Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 
13 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
สร้างทีมเสือ ยามเศรษฐกิจถดถอย



เรื่องของค่าครองชีพแพง ค่าแรงถูก เป็นเรื่องที่นำ ความเซ็งมาสู่พนักงาน และนายจ้างมา หลายต่อหลายปีแล้ว ...

ยิ่ง ใน 2-3 ปี หลังมานี่ ที่ราคาน้ำมันขึ้นโครมๆ สลับกับรายงานข่าวการก่อการร้ายและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น
ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ล้วนช่วยกันกระหน่ำซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของโลกย่ำแย่ถดถอยกันเป็นแถว
แต่ถึงแม้เศรษฐกิจจะถดถอย ค่าครองชีพแพงเช่นนี้ ผู้บริหารใจเพชรทั้งหลายก็ต้องกัดฟันสู้

ทั้งนี้อาศัยพลังของ CEO คนเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะรักษาองค์กรให้อยู่รอดปลอดภัย
ดังนั้น CEO ต้องสรรหาวิธีที่จะปลุกใจทีมพนักงานทั้งหมด ขององค์กรให้ช่วยกันคนละไม้ละมือ
พยุงและผลักดันองค์กรให้สร้างผลงาน เพื่อความอยู่รอดของทุกคนให้จงได้

นอกจากนี้ หากว่าบริหารอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ทีมงานของท่านยังจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า
และมีผลกำไรเกินคาด เสียอีก เพราะจากประสบการณ์ของ CEO ระดับโลกหลายคน
เช่น แจ็ค เวลช์, สตีฟ จอบส์, บิลล์ เกตส์ ล้วนเคยกล่าวว่า ภายใต้ความกดดัน (Pressure) ที่เหมาะสม
พนักงานจะสร้างผลงานได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องน่าเรียนรู้ว่าผู้บริหารจะสามารถเปลี่ยนวิกฤต
หรือสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสได้อย่างไร


ปัจจัยในการเตรียมสร้างทีมเสือ

ก่อนที่เราจะพูดคุยกันในรายละเอียดว่า
จะสร้างทีมงานที่มีพลังกายพลังใจ พร้อมสร้างผลงานยอดเยี่ยมได้อย่างไรนั้น
ทีมงานผู้บริหารจะต้องมีการเตรียมปัจจัยต่างๆ ไว้ให้พร้อมเสียก่อนจะเริ่มโครงการสร้างทีมเสือ
เพื่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ลินด์เซย์ เบลคลีย์ ได้แนะนำไว้ว่า

ปัจจัยต่างๆ ที่ต้องเตรียมเอาไว้ก่อนเริ่มโครงการคือ

1.เงินสด (Cash)
ฟังข้อแรกแล้วอย่าเพิ่งถอย เงินที่ว่านี้ต้องกันไว้
เพื่อจ่ายเป็นรางวัลสำหรับพนักงาน ที่มีผลงานยอดเยี่ยมจำนวนหนึ่งขององค์กร
ซึ่งโดยทั่วๆ ไปแล้ว จำนวนของพนักงานระดับ Top Performer นี้ มักมีจำนวนประมาณ 10–20% ขององค์กร

2.ความใส่ใจ (Attention) ที่สม่ำเสมอ
หน้าที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารยามเศรษฐกิจถดถอย คือ ต้องให้กำลังใจพนักงาน ต้องสร้างบรรยากาศที่ดี
ทำให้ทุกคนมีจิตอารมณ์ดี ห่างจากความหดหู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ซึ่งการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ต้องอาศัยผู้นำที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ที่มั่นคงเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ
เสมอต้นเสมอปลาย จึงจะทำให้พนักงานทุกคน มีขวัญกำลังใจดีอย่างเสมอต้นเสมอปลายตามไปด้วย

3.มีการพูดคุยหรือประชุมแบบไม่เป็นทางการ (Informal Meetings) บ่อยๆ
ยามเศรษฐกิจฝืดเคือง การบริหารให้ได้ผลงาน โดยมีทรัพยากรจำกัดต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์มาก
จึงต้องเปิดโอกาสและสร้างช่องทางให้พนักงาน ได้ช่วยกันแสดงข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล
และสอบถามข้อข้องใจกันบ่อยๆ
ทั้งนี้ควรทำให้การพบปะพูดคุยระหว่างผู้บริหาร และพนักงานกลายเป็นกิจวัตรที่ เป็นประจำวันได้ยิ่งดี
ทุกคนจะได้รู้สึกว่าสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย การสื่อสารกันบ่อยๆ
ทำให้ลดข้อข้องใจและความผิดพลาดสับสนต่างๆ ได้ทันท่วงที และยังได้แลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ กันด้วย

4.ความโปร่งใส (Transparency)
ในเรื่องนี้ผู้บริหารระดับกลางจะมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารระดับสูง
ผู้วางนโยบายกับพนักงานระดับปฏิบัติการ โดยผู้บริหารระดับกลางพึงทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย
โดยทันท่วงที และไม่ขาดตกบกพร่อง รักษาความจงรักภักดีและขวัญกำลังใจของพนักงานผู้น้อย
โดยปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความยุติธรรมโปร่งใส สนับสนุนทรัพยากรและความช่วยเหลือต่างๆ ที่พวกเขาต้องการ
รวมถึงให้คำวิจารณ์แนะนำในการปรับปรุงผลงานของพวกเขาเป็นระยะๆ
เพื่อให้พนักงานสามารถสร้างผลงานตามมาตรฐาน และบรรลุเป้าหมายขององค์กรตามแผน งาน

ทั้งนี้การเล่นพรรคเล่นพวก การมีอคติเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร
ที่มุ่งสร้างผลงานในระดับสูง (High–Performance Organization)

เมื่อได้เตรียมตัวเตรียม ใจและเตรียมทรัพยากรต่างๆ เพื่อสร้างทีมเสือแล้ว
ในลำดับต่อไป คือ ขั้นตอนการฟอร์มทีมเสือซึ่งมีอยู่ 4 ขั้นตอนหลักด้วยกัน

★ ขั้นตอนที่ 1 : แสดงท่าทีชัดเจนเรื่องสถานการณ์ของบริษัท
ผู้บริหารหลายองค์กรมักหลีกเลี่ยงที่จะแจ้งสถานการณ์ที่แท้จริงให้ พนักงานทราบ
เพราะเกรงว่าพนักงานจะเสียขวัญเมื่อรู้ความจริง

นอกจากนี้ยังต้องการรักษาภาพพจน์ และเครดิตของบริษัทให้นานที่สุดเท่าที่จะ เป็นได้
เหตุผลเพื่อรักษาภาพพจน์นี้ก็พอจะเข้าใจอยู่ แต่ถ้าจะต้องชั่งข้อดีข้อเสียระหว่างการสงวนท่าที
กับการแสดงท่าทีที่ชัดเจน แล้ว คิดว่าการตัดสินใจแสดงท่าทีชัดเจนออกมา น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่า
ทั้งนี้พนักงานพึงทราบว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้าง เช่น
ลูกค้าตัดงบใช้จ่ายจึงมีผลทำให้ยอดขายของบริษัทต่ำลง
ราคาหุ้นของบริษัทกำลังดิ่งเหวเพราะการลงทุนที่ผิดพลาด การเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ทำให้บริษัทประสบปัญหา
เพราะรัฐบาลใหม่ไม่มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม ที่บริษัทกำลังลงทุนอยู่ ฯลฯ เป็นต้น

เชื่อเถิดว่าแม้ผู้บริหารจะปิดข้อมูลไม่ยอมบอกกล่าวพนักงาน
พนักงานเขาก็มีหูมีตารู้เห็นอยู่ดีว่ายอดขายของบริษัทตก หุ้นบริษัทกำลังร่วง และนอกจากมีหูมีตาแล้ว
พวกเขายังมีปากที่จะซุบซิบกันอีกด้วย หากเขาเห็นว่าสถานการณ์บริษัทกำลังย่ำแย่
แต่ทำไมผู้บริหารยังทำหน้าชื่นปากแข็งว่า “ไม่เป็นไรๆ บริษัทยังไปได้ดีอยู่”
พนักงานเขาไม่ได้หูหนวกตาบอดหรอกนะคะ!

ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แก่พนักงานว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้าง
มีแนวทางแก้ไขปัญหาอะไร และต้องการให้พนักงานช่วยทำอะไรบ้าง
หากพนักงานคนใดใจเสาะอยากสละเรือก็ปล่อยพวกเขาไปเถอะ
เพราะถึงท่านจะทำเป็นแทงกั๊กไม่เปิดเผยความจริง พวกเขาก็คงจะรู้ความจริงในเวลาไม่ช้าไม่นาน
แล้วเขาก็คงออกจากบริษัทอยู่ดี สู้แสดงท่าทีให้ชัดเจนไปเลย จะได้รู้กันว่าพนักงานคนใดจะอยู่ คนใดจะไป
เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะจัดการบริหารคนที่อยู่อย่างไรต่อไปดี

กลเม็ดรักษาคนเก่ง
จริงอยู่ที่เวลาบริษัทกำลังมีอาการน่าเป็นห่วง พนักงานคนเก่งหัวไวมักจะชิงลาออกกันเสียก่อน
เหลือแต่คนไม่มีทางไปยังยึดบริษัทอยู่อย่างเหนียวแน่น
ผู้เขียนมีข้อแนะนำว่าผู้บริหารและทีมงาน HR ที่ดีของทุกองค์กรควรมีระบบประเมินผลงาน
และศักยภาพของพนักงานที่มี ประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้อยู่ตลอดเวลา ว่า
พนักงานคนใดขององค์กรที่มีความสามารถที่พึงจะต้องรักษาไว้
ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตมากระทบสถานภาพความมั่นคงของบริษัท จะได้รู้ว่า
จะต้องทำการพูดจาตกลงต่อรองกับบรรดา “คีย์แมน” เหล่านี้แต่เนิ่นๆ
เพราะเงินที่สำรองกันเอาไว้ก็เพื่อจ่ายให้คนพวกนี้แหละ
นอกจากนี้การพูดจาทำความเข้าใจกับคนเก่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
ก็จะช่วยสร้างสัมพันธภาพและพันธะทางใจ ที่จะผูกพันให้พวกเขาจะยังคงอยู่ช่วย กู้บริษัทได้

ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าองค์กรใด มีระบบบริหารจัดการงาน และจัดการคนที่ดี
องค์กรนั้นย่อมรักษาผลประกอบการ และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เป็นอย่างดีในทุก สถานการณ์ ...

เพราะ องค์กรนั้นๆ ย่อมสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ
ซึ่งการมีทีมงานบุคลากรที่มีความสามารถและยืดหยุ่นปรับตัวเก่ง คือ
หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ฝ่าอุปสรรคและวิกฤตได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
และยิ่งไปกว่าการรักษาตัวให้รอดยามวิกฤตแล้ว
องค์กรที่มีทีมงานชั้นเยี่ยม ยังสามารถสร้างผลงานชั้นยอดออกมาได้อีกด้วย

ตัวอย่าง ขององค์กรที่ผู้บริหารและพนักงานสามารถสร้างผลประกอบการที่ดี
ชนะคู่แข่งอื่นที่ตุปัดตุเป๋เพราะพิษเศรษฐกิจก็คือ สายการบิน Southwest Airline ที่บริหารโดย CEO อารมณ์ดี
Herb Kelleher นั่นเอง หลายท่านคงได้เคยอ่านกรณีศึกษาของ Southwest Airline มาแล้วว่า Herb ผู้เป็นเจ้าของนั้น
มีกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจที่เข้าใจถึงความต้องการ ที่แท้จริงของลูกค้า
เขาจึงสามารถตัดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหลายออก
แต่เน้นถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ คือ ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา ความเร็วในการขนถ่ายสัมภาระ
รวมถึงการที่สัมภาระปลอดภัยไม่สูญหาย

นอกจากนี้ เขายังเติมในสิ่งที่สร้างจุดเด่นให้กับสายการบินของเขาเป็นอย่างมาก คือ
เรื่องของความเป็นมิตรร่าเริงของพนักงานที่ให้บริการผู้โดยสาร
ทั้งนี้เพราะ Herb ได้ประกาศจุดยืนในการบริหารบุคลากรของเขา คือ ทุกคนต้องรู้สึกสนุก (Fun) ในการทำงาน
Herb สร้างระบบการบริหารคนที่มุ่งสรรหาบุคลากร ที่มีค่านิยมตรงกับค่านิยมของบริษัท
เขาก็ทำการพัฒนาและจูงใจพนักงานด้วยความสนุกที่มีให้ในองค์กรนี่เอง
เพราะเมื่อทุกคนรู้สึกสนุกในการทำงานแล้ว ความคิดสร้างสรรค์
และอะไรดีๆ อื่นๆ อีกมากมาย ก็จะหลั่งไหลออกมาจากตัวของพนักงานเองอย่างที่คุณคาดไม่ถึง


★ ขั้นตอนที่ 2 : ฟอร์มทีมเพื่อซ่อมสร้างองค์กร
จากการเตรียมการในขั้นตอนที่ 1 ผู้บริหารและ HR ควรทราบแล้วว่า
พนักงานคนใดคือคีย์แมนมากความคิด ความสามารถและประสบการณ์ที่จะช่วยกันระดมสมอง
และหาทางแก้ไขปัญหาของบริษัท ทั้งนี้มีข้อแนะนำในการฟอร์มทีมคีย์แมนดังนี้

2.1 ค้นหาคีย์แมนในทุกแผนกและทุกระดับตำแหน่งงาน
อย่าหวังพึ่งพิงฟังเสียงเฉพาะผู้บริหารในตำแหน่งสูงๆ และที่ปรึกษาจากภายนอกเท่านั้น
เพราะมีข้อมูลหลายอย่างที่มีแต่พนักงานคนในเท่านั้น จึงจะรู้ดีและรู้จริงใน รายละเอียดว่า
บริษัทมีจุดอ่อนและรูรั่วที่ไหนบ้าง
นอกจากนี้ การที่ให้เกียรติพนักงานทุกระดับให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการซ่อมสร้างและพัฒนา เปลี่ยนแปลงองค์กร
คือกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่ชาญฉลาด ที่สร้างการยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้กับ พนักงานด้วย

2.2 ฟังเสียง ฟังความเห็น ของพนักงานอย่างแท้จริง และให้พนักงานเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา
โดยมีผู้บริหารระดับสูงและที่ปรึกษา ช่วยกำกับนโยบายและให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรและเทคโนโลยี
ขอให้เชื่อเถิดว่าปัญหาจุดอ่อนหลายอย่างขององค์กรนั้น พนักงานภายในรู้ดีกว่าผู้บริหารเสียอีก
เพราะเขาเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง จึงควรฟังข้อมูลความเห็นจากพนักงานในทุกแง่มุมอย่างละเอียด
จากนั้นผู้บริหารซึ่งมีมุมมองภายนอก ที่กว้างขวางกว่าจะได้วางวิสัยทัศน์และกลยุทธ์
โดยปล่อยให้ทีมงานคีย์แมนวางระบบและกระบวนการในการทำงานภายใน
เพราะเขารู้ดีว่าระบบไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก

2.3 สร้างประสบการณ์ซ่อมสร้างองค์กรให้มีคุณค่าและจูงใจพนักงาน
แม้ว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจะมีผลทำให้พนักงานมีจิตใจท้อแท้หดหู่
แต่ว่าห้ามมิให้ผู้บริหารและ HR แสดงอาการหดหู่ ในทางตรงกันข้าม เมื่อบริษัทอยู่ในภาวะลำบาก
ก็ควรใช้โอกาสนี้กระชับและสมานสัมพันธ์กับ พนักงานให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสียเลย
ท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “จะเห็นใจกันก็ตอนลำบากนี่แหละ!” มาแล้ว
ดังนั้น ควรสร้างทัศนคติว่าการมาร่วมทำงานเพื่อซ่อมสร้างองค์กรนี้คือ ประสบการณ์ที่จะสร้างเอกภาพ
สร้างความก้าวหน้าให้บริษัทอยู่รอด เพื่อที่ทุกคนจะได้อยู่รอดร่วมกัน
และการช่วยกันสรรหาแนวทางแก้ไขปัญหาก็คือ กระบวนการพัฒนาฝึกอบรมพนักงานในเรื่องการพัฒนาองค์กร
(Organization Development) การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Management) และการบริหารการเปลี่ยนแปลง
(Change Management) ไปในตัว นอกจากนี้ ผู้บริหารและ HR พึงแจ้งให้พนักงานรู้ด้วยว่า
ในช่วงเวลาซ่อมสร้างองค์กรนี้ หากพนักงานโชว์ฟอร์มความสามารถดีย่อมมีรางวัลให้ในอนาคต
ทั้งเรื่องการพัฒนาสายอาชีพและค่าตอบแทน


★ ขั้นตอนที่ 3 : กลับสู่ธุรกิจพื้นฐานขององค์กร
หลายองค์กรที่เคยโตแล้วแตก... โตแล้วแตก... แต่พอแตกมากๆ มันไม่ยักโต
ต้องรีบขายกิจการ หรือยุบกิจการมากมายที่ไม่ทำกำไรเสียแล้วคืนกลับสู่สามัญ
หรือธุรกิจหลัก (Core Business) ที่สร้างรายได้ที่แน่นอนให้บริษัทก่อน


★ ขั้นตอนที่ 4 : ยกย่องให้เกียรติและให้รางวัลแก่พนักงานที่สร้างผลงาน
แม้ว่าเศรษฐกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทอาจจะฝืดเคือง แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินบางส่วน
เพื่อให้รางวัลแก่ทีมงานเสือที่ ฟันฝ่าอุปสรรคและช่วยประคับประคองบริษัทไว้ได้
ทั้งนี้ เงินจำนวนแม้ไม่มากแต่ก็จะช่วยสร้างกำลังใจให้พนักงาน และทำให้บริษัทรักษา พวกเขาไว้ได้
นอกเหนือจากเงินรางวัลก็คือ คำพูดยกย่อง
การกระทำที่ผู้บริหารให้เกียรติพนักงาน ที่สร้างผลงานดีเด่นในช่วงวิกฤต อย่ารอจนฝ่าวิกฤตเสร็จแล้วค่อยชม
หรือให้รางวัล เพราะมันอาจจะสายไป ต้องหมั่นให้กำลังใจกันเป็นระยะๆ

นอกจากเงินและคำชมเชย สิ่งอื่นๆ ที่ผู้บริหารพึงกระทำ เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น
คือ อิสระในการทำงานและในการตัดสินใจ (Autonomy)
บางครั้งยามที่บริษัทกำลังเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย งานของพนักงานอาจมีน้อยลง
และไม่จำเป็นที่พวกเขาต้องทำงานเต็มเหยียด 8 ชั่วโมงทุกวัน จึงอาจพิจารณายืดหยุ่นเรื่องเวลาเข้า-ออกงาน
หรือให้เขาทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อที่เขาอาจใช้เวลาว่างในการแบกจ๊อบพิเศษเพื่อสร้างรายได้ก็ได้
บางบริษัท เช่น โตโยต้า ใช้เวลาช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและยอดขายตกในการฝึกอบรมพนักงาน
โดยใช้วิธีหมุน เวียนงานข้ามแผนก (Job Rotation) ซึ่งไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่ม
และยังทำให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และมี ความคล่องตัวขึ้นอีก
หรือบางทีก็ส่งพนักงานไปพูดคุยเยี่ยมเยียนลูกค้า แม้ลูกค้าไม่ซื้อสินค้าก็ไม่เป็นไร
ถือเป็นการกระชับสัมพันธ์และเรียนรู้ความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าไปในตัว

ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ เชื่อว่าจะทำให้องค์กรสามารถสร้างทีมเสือ ที่จะนำพาบริษัทฝ่าคลื่นลมไปได้ อย่างราบรื่น
และยังอาจจะสร้างผลงานได้มากกว่าที่คิดเสียอีก ประมาณว่าแม้เศรษฐกิจแย่ แต่ผลงานยังเยี่ยมนะคะ!


ที่มา : //www.jobjob.co.th



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2553 20:41:06 น. 1 comments
Counter : 1045 Pageviews.

 
บางทีเราทุกคนก็ต้องเจอกับความเครียด ท้อแท้ สิ้งหวัง
นั้นไม่ใช้อะไรที่แปลกไม่ได้หมายความว่าคุณอ่อนแอ แต่การที่คุณยอมรับว่ากลัวสิ่งนั้นต่ะหากละ
ที่เรียกว่าความกล้า กล้าทีจะยอมรับในสิ่งที่คุณกลัว กล้าจะยืนหยัดเเละต่อสู้กับมัน
แต่วันนี้ถ้าสิ่งที่คุณแบบรับไว้นั้นมันเกินกว่าที่คุณจะทนได้ ถ้ายังงั้น
วันนี้คุณลองเปิดใจให้ พระเจ้าเข้ามามีส่วนช่วยคุณคลายปัญหาของคุณได้มั้ย
ลองดูสิเเล้วคุณก็จะผ่านทุกอย่างไปได้อย่างแน่นอน!!
เหมือนที่ฉันได้ผ่านมานมาจนได้!


โดย: da IP: 124.120.7.136 วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:51:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.