-- - - งานอมรินทร์บุ้คแฟร์และ "ยาขอบกับครอบครัว" หนังสือเล่มใหม่ของระหว่างบรรทัด- - - -

งานอมรินทร์บุ้คแฟร์กำลังจะเริ่มต้นพรุ่งนี้อีกแล้ว ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องบอลล์รูม Hall A เหมือนเดิม ( ขึ้นตรงทางยักษ์ตนหนึ่งที่ยืนปักหลักอยู่นั่นแหล่ะค่ะ )

คราวนี้อมรินทร์บุ้คแฟร์ มีหนังสือของหลายเจ้าสำนักพิมพ์ นับตั้งแต่หนังสือในเครืออมรินทร์ และสำนักพิมพ์แนวๆ อย่างอะเดย์ สำนักพิมพ์งานสาวๆ น่ารักๆ อย่างบลิสส์ แจ่มใส วงกลมหรืองานฮาร์ดคอร์อย่างของสนพ.เคล็ดไทย ทีวีบูรพา ก็มีหมด แถมด้วยอีกหลากหลายสนพ.

สำนักพิมพ์เล็กๆอย่าง ระหว่างบรรทัด ก็ไปออกบู้ทด้วยค่ะ ต้องขอบคุณอมรินทร์พริ้นติ้งที่ชวนเราไปออกบู้ทด้วย เหมือนอย่างเคยบู้ทระหว่างบรรทัดก็จะเป็นที่รวมงานของสำนักพิมพ์ผองเพื่อนอย่างไต้ฝุ่น ฟุลสต็อป กำมะหยี่ สนพ.หนึ่ง ไบร์ท พับบลิชชิ่ง ( สนพ.ในเครือเดียวกับสนพ.ไลท์เฮาส์ที่พิมพ์หนังสือดีๆ อย่าง "จะคอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น ) สนพ.ยามเช้า (สนพ.นี้มีงานดีๆ อย่างงานแปลหนังสือของอิตาโล คัลวิโน -ค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว,นักเดินทางคนหนึ่ง )

คราวนี้ระหว่างบรรทัดภูมิใจ (มาก) ที่จะนำเสนองานเล่มล่าสุด ชื่อ "ยาขอบกับครอบครัว" นวนิยายเรื่องแรกของกิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนที่เคยฝากฝีมือให้คนอ่านได้ประจักษ์ไปแล้วอย่างรวมเรื่องสั้น "ที่อื่น" และ "พิพิธภัณฑ์แสง"


( แจ็คเก็ตปก ออกแบบโดย ปราบดา หยุ่น )

ตัวอย่างเนื้อใน ( เล่มนี้พิมพ์สองสีทั้งเล่มเลยค่ะ )



ยาขอบกับครอบครัว เริ่มต้นด้วยจดหมายฉบับนี้

ยาขอบลูกรัก

พ่อนั้นได้สัมผัสถึงเค้าลางแห่งปัญหานับแต่แม่รบเร้าให้ตั้งชื่อเจ้าตามอย่างนักเขียนที่แม่ชื่นชอบ จวบจนบัดนี้ พ่อได้ประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้วว่า ปัญหาและความวุ่นวายทุกอย่างได้เดินทางมาเพื่อ ‘ทดสอบ’ ครอบครัวของเราแล้ว ...

ข้างบนเป็นจดหมายฉบับแรกที่พ่อมีไปถึงยาขอบ ผู้ร่ำเรียนอยู่ที่ภาคพื้นทวีปและเรื่องราวในหนังสือก็ดำเนินไปด้วยจดหมายอีกหลายฉบับ จากผู้คนที่แวดล้อมตัวยาขอบ

....จากจดหมายสู่นวนิยาย จากความรักสู่ความรู้ จากธรรมดาสู่โกลาหล
ยาขอบกับครอบครัว เดินทางมาพบคนอ่านแล้ว

ตบท้ายด้วยโค้ดเปิดเรื่อง

"การเขียนจดหมาย...เป็นหนทางของการเปลือยเปล่าตัวเราต่อหน้าผีร้าย บางสิ่งที่รอคอยอยู่ด้วยความหิวกระหาย การเขียนคำว่า ‘จุมพิต’ ลงไป ไม่อาจนำจุมพิตนั้นไปสู่จุดหมายมากไปกว่าเป็นความเมามายระหว่างเส้นทางที่เต็มไปด้วยภูตผี"
- จดหมายจากคาฟคาถึงมีเลนา

ถ้าใครเคยอ่านเรื่องสั้นของกิตติพลมาก่อน บอกไว้ก่อนเลยว่านวนิยายของเขาแตกต่างจากเรื่องสั้นของเขาโดยสิ้นเชิง ระหว่างบรรทัดอยากให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้จริงๆ


บู้ทระหว่างบรรทัดหมายเลข16 ( อยู่คู่กันกับบู้ทอะบุ้ค ) เวลาเข้างาน 10.00-20.00 ของวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม ศกนี้

เจอกันในงานอัมรินทร์บุ้คแฟร์ค่ะ




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:54:19 น.   
Counter : 2701 Pageviews.  

- - - - ประเทศใต้ -หนึ่งในเจ็ด เรื่องที่เข้ารอบซีไรต์ประเภทนวนิยาย ปีนี้ - -- - -




หลังจากที่ได้บอกกล่าวถึงนวนิยายเจ็ดเล่มที่เข้ารอบซีไรต์ไปเมื่อบล็อกที่แล้ว และได้แนะนำแถมเชียร์ไปอย่างออกหน้าออกตาไปแล้วหนึ่งเล่ม คือเล่มของอุทิศ เหมะมูล มีเสียงเรียกร้องจากเพื่อนๆ บล็อกว่าให้ลองหาหนังสือเล่มอื่นที่เข้ารอบซีไรต์มาแนะนำอีก ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเจ้าของบล็อกนี้อยู่เหมือนกัน

อาทิตย์ก่อนโน้น ไปร้านหนังสือที่เจ้าของบล็อกนี้ชอบไปคือ คิโนะคุนิยะ สาขาพารากอน เดินตามหามุมหนังสือที่เข้ารอบซีไรต์ ยังไม่เห็นจัด ถามไถ่พนักงานได้ความว่า หนังสือยังมาไม่ครบเลยยังไม่สามารถจัดมุมหนังสือเข้ารอบซีไรต์ได้ (แต่คาดว่า ณ ขณะนี้น่าจะจัดมุมได้แล้ว)

ประเทศใต้ โดย ชาคริต โภชะเรือง เป็นหนังสือเล่มบาง หนา 112 หน้า ว่าด้วยชายหนุ่ม "ผม" ตัวเอก ชื่อ สุธน ตามหาผู้หญิงที่ชื่อ มโนราห์ ดั่งคำโปรยบนปก-พระสุธนใช้เวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วันตามหามโนราห์ ผมใช้เวลาตามหามโนราห์ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แล้วเราก็จากกัน-

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของชายหนุ่มที่ชื่อเหมือนตัวเอกในวรรณดคีพระสุธน -มโนราห์ ตามหาสาวคนรัก แต่มันคือวรรณกรรมที่มี่ฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคใต้ แทรกแซมไปด้วยปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนท้องถิ่นเป็นระยะๆ คนเขียนไม่ได้พุ่งเป้าเน้นไปที่ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พูดถึงประวัติศาสตร์และปัญหา"ภาคใต้" ที่มีมาตั้งแต่อดีต ในเนื้อเรื่องจะมีคำว่า "คอมมิวนิสต์" "ถังแดง" ปรากฎขึ้นมาเป็นระยะๆ และยังฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาปัจจุบันของภาคใต้ด้วย

ฟังดูเหมือนหนังสือเล่มบางนี่จะบรรจุปัญหาอันหลากหลายของภาคใต้ไว้ได้หมด และมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ด้วยวิธีการทางวรรณกรรมทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่น่าเบื่อเหมือนตำราปัญหาสังคม มีความลึกลับของอารมณ์เมจิคัลแบบใต้ๆ ปรากฎแทรกเข้ามาบ่อยครั้ง นำพาให้ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ไปได้จนจบ

วิธีการนำเล่าเรื่องก็ไม่ได้เล่าเป็นเส้นตรงของกาลเวลา มีการย้อนสลับ เล่าแทรกจากปัจจุบัน ย้อนกลับไปสู่อดีต และกลับเข้ามาสู่ปัจจุบันใหม่ ทำให้การอ่านหนังสือเล่มบางนี้ต้องใช้สมาธิอยู่พอควร มองอีกแง่ความซับซ้อนของการเล่าเรื่องนี้ อาจเป็นข้อเด่นของหนังสือเล่มนี้ก็ได้

มีข้อสังเกตว่า นวนิยายที่สะท้อนปัญหาภาคใต้มักจะเจ้ารอบซีไรต์มาเสมอๆ
เรื่องนี้ก็เช่นกัน

ลองหามาอ่านกันดูนะคะ




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:57:32 น.   
Counter : 1747 Pageviews.  

- - - - - 7 เรื่องเข้ารอบซีไรต์ - - -- - - - -




1. โลกใบใหม่ของปอง--- ไชยา วรรณศรี
2 .ประเทศใต้--- ชาคริต โภชะเรือง
3. ลับแล,แก่งคอย--- อุทิศ เหมะมูล
4. วิญญาณที่ถูกเนรเทศ--- วิมล ไทรนิ่มนวล
5. ทะเลน้ำนม---ชัชวาลย์ โคตรสงคราม
6. เงาฝันของผีเสื้อ--- เอื้อ อัญชลี
7. โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก--- ฟ้า พูลวรลักษณ์

แน่นอนที่สุด ดิฉันเชียร์เรื่อง ลับแล,แก่งคอย ชองอุทิศ เหมะมูล สุดใจ
เคยเขียนถึงไว้ที่นี่ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=a-wild-sheep-chase&month=04-2009&date=20&group=1&gblog=159

เดี๋ยวว่าจะไปร้านหนังสือ ไปจับต้องหน้าตาของผู้เข้ารอบทั้งหลายเสียหน่อย

เครดิตรูปจาก //www.thaiwriter.net/forum01/index.php?topic=4169.12




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:01:04 น.   
Counter : 1858 Pageviews.  

- - - - - อ่าน ( มุกหอม วงษ์เทศ ) ผิด - - - - - -



เมื่อสักปีที่แล้ว ความเพลิดเพลินในยามเช้าวันอาทิตย์ของเจ้าของบล็อกนี่คือ การได้อ่านคอลัมน์ "คุยความคิด" ของมุกหอม วงษ์เทศ ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ อ่านไปก็หัวเราะไป เพราะมุกหอมมักจะหยิบเอาสิ่งซึ่งกำลังได้รับการพูดในสังคมไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต AF เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อสีต่างๆ หรือวัฒนธรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพบเห็นได้ในสังคมไทย หรือสิ่งซึ่งกำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงในช่วงเวลานั้นๆ มุกหอมเอาสิ่งเหล่านี้มาเขียนถึงได้อย่างสนุกสนาน (และบางชิ้นอ่านแล้วก็จุกขำไม่ออก)

แต่แล้วความสนุกยามเช้าวันอาทิตย์ของดิฉันก็หายไป เมื่อไม่เห็นคอลัมน์นี้ในหนังสือพิมพ์มติชนอีกต่อไป แต่ไม่เป็นไรแล้วดิฉันบอกตัวเองเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากได้พบหนังสือสองเล่มใหม่ของมุกหอม คือ อ่านผิด และ ในเขาวงกต ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน

อารมณ์ขันแบบที่เคยเจอในเช้าวันอาทิตย์กลับมาแล้ว แถมถูกรวบรวมไว้เป็นเล่มอย่างเรียบร้อย ดิฉันเริ่มต้นด้วย อ่านผิด เล่มนี้ไปแล้วก็หัวเราะหึๆ ตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้ คิดในใจว่าจะอ่านผิดหรืออ่านถูกดิฉันไม่สนใจแล้ว ขออ่านแล้วกัน

อารมณ์ขันในหนังสือเล่มนี้ป็นอารมณ์ขันร้าย มันมีทั้งการยั่วล้อ ส่อเสียด และตั้งคำถาม แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานของมุกหอมแล้ว เธอไม่ได้ยั่วล้อแบบก้าวร้าว (เอ๊ะ หรือจริงๆ แล้วก้าวร้าว) แต่กลับล้อแบบน่ารัก ( ใช้คำนี้คงจะได้สำหรับงานเขียนของเธอ-น่ารัก) ยั่วล้อแบบเบาๆ ยั่วล้อแบบที่เวลาอ่านไปเราแอบอมยิ้มไป

มุกหอมใช้สไตล์หลายสไตล์มากในงานเขียนชิ้นนี้ บางชิ้นเธอก็ทำตัวแบบสายลับ (โดยเธอใช้ชื่อว่า Detective M) สืบคดีโน้นนี่ บางชิ้นเธอใช้กลวิธีและสำนวนแบบนวนิยายกำลังภายใน บางชิ้นใช้วิธีของนิทานอีสป (แต่เธอเปลี่ยนชื่อเป็นไอสาป) และบางชิ้นก็วิพากษ์สังคมไทยอย่างหนักหน่วง (แต่รับรองได้ว่าเธอไม่ทิ้งอารมณ์ขัน)

ตอนแรกว่าจะยกตัวอย่างบางตอนของชิ้นที่ชอบมาไว้ในบล็อกนี้ แต่เมื่ออ่านถึงชิ้นที่ชื่อว่า"ยังคงอ่านสาส์นสมเด็จ" มุกหอมใช้วิธี Quotation ยกเอาคำพูดบางตอนในสาส์นสมเด็จมากล่าวถึง แต่ในตอนต้นของบทความ เธอยกตัวอย่างการใช้คำศัพท์ Quotation ในดิกชันนารีว่า " Since he lacks originality he must rely on quotation " ( ซึ่งเจ้าของล็อกนี้มีอาการแบบการยกตัวอย่างในประโยคนี้อยู่ตลอดเวลา ) ครั้นเจ้าของบล็อกนี้จะโคว้ดงานเขียนของเธอมาไว้ทั้งดุ้น ก็คงไม่สนุกเท่าที่มุกหอมทำไว้ เลยพยายามกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ในบล็อกนี้แทนแล้วกัน

จริงๆ แล้วจะยกตัวอย่างงานเขียนของเธอมาไว้ในบล็อกนี้ ก็คงยกตัวอย่างมาไว้ได้ไม่หมด เพราะชอบไปเสียเกือบทุกชิ้น ไม่ว่าชิ้นที่พูดถึง Irony ในสังคมไทยได้อย่างถึงแก่นอย่างชิ้นที่ชื่อว่า " The Irony of Society of Siam under Military Patronage " ไปจนถึงชิ้นที่เธอพูดถึงหลอด พูดถึงแครอท พูดถึงกระดาษทิชูชู่ อะไรกันนี่เธอช่างหยิบกยกเรื่องราวทุกเรื่องในสังคมมายั่วล้อได้อย่างสนุกไปหมด

เอาเป็นว่าอย่างที่บทบรรณาธิการยกคำของฝรั่งมาว่าไว้ "Every reading is a misreading "


อ่านๆ ไปเหอะ สนุกดี

อ่านผิดจบไปแล้ว ดิฉันว่าจะเดินเข้าไป "ในเขาวงกต" ที่มุกหอมสร้างไว้อีกที
จะหาทางออกได้ไหม ก็ให้มันรู้กันไป

ป.ล.ที่ชอบอีกอย่างของหนังสือของมุกหอมคือการออกแบบปกและการจัดวางตัวหนังสือภายในเล่ม ซึ่งแน่นอนมันถูกออกแบบโดย มุกหอม วงษ์เทศ อีกเช่นกัน




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:03:34 น.   
Counter : 4095 Pageviews.  

- - - การวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์ เลียววารินทร์ - - - - -






ใครสนใจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ //www.thaicritic.com/?page_id=10





 

Create Date : 01 มิถุนายน 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:05:16 น.   
Counter : 3287 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]