ชวน วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ค้นหาตัวตนสังคมไทย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ openbooks
ขอเชิญร่วมเสวนา วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ค้นหาตัวตนสังคมไทย
วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2548 ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 2 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ถึง 18.00 น.
14.00 16.00 น. ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ในหัวข้อ วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง
จากนั้น 16.15 18.00 น. ร่วม ค้นหาตัวตนสังคมไทย กับ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานล่าสุด ผ่านพบไม่ผูกพัน"และ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน ภูมิปัญญามูซาชิ: วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ

ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 13.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักพิมพ์ openbooks โทร. 0-2669-5145-6
ป.ล. ถึงแม้นเจ้าของบล็อกจะนิยมงานเขียนของลูกชายพี่เสก โลกนี้มันช่างยีสต์ แทนไท ประเสริฐกุล แต่วันศุกร์นี้ก็จะไปฟังคุณพ่อแทนไท พูดค่ะ ... เมื่อวานไปสยามพารากอน มาหนึ่งแป๊บ ชั้น G ที่เป็นชั้นอาหาร คนเยอะ ยังกับตลาดนัด เดินบ่นไปกับเพื่อนว่าร้อนจัง ขึ้นไปดูคิโนคุนิยะที่ชั้นสาม ร้านใหญ่กว่าที่เอ็มโพเรียม แต่ยังง ๆ กับการจัดหนังสืออยู่ ยังคุ้นกับการหาหนังสือที่เอ็มโปฯ มากกว่า สงสารคนกรุงเทพและตัวเอง วันหยุด ไม่มีที่ไป ต้องมาแออัดกันในศูนย์การค้า
ตอนนี้ชอบเพลงนี้มาก ชอบทั้งการรีมิกซ์และเนื้อหาของเพลง วันก่อนโน้น พูดจากับๆ คนคนหนึ่ง ดิฉันพูดประโยคหนึ่งออกไป เขาพูดกลับมาว่า ถ้าพูดประโยคนี้แสดงว่าดิฉันไม่รู้จักเขาเลย (เรารู้จักกันมาสิบกว่าปีแล้วค่ะ ) และมันทำให้ดิฉันเศร้ามาจนถึงตอนนี้ 
มันตอกย้ำว่า Words are meaningless .And forgettable Words are very unnecessary .They can only do harm แถมเราเป็นคนทำความรุนแรงนั้นเองด้วย เศร้าว่ะ
Create Date : 12 ธันวาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:10:14 น. |
| |
Counter : 1794 Pageviews. |
| |
|
|
|
TCDC และห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
วันก่อนเพื่อนที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะโทรฯมาฮือฮา เรื่องห้องสมุดที่สวยเก๋แห่งนี้ (เขาต้องฮือฮาแน่เพราะห้องสมุดอยู่ใกล้บ้านเขาขนาดเดินมาได้) อีกวันรุ่นน้องนักเขียน นักแปลโทรฯ มาบอกว่านั่งทำงานอยู่ที่ห้องสมุดแห่งนี้ ว่าแล้วดิฉันผู้ชอบห้องสมุด และเห็นว่าห้องสมุดเป็นหลุมหลบภัยตลอดมา (เช่นเดียวกับโรงหนัง ) ต้องจรลีออกจากบ้านไปดูห้องสมุดนี้เสียแล้ว วันนั้นไปถึงประมาณหนึ่งทุ่มแล้วค่ะ (ห้องสมุดเขาปิดสี่ทุ่ม )
ห้องสมุดแห่งนี้ชื่อ ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ TCDC( Thailand Creative & Design Center) หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อันเป็นหนึ่งในโครงการกระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์ฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ชั้นเดียวกับโรงหนังน่ะค่ะ

อันนี้เป็นบริการของห้องสมุดค่ะ
-หนังสือ วารสารด้านการออกแบบจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 15,000 เล่ม -ภาพยนตร์ เพลง และสื่อมัลติมีเดียประเภทต่างๆ -บริการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แยกการค้นหาได้ทั้งจากรายชื่อหนังสือ ผู้เขียน ประเภทเนื้อหา หรือจับคู่เรื่องที่ตรงและใกล้เคียงกัน -ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ -บริการทำสำเนาขาว-ดำ สี เครื่องสแกนเนอร์ และระบบถ่ายภาพดิจิตอล -ห้องอ่านหนังสือ ห้องชมภาพยนตร์ และจุดฟังเพลง -The Lounge ห้องสมุดเฉพาะสำหรับสมาชิกที่รวบรวมหนังสือด้านการออกแบบ ชั้นเยี่ยมและหนังสือหายาก
เข้าชมครั้งแรกยังไม่ต้องเสียตังค์ แต่ครั้งต่อไปต้องเป็นสมาชิก ซึ่งเขามีหลายประเภทตั้งแต่ ประเภทปรกติ พรีเมี่ยม คือ ประชาชนทั่วไป 1,200 นักศึกษาปีละ 600 จนถึงระดับ แพลตินัม บุคคลทั่วไป 12,000 บาท นักเรียน นักศึกษา 3,000 บาท (เฮ้อ อยากเป็นนักเรียนก็ตรงนี้แหล่ะ ) ซึ่งแน่นอนว่า การจะเข้าถึงข้อมูลได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่จ่ายค่ะ (การที่จะมีหัวด้านการออกแบบนี่ต้องใช้เงินมากจริงๆ )
ดิฉันคิดว่าการเสียค่าเข้าห้องสมุดปีละ 1,200 บาท นี่ถือว่าไม่แพงนะคะ ได้อ่านหนังสือปีละหลายเล่ม หนังสือภาษาอังกฤษด้วยซึ่งแต่ละเล่มก็ราคาแพง แต่ยืมหนังสือออกไม่ได้ค่ะ ต้องนั่งอ่านที่ห้องสมุด ซึ่งบรรยากาศดี น่านั่งอ่านหนังสือ มีไอแม็คให้ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (แหม ช่างเก๋ไก๋จริงจริ๊ง ) แต่ที่ดิฉันรู้สึกว่าแพงก็คือ ไปเอ็มโพเรียมทีไร กระเป๋าแบนทุกที ไม่ใช่ช็อปปิ้งนะคะ แค่อาหารการกินก็แพงแล้ว ยังบอกเพื่อนว่า ถ้ามาห้องสมุดนี่คราวหน้า ห่อข้าวมากินด้วยล่ะกัน

ที่ดิฉัน ชอบอีกอย่าง คือ กิจกรรมของที่นี่ค่ะ เขามีทั้ง ฉายหนัง มีเสวนา การบรรยาย นิทรรศการถาวร นิทรรศการหมุนเวียน ว่าจะไปดู กามิกาเซ่ เกิร์ลส์ หนังญึ่ปุนที่จะฉายวันที่ 17 ธันวา (เสียตังค์) และการบรรยายเรื่อง ความเป็นไทยกับงานออกแบบกราฟิค โดยคุณประชา สุวีรานนท์ วันที่ 7 ธันวาคม (อันนี้ไม่เสียตังค์)
กิจกรรมของเขามีมากกว่านี้ ดูรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ //www.tcdc.or.th/
หมายเหตุ รูปประกอบทั้งสองนำมาจากเว็บไซด์ของ TCDC
Create Date : 05 ธันวาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:11:48 น. |
| |
Counter : 3862 Pageviews. |
| |
|
|
|
โตเกียวอะโซบิ เที่ยวเล่นในกรุงโตเกียวกันเถอะ
 โตเกียวอะโซบิ 44 วัน ม.ย.ร. มะลิ เขียน
อ่านหนังสือเล่มนี้จบลงด้วยความรวดเร็ว ไม่ได้อ่านหนังสือท่องเที่ยวน่ารักๆ อย่างนี้มานานแล้ว คนเขียนเข้าใจเล่าเรื่องการเที่ยวเล่น (อะโซบิ หมายถึง เที่ยวเล่น ) 44 วันของเธอในโตเกียว เทคนิคการเขียนใช้ทั้งการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือและภาพการ์ตูน ที่คนเขียนวาดเองประกอบกันไป ผสมผสานกันทำให้ หนังสือตรงคอนเซปต์เที่ยวเล่นจริงๆ
เจ้าของเรื่องไปพักกับเพื่อนที่โตเกียว ทุกวันเธอจะออกเที่ยวเล่นโดยจักรยานบ้าง เดินบ้าง เล่าเรื่องแถวบ้านที่เธอไปพัก เล่าเรื่อง ตลาดปลา อนุเสาวรีย์หมาที่รอคอยเจ้าของมา 10 ปี เล่าเรื่องโทร่าซัง หนังสุดฮิตในญึ่ปุ่นช่วงกลางปี 1900 ฮิตจนมีมิวเซียม ดิฉันชอบที่เจ้าของเรื่องเขาบอกว่าเคยไปอ่านเจอว่าที่โทร่าซังเป็นเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นเพราะ ชีวิตจริงๆ หนุ่มญี่ปุ่น ไม่สามารถเป็นอย่างนี้ได้ โทร่าซังไม่มีงานประจำ เขามีกระเป๋าหนึ่งใบ แล้วออกท่องเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ หากินโดยขายของในงานวัด โชคร้ายเรื่องความรัก ฯลฯ แต่ผู้ชายญี่ปุ่นในช่วงปี 1928-1996 ต้องทำงานหนัก เพื่อประเทศชาติ เพื่อสังคม ชีวิตแบบโทร่าซังจึงอาจช่วยเยียวยาจิตใจของคนที่ทำงานหนักนั่นเอง
นอกจากนี้คนเขียนเล่าเรื่องซูโม่แถวบ้าน ที่เวลาคนเขียนเดินผ่านเธอก็จะไม่กล้าสบตา เธอเล่าถึงร้านกาแฟเล็กๆ ที่มีป้าคนขายเพียงคนเดียว เล่าเรื่องการอาบน้ำแบบออนเซ็น (การอาบน้ำรวมในที่สาธารณะแบบญี่ปุ่น) เล่าเรื่องการไป หลับบนรถไฟที่วิ่งวนกลับมาที่เดิน คือคนเขียนตั้งใจขึ้นไปหลับน่ะค่ะ เพราะไม่ว่าจะยังไงรถไฟสายนี้ก็จะวิ่งเป็นวงกลม ทุกหนึ่งชั่วโมงจะกลับมาที่เดิม หลับอย่างไรก็ไม่หลง โตเกียว อะโซบิ เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่น่ารัก ให้มุมมองละเอียดอ่อน ขณะเดียวกันก็ให้มุมมองการใช้ชีวิตจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น คนเขียนเธอ บอกว่า "การทิ้งขยะเหมือนกับการทำความดีชนิดอื่นๆ นอกจากจะต้องทิ้งให้ถูกที่แล้ว ยังต้องทิ้งให้ถูกช่องด้วย " หนังสือเล่มนี้ยังมีอะไรน่ารักๆ อีกเยอะค่ะ

ป.ล.1 ใครที่ไม่กล้าเดินทางคนเดียว รีบหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านโดยเร็ว ผู้เขียนเป็นคนขี้อาย แต่ขณะเดียวกันก็ใจกล้ามาก
ป.ล.2 ขออภัยเพื่อนๆ ที่รอดูรูปไปเที่ยวนะคะ รูปเยอะมาก ถ่ายมาประมาณ 900 รูป โดยช่างภาพมืออาชีพ ยังไม่มีเวลาคัดรูปเลยค่ะ งานน้อยกว่านี้เมื่อไร จะอัพให้ดูโดยพลัน
Create Date : 01 ธันวาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:12:27 น. |
| |
Counter : 2578 Pageviews. |
| |
|
|
|
แด่ ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทย (จบ)
แด่ ม.ร.ว.กีรติ นิธิ เอียวศรีวงศ์
เณรพลายแก้วได้ปะหน้านางพิมวัยสาวเป็นครั้งแรก ตกดึกก็คร่ำครวญถึงนางพิมว่า "ทำไฉนจึงจะได้นางพิมชม" รักกับได้ชมแยกออกจากกันไม่ได้. เรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงละครทีวีและหนังไทยหลายเรื่องไม่ได้ พระเอกรักนางเอก แต่ด้วยความแค้นซังกะบ๊วยอะไรก็ตาม เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการปล้ำ ทำจนนางเอกท้องบ้างไม่ท้องบ้าง แล้วผู้แต่งจะจบเรื่องอย่างไร น่าอัศจรรย์มากนะครับ นางเอกก็รักพระเอกแล้วก็แต่งงานอยู่กินกันจนชั่วฟ้าดินสลาย
การปลุกปล้ำข่มขืนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรัก นางเอกก็ยอมรับปรัชญาข้อนี้ จึงมีความรู้สึก "รัก" คนที่เคยข่มขืนตนได้ลงคอ ที่น่าอัศจรรย์คือผู้แต่ง (ซึ่งมักเป็นผู้หญิง) คิดได้อย่างไร แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นคือผู้ชมละครทีวีหรือดูหนังก็ชื่นชมเรื่องอย่างนี้จนติด มันแปลว่าอะไรครับ ผมแปลว่าการ "ได้ชม" นั้น จะใช้วิธีไหนก็ได้ นับตั้งแต่มนต์มหาระรวยไปจนถึงกล้ามเนื้อ
เช่นเดียวกับอิเหนาเมื่อได้ใช้ปากพูดกับจินตะหราเป็นครั้งแรกก็ฝากรักว่า "...เพราะหวังชมสมสวาสดิทรามวัย สู้เอาชีวาลัยมาแลกรัก" ฉากรักในละครรำไปจนถึงลิเกก็คือการรุกและการป้องปัด พูดภาษาชาวบ้านคือปากว่ามือถึง
ไม่มีนะครับ อาการแห่งความรักบริสุทธิ์ เทิดทูนบูชา ฯลฯ อย่างที่ควรจะเป็นสำหรับความรักโรแมนติค เพราะความรักแบบไทยไม่ใช่ความรักโรแมนติค ครั้นเรารับเอาความรักโรแมนติคมาจากหนังและนิยายฝรั่งในภายหลัง ผมออกจะสงสัยว่าเรายังไม่รู้วิธีจะรวบยอดมันมาใช้ในการแสดง หรือแม้แต่ในวรรณกรรมได้
ผมควรย้ำไว้ด้วยว่า ความรักแบบโรแมนติคของฝรั่งก็ไม่ใช่อุดมคติดีเลิศที่เราต้องทำให้ได้นะครับ เพียงแต่ว่าเราไปลอกความรู้สึกแบบนั้นจากนิยายและหนังฝรั่งมาใช้ในหนังและนิยายของเราบ้าง แต่แล้วเราก็ใช้มันอย่างไม่แนบเนียนเท่าไร โดยเฉพาะในการแสดงความรักแบบนั้น
ผมเข้าใจว่าในวัฒนธรรมโบราณของไทยนั้น การได้เสียเป็นความรับผิดชอบ (พอสมควร-คือมากกว่าปัจจุบัน) ความคิดอันนี้สะท้อนออกมาในหนังและละครทีวีไทยอยู่เหมือนกันนะครับ ตัวละครที่เป็นฝ่ายคนดี ซึ่งรวมพระเอกด้วยมักรับผิดชอบกับเรื่องนี้เสมอ แม้แต่กับนางอิจฉาที่มอมเหล้าพระเอกแล้วไปนอนแก้ผ้าเป็นเพื่อนตลอดคืน ฉะนั้น ความรักแท้ของพระเอกในวรรณคดีไทยจึงแยกออกจากเรื่องได้เสียไม่ได้ รักแท้แล้วไม่ยอมได้เสียก็แสดงว่าไม่ได้รักจริงล่ะสิครับ
หญิงชายไทยในสมัยก่อนคงต้องใจกันบ้างถึงได้เสียกัน จะต้องใจกันได้ก็ต้องจีบกัน แต่จีบกันโดยไม่มีการได้เสีย จึงต้องทำโดยไม่มีพันธะต่อกันมากจนเกินไป
ในประเพณีแอ่วสาวของภาคเหนือ (หรือเว้าสาวของอีสาน) คำโต้ตอบของหญิงชายมีแบบแผนค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าต้องพูดอะไร และต้องตอบโต้ว่าอะไร ความหมายที่แท้จริงจากใจผู้พูดแฝงอยู่อย่างละเอียดอ่อนในคำโต้ตอบนั้น เช่น ผมได้ยินมาว่า หากสาวในภาคเหนือถูกถามว่าเย็นนี้กินอะไร แล้วเธอตอบว่ากินอะไรที่เผ็ดๆ ก็แปลว่าเธอไม่ยินดีต้อนรับหนุ่มที่ถามนัก แอ่วพอเป็นมารยาทแล้วควรเขยิบหนีไปเรือนอื่นที่ลูกสาวเขาบอกว่ากินแกงฟักหรืออะไรที่เย็นๆ กว่านั้น
นักวิชาการฝรั่งอธิบายว่า ประเพณีโต้ตอบในการแอ่วสาวเหล่านี้ ช่วยกีดกันมิให้การสนทนาของแต่ละฝ่ายกลายเป็นข้อผูกมัดจนเกินไป (จนกว่าฝ่ายชายจะเอ่ยปากขออนุญาตส่งผู้ใหญ่มาขอ-ซึ่งต้องพูดโดยไม่มีภาษาแอ่วกำกับ) ซึ่งผมก็เห็นด้วย
ผมนึกถึงการเล่นโวหารของหนุ่มสาวสมัยนี้ อย่างที่เคยเห็นในทีวีเสมอ เช่น ผู้ชายบอกผู้หญิงว่า "ขอโทษ ช่วยเขยิบมาตรงนี้หน่อยเถิดครับ" "ทำไมหรือคะ" "หัวใจเราจะได้ตรงกันไงครับ" และโวหารอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแต่ใครจะคิดขึ้นใหม่โดยไม่มีประเพณีของภาษาแอ่วมากำกับ. แต่... แล้วมันจริงหรือเล่นล่ะครับ ? คำตอบคือไม่ชัด จริงก็ได้เล่นก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต่างเลยนะครับกับประเพณีการแอ่วสาวหรือเว้าสาว
แสดงว่า จนถึงทุกวันนี้ หลังจากดูหนังฮอลลีวู้ดกันมาคนละนับเป็นร้อยเรื่องแล้ว ความรักแบบโรแมนติคก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์ของไทย และเรายังไม่อาจแสดงความรักแบบนี้ได้เป็น ทั้งในศิลปะการแสดงและในชีวิตจริง
ผมคิดเรื่องนี้แล้วก็นึกเถียงตัวเองว่า ทำไมผู้คนจึงซาบซึ้งกับนวนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กันมากอย่างนั้นเล่า ความรักของ ม.ร.ว.กีรตินั้นแหละคือสุดยอดของความรักแบบโรแมนติคเลย ไม่มีบริบท, ไม่มีข้อเรียกร้องตอบแทน, (น่าจะ) ไม่มีความรู้สึกทางกามารมณ์ด้วย ขอแต่ให้ได้รักเท่านั้น หรือเธอเป็นเหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทยกันหว่า
ในขณะที่คนอ่านสามารถเข้าใจเธอได้ แต่ทำตามไม่ได้ อย่างที่คนไทยปัจจุบันเข้าใจความรักแบบโรแมนติคได้ แต่ทำตามไม่ได้
ป.ล.1 บทความของอาจารย์นิธิชิ้นนี้นำมาจากบทความเผยแพร่ของเว็บไซด์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และบทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ด้วยค่ะ
ป.ล.2 จบแล้วค่ะ
Create Date : 19 พฤศจิกายน 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:35:28 น. |
| |
Counter : 2200 Pageviews. |
| |
|
|
|
| |
|
 |
grappa |
|
 |
|
|