Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 
29 มกราคม 2553
 
All Blogs
 

ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดผู้สมัคร ให้มาสัมภาษณ์งานกับเรา



ผู้ทำบันทึกขึ้นหัวข้อนี้ ก็เพราะเห็นว่าหลาย ๆ ท่านประสบปัญหาว่า เมื่อประกาศรับสมัครงานแล้ว
มีผู้สมัครให้ความสนใจส่งใบสมัครทั้งทางจดหมาย และทางอีเมล์เข้ามามากมาย
แต่พอเวลาให้มาสัมภาษณ์กลับไม่มา ทั้ง ๆ ที่บางรายยืนยันการรับนัดแล้ว พอถึงเวลากลับไม่มาก็ยังมี

ผู้ทำบันทึกข้อเสนอแนะการแก้ไขจากภายในองค์การ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะปรับปรุงได้ง่ายและเร็วกว่า เช่น
เคยเขียนจากประสบการณ์และความรู้สึกนะครับ สำหรับผู้ทำบันทึก
ความมีชื่อเสียงขององค์การไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะทุกที่มีก็มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณการรับพนักงานอยู่แล้ว
ผมมองว่าการสื่อสารระหว่างองค์การกับผู้สมัครต่างหาก ที่น่าจะเป็นประเด็นหลัก

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สื่อสารในที่นี้ส่วนใหญ่ก็คือฝ่าย HR นั่นแหละ
ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้สึกให้ผู้สมัคร อยากมาสัมภาษณ์กับองค์กรของเรา
ที่นี้จะทำอย่างไรที่จะสื่อสารซึ่งก็คือการใช้โทรศัพท์นั่นแหละ

ผู้ทำบันทึกมองว่ามีความสำคัญมาก ๆ เพราะจะเป็นเหตุถึงขั้นให้ผู้สมัครงานตัดสินใจว่าจะมา หรือไม่มาดี
และจะขอพูดรวมไปถึงขั้นตอนที่เมื่อผู้สมัครมาแล้ว จนสัมภาษณ์เสร็จจะกลับ เพื่อให้ครบถ้วน
และจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์การได้เป็นอย่างดี ขอเสนอให้พิจารณาดูดังนี้

★ 1. คำพูดที่ใช้
เคยเห็นใน web hr center นี้บ่อย ๆ เลยขอมายกตัวอย่างประกอบ เช่น
“เรียกมาสัมภาษณ์” กับ “เชิญมาสัมภาษณ์”
สองคำนี้วัตถุประสงค์เหมือนกัน แต่การสื่อออกไปให้ความหมายต่างกันมากทีเดียว
ผู้สมัครก็คือบุคคล ๆ หนึ่งที่เห็นประกาศโฆษณารับสมัครงานของเรา และเห็นว่าตัวเขามีคุณสมบัติเพียงพอ
จึงส่งเอกสารสมัครงานมาให้เราพิจารณา เขามีความรู้ความเข้าใจในองค์การของเราน้อย

ดังนั้นการสื่อสารเมื่อแรกเริ่ม จึงเป็นการสร้างภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในใจเขา ใช่ไหมครับ
อยากให้ใช้ใจตัวเราเองสมมติว่าเป็นตัวผู้สมัคร แล้วตอบตัวเองดูนะครับว่าชอบคำพูดแบบไหน


★ 2. การนัดหมาย
ส่วนมากจะนัดแล้วนั่งรอเลย มา-ไม่มา ขอลุ้นเอาในวันสัมภาษณ์เลย
ถ้าผู้สมัครไม่มาก็แจ้งผู้สัมภาษณ์ว่า “นัดแล้ว ไม่มาค่ะ/ครับ” ง่ายดีใช่ไหมครับ ความผิดเป็นของผู้สมัคร
แต่คุณลืมไปอย่างหนึ่งว่า หากเกิดซ้ำ ๆ บ่อย จะมีคำถามจากผู้สัมภาษณ์ว่า
“แล้วคุณคิดหาทางแก้ปัญหานี้อย่างไร” คุณนั่นแหละจะเป็นผู้เสียหายเอง

ขอเสนอว่า ถ้าเราแค่เพิ่มการโทรศัพท์อีกสักครั้งในช่วงใกล้วันนัดสัมภาษณ์
นอกจากจะเป็นการยืนยันการนัดหมายซ้ำแล้ว ยังแสดงถึงความใส่ใจในตัวผู้สมัคร
อีกทั้งยังพอตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ในข้างต้นได้อีกใช่ไหมครับ(ควรจดวัน-เวลา ที่โทร.ไว้เป็นหลักฐานด้วย)
อีกทั้งเราเองยังมีเวลากลับตัวหากผู้สมัครท่านนั้นจะไม่มา ก็ยังสามารถเชิญผู้สมัครลำดับรองลงไปได้อีกด้วย
จะได้ไม่เสียเวลาผู้สัมภาษณ์ ไม่น่ายากเกินไปใช่ไหม


★ 3. น้ำเสียงระหว่างการติดต่อ
คำพูดที่ฟังดูดี น้ำเสียงที่หวาน – นุ่ม ชวนฟัง เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในการใช้ดึงดูดผู้สมัคร
ของแบบนี้ฝึกกันได้นะครับ และยิ่งหากสามารถให้ข้อมูลขององค์กร – สวัสดิการที่ให้พนักงานอย่างคร่าว ๆ
หรือข้อมูลที่เป็นจุดเด่นขององค์กร และทั้งนี้ต้องเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นเท็จนะครับ
อนึ่ง คนที่พูดห้วน ๆ หรือ ขาดทักษะของการให้บริการ ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มาทำงาน ณ จุดนี้


★ 4. การแนะนำเส้นทาง เพื่อการเดินทางมาสัมภาษณ์ของผู้สมัคร
การช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งผู้สมัครและองค์กรด้วยอีกประการหนึ่ง


★ 5. การให้การต้อนรับ
ควรเริ่มกันตั้งแต่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(เมื่อแลกบัตรเข้ามา),
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ (การให้การต้อนรับ ระหว่างนั่งรอ),
แม่บ้าน(กาแฟสักแก้ว หากประหยัด น้ำสักแก้วก็จะเป็นพระคุณยิ่งแล้ว)
เจ้าหน้าที่บุคคลที่ทำหน้าที่ให้กรอกใบสมัครและทดสอบ(ถ้ามี) และการให้คำชี้แจงเรื่องที่จำเป็นแก่ผู้สมัคร
ทั้งหมดที่กล่าวมา ควรอบรมให้มีความรู้ในข้อมูลของบริษัท พร้อมรอยยิ้มแนบด้วยเสมอ
นอกจากจะเป็นการแสดงความมีน้ำใจ ยังเป็นตัวบอกอุณหภูมิในองค์กรของคุณได้อีกด้วย


★ 6. สถานที่ที่ให้ผู้สมัครกรอกใบสมัคร
ควรเป็นที่มิดชิดพอควร และหากตกแต่งให้ดูดีด้วยก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี
หากไม่มีจริง ๆ ก็กรอกใบสมัครตรงหน้าโต๊ะเราที่แหละ และควรขอโทษเขาเล็ก ๆ ที่ทำให้ไม่สะดวก
จะมีความรู้สึกเข้าใจและให้อภัยจากผู้สมัคร เมื่อเขาได้ยินคำขอโทษ
สิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจมาก ๆ คือสถานที่ต้องดูสะอาด


★ 7. สถานะของผู้สมัคร
ถ้ามีผู้สมัครงานในตำแหน่งระดับสูง ๆ ควรที่ระดับ supervisor หรือผู้จัดการจะไปต้อนรับเอง
ถือเป็นการให้เกียรติผู้สมัครอีกทางหนึ่ง อย่าให้พนักงานระดับเจ้าหน้าที่ไปต้อนรับเด็ดขาด


★ 8. แสดงความขอบคุณที่สละเวลามา
ควรทำเป็นให้เป็นธรรมเนียม การเดินมาส่งและกล่าวขอบคุณ
ยอมสละเวลาเพียงเล็กน้อย และคำพูดอีกสองสามคำ จะสร้างความประทับใจให้กับผู้สมัครได้เป็นอย่างดี


★ 9. พาหนะรับ-ส่งหรือค่าพาหนะ
บางครั้งหากสถานที่ตั้งของเราอยู่ห่างไกลออกไป การเดินทางไม่ค่อยสะดวก
การจัดรถไปรับ ณ จุดที่กำหนดในเวลามา และกลับออกไป
ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่ง ที่จะช่วยกระตุ้นผู้สมัครให้มาสัมภาษณ์งานกับเรา

ผู้ทำบันทึกเองเคยทำงานอยู่ที่หนึ่งซึ่งกำหนดไว้เลยว่า
หากเชิญผู้สมัครมาจากต่างจังหวัด จะมีเงินช่วยเหลือเป็นค่าเดินทางให้จำนวนหนึ่ง


★ 10. การแจ้งผล
ข้อนี้สำคัญมาก ลองนึกถึงจิตใจของผู้สมัครว่า เมื่อเสียเวลามาสัมภาษณ์แล้วย่อมต้องอยากรู้ผล
ธรรมชาติของคนเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว การแจ้งผลทำได้หลายวิธี เช่น การแจ้งผลทางจดหมาย,
การแจ้งทางโทรศัพท์ การแจ้งผลทาง e-mail สมัยนี้องค์การส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน มักจะใช้วิธีเงียบ
ถือเป็นการรับรู้โดยปริยายว่า ผู้สมัครไม่ได้งานที่นี่แล้วนะ
ลองแจ้งผลดูสิครับ สำหรับผู้สมัครทุกท่าน ผมว่ามันจะเป็นผลบวกให้แก่องค์การของคุณได้เป็นอย่างดี


บทสรุป การดึงดูดผู้สมัคร โดยการสร้างความรู้สึกดี ๆ ซึ่งในช่วงแรก ๆ จะเป็นการใช้โทรศัพท์
ซึ่งจะได้ยินแต่เสียง เสียงบ่งบอกความรู้สึกได้ ให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับเกียรติ จะทำให้เขาอยากมาสัมภาษณ์

ทั้งหมดที่กล่าวมา หากมองภาพรวมจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสื่อสาร
เน้นไปที่ผู้ที่มีหน้าที่ติดต่อกับผู้สมัครงาน การให้บริการ และ ความมีน้ำใจ อย่าหลงลืมคำว่า
“ใจเขา ใจเรา” และควรเข้าใจด้วยว่าการบอกต่อของผู้สมัครเกี่ยวกับองค์การของเราคือ
การประชาสัมพันธ์ทางหนึ่ง ที่มีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์การเป็นอย่างยิ่ง........


ที่มา : //www.hrtothai.com




 

Create Date : 29 มกราคม 2553
0 comments
Last Update : 29 มกราคม 2553 21:08:43 น.
Counter : 1703 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.