กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กรกฏาคม 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
31 กรกฏาคม 2565
space
space
space

๕. จาคานุสสติ 




    ๕. จาคานุสสติ    ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว    เรื่องของการบริจาคหรือการทำทาน เราควรจะถือว่าเป็นหน้าที่อันหนึ่งเหมือนกัน เป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องกระทำ คือ มนุษย์เรานี้มีการแสวงหาได้มาซึ่งวัตถุ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่ครอบครัว ตลอดจนถึงญาติมิตร ผู้รู้จักมักคุ้นกัน นอกจากนั้นแล้ว ยังควรจะได้มีการแบ่งส่วนที่เรามีเราได้ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่บุคคลอื่น เพราะชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีการอาศัยกันเป็นอยู่ เราจะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังก็ไม่ได้ เราจะอยู่โดยคิดว่า กูไม่ต้องอาศัยใคร ก็ไม่ได้ มันมีเรื่องต้องอาศัยกัน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

   ถ้าเราคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า มนุษย์นี้ช่วยเหลือกันอยู่ตลอดเวลา โดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ สิ่งต่างๆ ที่เราได้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้โรค สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นจากคนจำนวนมาก ไม่ใช่เกิดจากคนๆเดียว แต่ว่าเกิดขึ้นจากคนจำนวนมาก ที่ได้ช่วยให้มีสิ่งนี้ขึ้น

อาหารที่เรากินเข้าไปคำเดียว   ถ้านึกดูให้รอบคอบแล้วจะพบว่า มาจากมือคนจำนวนไม่น้อย

เสื้อผ้าที่เรานุ่งห่มก็เหมือนกัน ที่เรานุ่งห่มอย่างสบายนี่ ลองคิดดูบ้างว่ามาจากอะไร ก็จะพบกับความจริงว่ามาจากคนไม่น้อยที่ช่วยกันสร้างสิ่งนี้ขึ้น

แม้เหย้าเรือนที่เราอยู่อาศัย กว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนได้ ก็ต้องอาศัยมือคนจำนวนมาก

ยาแก้ไข้ เพียงเม็ดเดียวที่เรากินเข้าไป ก็ต้องอาศัยคนจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น แต่ถ้าคิดก็จะมองเห็นว่า เราอยู่ด้วยคนอื่น คนอื่นก็อยู่ด้วยเรา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยว เหมือนกับนอแรด แต่ว่ามีการอาศัยกันและกันอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเราคิดว่าชีวิตทุกชีวิตต้องมีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การช่วยเหลือก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้บัญญัติการบริจาคทานไว้ การให้ทานไว้ ก็เพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีอะไรที่พอจะเจียดจะแบ่งให้แก่คนอื่นได้บ้าง เราก็ควรจะเจียดแบ่งไปตามสมควรแก่ฐานะ มีเงินเหลือใช้เราก็แบ่งให้คนที่ไม่มีจะใช้บ้าง มีเสื้อ มีผ้า มีอาหาร มีอะไรสารพัดที่มนุษย์จำเป็นแก่ชีวิต เราก็เจียดแบ่งกันออกไป การเจียดแบ่งให้กันและกันนี้ เรียกว่า เฉลี่ยความสุขให้แก่กัน   การเฉลี่ยความสุขให้แก่กันนี้ เป็นข้อปฏิบัติอันหนึ่งของคฤหัสถ์ครองเรือน นั้นก็มี ทาน ศีล ภาวนา

    ทานเป็นข้อแรกที่เราจะต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะช่วยเหลืออะไรต่อใครได้ เราก็ช่วยเหลือเท่าที่เราจะช่วยได้ ช่วยคนอื่นให้เป็นสุขแล้วเราก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย ต้องช่วยอย่างนั้น ไม่ใช่ช่วยคนอื่นจนตัวเองเป็นทุกข์ นั้นจะเกินพอดีไป ให้เราแบ่งช่วยโดยเราไม่มีความทุกข์เมื่อช่วยคนอื่น   แล้วน้ำใจที่ยินดีในการให้  เป็นน้ำใจอันประเสริฐ น้ำใจที่คิดแต่จะเอาตลอดเวลา เป็นน้ำใจที่ไม่ประเสริฐเลย ทุกศาสนาสอนในแนวเดียวกันในเรื่องนี้ คือสอนให้ให้บริจาคแบ่งส่วนเฉลี่ยกัน

ในบางศาสนาเขาบังคับเลย  บังคับว่าต้องให้เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์จากรายได้ มีอยู่หลายศาสนาเหมือนกัน เช่น  ศาสนาอิสลาม  เขาบังคับให้ทุกคนบริจาค เรียกว่า ซากัต  ต้องบริจาคข้าว บริจาคเงิน เพื่อเอาไปช่วยเหลือคนที่ลำบากยากจนต่อไป ทุกคนต้องทำ ไม่ทำก็อยู่ในหมู่กันไม่ได้ สังคมรังเกียจ ในศาสนาอื่นก็ทำกันอย่างนั้น


   แต่ว่าในพุทธศาสนาเรานั้น ไม่มีการบังคับ ไม่ว่าเรื่องอะไร เป็นเรื่องชี้ชวนชักนำให้ผู้นั้นเห็นประโยชน์ด้วยตนเอง แล้วจึงกระทำ เพราะการกระทำโดยบังคับนั้น ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ เป็นเรื่องของกฎหมายของบ้านเมืองไป

ธรรมะไม่ใช่เรื่องของการบังคับ หรือเรื่องของศีลธรรม นี้ไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แต่เป็นเรื่องที่ให้ทุกคนเห็นประโยชน์แล้วจึงทำ  ให้เห็นประโยชน์ว่า  มันเกิดประโยชน์อะไร แล้วจึงทำ ให้ทำด้วยความเต็มอกเต็มใจ เพราะการปฏิบัติในทางศีลธรรมศาสนานั้น เป็นเรื่องที่จะต้องทำด้วยน้ำใจ ไม่ใช่ทำด้วยมีใครมาขอร้องบังคับให้ทำ
ถ้าเราทำด้วยการถูกบังคับขอร้อง มันเป็นการฝืนใจไป ผลที่เกิดจากจิตใจไม่มี เพราะฉะนั้น จึงให้ทำด้วยความสมัครใจ ด้วยความเต็มใจ เราจะให้ทานสักหนึ่งบาท ก็ให้ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ฝืนให้หรือให้เพราะความเกรงใจ ถ้าฝืนให้ หรือเพราะความเกรงใจ มันไม่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะเป็นการให้โดยถูกบังคับ
แต่ถ้าเราทำด้วยน้ำใจว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เราก็ทำด้วยความเต็มใจ ทำอย่างนั้น เป็นประโยชน์แก่จิตใจของผู้กระทำ ไม่เป็นการฝืนการบังคับ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในทางศีลธรรมหรือทางศาสนานี้ จึงไม่เป็นการบังคับ แต่เป็นเรื่องการให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นคุณค่าทางจิตใจอย่างแท้จริง การทำทานก็มุ่งอย่างนั้น

   ทีนี้ เมื่อเราได้ทำทานอะไรลงไปแล้ว เราก็เอามาคิดภายหลัง คิดให้สบายใจว่าเราได้เคยให้ทานที่นั่น ได้สร้างสิ่งนั้น ได้ทำสิ่งนั้น ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ เราเกิดมานี้ไม่เสียชาติ ไม่ได้อยู่อย่างชนิด หนักแผ่นดิน หรือไม่ได้อย่างชนิดเอาเปรียบใครๆ แต่ว่าเราเป็นผู้ยินดีในการให้แล้ว ก็ให้มาโดยลำดับเท่าที่เราจะสามารถให้ได้ นึกแล้วสบายใจ อิ่มใจ เพราะการนึกอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความยินดีในการที่จะให้อีกต่อไป
ความยินดีที่จะให้ก็เกิดขึ้นมาอีก เพราะเราให้แล้วสบายใจในภายหลัง ถ้าเราไม่นึกคิดทบทวน เราไม่ได้เกิดความสุขใจเท่าใดแล้ว แล้วอาจจะไม่ทำต่อไปอีกก็ได้ หยุดเสีย เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณา ให้มี จาคานุสสติ ระลึกถึงเรื่องที่เราได้บริจาคไปแล้ว


   ในบางเวลา เราอาจจะเกิดความไม่สบายใจด้วยปัญหาอะไรต่างๆ เราก็มาคิดถึงกิจกรรมประเภททานที่เราได้ให้ไว้ นึกอย่างนั้น ช่วยให้จิตใจสบายคลายจากทุกข์ความเดือดร้อนใจ ตัวอย่างเช่น เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีอะไรจะทำ ต้องไปนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ในเวลาเช่นนั้น ควรจะใช้ อนุสสติ เป็นเครื่องประคับประคองใจ  เรื่องอะไรก็ได้  พุทธานุสสติ  ธัมมานุสสติ อะไรก็ได้ หรือจะระลึกถึงทาน  จาคานุสสติ  นึกว่าเราตั้งแต่เกิดมานี่ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นสักเท่าใด

เราก็มองย้อนหลังไปว่าเราได้ทำอะไรบ้าง

เราได้ช่วยสิ่งที่เป็นสาธารณกุศล  เช่น  ช่วยสร้างโรงพยาบาล  สร้างสะพาน สร้างบ่อน้ำสาธารณะ หรือช่วยวัดวาอาราม  ช่วยสร้างกุฏิเสนาสนะ  สิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระผู้จะใช้สถานที่เพื่อการปฏิบัติธรรม หรือว่าเราได้ทำบุญตักบาตรทุกวันๆ เพื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์จะได้เลี้ยงร่างกาย เราเคยทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ นึกไปแล้วใจมันสบาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่หนักจะเบาขึ้น เพราะใจดี คนเราถ้าใจดีแล้วร่างกายจะดีตามไปด้วย ถ้าใจทรุดร่างกายจะทรุดตามไปด้วย

   เพราะฉะนั้น  การนึกถึงสิ่งที่เราได้ทำไปแล้วนั้น ทำให้เกิดความสบายใจ และเมื่อเรารู้สึกว่าสบายใจเราจะได้ทำต่อไป  การช่วยเหลือสังคมก็จะมากขึ้น เพราะการนึกในเรื่องอย่างนี้มันก็ดีอยู่เหมือนกัน คือไม่ใช่นึกแต่เรื่องของเรา  นึกเรื่องที่จากใครบ้าง จากคุณพ่อ คุณแม่ จากครูบาอาจารย์ จากท่านผู้นั้นผู้นี้ที่ได้มีน้ำใจเสียสละ เพื่อทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้น เรานึกถึงคนเหล่านั้นว่าเป็นผู้มีน้ำใจยินดีในการบริจาค ก็เป็นเครื่องเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะให้เกิดขึ้นในน้ำใจ ทำให้เรามีจิตใจที่จะทำอย่างนั้นบ้าง เช่น นึกถึงเรื่องทาน ก็อยากจะทำทานบ้าง นึกถึงเรื่องศีล ก็อยากจะรักษาศีลบ้าง อันนี้ เป็นเรื่องได้ประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจของเรา เรียกว่า เป็นจาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่เราได้บริจาคแล้ว.

 




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2565
0 comments
Last Update : 25 มกราคม 2567 16:48:51 น.
Counter : 188 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space