- - - - ร้านหนังสือก็องดิด (1) จุดเริ่มต้น - - - -







































ถ่ายภาพโดย วี











 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:06:59 น.   
Counter : 2069 Pageviews.  

+++ 1Q84 นวนิยายเล่มใ หม่ของมูราคามิ- - - - เทวา ซาตานฉบับหนัง + + + +





1Q84 หนังสือนวนิยายเล่มใหม่ของมูราคามิจะวางแผงที่ญี่ปุ่นวันที่ 24 เดือนนี้ ว่ากันว่ามีความหนามากที่สุดของหนังสือที่มูราคามิเคยเขียน และตีพิมพ์ออกมาเป็น 2 Volume มีข่าวลือว่าหนาเป็น 2 เท่าของคาฟก้าออนเดอะชอร์ แถมยังมีข่าวลือต่ออีกว่าเขาเขียนเพื่อบูชา 1984 ของจอร์จ ออเวลล์ ( ตัวอักษร Q ของญี่ปุ่นอ่านอกเสียงได้เท่ากับเลขเก้าของญี่ปุ่น )

ช่วงนี้ฝนตกที่ญี่ปุ่น การได้อ่านหนังสือมูราคาเล่มหนา เปิดไฟหัวเตียงนอนอ่านหนังสือไป ฟังเสียงฝนตกไป คงนำพาความสุขมาให้อย่างแน่แท้

อืม แค่คิดก็อิจฉาคนญี่ปุ่น




วันก่อนไปดูเทวา-ซาตานฉบับหนัง ชอบมาก ไม่ได้ชอบหนังสือของแดน บราวน์ (แต่ก็อ่านเล่มนี้จนจบ) ไม่ได้ชอบหนัง แต่ชอบที่หนังมันพาเรากลับไปเที่ยวอิตาลีอีกครั้ง นึกถึงตอนที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ นั่งรถไฟใต้ดินข้ามแม่น้ำไทเบอร์ไปวาติกัน (ถ้าไปสายต้องต่อคิวยาวมาก) แสตมป์พาสปอร์ตเข้ากรุงวาติกัน ได้แล้วก็มุ่งมั่นไปดูโบสถ์น้อย sistine chapel นี้ก่อน วาติกันใหญ่มาก ดูห้องอื่นๆ อาจหมดแรงเสียก่อน ยังจำความรู้สึกที่ไปแหงนคอตั้งบ่าเพื่อดูรูปพระเจ้ากำเนิดอดัมของไมเคิล แองเจลโลนี้ได้ บนฝาผนังโบสถ์ ห้องนี้เต็มไปด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังของไมเคิล แองเจโล ดูแล้วก็หมดแรง ศิลปินคนนี้ช่างยิ่งใหญ่ ( รวมทั้งรูปปั้นพระแม่มารีอุ้มพระเยซูที่อยู่ในวาติกันก็ไม่ควรพลาด)

วาติกัน วาติกัน วาติกัน ตอนที่ไปดูก็รู้สึกว่า สมัยก่อนวาติกันก็คงไปฉกชิงของล้ำค่ำจากประเทศในอาณานิคมมาไว้ที่ตัวเองหลายชิ้น งานศิลปะของอียิปต์ มัมมี่สำคัญๆ ก็มีอยู่ที่นี่เต็มไปหมด

วิหารพาเธนอน ที่โรม ( ที่มีอยู่ในเรื่องนี้ด้วย ข้าพเจ้าก็ชอบ เก่าแก่และเย็นเยือกมาก )

คิดถึง กรุงโรม โอ่โถงมาก อยากไปอีกกกกกกกกกกก ( แต่ไม่อยากคิดถึงค่าเงิน)



สุดท้าย Face Book ทำให้ข้าพเจ้าติดเกมส์ Restaurant City อีกเกม มันเป็นเกมสร้างร้านอาหาร ที่ชอบเกมนี้มาก เพราะถ้าเราจะอัพเมนูเลเวลอาหารของร้านเรา เราต้องไปแลกเครื่องปรุงมากจากร้านเพื่อนบ้าน ไม่มีระบบตลาด ตอนนี้เมนูที่ร้านมีอาหารจานแรกคือ ลอปสเตอร์ ซุป อาหารจานหลักคือซูชิ และของหวานคือ สตรอเบอร์รี่ชีสเค้ก เอาล่ะ เราน่าจะขยันทำงานให้เหมือนขยันอัพเลเวลเกมส์ (สัญญากับตัวเอง )







 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:07:20 น.   
Counter : 5818 Pageviews.  

- - - เสียงเล่าเรื่องจากเครื่องฉาย- The Projector's Tales - - -






หนังสือสองภาษาของสำนักพิมพ์ 1 เล่มนี้เกิดขึ้นจากโปรเจ็คเทศกาลหนังที่เมืองปายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปลายปีที่แล้ว ดิฉันได้หนังสือเล่มนี้มาจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ( ตอนนี้น่าจะมีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไปแล้ว)

เรื่องสั้นทั้งหกเรื่องเกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจจาก "ภาพยนตร์" ทั้งหกคนคืออนุสรณ์ ติปยานนท์ 10 เดซิเบล อุทิศ เหมะมูล กิตติพล สรัคคานนท์ ภาณุ ตรัยเวช และปราบดา หยุ่น เขียนเรื่องสั้นที่ได้อิทธิพลจากโลกเซลลูลอยด์ ปรกติเรามักเห็นโปรเจ็คหนังสั้นหรือหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ เอานวนิยายหรือเรื่องสั้นมาทำเป็นหนังแต่คราวนี้ในทางกลับกันแสงจากเครื่องฉายหนังส่องทางให้ตัวหนังสือ และมันก็กลายมาเป็นหนังสือฉบับสองภาษาเล่มนี้ที่มีทั้งราคาภาษาไทยคือ 250 บาทและ 5 ยูโร

แรงบันดาลใจในที่นี่อาจไม่ได้หมายถึงว่า เมื่อเราอ่านเรื่องสั้นทั้งหกเรื่องนี้แล้วเราจะคิดได้ทันทีเลยว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มาจากหนังเรื่องนั้น นักเขียนแต่ละคนไม่ได้แสดงแรงบันดาลใจเหล่านั้นออกมาตรงๆ

น้ำตากวาง ของอนุสรณ์ เลือกเล่าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและประวัติศาสตร์ของประเทศไทยผ่านหนังกวางที่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองนางาซากิ

ในความเงียบ ของ 10 เดซิเบลเล่าเรื่องเริ่มต้นด้วยท่าทีขรึม สงบ และมีอารมณ์ขันแทรกเป็นระยะๆ พออ่านมาถึงตอนท้ายสุดคนอ่านจะร้องอ๋อ ว่าได้แรงบันดาลใจจากหนังอย่างไร ( ใครที่ชอบเปิดอ่านตอนจบของเรื่องก่อน กรุณาอย่าทำเช่นนี้กับเรื่องสั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวจะหมดสนุกไปเสียก่อน )

ระคน ละครของอุทิศ เหมะมูล เล่าเรื่องเสียดเย้ยละครหลังข่าวย้อนยุคตัดสลับกับเรื่องสั้นที่จงใจล้อเลียนวัฒนธรรมK-Pop ได้ทั้งความสนุกของภาษา( ที่ตั้งใจเลียนแบบ) กับท่าที satire นวนิยายแบบ Soft Opera อ่านไปก็ขำไป

ห้องรูเข็ม กิตติพล สรัคคานนท์ ชื่อก็บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากภาพของกล้องรูเข็ม (หรือเปล่า ) ถ้าเรื่องสั้นเล่มนี้ไปปรากฎอยู่ในรวมเรื่องสั้น พิพิธภัณฑ์แสง (รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของเขา ) ก็จะไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด มันทำให้คิดถึงความหมายของแสงกับการมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง

ตั้งแต่คอลงมา ดิฉันชอบภาษาของภาณุในเรื่องสั้นเรื่องนี้ พูดแบบบ้านๆ ภาษาของภาณุสำหรับเรื่องนี้นั้น"วัยรุ่น" มาก แถมเรื่องที่เล่าพาเราไปสู่เบื้องหลังกองถ่าย (น่าจะเป็นหนังสารคดี) ว่าด้วยพิธิกรรมของศาลเจ้า (หรือสำนัก) ชวนตะลึงพรึงเพริดเหมือนดูฉากทริลเลอร์ของหนังไทยสักเรื่องหนึ่ง

ความไม่ต่อเนื่องตอนยี่สิบนาฬิกาไม่ได้อ่านเรื่องสั้นของปราบดาเสียนาน เรื่องสั้นเรื่องนี้มีลีลาเหนือชั้น การฉายซ้ำของเรื่องสองสามหน (ที่มีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่บ้าง) นำความฉงนและความโหดมาให้ในเวลาเดียวกัน ต้องอย่าลืมสิว่าปราบดา เคยได้รางสัลซีไรท์จากการเขียนเรื่องสั้น พออ่านเรื่องนี้จบลงก็พบว่า เขากลับมาสู่โลกของเรื่องสั้นอีกครั้งแล้ว

นี่เป็นหนังสือที่ "รวมดาว" ของวงการวรรณกรรมไทย ถ้าเห็นหนังสือเล่มนี้ที่ไหน อย่าผ่านเลยไป นักเขียนผู้มีความสามารถมากมายรวมอยู่ในหนังสิอ เล่มนี้แล้ว





 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:08:21 น.   
Counter : 2217 Pageviews.  

- - - - - บาร์เทิลบี , ราโชมอนและเรื่องสั้นอื่นๆ - - - - - -






ช่วงปิดสงกรานต์ยาวที่ผ่านมา ได้อ่านหนังสือหลายเล่ม ทุกเล่มเป็นหนังสือที่พออกพอใจแก่เจ้าของบล็อกเป็นยิ่งนัก สองเล่มนี้จากสำนักพิมพ์สมมติก็เช่นกัน

ราโชมอนและเรื่องสั้นอื่นๆ โดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (1892-1927) มีคนแปลหลายคน หลังปกหนังสือเล่มนี้โค้ดคำพูดของฮารูกิ มูราคามิบอกว่า "เขาเป็นเหมือนหลักหมายของวรรณกรรรมญี่ปุ่นที่ไม่อาจถูกริ้อถอน" นี่ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยแต่อย่างใด เพราะงานวรรณกรรมของเขายากที่จะรื้อถอนจริงๆ อะคุตะงะวะทำให้ชาวโลกรู้จักวรรณกรรมญี่ปุ่น เขามาก่อนจุนนิจิโร ทานิซากิ ,นัทซีเมะ โซเซกิ งานชิ้นโด่งดังของเขาคือ "ในป่าละเมาะ" ซึ่งอากิระ คุโรซาว่า นำมาทำหนังจนโด่งดัง หนังมีชื่อว่าราโชมอน จนใครๆ ก็คิดว่า "ในป่าละเมาะ" ชื่อว่า ราโชมอน และหนังสือเล่มนี้ก็บอกเราว่า ราโชมอนก็คือราโชอน ในป่าละเมาะก็คือในป่าละเมาะ เป็นเรื่องสั้นคนละเรื่องกัน

หนังสือเล่มนี้ของคะคุตะงะวะ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 5 เรื่องซึ่งรวบรวมความคมคาย อารมณ์ขัน ( โปรดอ่านเรื่องจมูก ) และความลึกล้ำของจิตใจมนุษย์ ( ดูได้ในในป่าละเมาะ) และที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง และดิฉันคิดว่านี่คือเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยอ่านมา มันมีชื่อว่า "ในฉากนรก" อัจฉริยะของอะคุตะงะวะ ฉายชัดเจนในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ห้ามพลาดโดยประการทั้งปวง

บาร์เทิลบี โดย เฮอร์แมน เมลวิลล์ (1819-1891) แปลโดย พัจนภา เปี่ยมศิลปกุลชร เรื่องสั้นขนาดยาว (หรือเรื่องยาวขนาดสั้นของคนเขียน Moby-Dick บาร์เทิลบี เริ่มต้นเรื่องอย่างตลกขบขัน และจบลงอย่างเศร้าสร้อย และมันทำให้เราตระหนักว่าการยืนยันถึงสิ่งที่ตัวเองคิด แม้นมันจะแตกต่างกับคนส่วนใหญ่ เราก็ยังคงต้องยืนยัน และถึงแม้นว่าชะตากรรมจะนำพาชีวิตเราไปแบบไหนก็ตามเราก็ยังคงเผชิญกับมัน บาร์เทิลบี เป็นตัวละครที่ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานทนาย เมื่อเขาไม่ประสงค์จะทำอะไรเขาก็ยังจะยืนยันความคิดของเขา จนกระทั่ง...

"บาร์เทิลบี เป็นสูตรเคมีที่บ่อนเซาะทำลายองค์กรอันเป็นเหตุเป็นผล" หลังปกหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่าอย่างนั้น และมันก็ใช่จริงๆ ดิฉันก็เชื่อเช่นนั้น และอยากบอกว่า จริงๆ แล้วความเป็นเหตุเป็นผล อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิตของเราเท่าใดนักก็เป็นได้


หมายเหตุ หนังสือของสำนักพิมพ์สมมติทั้งสองเล่มนี้ มีทั้งบทนำของสำนักพิมพ์ที่อธิบายผลงานและแนวคิดของคนเขียน ทำให้สามารถทำความเข้าใจงานของนักเขียนทั้งสองท่านได้เป็นอย่างดี มีช่วงชีวิตของนักเขียน และบทกล่าวตาม ราโชมอนและเรื่องสั้นอื่นๆ กล่าวตามโดย อนุสรณ์ ติปะยานนท์ บาร์เทิลบีกล่าวตามโดย ปราบดา หยุ่น ดิฉันคิดว่านี่เป็นการทำให้คนอ่านเข้าใจงานวรรณกรรมทั้งสองเล่มได้มากขึ้น เป็นการทำงานของสำนักพิมพ์ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง







 

Create Date : 27 เมษายน 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:09:59 น.   
Counter : 3674 Pageviews.  

- - -- ลับแล, แก่งคอย : ประวัติศาสตร์ และสัญญะแห่งตัวตนของอุทิศ เหมะมูล - - - -







ดิฉันอ่านหนังสือเล่มหนา 444 หน้าเล่มนี้รวดเดียวจบ ใช้เวลาไปวันกว่าๆ จมหายไปกับนวนิยาย
เรื่องนี้ อุทิศ เหะะมูล คนเขียนบอกว่า "หนังสือเล่มนี้เรียกร้องสมาธิและความใส่ใจจากคนอ่านมากกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ ของผม ด้วยว่าขนาดของมันดูจะสวนทางกับความเป็นไปได้ที่วัฒนธรรมการมองมีอิทธิพลมากกว่าการอ่านยิ่งขึ้นเรื่อยๆ "

อ่านจบดิฉันพบว่ามันไม่ได้เรียกร้องคนอ่านเท่าไรเลย ความหนาขนาดนี้ถือเป็นเรื่องสามัญสำหรับดิฉัน และยิ่งเราพบว่าหนังสือมันสนุก มันก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรกับคนอ่านมากไปกว่า การให้อรรถรสอันดีเยี่ยมในการอ่านกลับมาตอบแทน แค่ภาคแรกที่ "ผม"เล่าเรื่องย่าของเขานั้นดิฉันก็น้ำตาไหลพรากๆ ขณะอ่าน ดิฉันมักจะแพ้ทางอะไรแบบนี้ ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้หนังสือ ที่สามีตาย แต่เลี้ยงลูกหลายคนให้เติบโต เติบใหญ่ ดิฉันว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มหาศาลที่ผู้หญิงคนหนึ่งทำอะไรให้แก่โลก ( และกลับมาร้องไห้อีกครั้งในตอนใกล้ๆจบของหนังสือ )

"ลับแล,แก่งคอย " เป็นนวนิยายเล่มล่าสุดของอุทิศ เหมะมูล คราวนี้เขานำเอาประวัติศาสตร์แห่งครอบครัว "ผม" ( ตัวละครเอก-และผู้เล่าเรื่อง) ประวัติศาสตร์หมู่บ้านที่แก่งคอย ประวัติศาสตร์แห่งถนนมิตรภาพอันเป็นตำนานเส้นนั้นมาร้อยรัดชีวิตผู้คนที่รายล้อมตัว "ผม" คนเล่าเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน เขาจับเอาเอาประวัติศาสตร์ช่วงก่อนที่ "ผม" จะถือกำเนิดขึ้น จนกระทั่งผมอายุ 15 ปี เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่ลากยาวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2533

นวนิยายเรื่องนี้จึงให้ภาพครอบครัวไทย ครอบครัวหนึ่ง มีบริบททางสังคมกำกับแต่ละช่วงเวลา เมื่อมันเป็นครอบครัวไทยๆ มันจึงมีเรื่องราวตั้งแต่เรื่องของครอบครัวที่มีชายเป็นใหญ่ (ในที่นี้คือ"พ่อ" อันเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องตัวหนึ่งเช่นกัน ) มีลักษณะของช้างเท้าหลัง (แม่) มีภาพและวิธีคิด การใช้ชีวิตของคนชนบท (ล้าหลัง-นับถือผี-งมงาย-เชื่อคนง่าย ถ้าเราจะคิดว่าชุดคำเหล่านี้คือการบอกเล่าคนบ้านนอก ) อีกทั้งมีประวัติศาสตร์การสร้างเนื้อสร้างตัวและการตั้งรกรากของครอบครัวอยู่ในนั้น

ถ้ามันเป็นแค่การบอกเล่าเรื่องราว การสร้างประวัติศาสตร์ครอบครัว มันคงเป็นหนังสือนวนิยายธรรมดาๆ สำหรับดิฉัน ( แต่ที่จริงการเขียนวรรณกรรมของชนชั้นธรรมดา ก็มีคุณูปการในตัวเองของมันมากโขอยู่ ดิฉันว่ามันเป็นการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์วรรณกรรมให้คนธรรมดา คนต่างจังหวัด (หรือคนบ้านนอก) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ได้ดี )

แต่นวนิยายเรื่องนี้ยกระดับเรื่องเล่าขึ้นไปอีก อุทิศแบ่งนวนิยายเรื่องนี้ออกเป็นห้าภาค - กำเนิดจากเรื่องเล่า-ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง-ในป่าหิมพานต์-ฌาปนกิจความจริง-เถ้าอังคารของความลวง แต่ละภาคมีโปรยนำเรื่องที่เขาคัดมาจากวรรณกรรมเอกของโลกเป็นตัวนำเรื่อง ขณะเมื่ออ่านเจอโปรยนำเรื่องเหล่านี้ ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่าอุทิศกำลังบอกคนอ่านว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่

ดิฉันเลยรู้สึกว่าเรื่องเล่าของอุทิศเล่มนี้มีการทับซ้อนกันหลายชั้นของเรื่องเล่า แน่ล่ะชั้นแรกเป็นเรื่องเล่าของครอบครัวที่ "ผม"ตั้งใจจะเล่าให้คนอ่านฟัง สิ่งที่ทับซ้อนขึ้นมาอีกชั้นคือคนเขียน-อุทิศออกมาบอกว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ผ่านโปรยนำเรื่องแต่ละภาค (และที่ดิฉันชอบมาอีกอย่างคืออุทิศมีกิมมิคในการเล่าเรื่องของเขาด้วยการมีวงเล็บซ้อนการบรรยายความรู้สึกนิดคิดของตัวละครอีกต่อหนึ่ง เหมือนอุทิศออกมาบอกคนอ่านด้วยท่าทีที่มีอารมณ์ขันยิ่ง)

ที่ดิฉันชอบอีกอย่าง (และดูเหมือนจะพูดไปแล้วตอนที่เขียนถึงหนังสือกระจกเงา-เงากระจกของเขา) ดิฉันชอบภาษาของอุทิศ ดิฉันชอบความเปรียบของเขา เวลาเขาเปรียบอะไรที่พูดถึงเรื่องการสูญเสีย พูดถึงเรื่องความเศร้าโศก ดิฉันรู้สึกว่าอุทิศเข้าไปถึงใจกลางความเศร้าโศกอันนั้น และมันทำให้ดิฉันต้องใจสลายเป็นพักๆ

และที่ชั้นสุดท้ายที่ดิฉันรู้สึกว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่ธรรมดาคือนวนิยายเรื่องนี้ ประกอบสร้างตัวตนของ"ผม"ขึ้นมาจากหลายแง่มุม แง่มุมแรกคือตามวิถีทางและบริบทของสิ่งที่รายล้อมตัวเขา และแง่มุมอีกอย่างที่สร้าง"ผม" ขึ้นมาคือร่องรอยของมโนทัศน์ ( ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องแจ่มชัด มันอาจจะพล่าเลือน มันอาจจะจับต้องไม่ได้ แต่เราก็เลือก (หรือไม่ได้เลือก) ให้มันก็ประกอบสร้างตัวตนเราขึ้นมา) สิ่งนี้เองที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่านวนิยายเรื่องนี้เหนือชั้นขึ้นไปมากกว่านวนิยายที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของตัวตนและครอบครัวแต่เพียงอย่างเดียว มันบอกเราว่ามีสัญญะบางอย่าง มีเศษเสี้ยวความทรงจำ หลายๆ เศษเสี้ยว เป็นเศษเสี้ยว เป็น frangment ของมโนทัศน์ที่ประกอบสร้างเราขึ้นมา


แถมอุทิศยังทิ้งปมบางอย่างในตอนท้ายเรื่องให้ซับซ้อนและชวนคิดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
...

" ไม่ว่าจะเป็นชีวิตใดก็ตาม ไม่ว่ามันจะยาวนานหรือซับซ้อนเพียงใดก็ตาม โดยแก่นแท้แล้วก็ล้วนแต่ประกอบขึ้นมาจากชั่วขณะหนึ่งเดียวที่ว่านั้นด้วยกันทั้งสิ้น ชั่วขณะที่ผู้เป็นเจ้าของชีวิต-ครั้งเดียวเท่านั้นตลอดชั่วชีวิตของเขา-ได้พบว่าแท้จริงแล้วเขาคือใคร "

J.L Borges, The Life of Tadeo Isdoro Cruz

(จากคำโปรยหน้า 299 ของหนังสือเล่มนี้ )






 

Create Date : 20 เมษายน 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 19:12:29 น.   
Counter : 5606 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]