happy memories
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
25 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 

เลือกตั้งผู้ว่ากทมฯ (๙)





"รวมพลังเลือกคนปกบ้านป้องเมือง"
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ๓ มีนาคม ๒๕๕๖ มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง
               
มีบุคคลที่มีชื่อเสียง ผู้คนให้ความเคารพนับถือ ออกมาแสดงจุดยืนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้หลายคน
               
มีโพลล์หลายสำนักออกมาป่าวประกาศคะแนนนิยมโค้งสุดท้าย แต่บางสำนัก เช่น เอแบคโพลล์ ก็ดูจะทำเกินขอบเขตหน้าที่ของนักวิชาการที่ทำงานวิจัยเชิงสำรวจความเห็นประชาชน เพราะถึงขนาดออกมาเสนอความเห็นส่วนตัวของผู้บริหารเอแบคโพลล์ คาดการณ์ ชี้นำ และพยายามจะชักจูงความรู้สึกนึกคิดของสังคมด้วยซ้ำ
               
โดยส่วนตัว ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค ในอดีต เคยไปช่วยสอนเป็นบางครั้ง รู้จักชอบพอกับอธิการบดีของเอแบค เพราะท่านเป็นศิษย์เก่าสแตนฟอร์ดเหมือนกัน ส่วน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ก็รู้จักกัน พบเจอเมื่อใดก็พูดคุยทักทายกันด้วยดีเสมอมา
               
แต่ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการมายาวนาน กว่า ๓o ปีที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพบว่า การทำหน้าที่ทางวิชาการของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ดูจะมีปัญหา ก็จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
                       
กรณีที่เอแบคโพลล์นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็น ๒,๔๙๘ ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เปรียบเทียบโค้งที่ ๑ - ๔ ระบุว่า คะแนนนิยม พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ นำ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร มากขึ้น (ดังตาราง) 






ในการนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าว กลับปรากฏว่า ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัว คาดการณ์ เดาสุ่ม และพยายามอธิบายเหตุผลในลักษณ์ชี้นำ โน้มน้าว ให้ประชาชนเห็นคล้อยตามทัศนะส่วนตัวของตนเอง ถึงสาเหตุที่ พล.ต.อ.พงศพัศมีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  

ดร.นพดล อ้างว่า “...เป็นไปได้หรือไม่ว่า การขึ้นเวทีปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ประชาชนคาดไม่ถึงว่าจะใช้ถ้อยคำที่ขัดต่อบุคลิกภาพเรื่องความสุภาพและขัดต่อความคาดหวังของประชาชนที่เคยสนับสนุนในอดีต นอกจากนี้ ยิ่งมีข่าวออกมาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะออกยุทธศาสตร์รื้อฟื้นความทรงจำของประชาชนเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” ที่เป็นภาพความขัดแย้งรุนแรงแตกแยกของคนในชาติออกมาหวังตีคะแนนนิยมผู้สมัครคนอื่นอีกน่าจะส่งผลเสียต่อผู้สมัครของพรรคได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่เบื่อความขัดแย้งรุนแรงแต่อยากเห็นบ้านเมืองสงบร่มเย็นมากกว่า”
 
๑. คำอธิบายข้างต้น เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.นพดล กรรณิกา
มิได้มีการสำรวจความเห็นประชาชน หรือถามประชาชนว่ามีความเห็นอย่างนี้เลย
 
๒. การที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขึ้นปราศรัยบนเวที แล้วมีการใช้คำพูดบางตอนเป็นภาษาสื่อสารแบบชาวบ้านทั่วไป เช่น คำว่า “กู-มึง” ในบริบทที่ต้องการสื่อความรู้สึกบางอย่างต่อประชาชนผู้ฟังการปราศรัยนั้น ดร.นพดลในคาดเดาเอาเองว่าเป็นตัวทำให้เสียคะแนนนิยม ทั้งๆ ที่ ความรู้สึกของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่ติดตามบริบทของการใช้ภาษาดังกล่าว อาจจะไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย
ตรงกันข้าม โดยส่วนตัว ผมกลับมองว่าการที่บุคคลที่เป็นราชสกุล ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ รู้จักพูดกับชาวบ้าน คุยกับชาวบ้าน ด้วยภาษาที่ชาวบ้าน ในบริบทที่ไม่ใช่การดูถูกดูหมิ่นชาวบ้าน กลับทำให้เกิดความรู้สึกที่ใกล้ชิดกับประชาชนได้มากขึ้น เป็นกันเองมากขึ้น และน่าจะถูกใจ ได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นต่างหาก ทำให้มีภาพลักษณ์ของคนเป็น “เจ้าติดดิน” ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง ไม่ถือตัว

น่าสังเกตว่า ความเห็นของ ดร.นพดล เป็นไปในทิศทางที่สอดรับกับการนำเสนอประเด็นของสื่อมวลชนบางสำนัก ได้แก่ มติชน ข่าวสด ที่พยายามวิพากษ์วิจารณ์การใช้คำว่า “กู-มึง” ในการปราศรัยบางส่วนเสี้ยวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มาก่อนหน้านั้น
 
๓. การแสดงความเห็นส่วนตัว โดยคาดการณ์เอาเอง เดาเอาเอง ในประเด็นที่อ้างว่าเป็น ยุทธศาสตร์รื้อฟื้นความทรงจำของประชาชนเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง”  ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาโดยฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เลยด้วยซ้ำ แต่กลับชิงอธิบายผลล่วงหน้า
เป็นการนำสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดมาอธิบายย้อนหลังไปหาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

น่าสังเกตว่า ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่สื่อในเครือข่ายของเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมติชน-ข่าวสด พยายามจะออกมานำเสนอความเห็นชี้นำในลักษณะ “ตีกัน” หรือ “ขู่” เอาไว้ล่วงหน้าว่าหากพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอความจริงเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” ก็จะทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย  
ผมกลับเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงอาการร้อนตัวของลิ่วล้อระบอบทักษิณ เพราะการนำเสนอความจริงหรือเตือนความจำประชาชนในเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” นั้น คงจะทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศเสียเปรียบ พรรคพวกเสื้อแดงตกเป็นจำเลย โดยเป็นการตอกย้ำความจริงที่เกิดขึ้น และคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวของระบอบทักษิณอย่างแท้จริง
อาจจะกลัวว่าหากประชาชนรู้ความจริง ไม่ลืมความจริง และตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อมิให้พรรคพวกของคนเผาบ้านเผาเมืองได้เข้ามามีอำนาจปกครองกรุงเทพฯ แล้ว ผู้สมัครของพรรคพวกที่เคยเผาบ้านเผาเมืองจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
 
๔. การแสดงความเห็นของ ดร.นพดล ยังมีลักษณะเป็นการพยายามโน้มน้าวให้ผู้อ่านคล้อยตามความเห็นของตน มากกว่าจะเป็นการรายงานความเห็น หรือบทวิเคราะห์ธรรมดาๆ
 
๕. น่าคิดว่า ความเห็นของ ดร.นพดลอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากความเห็นของสื่อเสื้อแดง หรือฝ่ายการเมืองของพรรคเพื่อไทย จึงออกมาสอดรับไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย
ยิ่งกว่านั้น การรับเอาความคิดเห็น หรือการชี้นำของพรรคพวกเสื้อแดง หรือพรรคเพื่อไทย นำมาเสนอเป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.นพดล แล้วถูกสื่อมติชน-ข่าวสด นำไปพาดหัวข่าวใหญ่โต จนราวกับว่าเป็นผลสำรวจความเห็นของประชาชน สื่ออื่นๆ โดยเฉพาะสื่อที่เชียร์พรรคเพื่อไทย ก็รับลูกไปขยายผล นำเสนอซ้ำๆ โดยที่ประชาชนไม่ทันได้ดูในรายละเอียด อาจเข้าใจผิดว่าเป็นผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจริง ๆ เมื่อความเห็นดังกล่าวถูกชี้นำออกสู่สังคมวงกว้างแล้ว หากมีการไปทำโพลล์ตามหลัง ก็อาจจะได้ผลว่าประชาชนมีความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามความคิดเห็นที่ถูกปั้นแต่งกันขึ้นมาชี้นำตั้งแต่ต้นในที่สุด

กลายเป็นกระบวนการปั้นแต่งความรู้สึกนึกคิด สร้างกระแสชี้นำสังคม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคู่แข่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

ในความเป็นจริง หาก ดร.นพดลต้องการจะแสดงจุดยืน แสดงความเห็นส่วนตัว เพื่อสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้หนึ่งผู้ใด ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถจะกระทำได้ แต่ไม่ควรแฝงมาในภาพของสำนักวิจัยโพลล์

ควรประกาศจุดยืน ร่วมรณรงค์ หรือแสดงความเห็นส่วนตัวอย่างชัดเจน โดยไม่ปะปนกับหน้าที่ในฐานะนักวิชาการที่ทำการสำรวจความเห็นของประชาชน เพราะหากกระทำเช่นนั้น จะนำความเสื่อมมาสู่เอแบคโพลล์ และทำให้สถาบันวิชาการที่มีคุณค่าอย่างมหาวิทยาลัยเอแบคอาจพลอยสูญเสียความน่าเชื่อถือไปด้วย
 
๖. ที่ผ่านมา มีผู้ทรงคุณวุฒิออกมาประกาศจุดยืน แสดงท่าทีสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้วหลายคน ที่ปรากฏว่าสนับสนุนและจะลงคะแนนให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ ผู้สมัคร เบอร์ ๑๖ เช่น พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร  ดร.เสรี วงษ์มณฑา คุณชัยวัฒน์  สุรวิชัย คุณมนตรี ศรไพศาล คุณชัย ราชวัตร

ล่าสุด อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. บนหน้าเฟซบุ๊ค Sulak Sivaraksa บอกว่า

“คือผู้ว่ากทม.ตัวเต็งมันมีอยู่สองคนใช่ไหม สุขุมพันธ์ เบอร์ ๑๖ กับ พงศพัศ เบอร์ ๙ คือ ๒ คนเป็นตัวเก็ง ไอ้คนอื่นน่าสนใจนะ แต่ผมเสนอว่าอย่าเลือกคนอื่น เพราะถ้าเลือกคนอื่นคะแนนจะหัวแหลกหัวแตก เพราะเวลานี้ต้องสู้ระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคดีเด่อะไร แต่พรรคทักษิณมันเหี้ยสุดๆ แล้วเวลานี้มันครองอำนาจอยู่ในบ้านเมืองแล้ว เรายอมให้มีผู้ว่ากทม.อีก แสดงว่าเราทั้งหมดแหย สยบกับมันทั้งหมดเลย ผมจึงอยากเสนอว่าใครก็ตามที่มีจิตสำนึกต่อต้านทักษิณ ต่อต้านเผด็จการ ต้องไม่ใช่ไม่เลือกเบอร์ ๙ อย่างเดียว ต้องเลือกสุขุมพันธ์ เพราะเป็นอันเดียวที่จะเอาชนะเผด็จการทักษิณได้ เพราะตอนนี้มันใช้ทุกทางเลย มันปั่นกระทั่งโพล ทำได้ทั้งหมด แล้วมันจะเอาเงินซื้อ อะไรต่าง ๆ ทักษิณมันพูดเลย เอาเสาไฟฟ้ามาลงก็ได้รับเลือก เพราะฉะนั้นผมว่า คนกรุงเทพต้องแสดงกึ๋นหน่อย คือสุขุมพันธ์ไม่ได้ดีวิเศษอะไรนักหนา ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ดีวิเศษนักหนา แต่ระหว่างเขาเลือก ภาษาฝรั่งเรียก the lesser evil มันจำเป็น ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับผม ไม่เป็นไร ผมอยากให้ปรากฏจุดยืนผมอยู่ตรงนี้” - ส.ศิวรักษ์
 
๗. สุดท้าย ผมขอยืนยันจุดยืนและความคิดเห็นส่วนตัวว่าทำไมผมจึงสนับสนุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ และต่อต้านผู้สมัครที่ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุน ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งนี้

(๑) เปรียบเทียบพรรคการเมืองหนึ่งสนับสนุนการเผาบ้านเผาเมือง ปลุกระดมให้คนออกมากระทำผิด สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหาย กับอีกพรรคการเมืองที่พยายามห้ามการเผาบ้านเผาเมือง ประคับประคองสถานการณ์ ระดมสรรพกำลังช่วยกันดับไฟ (ถูกพวกเผาบ้านเผาเมืองยิงสกัดด้วยซ้ำ) แถมช่วยล้างบ้านล้างเมือง ทำความสะอาดกองเถ้าถ่าน กอบกู้กรุงเทพฯ ... คิดง่ายๆ แค่นี้ จะเลือกใคร

(๒) พรรคการเมืองที่พยายามยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการต่าง ๆ นำโดยนักโทษหลบหนีคำพิพากษาของศาล ทุจริตโกงบ้านกินเมือง ซึ่งมีทั้งกองกำลังติดอาวุธ พรรคการเมือง และมีมวลชน กับอีกพรรคการเมืองที่สนับสนุนกระบวนการรัฐสภา ระบบยุติธรรม ไม่ขอล้างผิดให้ตัวเอง พร้อมสู้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ... จะเลือกใคร

(๓) พรรคการเมืองที่ครั้งน้ำท่วม อ้างว่าเอาอยู่ ไม่บอกความจริงของสถานการณ์แก่ประชาชน แต่กลับนำน้ำทะลักผ่ากลางเมือง เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ด้านซ้ายและขวากรุงเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของตนเอง แถมเอาการเมืองมาหาเสียงกับของบริจาค เปรียบเทียบกับพรรคการเมืองที่มีผู้ว่า กทม. ที่สนับสนุนให้คนกรุงออกมาปกป้องน้ำท่วมและเร่งระบายน้ำ เดินตากแดดหน้าดำ ร่วมทุกข์กับชาวบ้าน และช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม เดือดร้อน...จะเลือกใคร

(๔) พรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่ามีเถ้าแก่ใหญ่คอยบัญชาอยู่เบื้องหลัง ส่งหุ่นเชิดมาเป็นนายกฯ คุมผู้ว่าราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดความระแวงว่าจะส่งหุ่นเชิดมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้เป็นรัฐตำรวจโดยสมบูรณ์แบบ เปรียบกับผู้ว่าฯ สุขุมพันธ์ที่เป็นอิสระ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก มุ่งทำงานบริหารส่วนท้องถิ่นของ กทม.อย่างเป็นอิสระ มีผลงานไม่ขี้เหร่ เพียงแต่ไม่ใช่คนขี้คุย...  จะเลือกใคร

(๕) เปรียบเทียบผู้สมัครที่มีประวัติเคยขโมยวิทยุที่สหรัฐอเมริกา ทำตัวเป็นนายหน้าม้าใช้ชักจูงนักข่าวหญิง พยายามจะนำไปสังเวยนาย เห็นผู้หญิงเป็นเครื่องเซ่นนาย ลองเทียบดับคนที่พูดไม่เก่ง คุยโวไม่เป็น ไม่มีวาทศิลป์ ไม่เชี่ยวชาญงานประชาสัมพันธ์สร้างภาพ แต่เคยพิสูจน์ตัวเองในยามวิกฤติน้าสิ่วหน้าขวาน เคยเอาตัวเองเป็นตัวประกันผู้ร้ายที่ยึดสถานทูตพม่า... จะเลือกใคร

(๖) คนที่เรียนจบทางอาชญวิทยา จากมหาวิทยาลัยเดียวกับทักษิณ และมาเป็นตำรวจแบบที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส บอกว่าไม่เคยจับโจร เป็นตำรวจประชาสัมพันธ์ เอาแต่ออกทีวี แถลงข่าว จัดอีเว้นท์ สร้างภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เคยเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ร่วมฝ่าฟันวิกฤติ ทั้งจากการเผากรุง ทั้งจากน้ำท่วมกรุง ทำงานให้คนกรุงเทพฯ มาตลอดเวลา ๔ ปี  ... คิดง่าย ๆ บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ จะเลือกใคร

ทั้งหมด ผมได้คำตอบชัดเจนว่า เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ ผู้สมัครเบอร์ ๑๖ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครับ


จากคอลัมน์ตอบปัญหา "ขอคิดด้วยคน"
นสพ.แนวหน้า ๒๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"จดหมายถึงคนกรุงเทพฯ ๒ ล้านคนที่ไม่เคยออกมาเลือกตั้ง"
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์


การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีความสำคัญมากมายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อดูจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งดูจะเหมือนชะงักลงเกือบทุกอย่างเพื่อรอผลการเลือกตั้งก่อน ถึงขนาดที่ทำให้นายกฯ ต้องทิ้งงานหลายเรื่องลงมาหาเสียง ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเบอร์ ๙ ชนะก็เท่ากับคนกรุงเทพฯ ได้แสดงท่าทียอมรับการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ไปโดยปริยาย ดังนั้นการกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนำข้าว เขาพระวิหารก็จะเดินหน้าต่อไปได้ทันที


กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของคนไทยทุกจังหวัดไม่ใช่เฉพาะของคนกรุงเทพฯ เท่านั้น ประชากรของกรุงเทพฯ มีอยู่จริงๆ ประมาณ ๖ ล้านกว่าคน แต่มีคนจากจังหวัดอื่นๆ มาทำมาหากิน มาเล่าเรียนหนังสือโดยไม่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่อีกประมาณ ๕ ล้านคน มีคนต่างด้าวทุกสัญชาติอีกนับล้านคนที่มาอาศัยอยู่ทั้งถูกและผิดกฎหมาย กรุงเทพฯ จึงเป็นเมืองเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงคนทุกระดับ ทุกชนชั้น เสียงของคนกรุงเทพฯ จึงเป็นเสียงที่ชี้ขาดทางการเมืองตามไปด้วยโดยปริยาย


การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้าย (๑๒ มกราคม ๒๕๕๒) ให้ข้อเท็จจริงว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ๔,๑๕o,๑o๓ คน มาใช้สิทธิประมาณครึ่งหนึ่ง (๒,๑๒o,๗๒๑ คน) มีผู้ไม่มาใช้สิทธิเกือบ ๒ ล้านคน และคนกลุ่มนี้ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ จะไม่เคยออกมาใช้สิทธิเลยครับ เป็นแบบนี้ต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีแล้ว ผู้ชนะคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ ๙๓๔,๖o๒ คะแนน ที่ ๒ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ได้ ๖๑๑,๖๖๙ คะแนน ที่ ๓ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้ ๓๓๔,๘๔๖ คะแนน และที่ ๔ นายแก้วสรร อติโพธิ ได้ ๑๔๔,๗๗๙ คะแนน จะเห็นได้ว่าฐานคะแนนเสียงรวมของกลุ่มประชาชนที่น่าจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย (นายยุรนันท์ และม.ล.ณัฏฐกรณ์) กับคะแนนเสียงรวมของกลุ่มประชาชนที่น่าจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายแก้วสรร) นั้นใกล้เคียงกันมาก ชนะไปเพียงแสนกว่าคะแนนเท่านั้น (๑๓๓,๓๔๖) คะแนนส่วนนี้เกิดขึ้นช่วงที่ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ และเมษายน - พฤษภาคม ๒๕๕๓


ในระยะต่อมาฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในกรุงเทพฯ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. เพิ่มเติมขึ้นมาอีกจำนวนมาก ซึ่งสรุปได้ว่า “เป็นผลสืบเนื่องมาจากความรุนแรงจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงหลากหลายกลุ่มในกรุงเทพฯ” นั่นเอง


การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเกิดขึ้นใน ๓ มีนาคม ๒๕๕๖ นี้ จึงดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบจากฐานคะแนน ส.ส., ส.ก. และส.ข. ซึ่งมีมากกว่าเยอะ รวมถึงผลกระทบจากความรุนแรงเมื่อเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ยังไม่ได้จางหายไป แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฐานคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย (เบอร์ ๙) แม้จะน้อยกว่าเป็นแสนคะแนนแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ในทางกลับกัน ฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพวกที่ “คิดเองเป็น” กลับไม่คงที่ ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เบอร์ ๑o, ๑๑, ๑๖ และ ๑๗ เพราะผู้สนับสนุนทุกคนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะได้เปรียบมากที่สุดจากฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่หนุนหลังอยู่ จากกรณีนี้เองที่ทำให้เสียงสนับสนุนของเบอร์ ๑๖ ซึ่งมากกว่าเบอร์ ๙ อยู่แล้ว ถูกแบ่งแยกลดกลับลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ใครจะชนะก็ต้องรอให้ “เสียงในความเงียบ” เกือบ ๒ ล้านเสียงที่ไม่เคยออกมาเลือกตั้งเลย ต้องช่วยกันออกมาตัดสินชี้ขาด


สิ่งสำคัญคือรูปแบบการหาเสียงช่วง ๑๕ วันสุดท้าย ทางฝ่ายพรรคเพื่อไทย หาเสียงแค่มุ่งรักษาฐานเสียงเดิมของตนไว้เท่านั้น เพราะมั่นใจในฐานเสียงที่ไม่มีใครมาแย่งไป พร้อมกับสร้างความแปลกใจให้แก่ประชาชนไว้ก่อน จากกรณีที่พบเห็นว่า ป้ายหาเสียงของเบอร์ ๙ หายไปเกือบ ๕o% เห็นแต่ป้ายหาเสียงของเบอร์ ๑๖ เต็มกรุงเทพฯ ไปหมด เป็นจุดขายที่ทำได้ดีทีเดียว สามารถทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความสงสาร “ตำรวจ” ขึ้นมาได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงคึกคัก เดินหน้าอย่างเต็มที่ ระดมคนที่รักประชาธิปัตย์ออกมาหาเสียงแบบ “ฟ้าเต็มเมือง” ในรูปแบบที่สนุกสนานกันเองภายในกลุ่มคนรักประชาธิปัตย์ เช่น ทำเสื้อตบสีฟ้าเลียนแบบมือตบ, ตีนตบ ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการให้คนทุกหมู่ทุกเหล่ามาร่วมมือร่วมใจกัน ส่วนคนเสื้อเหลือง, คนที่เคยท้อต่อ กทม.แต่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย, คนวัยทำงาน, คนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากที่คิดจะลงคะแนนให้เบอร์ ๑๖ ก็เริ่มไม่สนุกด้วย เพราะดูเสมือนพวกเขาจะกลายเป็นส่วนเกินที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ กรณีนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จัดทีมเล็ก ๆ ลงไปพูดคุยกับคนกลุ่มนี้แบบธรรมดาๆ โดยไม่นำทั้ง “สีฟ้า” และ “สายล่อฟ้า” ลงไปด้วยแล้ว พวกเขาซึ่งพร้อมจะสนับสนุนอยู่แล้วก็จะเทคะแนนให้ง่าย ๆ


ความเป็นพรรคการเมืองที่ดี มีระเบียบ มีอาวุโส ทำอะไรที่เลว ๆ ไม่เป็น จึงทำให้รูปแบบการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มีลักษณะเป็นแค่การพูดคุยสังสรรค์ในวาระพิเศษกับผู้สนับสนุนพรรคเท่านั้นเอง ยุทธศาสตร์การหาเสียงจึงเป็นรองพรรคเพื่อไทยไปหลายขุม

ปัจจุบันเบอร์ ๑๖ ก็ยังมีคะแนนนำอยู่หลายหมื่น แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องตามปกติครับ โพลล์รับจ้าง, จักรยานยนตร์รับจ้าง, ตำรวจ, ทหารรับจ๊อบเต็มเมืองไปหมด ถ้าเกิดผิดพลาดเบอร์ ๙ ชนะขึ้นมาด้วยแผนการตลาดที่เหนือชั้นกว่า คิดกันดูให้ดี “จงใช้โหวตทางยุทธศาสตร์ให้กับผู้สมัครเบอร์เดียวเพื่อความปลอดภัยของพวกเราคนกรุงเทพฯ เถอะครับ”


จากคอลัมน์ "กระดานความคิด"
นสพ.คม ชัด ลึก ๒๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.เดิมพันวัดใจคนกรุง ปล่อยระบอบทักษิณยึดประเทศ"
ทีมข่าวการเมืองนสพ.แนวหน้า


โค้งสุดท้ายศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าเมืองหลวงครั้งนี้เข้นข้นขึ้นทุกขณะโดยสองพรรคตัวเต็งคือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต่างโหมงัดกลยุทธ์เข้าห้ำหั่นกันแบบไม่ยั้งก่อนถึงวันชี้ชะตา ๓ มี.ค.นี้

ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยภายใต้การบงการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำตัวจริงของรัฐบาลหุ่นเชิดทุ่มสุดตัวหวังยึดอำนาจเมืองหลวงให้จงได้ไม่ว่าจะต้องใช้ทุ่มเทเงินเท่าไหร่และหากไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล เพราะนี่คือแผนรุกคืบตามยุทธศาสตร์ปูทางไปสู่การผูกขาดอำนาจยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบทักษิณในอนาคต

นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมา ๑o กว่าปี ระบอบทักษิณเดินหน้ารุกคืบหมายยึดประเทศมาตลอด  จนปัจจุบันในฐานะรัฐบาลที่ยึดกุมกลไกอำนาจรัฐได้เดินแผนโยกย้ายล้างบางผลักดันคนของตัวเองเข้าไปคุมอำนาจในทุกหน่วยราชการ  รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่ในภาคเอกชนและประชาชนแทบจะทุกองคาพยพของประเทศ ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่หน่วยงานที่รอดพ้นจากการเข้าครอบงำแผ่ขยายอิทธิพลของระบอบทักษิณ ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานนั้นก็คือ กรุงเทพมหานคร อันเป็นหนามยอกอกที่ระบอบทักษิณยังไม่เคยประสบชัยชนะในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แม้แต่ครั้งเดียว

ศึกชิงผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงทุ่มเทมากและวางแผนเดินเกมด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นโดยเฉพาะการกำหนดตัว พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ  ในการลงสู้ศึกยึดอำนาจเมืองหลวงครั้งนี้ ซึ่งด้วยความพร้อมในทุกด้านโดยเฉพาะกลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่ ประกอบกับยุคตกต่ำของคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถปักธงยึดเก้าอี้ผู้ว่าเมืองกรุงได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ถึงกับประกาศอย่างอหังการว่า แม้จะส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ชนะการเลือกตั้งแน่นอน

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยึดอำนาจเมืองหลวงให้ได้ รัฐบาลหุ่นเชิดภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระดมทั้งรัฐมนตรี สส. แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง สส. สก.และ สข.รวมทั้งใช้กลไกอำนาจรัฐทุกวิถีทางทุ่มช่วย พล.ต.อ.พงศพัศ แบบสุดตัว

ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จัดแคมเปญหาเสียงใหญ่ทิ้งทวนที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วยการระดมผู้อาวุโสของพรรคมาร่วมเปิดตัวหาเสียงให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์อย่างคึกคักคับคั่งโดยเฉพาะ  นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย นายมารุต บุนนาค อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วัย ๘๙ ปี  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรี

บิ๊กแคมเปญทิ้งทวนของพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนภาพความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นจุดแข็งสำคัญของพรรคและสถาบันการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศพรรคนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนภาพเชิงเปรียบเทียบที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิงกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่มีแกนนำสำคัญคือ  น.ส.ยิ่งลักษณ์  พล.ต.อ.พงศพัศ โดยมีเงาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งภาพที่ตัดกันนี้อาจจะเป็นตัวแปรที่คนกรุงใช้ในการตัดสินใจ

ขณะที่หนึ่งในไฮไลท์การหาเสียงแบบทิ้งทวนในโค้งสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือคำปราศรัยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ถึงกับวัดใจคนกรุงด้วยการชี้ว่า หากปล่อยให้ระบอบทักษิณยึดเมืองหลวงเท่ากับเดิมพันยึดภาคใต้และยึดประเทศในที่สุด พร้อมทั้งตอกย้ำความทรงจำเหตุการณ์ก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓ โดยการบงการของผู้ที่ นายสุเทพ เรียกว่า “สัตว์ร้ายทางการเมือง”

เพราะฉะนั้นคงต่อรอวัดใจชาวกรุงในวันที่ ๓ มี.ค.นี้ว่าจะยอมให้เมืองหลวงถูกยึดและเดิมพันด้วยการยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยขบวนการที่คิดเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในอนาคตหรือไม่


จากคอลัมน์ "ผ่าประเด็นร้อน"
นสพ.แนวหน้า ๒๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"ตาดี เลือกได้ผู้ว่าฯ ตาร้าย เลือกได้ทักษิณ"
สารส้ม


ช่วงโค้งสุดท้าย การต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงในสนามเลือกตั้ง กทม.กำลังเข้มข้น
ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีความหมายมากกว่าการเลือกผู้บริหารกรุงเทพฯ ธรรมดา
โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย คู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันอย่างสูสี ดูจะเหลือแค่สองคน
 

๑) การพนัน

ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายณัฎฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแจ้งเบาะแสว่า ขณะนี้มีการเปิดรับแทงพนันด้วยราคาต่อรองที่แปลกประหลาด เช่น ถ้าแทงว่าหมายเลข ๙ ชนะ แทงร้อยจะจ่ายสูงถึง ๕oo เป็นต้น

ทั้งๆ ที่ โพลล์บอกว่าคะแนนนิยมสูสีกับเบอร์ ๑๖ เพราะฉะนั้น ราคาต่อรองก็ควรจะใกล้เคียงกัน
แต่การเปิดอัตราพนันเช่นนี้ เท่ากับเป็นการจูงใจให้คนแทงเบอร์ ๙ แล้วลงคะแนนให้เบอร์ดังกล่าว เพราะตนเองมีผลประโยชน์ได้เสียร่วมไปกับชัยชนะนั้น
 

๒) ทักษิณจะยึดอำนาจกรุงเทพฯ เบ็ดเสร็จ

ประเด็น “เผาบ้านเผาเมือง” - “ต่อต้านระบอบทักษิณ” เริ่มกลับมาอยู่ในการพิจารณาของคนกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาต้องตกเป็นเหยื่อของการทำสงครามการเมือง-สงครามกลางเมืองของระบอบทักษิณ

แม้ฝ่ายทักษิณพยายามจะตีกรรเชียงหนี โดยอ้างว่า “มุกเก่า” – “คนไม่สนใจแล้ว” ฯลฯ แต่นั่นก็เป็นเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงที่ทักษิณไม่อยากจะให้คนไทยจดจำ อยากให้ลืม เพื่อว่าการนิรโทษกรรม ลบล้างความผิดให้ทักษิณและพรรคพวกจะได้ง่ายขึ้น

จะว่าไปแล้ว คนที่เป็นฝ่ายแสดงออกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เลือกตั้งผู้ว่าฯ ปกติ แต่ยังเกี่ยวข้องกับการที่ทักษิณจะได้กลับประเทศโดยไม่ต้องรับผิด  ได้ลบล้างคดีหรือนิรโทษกรรมทั้งปวงนั้น ไม่ใช่การใส่ร้ายหรือคิดเองเออเองของใครที่ไหน แต่เป็นเสียงประกาศมาจากทักษิณ ชินวัตรเอง

วันที่ ๒๖ ม.ค. ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๕๕ น. ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินเข้ามาปราศรัยที่สนามหญ้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า อ.เมืองอุบลราชธานี บนเวทีเวทีรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบจัดการจากนักการเมืองพรรคเพื่อไทย โดยทักษิณขอให้คนเสื้อแดงที่มีญาติพี่น้องอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วยบอกญาติให้เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคจะได้ยึดครองกรุงเทพฯ ได้เบ็ดเสร็จ เพื่อให้ตนเองได้มีโอกาสกลับบ้านด้วย

สะท้อนว่า การยึดอำนาจกรุงเทพฯ เบ็ดเสร็จ ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งในยุทธศาสตร์เอาพี่กลับบ้าน หรือเอาทักษิณกลับบ้าน โดยไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาล และลบล้างหรือนิรโทษกรรมคดีต่างๆ ด้วย
 

๓) ขวัญชัยโมเดล

คำถามว่า ทำไมทักษิณต้องการยึดอำนาจกรุงเทพฯ เบ็ดเสร็จ?

คำตอบสะท้อนชัดผ่านถ้อยแถลงของนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำแดงอุดร หนึ่งในบริวารผู้รับใช้ทักษิณ ชินวัตร อย่างออกหน้าออกตาที่สุดคนหนึ่ง

นายขวัญชัยได้ “ลากไส้” การแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐ ใช้ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตนเอง รวมทั้งการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ผ่านการบริภาษประธาน นปช. และหมอเหวง ผู้เป็นสามีของนางธิดา

“หมอเหวงไม่ใช่เลือดแท้อยู่แล้ว อย่าให้พูด พวกมึงนั่นแหละจะพัง กูไม่พังหรอก เพราะมีแต่ประโยชน์ ไอ้ตำแหน่งการเมือง ๓o ตำแหน่ง รับมาแจกจ่ายกันยังไม่พออีกหรือ กูไม่เคยสนใจตำแหน่งพวกนั้น ยอมรับว่ามีปัญหากับยัยธิดาคนเดียว คนอื่นไม่รู้พวกมึงจะเสือกออกมาทำไม ทั้งไอ้ตู่ ไอ้นิสิตออกมาพูด แล้วเป็นไง สุดท้ายก็ออกมาขอโทษ จตุพรไปเวที จ.หนองบัวลำภู ไปพูดกับแกนนำเสื้อแดงบอกกับพี่ขวัญชัยไม่มีอะไร แค่แหย่กันเล่น อ้าวไอ้ห่า ไม่ได้ มึงอายุ ๔o กว่า กู ๖o กว่าแล้ว มีอะไรทำไมไม่ยกหูหา...
.
..อีกอย่าง ขอเตือนในฐานะคนรักกัน คนรอบข้างไอ้ตู่ เชียร์มันจัง ดันมันจังให้เป็นรัฐมนตรี โดยไม่รู้เลยว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ถูกหมายหัวเอาไว้ ๒ คน คือจตุพรและ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ห้ามเป็นรัฐมนตรีเด็ดขาด เพราะคำปราศรัย ดังนั้น อย่าไปเชียร์กันมากเลย ต่อให้หมดอายุรัฐบาลนี้ก็ไม่มีทางได้เป็น แล้วไอ้นิสิต (สินธุไพร ผอ.นปช.แดงทั้งแผ่นดิน) พูดได้อย่างไรว่ากูหาประโยชน์ มึงนั่นแหละ อย่าให้กูพูดบ้าง ไปรับงานรัฐบาลมากี่โครงการแล้ว อำมาตย์เยอะกันเหลือเกินนะในเสื้อแดง โอ้โห!”

ก่อนหน้านี้ ได้ปรากฏข่าวว่า นายขวัญชัยเคยป่าวประกาศถึงอำนาจและความสำคัญของตนเองที่มีต่อทักษิณ โดยบอกว่าเคยให้การช่วยเหลือนายตำรวจทั้งยศผู้กำกับ ผู้การหลายคนในหลายจังหวัดภาคอีสาน ช่วยเซ็นต์รับรองให้บินไปพบดูไบ เพื่อวิ่งเต้นขอย้าย บางจังหวัดจะย้ายผู้ว่าฯ คนดูไบก็จะต้องถามตนเองก่อน แถมยังได้รับเงินจากข้าราชการตำรวจและปกครองเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงขบวนการเสื้อแดง 

สะท้อนให้เห็นว่า ในพื้นที่จังหวัดที่ผู้ว่าฯ ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลน้องสาวของทักษิณนั้น ระบอบทักษิณสามารถจะยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ปล่อยให้บริวารกัดแทะ แสวงหาผลประโยชน์ รวมทั้งได้มีการใช้อำนาจรัฐบาลตอบแทนบริวารเป็นตำแหน่ง และผลประโยชน์ในโครงการของรัฐทั้งหลายอย่างประเจิดประเจ้อขนาดไหน

ยิ่งทำให้คนกรุงเทพฯ คิดหนักว่า หากทักษิณส่งเสา ๆ ไฟฟ้าชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เข้าจริงๆ สภาพการบริหารของกรุงเทพฯ ก็คงไม่ต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่ระบอบทักษิณตั้งผู้ว่า และมีเหลือบเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์แบบไร้รอยต่อกันอย่างไร

ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. หรือตำแหน่งบริหารอื่นๆ ก็อาจจะได้เห็นการปูนบำเหน็จ ตอบแทนเป็นรางวัลแด่คนที่รับใช้ทักษิณ โดยไม่สนใจความเหมาะสมหรือความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับที่นายขวัญชัยแฉว่ามีการใช้ตำแหน่งตบรางวัลให้กันไม่น้อยกว่า ๓o ตำแหน่ง

เจ้าหน้าที่ กทม. จะทำหน้าที่ตรงไปตรงมาลำบาก เพราะต้องมีนายหลายคน ซึ่งก็คือบรรดาแกนนำเสื้อแดงทั้งหลาย ถ้าเป็นไปตาม “ขวัญชัยโมเดล” ก็จะต้องพาเหรดกันเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จาก กทม.

แทนที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง กทม.จะทำงานรับใช้คนกรุงเทพฯ ก็จะต้องทำงานรับใช้ทักษิณ!
 

๔) การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คนกรุงเทพฯ จึงต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
ทันเกมของฝ่ายทักษิณ

เลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี ๒๕๕๒ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ๙๓๔,๖o๒ คะแนน
ในขณะที่นายยุรนันท์ ภมรมนตรี พรรคเพื่อไทย ๖๑๑,๖๖๙ คะแนน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระ ๓๓๔,๘๔๖ คะแนน และนายแก้วสรร อติโพธิ ๑๔๔,๗๗๙ คะแนน

หากคะแนนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เกิดถูกแซะกระจายออกไปเลือกผู้ที่มีคะแนนนิยมอันดับ ๓ หรือ ๔ มากขึ้น ผู้สมัครของทักษิณก็สามารถจะชนะเลือกตั้งได้ทันที

ในรูปการนี้ สำหรับคนที่ไม่เอาทักษิณอยู่แล้ว การลงคะแนนให้ผู้ที่มีคะแนนนิยมอันดับที่ ๓ หรือ ๔ ก็เสมือนช่วยให้ฝ่ายทักษิณประสบความสำเร็จในทางอ้อม

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกลวิธีต่างๆ ที่อิงแอบอำนาจรัฐบาล ทยอยถูกงัดออกมาใช้ ทั้งเงินกองทุนประชานิยมชุมชนเมือง ทั้งนโยบายประชานิยมที่อาศัยอำนาจรัฐบาลช่วยหาเสียง ทั้งอิทธิพลอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อในเครือข่ายทักษิณ ฯลฯ ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มคะแนนให้กับคนของทักษิณ

เพราะฉะนั้น เลือกตั้งครั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้... คนกรุงเทพฯ ถ้าตาดีได้ผู้ว่าฯ แต่ถ้าตาร้าย เกิดตัดสินใจผิด แม้จะเลือกคนที่ตนเองชอบก็ตาม ก็อาจจะได้(ขี้ข้า)ทักษิณมาแทน จะเป็นการช่วยเอากรุงเทพฯ เข้าไปเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่ง รองตีนให้ทักษิณยึดประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างแท้จริง


จากคอลัมน์ "กวนน้ำให้ใส"
นสพ.แนวหน้า ๒๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"คนกรุงจะเลือกใช้คนทำงานจริง หรือทำงานด้วยปาก"
รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ


การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามวันข้างหน้า

จากจำนวนผู้สมัคร ๒o กว่าคนที่เสนอตัวรับใช้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ อาจจำแนกได้ ๒-๓ กลุ่ม กล่าวคือ

กลุ่มแรกสมัครเพื่อให้สังคมรู้จัก เพราะทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจตนเองว่า คงไม่ได้รับเลือกผู้สมัครกลุ่มนี้เปรียบเสมือนไม้ประดับ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่กล่าวได้ว่ามีคุณภาพทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ (แต่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง) และมีความเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวในอนาคต สำหรับครั้งนี้ยังไม่ถึงเวลา ถ้าอยากมีตำแหน่งหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร น่าจะร่วมกับผู้สมัครที่เป็นตัวเก็งในตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. เพื่อสร้างผลงาน แล้วการเลือกตั้งคราวต่อไป จะมีโอกาสได้รับเลือกตั้ง

ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง คือ ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน กับ พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ (ผู้ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตัวจริง กล่าวว่าตัวแทนเสาไฟฟ้า) ที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุน

ผู้สมัครทั้งสองนั้น ถ้าดูจากภูมิหลังทั้ง ชาติวุฒิ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ จะเห็นว่า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงในความกล้าหาญในการยอมเสนอตัวเป็นตัวประกันสมัยที่กลุ่มกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่า ทั้งเคยเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่ทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศ รวมทั้งสมัยเรียนในต่างประเทศและทำงาน

ข้อด้อย คือ ไม่ใช่นักประชาสัมพันธ์ ทั้ง ๆ ที่มีผลงานมาก โดยเฉพาะงานในหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้วางรากฐานสำหรับงานกรุงเทพมหานคร เพื่อสนองตอบความต้องการของชาวกรุงเทพมหานครในอนาคต

ส่วนพลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ คุณวุฒิเป็นตำรวจนักประชาสัมพันธ์ เคยได้รับทุนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข่าวเรื่องพฤติกรรมบางประการในขณะที่ศึกษาอยู่ที่นั่น มีจุดเด่นที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ ผลงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการประชาสัมพันธ์มากกว่าปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี การบริหารงานของกรุงเทพมหานครนั้นมีอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ที่มีลักษณะพิเศษ และมีรายได้ของตนเองกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล งานส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ และผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯทั้งคนไทยที่มาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศกิจกรรมของกรุงเทพมหานครมีหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นงานที่ตอบสนองกับประชาชนในทางสังคมและสุขภาพ ฉะนั้นผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะต้องรอบรู้และเข้าใจในพันธกิจของกรุงเทพมหานครอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ใคร่ขอให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้โปรดคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของสังคมไทยขณะนี้ควบคู่ไปกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย

โดยถ้าผู้มีสิทธิลงคะแนนจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่มีโอกาสรับใช้ไม่เฉพาะชาวกรุงเทพฯ แต่จะรวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศด้วย (เพราะเขาไม่มีสิทธิลงคะแนน) รวมถึงขอให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้ว่าราชการฯ ในอนาคตที่จะต้องเกี่ยวข้องกับโลกมากยิ่งขึ้น จึงต้องพิจารณาผู้ที่สามารถเป็นตัวแทนของเราได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่มีพฤติกรรมและประวัติด่างพร้อย และมีความเป็นตัวของตัวเองตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เป็นอิสระ โดยไม่ถูกครอบงำจากรัฐบาล มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นไปตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจงโปรดใช้วิจารณญาณเลือกผู้สมัครฯ ที่ทำงานจริง มิใช่ทำงานด้วยปาก หรือหาเสียงในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะเกินกว่าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ถ้าเลือกผิดก็เป็นกรรมของประชาชน ถ้าหลงคำพูดของนักทำงานด้วยปาก จะต้องเจ็บใจซ้ำสองเพราะจะถูกอ้าง ดังที่นักการเมืองใหญ่ฝ่ายรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เคยกล่าวเป็นอมตะวาจาไว้ว่า “เป็นเทคนิคในการหาเสียง”


จากคอลัมน์ "กวนใจให้สะอาด"
นสพ.แนวหน้า ๑๘ ม.ค. ๒๕๕๖



บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2556
0 comments
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 20:40:09 น.
Counter : 4048 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.