Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 มกราคม 2555
 
All Blogs
 

จากลูกแกะสู่หมาป่า สิบปีจีนบนเวที WTO (1)(2)(จบ)

จากลูกแกะสู่หมาป่า สิบปีจีนบนเวที WTO (1)

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2001 วันที่ประเทศจีนได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 143 ขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการ
คือวันที่ผู้ประกอบการและนักวิชาการจีนจำนวนมากมีความกังวลว่าจีนจะกลายเป็น “ลูกแกะ” ที่กระโจนเข้าไปสู่ฝูง “หมาป่า” ที่พร้อมจะขย้ำและกัดกินเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างเมามัน

ในชั่วโมงที่การแข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การพาตัวเข้าสู่องค์การการค้าโลกของจีนที่ต้องแลกด้วยการลดเพดานภาษีหลายประเภท การลดกฎเกณฑ์สำหรับทุนต่างชาติกับบริษัทข้ามชาติทั้งหลายที่จะเข้ามาลงทุน การเปิดการแข่งขันที่ “ยิ่งเสรี” มากยิ่งขึ้นต่อนานาชาติ ได้สร้งความกังวลว่าจะทำให้การเกษตร การเงิน ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจค้าปลีก รวมไปถึงอินเทอร์เน็ตของจีนจะถูกต่างชาติเขมือบไปจนหมด

ทว่า 10 ปีผ่านไป วันนี้จีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตนเองไม่ได้เป็นเพียง “ลูกแกะ” ที่เข้าไปเป็นเหยื่อของฝูงหมาป่า แต่สามารถปรับตัว พัฒนา ด้วยความอดทนและหนักแน่น จนก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าบนเวทีการค้าโลก 10 ปีมานี้ ความยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนได้พิสูจน์ด้วย “ฐานะ” และ “ตัวเลข” มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ประเทศผู้นำเข้าอันดับสองของโลก ประเทศนำเข้าจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอันดับหนึ่งของโลก มีอัตราการเพิ่มของเศรษฐีใหม่มากที่สุดในโลก การเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว หรือเฉลี่ยนปีละ 10% จนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

นั่นก็หมายความว่า การที่จีนเข้าสู่การเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก ได้ทำให้ธุรกิจจีนพัฒนาและปรับตัวให้เข้มแข็ง มีกำลังการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในภาคเกษตรกรรม เพราะเมื่อยกเลิกกำแพงกั้นการนำเข้าข้าวสาลีจาก 7 รัฐของสหรัฐฯ อีกทั้งเปิดประตูให้ธุรกิจแปรรูปเนื้อกว่า 6,000 รายของสหรัฐฯรุกเข้าประเทศจีน ภาคการเกษตรของจีนก็ไม่ได้ถูกธุรกิจต่างชาติเหล่านี้เขมือบตลาดอันยิ่งใหญ่ไปจนหมด แต่กลับสามารถปรับตัวและปรับตลาดให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเช่นนี้ได้อย่างดี

ผลของการก้าวเข้าสู่เวทีโลก ยังเป็นการประจักษ์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วธุรกิจในจีนไม่ได้กลัวการแข่งขันอย่างเสรี แถมยังสามารถใช้โอกาสจากการแข่งขันที่เปิดกว้างนี้ในการพัฒนาศักยภาพ รวมไปถึงการบริหารจัดการให้เติบโตเท่าทันจะรับมือกับภาวะแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ประดังเข้ามา อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นธุรกิจค้าปลีกของจีน

ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ร้านค้ารายย่อย ร้านขายของชำ รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อมหลายแห่งถูกเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตทุนหนาขนาดใหญ่จากต่างชาติ 2-3 รายรุกตีจนกระเจิดกระเจิงจนต้องปิดตัว หรือต้องทนอยู่แบบจำทนด้วยรายได้หดหาย บ้างก็ออกมาประท้วงเพื่อให้รัฐบาลช่วยปกป้องการรุกรานจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เหล่านี้มาแย่งธุรกิจย่อยท้องถิ่น แถมยังขยับขยายจนกลายเริ่มเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม เข้าแย่งชิงแม้แต่ตลาดส่วนย่อยสุด โดยที่รัฐบาลได้แต่มองตาปริบๆ และภาคเอกชนหรือร้านค้าก็อ่อนแอเกินกว่าจะสู้ด้วย ปัญหาทำนองเดียวกันนี้กลับไม่เป็นปัญหากับจีนเท่าใดนัก

เพราะผลปรากฎกว่าวอลมาร์ท บริษัทค้าปลีกระดับโลก หรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จากต่างชาติ กลับไม่สามารถที่จะเปิดตลาดแบบกวาดทั่วประเทศจีน (เหมือนที่ไทยโดน) อย่างที่หลายฝ่ายเคยกังวล ซ้ำยังเป็นการกระตุ้นธุรกิจจีนมีการรวมตัว จนเกิดเป็นเครือข่ายค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต เครือข่ายค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดธุรกิจแสนล้านขึ้นมาได้

แน่นอนว่าการเข้าสู่องค์การการค้าโลก ไม่ได้มีแต่ด้านดี ไม่มีอุปสรรค เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ทำให้จีนเกิด “ข้อพิพาท” ด้านเศรษฐกิจและการค้ากับนานาชาติไม่ได้ขาด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาถูกฟ้องร้องเรื่องการทุ่มตลาด การผูกขาดตลาด โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา คดีพิพาทเรื่องการทุ่มตลาดที่ต่างชาติมีต่อกับจีนมีมากกว่า 1 ใน 3 ของที่มีทั้งโลก และมูลค่าที่เกิดจากการต่อต้านการทุ่มตลาดจากจีนก็มีมากกว่า 40% ของโลก นอกจากนั้นยังมีคดีความขัดแย้งด้านการค้าอื่น ๆ ปลีกย่อยอีกมากมาย ที่ทำให้เป็นอุปสรรคในเวทีการค้าโลกของจีนหลังจากที่ผันตัวเองเข้าสู่สนามประลองอันยิ่งใหญ่นี้

สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเป็นการพิสูจน์ว่า “ลูกแกะ” ที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น “หมาป่า” อย่างจีนจะสามารถปรับปรุง และพัฒนาตัวเองไปสู่ระบบการค้าเสรีแบบ “เต็มรูปแบบ” ได้มากน้อยแค่ไหน และหาก “ไม่ปรับ” ก็จะเป็นการท้าทายโลกอีกครั้งว่า ระบบการค้าเสรีแบบเต็มรูปแบบ กับระบบการค้าเสรีแบบ “มีการควบคุม” ของจีนนั้น รูปแบบของใครจะเที่ยงแท้กว่าสำหรับภาวการณ์โลกในปัจจุบัน

แต่อย่างน้อย วันนี้สิ่งที่ได้พิสูจน์แล้วก็คือ จีนไม่กลัวการแข่งขัน ไม่หวั่นเวทีโลก ไม่ขยาดกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ไม่เกรงชาติตะวันตก ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนในเวลานี้จึงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นการต่อสู้เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนยิ่งกว่าของตัวเอง ทั้งในด้านของวิสัยทัศน์และในโลกของความเป็นจริง และไหน ๆ ก็เป็นรอบ 10 ปีของการเข้าสู่เวทีโลกของตลาดจีน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในสัปดาห์หน้าจึงอยากจะมาคุยต่อให้เห็นเป็นรูปธรรมชัด ๆ มากขึ้นว่า 10 ปีนี้ ตลาดโลกได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับจีน และความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้อย่างไร

จากลูกแกะสู่หมาป่า สิบปีจีนบนเวที WTO (2)

ฉบับที่แล้วได้เปิดเรื่องว่าปี 2011 ที่กำลังจะจบลงคือการครบรอบ 10 ปีของการที่ประเทศจีนเข้าสู่ WTO หรือองค์การการค้าโลก หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จีนถูกมองว่าการเข้าสู่ WTO คือการที่ลูกแกะตัวหนึ่งกำลังจะกระโจนเข้าสู่ฝูงหมาป่า เนื่องจากจีนยังไม่มีความพร้อมสำหรับการเปิดกว้างเพื่อแข่งขันกับเงินทุน ระบบและประสบการณ์ของทุนจากต่างชาติ จนถึงขั้นที่หลายฝ่ายมองว่า นั่นอาจเป็นการนำมาซึ่งหายนะให้กับจีน

แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศจีนและธุรกิจจีน มีพลังแฝง และการพัฒนามากกว่าที่หลายฝ่าย (แม้กระทั่งในจีนเอง) คิดกัน อย่างที่ฉบับที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ผลลัพธ์ปัจจุบันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และฐานะของลูกแกะที่โตขึ้นมาเป็นหมาป่าตัวใหญ่และดุดันบนเวทีเศรษฐกิจการค้าของโลก ดังนั้น ฉบับนี้เราจะมาเจาะความเปลี่ยนแปลงให้เห็นกันเป็นรูปธรรมมากขึ้น

1) ก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2

ในปี 2011 เมื่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเกิดปัญหา ทั่วโลกต่างกวาดตามองมาที่จีนว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามาช่วยกอบกู้หรือไม่ คล้ายกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่เกิดวิกฤติการเงินขึ้น ก็มีการเพ่งเล็งว่าจีนจะสามารถฟื้นตัวและมีส่วนช่วยนานาประเทศในโลกได้ ไม่ว่าจีนจะกระโจนเข้าไปช่วยหรือไม่ หรือว่าช่วยได้หรือไม่ แต่นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของจีนในเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

การเติบโตของเศรษฐกิจจีน หากดูจากรูปธรรม ก็เห็นได้จากผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ที่มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านหยวนในปี 2001 เพิ่มมาเป็น 40 ล้านล้านหยวนในปี 2010 เติบโตเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซนต์ และได้รับการยกให้เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอันดับหนึ่งสองปีซ้อน และขยับจากประเทศเศรษฐกิจอันดับ 9 ของโลก ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในเวลาอันรวดเร็ว

2) “เมดอินไชน่า” ไปทั่วโลก

นิตยสารเศรษฐกิจของจีนได้ระบุว่า คำวา สินค้า “เมดอินไชน่า” เพิ่งจะเริ่มดังเอาหลังจากปี 2001 หลังจากเข้า WTO ทำให้จีนได้ใบสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ทำให้จีนเข้าสู่ยุคทองแห่งการผลิตและแปรรูปสินค้าหลากหลายประเภท เกษตรกรจีนจำนวนมากได้เดินเข้าสู่โรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง)

ด้วยราคาสินค้าราคาถูก ทำให้สินค้าเมดอินไชน่า ถูกจำหน่ายไปทั่วโลก อาทิเช่นผ้าห่มของชาวอเมริกัน รองเท้าในอิตาลี เสื้อผ้าที่ชาวรัสเซียสวมใส่ อุปกรณ์ทานอาหารของประเทศโกตดิวัวร์ และไม่ว่าจะเป็นประเทศใด หากเหลียวมองไปรอบข้างก็จะพบว่า ข้างกายเราสามารถพบสินค้าที่ “เมดอินไชน่า” ได้ตลอดเวลา

3) ไม่กลัวการสู้คดีกับต่างชาติ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม บริษัท Aigo ของจีนได้ฟ้องร้องบริษัทโตชิบา ว่าทำการละเมิดลิขสิทธิ์ USB plus และศาลชั้นต้นของซีอัน ได้ตัดสินให้ฝ่ายโตชิบาเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่บริษัทด้านอิเล็คทรอนิกส์ของจีนชนะบริษัทจากต่างชาติ

ในความเป็นจริง ปัญหาหนึ่งที่พบมากหลังจากที่เข้า WTO ก็คือคดีความฟ้องร้องที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน และทำให้บริษัทในประเทศจีนเริ่มพัฒนาวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เป็นลูกแกะที่ทำอะไรไม่ถูกเหมือนวันวาน ในขณะที่ศาลประจำมณฑลต่าง ๆ ของจีนไม่ว่าจะเป็นเจ้อเจียง กว่างตง (กวางตุ้ง) ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ต่างต้องพิจารณาคดีความเกี่ยวกับบริษัทต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยคดีความในกรณีนี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2002 เป็น 90% ในปัจจุบัน ทำให้จีนเริ่มไม่กลัวต่อกรณีเหล่านี้อีกต่อไป และสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ระบุว่านี่ว่าเป็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของจีน

4) การก้าวออกไปของธุรกิจจีน

10 ปีก่อน Salomon Smith Barney ของสหรัฐฯ ได้เคยทำนายไว้ว่า หลังจากจีนเข้า WTO 5 ปี จะทำให้ประชากรจีนตกงานถึง 40 ล้านคน ธุรกิจภายในประเทศหลายอย่างจะถูกโจมตีจนถึงขั้นพังพินาศ แต่ 10 ปีผ่านไป เมื่อธุรกิจเอกชนอย่างบริษัทรถยนต์จีลี่ ออโตโมบิล บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีน ลงนามในข้อตกลงซื้อ วอลโว่ ค่ายรถยนต์สัญชาติสวีเดน จากฟอร์ด มอเตอร์ ของสหรัฐ และเมื่อบริษัทหัวเหว่ย และ ZTE ของจีนได้ขยายธุรกิจไปถึง 5 ทวีป ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากธุรกิจของจีนจะไม่ถูกทำลายแล้ว ยังสามารถที่จะรุกออกไปนอกประเทศได้อีกด้วย

นักวิชาการมองว่า หลังจากเข้า WTO เท่ากับว่าประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งยุคใหม่ ก็คือการก้าวออกไปก้าวใหญ่สู่ตลาดนานาชาติของธุรกิจจีน ปลายปี 2010 จีนมียอดลงทุนตรงในต่างประเทศสุทธิ (FDI) 317,210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 17 ของโลก เป็นครั้งแรกที่เอาชนะประเทศลงทุนใหญ่ ๆ ในอดีตอย่างญี่ปุ่น และอังกฤษ

5) การเติบโตของรถยนต์ภายในประเทศ

หลังจากเข้าสู่ WTO ภาษีรถยนต์จากต่างชาติ ที่เคยอยู่ที่เลข 3 หลัก ลดลงเหลือเพียง 13.4% ได้สร้างความกังวลว่าเมื่อกำแพงภาษีนี้พังทลายลง ธุรกิจรถยนต์จีนจะถูกรถยนต์ต่างชาติรุกจนหาที่ยืนไม่ได้ แต่เอาเข้าจริง หลังจากเข้า WTO มา 10 ปี บริษัทรถยนต์จีลี่ ออโตโมบิล กับเชอรี่ ได้เพิ่มยอดขายรถยนต์จากปีละ 2 ล้านคัน มาเป็น 18 ล้านคัน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพัฒนาการของ 10 ปีหลังจากเข้า WTO ของจีน ในสัปดาห์หน้ามาดูกันเป็นตอนจบว่า ยังมีธุรกิจด้านใดของจีนบ้างที่ได้รับอานิสงส์จากการเสี่ยงกระโจนเข้าสู่ฝูงหมาป่าที่เรียกว่าเวทีการค้าโลกนี้บ้าง

จากลูกแกะสู่หมาป่า สิบปีจีนบนเวที WTO (จบ)

การที่เรื่องการเข้าสู่องค์การการค้าโลกหรือ WTOของจีนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกสูง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของขนาดเศรษฐกิจ ส่วนแบ่งการตลาด จากจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก การเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด หรือแม้แต่การมีเศรษฐีใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน จนกลายเป็นเป้าของสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยประเทศจีนเพื่อความอยู่รอด

ดังนั้น นอกจากประเด็นความเปลี่ยนแปลง 5 ประการที่ได้เล่าให้ฟังกันไปในฉบับที่แล้ว ฉบับนี้เรามาดูกันต่อเลยดีกว่าครับว่า 10 ปีหลังจากการเข้าสู่ WTO ดินแดนมังกรอันกว้างใหญ่ไพศาลอย่างประเทศจีน ยังมีความเปลี่ยนแปลงในด้านใดบ้าง

6) ดูภาพยนตร์ของโลก

หลายท่านอาจเคยได้ข่าว หรือเคยทราบมาว่าในอดีตประเทศจีนมีการปกป้องวงการภาพยนตร์ของข้างเข้มงวด มีการอนุญาติให้ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ฟอร์มยักษ์หรือฟอร์มไหน ๆ จากต่างประเทศเข้าฉายในประเทศจีนได้เพียงปีละ 10 เรื่องเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือนอกจากจะปิดกั้นบริษัทภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาชิงส่วนแบ่งเค้กในวงการนี้แล้ว ยังอาศัยเป็นช่องทางในการ “เซ็นเซอร์” ภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นภาพยนตร์ดัง ๆ ในอดีต ที่มีเนื้อหาด้านลบเกี่ยวกับประเทศจีนแม้แต่น้อยก็อย่าหวังว่าจะได้เข้ามา (ปัจจุบันถ้ามีมากก็ยังเข้าไม่ได้)

แต่ปัจจุบัน หลังจากที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก WTO จีนจำเป็นต้องเพิ่มโควต้า หรือจำนวนภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศมากขึ้น จนสร้างความกดดันให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ของจีน แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เห็นว่า วงการภาพยนตร์ของจีนได้พัฒนาตัวเองไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเอาตัวรอดและออกไปหาส่วนแบ่งการตลาดจากต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของทุนสร้าง จากที่เคยสร้างภาพยนตร์กันด้วยต้นทุนเพียงไม่กี่สิบล้านบาท ปัจจุบันภาพยนตร์ของจีนหลายเรื่องมีต้นทุนสร้างเหยียบพันล้าน แม้แต่ซีรีย์ชุดใหญ่ ก็มีต้นทุกสร้างเกินหลักร้อยล้าน และไต่เต่าไปสู่การบุกเบิกไปสู่ตลาดภาพยนตร์ต่างประเทศ

ฉะนั้นเมื่อดูย้อนไปตั้งแต่ปี 2002 ประเทศจีนมีการสร้าภาพยนตร์เพียงปีละ 100 เรื่อง แต่เมื่อมาถึงปี 2010 จีนมีการสร้างภาพยนตร์เพิ่มขึ้นเป็น 526 เรื่อง และมีรายได้จากตั๋วหนังจาก 1,000 ล้านหยวน เมื่อปี 2002 มาเป็นมากกว่า 10,000 ล้านหยวนต่อปี เรียกว่ามีอัตราการเพิ่มมากที่สุดในโลก

7) การอยู่รอดของธนาคารในประเทศ

ตลาดการเงินของจีน ถูกจัดเป็นไข่ในหินที่รัฐบาลจีนพยายามปกป้องเอาไว้ ดังนั้นหลังจากที่เข้าเป็นสมาชิก WTO จีนได้รับปากว่าจะยอมยกเลิกการจำกัดการทำธุรกิจเงินสกุลเหรินหมินปี้ (เงินหยวน) ของธนาคารต่างชาติ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2006 ซึ่งนับว่าเป็นปราการที่รักษาเอาไว้อย่างเนิ่นนาน และเปิดช้ากว่าธุรกิจอื่นอีกหลายตัว

อาจจะเป็นเพราะมีเวลาเตรียมตัวนานกว่าธุรกิจในภาคอื่น ทำให้ธุรกิจการเงินของจีนไม่ได้พังพาบไปอย่างที่หลายฝ่ายเคยทำนายไว้ หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดสำหรับคนที่เคยไปทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารจีนบ่อย ๆ จะเห็นได้ว่า ในหลายปีที่ผ่านมา การบริการของธนาคารจีนรวดเร็ว และดีขึ้นมาก นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้เข้ามาช่วย จัดการเรื่องหนี้เน่าที่เคยเป็นปัญหาในอดีต รวมถึงพยายามผลักดันให้มีการบริหารที่เป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ธนาคารใหญ่แต่ละสาขาของจีน เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

8) การเอาตัวรอดของธุรกิจสิ่งทอ

ธุรกิจสิ่งทอเป็นธุรกิจตัวแรก ๆ ที่มีการเปิดตลาดสำหรับต่างชาติอย่างเต็มตัว ทำให้ได้รับแรงกระแทกมากกว่าตัวอื่น ๆ ในช่วงแรก ๆ ที่มีการเปิดตลาด บวกกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าเงินสกุลเหรินหมินปี้ ทำให้โรงงาน และบริษัทเสื้อผ้า สิ่งทอหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป แต่ในภายหลัง บริษัทจีนสามารถหาจุดแข็งต่าง ๆ มาแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติ การพัฒนาเทคนิคและคุณภาพการผลิต รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า เราจะพบกับชอปเสื้อผ้าแบรนด์จีนตามถนนเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีเสื้อผ้าราคาหลายหมื่นบาท วางขายกันเต็มไปหมด

9) ก้าวสู่มาตรฐานสากล

ในอดีต ประเทศจีนจัดเป็นประเทศที่เคยชินกับการบริหารตามรูปแบบของตัวเอง ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือรูปแบบมาตรฐานของโลก ตัวเลขด้านการค้ากับต่างประเทศ ถือว่าเป็นความลับระดับชาติของจีน แต่เมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ทำให้ต้องมีการปรับ และยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลจำนวนมาก เรียกว่าใน 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการยกเลิกและปรับกฎหมายไปแล้วกว่า 3,000 ข้อ ทำให้ ธุรกิจต่างชาติที่เดินเข้าสู่ประเทศจีนนั้นง่ายและเป็นไปตามกฎเกณฑ์โลกมากขึ้น (แต่หลายธุรกิจก็ยังยากอยู่ในระดับหนึ่งอยู่ดี)

อันที่จริงความเปลี่ยนแปลงของจีนยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเกษตร ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต รวมไปถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ในภาวะแข่งขันกับตลาดโลก รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีตลาดโลกไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลกเอง หรือแม้กระทั่งเวทีไอเอ็มเอฟ นาทีนี้ต้องบอกว่า 10 ปีบนเวที WTO ของจีน ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของเศรษฐกิจโลกไปโดยสิ้นเชิง และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ และเชื่อแน่ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า บทบาทด้านเศรษฐกิจของพญามังกร ยังจะสำแดงเดชไปมากกว่าที่ผ่านมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน

credit :  siamrath




 

Create Date : 08 มกราคม 2555
0 comments
Last Update : 8 มกราคม 2555 22:06:41 น.
Counter : 863 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.