|
|
แด่ ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทย (1)
๑. แด่ ม.ร.ว.กีรติ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ความรักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ ชายหนุ่มคนหนึ่งสบตาสาวเสิร์ฟ ส่งกระแสชื่นชมฝากรักให้เห็น ด้วยความเขินเขาหยิบบุหรี่ขึ้นมาเสียบที่ริมฝีปาก แต่เสียบผิดข้าง สาวเสิร์ฟเดินเข้ามาหาพร้อมทั้งรอยยิ้มอ่อนหวาน ในมือของเธอถือเหยือกน้ำเหมือนจะมารินน้ำในแก้วน้ำเพิ่มให้เขา แต่เธอกลับรินน้ำรดลงไปบนบุหรี่ที่ริมฝีปากของเขาแทน แล้วก็มีเสียงเตือนให้รู้ว่า เพราะความรักความห่วงไยต่างหากที่เธอทำเช่นนั้น เป็นการตอบไมตรีที่เฉอะแฉะที่สุดฉากหนึ่ง
หนังโฆษณาต่อต้านบุหรี่ทำนองนี้ยังมีอีกหลายตอน ทุกตอนล้วนแสดงความรักความห่วงไยให้แก่คนติดบุหรี่ทั้งสิ้น และทุกตอนคนติดบุหรี่ล้วนตกเป็น "เหยื่อ" ของความรัก ที่กลายเป็นอำนาจในการล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวของคนที่เรารัก ด้วยวิธีเด็ดขาดรุนแรงเสมอ เช่น เอาน้ำราด, เอาบุหรี่ไปทิ้ง หรือยึดไฟเสีย
ผมไม่คับข้องใจกับหนังโฆษณาเหล่านี้หรอกครับ แต่เห็นใจคนทำโฆษณาว่า เขาต้องเลือกเอาประเด็นที่ศิลปะการแสดงของไทยอ่อนแอที่สุดมาใช้ นั่นคือ การแสดงความรัก คงจำได้นะครับว่า ถ้าถึงตอนจบเมื่อพระเอกนางเอกแสดงความรักต่อกันได้โดยไม่มีฝ่ายใดแคลงใจฝ่ายใดอีกแล้วนั้น หนังไทย (และละครทีวีด้วย) จะมีสูตรตายตัวที่คนดูคุ้นเคย นั่นก็คือพระเอกนางเอกต้องวิ่งไล่กันในวิวสวยๆ ทำไมการวิ่งไล่กันจึงเป็นสัญลักษณ์ถึงความรักอันลึกซึ้งระหว่างหญิงกับชาย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
อาจไม่แฟร์เท่าไรที่ผมใช้คำว่าหนังไทย เพราะผมไม่ใช่แฟนหนังสักประเภทเดียว ฉะนั้น หนังไทยที่ผมได้ดูจึงเป็นหนังเก่าที่เขาเอามาฉายทางทีวี หนังไทยตามโรงอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้นะครับ เพราะผมตามไม่ทัน
ในชีวิตจริงคนไทยแสดงความรักกันอย่างไร ผมก็ไม่ได้ไปเที่ยวเสาะหาข้อมูลพอจะรู้ได้ แต่การแสดงมักรวบยอดเอาความคิดหรือแบบแผนของพฤติกรรมสังคมมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการแสดง แล้วก็ไม่ง่ายนะครับ ที่จะให้พระเอกนางเอกโผเข้ากอดรัดฟัดเหวี่ยง ร้องซี้ดซ้าดไปพร้อมกันในตอนหนังจบ เพราะมันดูไม่มีศิลปะเลย ซ้ำยังทำให้คนดูไม่เชื่อด้วยว่าพระเอกจะรักนางเอกไปชั่วกัลปาวสาน โดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักของเธอแตะเลข 60 ในอนาคต
จะใช้อาการอย่างไรที่จะแสดงความรักของคนสองคน ที่ดูบริสุทธิ์ (จากกามารมณ์), มั่นคง, เต็มไปด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ และงดงามสำหรับเป็นแบบอย่างแห่งนักรักทั่วโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความรักโรแมนติคขนานแท้และดั้งเดิม-อันหมายถึง ความรักของปัจเจก ที่ไร้เหตุผลอธิบาย ดูดดื่ม ทุ่มเท และเป็นชีวิตทั้งชีวิตของเขาหรือเธอ ดังบทสวดมนต์ว่า "ฉันเกิดมาเพื่อรักเธอคนเดียว" การแสดงความรักอย่างนี้แหละครับที่ศิลปะการแสดงของไทยทำไม่เป็น และผมพาลคิดว่าคนไทยโดยทั่วไปก็ทำไม่เป็นด้วย จึงไม่ปรากฏในศิลปะการแสดงและวรรณคดีไทยหรือประเพณีไทย
อันที่จริงข้อนี้ก็ไม่ประหลาดอันใดนักนะครับ เพราะรากเหง้าของความรักแบบนี้มาจากสังคมยุโรป นับตั้งแต่สมัยอัศวินเสี่ยงชีวิตไปรบราฆ่าฟันกับใครต่อใครเพื่อมอบกุหลาบแสนสวยให้แก่หญิงที่รอคอยอยู่บนระเบียงประสาท มาจนถึงรักหวานจ๋อยใน "นว" นิยายรุ่นหลัง. ผมไม่ได้หมายความว่าหญิง-ชายไทยในวัฒนธรรมโบราณนั้นรักกันไม่เป็นนะครับ แต่แสดงความรักต่อกันอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความรักแบบโรแมนติค เช่น เกือบจะแยกไม่ออกจากกามารมณ์ (ยังมีต่อ)
ป.ล. บทความที่เขียนโดยอาจารย์นิธินี้นำมาจากบทความเผยแพร่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และบทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ด้วยค่ะ
Create Date : 18 พฤศจิกายน 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:34:32 น. |
| |
Counter : 2819 Pageviews. |
| |
|
|
|
ควันหลงจากงานมหกรรมหนังสือฯ คัดสรร รายชื่อหนังสือที่ซื้อจากงานนี้ค่ะ
มาแจกแจงหนังสือแบบคัดสรร แล้วกันค่ะ ถ้าเขียนหมด ทั้งคนเขียน คนอ่าน คงเบื่อกันแย่
อันดับหนึ่งกรี๊ดมาก คือ
- บ้านเล็กในป่าใหญ่ ครบชุด 10 เล่ม พร้อมที่กั้นหนังสือสวยงาม
- Blog Blog โดย ปกป้อง จันวิทย์ คนเขียนให้มา เมื่อนักเศรษฐศาสตร์มาเขียนบล็อก เขาโปรยหน้าปกว่า เมื่อนักวิชาการมาเป็น Blogger ถ้าใครอยากอ่านเรื่องวิชาการที่เข้าใจง่าย เล่มนี้ขอแนะนำอย่างแรงค่ะ ปกป้องเล่าถึงชีวิตนักศึกษาปริญญาเอกบ้าง ตอบโต้เรื่องเศรษฐศาสตร์กับนักกฏหมายบ้าง แต่ทุกเรื่องเข้าใจง่ายหมด เพราะไม่ใช่บทความวิชาการ แต่เป็นบทความที่เคยเขียนในบล็อก อ่านสนุกมากค่ะ
-ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา ในสังคมบริโภค เขียนโดย จอห์น เลน เอาไว้อ่านตอนชีวิตยุ่งเหยิง เคยไปเที่ยวอินเดียกับลูกชาย จอห์น เลน ตอนนั้นบอกว่าไม่เคยอ่านหนังสือพ่อเขาเลย ตอนนี้เห็นเลยรีบคว้าไว้ก่อน ว่าจะซื้อหลายทีแล้ว ฉบับที่ซื้อนี่พิมพ์ครั้งที่ 2 แล้วค่ะ หนังสือความเรียงแนวนี้มีกลุ่มผู้อ่านอยู่พอสมควรเหมือนกัน อันนี้ได้จากบู้ทสวนเงินมีมา
-หมาจุดท่องฝรั่งเศส คนแปลให้มา เรื่องของหนุ่มอเมริกันท่องฝรั่งเศสพร้อมด้วยหมาจุดโดยรถสกู๊ตเตอร์ น่าอ่านมากค่ะ
-ร้อนตลอด รวมเรื่องเดินทางจากนิตยสารซัมเมอร์ คนเขียนให้มาอีกเช่นกัน
-เจ้าชายน้อยเวอร์ชั่นเห็นด้วยใจ เป็นฉบับไม่มีภาพประกอบแปลโดยอริยา ไพฑูรย์ เคยมีแล้ว แต่ในงานนี้ลดราคาเหลือ 62 บาท เลยซื้อเก็บไว้อีก 5 เล่ม
-หนังสือของรหัสคดี สามเล่ม แร็ฟเฟลล์ สุภาพบุรุษหัวขโมย คดีลายคราม ฆ่าปริศนาวันล่าสัตว์
-หัวใช้เท้า หนังสือรวมเรื่องเดินทางของวชิรา บรรณาธิการคนที่สองของอะเดย์ เล่มนี้สำนักพิมพ์วงกลมให้มา
- นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา -นั่งฝั่งตะวันตื่นยืนฝั่งตะวันตก หนังสือสองเล่มของบรรณาธิการอะเดย์ ผู้นิสัยดี น้องก้อง มาอุดหนุนหนังสือที่บู้ท เลยตามไปซื้อหนังสือน้องก้องกลับ (จริงๆ น้องเขาก็เขียนหนังสือนุ่มนวลดี) ไปที่บู้ทอะเดย์ เลยได้ -โตเกียวไม่มีขา สารคดีท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ "นิ้วกลม "มาอีกเล่ม พร้อมลายเซ็นของทั้งสอง -การ์ตูน Going Places ต้องการ คนเขียนให้มา
บู้ทบ้านหนังสือ หนังสือแปลของเจมส์ จอยซ์ -ผู้คนแห่งมหานครดับลิน -ภาพชีวิตวัยเยาว์ของศิลปิน หนังสือแปลของอองตวน แซ็งเต็กซูเปรี -แผ่นดินของเรา -เที่ยวบินกลางคืน - ไปรษณีย์ใต้ - โลกหมุนรอบตัวเอง รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรท์อีกคน
-ที่อยู่ของหัวใจ ความเรียงเล่มล่าสุด ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ มีหนังสือของวรพจน์ ครบทุกเล่มค่ะ -ไต้ฝุ่นคาเฟ่ หนังสือคอนเซปต์ Look-Read-Listen = Alive เล่มแรกชื่อธีมหนังสือว่า Life is Everywhere ในเล่มมีความเรียงของภิญโญ บรรณาธิการโอเพ่น งานศิลปะของคุณไทวิจิต มีซีดีเดี่ยวเปียโนสดของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร คนเขียนการ์ตูน เพลงออกแนวแจ๊ส ฟังรื่นรมย์ดีค่ะ สองเล่มนี้สำนักไต้ฝุ่นให้มา
บรรณาธิการดวงดาวของบลิสส์ เอาคูปอง 30 เปอร์เซ็นต์มาแจก ตอนมาซื้อหนังที่บู้ท เลยต้องตามไปช็อป กลับ หนังสือของบลิสส์มี -หัวใจเปียโน พุทธพร บุญมี แปล คุ้นๆ นามสกุลคนแปลไหมคะ -งานนี้ไม่เหมาะกับผู้หญิง คุณนพดล เวชสวัสดิ์ แปล -สามสิบจิ๊บจ๊อย (ไว้เจอกันแล้วจะขอลายเซ็นนะคะ คุณมณฑารัตน์ ) - ดูหนังคนเดียว ความเรียงร่วมสมัย ว่าด้วย ชีวิต หนังและ สังคม ของ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ กองบรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม คนเขียนให้มาอีกเช่นกัน -ภูมิปัญญามูซาชิ วิถีแห่งกลยุทธิ์เชิงบูรณาการ ภาคจบของมูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ โดยอาจารย์ สุวินัย ภรณวลัย เล่มนี้คุณปิ่น ปรเมศวร์ เชียร์ออกหน้าออกตามาก เลยไปซื้อมาจากบู้ท Openbooks - สมุดโน้ต Death Note เจ้าของบู้ท Animag ให้มา ยังไม่คิดจะเขียนชื่อใครลงในสมุดโน้ตเล่มนี้ค่ะ
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ มีหนังสือเก่าอีกหลายยยยยยยยยยยยย เล่ม คัดสรรมาบอกแค่นี้แล้วกันค่ะ
ส่วนเจ้าชายน้อย ฉบับเห็นด้วยใจ เขียนไว้ในบล็อคที่แล้วค่ะ ใครที่ยังไม่ได้อ่าน ตามไปอ่านได้นะคะ
Create Date : 24 ตุลาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:13:06 น. |
| |
Counter : 2204 Pageviews. |
| |
|
|
|
สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา...เจ้าชายน้อยฉบับเห็นด้วยใจ
เจ้าชายน้อย อังตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี เขียน อริยา ไพฑูรย์ แปล สำนักพิมพ์หนังสือยามเช้า จัดพิมพ์
เมื่อวานไปดูหนังเรื่องเพื่อนสนิทมาค่ะ ทำให้ข้อสงสัยว่าทำไมช่วงนี้หนังสือเจ้าชายน้อยถึงขายดีก็หายไป ในหนังให้ตัวละครเอกฝ่ายหญิงสองคน อ่านเจ้าชายน้อย คนแรกคือ "นุ้ย "ผู้รักหนังสือเจ้าชายน้อยมาก เจ้าชายน้อยฉบับที่ตัวละครชื่อนุ้ยอ่านนั้น เป็นเวอร์ชั่นที่แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดยอำพรรณ โอตระกูล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เรือนปัญญา ส่วนเจ้าชายน้อยเวอร์ชั่นที่ตัวละครหญิงอีกคนคือ ดากานดา อ่านนั้นเป็นเวอร์ชั่นที่พงาพันธุ์ แปล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศรีสารา ทั้งสองเล่มแปลจากภาษาฝรั่งเศส และทั้งสองเวอร์ชั่นล้วนแล้วแต่เป็นเวอร์ชั่นที่มีภาพประกอบทั้งสิ้น
ส่วนเวอร์ชั่นที่ดิฉันกำลังจะพูดถึงนี้ เป็นฉบับที่ไม่มีภาพประกอบ ขนาดรูปเล่มเล็กกว่าหนังสือทั่วไป (สำนักพิมพ์หนังสือยามเช้า เขาตั้งใจทำหนังสือไซส์นี้ค่ะ ) และที่สำคัญเป็นฉบับที่เน้นประโยคหนึ่งในหนังสือของเจ้าชายให้เด่นขึ้นมาคือ ประโยคที่ว่า เราจะเห็นอะไรก็ด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา เจ้าชายน้อยฉบับเห็นด้วยใจนี้แปลโดย อริยา ไพฑูรย์ สำหรับสำนวนแปลของทั้งสามคน ดิฉันชอบสำนวนแปลของอริยา ไพฑูรย์มากที่สุดค่ะ
เจ้าชายน้อยเวอร์ชั่นนี้มีที่มาที่ไปค่ะ การไม่มีภาพประกอบก็เพื่อการเน้นธีมหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือสิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยดวงตา คนอ่านสามารถจินตนาการเจ้าชายน้อยของตัวเองได้ว่าจะให้หน้าตา อย่างไร รูปลักษณ์แบบไหน หนังเรื่องเพื่อนสนิทเลือกจับธีมเรื่องความสัมพันธ์ ยกประโยคที่เจ้าชายน้อยกับหมาป่าพูดจากันมาใส่ไว้ในเรื่อง ดิฉันว่าคุณค่าอันหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ พูดถึงเรื่องหลากหลายมาก คนอ่านจะหยิบจับมุมไหนขึ้นมามองก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ผู้คนประเภทต่างๆ หรือมายาคติต่างๆ ในการทำความรู้จักกับผู้คน ฯลฯ
แต่ที่ดิฉันสนใจ เวอร์ชั่นเห็นด้วยใจ นี้มากคือ เบื้องหลังหนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์และผู้แปลเขามอบรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้เพื่อใช้ในการพิมพ์ วรรณกรรมเยาวชนเป็นหนังสืออักษรเบรลล์ แจกจ่ายแก่ห้องสมุดสำหรับคนตาบอดทั่วประเทศ วันก่อนได้คุยกับคุณอริยา ไพฑูรย์ ผู้แปลบอกว่า ตอนนี้จัดทำวรรณกรรมเยาวชนอักษรเบรลล์ได้หลายเรื่องและหลายปกแล้วค่ะ สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตาจริงๆ ใช่ไหมคะ ดิฉันฟังแล้วก็ปลาบปลื้มชื่นชมทั้งคุณอริยา และสำนักพิมพ์นี้จริงๆ ค่ะ
สำหรับคุณอริยา ไพฑูรย์ นี้ดิฉันถือว่าเป็นสุดยอดบรรณาธิการวรรณกรรมเยาวชนคนหนึ่งทีเดียวค่ะ เธอบรรณาธิกรณ์งานวรรณกรรมเยาวชนมาแล้วหลายเล่ม งานวรรณกรรมเยาวชนหนังสือของแพรวสำนักพิมพ์ หลายๆ เล่มเป็นงานบรรณาธิการของคุณอริยา ไพฑูรย์ เล่มที่หลายๆ คนรู้จัก อย่าง ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงก์ นี่ก็เป็นฝีมือบรรณาธิกรณ์ของคุณอริยาเธอล่ะค่ะ ดิฉันว่าคนที่จะทำงานวรรณกรรรมเยาวชนได้นั้นต้องมีจิตใจละเอียดอ่อน และมีจินตนาการสูง และใจเย็น คุณอริยา ไพฑูรย์ มีครบทุกอย่างที่ดิฉันว่ามาค่ะ
สำหรับคนที่มีเจ้าชายน้อยเวอร์ชั่น นี้ ดีใจด้วยนะคะคุณได้ช่วยให้มีหนังสืออักษรเบรลล์เพิ่มขึ้นในโลกนี้ ดิฉันว่าเวลาวันเกิด หรือวันปีใหม่ หรือวันอะไรก็ได้ที่คุณอยากแบ่งปันรายได้ของคุณ เรามาทำหนังสืออักษรเบรลล์กันเถอะค่ะ ค่าใช้จ่ายในการทำหนังสืออักษรเบรลล์ก็ไม่แพงมากนัก แต่หนังสืออักษรเบรลล์มีข้อจำกัดอยู่ที่พิมพ์ได้แค่เล่มละ 50 หน้า สำหรับเจ้าชายน้อยเล่มเล็กๆ นี้เมื่อจัดทำเป็นหนังสืออักษรเบรลล์ต้องถูกแบ่งเป็นสองเล่ม ราคาจัดทำต่อหนึ่งชุด 300 บาท (ราคาค่ำจัดทำขึ้นอยู่ความหนาของหนังสือด้วยค่ะ ) คุณอริยาแนะนำว่า ถ้าสนใจจะทำหนังสืออักษรเบรลล์ ควรรวบรวมเงินให้จัดพิมพ์หลายๆ เล่มต่อหนึ่งเรื่อง พิมพ์ครั้งเดียวแต่ได้หลายจำนวนเล่ม เพื่อพอแจกจ่ายหนังสืออักษรเบรลล์ให้ห้องสมุดที่มีหนังสือสำหรับคนตาบอดทั่วประเทศด้วยค่ะ
ดูรายละเอียด เพิ่มเติมเรื่องการจัดทำหนังสืออักษรเบรลล์ ได้ที่นี่ค่ะ ศูนย์เทคโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ที่เขามีห้องสมุดคอลฟิลด์น่ะค่ะ //www.blind.or.th/Tecnology.htm
Create Date : 18 ตุลาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:14:26 น. |
| |
Counter : 4006 Pageviews. |
| |
|
|
|
บางทีเราก็เลือกอย่างอื่น...ที่ไม่ใกล้กับใจเราเลย
ระหว่างเดินทางกลับจากจอร์แดน ด้วยความเหนื่อยล้าที่ต้องผจญกับเรื่องราวต่างๆ ระหว่างการถ่ายทำสารคดีเรื่องจอร์แดนเป็นเวลากว่ายี่สิบวัน ผมปล่อยให้ความง่วงครอบงำและหลับไป จนรุ่งเช้า แสงอาทิตย์แรกส่องเข้ามาทางหน้าต่างเครื่องบิน ด้วยความรำคาญโดยไม่ทันคิด ผมเอื้อมมือเลื่อนแผ่นพลาสติคกันแสงที่หน้าต่างหวังจะได้งีบหลับต่อ แต่แล้วก็อดไม่ได้ที่จะลืมตามองหน้าต่างเสียครู่หนึ่งว่าตอนนี้อยู่ตรงส่วนไหนของโลกแล้ว จำได้ว่าอาทิตย์ยามเช้าเหนือท้องทะเลทรายนั้นงดงามเกินกว่าจะงีบหลับต่อได้ แสงอรุณแรกสีทองสาดประกายกระทบผืนทรายกว้างไม่มีจุดสิ้นสุดเหมือนท้องทะเล ท้องทะเลทรายที่เห็นมิได้สงบนิ่ง หากเต็มไปด้วยคลื่นทรายน้อยใหญ่กระจายไปทัวทั้งผืน สร้างและเงาสีทองสลับเงาดำกลาดเกลื่อน ยังไม่ทันจะจดจำความงามได้หมดสิ้น ผมก็ปล่อยให้ความง่วงและความขี้เกียจเข้าครอบงำ ผมเลื่อนม่านบังแสงลงมาปิดหน้าต่างให้สนิทแล้วหลับต่อ
... ดูเหมือนเรามักหาคำตอบให้กับตัวเองได้ไม่ค่อยน่าพอใจ ว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะทำบางสิ่งแทนที่จะทำอีกสิ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นดูจะมีเหตุผลมากว่าด้วยซ้ำ ผมคิดว่าบางที"การเลือก" ของคนเราก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนัก หรืออีกนัยหนึงเหตุผลก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเลือก แต่เป็นความรับผิดชอบที่ตามมาภายหลังการเลือกต่างหาก ผมนึกถึงประสบการณ์สองแห่งจากดินแดนแห่งทะเลทรายและจากท้องทะเลตะวันออก... ใครที่มีโอกาสไปจอร์แดนต่างปรารถนาจะเยือนมหาวิหารแห่งเมืองเพตร้าให้ได้สักคราวหนึ่ง ด้วยเหตุผลแห่งความงามนี่เองเป็นเหตุให้เกิดนโยบายย้ายชาวเบดูอินหลายสิบครอบครัวที่พักพิงอยุ่ในนครแห่งนี้ให้ออกไปอยู่ข้างนอก เพราะชาวเบดูอินสร้างความเสียหายต่อความงดงามของเพตร้า กรณีนี้เราให้ค่าของความงามมากกว่าคน ไกลออกไปทางท้องทะเลตะวันออก ผมเดินทางข้ามเส้นศูนย์สูตรไปยังเกาะแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียชื่อว่าเกาะโคโมโด...ออกจะเป็นเรื่องน่าขำก็ได้เมื่อรู้ว่าเราเดินทางมาแสนไกลครั้งนี้เพื่อมาถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับมังกรโคโมโด สัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับตะกวดบ้านเรา สัตว์ชนิดนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธ์ จากการศึกษาพบว่ามังกรโคโมโดมีความใกล้ชิดกับไดโนเสาร์ในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อร้อยล้านปีก่อน โคโมโดจึงเป็นสมือนซากฟอสซิลที่มีชีวิต ... คงเป็นสาเหตุจากความโด่งดังของมังกรโคโมโดนั้นเองที่ทำให้เกาะโคโมโดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในภูมิภาคอินโดนีเซียตะวันออก ประกอบกับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ทำให้มีนโยบายย้ายผู้คนออกจากหมู่บ้านให้ออกไปจากเกาะเพื่อรักษามรดกโลกชิ้นนี้ แผนการเริ่มต้นจำกัดจำนวนประชากรมิให้เพิ่มขึ้นมากขึ้นจากเดิม การตัดสินใจเลือกครั้งนี้...มนุษย์กลุ่มหนึ่งเป็นผู้สูญเสียให้ในนามของสิ่งที่เรียกว่ามรดกโลก การเลือกแต่ละครั้งของมนุษย์สร้างผลกระทบให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ นี่อาจเป็นเรื่องในระดับสังคมที่โต้แย้งหรือทบทวนใหม่ได้ แต่กับการเลือกของปัจเจกชนนับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า แม้ว่าบางคราวการตัดสินใจเลือกครั้งหนึ่งๆ อาจมีผลแค่ทำให้เสียโอกาสงดงามเล็กน้อย แต่บางคราวการเลือกก็มีผลหักเหชีวิต แค่เพียงคำพูดง่ายๆ ที่ว่า "บางทีเราก็เลือกอย่างอื่น " อาจไม่เพียงพอแก่การปลอบใจ .... คัดและตัดตอนมาจาก บางทีเราก็เลือกอย่างอื่น โดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ รวมอยู่ในหนังสือชื่อ ไกลดวงตา ใกล้ใจ ( A view from A far ) ซึ่งร่วมเขียนโดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์และวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ตีพิมพ์เมื่อกันยายน 2546
Create Date : 18 กันยายน 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:15:18 น. |
| |
Counter : 2103 Pageviews. |
| |
|
|
|
ธนูของพระอินทร์ที่ไกลดวงตาแต่...ใกล้ใจ
ธนูพระอินทร์
1. ผมชอบบรรยากาศก่อนฝนตกเป็นที่สุด เพราะท้องฟ้าจะมืดครึ้ม ลมแรง อากาศเยือกเย็นสดชื่นจากไอฝนที่พัดมาแต่ไกลๆ แต่ช่วงบรรยากาศที่ว่านี้มักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่...อีกไม่นานนักฝนก็จะตกลงมาอย่างหนัก ทำให้โลกเฉอะแฉะเปียกชื้น หรือไม่เมฆก็จะถูกเผาพัดพาล่องลอยไปเสียไกล ทิ้งให้แสงแดดเปรี้ยงได้ทำหน้าที่แผดเผาโลก และทำให้ผมผิดหวัง
2. ที่เมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ในเช้าตรู่ของวันฝนตก ผมตื่นแต่เช้า ชงกาแฟ หามุมริมหน้าต่างโรงแรมนั่งอ่านหนังสือ "บันทึกแห่งนิยาย" ของจอห์น สไตน์เบ็ค เปิดกระจกรับบรรยากาศเย็นเยือก นั่นเป็นอีกวันที่อ่านหนังสือได้อย่างมีความสุข เมื่อละสายตาจากหนังสือ มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นรุ้งกินน้ำเหนือท้องฟ้า แต่อีกเพียงครู่เดียวก็เลือนหายไป ความสุขและความงดงามช่างมีอายุสั้นเสียนี่กระไร
3. ชาวจีนเชื่อกันว่า เมื่อใดที่เกิดรุ้งกินน้ำ เมื่อนั้นฝนจะหยุดตก จนมีคำกล่าวที่ว่า "เหมือนมองหาเมฆเพื่อให้ได้ฝน แต่พอเห็นเมฆมาแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวรุ้งกินน้ำจะตามมาด้วย แล้วฝนก็จะเหือดหายไปเสีย" หลายครั้งหลายคราวทีเดียวที่ความรู้ทำให้เราทุกข์ทรมานใจ
4. นับแต่โบราณนานมา รุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงสำหรับมนุษย์ ภาษาเขมรและบาลีเรียกรุ้งกินน้ำในความหมายว่าธนูของพระอินทร์ ...จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก หนังสือนิทานเล่มหนึ่งบอกว่าที่ปลายสุดขอบฟ้าสองด้านของรุ้งกินน้ำนั้นจะมีขุมสมบัติซุกซ่อนอยู่ จากนั้นเป็นต้นมาเห็นรุ้งกินน้ำทีไร ผมมักนึกว่าที่ปลายสุดสองข้างของรุ้งกินน้ำจะเป็นบ้านของใครหนอ...ผมมารู้เอาทีหลังว่ารุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์หักเหของแสงเมื่อผ่านละอองไอน้ำบนท้องฟ้า และปลายสองข้างของรุ้งไม่เคยบรรจบกัน ...ผมเห็นรุ้งกินน้ำครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนมกราคม ระหว่างการเดินทางกลับจากทะเลสาบกาลิลี เขตแดนประเทศอิสราเอล วันนั้นฝนตกแต่เช้า อากาศเย็นเยือก บนรถที่แล่นลัดเลาะผ่านตามเนินเขา เพื่อนร่วมทางชี้ให้ดูรุ้งกินน้ำตัวใหญ่โค้งครอบฟ้าไว้...แต่ในวันนั้นผมไม่ได้นึกถึงทรัพย์สมบัติที่ปลายสายรุ้ง และผมก็กล้าหาญพอที่จะชี้รุ้งกินน้ำแสนสวย...โดยไม่พะวงว่านิ้วจะกุด แล้วต้องแก้เคล็ดด้วยการเอานิ้วมาป้ายก้นอย่างในสมัยเด็กๆ แต่ผมกลับนึกย้อนถึงบันทึกในวันเดินทางกลับจากสงขลาเมื่อเดือนกันยายน และบันทึกถึงรุ้งกินน้ำไว้ว่า ดวงอาทิตย์กำลังตกดิน มองข้ามสวนยาง เห็นเมฆครึ้มดำ ละอองฝนเริ่มโปรยปราย ฝนตกบนท้องถนน เห็นรุ้งกินน้ำสองตัวอยู่แค่เอื้อม นับสีได้ครบถ้วน โค้งครึ่งวงกลมเจ็ดสีสวางไสวอยู่เบื้องหน้า หรือเพื่อจะค้นพบความงดงาม เราต้องหันหลังให้ความจริง
คัดและตัดตอนมาจาก ธนูพระอินทร์ โดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ รวมอยู่ในหนังสือชื่อ ไกลดวงตา ใกล้ใจ ( A view from A far ) ซึ่งร่วมเขียนโดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์และวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ตีพิมพ์เมื่อกันยายน 2546
........
นานเท่าไรแล้วหนอ ที่ไม่ได้เห็นรุ้งกินน้ำ
Create Date : 13 กันยายน 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:16:12 น. |
| |
Counter : 2720 Pageviews. |
| |
|
|
|
| |
|
|
grappa |
|
|
|
|