Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
3 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
ค่านิยมไทยกับ Performance Management

บริหารงาน การจัดการ

คนไทยเราภาคภูมิใจกับความเป็นชาติ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาหลายร้อยปี
มีค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงาม ที่สืบทอดกันมาจากคนแต่ละรุ่นมาถึงปัจจุบัน
ชั่วระยะเวลาประมาณ 700-800 ปี นับแต่การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย
วัฒนธรรมและค่านิยมหลายประการได้ถูกลบเลือนจางหายไป แต่ก็มีค่านิยมอีกหลายประการ ที่ยังคงอยู่
และแสดงถึงความเป็นคนไทยของเราที่มีทั้งข้อดีและข้อน่าเป็นห่วง หากนำมาใช้ไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์
ซึ่งผู้เขียนจะได้หยิบยกค่านิยมบางประการของไทย ที่มีผลกระทบต่อการบริหารงานเพื่อให้ได้ผลงาน


Performance Management คืออะไร?

คุยกันในฉบับย่อ PM คือแนวความคิดด้านการบริหารคนเพื่อให้ได้ผลงานมากที่สุด
ซึ่งผลงานนั้นวัดโดยตัวชี้วัดต่างๆ เช่น จำนวนชิ้นงาน คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ความพึงพอใจของลูกค้า
เวลาและต้นทุนในการดำเนินงาน รายได้ ผลกำไร ราคาหุ้นต่อหน่วย ฯลฯ เป็นต้น
ทั้งนี้การวัดผลงานในปัจจุบันจะวัดเพียงแค่ “ชิ้นงาน” ไม่ได้
จำเป็นต้องมีเกณฑ์ในการประเมินหลายปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้ว

สำหรับการที่จะบริหารคนให้ทำงานได้ผลงานตามที่ต้องการ ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการเช่นกัน
โดยเมื่อพิจารณาจากมุมมองของ HR แล้ว การทำ PM จะต้องเริ่มจากการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายของ HR
ที่สนับสนุนและสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายธุรกิจขององค์กร
จากนั้นก็ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการคัดสรร พัฒนา ประเมินผล
และให้รางวัลบุคลากรภายใต้กรอบกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งนี้กระบวนการขั้นตอนการทำงานของ HR ทั้งหมด
ต้องสะท้อนถึงค่านิยมที่เป็นแบรนด์นายจ้างขององค์กร ที่เป็นเอกภาพกับแบรนด์ขององค์กร
และสินค้าอย่างสนิทแนบแน่น

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านก็คงจะพอมองภาพออกแล้วว่าการทำ PM นั้นมีหลักการอย่างไร
โดยในอันดับต่อไปจะนำเสนอว่า การทำ PM นั้นมีรากฐานอยู่บนค่านิยมอะไรบ้าง?


ค่านิยมพื้นฐานของการทำ PM

ชัดเจนแน่นอนว่าการทำ PM หากจะให้ได้ผลสัมฤทธิดังความมุ่งหมาย
ผู้ที่เกี่ยวข้องคือผู้บริหารและ HR ที่มีบทบาททั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการกำหนดนโยบายการทำงาน
โดยภาพรวมการคัดเลือกพนักงาน การพัฒนาคน ประเมินผลงานและพิจารณารางวัลผลตอบแทน
จะต้องเป็นผู้ที่มีค่านิยมดังต่อไปนี้

1.มุ่งเน้นผลงาน (Result–Oriented)
2.บริสุทธิ์ยุติธรรม (Justice)
3.นิยมความโปร่งใส (Transparency)
4.มีความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) คือ เชื่อในการมีสิทธิที่เท่าเทียมกันของพนักงานทุกคน
ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
นอกจากนี้การเป็นประชาธิปไตยยังหมายความถึง การมีใจเปิดกว้าง รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย
เปิดใจยังไม่พอต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรมีสิทธิแสดงความคิดเห็นด้วย

ค่านิยม 4 ประการหลักนี้ เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งอาจเป็นมากกว่าค่านิยมก็เป็นได้
ผู้เขียนมองว่ามันคือคุณธรรมประจำใจที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนคือ ผู้บริหาร HR และพนักงานต้องมีกันทุกคน
เพื่อให้การทำ PM เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เล่นพรรคเล่นพวกเห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น



ค่านิยมหลักของคนไทย

เวลาชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย ก็มักติดใจในอัธยาศัยใจคอของคนไทยที่มีความโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส
รู้จักเกรงอกเกรงใจให้เกียรติผู้อาวุโส ทั้งนี้ ค่านิยมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นค่านิยมหลักของคนไทยมีดังนี้คือ
1.การเคารพผู้อาวุโส
2.การเกรงใจ
3.การรู้จักตอบแทนบุญคุณ
4.การมีน้ำใจ
5.การรักษาหน้า ไม่เผชิญหน้ายามมีข้อขัดแย้ง

ยังมีค่านิยมอื่นๆ อีกหลายประการ
แต่ขอนำมาพูดคุยกันเฉพาะ 5 ประการนี้ที่มีผลกระทบต่อการนำแนวคิด PM ไปปฏิบัติ


ค่านิยมคือดาบสองคม
เรื่องของความเชื่อและค่านิยม เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการนำมาใช้
เป็นเหมือนดาบสองคมที่ถ้าใช้ให้ถูกกับสถานการณ์ก็จะเกิดผลดี แต่ถ้านำมาใช้ไม่ถูกก็เกิดโทษมหันต์
จากประสบการณ์ทำงานส่วนตัว และจากการทำวิจัยสำรวจความคิดเห็นและประสบการณ์ของคนทำงาน
ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้เขียนจะวิเคราะห์ให้เห็นว่าค่านิยมของไทย ที่ถูกนำมาใช้ในองค์กรในทางที่ผิด
มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารงานลดลงอย่างไร และสร้างปัญหาอะไรบ้าง

การให้เกียรติผู้อาวุโส การเคารพนบนอบ และแสดงความสุภาพอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโสกว่า
โดยวัยวุฒิและตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นการแสดงออกที่เหมาะสมงดงามและเป็นค่านิยมที่ควรรักษา
แต่มีข้อแม้ว่าผู้อาวุโสนั้น ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมสมควรต่อการที่เราจะเคารพ

แต่ในสังคมนั้นย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี
มีผู้ใหญ่ที่ทำตัวไม่เหมาะสมใช้ความเป็นผู้มีอาวุโสกดดันบีบบังคับ หรือขอร้องแกมบังคับ
ทำให้องค์กรไม่สามารถคัดเลือก พัฒนา ประเมินผล และให้รางวัลบุคลากรตามความเป็นจริง
แต่ต้องเลือกหรือสนับสนุนบุคลากรเพียงเพราะเขาผู้นั้นมีวัยแก่กว่า หรือบุคลากรคนนั้นมีผู้อาวุโสฝากมา
ด้วยความเกรงในอาวุโสและด้วยความเกรงใจที่ผิดกาละและกรณี
ทำให้ผู้บริหารและ HR ต้องทำงานโดยยึดความเกรงใจแทนที่จะยึดผลงานเป็นหลัก


ต่อไปก็คือเรื่องของความมีน้ำใจซึ่งนำมาใช้ไม่ถูกต้อง
แต่คนไทยในองค์กรหลายคนก็อ้างเรื่องของการตอบแทนน้ำใจ
การทดแทนบุญคุณ เป็นเหตุผลในการส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีผลงาน
แต่เป็นคนที่มีบุญคุณเคยช่วยเหลือตนในอดีต ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจจึงตอบแทนน้ำใจกลับ
ด้วยการเลื่อนขั้นตำแหน่งให้หรือส่งไปดูงานต่างประเทศ แบบนี้ก็มีให้เห็นคาตากันอยู่บ่อยๆ

การจะทำ PM ให้ได้ผลต้องมีการประเมินผลงานให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) อย่างตรงไปตรงมา
ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า แต่สังคมไทยนั้นเรื่องของ “หน้า” เป็นเรื่องสำคัญ
แต่บางทีก็สำคัญเกินไปทำให้หลายคนรับคำวิจารณ์ในทางลบไม่ได้เลย
ซึ่งในการประเมินผลงานนั้นในบางครั้งก็ย่อมมีคำวิจารณ์ในทางลบบ้าง
ผู้รับคำวิจารณ์ต้องรู้จักน้อมรับว่ามันเป็นเรื่องของผลงาน ไม่ใช่ถูกกลั่นแกล้งโดยเรื่องส่วนตัว

ดังนั้นเมื่อมีคนหลายคนถือเรื่อง “หน้า” ถือเรื่อง “ความเกรงใจ” เหนือความถูกต้อง
จึงมีผลทำให้การประเมินผลงานถูกบิดเบือนได้ ทำให้คนมีผลงานจริงๆ หมดกำลังใจที่จะสร้างผลงานต่อไป

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านแทบทุกท่านคงได้เคยพบเคยเจอ หรือกำลังพบเจออยู่ขณะนี้
คำถามต่อไปคือ “แล้วมันจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?”


สังคมไทยกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง ค่านิยมก็เปลี่ยนแปลง
ขณะที่คนรุ่นเก่ารุ่น Baby Boomers กำลังทยอยเกษียณออกไป
ค่านิยมเรื่องระบบอาวุโส ความเกรงใจ การตอบแทนบุญคุณ การรักษาหน้า การมีน้ำใจ ก็ค่อยๆ จืดจางลงไป
ดังจะได้เห็นได้ฟังคนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปบ่นว่า เด็กเดี๋ยวนี้มักไม่ค่อยมีความเคารพนบนอบเกรงใจผู้ใหญ่
โต้เถียงซักถามผู้ใหญ่แบบไม่ไว้หน้า ฯลฯ
ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าในองค์กรนั้นเรื่องของการใช้ระบบอาวุโส การใช้เส้นสายก็อาจจะลดน้อยลงไปบ้าง
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ก็ต้องเปิดใจ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น
ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การนำค่านิยมไทยมาใช้ในทางที่ไม่สมควรก็น่าจะน้อยลง
และยิ่งถ้ามีระบบวัดผลงานที่เป็นมาตรฐานและมีความละเอียดมากขึ้น
การจะบิดเบือนผลการประเมินก็ทำได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่ค่านิยมของเราเปลี่ยนแปลงไป ในทิศทางที่ส่งเสริมผลงานมากกว่าอาวุโส
การส่งเสริมมีความโปร่งใส ความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมมากขึ้นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการทำ PM

แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่เหมือนกันว่า
เมื่อคนรุ่นใหม่เน้นเรื่องความเสมอภาคทัดเทียมกัน และมองเรื่องผลงานสำคัญกว่าความอาวุโส
ในบางครั้งก็ทำให้พวกเขาอาจจะมองข้ามมารยาทที่น่ารักๆ ของไทยไป
กลายเป็นคนก้าวร้าวแข็งกระด้างโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นจึงต้องสร้างสมดุลในเรื่องนี้ให้ดี เพื่อที่ค่านิยมของไทยที่มีคุณค่า
และเป็นปัจจัยที่สร้างความกลมเกลียวในสังคม จะได้คงอยู่ต่อไปอย่างเหมาะสม


ที่มา : //www.jobjob.co.th
ภาพจาก : //www.superstock.com




Create Date : 03 พฤษภาคม 2553
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 20:28:17 น. 1 comments
Counter : 1208 Pageviews.

 

บางทีเราทุกคนก็ต้องเจอกับความเครียด ท้อแท้ สิ้งหวัง
นั้นไม่ใช้อะไรที่แปลกไม่ได้หมายความว่าคุณอ่อนแอ แต่การที่คุณยอมรับว่ากลัวสิ่งนั้นต่ะหากละ
ที่เรียกว่าความกล้า กล้าทีจะยอมรับในสิ่งที่คุณกลัว กล้าจะยืนหยัดเเละต่อสู้กับมัน
แต่วันนี้ถ้าสิ่งที่คุณแบบรับไว้นั้นมันเกินกว่าที่คุณจะทนได้ ถ้ายังงั้น
วันนี้คุณลองเปิดใจให้ พระเจ้าเข้ามามีส่วนช่วยคุณคลายปัญหาของคุณได้มั้ย
ลองดูสิเเล้วคุณก็จะผ่านทุกอย่างไปได้อย่างแน่นอน!!
เหมือนที่ฉันได้ผ่านมานมาจนได้!


โดย: da IP: 124.120.7.136 วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:10:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.