- - - - - - - Happy Birthday Haruki Murakami - - -- -- - --

Everything passes.


Nobody gets anything for keeps.


And that's how we've got to live.





สุขสันต์วันเกิด นักเขียนสุดโปรดของเรา

Keep Writing ,
Keep Running .

I 'll be your reader forever .




 

Create Date : 12 มกราคม 2553   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:31:39 น.   
Counter : 1721 Pageviews.  

- - -- - สัปดาห์เปิดโลกการอ่าน และ "เธอคือชีวิต" - - - - -

เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ไปงาน "สัปดาห์เปิดโลกการอ่าน" ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปคุ้ยหนังสืออย่างมีความสุข (แตกต่างจากเวลาที่เราไปขายหนังสือ - ขายหนังสือก็มีความสุขไปอีกแบบ แต่สรุปว่าการได้อ่านหนังสือมีความสุขที่สุด)



ที่น่ากรี๊ดที่สุดคือ ได้นวนิยายขนาดสั้นของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มา 3 เล่ม ราคา 80 บาท มีเรื่อง ตำนานวีรบุรุษ ไม่มีใครเขียนจดหมายถึงนายพัน และหมายเหตุฆาตกรรม


จิปาถะอีกสามสี่เล่ม


ได้แผ่นหนังมาด้วย 2 เรื่อง





แต่ที่อยากจะพูดถึงที่สุดคือเล่มนี้ค่ะ "เธอคือชีวิต" จากเรื่อง A Girl who was life โดย นักเขียนรัสเซีย นิโคไล ชูคอฟสกี้ แปลเป็นภาษาไทยโดยวิทยากร เชียงกูล
(จากรูปเล่มเล็กเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกๆ ดิฉันได้มาเมื่อนานมาแล้ว ปกสีส้มคือเล่มที่ได้มาจากงานคราวนี้ )

นิโคไล ชูคอฟสกี้ อาจจะมีชื่อเสียงไม่โด่งดังเท่ากับนักเขียนรัสเซียรุ่นก่อนหน้าเขาไม่ว่าจะเป็น ตอลสตอย ดอสโตเยฟสกี้ หรือแมกซิม กอร์กี้ และบรรดานักเขียนรัสเซียทั้งหลายที่พวกเราคุ้นหูกัน

แต่หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ทรงพลังและซาบซึ้ง รวมทั้งเศร้ามาก นี่เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดตลอดกาลของดิฉัน

ชูคอฟสกี้ใช้ฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าเหตุการณ์ที่นาซีปิดล้อมเลนินกราดเมื่อปี 1961 แต่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงระเบิด เสียงปืน รถถังหรือทหารน้อยมาก แต่มันเล่าอย่างสะเทือนใจถึงชีวิตคนเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนั่นคือความหิวโหย และโรคภัย

จะบอกว่ามันเศร้าแต่งดงาม -อย่างนั้นก็ได้ ตัวเอกของเรื่องเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และต้องเดินเท้าหลบภัยมาเลนินกราด เมื่อเกิดสงครามขึ้น ส่วนนางเอกของเราเป็นเด็กผู้หญิงที่อายุเพียง 19 เธออาศัยอยู่ในตึกเก่าโทรมและหนาวเย็นกับแม่ของเธอ ที่เลนินกราด เมืองศูนย์กลางของรัสเซียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ไม่ได้สลดหดหู่ ตรงกันข้ามมันนำเอาความสะเทือนใจในเรื่องมาสร้างความเข้มแข็งแก่คนอ่าน

นักประวัติศาสตร์อาจจะเลือกบันทึกถึงผู้คนที่ยิ่งใหญ่ วีรกรรมของทหารหาญ แต่นักเขียนเลือกที่จะเล่าถึงชีวิตเล็กๆ แอสยา นางเอกของเรื่อง คนอ่านแทบจะไม่รู้เลยว่าเป็นใครมาจากไหน แต่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ในใจคนอ่าน (แหม เวอร์ไปมั้ย)

ข้างล่างนี้เป็นย่อหน้านึงที่ดิฉันชอบมาก แอสยาสาวน้อยของเราพูดกับบรรณาธิการคนนั้น (สาบานว่าย่อหน้าข้างล่างไม่ได้สปอยล์เรื่องแม้แต่น้อย)

" ฉันรู้ว่าคุณจะไม่ตาย ในตอนแรกฉันเคยคาดการณ์คนผิดบ้าง แต่ตอนที่ฉันพบคุณนอนอยู่บนเตียงในโรงพิมพ์ ฉันสามารถคาดการณ์ได้ถูกเสมอ ตอนนั้นฉันได้เห็นคนตายมาแล้วเป็นจำนวนมาก ฉันรู้เรื่องความตายมากมาย แต่ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับชีวิตเลย ..."

มันบอกเราว่า "คนเรานั้นแข็งแรงกว่าที่เราคิดไว้เสมอ"

ถ้าจะมีคนมาถามว่าหนังสือที่พูดถึงความรักเล่มไหนที่งดงามที่สุดในสายตาคุณ ดิฉันจะบอกว่า "เธอคือชีวิต" เล่มนี้ล่ะค่ะ




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:32:51 น.   
Counter : 3528 Pageviews.  

- - - - - เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง-ฮารูกิ มูราคามิ ความเรียงที่ทำให้เราร้องไห้ - - - - -



ดิฉันพบว่าการเขียนถึงหนังสือที่เราชอบมากๆ หรือ"อิน" มากๆ ช่างทำได้ยากเย็น จริงๆ ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ออกใหม่ๆ ไม่นับว่าเคยอ่านฉบับภาษาอังกฤษไปแล้วครึ่งเล่มก็วาง หลังจากรู้ว่าคุณนพดลกำลังแปลหนังสือเล่มนี้อยู่-รออ่านภาษาไทยอย่างใจจดจ่อ

อ่านฉบับภาษาไทยไปได้แค่บทแรกก็วางอีก ไม่ใช่เพราะหนังสือมันไม่สนุก ตรงกันข้ามหนังสือเล่มนี้เข้าไปนั่งกลางใจดิฉันตั้งแต่บทแรก จำได้ว่าอ่านบทแรกในรถไฟฟ้าใต้ดิน (กำลังจะไปเปิดบู้ทในงานหนังสือเมื่อเดือนตุลาที่ผ่านมา) อ่านจนรถไฟฟ้าใต้ดินเลยป้ายศูนย์ประชุมสิริกิติ์ เลยไปป้ายบางซือ ป้ายสุดท้าย ดิฉันนั่งน้ำตาซึมอยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินป้ายสุดท้าย ป้ายที่ทุกคนกำลังเดินออกจากรถไฟฟ้า มีดิฉันนั่งนิ่ง น้ำตาซึมอยู่คนเดียว ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้เลย (อายคนก็อายนะ นั่งร้องไห้ในรถไฟฟ้าใต้ดิน)

มันไม่ได้ร้องไห้เพราะความเศร้า แต่มันปิติเหมือนเราเจอเพื่อนที่ตอบคำถามบางอย่างให้เราได้ ตอนเดินออกมาจากรถไฟฟ้าใต้ดิน ดิฉันบอกตัวเองว่า มูราคามิ ยังคิดแบบนี้เลยนะเว้ย คิดแบบที่เราคิด มูราคามิผู้ยิ่งใหญ่ยังคิดแบบนี้ มูราคามิยังตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วเราล่ะ เราผู้เป็นคนธรรมดาจะพลุ่งพล่านกับตัวเองไปทำไม

อย่างที่มูราคามิบอกหนังสือเล่มนี้

" หนังสือเล่มนี้พูดถึงการวิ่ง หาใช่สารนิพนธ์ว่าด้วยการฝึกร่างกายให้แข็งแกร่ง ผมไม่พยายามจะสอนสั่งว่า ' ลุกขึ้นมาได้แล้ว ทุกคนเลย ออกไปวิ่งทุกเช้าเพื่อสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ' ไม่เลยครับ หนังสือเล่มนี้รวบรวมความคิดที่การวิ่งให้ความหมายต่อผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เป็นแต่เพียงหนังสือที่ผมวิเคราะห์ครุ่นคิดเรื่องที่อยู่ในหัว และคิดออกมาดังๆ "

และนี่เป็นแค่หนึ่งในหลายตอนที่ดิฉันชอบมากจากหนังสือเล่มนี้

"เมื่อผมแก่ตัวมากขึ้น ผมค่อยตระหนักได้ว่า ความเจ็บปวดและบาดแผลเช่นนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ลองคิดดูเป็นเพราะเราแตกต่างจากผู้อื่น เราจึงสร้างตัวตนเราขึ้นมาได้ ยกผมเป็นตัวอย่างก็ได้ ผมมีความสามารถคว้าจับบางส่วนในฉากชีวิตที่คนอื่นทำไม่ได้ สัมผัสรับรู้ได้แตกต่างจากผู้อื่นและเลือกใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมือนผู้อื่น ...ผมก็คือผมไม่มีใครอื่นที่เป็นสินทรัพย์ทรงค่าสำหรับผม แผลบาดลึกเชิงอารมณ์เป็นราคาที่คนเราต้องต้องจ่ายชำระ เพียงเพื่อจะเป็นตัวของตัวเอง

ดิฉันคาดเดาเอาเองว่า (และอาจะผิดก็ได้) คนหนุ่มสาวอาจจะไม่ชอบหนังสือเล่มนี้เท่าใดนัก คงไม่เท่า "ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย "ซึ่งเป็นเรื่องของช่วงชีวิตวัยหนุ่มสาว และเล่มนั้นมูราคามิผสานชีวิตของเขาเข้ากับจินตนาการเขียนเป็นนวนิยาย

แต่เกร็ดความคิดบนก้าววิ่งอันนี้เป็นความเรียง เป็นการเฝ้าครุ่นคิดถึงชีวิตช่วงวัยที่เรียกว่าเลยวัยหนุ่มมาแล้ว เป็นช่วงชีวิตที่ไม่ใช่ช่วงวัยแสวงหา มูราคามิเลยจุดนั้นมานานนักแล้ว แต่เป็นช่วงชีวิตที่รู้ว่าความสำคัญสูงสุดในชีวิตคืออะไร และจะดำเนินชีวิตไปได้อย่างไรในยุคศตวรรษ 21 แห่งนี้

กล่าวอย่างง่าย จะบอกว่าหนังสือเล่มนี้บอกเล่าปรัชญาการใช้ชีวิตของมูราคาก็ได้ แต่มันก็เล่าถึงชีวิตทางกายภาพของเขาด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนามธรรมๆ หนังสือเล่มนี้ยังบอกว่ามูราคามิฝึกร่างกายให้ทนทานต่อการวิ่งระยะไกลอย่างไร นอกจากจะเคยลงแข่งวิ่งมาราธอนแล้ว มูราคามิยังเคยลงแข่งไตรกรีฑาด้วย

และอย่างที่คุณนพดลบอกไว้ในคำนำ

"...ในเล่มนี้ได้อ่านชีวิตมูราคามิ และวิธีการเติมพลังให้แกร่งเพื่อที่ได้ทำงานที่ตนเองรัก-เขียนนิยายสืบไป"
มองในแง่หนึ่ง เรารู้จักทำนองชีวิตของยอดนักเขียนผู้นี้ได้ดีขึ้น ชื่นชมต่อการต่อสู้อันเงียบงันที่ไม่ได้ประกาศให้โลกรับทราบ..."

ไม่รู้ว่ารู้สึกไปเองไหม ดิฉันรู้สึกว่าคุณนพดลคือมูราคามิ มีสำนวนภาษาที่ไม่มีใครเทียบได้ ตอนอ่านภาษาไทยในชั้นแรกๆ ดิฉันไม่ชอบคำว่า "ทัณฑ์ทรมาน" แต่หลังจากครุ่นคิดไปสักพัก ดิฉันว่ามันใช่เลย Suffering คือ ทัณฑ์ทรมาน

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบดิฉันรู้สึกเหมือนได้เข้าใกล้มูราคามิอีกนิดนึง ได้รู้จักนักเขียนคนโปรดมากขึ้น แต่ยิ่งไปกว่านั้น ดิฉันพบแล้วว่า คราใดที่ดิฉันพลุ่งพล่าน ฉุนเฉียวกับชีวิตของตัวเอง ดิฉันจะคุยกับใคร ดิฉันควรจะอ่านหนังสือเล่มไหน

และดิฉันก็บอกตัวเองได้ว่า ไม่ว่าจะยากลำบากหรือท้อแท้ขึ้นมาเมื่อใด สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ ทำงานของเราต่อไป เหมือนที่มูราคามิบอกดิฉันครั้งแล้วครั้งเล่าในหนังสือเล่มนี้

ป.ล. ตอนที่ชอบมากอีกตอนคือ ตอนที่มูราคามิพูดถึงมิก แจ๊กเกอร์ในบทแรก ลองไปหาอ่านกันดูนะคะ




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:35:01 น.   
Counter : 4307 Pageviews.  

-- -- Julie and Julia: 365 Days, 524 Recipes, and Many Many Blogs- -- -



คงจะไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า หนังเรื่อง Julie& Julia เริ่มต้นจากบล็อกๆ หนึ่ง จากบล็อกกลายเป็นหนังสือ และจากหนังสือกลายเป็นหนัง
ฮอลลีวูด

บล็อกของ Julie Powell เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2002 เธอมีงานประจำอันแสนน่าเบื่อและน่าเศร้ามาก เป็นบุคลากรในองคกร์ของรัฐ ที่ต้องรับโทรศัพท์เรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ประสบเหตุการณ์ 9/11 คิดดูแล้วกันว่ามันจะเป็นงานที่น่าเศร้าแค่ไหน มันเศร้าและเครียดในเวลาเดียวกันทีเดียวเลยเชียว

และพอตกค่ำหลังเลิกงาน เธอก็ทำอาหารเยียวยาจิตใจ ไม่นานหลังจากนั้น เธอก็พบว่าเธอน่าจะเขียนบล็อกเล่าเรื่องการทำอาหาร จากสูตรของ Julia Child เชฟและนักเขียนชาวอเมริกันอันโด่งดัง และเป็นไอดอลคนสำคัญของจูลี่

จูเลีย ไชลด์ นำสูตรอาหารฝรั่งเศสอันยุ่งยากมาปรับปรุงสูตรให้แม่บ้านอเมริกัน-ที่ไม่มีคนใช้ก็ทำได้ (ประโยคนี้เป็นจุดขายของหนังสือจูเลีย ไชลด์ทีเดียว) จูลี่ตั้งใจถึงขั้นว่าภายในหนึ่งปีเธอจะทำอาหารจากทุกสูตรที่มีอยู่ในหนังสือ "Julia Child's Mastering the Art of French Cooking " ให้หมดให้ได้

และแล้ว The Julie/Julia Project ของเธอก็เริ่มออนไลน์เมื่อ 25 สิงหาคม 2002 เธอตั้งใจว่าจะเขียนบล็อกทุกวัน 365 วัน เล่าถึงการทำอาหารจาก 524 สูตร ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ในครัวแคบๆ ของเธอ

เมื่อใครคนหนึ่งเทำอะไรอย่างจริงจัง มันมีผลลัพท์ที่ดีตามมาเสมอ จากวันแรกๆ ที่เธอแทบจะเขียนบล็อกอยู่คนเดียว คนอ่านอยู่ไหนก็ไม่รู้ จนกลายเป็นว่าในที่สุด บล็อกของเธอมีคนอ่านจำนวนมาก และสุดท้ายมันก็ไปเข้าตาสนพ. หนังสือชื่อ Julie and Julia: 365 Days, 524 Recipes, 1 Tiny Apartment Kitchen ก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2005


(จูลี่ ตัวจริงกับหนังสือของเธอ)

ความสำเร็จของจูลี่ ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ปี 2009 หนังสือของจูลี่ก็กลายเป็น หนัง โดยดัดแปลงจากหนังสือของจูเลีย ไชลด์ เล่มที่ชื่อว่า My Life in France ประกอบเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเล่ม


และหนังชื่อ Julie & Julia ก็กำลังฉายบ้านเราในตอนนี้

ที่อุตส่าห์เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ไปดูหนังที่ สนุก อร่อย และซาบซึ้งเรื่องนี้กันเถอะค่ะ มันคือหนังฟิลกู้ดเราดีๆ นี่เอง เล่าผ่านชีวิตของสองสาวที่เกิดคนละช่วงเวลา คนที่มาก่อนเป็นแรงบันดาลใจให้อีกคนนึง หนังมีรายละเอียดอันน่ารักๆ หลายจุด แต่มีฉากนึงที่ดิฉันคิอว่าบรรดา Blogger จะต้องชอบแน่ๆ คือจูลี่ก็เขียนบล็อกของเธอไป แรกๆ เธอก็ไม่รู้ว่าจะมีใครอ่านบล็อกของเธอไหม แล้ววันนึงก็มีคนมาคอมเมนต์บล็อกของเธอ ไปดูในหนังได้เลยค่ะ ว่าใครเป็นคนคอมเมนต์บล็อกเธอคนแรก ขำและน่ารักมาก

หนังเรื่องนี้มีฉากตลาดที่แสนน่ารักของปารีส ( ถึแม้นมันจะเช็ต เพราะเป็นฉากย้อนอดีต ) ก็ยังทำให้เราอยากไปเดินตลาดแบบนั้น มีฉากทำอาหาร ที่ต้องเตือนกันว่าก่อนเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง มิฉะนั้นคุณอาจโมโหหิวได้ มีฉากหวานๆ ของสามี-ภรรยาสองคู่ มีเพลงประกอบน่ารัก
มีฉากการตามหา สนพ.ของจูเลีย ไชลด์ (สมัยที่ยังไม่โด่งดัง) มีเพลงประกอบอันแสนหวาน และมีคำพูดที่แสนหวานประโยคนี้

"You are the butter to my bread, & the breath to my life"

ฉากที่ดิฉันชอบมากอีกฉากคือฉากที่จูลี่บอกว่า เวลาเธอทำอาหารโดยกางสูตรของจูเลีย ไชลด์ไปด้วย มันเป็นเหมือนการที่เธอได้พูดคุยกับไอดอลของเธอ เธอคุยกับจูเลียผ่านอากาศจริงๆ นะ อยากให้ไปดูฉากพวกนี้จริง ๆ

มีข้อเสียอยู่อย่าง คือ หนังมันดันฉายที่พารากอนโรงเดียว ทำไมเป็นงี้ก็ไม่รู้ ไปฉายในโรงแพงเชียว ที 2012และ นิวมูน กระหน่ำฉายจัง ( 5555 ฟังดูเป็นคนแก่ขี้บ่นเนอะ)

โดยส่วนตัวนี่เป็นหนังที่ Blogger อย่างดิฉัน เชียร์ให้ Blogger คนอื่นไปดูอย่างสุดใจค่ะ

- - -

ป.ล.อยากเขียนถึง " เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" มาก คราวหน้าว่าจะเขียนถึงแล้ว เป็นหนังสือโปรดในรอบปีทีเดียว




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:39:45 น.   
Counter : 3449 Pageviews.  

+ + + + + + + คารวะ 60 ปี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล + + + + + + + +




...ผมคิดว่่าส่วนที่ผมพูดหรือเขียนอะไรไว้มันก็ค่อนข้างมากนะ ความคิดเหล่านั้นคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากนัก ถ้าวันไหนบังเอิญมีใครเขาเติบใหญ่ขึ้นมา คนรุ่นหลังเขามาอ่านมาศึกษาแล้วเห็นด้วย ก็ถือว่าเป็นบุญที่เราได้แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นเอาไว้

ทั้งหมดมันพัฒนามาจากวัยหนุ่มที่อยากจะพูดทุกเรื่อง อยากให้คนเห็นด้วยทุกอย่าง แล้วในวัยกลางคนก็โกรธแค้นที่คนเขาไม่เห็นด้วย โกรธแค้นที่เขาไม่เข้าใจ โกรธแค้นที่เขาไม่ฟัง เมื่อมาถึงวัยชราผมเลิกฝันแล้วว่าจะให้คนส่วนใหญ่มาเห็นด้วย

...คือผมเข้าใจ แล้วก็เลิกโกรธแค้นด้วย กระทั่งเผื่อไว้ด้วยว่าตัวเองอาจจะคิดผิดก็ได้

...
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผมเป็นคนที่โตมาในวัด ทุกวันนี้ความสุขเล็กๆ ของผมเวลารู้สึกว่าชีวิตมีทุกข์หรือมีเรื่องตึงเครียด คือการหลับตานึกถึงภาพตัวเองนอนหลับอยู่ข้างพระประธานในโบสถ์ เป็นคนเฝ้าโบสถ์ ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าชีวิตมันเรียบง่ายและอบอุ่นที่สุด เอาจีวรพระเป็นผ้าห่ม นอนอยู่ในโบสถ์กับหลวงตา ผมรู้สึกว่ามันเป็นความสุขที่ผมหวนระลึกได้เป็นระยะๆ


...

ตัดตอนจากบทสัมภาษณ์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในนิตยสาร Way ฉบับที่ 29 บทสัมภาษณ์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในนิตยสาร Way เล่มนี้น่าสนใจมากค่ะ (วางแผงอยู่ตอนนี้ ) เห็นความคิดช่วงอายุ 60 ปีอย่างชัดเจน แล้วก็เข้าใจเลยว่าที่บอกว่าเสกสรรค์ "ถอดหมวก" นั่นคืออะไร
และอย่างไร

นอกจากนี้ภายในเล่มนี้ยังมีปาฐกถา "เศรษศาฐศาสน์ กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง ปาฐกถา 6O ปี คณะเศรษศาสตร์ ธรรมศาสตร์ฉบับเต็มด้วย

และถ่้าใครสนใจ ปาฐกถา 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ (ฉบับเต็ม) : "โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน"
ที่นี่เลยค่ะ
//www.prachatai.com/journal/2009/11/26723

เรียกได้ว่าเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เติบโตมาพร้อมกับคณะรัฐศาสตร์และคณะเศรษฐศาตร์ ธรรมศาสตร์ เลยทีเดียว




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:40:24 น.   
Counter : 2154 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]