Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
28 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
งานบริหารเหมาะกับฉันไหม



มีรุ่นน้องคนหนึ่งโทร.มาหาผมเมื่อวันก่อน บอกว่า
องค์กรของเขาได้ส่งแบบสอบถามมาให้พนักงานระดับ senior staff ในแผนกต่างๆ
โดยสอบถามความประสงค์ในความก้าวหน้าในอาชีพการงานของแต่ละคน

มีอยู่คำถามหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคำถามที่ยากเย็นอะไร
เพียงแต่รุ่นน้องของผมคนนี้ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรดี คำถาม คือ คุณอยากก้าวหน้าในสายงานใด
ระหว่างงานด้านการบริหาร (management) กับงานด้านผู้ชำนาญการพิเศษ (specialist)


คำถามนี้เป็นคำถามน่าสนใจที่หลายๆ คนไม่เคยคิดมาก่อน คนทำงานใหม่ๆ ร้อยทั้งร้อยถ้าไปถามจะพบว่า
เลือกด้านการบริหาร(management) ทั้งนั้น เพราะเข้าใจว่าการเจริญเติบโตในองค์กรคือการเติบโตไปเป็นผู้บริหาร
แต่ถ้าไปถามผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานมานานๆ หลายคนอยากทำงานคนเดียวมากกว่า
เพราะเหนื่อยใจที่ต้องดูแลและแบกภาระ ในการบริหารจัดการคนอื่น

ดังนั้น การจะเลือกเติบโตในสายงานใด จำเป็นต้องเข้าใจข้อดีข้อเสียให้ถ่องแท้ เสียก่อน

หากจะเลือกเติบโตในสายการบริหาร ข้อดีเรื่องแรกคงไม่พ้นผลตอบแทน
แน่นอนว่าคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงสุดย่อมได้ค่าตอบแทนสูงกว่าใครๆ ทั้งหมดในองค์กร
แต่สำหรับผู้บริหารที่อยู่ใน ระดับรองลงมา อาจไม่แน่ว่าจะได้เงิน มากกว่าคนที่พวกเขาบริหารอยู่
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บางองค์กรที่ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของคนในสาขาต่างๆ (specialist) อย่างนักวิทย์
หมอ วิทยากรหรือนักเขียนโปรแกรม คนเหล่านี้อาจจะ ได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าคนที่มาบริหารพวกเขาเสียอีก

ข้อดีข้อถัดไปของการเลือกสายบริหาร หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของอำนาจ
คนส่วนมากเชื่อว่าผู้บริหารย่อมมีอำนาจ มากกว่าคนที่อยู่ในทีมเสมอ ความเชื่อนี้ ถูกแค่ครึ่งเดียว
เพราะถ้าพูดถึงอำนาจแล้ว อำนาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คืออำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ (position power)
ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้บริหารทุกคนมีอำนาจนี้ เพราะมันมาพร้อมกับตำแหน่งที่ท่านถือครองอยู่
และอำนาจเฉพาะบุคคล (personal power) คืออำนาจที่ผู้คนรอบข้างมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่น
หรือการได้รับความนับถือจากผู้อื่น

อำนาจเฉพาะบุคคลนี้ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่เลย หมายความว่า
ผู้ที่มีอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ อาจมีหรือไม่มีอำนาจเฉพาะบุคคลก็ได้ ดังนั้นถึงแม้สายงานด้านผู้ชำนาญพิเศษ
อาจดูเหมือนจะมีอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่น้อยกว่าสายงานด้านการบริหาร
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอำนาจเฉพาะบุคคลน้อยกว่าเสมอไป

ถัดมาคงเป็นเรื่องของชื่อเสียงและเกียรติยศ ต้องยอมรับว่าคนในสังคม โดยส่วนมากจะยกย่องคนตามชื่อของ
ตำแหน่งหน้าที่การงาน ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ย่อมฟังดูดีกว่าตำแหน่งนักวิเคราะห์อาวุโส แม้ในความเป็นจริง
รองผู้อำนวยการอาจจะได้เงินเดือนแค่ 70,000 บาท ในขณะที่นักวิเคราะห์อาวุโส อาจได้เงินเดือนเดือนละ
100,000 บาท แต่ใครจะไปสนใจ เพราะเงินเดือนไม่ได้ระบุอยู่บนนามบัตร ตำแหน่งต่างหากที่ถูกระบุ

ข้อดีอีกประการหนึ่งของสายบริหารคือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและก้าวไปสู่ระดับสูงสุดขององค์กร
จะมีมากกว่า เพราะถ้าเป้าหมายของคุณคือการได้เป็น ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง
การเลือกสายผู้ชำนาญการพิเศษคงมีโอกาสลุ้นค่อนข้างน้อย

เมื่อพูดถึงข้อดีของสายการบริหารที่หลายคนมองไปแล้ว ลองมาดูข้อเสียกันบ้าง
อย่างแรกเลยคงไม่พ้นเรื่องยิ่งสูง ยิ่งหนาว คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ยิ่งตำแหน่งสูงเท่าไร คนยิ่งไม่กล้าที่เข้าไปพูดคุย
หรือเข้าหามากเท่านั้น ไม่ต้องมองอื่นไกล แค่คนบางคนได้ปรับตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน
เพื่อนๆ ที่เคยทำงานด้วย ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นลูกน้องก็เปลี่ยนไป จากที่เคยคุยเล่นเฮฮา ก็กลายเป็นนิ่งเฉย
จากที่เคยเดินมาชวนไปกินข้าวด้วย ก็ไม่มาชวนอีกเลย

ตัวผู้บริหารเอง บางครั้งก็วางตัวลำบากเช่นกัน ใกล้ชิดพนักงานมากก็ไม่ได้
เพราะด้วยหน้าที่การงานทำให้ต้องเว้น ระยะห่างในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้เพื่อเวลาที่ต้องตัดสินใจในบางเรื่อง จะได้ไม่โดนครหา หรือลำบากใจ

ถัดมาคงเป็นเรื่องความรับผิดชอบ ที่ปกติมาพร้อมกับอำนาจโดยตำแหน่ง (position power)
ผู้บริหารมีหน้าที่ในการลงนามเอกสารขององค์กร ยิ่งระดับสูงเท่าไร ก็ต้องรับความเสี่ยงมากเท่านั้น
และเมื่อลงนามไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ดี
ผู้บริหารหลายคนหลังจากเซ็นเอกสาร บางอย่างแล้วก็นอนตาค้างตลอดทั้งคืน
ซึ่งความทุกข์แบบนี้ ปกติผู้ชำนาญการ มักประสบพบเจอน้อยกว่า

ปัญหาเรื่องคน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มาคู่กับตำแหน่งบริหาร ใครไม่ชอบกับใครแล้วส่งผลให้งานมีปัญหา
ใครวางยาใครในการทำงาน หรือความขัดแย้งในแนวทางการ แก้ปัญหาของพนักงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร
สุดท้ายคนที่ต้องตัดสินใจและคลี่คลายปัญหาก็คือผู้บริหาร
ลำพังการดูแลตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว นี่ต้องมาดูแลคนอื่นด้วย ยิ่งเหนื่อยใจเป็นสองเท่า

เมื่อฟังแล้วก็ตัดสินใจเอาว่าคุณชอบแบบไหน หากคุณคิดว่าอำนาจ ผลตอบแทน
และเกียรติยศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ สายการบริหาร (management) ก็น่าจะเหมาะ
แต่ถ้าไม่ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบกับสิ่งที่คุณไม่ได้ทำ
หรือไม่ชอบการอยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวข้างบนแล้ว
สายผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (specialist) ก็น่าจะเป็นเส้นทางที่คุณควรเลือก

แต่ไม่ว่าจะเลือกหนทางใด… ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การเลือก
แต่อยู่ที่ฝีมือ และการกระทำหลังจากได้เลือก ไปแล้วมากกว่า !

ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ


Create Date : 28 พฤษภาคม 2552
Last Update : 28 พฤษภาคม 2552 14:45:06 น. 0 comments
Counter : 525 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.