happy memories
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2557
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
30 สิงหาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๓๕




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










ผสานอารยธรรมผ่านเครื่องแต่งกาย


เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาส ๑๕o ปีพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศถวายพระเกียรติให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานโดดเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุข วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม และมนุษยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดปาฐกถา "เสาหลักของแผ่นดิน" ชุด "๑๕o ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ" เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของสตรี" โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิตสาขาวิชานาฏกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ห้อง ๑o๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ วันก่อน


ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการติดต่อกับต่างประเทศมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และที่สำคัญคือในช่วงของพระบรมราชจักรีวงศ์ ชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อกับประเทศสยามตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๔o เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับจากยุโรป การแต่งกายของสตรีในพระราชสำนักเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเป็นพระองค์สำคัญที่ทรงเป็นผู้นำการผสมผสานการแต่งกายของสตรีไทยและสตรีต่างชาติ ที่สำคัญก็คือจากประเทศแถบยุโรปและราชสำนักอังกฤษ มีพระราชดำริให้ปรับปรุงเสริมแต่งดัดแปลงฉลองพระองค์ โดยนำแบบของชาวยุโรปมาประยุกต์ให้เข้ากับฉลองพระองค์แบบไทย ๆ


"สิ่งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงกระทำคือ ทรงยึดถือเครื่องแต่งกายของไทยในเรื่องการนุ่งโจงหรือนุ่งจีบ ส่วนฉลองพระองค์ท่อนบนยังเป็นเสื้อแบบไทยที่กลายออกไป เช่นขยายแขนให้เป็นแขนหมูแฮม หรือปรับแขนให้เป็นพลิ้ว หรือทำให้ดูหลวมและเบานุ่มนวลในปลายรัชกาล โดยใช้ผ้าลูกไม้เป็นหลัก และเปลี่ยนผ้าสไบทึบหนาและแข็งให้เป็นสไบที่อ่อนนุ่มและเข้ากับลำตัว พร้อมด้วยเครื่องประดับและเข็มกลัดต่าง ๆ ที่จะค่อย ๆ ลดลงให้เห็นตัวแฟชั่นเครื่องแต่งกายเป็นหลัก ส่วนตัวโจงยังคงมีต่อมาจนถึงปลายรัชกาลที่ ๖ ต่อรัชกาลที่ ๗ ทำให้ดูเป็นการผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออกได้เป็นอย่างดีและกลมกลืน และสามารถแต่งแปลงให้ออกมาเป็นความหลากหลายเฉพาะกลุ่มคนตามรสนิยมของตนได้อย่างสวยงาม และพวกข้าราชสำนัก สตรีภายนอกก็นำไปประยุกต์การแต่งกายไปทั่วทั้งประเทศ


สำหรับฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงมีช่างตัดเย็บทั้งไทยและต่างประเทศ ถ้าฉลองพระองค์ธรรมดาก็โปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ พระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดเย็บ แต่ถ้าเป็นชุดใหญ่สำหรับออกงานสำคัญ ๆ โปรดให้ใช้ช่างฝรั่ง ส่วนการปักเลื่อมปักดิ้น หรือปักไหมลวดลายต่าง ๆ ทรงใช้ช่างฝีมือในพระตำหนัก จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะรับอะไรจากต่างประเทศมาทั้งหมด แต่มีการกลั่นกรองมีการพัฒนา และสามารถปรับจนกระทั่งเป็นประโยชน์เหมาะสมกับความเป็นไทยได้อย่างดียิ่ง" ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล กล่าว


ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ มีต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ช่วงระยะเวลา ๑๓ ปี แฟชั่นการแต่งกายโดยเฉพาะของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หลังจากเสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงโศกเศร้าและไม่ทรงออกงานอีกเลย แฟชั่นจึงค่อย ๆ เงียบลง แต่ก็ได้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดา ทรงสืบสานความเป็นผู้นำด้านแฟชั่นในเวลาต่อมา



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net












ผลิตภัณฑ์ลายฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเทพฯ


สานสายใย เพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย ประจำปี'๕๗


มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน “สานสายใย เพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย” ประจำปี ๒๕๕๗ เพื่อเผยแพร่ภารกิจของมูลนิธิสายใจไทยฯ ให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไป โดยรายได้จากการจำหน่ายจะนำเข้าสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทยฯ นำมาช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัวทั้งในด้านการดูแลสุขภาพด้านอาชีพ รวมถึงการมอบทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ระหว่างวันที่ ๒๗ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สานสายใย เพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย” ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑o.oo น. ณ ศูนย์การค้าเพนนินซูล่า พลาซ่า ถนนราชดำริ





ผลิตภัณฑ์ลายฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเทพฯ



ทั้งนี้ พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี และ รองประธานกรรมการมูลนิธิสายใจไทยฯ ให้เกียรติมาร่วมงาน พร้อมด้วย ท่านผู้หญิงอิศรา บุรณศิริ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิสายใจไทยฯ และท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ รองผู้จัดการมูลนิธิสายใจไทยฯ ในงานแถลงข่าวการจัดงาน ณ ห้องเทเวศร์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์





ฯพณฯ พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี พร้อมด้วย ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์,
ท่านผู้หญิงอิศรา บุรณศิริ, ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช, วนิดา ดุละลัมพะ, พวงทอง อานันทนะสุวงศ์ และเมทนี บุรณศิริ



ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ รองผู้จัดการมูลนิธิสายใจไทยฯ เผยว่า สำหรับในปีนี้ทางมูลนิธิฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธาน พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ สธ. และพระบรมฉายาลักษณ์ มาใส่ลงในผลิตภัณฑ์ พร้อมจัดทำผ้าไหมพิมพ์ลายดอกไม้ลายใหม่ กว่า ๑o ลาย ที่มีสีสันงดงามและรูปแบบที่ทันสมัย คุณภาพดีเทียบเท่าต่างประเทศมาจำหน่ายในราคาย่อมเยา ซึ่งลายดอกไม้ที่จัดพิมพ์บนผ้าไหมในครั้งนี้เป็นฝีมือการวาดของสมาชิกสายใจไทย ที่ใช้ความตั้งใจเพื่อให้ได้ลวดลายที่อ่อนช้อยและสวยงาม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เครื่องแก้ว เครื่องไม้ เสื้อ เน็คไท กระเป๋า ผ้าพันคอ ผักสดปลอดสารพิษจากสวนสายใจไทย และข้าวหอมนิลอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เกษตรจากหมู่บ้านสายใจไทย จังหวัดสุโขทัย





ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์



นอกจากนี้ยังมีการการสาธิตวิธีวาดภาพบนเครื่องไม้ และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายมาจัดแสดง อาทิ การขับร้องเพลงจากศิลปินนักร้องและนักร้องรับเชิญกิตติมศักดิ์ เช่น คณะคุณนันทวัน สุวรรณปิยะศิริ, วงดนตรีจากมหาวิทยาลัยรังสิต, คณะคุณสรวงสรร พินทุสมิมิต คณะ ๓ วิ (วิรัช อยู่ถาวร, วินัย พันธุรักษ์ และวิชัย ปุญญะยันต์), วงดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระหว่างเวลา ๑๒.oo – ๑๕.oo น. ของทุกวัน, การพยากรณ์โชคชะตา โดยนักโหราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากหลายสำนัก ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสิริวัฒนาเชสเชียร์ฯ









ประชาชนผู้สนใจร่วมเยี่ยมชมงานและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของมูลนิธิได้ในงาน “สานสายใย เพื่อผลิตภัณฑ์ สายใจไทย” ประจำปี ๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๗ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑o.oo น. ถึง ๑๘.oo น. ณ ศูนย์การค้าเพนนินซูล่า พลาซ่า ถนนราชดำริ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com
manager.co.th














นิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ 19


เป็นอีกคำรบที่เหล่าคนหัวใจศิลป์ภายใต้ชื่อกลุ่ม "ศิลปินอิสระ'96" และ สภากาชาดไทย ได้มารวมตัวกันแสดงพลังขีดเขียนและแต้มสีก่อเกิดเป็นผลงานศิลปะหลากหลายเทคนิค แล้วจัดแสดงเป็นนิทรรศการการกุศล "นิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ ๑๙" หวังปันรายได้จากการจำหน่ายนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย เพื่อการ "บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย" แก่พี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน และผู้ทุกข์ยากในสังคมทั่วประเทศ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธานเปิดงาน พร้อมทรงพระกรุณาประทานภาพวาดฝีพระหัตถ์จำนวน ๒ ภาพ ร่วมแสดงภายในงานด้วย ณ ห้องราชมณเฑียร โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ ค่ำวันก่อน






บรรยากาศคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยศิลปินทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นเช่นทุกปี และหากขาดสามแม่งานใหญ่คงไม่สมบูรณ์อันมี อ.สมาน คลังจัตุรัส หัวหน้ากลุ่มศิลปินอิสระ'๙๖ ที่เชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะสวย ๆ กว่า ๔oo ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคสีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิก สีชอล์ก และจิตรกรรมลายเส้น ม.ร.ว.ปรียางค์ศรี วัฒนคุณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายจัดหารายได้ และ คุณหญิงทิพยวรรณ ตันตกิตติ์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน และเจ้าของบ้านใจดีมอบสถานที่ให้จัดงานใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งใส่ใจทุกรายละเอียดแม้กระทั่งปกหนังสือสูจิบัตร เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มอบหมายให้ อ.ชูศักดิ์ ธรรมรักชัย ใช้เทคนิคถนัดวาดภาพแบบลายเส้นได้อย่างสวยสดงดงาม






แน่นอนว่ามนต์สะกดจากภาพเด่นๆ ของบรรดาศิลปินชั้นครูอย่าง อ.สุจิน ปานสมุทร, อ.นาวิน แสงรบ และ อ.สุวิทย์ วิทยาจักษ์ อีกทั้งศิลปินอิสระมากฝีมือที่ดึงดูดสายตาจนต้องควักกระเป๋าจับจองเป็นเจ้าของ แต่บ่อยครั้งต้องสะดุดกับฝีมือของคนในแวดวงสังคม ไม่ว่าจะเป็น กรรณิการ์ หนุนภักดี กับภาพเสือแม่ลูก "เรามีเรา" ที่นำผลงานมาร่วมแสดงทุกปี เธอตั้งใจสื่อถึงโอกาสวันแม่แห่งชาติ โดนถ่ายทอดผ่านแม่เสือผู้ทรงอำนาจเป็นที่เกรงขามของสรรพสัตว์ในป่าใหญ่ หากอีกมุมก็อ่อนโยนและเมตตาต่อลูกน้อย หรือผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ "ยามเย็น" ของมาลินี ลีนุตพงษ์ ที่บอกว่าชอบวาดภาพทิวทัศน์ ชิ้นนี้ถ่ายทอดอารมณ์ยามเย็นที่เปลี่ยวเหงา ในความเป็นศิลปินมือสมัครเล่นต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสำเร็จ และเมื่อมีโอกาสได้ร่วมทำการกุศลก็ยิ่งเป็นภาคภูมิใจ และนั่นก็ทำเอาขาประจำใจบุญ อาทิ สายพิณ พหลโยธิน, สุพัตรา ชัยวรวิทย์กุล, ละออ ตั้งคารวคุณ, ประเทือง คูสกุล, จันทร์ประภา วิชิตชลชัย เป็นต้น รีบสำรวจแล้วแปะป้ายจับจองกันพัลวัน


หากคุณเป็นอีกคนที่ชื่นชอบงานศิลปะลองหาโอกาสแวะไปสัมผัสพร้อมแบ่งปันน้ำใจสู่ผู้กำลังทุกข์ยากได้ นิทรรศการมีกำหนดจัดยาวไปจนถึง ๒๑ กันยายนนี้ เวลา ๑o.oo-๒o.oo น. บริเวณโถลงชั้นลอย โรงแรมมณเฑียร ถนนสุรวงศ์ หรือสนใจร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปเป็นหมู่คณะ สามารถสอบถามได้โทรศัพท์ o-๒๒๕๖-๔๔๔o



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๖o


ขอเชิญชมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๖o ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เต็มพื้นที่ ทั้งงานรางวัล (ชั้น ๑) งานรางวัลสนับสนุนธนาคารกรุงไทย (ชั้น ๒) และงานที่ได้ร่วมแสดง (ชั้น ๒-๓) โดยในปีนี้เราได้รับเกียรติอย่างสูงในการนำผลงานจากศิลปินรับเชิญคือ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข - ศิลปินชั้นเยี่ยมและศิลปินแห่งชาติ มาแสดงให้ชมกัน และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญภาพผลงานฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาแสดงด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะพร้อมให้ชมได้ตั้งแต่วันเปิดนิทรรศการคือ ๒ กันยาเป็นต้นไป เช่นเดียวกับสูจิบัตรและเอกสารนำชมนะคะ ที่จะมีพร้อมในวันเปิดนิทรรศการไปค่ะ


เรียนเชิญศิลปินผู้ส่งผลงานทุกท่านมารับสูจิบัตรได้เลยในวันเปิดงาน ในวันอังคารที่ ๒ กันยายน (ช่วงบ่ายเป็นพิธีพระราชทานรางวัล ต้องมาถึงก่อน ๑๓.oo น. และศิลปินผู้เข้ารับรางวัลต้องมาถึง ๑๒.oo น. เพื่อซ้อม) และเย็นจะเป็นงานรางวัลกรุงไทยและเปิดงานสำหรับบุคคลทั่วไป พิเศษสุดคือ วันเปิดงานเราจำหน่ายสูจิบัตรราคาพิเศษนะคะ!















ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุค Art Center ม.ศิลปากร














ศิลปกรรมแทงใบลาน งานฝีมือที่ควรอนุรักษ์


สมัยโบราณไม่มีกล้องถ่ายรูป เพื่อบันทึกภาพสำคัญ ๆ เก็บไว้ดู เหมือนทุกวันนี้ จึงมีการนำใบลานหรือใบตาล เรียกว่า แทงใบลาน มาทำ มาตบแต่ง กลายเป็นรูปภาพที่อยู่ในโครงหรือกรอบไม้ อย่างสวยงาม เพื่อเก็บไว้ดู หรือมอบเป็นของฝาก ของที่ระลึกแก่เพื่อนสนิท ญาติผู้ใหญ่ หรือ บุคคลที่เคารพนับถือ ชนิดที่ว่าถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับเลยทีเดียว เกรงว่า ศิลปกรรมการแทงใบลานจะสูญหาย จึงมีการอนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ โดยครูผู้ชำนาญในการแทงใบลาน เดินสายไปสอนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ผ่านไปหลายรุ่น ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง






ดร.กุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา อายุ ๕๘ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๙o หมู่ ๖ ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ช่างแทงใบลานฝีมือดี เล่าว่า บ้านเดิมอยู่กรุงเทพมหานคร คุณปู่ คือ ม.ร.ว.สำเนียง เรณุนันท์ ทำงานอยู่ในสังกัดกองมหรสพ พระบรมราชวัง ตั้งใจจะสอนการแทงใบหลาน แก่ มล.อุทัย เรณุนันท์ บุตรชาย ซึ่งเป็นบิดาตน แต่ มล.อุทัย ไม่รับ เพราะฐานะยากจนอยู่ ต้องเลี้ยงลูก ไม่มีเวลา คุณปู่จึงสอนหลานแทน คือ ตนเอง เรียนรู้การแทงใบลานตั้งแต่ อายุ ๘ ขวบ จนกระทั่งปัจจุบัน กว่า ๕o ปี ผลิตศิลปกรรมการแทงใบลาน กลายเป็นผลงานออกสู่สายตาผู้คนมากมาย ซึ่งที่นี่จะไม่ผลิตขาย แต่จะทำในโอกาสสำคัญ ๆ จนได้รับรางวัลมากมาย และที่ประทับใจและปลาบปลื้มใจที่สุด ก็คือ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นำผลงานแทงใบลานทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ณ.สวนจิตรลดา และถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๒ ครั้ง ได้แก่ เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๔o ที่โรงเรียนประชาสงค์เคราะห์อำนาจเจริญและวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี บริเวณสวนมิ่งมงคล(หอนาฬิกา) เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ สร้างความปลาบปลื้มปีติใจเป็นอย่างมาก






ดร.กุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา ผู้อนุรักษ์ศิลปกรรมแทงใบลาน เล่าต่อไปว่า มีจิตสาธารณะต้องการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากไร้ จึงรับส่งศพจากกรุงเทพมหานครไปต่างจังหวัด กระทั่ง ไปส่งศพที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี และต่อไปยัง อ.เขมราฐ ก็พบรักสาวงาม เขมราฐ จึงตกลงแต่งงานกัน ก็คือ ภรรยาคนปัจจุบันนี้ ต่อมา จึงย้ายมาที่ จ.อำนาจเจริญ ขณะนั้นเพิ่งจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ ๆ แยกออกจาก จ.อุบลราชธานี คิดว่า หนทางค้าขายน่าจะสดใส ทำเงินเป็นกอบเป็นกำแน่นอน จึงเปิดร้านจิปาถะ จำหน่ายดอกไม้ทุกชนิด เพื่อใช้ในงานพิธีสำคัญ ๆ พร้อมรับจัดตบแต่งดอกไม้ในงานต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งก็สร้างรายได้เป็นอย่างดี


เปิดร้านจำหน่ายดอกไม้มาเป็นเวลา ๑๙ ปี แม้งานจะมีเข้ามามาก แต่ก็ไม่ทิ้ง มรดกตกทอดที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากเจ้าคุณปู่ คือ ศิลปกรรมการแทงใบลาน โดยการหาเวลาว่างในการทำ ด้วยการทำเป็นพระพักตร์ ในหลวง และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือ พระพุทธเจ้า พระเกจิอาจารย์ สำคัญ ๆ เป็นต้น ซึ่งศิลปกรรมการแทงใบลาน ผู้ทำต้องมีฝีมือประณีต มีความอดทน ใจเย็น เพราะแต่ละชิ้นงานทำแล้วเสร็จอย่างต่ำ ๑ ปี หากงานยาก ก็ราว ๆ ๒-๓ ปีขึ้นไป จึงจะแล้วเสร็จ






สมัยโบราณไม่มีกล้องถ่ายรูป เพื่อบันทึกภาพสำคัญ ๆ เก็บไว้ดู เหมือนทุกวันนี้ จึงมีการนำใบลานหรือใบตาล เรียกว่า แทงใบลาน มาทำ มาตบแต่ง กลายเป็นรูปภาพที่อยู่ในโครงหรือกรอบไม้ อย่างสวยงาม เพื่อเก็บไว้ดู หรือมอบเป็นของฝาก ของที่ระลึกแก่เพื่อนสนิท ญาติผู้ใหญ่ หรือ บุคคลที่เคารพนับถือ ชนิดที่ว่าถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับเลยทีเดียว เกรงว่า ศิลปกรรมการแทงใบลานจะสูญหาย จึงมีการอนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ โดยครูผู้ชำนาญในการแทงใบลาน เดินสายไปสอนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ผ่านไปหลายรุ่น ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง


สำหรับวิธีแทงใบลาน กลายเป็นรูปที่สวยงาม ดร.กุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา บอกว่า เริ่มแรกจะต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการทำก่อน เช่น ดินสอ ยางลบ คัดเตอร์ ด้ามมีดคัดเตอร์ หินลับมีด กระจกใสขนาดตามต้องการ กาวลาเท็ก น้ำมันมะกอก ผ้าเช็ด สำลี ใบลานหลายสีสัน ผ้าคาม ผ้าไหม ทองคำเปลว และน้ำลัก (สำหรับลงลักปิดทอง) เมื่อได้ตามต้องการแล้ว ก็หาใบลานที่ได้จากต้นลาน และต้นตาล เสียก่อน แต่มีข้อแม้ ต้นลานและต้นตาลที่ภาคกลางใช้ไม่ได้ เพราะเป็นดินเหนียว ถ้าเอาไปทำจะขึ้นราไม่สวยงาม ส่วนใบลานที่ใช้ดีจะเป็นใบลานทราย เกิดจากทรายในภาคอีสาน ใช้ได้ดี สำหรับต้นลานจากบ้านทับลาน จ.ปราจีนบุรี และต้นตาลจาก อ.ชานุมาน หรือ ต้นตาลริมแม่น้ำโขง ก็ดีไม่แพ้กัน ซึ่งจะเอาใบอ่อน ใบกลางและใบแก่ เพราะสีใบลานไม่เหมือนกัน ให้แกะก้านลานออก ถ้าแก่ให้แช่น้ำ จนอ่อน ใช้หินอ่อนทับไว้ ถ้าใบลานอ่อนก็ปล่อยให้แห้งเอง แล้วมาวิเคราะห์ว่า จะทำรูปภาพแบบไหน เช่น รูปในหลวง ให้จินตนาการขึ้นมา ถ้าพระพักตร์พระองค์ท่านอ่อนก็จะใช้ใบลานสีอ่อน แต่เป็นรูปหน้าพระองค์ท่าน ใส่ใบลานขึ้นโครงสร้าง ส่วนคิ้ว จมูก เส้นผม ก็จะเอาใบลานแก่มาติดเป็นรูปทรง จากนั้นนำใบลานแก่กลาง ๆ มาแซมเป็นรูปทรง ให้ได้พระพักตร์ที่สมบูรณ์ ต่อมาตกแต่งด้วยแลกเกอร์ทาให้อยู่ตัว แล้วลงรักปิดทอง เพื่อความโดดเด่นและสวยงาม ตกแต่งด้วยผ้าไหมอีกครั้ง เพื่อเน้นเอกลักษณ์ภาคอีสาน จ.อำนาจเจริญ จากนั้น แต่งกรอบรูปใส่กระจก ติดตั้งที่หูยึดบนกรอบรูปหรือไม้ขาตั้งรูป ก็เป็นอันแล้วเสร็จ สามารถนำไปมอบให้กับผู้ที่เราเคารพนับถือได้


ดร.กุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา ครูสอนการแทงใบลานแก่เยาวชน บอกทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา ถูกเชิญไปเป็นครูพิเศษ หรือวิทยากร ไปสอนและบรรยายการแทงใบลาน แก่นักเรียน นักศึกษา ตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ อย่างต่อเนื่อง หลายคนทำเป็น จึงเป็นการจุดประกายให้เด็กและเยาวชนเกิดความหวงแหน ร่วมอนุรักษ์ ศิลปกรรมการแทงใบลานมากขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี


สำหรับใครสนใจศิลปกรรม การแทงใบลาน ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อไปที่ ดร.กุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา โทร. o๘-๑๙๙๙- ๒๙๑๓ ได้ทุกวัน…



ภาพและข้อมูลจากเวบ
banmuang.co.th














'๑๗/๘o จาก/เส้น/สู่/สร้าง' ผลงานทรงคุณค่าสถาปนิกไทย


วงเวียนไม้สีหม่น วางอยู่ข้างปากกาเขียนแบบสีเงินยวง ที่กาลเวลาทำให้ความสดใสหมองลงไป ซ้ายมือคือไม้สเกล ไม้ที กระดาษไขที่เต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้งาน บนโต๊ะเขียนแบบตัวถัดไปด้านซ้ายคือแบบร่างของเรือนไทยอันดูงดงามอ่อนช้อย ที่วางเคียงข้างแบบร่างตึกสูงในสไตล์โมเดิร์นเก๋ไก๋






ยังมีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกมากมายที่จัดแสดงอยู่บนโต๊ะไม้ในนิทรรศการ “๑๗|๘๐ จาก|เส้น|สู่|สร้าง” ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องมือเก่าๆที่ถ้ามองเผินๆคงไม่เข้าใจว่าจะนำมาจัดแสดงทำไม แต่เครื่องมือเหล่านี้เอง ที่สร้างอาคาร สถานที่ ตึกรามต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นสถานที่สำคัญและมีความหมายทั้งในเชิงสังคมและประวัติศาสตร์มานักต่อนัก เพราะเป็นเครื่องมือที่ “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาสถาปนิกทั้ง ๑๗ ท่านใช้งานจริงในสาขาต่าง ๆ อาทิ สถาปนิกชุมชน, สถาปนิกภูมิทัศน์ ,สถาปัตยกรรมแบบประเพณีฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทย


๑๗|๘๐ จาก|เส้น|สู่|สร้าง จึงเป็นนิทรรศการที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นในวาระครบรอบ ๘o ปีของสมาคมฯ เพื่อเผยแพร่ผลงานของสถาปนิกที่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการสถาปัตยกรรมของชาติสู่สาธารณชน






โดยนิทรรศการ ๑๗|๘๐ จาก|เส้น|สู่|สร้าง นอกจากจะแสดงผลงานจำลอง และเครื่องมือด้านสถาปนิกของ ๑๗ ศิลปินแห่งชาติอย่าง ศ.พล.ร.ค.สมภพ ภิรมย์, ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี, ดร.ประเวศ ลิมปรังษี, รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี, พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น, รศ.ฤทัย ใจจงรัก, เมธา บุนนาค, ธีรพล นิยม, ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, นิธิ สถาปิตานนท์, จุลทัศน์ กิติบุตร, ศ.(กิตติคุณ), ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, องอาจ สาครพันธุ์, ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ, วนิดา พึ่งสุนทร, ศ.(กิตติคุณ), เดชา บุญค้ำ และ เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ซึ่งแต่ละท่านเป็นผู้ได้ริเริ่ม ส่งเสริม และพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมให้เจริญก้าวหน้าและสร้างประโยชน์ต่อสังคมจนถึงทุกวันนี้ ให้ได้ร้องว้าวกันแล้วนั้น






ที่สำคัญยังมีจัดแสดงในรูปแบบของ Photo Exhibition เน้นการนำเสนอผลงานผ่านปรัชญา แนวคิด รวมไปถึงทัศนคติต่าง ๆ เกี่ยวกับวงการสถาปัตยกรรมไทยอีกด้วย อาทิ “การทํางานด้วยทำด้วยใจรัก แม้จะไม่มีใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสําเร็จนั้นจะประจักษ์พยานที่มั่นคง คนโดยมากไม่คอยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบรูณ์ไมได้” (วนิดา พึ่งสุนทร)






“การอนุรักษ์และส่งเสริมลักษณะไทยไม่ใช่การเลียนแบบหรือลอกวัฒนธรรมตกทอดโดยตรง รอยยิ้ม ความสงบ เบิกบานของชาวพุทธ ความร่มเย็น ความเมตตา กรุณา อเบกขา ฯลฯ เป็นลักษณะไทยที่มีความหมายลึกซึ้งสําหรับคนไทย จึงควรนํามาใช้สนับสนุนแนวคิดในการศึกษาและอนุรักษ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมของเรา” (เมธา บุนนาค)


ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง


งานจัดแสดงที่รอบโถงชั้น ๓-๕ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร



ภาพและข้อมูลจากเวบ
matichon.co.th














เปิดเลนส์สร้างค่านิยม ๑๒ ประการ


เชื่อว่าเวลานี้หลายคนคงจะคุ้นหูดีกับคำว่า "ค่านิยม ๑๒ ประการ" ค่านิยมที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงบ่อยครั้ง ล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นวิกฤติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาไม่คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ คนขาดความซื่อสัตย์ ไร้อุดมการณ์ โดยเฉพาะละเมิดศีลธรรม จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาสังคม ส่งผลให้ประเทศชาติไม่พัฒนา


กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่นำค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ไปบูรณาการกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ล่าสุด สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ในฐานะหน่วยงานภายใต้ วธ. จัด โครงการประกวดภาพถ่ายค่านิยม ๑๒ ประการ : สร้างชาติและประชาชนให้เข้มแข็ง เป็นการเฟ้นหาภาพถ่ายเชิงสร้างสรรค์ที่บอกเล่าเรื่องราวแก่นแท้ของค่านิยมแต่ละข้อที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในค่านิยม ๑๒ ประการได้ดีขึ้น รวมถึงหนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะ


ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ค่านิยม ๑๒ ประการ ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหลักการประพฤติปฏิบัติตามหลักจริยธรรมที่ดีงาม มุ่งหวังให้ทุกคนในสังคมไทยยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยมีความสงบสุขและเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงได้จัดการประกวดภาพถ่ายค่านิยม ๑๒ ประการในเชิงสร้างสรรค์ ภาพ 1 ภาพ สามารถบอกเล่าค่านิยมได้ครบ มั่นใจภาพถ่ายมีพลังในการสื่อสารกับประชาชนและขับเคลื่อนสร้างชาติให้เข้มแข็ง


ด้าน เขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยกติกาในการประกวดว่า ภาพถ่ายที่เข้าร่วมโครงการต้องสะท้อนมุมมองของผู้ถ่ายภาพต่อค่านิยม ๑๒ ประการของ คสช. ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไป ๑. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ๒. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม ๓. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ๔. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ๕. รักษาวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม ๖. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังต่อผู้อื่น เผื่อ๘. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ ๙. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๑o. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๑๑. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา ๑๒. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง


"งานศิลปะภาพถ่ายสามารถสื่อความหมายค่านิยม ๑๒ ประการได้อย่างดี ภาพถ่าย ๑ ภาพเหมือนอ่านหนังสือ ๑ เล่ม การประกวดครั้งนี้จึงตอบโจทย์ได้ว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งในด้านวิธีคิด วิธีทำ ประเพณีวัฒนธรรม ที่ทำมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและสงบสุข" ผอ.สศร.ยืนยันคุณค่าภาพถ่ายสร้างสรรค์ กำหนดตัดสินวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ ผลงานที่ได้รางวัลและผ่านการคัดเลือกจะนำมาจัดแสดงนิทรรศการและรวบรวมผลิตหนังสือค่านิยมแจกจ่ายทั่วประเทศ


โดยการประกวดครั้งนี้ รางวัลชนะเลิศรับเงินรางวัล ๗o,ooo บาท พร้อมโล่เกียรติยศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ เงินรางวัล ๕o,ooo บาท พร้อมโล่ รองชนะเลิศอันดับ ๒ เงินรางวัล ๓o,ooo บาท พร้อมโล่ และรางวัลชมเชย จำนวน ๑๒ รางวัล รางวัลละ ๑o,ooo บาท คณะกรรมการตัดสินการประกวดประกอบด้วย นิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดาว วาสิกศิริ ช่างภาพกิตติมศักดิ์, เขมชาติ เทพไชย ผอ.สศร., อัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากร และเด่น หวานจริง คณบดีคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์


อาจารย์เด่น หวานจริง คณบดีคณะศิลปวิจิตร คณะกรรมการ กล่าวว่า ภาพถ่ายที่จะส่งเข้าประกวดต้องเป็นภาพในหัวข้อที่กำหนด โดยใช้กล้องถ่ายภาพ ผู้สมัคร ๑ คนส่งภาพประกวดไม่เกิน ๑๒ ผลงาน สำหรับเกณฑ์การตัดสินคัดเลือกจากการถ่ายทอดความหมายค่านิยมสร้างชาติ และเป็นภาพที่ถ่ายด้วยตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ซ้ำใคร มีความสวยงามทางหลักทัศนศิลป์ องค์ประกอบภาพแสดงอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงผลงานแสดงชั้นเชิงด้านเทคนิคถ่ายภาพ


"ค่านิยม ๑๒ ประการเป็นสิ่งจำเป็นในชาติ ทุกวันนี้เด็กและผู้ใหญ่หลงลืม จะต้องเผยแพร่ให้เข้าใจ โดยเฉพาะความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ข้อนี้จะทำให้ประเทศไทยร่มเย็นเป็นสุข" อาจารย์เด่นฝากทิ้งท้าย


สำหรับผู้ที่สนใจส่งผลงานลองดูรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ ocac.go.th ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๒ กันยายนนี้ หรือสอบถามศูนย์หอศิลป์ สศร. โทร.o-๒๔๒๒-๘๘๔๑.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
เฟซบุค contestwar














“ออกเรือน” ศิลปิน อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์


นิทรรศการ “ออกเรือน”

ศิลปิน: อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์

ระยะเวลานิทรรศการ: ๑๓ กันยายน – ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

วันเปิดนิทรรศการ: เสาร์ที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ตั้งแต่เวลา ๑๘.oo น. เป็นต้นไป

สถานที่: นำทองแกลเลอรี่ : ๗๒/๓ ซ.อารีย์ ๕ (ฝั่งเหนือ) พหลโยธิน ๗, พญาไท,กรุงเทพฯ

BTS สถานีอารีย์ (ทางออกหมายเลข ๓)


นิทรรศการ “ออกเรือน” แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยครั้งล่าสุดของ ‘อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์’ ศิลปินหญิงผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์และพลังแห่งการสร้างสรรค์ นอกจากนี้เธอยังรับบทบาทเป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเธอได้สร้างสรรค์ผลงานและนำมาจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะเดี่ยวและกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานของเธอล้วนเป็นเรื่องราวที่ผูกพันกับตัวเธออย่างแน่นแฟ้น เธอตั้งใจให้งานศิลปะของเธอเป็นสมุดบันทึกความทรงจำ วันเวลา ช่วงวัยที่เปลี่ยนผ่านพร้อม ๆ กับกระบวนการทางความคิดและประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เธออยากจะบอกเล่าแก่คนอื่น ๆ ตามแนวทางเฉพาะตัวของเธอ


ผลงานจำนวน ๑๔ ชิ้น ที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ‘อิ่มหทัย’ ใช้เวลาสร้างสรรค์และรวบรวมผลงานถึง ๓ ปี โดยศิลปินจะเริ่มเก็บเส้นผมของตนเองที่หลุดร่วงจากการสระผมแต่ละครั้งและนำมาถักทอด้วยเทคนิคโครเชต์จนกลายมาเป็นลวดลายอันสุดแสนประณีตงดงาม ตลอดจนมีรูปทรงที่แตกต่างกันไปตามจินตนาการและสาส์นที่ศิลปินต้องการจะถ่ายทอดมายังผู้ชม นอกจากนี้เธอยังนำเสนอผลงานในรูปแบบศิลปะจัดวาง และผลงานวาดเส้นบนผืนผ้าใบด้วย


แรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของ ‘‘อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์’’ มาจาก “การออกเรือน” ซึ่งตามบริบทของสังคมไทยมีความหมายถึง การแยกเรือนจากพ่อแม่ไปอยู่เรือนใหม่ มีครอบครัวใหม่ อันเนื่องมาจากประเพณีการแต่งงาน ซึ่งในช่วงระยะเวลา ๒ ปีที่ผ่านมาศิลปินได้มีประสบการณ์เกี่ยวพันกับเรื่องราวดังกล่าวโดยตรง จากครอบครัวที่มีพี่น้องหญิงล้วน ๔ คน น้องสาวทั้ง ๓ ของศิลปินได้แต่งงานและแยกครอบครัวออกไปสร้างครอบครัวใหม่ ในขณะที่ตัวศิลปินเองก็ตัดสินใจย้ายจากอพาร์ทเม้นท์ที่เคยอยู่ตามลำพังมาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังใหม่กับคนรัก โดยเธอและคนรักมีเหตุผลส่วนตัวที่จะไม่แต่งงาน เนื่องจากทั้งคู่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันด้วยความรักมากกว่าพิธีกรรม


และแม้การออกเรือนไปสร้างครอบครัวใหม่จะเป็นเรื่องที่น่าปิติ ยินดี แต่ทว่าในความรู้สึกส่วนลึกภายในจิตใจของทุกคนยังแฝงเร้นไปด้วยความใจหายระคนเศร้า ที่จะต้องสูญเสียความเป็นครอบครัวเดิมที่ทุกคนเคยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อแม่พี่น้อง อีกทั้งยังต้องสูญเสียบ้านที่เคยอาศัยร่วมกัน บรรยากาศในอดีตที่แสนสุขเหล่านั้นคงไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก เหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำ เมื่อศิลปินคิดถึงครอบครัวจึงไม่มีคำว่าบ้านอีกต่อไป แต่ศิลปินกลับจำต้องคิดถึงบุคคลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวแทน


นอกจากนี้ ยังมีคำพูดเปรียบเปรยถึงการแต่งงานว่า ผู้ที่แต่งงานนั้นไม่ว่าจะชายหรือหญิง ก็เปรียบเสมือนเป็นผู้ได้เกิดใหม่ เพราะถือได้ว่ามีพ่อแม่ของฝ่ายคู่สมรสเพิ่มขึ้นมา ศิลปินประทับใจในประโยคดังกล่าว จึงได้เลือกรูปทรงของอวัยวะภายในของผู้หญิง เพื่อสื่อถึงความหมายของการเกิด (ในที่นี้จึงหมายถึงการเกิดใหม่ในร่างกายเดิม ในจิตวิญญาณเดิม ) จนคลี่คลายถ่ายทอดออกมาเป็นรูปทรงของกระดูกเชิงกราน และมดลูก ซึ่งจะเป็นรูปทรงที่ปรากฏอยู่ในผลงานชิ้นต่าง ๆ หลายชิ้น และนอกเหนือไปจากนี้ศิลปินก็ได้นำเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายจากการออกเรือนมาเป็นสาระสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างทึ่ง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. o๒-๖๑๗-๒๗๙๔ หรือคลิกเข้าไปชมเว็บไซต์ gallerynumthong.com







ภาพและข้อมูลจากเวบ
fineart-magazine.com














นิทรรศการศิลปะ Memory…ความทรงจำ


งานแสดงนิทรรศการศิลปะ “Memory...ความทรงจำ” โดย สมพงศ์ พนาวรรณกุล และอุดม อินนุพัฒน์ จัดขึ้นที่สกายล็อบบี้ ชั้น ๒๓ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑o.oo - ๒o.oo น. โดยรายได้จากการจำหน่ายภาพส่วนหนึ่งจะร่วมสมทบทุนให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม


นิทรรศการครั้งนี้ นำเสนอผลงานจิตรกรรมของ สมพงศ์ พนาวรรณกุล ผู้เชี่ยวชาญการใช้เทคนิคสีน้ำมันพาสเทลบนกระดาษสา และ อุดม อินนุพัฒน์ ซึ่งเชี่ยวชาญการวาดโดยใช้เทคนิคสีฝุ่นและทองคำเปลว โดยจิตรกรทั้งสองได้แรงบันดาลใจมาจากความทรงจำที่ดี ที่เปรียบเสมือนเครื่องบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ถ่ายทอดความงดงาม ความรัก และคุณงามความดี บ่งบอกถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านผลงานจิตรกรรมของพวกเขากว่า ๓o ภาพ















ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th














จิตรกรรม "ทับลาย"


นิทรรศการ: The Remastered (ทับลาย)

ศิลปิน: กฤษฎางค์ อินทะสอน

พิธีเปิด: พฤหัสบดีที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.oo น.

กิจกรรม: พบปะพุดคุยกับศิลปินและรับสูจิบัตร

ระยะเวลา: ๗ สิงหาคม – ๖ กันยายน ๒๕๕๗

สถานที่: นัมเบอร์วันแกลอรี อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย ชั้น ๔ กรุงเทพมหานคร



หากจะนิยามคำว่าร่วมสมัยกับศิลปะในยุคปัจจุบันคงจะเป็นไปได้ยากที่จะกำหนดขอบเขตของสิ่งที่เราจะเรียกมันว่าร่วมสมัย The Remastered (ทับลาย) เองก็เช่นกันชุดผลงานจิตรกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากการใช้รูปแบบองค์ประกอบจิตรกรรมชั้นครูจากทางฝั่งตะวันตกอันได้รับการยกย่องและยอมรับไปทั่วโลกว่าเป็นผลงานระดับ Masterpiece ทว่า อีกซีกโลกหนึ่งนั้นยังมีมนต์เสน่ห์ที่ซ่อนเร้นอันเต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังผลงานศิลปะที่ซึ่งบางครั้งไม่สามารถระบุตัวตนผู้สร้างสรรค์ได้ชัดเจนแต่กลับบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรม






และที่สำคัญ “ความเชื่อ” ฝากฝังไว้บนฝาผนังและพับสาของอารยธรรมล้านนาคงหลงเหลือหากเมื่อเราได้ลองพินิจดูดี ๆ แล้วอาจเห็นได้ว่าจินตนาการที่ปรากฏในผลงานจากทั้งสองซีกโลกนั้นมีส่วนคล้ายคลึงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ อาทิ ความเชื่อเรื่องนรก – สวรรค์, เทพเจ้า, บ้างแอบเร้นเรื่องราวคำสอนและความเสน่หาทางเพศจากจุดนี้เองที่ได้ถูกนำมาใช้เป็นดังกาวประสานเชื่อมโยงความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทับลายระดับครู (ฝรั่ง)เขียนทับด้วยลายครูนิรนามแห่งจิตวิญญาณช่าง (สล่า) ล้านนานำมาบอกเล่าเรื่องราวเพศสภาพในปัจจุบันกาลที่ไม่มีขีดจำกัดเพศเป็นเพียง ชาย – หญิง เพื่อเปิดเผยแง่มุมความรักใคร่เสน่หาการมีตัวตนที่มาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกันโดยมิต้องหลบซ่อนเฉกเช่นเดียวกับอดีตกาล คือยุครุ่งเรื่องแห่งอิสรภาพทางเพศแม้ผลงานชุดนี้อาจมีแนวความคิดเทียบเคียงได้กับงาน Reproductแต่ผลงานชุด “ทับลาย” หรือ The Remasteredได้แสดงออกแล้วถึงความเป็นศิลปะร่วมสมัยร่วมเชื้อชาติ ร่วมทุกสภาวะเพศสภาพ อยู่เหนือกาลเวลา ปลุกชีพตำนานเก่าเพื่อขับขานเล่นเล่าเรื่องราวใหม่อย่างมีสีสัน







ภาพและข้อมูลจากเวบ
fineart-magazine.com














ประกวดภาพนก "รักษ์…นกไทย


ไทยพีบีเอสชวนคนรักษ์นก ไม่จำกัดเพศและวัย ส่งคลิปภาพนกและภาพนิ่งเข้าประกวด โดยคลิปนกจะแบ่งเป็น ๒ ประเภทดังนี้ “นกสวยงามในลีลาต่าง ๆ และนกที่มีปฎิสัมพันธุ์กับมนุษย์ "คลิปที่ได้รับการคัดเลือก จะนำมาใช้เป็น ID STATION ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำหรับการประกวดภาพนิ่งไม่จำกัด ประเภท หากคุณพร้อม Record กดชัตเตอร์ ส่งผลงานเข้ามาได้เลยเพื่อชิงเงินรางวัลกว่าสองแสนบาท และนำมาทำโปสการ์ด หรือปฏิทินเป็นของที่ระลึกในปี ๒๕๕๗


คลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ haipbs.or.th



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipbs.or.th
61.91.2.16:8080




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 30 สิงหาคม 2557
Last Update : 30 สิงหาคม 2557 10:14:26 น. 0 comments
Counter : 3004 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.