 |
|
My Name is red -.ในนามของศิลปะ และในนามของศิลปิน -

ดิฉันอยากอ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อสักสองสามปีมาแล้ว ตอนที่ได้เจอรุ่นน้องคนหนึ่งที่ไปอยู่ฝรั่งเศสนานถึงหกปี ตอนที่กลับมาเขามีงานแสดงภาพถ่ายที่แกลเลอรี่แห่งหนึ่ง เขาอวดดิฉันว่าตอนนี้ อ่าน South of the border ,West of the sun ของฮารูกิ มูราคามิ ฉบับภาษาฝรั่งเศสได้แล้วนะ ดิฉันกรี๊ดกร๊าดตื่นเต้นไปกับเขา เราคุยกันต่อถึงหนังสืออีกสองสามเล่ม และเขาก็ปิดท้ายว่า "พี่ต้องอ่าน My name is red นะสุดยอดมาก" ดิฉันก็นึกอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่บัดนั้น เกือบจะไปซื้อหนังสือฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านหลายรอบแล้ว อยากอ่านผลงานของนักเขียนตุรกีคนนี้มาตั้งนานแล้ว แถมยังมีรางวัลโนเบลค้ำประกันอีก นักเขียนท่านนี้คงไม่ธรรมดาแน่ๆ แต่เมื่อเห็นว่าสพพ.Bliss เอาแปลเป็นภาษาไทยให้อ่านกันแล้ว เลยคิดว่าอ่านภาษาไทยดีกว่า อยากอ่านสำนวนแปลด้วย (ซึงก็ทำได้ไม่เลวเลย อ่านไม่สะดุด ลื่นไหลทีเดียว)
อันนี้เป็นเรื่องย่อจากหลังปก (ขี้เกียจเล่าเรื่องเอง )
"ออร์ฮาน ปามุก" นักเขียนตุรกีผู้ได้รับยกย่องว่า ฝีมือฉกาจเทียบชั้นได้กับบรรดานักเขียน อย่าง เจมส์ จอยซ์ ฟรานซ์ คาฟกา โทมัส มานน์ และซัลแมน รัชดี นำผู้อ่านโลดแล่นไปสู่โลกแห่งศิลปะ อำนาจ ศาสนา และความรักในอาณาจักรออตโตมานปลายศตวรรษที่ 16 แบล็ก ผู้มีอาชีพเป็นเสมียนและรับจ้างทำหนังสือ เดินทางกลับจากเปอร์เซียสู่ถิ่นเก่าในกรุงอิสตันบูล หลังทิ้งไปสิบสองปีด้วยผิดหวังในรักจากเชคูเร หญิงสาวผู้ครองหัวใจการกลับมาครั้งนี้ประจวบกับเหตุฆาตกรรมทารุณ หนึ่งในสี่จิตรกรเอกผู้วาดภาพในหนังสือลึกลับ อันหมิ่นเหม่ต่อศาสนาอิสลาม ตามรับสั่งแห่งองค์สุลต่านถูกฆ่าหมกบ่อน้ำ
แต่แล้วน้าเขยของแบล็กซึ่งเป็นบิดาของเชคูเรก็มาตายลงอีก เป็นศพที่สอง ก่อนตายได้มอบให้แบล็กรับช่วงทำหนังสือเล่มนี้ต่อ ชีวิตของแบล็กและเหล่าจิตรกรจึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย...หาตัวหาฆาตกรให้ได้ หรือจะยอมถูกลงทัณฑ์ตามคำสั่งองค์สุลต่าน ทว่า...สำหรับแบล็กแล้ว เดิมพันครั้งนี้หมายถึงความสุขทั้งชีวิต....
My Name is red เล่าถึงการทำหนังสือและการทำภาพประกอบ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของดิฉัน แล้วทำไมดิฉันจะไม่ชอบหนังสือเล่มนี้เล่า แถมมันยังพาเรากลับไปโลกศตวรรษที่ 16 อีก คิดดูแล้วกันว่าคนเขียนจะอัจฉริยะขนาดไหน ดิฉันตกตะลึงพรึงเพริดกับวิธีคิดของจิตรกรสมัยนั้น เป็นอย่างยิ่ง
ปามุกเลือกบริบทของการเขียนนวนิยายได้น่าอ่านมาก มันเป็นช่วงที่ศิลปะแบบออตโตมานต้องต่อสู้กับศิลปะแบบตะวันตกซึ่งมาจากเวนิซ ประเทศอิตาลี ขนบการเขียนภาพเหมือนของศิลปินตะวันออกนั้นจะเขียนภาพเหมือนคนให้ไม่เหมือนตัวจริงๆ ด้วยความเชื่อที่ว่ามีแต่พระเจ้า(คือพระอัลเลาะห์ของคนมุสลิม) เท่านั้นที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา การวาดคนให้เหมือนตัวจริงจึงเท่ากับเป็นการหาญกล้าต่อกรกับพระผู้เป็นเจ้า
แต่เมื่อจิตรกรบางคนจากอาณาจักรออตโตมาน ได้เดินทางไปเวนิซ ได้เห็นภาพเหมือนจริงที่จิตรกรเวนิซรังสรรค์ขึ้น จิตรกรจากตะวันออกก็ยอมศิโรราบ มัน"เหมือนจริง" และสะกดคนดูมาก ใครๆ ก็อยากวาดภาพแบบนี้ และอยากมีภาพแบบนี้ไว้ครอบครอง
การท้าทายที่สำคัญต่อพระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้น การสร้างภาพเหมือนจริงมากๆ ให้แก่ใครๆ เท่ากับการสร้าง Identity ให้แก่เจ้าของภาพ การมีไอเดนตีตี้ให้ตัวเอง เป็นสิ่งซึ่งทำให้คนศรัทธาต่อพระเจ้ามากๆ รับไม่ได้แน่ๆ แน่นอนความขัดแย้งทางศิลปะจึงนำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาด้วย
วิธีการเล่าเรื่องของออฮาน ปามุก ในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญ ปามุกให้ทุกคน ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ ออกมาเล่าเรื่องได้หมด เขาเปิดเรื่องให้ศพที่ถูกฆ่าในฉากแรกออกมาเล่าเรื่อง ตัวละครอื่นๆ ม้าในภาพวาด หมาในภาพวาด เหรียญเงินในภาพวาด ฯลฯ ออกมาเล่าเรื่องได้หมด น่าอัศจรรย์มาก
แถมยังมีเรื่องเล่าลักษณะคล้ายๆ ตำนานสอดแทรกเข้ามาเป็นระยะ ๆ การเล่าเรื่องด้วยนิทานปรัมปราดูเหมือนจะเป็นขนบหนึ่งในยุคโพสโมเดิร์นนิยมใช้กัน นวนิยายเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องสอดสลับอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้
ถ้าคุณชอบกลิ่นอายแบบตรุกี ความหนาวเย็นถึงขั้นพื้นดินเป็นน้ำแข้ง (เรื่องนี้บรรยายความหนาวเย็นได้สุดยอดมาก) หัวข้อถกเถียงในทางศิลปะ แรงบันดาลใจทั้งหลายอันเกิดจากความรัก (ตัวเอกของเรื่องหลงรักหญิงสาวของเขามากว่า 12 ปี) การฆาตกรรม และประวัติศาสตร์ของอาณาจักรออตโตมาน รวมไปถึงความชั่วร้าย ด้านมืดที่แผงอยู่ในตัวคนเรา ฯลฯ ถ้าคุณชอบเรื่องอะไรแบบนี้ คุณจะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างสนุกมาก
อย่าไปกังวลกับความหนาของหนังสือ ถ้าหนังสือมันสนุก ความหนาก็ไม่ใช่ประเด็น :) My Name is red ออร์ฮาน ปามุก เขียน นันทวัน เติมแสงศิริศักดิ์ แปล Bliss Publishing พิมพ์
Create Date : 26 มกราคม 2554 |
| |
|
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:03:42 น. |
| |
Counter : 5131 Pageviews. |
| |
 |
|
|
"ณ ที่นั้นมีดาวเหนือ " ณ ที่นั้นมีนวนิยาย
S(b0zpmgnhknfcp1rcqhj2iwfb))/Contents/ProductImages/201003/4752819_250.jpg)
เพิ่งอ่านนวนิยายเล่มสุดท้าย ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์จบไปหมาดๆ คุณวาณิชบอกไว้หลังปกว่า นี่เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายที่ผมเขียนในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา จริงๆ คุณวาณิช เขียนนวนิยายเรื่องนี้ไว้เมื่อ 2O กว่าปีมาแล้ว เขียนเป็นตอนๆ ลงในนิตยสารลลนา แล้วก็เก็บไว้ในลิ้นชัก มาปัดฝุ่นรวมเล่มเมื่อสิงหาคม 2552 (จากคำนำของคุณวาณิช) และแพรวสำนักพิมพ์ก็มารวมเล่มเมื่อ มีนาคม 2553 และดิฉันก็ได้มาอ่านเมื่อปลายปี 2553และมันคงเป็นนวนิยายเล่มสุดท้ายของคุณวาณิช จริงๆ
อ่านจบไป ก็ได้ความรู้สึกแบบ เออ หนอ เราไม่ได้อ่านอะไรแบบนี้มานาน ที่อ่านไปก็อ่านเรื่องแปล อ่านความเรียง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน สมัยมัธยม (นานมาแล้วจริงๆ ฮ่า ฮ๋า) ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบงานคุณวาณิชมาก รู้สึกเหมือนเราได้กลับไปอ่านภาษาที่เราเคยคุ้น
สำนวนภาษาของคุณวาณิชนั้นโรแมนติก ง่าย และลื่นไหล ดิฉันอ่านนวนิยายเรื่องนี้รวดเดียวจบ คิดถึงภาพของกรุงเทพ คิดุถึงภาพของเมืองทางเหนือ คิดถึงการดิ้นรนต่อสู้ของผู้หญิงไทย ตัวเอกในเรื่องคือ "เรืองดาว" เป็นนักร้อง (ทำให้คิดถึงเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์หน่อยๆ นามดาวเรืองหรือนางเรืองดาว) แต่พอชื่อนี้มาอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้มันดูโรแมนติกมากกว่าจะดูมีกลิ่นอายลูกทุ่งๆ
มันทำให้ดิฉันคิดถึงเคหาสน์ดาว คิดถึงเรื่องรักโรแมนติกของคุณวาณิช และคิดไปว่าในบางวันเราก็ต้องการหนังสือแบบนี้ หนังสือที่ไม่ไกลจากตัวเรามากนัก มีภาษาโรแมนติก มีบริบทของความเป็นไทย มีตัวละครธรรมดาสามัญ มีตัวละครที่เราเคยเดินผ่านไปผ่านมา มีฉากที่เราคุ้นเคย ประเด็นสำคัญที่ดิฉันชอบนวนิยายเรื่องนี้มาก คือ " ณ ที่นั้นมีดาวเหนือ" มันแสดงให้ห็นถึงการต่อสู้เพื่อการงานทื่เธอรักของผู้หญิงคนหนึ่ง ถึงแม้นว่ามันจะจบแบบนวนิยาย (แน่น่อนดิฉันไม่ชอบตอนจบนิดหน่อย) มันดูพาฝันไปนิด แต่มันก็คือนวนิยาย มันมีความโรแมนติกแบบที่นวนิยายจะพึงมี และมันก็อ่านได้เพลิดเพลินมากมายทีเดียว
และมันทำให้ดิฉันอยากกลับไปอ่านนวนิยายและความเรียงเล่มอื่นๆ เพื่อรำลึกถึงคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์อีกหลายเล่ม
Create Date : 22 พฤศจิกายน 2553 |
| |
|
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:04:30 น. |
| |
Counter : 2101 Pageviews. |
| |
|
|
|
- - - - - - "ผมแปลเศษบทความมาก่อน" นพดล เวชสวัสดิ์ - - - - - - - - - - -- -

วันศุกร์เย็นที่ผ่านมา ได้เจอกับความตื่นเต้นอีกครั้ง เมื่อมาดามมิวแห่งสำนักกำมะหยี่ ผู้เพิ่งย้ายมาอยู่ฮ่องกงหมาดๆ และบินตรงกลับมาเยี่ยมเพื่อนๆ ที่เมืองไทย หลังจากเธอแวะมาร้านก็องดิดบ่อยๆ แวะไปกินข้าวกับเพื่อนคนโน้นนี้ เธอก็บอกดิฉันว่า "พี่แป๊ดคะ วันศุกร์นี้ไปกินข้าวบ้านคุณนพดลกันค่ะ" เล่นเอาดิฉันแทบนอนไม่หลับ
วันศุกร์ ออกจากร้านเร็วมาก นัดกับมาดามมิวที่วิลลา อารี มาดามเธอล่วงหน้าไปซื้อไวน์ก่อนแล้ว ดิฉันตามไปสมทบกับเธอที่นั่น จับแท็กซี่ไปบ้านคุณนพดล ผู้ซึ่งเตรียมอาหาร เครื่องดิ่ม ไว้ต้อนรับแขกอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
จะไม่ให้ดิฉันตื่นเต้นได้อย่างไร คุณนพดลเป็นคนแรกที่ทำให้เรารู้จักมูราคามิในภาคภาษาไทย "สดับลมขับขาน" เล่มนั้น หลายๆ คนอ่านแล้วก็อยากลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ แล้วหนังสืออีกหลายๆ เล่มที่คุณนพดลแปลอีกล่ะ
บทสนทนาระหว่างเราสามคน ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงตีสาม เป็นบทสนทนาที่มีคุณค่าครั้งหนึ่งของชีวิต มันทำให้เรามีพลังกับการทำงานหนังสือ คุณนพดลเองก็บอกว่า เขาไม่ได้เริ่มต้นด้วยการแปลวรรณกรรมเลย ตลอดเวลาเจ็ดปีแรกของการทำงานแปล คุณนพดลบอกว่า ผมแปล" เศษบทความ"เป็นอาชีพ คือแปลบทความเล็กๆ ที่เหมือนไม้ประดับในนิตยสาร ตรงนี้ทำให้ดิฉันคิดถึงคนที่พอเริ่มทำงานหนังสือ ก็คิดการใหญ่อยากแปลหรืออยากเขียนงานชิ้นใหญ่ๆ หรืองานชิ้นเอกเลย มันเป็นการก้าวกระโดดและไม่รู้จักกำลังของตัวเองแม้นแต่น้อย ดิฉันอยากให้คนที่กำลังเริ่มจะทำงานวรรณกรรมได้รู้จักประโยคแบบนี้ของคุณนพดล "ผมแปลเศษบทความมาก่อน"
ตลอดเวลาของการสนทนา ประสบการณ์ต่างๆ ในการทำงานแปล การผ่าน"ร้อน" ผ่าน "หนาว" ของการทำงาน ทำให้ดิฉันรู้สึกมีกำลังใจ ตอนอ่าน "เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" ดิฉันก็ได้กำลังใจแล้วว่า ขนาดมูราคามิยังเจอปัญหาและประสบปัญหาทางการงานเลย ปัญหา "กำแพง" ทั้งหลายที่เขาต้องก้าวข้าม พอมาเจอตัวจริงคุณนพดล ทำให้ดิฉันรู้สึกคล้ายๆ แบบนั้น ขนาดคุณนพดลยังประสบปัญหาเลย นับประสาอะไรกับบรรณาธิการรุ่นหลังๆ อย่างดิฉัน
คุณนพดลย้ำว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าให้ใคร เอา "ตัวเรา" ไปได้ ดิฉันรู้เสมอมาว่า "ตัวเรา" อยู่ที่ไหน และดิฉันก็คงไม่ให้ความทุกข์ภายนอกมาพราก "ตัวเรา" ไปได้อีก
ขอบคุณมากเลยค่ะ คุณนพดล ^^
ป.ล. ปีหน้าคุณนพดลจะทำงานแปลครบ 30 ปี คุณนพดลบอกว่าจะมีงานมาสเตอร์พีชออกมาฉลองสามเล่ม แฟนๆ โปรดเตรียมรอด้วยใจระทึก
Create Date : 27 กันยายน 2553 |
| |
|
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:06:44 น. |
| |
Counter : 3975 Pageviews. |
| |
|
|
|
| |
|
 |
grappa |
|
 |
|
|