Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
บริหารผลตอบแทนอย่างไรให้จูงใจ (บุคลากร) แต่ไม่เป็นภาระ (องค์กร) ?



มะเร็งร้ายที่น่ากลัวสำหรับองค์กร คือ
การที่องค์กรไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนแรงงานได้ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี
ในขณะเดียวกันก็มักจะมีบุคลากรบางกลุ่ม มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสวนทางกับเงินเดือนที่ได้รับ
พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งอยู่นาน ยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า ยิ่งรู้มาก มีแนวโน้มของการเพิ่มประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นในลักษณะถดถอย
(เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มา) เพราะบางคนเริ่มหมดภาระในชีวิต เบื่องานเพราะอยู่มานาน
หรือเริ่มมองเห็นแล้วว่าก่อนเกษียณอายุ ก็คงจะไม่เติบโตก้าวหน้าไปมากกว่านี้แล้ว
เลยทำตัวแบบรักษาสภาพ(การเป็นพนักงาน) โดยไม่ทำอะไรผิด แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น
และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ มีบุคลากรบางกลุ่มทำงานในองค์กรเป็นงานอดิเรก เพราะงานหลักอยู่นอกองค์กร
ทำงานเพื่อประกันความมั่นคง ทำงานเพื่อให้มีสังคม ทำงานเพื่อรอโอกาสออกไปทำอาชีพอิสระ ฯลฯ

สภาพเช่นนี้จึงไม่แตกต่างอะไรจากการ เป็นมะเร็งร้ายที่สามารถทำลายองค์กรได้
องค์กรไหนรู้ตัวแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะหาทางป้องกันแก้ไขได้
องค์กรไหนปล่อยปละละเลย ก็อาจจะสายเกินแก้ไปเสียแล้ว
เพราะมารู้ก็ต่อเมื่อองค์กรแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวแล้ว ต้องลดคน ต้องเลิกจ้าง
หรือบางองค์กรอาจจะต้องเลิกกิจการไปเลย

เนื่องจากมะเร็งร้ายนี้ องค์กรมักจะไม่สังเกตเห็น โดยเฉพาะในช่วงขาขึ้นขององค์กรหรือช่วงที่ขายดี มีรายได้ดี
ถึงแม้ใครจะมาบอกว่าระวังเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายก็ไม่ค่อยมีใครฟัง
เหมือนเป็นช่วงฮันนีมูนของคนที่เพิ่งแต่งงาน อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด
แต่ลืมไปว่าในวันข้างหน้าปัญหาต้นทุนที่เริ่มสะสม จะส่งผลต่อการเกิดโรคร้ายที่จะทำลายองค์กรได้
สำหรับปัญหาที่ทำให้องค์กรแบกรับภาระต้นทุนด้านแรงงานไม่ไหว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น


* ขาดการวางแผนในการบริหารผลตอบแทนระยะยาว

องค์กรมักจะให้ความสำคัญกับการวางแผน ในด้านที่ทำให้องค์กรเติบโตก้าวหน้า เช่น เรื่องกำไร รายได้
ยอดขายการผลิต ฯลฯ แต่ขาดการวางแผนในอีกด้านหนึ่ง คือการป้องกันการตกต่ำขององค์กร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารผลตอบแทน
ไม่เคยคิดว่าอีกห้าปีสิบปีข้างหน้า ถ้าเรายังคงบริหารผลตอบแทนแบบเดิมในขณะที่รายได้เท่าเดิมหรือลดลง
แผนรองรับคืออะไร และจะต้องเตรียมตัวอย่างไร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าสมมติว่าพนักงานที่ทำงานในวันนี้ จนถึงสิบปีข้างหน้าไม่มีใครออกเลย
แล้วลองปรับเงินเดือนของทุกคนคนละห้าเปอร์เซ็นต์ไปทุกปี
แล้วต้นทุนด้านแรงงานจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนรวม
และเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่า เท่ากับหรือต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรหรือรายได้ขององค์กร
เนื่องจากเรื่องผลตอบแทนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นความลับ
ดังนั้น คนที่รู้ข้อมูลก็มีอยู่ไม่กี่คน (ผู้บริหารและฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์)
ผู้บริหารเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก จะสนใจก็ต่อเมื่อเริ่มมีปัญหาแล้ว
ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์เองก็คิดว่า เสนออะไรไปก็คงจะยากเพราะเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเจ้าของหรือบริษัท
และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เองก็ขาดบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง
พูดง่ายๆ ว่าคนที่ทำงานในด้านนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบตัวเลขหรือการวิเคราะห์มากนัก
จะมีแค่เพียงคนที่ทำหน้าที่จ่ายผลตอบแทนให้พนักงาน มากกว่าคนที่ทำหน้าที่บริหารผลตอบแทน


* จ่ายผลตอบแทนแฝงที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

องค์กรบางองค์กรจ่ายผลตอบแทน โดยคิดเพียงด้านเดียวว่า
ทำอย่างไร ผลตอบแทนจึงจะจูงใจให้คนเก่งเข้ามาทำงานกับเราและอยู่กับเรานาน
แต่ลืมไปว่าแล้วภาระที่องค์กรต้องแบกรับในระยะยาวนั้น คุ้มค่ากันหรือไม่ เช่น
บางองค์กร ต้องจ้างบุคลากรด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อแย่งชิงคนเก่งคนดีมาให้ได้
สมมติว่าค่าตัวที่แท้จริง เมื่อเทียบกับความสามารถประมาณ 100 บาท
แต่เราต้องจ้างประมาณ 120 บาท จึงจะดึงดูดให้เขาเข้ามาทำงานกับเราได้
ดังนั้น ผลต่าง 20 บาท (ราคาตลาด – ราคาค่าตัวจริง) จึงเป็นต้นทุนแฝงที่สร้างภาระผูกพันในระยะยาว
เพราะเป็นต้นทุนที่องค์กรไม่ได้อะไรจากการจ่ายค่าจ้างส่วนนี้เลย
แต่องค์กรต้องแบกรับภาระส่วนต่างนี้ไป จนกว่าเขาจะออกจากองค์กรไปหรือเกษียณอายุ
และต้นทุนส่วนต่างนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากใช้เป็นฐานในการปรับค่าจ้างประจำปี
เป็นฐานในการปรับเนื่องจากได้เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ
ต้นทุนแฝงนี้จึงเป็นจุดกำเนิดของเนื้อร้ายภายในองค์กร โดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็นในระยะสั้น



* จ่ายผลตอบแทนที่ผูกพันกับอายุงาน

ทุกองค์กรต่างแข่งขันกันจ่ายผลตอบแทน เพื่อจูงใจให้พนักงานอยู่กับองค์กรนานๆ
โดยที่ลืมคิดไปว่าอีกด้านของการอยู่นาน คือการสร้างภาระให้กับองค์กรระยะยาว
มีองค์กรจำนวนไม่น้อยจ่ายผลตอบแทนโดยนำไปผูกไว้กับอายุงาน
พูดง่ายๆ ว่ายิ่งทำงานกับองค์กรนานเท่าไหร่ ยิ่งได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเท่านั้น
เช่น จ่ายโบนัสการันตีตามอายุงาน จ่ายสวัสดิการตามอายุงาน



* องค์กรแข่งขันกันจ่ายผลตอบแทนมากเกินไป

การที่ห้างสรรพสินค้าแข่งกันลดราคาสินค้า คนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภค
แต่คนที่แย่คือผู้ผลิตสินค้ามาขายให้กับห้างฯ เพราะถูกกดถูกบีบต้นทุนจนแทบจะอยู่ไม่ไหว
เช่นเดียวกันกับการแข่งขันกันจ่ายผลตอบแทนให้บุคลากรขององค์กรต่างๆ
คนที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือคนทำงาน แต่คนที่เสียประโยชน์คือตัวองค์กรเอง
เพราะนอกจากจะได้คนที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าตัวจริงแล้ว ยังต้องจ่ายผลตอบแทนต่างๆ สูงเกินไปอีกด้วย

ทุกองค์กรพยายามจ่ายผลตอบแทนเรื่องเดียวกันให้สูงกว่าองค์กรอื่น
ไม่ค่อยคิดหาแนวทางที่จะสร้างความแตกต่างด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่จูงใจคนได้เหมือนกัน
เหมือนกับการที่ห้างสรรพสินค้าเล่น แต่กลยุทธ์เรื่องราคาว่าใครต่ำกว่า ใครถูกกว่า ใครถูกที่สุด
สุดท้ายก็ต้องมีรายใด รายหนึ่งต้องหยุด เลิกหรือตายจากไปเพราะสู้ไม่ไหวเนื่องจากสายป่านสั้นเกินไป
องค์กรก็เช่นเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างเสนอผลตอบแทนเรื่องเดียวกันที่สูงขึ้นๆ เรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด
สุดท้ายองค์กรบางองค์กร โดยเฉพาะองค์กรเล็กๆ ที่เงินทุนไม่สูงก็ต้องยอมแพ้เพราะสู้ไม่ไหว
ในขณะที่ผู้ชนะก็จะแพ้ภัยตัวเองในอนาคต เพราะจะต้องแบกรับภาระผลตอบแทนที่สูงเกินจริงไปตลอด
ทั้งๆ ที่ไม่มีใครต้องการมาแย่งคนของเราแล้วก็ตาม

จากสาเหตุของปัญหาดังกล่าว
จึงขอแนะนำให้องค์กรป้องกันและแก้ไขปัญหามะเร็งร้าย ที่เกิดจากการบริหารผลตอบแทนที่ขาดประสิทธิภาพ
ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

* ลด ละ เลิก การว่าจ้างคนเก่งด้วยต้นทุนที่สูงเกินจริง

การแย่งชิงตัวบุคลากรที่เก่งๆ ในตลาดทำให้องค์กรต้องแบกรับค่าตัวที่สูงเกินจริง และบางครั้งแย่งไปแย่งมา
กลายเป็นว่าเงินเดือนที่เราให้เขาเพิ่ม กลับกลายเป็นฐานให้เขาไปขอเงินเดือนเพิ่มจากที่อื่น

ในทางกลับกัน บางองค์กรจ้างคนเก่งๆ ด้วยค่าตัวที่สูง
พอวันดีคืนดีก็ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงเกินจริงต่อไปได้ เขาก็ปล่อยตัวคนเก่งเหล่านั้นออกมา
เราเห็นโอกาสดีก็เลยไปคว้ามาด้วยค่าจ้างที่แพงกว่าเดิม
ยิ่งทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงเกินจริงเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ถ้าองค์กรของเราไม่มีศักยภาพในการเข้าไปแย่งชิงบุคลากร ที่เก่งที่สุดในสายอาชีพนั้นๆ
เพราะรู้แน่ว่าเข้าไปสู้คนอื่น
ไม่ได้แน่ๆ หรือถ้าแย่งได้ก็ต้องจ่ายแพงมาก ก็จงเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
โดยการประเมินศักยภาพตัวเองก่อนว่า ศักยภาพขององค์กรเราน่าจะพอเข้าไปแย่งชิงบุคลากรในกลุ่มไหน
เช่น กลุ่มที่เก่งรองลงมา กลุ่มที่เก่งปานกลาง แล้วค่อยมาลงทุนพัฒนาความสามารถเพิ่มเติมในภายหลัง
ซึ่งอาจจะคุ้มค่ากว่าไปซื้อของแพงมาตั้งแต่แรก
เพราะคนทำงานบางคนเป็นคนที่มีศักยภาพ (แวว) สูง ถ้าได้รับการพัฒนาหรือฝึกอบรมเพิ่มเติม

การจ้างคนเข้าทำงานคงไม่แตกต่างอะไรไปกับการเลือกซื้อกล้วยไม้
ถ้าเราต้องการกล้วยไม้ที่ออกดอกสวยงามอยู่แล้วตอนที่อยู่ที่ร้าน รับรองได้ว่าราคาต้องแพงแน่ๆ
และพอนำมาเพาะเลี้ยงไปสักพัก ดอกไม้ที่เคยสวยงามนั้นก็ค่อยๆ แห้งเหี่ยวไปเร็วกว่าที่คิด
เพราะบานมาหลายวันแล้ว ดอกใหม่ที่ขึ้นมาอาจจะไม่สวยเหมือนดอกแรกก็ได้
แต่ถ้าเราไปซื้อกล้วยไม้ที่ยังไม่มีดอกออกมาให้เห็น (ทั้งๆ ที่พันธุ์ดี) ราคาก็ไม่แพงมากนัก
และเมื่อเรานำมาเพาะเลี้ยงแล้ว เราจะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนและอยู่กับเราอย่างยั่งยืนกว่า
เหมือนกับการที่เราจ้างคนเก่งด้วยเงินเดือนสูง เขาอาจจะมาอยู่กับเราได้ไม่นาน ที่อื่นก็แย่งตัวไปอีก
แต่ถ้าเราจ้างคนที่ยังไม่เก่งแต่มีแวว (ศักยภาพ) เมื่อเราพัฒนาเขาให้เก่งแล้ว
โอกาสไปจากเราน่าจะมีน้อยกว่าคนที่เราไปแย่งเขามา
เพราะอย่างน้อยคนที่เราพัฒนาขึ้นมาเองต้องอยู่กับเรามานานพอสมควร
และย่อมมีความผูกพันกับองค์กรมากกว่าคนที่เราไปซื้อตัวมา



* จ่ายผลตอบแทนเท่ากันหรือสูงกว่า แต่ไม่ผูกพันระยะยาว

การจ่ายผลตอบแทนต้องถามว่าบุคลากรต้องการอะไร เขาต้องการเงินกลับบ้านในแต่ละเดือนเท่านั้นเท่านี้
ถ้าองค์กรจ่ายเป็นเงินเดือนทั้งหมดรับรองได้ว่า ความเสี่ยงในอนาคตมีสูงมาก
เพราะวันนี้เขาเก่งเราจ้างด้วยค่าจ้างที่แพง ปีนี้เขาทำงานมีผลงานดี เราปรับค่าจ้างให้เยอะ
ปีหน้าเขาเลื่อนตำแหน่งเราก็ปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นอีก
แต่...มีใครรับประกันให้องค์กรได้ว่าถ้าเขาอยู่กับเราไปจนเกษียณอายุ เขายังคงทำงานเก่งทำงานดีขึ้นไป
ไม่น้อยกว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี (จากฐานเงินเดือนที่สูงเพราะผลงานในอดีต)

ดังนั้น การจ่ายผลตอบแทนจึงไม่ควรเหมาจ่ายอยู่ในเงินเดือนทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่ผูกพันระยะยาว
ควรจะเน้นการจ่ายผลตอบแทนอื่นที่ไม่เป็นภาระผูกพันระยะยาว เช่น
การจ่ายเงินก้อนหนึ่งสำหรับคนเก่งที่เราดึงมาจากองค์กรอื่น อาจจะเป็นสองสามเท่าของเงินเดือนก็ได้
เพราะรู้แน่นอนว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ คนที่จะเข้ามาทำงานกับเราเขาก็ยินดี
เพราะรับเงินเป็นก้อนเหมือนการจ่ายโบนัสล่วงหน้า
(แต่อาจจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุงานขั้นต่ำ ที่ต้องอยู่กับองค์กรด้วย)
หรืออาจจ่ายเป็นเงินจูงใจประเภทอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลงาน หรือความสามารถที่เพิ่มขึ้น
เช่น คนเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกัน
แต่คนที่เก่งภาษาต่างประเทศ จะได้เงินช่วยเหลือค่าภาษาอีกเดือนละเท่านั้นเท่านี้ก็ได้


* ตัดเนื้อร้ายก่อนที่จะลุกลาม

ควรจะมีการวิเคราะห์แนวโน้มของต้นทุนในการบริหารคนไว้ล่วงหน้า อย่างน้อยห้าปีสิบปี
และควรจะมีการทบทวนในทุกๆ ปี จะเห็นส่วนไหนผิดปกติก็รีบรักษาหรือผ่าตัดทันที
อย่าปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง เช่น พบว่ามีคนบางกลุ่มเงินเดือนมีแนวโน้มจะสูงขึ้น
แต่แนวโน้มของผลงานและฝีมือเริ่มตก ก็ต้องรีบดำเนินการก่อนที่จะสายเกินไป


* เน้นกลยุทธ์การจ่ายผลตอบแทนที่แตกต่าง

องค์กรที่มีกำลังทรัพย์น้อย ควรจะมุ่งเน้นการบริหารผลตอบแทนที่แตกต่าง
มากกว่าไปออกแรงแข่งกันจ่ายค่าจ้างสู้กับองค์กรขนาดใหญ่ เช่น
จ่ายผลตอบแทนที่ไม่ผูกพันแต่แตกต่างจากองค์กรอื่น เปลี่ยนค่าจ้างเป็นสวัสดิการบางอย่างที่องค์กรอื่นไม่มี
หรือการบริหารผลตอบแทนแบบยืดหยุ่น
บุคลากรสามารถเลือกผลตอบแทน ให้เหมาะสมกับสถานะของตัวเองในแต่ละช่วงเวลาได้ เช่น
ช่วงที่เป็นโสดก็อาจจะเลือกรับผลตอบแทนแบบหนึ่ง
พอมีครอบครัวก็สามารถเลือกผลตอบแทนอีกแบบหนึ่งได้


สรุป การบริหารผลตอบแทน นอกจากจะอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า
“แข่งขันได้ เป็นธรรม และองค์กรมีความสามารถในการจ่ายแล้ว”
จะต้องเพิ่มด้วย “จูงใจบุคลากร แต่ไม่เป็นภาระผูกพันระยะยาวขององค์กร” เข้าไปด้วย
นอกจากนี้ การบริหารผลตอบแทนของบุคลากร น่าจะเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กร
ผู้บริหารจะต้องมานั่งวิเคราะห์ และกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารให้เหมาะสม
ทั้งนี้ เพื่อใช้ผลตอบแทนดึงศักยภาพของคนออกมาให้มากที่สุด
ในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งร้ายในองค์กรได้ด้วย


ข้อมูลอ้างอิง : //www.hrcenter.co.th
ที่มา : //www.lionjob.com


Create Date : 06 มิถุนายน 2553
Last Update : 6 มิถุนายน 2553 21:08:31 น. 0 comments
Counter : 1266 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.