Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระจริยาวัตร “นิยมไทย”


สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระจริยาวัตร “นิยมไทย”



สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้า    สุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุขึ้น มีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นัก พระบาทสมเด็จ     พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชดำริให้นำสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีความเจริญด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน

จากนั้น ในปี พ.ศ.2502 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร โดยทรงประทับ ณ วังรื่นฤดี เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร ตลอดพระชนม์ชีพ ถึงแม้พระองค์จะเสด็จประทับต่างประเทศมานานกว่า 20 ปี แต่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรู้จักคุ้นเคยกับบรรดาคนไทยผู้ที่เคยไปศึกษาและทำงาน ณ ประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตาพระราชทานพระวโรกาสให้บุคคลต่าง ๆ เฝ้าใกล้ชิดมาโดยตลอด



สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงมีพระจริยาวัตรที่เรียบง่าย ไม่ถือพระองค์ พระนิยมและภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทย ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงโปรดเครื่องใช้รวมถึงฉลองพระองค์ที่ผลิตในประเทศไทย และทรงรับสั่งภาษาไทยอย่างถูกต้องชัดเจนเสมอ โดยจะมีรับสั่งภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสกับชาวต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันในหมู่   ข้าราชบริพารว่าพระองค์ไม่โปรดให้ผู้ใดกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงโปรดอาหารไทยเป็นอย่างยิ่ง

คนึงนิตย์ ปุ่งคำน้อย หัวหน้าห้องเครื่องวังรื่นฤดี เล่าถึงพระจริยาวัตรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ให้ฟังว่า พระองค์ท่านทรงตื่นบรรทมราว 6-7 โมงเช้า หลังจากนั้น ทรงเปิดวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อทรงฟังข่าวและทรงเทียบเวลาในข้อพระหัตถ์และนาฬิกาทุกเรือน แต่ก่อนนี้มักจะทรงแกว่งพระกรด้วย แต่มา  ระยะหลังไม่ทรงแกว่งแล้ว จากนั้นจะเข้าห้องสรงน้ำและแต่งพระองค์


หลังจากนั้น เสด็จไปที่ห้องพระเพื่อทรงถวายเครื่องสังเวยพระกระยาหารเช้าแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ในเวลา 9 โมงเช้า  โดยส่วนมากแล้วจะเสวยพระกระยาหารเช้าเป็นขนมปังฝรั่งเศสหั่นบาง ๆ แล้วนำไปอบ รวมทั้งไข่ต่าง ๆ บางวันจะเป็นไข่ดาว บางวันจะเป็นไข่ลวก ไข่สอดไส้ รวมทั้ง หมูแฮม และพระสุธารสชา เพียงเท่านี้

หลังจากนั้น เสด็จขึ้นชั้นบน ทรงงานตามลำพังโดยจะทรงถักผ้าพันคอเพื่อพระราชทานทหารตำรวจชายแดน หรือ แรงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ ทรงซ่อมฉลองพระองค์เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทรงติดกระดุม ทรงสอยชายฉลองพระองค์ เมื่อถึงเวลา 10.30-11.30 น. ทรงโปรดให้ผู้ที่ประสงค์ขอเข้าเฝ้าฯ เฝ้าฯได้ในช่วงเวลานี้ ต่อมาในเวลา 11.30 น. เสด็จเข้าห้องพระถวายเครื่องสังเวยพระกระยาหารกลางวันแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสุวัทนาฯ



“สำหรับเครื่องเสวยในตอนกลางวัน ซึ่งจะเสวยในเวลา 12.00 น. โดยทรงสั่งรายการพระกระยาหารด้วยพระองค์เอง ซึ่งในแต่ละวันจะมีรายการพระกระยาหารหลักที่แตกต่างกันไป โดยในวันจันทร์ จะเป็นยำส้มโอ ปลาจะละเม็ดทอด วันอังคาร ข้าวคลุกกะปิ ส่วนวันพุธ เป็นก๋วยเตี๋ยวบก หรือปั้นหอย วันพฤหัสบดี เป็น ข้าวเหนียวส้มตำไก่ย่าง ลาบ น้ำตก ถ้าหน้าร้อนจะเปลี่ยนเป็น ข้าวแช่ สลับกัน

วันศุกร์ เครื่องเสวยกลางวันจะเป็นเย็นตาโฟ ส่วนตอนค่ำจะเป็นแสร้งว่ากุ้ง วันเสาร์ ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวหมู ถ้าเป็นเมนูก๋วยเตี๋ยวพระองค์ท่านจะเสวยได้หมดเพราะทรงโปรด สุดท้าย วันอาทิตย์ จะเป็นข้าวผัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัดสับปะรด ข้าวผัดปู อาหารส่วนใหญ่ที่พระองค์ท่านรับสั่งมานั้นล้วนแต่เป็นอาหารไทย”


นอกจาก พระกระยาหารหลักที่ทรงทำเป็นตารางไว้ให้แล้ว จะมีพระกระยาหารที่ตั้งโต๊ะเสวยอีก 5-6 อย่าง ทั้งกลางวันและเวลาค่ำ ซึ่งมีทั้งแกง ปลาทอด ผัดต่าง ๆ หรือยำต่าง ๆ ร่วมด้วย ตรงนี้แล้วแต่ว่าทางห้องเครื่องจะจัดถวาย ซึ่งจะจัดถวายพร้อมพระกระยาหารหลักในแต่ละวันที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งไว้ ส่วนเครื่องเสวยในเวลาค่ำ ก็แล้วแต่ห้องเครื่องจะจัดถวายไม่ทรงรับสั่งอะไรเป็นพิเศษ จะมีก็แต่วันศุกร์ในพระกระยาหารค่ำที่รับสั่งว่า จะต้องมีแสร้งว่ากุ้ง กับผักต้มที่เสวยคู่กับแสร้งว่ากุ้ง และไก่ทอด


หัวหน้าห้องเครื่องวังรื่นฤดี เล่าต่อว่า พระกระยาหารที่ต้องมีเป็นประจำเพราะทรงโปรดมาก คือ กระเพาะปลาทอดจิ้มน้ำพริกกะปิ โดยจะเสวยหลังเสวยพระกระยาหารแล้วทุกมื้อ ทั้งตอนกลางวันและตอนค่ำ    แต่ในวันพฤหัสบดีช่วงกลางวันเมื่อเสวยก๋วยเตี๋ยวจะไม่เสวยอะไรแล้ว พระองค์ท่านทรงไม่โปรดพระกระยาหารรสหวาน อย่าง น้ำพริกกะปิก็จะต้องทำไม่ให้หวาน หลังเสวยพระกระยาหารแล้ว พระองค์ท่านจะไม่โปรดของหวาน แต่จะทรงโปรดผลไม้มากกว่า โดยเฉพาะเชอร์รี่จะโปรดมาก

“พระองค์ท่านจะเสวยอีกครั้งในเวลา 16.00 น. จะเสวยเครื่องว่าง ซึ่งมีผลไม้ 1 อย่าง และน้ำผลไม้ 1 อย่าง สำหรับผลไม้ที่เสวยส่วนมากจะเป็น มังคุด เชอร์รี่     สตรอเบอรี่ แอปเปิล ส่วนผลไม้ที่มีกลิ่นจะไม่ทรงโปรด พระองค์ท่านจะเสวยก่อนทรงพระดำเนินรอบตำหนักที่ประทับวันละ 4 รอบ ในเวลา 16.30-17.30 น.”




สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสวยพระกระยาหารค่ำในเวลา 19.00 น. โดยทรงรับ
สั่งล่วงหน้าเป็นบางวัน หากมีพระประสงค์จะเสวยสิ่งใดเป็นพิเศษ ถ้าไม่เช่นนั้นก็สุดแล้วแต่ทางห้องเครื่องจะจัดถวาย หลัง       จากเสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงโปรดเสวย  ไอศกรีมเชอร์เบท โดยจะเสวยทั้งกลางวันและเวลาค่ำ ๆ

“ถ้าพระองค์ท่านทรงโปรดอะไรจะตรัสกับนางพยาบาลที่ดูแลว่าเมนูนี้อร่อยเหลือเกิน นางพยาบาลก็จะลงมาบอก เมื่อได้ยินก็ดีใจและจำไว้ว่าพระองค์ท่านทรงโปรดอะไรเป็นพิเศษ หรือเมื่อนำเครื่องเสวยลงมาก็จะดูว่าพระกระยาหารใดเสวยหมดก็จะจดเอาไว้ และหากพระองค์ท่านจะเสวยสิ่งใดเป็นพิเศษจะบอกนางพยาบาลแล้วนางพยาบาลจะมาบอกที่ห้องเครื่องอีกทีหนึ่ง พระองค์ท่านทรงมีพระจริยาวัตรเรียบง่าย เรื่องอาหารพระองค์ท่านจะไม่ทรงตรัสอะไร สามารถเสวยได้ตามที่ห้องเครื่องจัดถวาย แต่อย่าให้มีรสหวานจัดเท่านั้น”


คนึงนิตย์ พูดต่อด้วยเสียงสั่นเครือก่อนเสร็จสิ้นการให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านเห็นหน้าจะตรัสถามว่าใคร เมื่อตอบพระองค์ท่านไปว่า คนึงนิตย์เพคะ พระองค์ท่านก็จะตรัสว่า อ้อ...ทำอยู่ที่ห้องเครื่องหรือจ๊ะ เป็นคนทำเครื่องเสวยหรือจ๊ะ ซึ่งพระองค์ท่านทรงจำเราได้ก็รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก”.

.........................................

“พระนิยมไทย” จากหนังสือดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า

พระนิยมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อีกประการหนึ่งซึ่งเหมือนกับพระราชนิยมในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 คือ การทรงฉลองพระองค์และพระภูษาสีตามวัน…

พระราชนิยมในรัชกาลที่ 6 เรื่องสีประจำวันเป็นที่ทราบแพร่หลายกันอยู่แล้วในปัจจุบัน กล่าวคือ วันอาทิตย์ สีแดง วันจันทร์ สีเหลือง วันอังคาร สีชมพู วันพุธ สีเขียว วันพฤหัสบดี สีแสด วันศุกร์ สีฟ้า และวันเสาร์ สีม่วงดำหรือที่ทรงพระราชนิยมแทนสีม่วง คือ สีน้ำเงินคราม



แม้สุภาพบุรุษจะไม่จำเป็นต้องแต่งกายด้วยสีสันตามวันอย่างที่กล่าวข้างต้น แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ไม่ได้ทรงละทิ้งธรรมเนียม ในเวลาทรงฉลองพระองค์กุยเฮงกับพระสนับเพลาแพรจีน เป็นการลำลองอยู่ในพระราชฐาน จะทรงเหน็บซับพระพักตร์สีตามวันปักเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.6 บ้าง ปักเป็นรูปพญานาคปีมะโรงตามปีพระราชสมภพขนดม้วนตัวเป็นตราจักรีบ้าง ไว้ที่ผ้าคาดบั้นพระองค์เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ยังทรงเก็บรักษาซับพระพักตร์สีตามวันเหล่านั้นของทูลกระหม่อมก๊ะไว้เป็นอย่างดีจนทุกวันนี้

ถ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประทับอยู่กับตำหนัก ไม่ได้เสด็จออกทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่ใด ซึ่งต้องทรงฉลองพระองค์มีสีสันหรือรูปแบบหลากหลายตามความเหมาะสมเฉพาะงานแล้ว ก็มักทรงฉลองพระองค์สีตามวัน ตามพระราชนิยมของสมเด็จพระบรมชนกนาถเสมอ


เมื่อกำหนดเฝ้าตรงกับวันใด ผู้ที่มาเฝ้าแหนบ่อย ๆ ก็มักจะสวมใส่เครื่องแต่งกายสีตามวันมาเฝ้า เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพอพระทัยหรือหากไม่แต่งสีตามวัน ก็แต่งกายด้วยสีแสดก็ได้ เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงโปรดปรานสีแสดเป็นพิเศษ


พระนิยมนี้พลอยทำให้บรรดาข้าราชบริพารแวดล้อมก็โดยเสด็จด้วย ข้าหลวงวังรื่นฤดีจึงมีเสื้อผ้าสีตามวันครบทั้ง 7 วันกันทุกคน.


ที่มา นสพ เดลินิวส์




Create Date : 02 เมษายน 2555
Last Update : 2 เมษายน 2555 9:05:12 น. 0 comments
Counter : 4477 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.