Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
27 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
ผู้นำกับคนเก่ง



ในชีวิตหนึ่งๆของพวกเราได้เคยเห็นผู้นำในองค์กรหรือของประเทศต่างๆรูปแบบ
บางคนเด่นขึ้นมาอย่างหวือหวาฮือฮาและจบฉากด้วยข้อกังหาร้อยแปด
บางคนดูเป็นคนธรรมดาแต่เป็นที่เคารพต่อมาแม้เกษียณอายุไปแล้ว
และอีกหลายรูปแบบให้เราเห็นหรือเป็นในแต่ละเหตุการณ์แต่ละคราวไป
ผู้นำแบบไหนจึงจะสร้างผลงานได้จริงและเป็นที่นิยมชื่นชอบอยู่ได้นาน

David McCullough นักประวัติศาสตร์อเมริกันผู้ศึกษาชีวิตผู้นำทั้งหลายให้สัมภาษณ์ใน HBR ว่า
ผู้นำที่เขาพบว่ายิ่งใหญ่ทั้งหลายนั้นมีส่วนร่วมสำคัญอย่างหนึ่งคือสามารถชี้ความสามารถของคน (spotting talent)
หรือเห็นคุณค่าในคน เขาพบว่าประธานาธิบดี Washington อาจจะไม่ใช่คนฉลาดที่สุด พูดจาดึงดูดผู้คนที่สุด
หรือว่าเป็นทหารที่ชาญฉลาดที่สุดแต่ว่าเขาเป็นคนที่เกิดมาเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่มีความซื่อตรง
และสามารถชี้ความสามารถของคนได้แม้ว่าจะดูไม่เด่นชัดก็ตาม

คนสองคนที่เยี่ยมที่สุดของเขาดูเผินๆเป็นคนธรรมดามาก Henry Knox เป็นคนขายหนังสือที่อ้วนใหญ่อายุน้อย
ไร้ประสบการณ์ แต่มีไอเดียให้ไปเอาปืนใหญ่มาจากเมือง Ticonderoga มาที่ Boston
ทำให้สามารถขับไล่คนอังกฤษไปจากเมืองได้ อีกคนหนึ่งคือ Nathanael Greene ซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาที่เดิน
ขาโขยกเขยก ไม่มีประสบการณ์ทางการทหาร แต่Washington เห็นคุณค่าสำคัญของคนคนนี้
ซึ่งในที่สุดเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมกว่าตัว Washington เอง เขารู้ว่าจะทำอย่างไรกับคนพิเศษสองคนนี้
ให้โอกาสพวกเขา ลดการบังคับบัญชา และให้คนเหล่านี้ทำงานของเขาไป

ทำให้หวนนึกถึงปรัชญาการบริหารแบบจีนจากเรื่องสามก๊กที่นักบริหารฝั่งตะวันออกอย่างไทยจีนญี่ปุ่นคุ้นเคย
เป็นอย่างดี ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีออกอากาศในโทรทัศน์ เล่าปี่ผู้นำตัวเอกของเรื่องซึ่งเดิมเป็นเพียงคนทอเสื่อขาย
เป็นผู้มีใจเมตตาโอบอ้อมอารี อ่อนน้อมและเห็นค่าของผู้อื่นดังเช่น กวนอู เตียวหุย
และที่สำคัญนักยุทธศาสตร์อย่างขงเบ้ง จนทำให้เล่าปี่ได้ครองแคว้นเสฉวน (จ๊กก๊ก) และได้ทำการตั้งตัวเป็น
ฮ่องเต้แห่งเสฉวน ทั้งที่เล่าปี่รบไม่เก่งเท่ากวนอูและเตียวหุย หรือวางกลยุทธ์ไม่เฉียบเท่าขงเบ้งก็ตาม

ตัวอย่างในประเทศไทยในปัจจุบันก็มีอยู่ไม่น้อย ที่ธุรกิจขยายใหญ่โตได้เพราะเห็นคุณค่าและสามารถทำงานร่วม
กับลูกน้องหรือทีมงานที่มีความสามารถแต่ละด้านเก่งกว่านายใหญ่ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา
มีคนจบการศึกษาสูงปริญญาโทปริญญาเอกในแต่ละสาขามากมายทำงานให้เถ้าแก่ที่ไม่มีความรู้เฉพาะเรื่องเก่ง
เท่าท่านเหล่านั้น เพียงแต่เขา “เก่งคน” รู้จักบริหารคนเก่งให้เหมาะสมพอดี
ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น การก่อตั้งของเครือซีพีฯ เครือสหพัฒน์ฯ เป็นต้น

McCullough ยังเสนอตัวอย่างประธานาธิบดี Truman ซึ่งล้อมรอบไปด้วยคนที่เรียนสูงกว่า บ่มเพาะมาดีกว่า
ร่างกายดูดีกว่า สูงกว่า เขาไม่ได้กังวลหรือกลัวว่าคนอื่นจะเด่นหรือสำเร็จเกินหน้าตน
และนั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีคนนี้มีคณะรัฐมนตรีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดคณะหนึ่ง
ผู้คนกล่าวถึง Truman ว่า เขาเป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นบุคคลที่คนรอบข้างชื่นชอบมากทีเดียว

ผู้นำเหล่านี้เห็นคุณค่าของคน สามารถชี้ความสามารถสำคัญของคนเหล่านั้น
และบริหารคนเก่งเหล่านั้นได้เหมาะเจาะพอดี เมื่อประจวบกับคุณธรรมพื้นฐานที่ดีของผู้นำ
ทำให้คนเก่งพิเศษต่างๆทำงานให้ด้วยคุณภาพไม่ธรรมดา
การที่ผู้นำสักคนจะกล้าหาลูกน้องหรือทีมงานที่มีความสามารถเก่งกว่าหรือดูดีมีภาษีมากกว่าตนมาทำงานด้วยนั้น
อาจดูเหมือนง่าย แต่ถ้าเราสังเกตจากองค์กรต่างๆให้ดี หรือจากความรู้สึกของตัวเราเองก็ดี
กว่าผู้นำจะทำใจรับคนเหนือกว่าเหล่านี้ได้ต้องวางใจแบบไหน
จึงจะอยู่ในสภาวการณ์ที่มีคนเก่งกว่าดีกว่าทำงานอยู่ล้อมรอบได้

ผู้นำผู้บริหารที่ได้ขึ้นมาอยู่ตรงตำแหน่งเหล่านี้ก็เพราะความรู้ความสามารถของตน
แต่ถ้ามีคนเก่งกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่ามาอยู่ใกล้ๆ เป็นทีมงานหรือลูกน้องของตน หลายคนทำใจไม่ได้
คนเคยเด่นที่สุด เป็นที่ยอมรับที่สุด พอมีคนมาเทียบหรือดูจะเหนือกว่า
ก็อดจะกดหรือดึงคนเหล่านั้นให้ลงมาต่ำกว่าตนจนได้ อาจโดยวิธีหาข้อตำหนิติเตียนคนนั้นๆ
หรือหนักข้อเข้าถึงขนาดกลั่นแกล้งจนอยู่ด้วยกันไม่ได้
รากเหง้าการกระทำเหล่านั้นก็อาจเป็น “มานะ” หรือความถือดีของตน หรือบางคนก็อิจฉาลูกน้องของตนนั่นเอง

บางคนกลัวลูกน้องแซงหน้าตนรีบสกัดดาราโดยการคว้าผลงานมาเป็นของตัวเอง
ลูกน้องก็เสียความรู้สึกที่หัวหน้าเอาความดีความชอบไป
ผู้ใหญ่ที่ดูออกก็จะเห็นถึงความ “ไม่เป็น” ของหัวหน้าแบบนี้ แทนที่จะชงให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถ
หรือชื่นชมลูกน้องให้ผู้ใหญ่เห็น โดยมีเราอยู่เคียงข้าง
ลูกน้องจะได้รู้สึกภูมิใจในตัวเขาเองและขอบคุณที่หัวหน้าเปิดโอกาสให้เขา
หัวหน้ากลายเป็นผู้นำที่สามารถสร้างคนให้งอกงามเติบโตได้ และสุดท้ายผลงานก็อยู่ในหน่วยงานของเรานั่นเอง

ในอีกสุดโต่งที่พบคือหัวหน้าไม่ยอมออกหน้าบ้างเลย ให้แต่ลูกน้องแสดงฝีมือ แบบนี้ก็อาจจะหนักเกินไป
กลายเป็นว่าเราเป็นเพียงคนโชคดีที่มีลูกน้องเก่ง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหรือ show time ก็ออกไปแสดงฝีมือบ้าง
ก็ได้ แสดงความเป็นผู้นำบ้าง เพียงแต่จุดสำคัญคือ “ถอยเป็น” เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงออกบ้างเท่านั้นเอง
ทำให้ลูกน้องหรือทีมงานได้มีโอกาสโผล่หายใจหรือรับแสงแดดบ้าง

ถ้าหัวหน้าเป็นต้นไม้ใหญ่หนายืนตระหง่านรับแดดคนเดียว ต้นไม้เล็กใต้ต้นไม้ หรือหญ้าก็จะตายเรียบ
เพราะไม่มีแดดส่องถึงเลย Participative Management ที่ล่ำเรียนมาว่าทุกคนควรมีส่วนร่วมจะเป็นจริงได้อย่างไร
ถ้าหัวหน้ากวาดความเด่นไว้ที่ตนคนเดียว ส่วนร่วมสำคัญในการแสดงฝีมือในการรับการยอมรับจึงหายไป
แบบนี้คงหวังให้คนเก่งมาทำงานด้วยยาก

นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ผู้นำจากฝั่งตะวันออกเห็นพ้องกับฝั่งตะวันตก
เป็นแนวคิดที่ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวของผู้คนเป็นร้อยเป็นพันปีให้คนรุ่นหลังเรียนลัดได้ ต่อยอดได้
ไม่ตกหลุมพรางความเป็นมนุษย์ปุถุชนกันอีก

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ การบริหารงานและจัดการองค์กร



Create Date : 27 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 21:26:52 น. 1 comments
Counter : 1048 Pageviews.

 
เป็นบทความที่ดีคะ

แสดงให้เห็นว่า คนเก่งคน คือ คนที่อยู่เหนือสุด


โดย: sophisti_fated วันที่: 29 พฤษภาคม 2552 เวลา:20:39:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.