Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
29 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ความซื่อสัตย์ ความดี ที่ไม่เสื่อมคลาย


ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ความซื่อสัตย์ ความดี ที่ไม่เสื่อมคลาย



สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือ ทรงรับ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ มูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ไว้ในพระอุปถัมภ์

ณรงค์ สุ่นปาน ประธานประชา สัมพันธ์และการตลาด โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าว่า ภายในบริเวณโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีตึกที่สำคัญ คือ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นตึกที่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อม อภัยวงศ์) ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดาของพระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ์ (ช่วง อภัยวงศ์) ผู้รับมรดกบ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ จ.ปราจีนบุรี เพราะเป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ที่อาวุโสกว่าคนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ถวายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แด่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระนางเจ้าฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


“เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต อาคารและที่ดินนี้ ได้เป็นสมบัติตกทอดยังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานคืนแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โดยพระนางเจ้าฯ ทรงเห็นว่า ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนี้ ผู้สร้างมิได้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้พักอาศัยเอง หากประสงค์จะใช้รับเสด็จและถวายเป็นที่ประทับแรมเฉพาะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น จึงประทานให้ทางราชการเพื่อใช้ในการประโยชน์สาธารณะเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ โดยในปี พ.ศ. 2480 ได้ประทานให้แก่มณฑลทหารบกที่ 2 ปราจีนบุรี จัดปรับปรุงให้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลทหารและประชาชนในละแวกใกล้เคียง”

ต่อมากรมสาธารณสุขซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เห็นว่า สมควรที่จะสร้างเป็นโรงพยาบาลที่ จ.ปราจีนบุรี และเห็นว่าที่ดินและตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเหมาะสมที่จะสร้างเป็นโรงพยาบาล เนื่องจากสะดวกแก่การคมนาคม จึงได้เจรจาขอจากกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้ตกลงมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นได้มีการปรับปรุงให้เป็นโรงพยาบาล โดยเปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลปราจีนบุรี และจารึกชื่อตึกว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร


ณรงค์ เล่าต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป 25 ปี หลังจากเปิดโรงพยาบาลปราจีนบุรีมา ทางสภาจังหวัดปราจีนบุรีได้ประชุมลงมติให้ทางราชการจังหวัดปราจีนบุรีขอเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509 ด้านกระทรวงสาธารณสุขจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จฯ ทรงเปิดป้ายโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานพร้อมกันนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับโรงพยาบาลแห่งนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์

“นับจากนั้นมา ตึกอภัยภูเบศรได้ใช้เป็นโรงพยาบาลเรื่อยมาจนในปี พ.ศ. 2513 นพ.สุจินต์ ผลากรกุล ผอ.โรงพยาบาลในขณะนั้น เห็นว่าตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ จึงทำการบูรณะตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้กลับสู่สภาพเดิมมากที่สุด โดยมีการปรับปรุงผนังห้องต่าง ๆ หล่อกุญแจประตูทองเหลืองทดแทนอันที่ชำรุดให้ดูเหมือนเดิม และเปิดใช้ตึกเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น เช่น รับเสด็จงานมงคลสมรสของเจ้าหน้าที่”


จากนั้นในปี พ.ศ.2536 ได้มีการจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศรขึ้น มีการปรับปรุงและซ่อมแซมตึกอีกครั้งหนึ่ง โดยภายในพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น จะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ตำรับ ตำรายาดั้งเดิมของไทย รวมทั้งเครื่องมือ เทคโนโลยีในการผลิตยาในอดีต ทั้งยังรวบรวมตัวอย่างพืชสมุนไพรที่ใช้ในอดีตไว้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัยในอนาคต

นอกจากนี้ ยังรวบรวมวัฒนธรรมการรักษาพยาบาลของไทยในอดีตไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจะก่อประโยชน์ทั้งทางด้านการศึกษา การสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ กล่าวได้ว่า ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศรเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี

ณรงค์ ยังได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณว่า “เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จฯจากประเทศอังกฤษ นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2502 ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่อุปการะกิจการของโรงพยาบาลอภัยภูเบศรนี้เป็นอย่างยิ่ง ทรงมุ่งหวังให้เป็นโรงพยาบาลที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยให้กับประชาชนทุกชนชั้น โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมกิจการของโรงพยาบาลหลายครั้ง และทรงพระกรุณาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงโรงพยาบาลอยู่เป็นเนือง ๆ ตราบจนสิ้นพระชนม์”

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มิใช่เพียงมีคุณค่าในฐานะที่เป็นอาคารเก่าแก่ เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเสมือนเป็นตัวแทนแห่งความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ของท่านเจ้าของตึก ที่เป็นอนุสรณ์เตือนสติให้กับบรรพชนคนรุ่นหลังได้นำมาเป็นแบบอย่าง อันมีความหมายและคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงตระหนักเป็นอย่างดีและทรงเจริญรอยตามมาโดยตลอด.

“เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จฯจากประเทศอังกฤษ นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2502 ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่อุปการะกิจการของโรงพยาบาลอภัยภูเบศรนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมกิจการของโรงพยาบาลหลายครั้ง และทรงพระกรุณาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงโรงพยาบาลอยู่เป็นเนืองๆ ตราบจนสิ้นพระชนม์”

ประวัติตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ได้สร้างตึกใหญ่โต สง่างาม ที่ต่อมามีนามว่า “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ขึ้นในปี พ.ศ. 2452 โดยบริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ซึ่งสร้างแบบเดียวกันกับตึกของท่านที่พระตะบอง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาร็อค มีลักษณะเป็นตึกสองชั้นก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องสี่เหลี่ยมลอนเล็กที่สั่งมาจากฝรั่งเศส ด้านหน้าตรงกลางหลังคาเป็นโดมที่ยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางลม ทำด้วยโลหะเป็นรูปไก่

ภายในตัวอาคารแต่ละชั้นแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ด้านหน้าของห้องโถงใหญ่ชั้นบนทำเป็นดาดฟ้า วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนนำมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ลวดลายปูนปั้นส่วนใหญ่ของตึกหลังนี้ จะเป็นลวดลายขนาดเล็ก อ่อนไหว ตามซุ้มประตู หน้าต่าง เสา ขื่อ คาน ล้วนตกแต่งด้วยลวดลายพรรณพฤกษาที่แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวในลักษณะโค้งงอ หรือม้วน แต่มีเพียงลายปูนปั้นที่เสาประดับใต้หน้าบันเท่านั้นที่ี่มีสัญลักษณ์ของความเป็นไทย คือ ทำเป็นรูปช้าง นอกเหนือไปจากการตกแต่งลวดลาย ปูนปั้นตามตัวอาคารต่าง ๆ แล้ว ยังตกแต่งเพดานด้วยภาพเขียนสีปูนเปียก เป็นลวดลายพรรณพฤกษาอันอ่อนหวานและวิจิตร งดงามยิ่งนัก


เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ มีเจตนารมณ์สร้างตึกหลังนี้ขึ้นเพื่อจะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับแรม แต่ไม่ทันเพราะเสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์จึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสใช้ตึกหลังนี้เป็นที่รับเสด็จได้อย่างเรียบร้อยและสมพระเกียรติ


นอกจากใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 6 แล้ว ยังได้ใช้รับเสด็จเชื้อพระวงศ์ในสมัยต่าง ๆ รวมถึงรับเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พักส่วนตัวของท่านเลยตราบจนท่านถึงแก่อสัญกรรม ในปี พ.ศ.2465 จึงได้มีการจัดตั้งศพของท่านไว้ชั้นบนของตึก เพื่อตั้งบำเพ็ญกุศลเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพระราชทานเพลิงศพ

ปัจจุบันตึกหลังนี้ได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี โดยห้องที่งดงามเป็นอย่างมาก คือ ห้องโถงกลางชั้นล่างซึ่งยังคงลักษณะการตกแต่งภายในแบบเดิมอยู่ครบถ้วนตั้งแต่ลวดลายกระเบื้องปูพื้นภาพเขียนสีปูนเปียกบนเพดาน และลายปูนปั้นหัวเสาปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ของใช้ประจำตัว ตลอดจนพระฉายาลักษณ์พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นหลานปู่และหลานทวดของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์


ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแห่งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2533


คลิกเข้าชมภาพและรายละเอียดที่นี่ขอรับ




 

Create Date : 29 มีนาคม 2555
0 comments
Last Update : 29 มีนาคม 2555 17:53:15 น.
Counter : 1814 Pageviews.


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.