แด่ ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทย (1)
๑. แด่ ม.ร.ว.กีรติ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ความรักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ ชายหนุ่มคนหนึ่งสบตาสาวเสิร์ฟ ส่งกระแสชื่นชมฝากรักให้เห็น ด้วยความเขินเขาหยิบบุหรี่ขึ้นมาเสียบที่ริมฝีปาก แต่เสียบผิดข้าง สาวเสิร์ฟเดินเข้ามาหาพร้อมทั้งรอยยิ้มอ่อนหวาน ในมือของเธอถือเหยือกน้ำเหมือนจะมารินน้ำในแก้วน้ำเพิ่มให้เขา แต่เธอกลับรินน้ำรดลงไปบนบุหรี่ที่ริมฝีปากของเขาแทน แล้วก็มีเสียงเตือนให้รู้ว่า เพราะความรักความห่วงไยต่างหากที่เธอทำเช่นนั้น เป็นการตอบไมตรีที่เฉอะแฉะที่สุดฉากหนึ่ง
หนังโฆษณาต่อต้านบุหรี่ทำนองนี้ยังมีอีกหลายตอน ทุกตอนล้วนแสดงความรักความห่วงไยให้แก่คนติดบุหรี่ทั้งสิ้น และทุกตอนคนติดบุหรี่ล้วนตกเป็น "เหยื่อ" ของความรัก ที่กลายเป็นอำนาจในการล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวของคนที่เรารัก ด้วยวิธีเด็ดขาดรุนแรงเสมอ เช่น เอาน้ำราด, เอาบุหรี่ไปทิ้ง หรือยึดไฟเสีย
ผมไม่คับข้องใจกับหนังโฆษณาเหล่านี้หรอกครับ แต่เห็นใจคนทำโฆษณาว่า เขาต้องเลือกเอาประเด็นที่ศิลปะการแสดงของไทยอ่อนแอที่สุดมาใช้ นั่นคือ การแสดงความรัก คงจำได้นะครับว่า ถ้าถึงตอนจบเมื่อพระเอกนางเอกแสดงความรักต่อกันได้โดยไม่มีฝ่ายใดแคลงใจฝ่ายใดอีกแล้วนั้น หนังไทย (และละครทีวีด้วย) จะมีสูตรตายตัวที่คนดูคุ้นเคย นั่นก็คือพระเอกนางเอกต้องวิ่งไล่กันในวิวสวยๆ ทำไมการวิ่งไล่กันจึงเป็นสัญลักษณ์ถึงความรักอันลึกซึ้งระหว่างหญิงกับชาย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
อาจไม่แฟร์เท่าไรที่ผมใช้คำว่าหนังไทย เพราะผมไม่ใช่แฟนหนังสักประเภทเดียว ฉะนั้น หนังไทยที่ผมได้ดูจึงเป็นหนังเก่าที่เขาเอามาฉายทางทีวี หนังไทยตามโรงอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้นะครับ เพราะผมตามไม่ทัน
ในชีวิตจริงคนไทยแสดงความรักกันอย่างไร ผมก็ไม่ได้ไปเที่ยวเสาะหาข้อมูลพอจะรู้ได้ แต่การแสดงมักรวบยอดเอาความคิดหรือแบบแผนของพฤติกรรมสังคมมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการแสดง แล้วก็ไม่ง่ายนะครับ ที่จะให้พระเอกนางเอกโผเข้ากอดรัดฟัดเหวี่ยง ร้องซี้ดซ้าดไปพร้อมกันในตอนหนังจบ เพราะมันดูไม่มีศิลปะเลย ซ้ำยังทำให้คนดูไม่เชื่อด้วยว่าพระเอกจะรักนางเอกไปชั่วกัลปาวสาน โดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักของเธอแตะเลข 60 ในอนาคต
จะใช้อาการอย่างไรที่จะแสดงความรักของคนสองคน ที่ดูบริสุทธิ์ (จากกามารมณ์), มั่นคง, เต็มไปด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ และงดงามสำหรับเป็นแบบอย่างแห่งนักรักทั่วโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความรักโรแมนติคขนานแท้และดั้งเดิม-อันหมายถึง ความรักของปัจเจก ที่ไร้เหตุผลอธิบาย ดูดดื่ม ทุ่มเท และเป็นชีวิตทั้งชีวิตของเขาหรือเธอ ดังบทสวดมนต์ว่า "ฉันเกิดมาเพื่อรักเธอคนเดียว" การแสดงความรักอย่างนี้แหละครับที่ศิลปะการแสดงของไทยทำไม่เป็น และผมพาลคิดว่าคนไทยโดยทั่วไปก็ทำไม่เป็นด้วย จึงไม่ปรากฏในศิลปะการแสดงและวรรณคดีไทยหรือประเพณีไทย
อันที่จริงข้อนี้ก็ไม่ประหลาดอันใดนักนะครับ เพราะรากเหง้าของความรักแบบนี้มาจากสังคมยุโรป นับตั้งแต่สมัยอัศวินเสี่ยงชีวิตไปรบราฆ่าฟันกับใครต่อใครเพื่อมอบกุหลาบแสนสวยให้แก่หญิงที่รอคอยอยู่บนระเบียงประสาท มาจนถึงรักหวานจ๋อยใน "นว" นิยายรุ่นหลัง. ผมไม่ได้หมายความว่าหญิง-ชายไทยในวัฒนธรรมโบราณนั้นรักกันไม่เป็นนะครับ แต่แสดงความรักต่อกันอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความรักแบบโรแมนติค เช่น เกือบจะแยกไม่ออกจากกามารมณ์ (ยังมีต่อ)
ป.ล. บทความที่เขียนโดยอาจารย์นิธินี้นำมาจากบทความเผยแพร่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และบทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ด้วยค่ะ
Create Date : 18 พฤศจิกายน 2548 |
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:34:32 น. |
|
12 comments
|
Counter : 2816 Pageviews. |
|
|
|
|