Group Blog
 
<<
กันยายน 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
19 กันยายน 2558
 
All Blogs
 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ .. อุปมาการฝึกช้างศึก ด้วยการฝึกตนของอริยสาวก

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นประกอบด้วยคุณ สมบัติสี่ สมควรแก่พระราชาจะใช้สอย จัดได้ว่าเป็นอังคาพยพ (ส่วนประกอบแห่งองค์) ของพระราชา.

สี่อย่างอย่างไรเล่า ?

ในกรณีนี้ สี่อย่างคือ ช้างต้น เป็นช้างรู้ฟัง รู้ประหาร รู้อดทน รู้ไป.

ภิกษุ ท .!
ช้างต้น ที่รู้ฟัง เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นในกรณีนี้, ควาญช้างสั่งให้ทำการอันใดที่เคยทำหรือไม่เคยทำก็ตาม, ย่อมทำในใจอย่างทั่วถึง รวบรวมจิตทั้งหมดมาเงี่ยโสตคอยสดับ.

อย่างนี้แล เรียกว่าช้างต้นที่รู้ฟัง.

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นที่รู้ประหาร เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นในกรณีนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว ย่อมประหารช้างบ้าง ผู้อยู่บนหลังช้างบ้าง ประหารม้าบ้าง ประหารผู้อยู่บนหลังม้าบ้าง ย่อมประหารรถบ้าง คนประจำรถบ้าง ย่อมประหารพลเดินเท้าบ้าง,

อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้ประหาร.

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นที่รู้อดทน เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นในกรณีนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว อดทนต่อการประหารด้วยหอก ด้วยดาบ ด้วยลูกศร อดทนต่อเสียงกึกก้องแห่งกลอง บัณเทาะว์ สังข์ และมหรทึก.

อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้อดทน.

ภิกษุ ท.!
ช้างต้น ที่รู้ไป เป็นอย่างไรเล่า?

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นในกรณีนี้, ควาญช้างจะส่งไปสู่ทิศใดที่เคยไปหรือไม่เคยไปก็ตาม, ย่อมไปสู่ทิศนั้นได้โดยพลัน.

อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้ไป.

ภิกษุ ท.!
ช้างต้นประกอบด้วยคุณ สมบัติ ๔ อย่าง เหล่านี้แลสมควรแก่พระราชาจะใช้สอย จัดได้ว่าเป็นอังคาพยพของพระราชา.

ภิกษุ ท .!
ฉันใดก็ฉันนั้นที่ภิกษุประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยบุคคล ทักขิเณยบุคคล อัญชลีกรณียบุคคล และเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

คุณธรรม ๔ ประการ อย่างไรเล่า ?

สี่ประการในกรณีนี้ คือ ภิกษุเป็นผู้รู้ฟัง รู้ประหาร รู้อดทน และรู้ไป.

ภิกษุ ท.!
ภิกษุที่รู้ฟัง เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ภิกษุในกรณีนี้, เมื่อธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลแสดงอยู่. ย่อมทำในใจอย่างทั่วถึง รวบรวมจิตทั้งหมดมาเงี่ยโสตคอยสดับ ฟังธรรมอยู่.

อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้ฟัง.

ภิกษุ ท .!
ภิกษุที่รู้ประหาร เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท .!
ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมไม่อยู่เฉย ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมกระทำ ให้สิ้นไปย่อมกระทำ ให้ไม่มี ซึ่งกามวิตก …. พยาปาทวิตก …. วิหิงสาวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว;

ย่อมไม่อยู่เฉย ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมกระทำ ให้สิ้นไป ย่อมกระทำให้ไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย อันเกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นแล้ว.

อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้ประหาร.

ภิกษุ ท.!
ภิกษุที่รู้อดทน เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อคลองแห่งถ้อยคำอันหยาบคาย ร้ายกาจ เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นต่อเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ราวกะว่าจะนำไปเสียซึ่งลมปราณ.

อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้อดทน.

ภิกษุ ท.!
ภิกษุที่รู้ไปเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ภิกษุในกรณีนี้, ทิศใดอันเธอไม่เคยไป ตลอดกาลยาวนานถึงเพียงนี้ กล่าวคือนิพพาน
อันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ปราศจากความกำ หนัด เป็นที่ดับโดยไม่เหลือ, เธอเป็นผู้ไปสู่ทิศนั้นได้โดยพลันนั่นเทียว.

อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้ไป.

ภิกษุ ท.!
ภิกษุประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยยบุคคล ทักขิเณยยบุคคล อัญชลีกรณียบุคคลและเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.
.
.
.
จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๕๖-๑๕๘/๑๑๔.




 

Create Date : 19 กันยายน 2558
0 comments
Last Update : 19 กันยายน 2558 6:42:03 น.
Counter : 692 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.