- - - - - - + + + + ป่าลึกและปารีส - - - - - -+++++
เมื่อวันอาทิตย์เย็นที่ผ่านมา ดิฉันไปงาน "ปิดนิทรรศการภาพถ่ายจากป่าลึกสู่ปารีส " มาค่ะ สำนักพิมพ์โอเพ่นเขาจัดงานเก๋ นอกจากจะมีวันเปิดงานแล้ว ยังมีวันปิดงานอีก ใครไปงานนี้นับว่าไปด้วยใจกันจริงๆ ก่อนงานเริ่ม ฝนตกหนักมาก รถติดมากกกกกกกกก งานภาพถ่ายจากปารีสเป็นงานแสดงและขายภาพขาว-ดำ ของนิว ศุภชัยเกศการุณกุล ช่างภาพคนแรกๆ ของนิตยสารโอเพ่น คงยังจำหน้าปกนิตยสาร โอเพ่นรุ่นแรกๆ ที่มีภาพพอร์ดเตรทสวยๆ สีขาว-ดำได้ นิวเป็นช่างภาพที่ทำหน้าที่ถ่ายภาพสวยๆ ขาวดำ เหล่านั้น ก่อนหน้าที่เขาจะเดินทางไปใช้ชีวิตที่ปารีสดิฉันมักจะเจอเขาบ่อยๆ ที่ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์ มันเป็นร้านที่เรามักจะมานั่งพักผ่อน คุยกับเพื่อน ปรับทุกข์กับเพื่อนหลังเลิกงาน ดิฉันมักจะทราบข่าวว่า นิว กำลังจะถ่ายรูปใคร หรือทำงานอะไรอยู่จากร้านนี้ แต่บ่อยครั้งที่เรามักจะเป็นฝ่ายฟังคนโน้น คนนี้พูดกันมากกว่า ดิฉันเคยเอาสมุดสเก็ตงานของนิวมาอ่าน นิวมักจะมีโน้ตๆ สั้นๆ ประกอบการคิดเรื่องงานถ่ายภาพ ตอนที่ได้อ่านโน้ตอันนั้นดิฉันคิดว่า นิวเขียนหนังสือได้ดีเทียว ฝีมือการเขียนหนังสือของเขาไม่แพ้การถ่ายรูปเลย หกปีผ่านไป นิวกลับมาจากฝรั่งเศส ดิฉันรู้สึกว่า นิวก็ยังเป็น นิวคนเดิม ไม่ค่อยพูด มักเป็นฝ่ายยิ้มๆ ฟังคนอื่นพูดมากกว่า วันปิดงานวรพจน์ซักถามนิว เรื่องการใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส นิวไปเรียนปริญญาโททางทฤษฏีภาพยนตร์ที่ปารีสด้วย ( ตอนเรียนปริญญาตรี นิวเรียนเอกภาพยนตร์ คณะวารสารฯ ) นิวบอกว่า คนฝรั่งเศสรู้จักหนังไทยดีทีเดียว และคนที่ทำให้คนฝรั่งเศสรู้จักหนังไทยคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เพื่อนร่วมคลาส มักจะมาซักถามถึงหนังไทยจากเขาบ่อยๆ นิวบอกอีกว่า ตอนไปใหม่ๆ ปีสองปีแรกเขาถ่ายรูปปารีสไม่ได้เลย ถ่ายออกมาก็ดูผิวเผิน เปลือกๆ ดิฉันถามว่า ถ่ายแบบนักท่องเที่ยวใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ ถ่ายถ้วยกาแฟ ถ่ายร้าน ถ่ายป้ายไปเรื่อย พออยู่ไปสักปีที่ห้า ปีที่หก เขาถึงพบว่า เขาถ่ายปารีสได้แล้ว รูปที่ไปดูมาวันนี้ก็ยืนยัน มันดูเป็นภาพในชีวิตประจำวัน เหมือนจะถ่ายง่าย แต่ไม่เลย ดิฉันคิดว่าไม่ได้ถ่ายภาพแบบนี้กันได้ง่ายๆ ตอนออกมาคุยนอกรอบกับนิว สิ่งที่ทำให้ดิฉันอิจฉานิวมากคือ นิว อ่าน South Of the Border , West of the Sun หนังสือของมูราคามิ ในเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศส ฟังแล้วกรี๊ดสลบมาก นิวไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่นั่น หกปีผ่านไปเขาอ่านนวนิยายภาษาฝรั่งเศสได้แล้ว คนที่ไม่ค่อยได้ไปไหนอย่างดิฉัน อิจฉาจริงๆ และนี่คือหนังสือเล่มแรกของนิว ซึ่งแน่นอนว่า ภาพปกคือฝีมือการถ่ายรูปของเขา ..... ใกล้ปิดงาน คนที่มากล่าวปัจฉิมกถา คือ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ คุณเชนบอกว่าเขาพูดไม่เก่ง ( อีกคนหนึ่ง ) เขาจึงใช้วิธีเขียนมา แล้วให้นอมีนี คือ วรพจน์ พันธ์พงศ์ ช่วยอ่านให้ โดยมีเขานั่งอยู่ข้างๆ นั่งยิ้มๆ ฟังวรพจน์อ่านสุนทรพจน์สั้นๆ ของเขาไปด้วย นก คน ฝน ไฟ ดิฉันชอบที่วรพจน์ เขียนถึง ม.ล.ปริญญากร ไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขามาก มันอยู่ในหน้าคำนำ วรพจน์บอกว่า ...สัตว์แต่ละตัวมีหน้าที่ของมัน เขาใช้คำพูดนี้บ่อยๆ สิ่งที่เขาทำอยู่ก็คล้ายเป็นเช่นนั้น คือมั่นคงในหน้าที่การงานของตัวเอง ยืนยัน ยืนหยัด ยืนระยะ ผมชอบคำว่า" ยืนระยะ" มันมีความหมายว่า อยู่ทน อยู่นาน อยู่อย่างเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่คิด ที่เชื่อ พูดตรงๆ พูดโต้งๆ คืออุทิศชีวิตให้ ไม่ใช่ทำเอามัน หรือเพียงแวะมาตากอากาศ ฮิตอะไรที ก็ เห่อ-แห่ตามกัน สังคมโดยภาพรวมของเราเป็นกันเอามาก แต่ไม่ใช่เขา ม.ล .ปริญญากร วรวรรณ ------ ป.ล. ใครที่รอการรายงาน "รวมพลคนอ่านและไม่อ่านมูราคามิ "รอแป๊บนะคะ ตัวเองก็กำลังรอรูปจากสนพ.กำมะหยี่ แต่ขอเกริ่นๆ ว่า ที่น่าตื่นเต้นคือ คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ เล่าว่า เจอ หว่องกาไวในเมืองไทยนี่เอง แถมยังได้ถามด้วยว่า ตอนจบของ In The Mood For Love เฮียเหลียงแกพูดอะไรใส่ในโพรงไม้หนอ..
Create Date : 19 สิงหาคม 2551
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:55:33 น.
Counter : 1862 Pageviews.
- - - - - - - - - - - รวมพลคนอ่านและไม่อ่านมูราคามิ - - - - - - - - - -
เอาข่าวจากสำนักพิมพ์น้องใหม่ ( แต่แร๊งงงง) มาฝากกันค่ะ เจอกันเย็นวันจันทร์นี้ค่ะ
Create Date : 15 สิงหาคม 2551
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:56:46 น.
Counter : 1729 Pageviews.
- - - - พบกับ After Dark- ราตรีมหัศจรรย์-หนังสือเล่มใหม่ของมูราคามิ ที่งานอัมรินทร์บุ้คแฟร์ - - - -
เมื่อวานได้รับข่าวจากมาดามมิว เจ้าของสนพ.กำมะหยี่ ( สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ) ว่าวันนี้ After Dark นวนิยายเล่มล่าสุดของมูราคามิ ฉบับภาษาไทย จะออกจากโรงพิมพ์ แล้วไปวางเป็นที่แรกที่งานอัมรินทร์บุ้คแฟร์ ชื่อภาษาไทยคือ ราตรีมหัศจรรย์ แปลโดย คุณนพดล เวชสวัสดิ์ เช่นเคย ดีใจมาก หนังสือที่เรารอคอยเสร็จออกจากโรงพิมพ์แล้ว เลยมาแจ้งข่าวแฟนๆ มูราคามิค่ะ เห็นว่าวันที่ 5 สิงหานี้ สองเล่มนี้จะตามออกมา จากสำนักพิมพ์เจ้าเดียวกัน แกะรอยแกะดาว ด้วยรัก ความตายและหัวใจสลาย แฟนๆ มูราคามิมีเฮ ใครที่มักจะถามหาสองเล่มนี้เตรียมตัวสอยได้เลย บล็อกของ สนพ.กำมะหยี่ค่ะ ติดตามข่าวสารของสนพ.ได้ที่นี่ //gammemagie.blogspot.com/ ... งานอัมรินทร์บุ้คแฟร์มีถึงวันอาทิตย์ที่ 3 ส.ค.นี้ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ค่ะ ดิฉันจะไปงานพรุ่งนี้ เพื่อไปเป็นหน้าหมา เอ๊ะ หน้าม้าให้เพื่อน วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ( เจ้าของคอลัมน์ สุนทรียศ่าสตร์แห่งความเหงา ในนิตยสารจีเอ็ม) จะขึ้นเวทีคุยกับ ท่าน ว วชิรเมธี ในหัวข้อ ธรรมะคลายใจ บ่ายสอง ที่ศูนย์ประชุมฯ วันเสาร์พรุ่งนี้ ใครสนใจหัวข้อเรื่อง หรือติดตามงานของท่าน ว. วชิรเมธีอยู่ ไปฟังได้ค่ะ ... ด้วยรัก ความตายและหัวใจสลายกำลังจะเป็นหนังแล้วด้วย ข่าวจากนี้ค่ะ //www.bioscopemagazine.com/smf/index.php?topic=1280.0 โดยผู้กำกับคนนี้ Tran Anh Hung ผกก.ชาวเวียดนาม ที่เคยกำกับฯหนังอย่าง The Scent of Green Papaya (1993), Cyclo (1995) แต่คงอีกนานพอสมควรกว่าจะได้ดูกัน เพราะผกก.จะเริ่มถ่ายหนังในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 จากข่าวเห็นบอกว่ามูราคามิคัดค้านอยู่นานเหมือนกัน แต่ด้วยความที่ชอบงานของ ผกก.และการทำงานของทีมงานเลยตอบตกลง จริงๆ เรื่องความรัก ความตาย และหัวใจสลาย เหมาะที่จะทำเป็นหนังที่สุดแล้ว มันมีสตอรี่ชัดเจนกว่าเล่มอื่นๆ ที่เขียนโดยมูราคามิ และเล่มนี้ก็ป๊อปปูลาร์ที่สุดด้วย ดูราวกับว่า เนื้อหาในหนังสือนอร์วีเจียน วู้ด มีส่วนที่ผสมผสานจากชีวประวัติของมูราคามิอีกเช่นกัน แต่สำหรับตัวเอง อยากเห็นคาฟก้า วิฬาร์ นาคาตะ เป็นหนังมากกว่า อยากเห็นตัวละครอย่างบรรณรักษ์หนุ่ม ผู้ช่วยพระเอกในเรื่อง กับนาคาตะ คุณตาผู้ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร อยากเห็นตัวละครสองตัวนี้บนแผ่นฟิล์ม อย่างไรก็ตาม ติดตามกันต่อไปค่ะ แฟนๆ มูราคามิ
Create Date : 01 สิงหาคม 2551
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:57:46 น.
Counter : 2228 Pageviews.
- - - - ชวนคุยเรื่อง เรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ - - - - - -
กรรมการคัดสรรหนังสือรางวัลซีไรท์ปีนั้ ประกาศรางวัลหนังสือที่เข้ารอบรางวัลซีไรท์มาพักใหญ่ เพิ่งได้มีโอกาสมาพูดถึงกัน คิดว่าหลายๆ คนคงรู้แล้วว่า หนังสือทั้ง 9 เล่มนั้นมี 1 .เคหวัตถุ / อนุสรณ์ ติปยานนท์ (เคหวัตถุ) 2. ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ / ศิริวร แก้วกาญจน์ (ผจญภัยสำนักพิมพ์) 3 .เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า / จำลอง ฝั่งชลจิตร (แมวบ้าน) 4 .เราหลงลืมอะไรบางอย่าง / วัชระ สัจจะสารสิน (สำนักพิมพ์นาคร) 5 . วรรณกรรมตกสระ / ภาณุ ตรัยเวช (นานมีบุ๊คส์) 6 .ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ / เงาจันทร์ (แพรวสำนักพิมพ์) 7 .บริษัท ไทยไม่จำกัด / สนั่น ชูสกุล (มติชน) 8 .ตามหาชั่วชีวิต / เสารี เอี่ยมลออ (เสาวรี) (สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น) 9 .หมู่บ้านแอโรบิก / ทัศนาวดี / (แพรวสำนักพิมพ์) โดยส่วนตัวเชียร์หนังสือเล่มนี้สุดใจเลยค่ะ เคหวัตถุ ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ บล็อกนี้เคยพูดถึงหนังสือของคุณอนุสรณ์ไปแล้วสองสามเล่ม เล่มนี้ก็อ่านไปแล้ว ชอบน้อยกว่า H20- ปรากฏการณ์การแตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของคุณอนุสรณ์ ชอบ เอชทูโอมากกว่า แต่สองเล่มนี้ก็นับว่าคล้ายๆ กัน ยังมีกลิ่นอายของมูราคามิอยู่จางๆ เหมือนกัน เล่มที่เชียร์ต่อมา คือ ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ ของศิริวร แก้วกาญจน์ ยังไม่ได้อ่าน แต่ได้อ่านเรื่องที่เข้ารอบเมื่อครั้งที่แล้วของศิริวรคือ กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปาร์กาเด ก็ชอบมาก เห็นชื่อศิริวร เข้ารอบมาอีกก็ดีใจวรรณกรรมตกสระ ของภาณุ ตรัยเวชก็เชียร์ค่ะ หยิบผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรมมาอ่าน โดยผู้เขียนคนเดียวกัน พบว่าประเด็นทันสมัยดี ภาณุ เคยพาหนังสือตัวเองเข้ารอบมาแล้วหนึ่งเรื่องคือ เด็กกำพร้าจากสรวงสวรรค์ ตอนนี้ก็เข้ารอบอีก เชียร์ๆ เหมือนกัน วันก่อนตอนประกาศ 9 เล่มนี้ใหม่ๆ ไปร้านหนังสือปรากฎว่ายังไม่ได้จัดชั้นหนังสือที่เข้ารอบรางวัลซีไรท์ ( ตอนนี้คงจัดแล้ว) ดีใจที่วรรณกรรมไทยได้เผยโฉมตัวเองอย่างชัดเจนบนชั้นหนังสืออีกครั้งหนึ่ง เพราะวรรณกรรมไทยมักจะถูกจัดเข้าสันอย่างรวดเร็ว ตามหาไม่ค่อยเจอ คราวนี้คงหาทั้งเก้าเล่มกันเจอแล้วค่ะ ( เล่มที่ไม่เข้ารอบก็เชียร์ให้หาวรรณกรรมไทยมาอ่านกันค้า ) ใครอ่านเล่มไหนแล้วมาเชียร์ หรือบอกกล่าวเล่าให้ฟังกันบ้างค่ะ --- วันก่อนไปวิ่งที่สวนรมณีนาถ เจอภาพนี้ เสียงดนตรีของน้องเค้าทำให้บรรยากาศในสวนรื่นรมย์ขึ้นมากทีเดียว ( แม้นเสียงไวโอลินจะแปร่งและเพี้ยน แต่ก็น่ารักดีค่ะ ) ใครอยากวิ่งแล้วไม่ได้ไปเสียที ไปวิ่งได้แล้ว ( เธอนั่นแหล่ะ พิมปาย) วันนี้ก็ท่าทางอากาศจะดี ไปวิ่งกันเถอะค่ะ
Create Date : 24 กรกฎาคม 2551
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:58:43 น.
Counter : 2281 Pageviews.
- - - วารสาร "อ่าน" พาไป "ฟัง" เขาและเธอ "พูด" เรื่อง"การอ่าน" - - - -
โมเมไปเองว่าหลายๆ คนคงเห็น วารสาร "อ่าน" วารสารหน้าตาดี แต่อ่านยาก ( หรือเปล่า ?) ตามแผงหนังสือกันบ้างแล้ว หนังสือหัวสวย ดีไซน์สวย เนื้อหาเข้มข้ม ว่าด้วยการวิจารณ์วรรณกรรม ชนิดฮาร์ดคอร์ บทวิจารณ์เรื่องเด่น คงจะอยู่ที่เรื่องจากปกโดย อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อ.ประจำ คณะ ศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นักวิจารณ์คนแรก (สายวรรณกรรม) ของ รางวัล ม.ล.บุญเหลือ วิจารณ์ ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง และคราวนี้มาในแบบ "ชุมชนกับชาติ อำนาจกับความรัก" ลองอ่านกันดูค่ะ เผื่อจะเปิดภาพมุมมองใหม่ๆ ของวรรณกรรมเก่า ๆ( เรียมเอง เขียนทุ่งมหาราชตั้งแต่ปี 2497 ) เข้าไปอ่านอีกครั้งจะพบว่า มาลัย ชูพินิจ ( ซึ่งก็คือ เรียมเอง) เป็นนักเขียนหัวก้าวหน้ามาก ในการนำเสนอประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องชนชั้น และเรื่องผู้หญิง อยากให้กลับไปอ่าน "ทุ่งมหาราช" กันจริงๆ ( เป็นหนึ่งในหนังสือโปรดตลอดกาลของดิฉันด้วย ^^ ) เมื่อปลายเดือนมิถุนายน วารสารอ่าน ได้ไปจัดเสวนากันถึงร้านเล่าเชียงใหม่ ในหัวข้อ พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์ นำเสวนาโดย คำ ผกา นักเขียน/นักวิจารณ์ ผู้เคยมีผลงานเรื่อง กระทู้ดอกทอง , ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักเขียน/นักวิจารณ์ จากผลงาน อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล จากภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปอ่านส่วนที่เว็บประชาไทเอามารายงาน อ่านไป ยิ้มไป มันช่างสนุก และทำให้คิดถึงการอ่านของตัวเอง รูปจากเว็บประชาไท จากซ้ายไปขวา ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ไชยันต์ รัชชกูล และ คำ ผกา ประชาไท เขาสรุปประเด็นที่คนทั้งสามพูดกันวันนั้นได้สนุกดี ข้างล่างคือตัวอย่าง ....การอ่านคือความฟุ่มเฟือยของชีวิต? คำ ผกา เผยว่าเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้มีบรรยากาศการอ่านอะไรเลย เวลาจะอ่านหนังสือต้องคลุมโปงแล้วเอาไฟฉายส่อง นอกจากหนังสือเรียนแล้ว หนังสือแนวอื่น ๆ ต้องห้ามหมดเพราะมันจะนำพาให้เด็กมีจินตนาการเตลิดเปิดเปิงรู้จักเรื่องรักใคร่ก่อนวัยอันควร แล้วที่บ้านพ่อแม่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือก็เลยไม่มีคนมาคอยบอกว่าต้องแบบนี้นะ หนังสือสำหรับเด็กเป็นแบบนี้นะ ก็เลยโตมากับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับนิยายเล่มละบาท เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านกัน มีนิยายรัก ๆ ใคร่ ๆ แล้วก็ที่ขายตามสถานีรถทัวร์ที่หน้าปกเป็นดารา ไม่เคยได้สัมผัสกับวรรณกรรมเยาวชนเลย ...คำ ผกา พูดต่อว่า โดยส่วนตัวก็อ่านสิ่งเหล่านี้เพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ได้คิดว่าเป็นความรู้ แต่ทำไมนิยายที่ดูไม่มีคุณค่าพวกนี้มันกลับทำให้เรา อยู่กับหนังสือมาจนโต ...ชูศักดิ์ เผยต่อว่า ถ้าให้พูดประชด ๆ หน่อย คือจริง ๆ แล้ววรรณคดีเป็นวิชาฟุ่มเฟือยของชีวิต พวกผู้ดีอังกฤษเขาก็ถือว่าการอ่านวรรณคดีเป็นแค่อาภรณ์ประดับตัว ไม่ได้เอาไว้ใช้ทำอะไรอยู่แล้ว เพราะถ้าคุณอยากเป็นผู้ดี คือคุณก็ ไม่ต้องทำอะไร อยู่แล้ว โดยนิยามของผู้ดีคือคุณจงเป็นไอดอล ใครที่ ทำอะไร ก็คือพวกกเฬวราก คือไพร่ เข้าไปอ่านต่อได้ที่นี่ //www.prachatai.com/05web/th/home/12703 ในฐานะที่โตมากับไทยรัฐและนิตยสารสกุลไทย อ่านที่คำ ผกา พูดแล้วชอบมาก แถม ยังเอาสิ่งที่ อ. ไชยันต์ ตั้งประเด็นไว้มาคิดต่อ อาจารย์ไชยันต์บอกว่าการอ่านมันจะทำให้เกิดพลังอะไรได้จริงหรือไม่ เพราะมีคำตอบอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ การอ่านมันไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย มีคนเคยบอกว่าการอ่านเป็นของฟุ่มเฟือย เหมือนที่เราไม่ได้กินชาก็ไม่เป็นไร วันก่อน ยังคิดอยู่เลยว่า เลิกอ่านหนังสือไปเย็บปักถักร้อยดีกว่าไหม เพราะมันดู" ยังประโยชน์" ให้เห็นจริงๆ มากกว่าสิ่งเหลวไหลเพ้อเจ้อที่ได้จากการอ่าน ดีไหมๆๆๆๆ ป.ล. 1 คนออกแบบหน้าปกวารสารคือประชา สุวีรานนท์ เข้าใจว่าน่าจะออกแบบหัววารสารด้วย คิดได้อย่างไรที่เอาเครื่องหมายปุ่ม power บนคอมพิวเตอร์มาแทน อ.อ่าง เก่งจริงๆ ราวกับจะบอกว่า การอ่านคือ อำนาจ แบบหนึ่ง ป.ล.2 ตอนนี้ประชาไทอัพเดทเรื่องพลังแห่งการอ่านตอนที่ 2 แล้ว ตามลิงก์ นี้ไปเลยค่ะ //www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=12723&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai อันนี้คือ ตัวอย่าง ...คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ผู้เข้ารับฟังการเสวนา เสนอความเห็นว่า ในวงการการอ่านการเขียนบ้านเรา เรามักจะพิจารณาแต่อะไรที่เป็นมืออาชีพ (Professional) หรือ เป็นแบบชนชั้นที่มีเวลาว่าง (Leisure Class) ถ้าหากมองไปที่ชนชั้นแรงงาน (Working Class) เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขามากพอ ผมเห็นแบบเดียวกับที่คำ ผกา พูด ผมเคยไปทำงานเป็นพนักงานเสริฟ กลับมาบ้านก็ไม่อารมณ์ที่จะอ่านอะไรเป็นสาระ ตรงนี้มันเกิดการอ่านการเขียนแบบชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เขาอ่านคู่สร้างคู่สม อ่านไทยรัฐ ศาลาคนเศร้า เรามีการสนทนากันตรงนี้หรือเปล่า ซึ่งคู่สร้างคู่สมอยู่มา 20-30 ปี ขายดีมาก แล้วก็พบตามร้านเสริมสวย ร้านก๋วยเตี๋ยว ภิญญพันธุ์กล่าว ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่อ่าน แต่ชาวบ้านเขาเลือกที่จะอ่าน ตรงนี้ผมว่ามันเป็นประเด็นทางวัฒนธรรม
Create Date : 02 กรกฎาคม 2551
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 14:00:20 น.
Counter : 2439 Pageviews.
grappa