Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
พระมหาธรรมราชาที่ 2/ พระยาไสสือไท /พระยาบาลเมือง /พระอิสริยยศ พระร่วงเจ้าแห่งอาณาจักรสุโขทัย



พระยาลือไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยลำดับที่ 7 ครองราชย์สืบต่อจากพระยาลิไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1911 - พ.ศ. 1942)ในรัชกาลนี้พระองค์ได้รบกับทัพกรุงศรีอยุธยาแต่ก็พ่ายแพ้และยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาในที่สุด

พระยาลือไทย ขึ้นครองราชย์เมื่ออาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอเสื่อมอำนาจ อาณาจักรถูกแบ่งออกเป็น 2 แคว้นคือ แคว้นชากังราวประกอบด้วยเมืองตาก ชากังราว (กำแพงเพชร) และนครสวรรค์ กับแคว้นสุโขทัย ประกอบด้วยเมืองสุโขทัย อุตรดิตถ์ สองแคว (พิษณุโลก) พิจิตร นอกจากนี้เมืองขึ้นสำคัญ เช่น เมืองหงสาวดีและเมืองอู่ทองต่างแข็งข้อ ลุถึง พ.ศ. 1921 สุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาพระยาลือไทยจึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรสุโขทัย


อย่างไรก็ดี พระยาลือไทยยังทรงครองเมืองต่อไปที่ราชธานีพิษณุโลกในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาจนถึงประมาณ พ.ศ. 1931 และมีรัชทายาทครองเมืองสืบต่ออีก 2 พระองค์ จนถึงวาระที่เมืองพิษณุโลกถูกรวมไว้ในอาณาจักรอยุธยาโดยเด็ดขาดเมื่อ พ.ศ. 1981 โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ส่งพระโอรสคือพระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกแทน มีผลให้อาณาจักรสุโขทัยสิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง


พระมหาธรรมราชาที่ 2

พระบรมนามาภิไธยพระปรมาภิไธย พระยาลือไทพระมหาธรรมราชาที่ 2
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง
ครองราชย์ พ.ศ. 1911-พ.ศ. 1942
(โดยประมาณ)
ระยะครองราชย์ 31 ปี (โดยประมาณ)

สวรรคต พ.ศ. 1942
พระราชบิดา พระมหาธรรมราชาที่ 1

▶▶ พระมหาธรรมราชาที่ 3


พระมหาธรรมราชาที่ 3 หรือ พระยาไสสือไท เป็นพระโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 2 กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 2 สวรรคตราว พ.ศ. 1942 พระยาไสสือไทจึงขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ทรงพระนามว่า “พระมหาธรรมราชาที่ 3” โดยทรงเป็นกษัตริย์สุโขทัยในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา

การเสียเอกราชให้กรุงศรีอยุธยา

การที่กรุงสุโขทัยต้องเสียเอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลนี้ นั้น ความจริงไม่ควรถือว่าพระเจ้าไสยลือไทอ่อนแอเพราะถ้าจะเริ่มต้นกันด้วยสาเหตุ เราก็จะพบว่าสาเหตุปัจจุบันของสงครามระหว่างสองกรุงนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่พระเจ้าลิไทสวรรคคต หาใช่เพราะพระเจ้าไสยลือไททรงขาดพระปรีชาสามารถแต่ประการใดไม่

ครั้งมาพิจารณากันในด้านการดำเนินสงคราม ก็จะเห็นว่า ความจริงพระเจ้าไสยลือไททรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งยิ่ง กล่าวคือ ทรงรับมือข้าศึกซึ่งมีแสนยานุภาพเข้มแข็งอยู่ได้ถึงสามปีเศษ สงครามจึงยุติลง ถ้าพระเจ้าไสยลือไททรงอ่อนแอจริงแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่า สงครามจะต้องสิ้นสุดลงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

▶▶เหตุการณ์ในรัชสมัย

▷▷อาจกล่าวได้ว่าภายหลังที่ทางอาณาจักรอโยธยาตัดกำลังหัวเมืองต่าง ๆ ของสุโขทัยลงแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของอาณาจักรสุโขทัยก็ทรุดลงและยากที่จะแก้ไขให้มั่นคงขึ้นได้ เนื่องจากอาณาจักรอโยธยาสามารถขยายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวางแต่ถึงกระนั้น พระมหาธรรมราชาที่ 3 ก็ได้ทรงกู้เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัย โดยได้ทรงยกองทัพออกไปปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ให้อยู่ในอำนาจแม้จะไม่ได้มากเท่ากับครั้งพระยาลิไทก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ทำสงครามหลายครั้ง รวมทั้งเคยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1945 ด้วย ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลทางชัยชนะเลยก็ตาม แต่เป็นการแสดงถึงความพยายามในการสร้างอาณาจักรให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการเป็นรัฐกันชนขนาดเล็กที่อาจถูกผนวกไปอยู่กับดินแดนของอาณาจักรใดอาณาจักหนึ่งได้

▶▶พระราชวงศ์กับเหตุการณ์ภายหลัง

พระยาไสสือไท ทรงมีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ

1. พระยาบาลเมือง หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)

2.พระยาราม

หลังจากที่พระยาไสสือไทเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 1962 ก็เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) กษัตริย์อยุธยาต้องยกทัพมาปราบจลาจลโดยยกทัพไปถึงพระบาง (นครสวรรค์) พระยาบาลเมือง และพระยาราม ต้องออกมากราบบังคมต่อสมเด็จพระนครินทราชาธิราชจึงโปรดให้สถาปนาพระยาบาลครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่าพระศรีสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชาธิราช และพญารามโปรดให้ครองเมืองสุโขทัย

พระมหาธรรมราชาที่ 3
พระบรมนามาภิไธยพระปรมาภิไธย พระยาไสลือไทพระมหาธรรมราชาที่ 3
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง
ครองราชย์ พ.ศ. 1943-พ.ศ. 1962
ระยะครองราชย์ 19 ปี
สวรรคต พ.ศ. 1962
พระราชบิดา พระมหาธรรมราชาที่ 2


▶▶พระมหาธรรมราชาที่ 4

พระมหาธรรมราชาที่ 4 หรือ บรมปาล หรือ พระยาบาลเมือง หรือ พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชา เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัย เป็นช่วงตกต่ำของสุโขทัย ทรงเป็นพระโอรสพระมหาธรรมราชาที่ 3 ครองราชย์ในช่วง พ.ศ. 1962-1989 และประทับที่เมืองพิษณุโลก

การขึ้นครองราชย์

เมื่อพระชนกเสด็จสวรรคต พระยาบาลเมืองและพระยารามแย่งชิงราชสมบัติกัน เป็นเหตุให้สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต้องเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง แล้วทรงไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมืองเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยครองเมืองเมืองพิษณุโลกอันเป็นเมืองหลวง และให้พระยารามเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองเอก

พระยาบาลเมืองจึงได้รับอภิเษกให้ครองกรุงสุโขทัยในฐานะประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชา นับว่าพระองค์ได้ทรงเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4

เกี่ยวดองกับอยุธยา

รัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากกรุงศรีอยุธยา โดยการส่งพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 ไปอภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยาโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระอินทราชา


การสวรรคตและสิ้นสุดอาณาจักรสุโขทัย

พระมหาธรรมราชาที่ 4 สวรรคตใน พ.ศ. 1989 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระราเมศวร พระราชโอรสซึ่งประสูติจากพระอัครชายาที่เป็นพระธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย ทำให้อาณาจักรสุโขทัยรวมกับอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรเดียวกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และนับเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรสุโขทัยในทางนิตินัย เมืองพิษณุโลกก็กลายเป็นเมืองประทับของพระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่นั้นมา
สวรรคต พ.ศ. 1989
พระราชบิดา พระมหาธรรมราชาที่ 3(ไสลือไท)


พระอิสริยยศ พระร่วงเจ้าแห่งอาณาจักรสุโขทัย

พระยายุทธิษฐิระ หรือ พระยายุทธิษเฐียร ทรงเป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ทรงเป็นพระร่วงเจ้าสุโขทัยในปี พ.ศ. 2011 จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาเสียดินแดนอาณาจักรสุโขทัยแก่อาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 2017 นอกจากนี้ พระเจ้าติโลกราชยังทรงแต่งตั้งให้พระยายุทธิษฐิระ เป็นเจ้าเมืองพะเยาและดูแลหัวเมืองล้านนาตะวันออกตอนล่าง จนถูกปลดในปี พ.ศ. 2022

พระอิสริยยศ พระร่วงเจ้าแห่งอาณาจักรสุโขทัย
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชบิดา พระมหาธรรมราชาที่ 4



พระประวัติ.....พระยายุทธิษฐิระ สืบเชื้อสาย ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ ด้วยเป็นโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 4และมีพระมารดามาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ

ในวัยเยาว์เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงดำรงพระยศเป็นพระราเมศวรและครองเมืองพิษณุโลกอยู่นั้น ทรงได้สัญญาว่าหากได้ครองราชย์ในกรุงศรีอยุธยา จะทรงสถาปนาพระยายุทธิษฐิระ ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่เมื่อทรงครองราชย์แล้ว ทรงจัดการปฏิรูปการปกครอง และตั้งให้พระยายุทธิษฐิระเป็นเพียงพระยาสองแคว ซึ่งบรรดาศักดิ์ลดลงกว่าตำแหน่งพระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย) เป็นอย่างมาก พระยายุทธิษฐิระ ด้วยหวังจะเป็นพระร่วงเจ้าด้วยสิทธิ์อันชอบธรรมแห่งราชวงศ์ เพราะก่อนหน้านี้หลังพระมหาธรรมราชาที่ 4 ทิวงคต พระยายุทธิษฐิระ ซึ่งเป็นพระยาเชลียง ครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ก็คิดจะตั้งตนเป็นพระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย) ต่อจากพระอัยกา แต่ข้าราชบริพารทางสองแคว ก็ยกพระราเมศวรขึ้นเป็นพระร่วงแทน พระยายุทธิษฐิระ ด้วยเกรงพระบารมี จึงทรงนิ่งเสีย แต่เมื่อทรงไม่ได้ตามประสงค์จึงทรงเรื่มเอาใจออกห่างกรุงศรีอยุธยา และไปเข้ากับ พญาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนา จากพญา เป็น พระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนาม พญาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช (ชาวล้านนา เรียกพระมหากษัตริย์ ว่า พญา หรือ พระญา ซึ่งหมายถึง ผู้นำ ผู้ยิ่งใหญ่ หรือหัวหน้า ไม่ใช่ พระยา ซึ่งหมายถึง ยศ ขุนนาง ในอยุธยา)

เหตุการณ์นี้ พระเจ้าติโลกราช ทรงชุบเลี้ยง พระยายุทธิษฐิระ ในตำแหน่งพระโอรสบุญธรรม ทรงให้ครองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย รวมถึงพะเยาซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายอาคเนย์ ซึ่งรวมอาณาบริเวณเมืองพร้าว เมืองงาว และกาวน่าน ต่อมาเมื่อเสียสุโขทัยและศรีสัชนาลัยแก่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยายุทธิษฐิระจึงครองเพียงเมืองพะเยา และหัวเมืองอาคเนย์

จวบจนในพ.ศ. 2022 ทรงมีคดีกับพระเจ้าติโลกราช จึงทรงถูกถอดยศเจ้าเมืองออก แต่ยังได้ความปราณียังคงชุบเลี้ยงในฐานะพระโอรสบุญธรรมต่อไป ส่วนเมืองพะเยา พระเจ้าติโลกราชทรงเวนราชสมบัติให้นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาปกครองต่อ การที่พระเจ้าติโลกราชทรงมอบเมืองพะเยาและกาวน่าน ให้พระยายุทธิษฐิระ ปกครองนั้น อันเนื่องมาจาก กลุ่มหัวเมืองอาคเนย์นี้เป็นหัวเมืองที่ได้มาใหม่ เจ้าเมืองกาวน่านเดิมมีเชื้อสายพระร่วงเจ้าทางราชนิกูล ส่วนทางเมืองพะเยา ก็ให้ความเคารพพระร่วงเจ้าสุโขทัยมาแต่ครั้งพ่อขุนงำเมืองนั่นเอง

พระกรณียกิจ

ในเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ดูจะทรงไม่มีพระกรณียกิจที่เด่นชัด แต่เมื่อทรงครองพะเยา ก็ทรงทำนุบำรุงเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ทรงสร้างเวียงใหม่ ที่บ้านพองเต่า สร้างวัดป่าแดงหลวง (ปัจจุบัน ราชการได้ประกาศรวมกับวัดดอนไชยบุนนาค ที่อยู่ติดกันเป็นวัดเดียวกัน ชื่อว่า วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค) ทรงหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์ จากเมืองแจ้ตาก และ รอยพระพุทธบาท จากสุโขทัย มาประดิษฐานในเวียงใหม่ของพระองค์


ความบาดหมางกับพระเจ้าติโลกราช

จารึกพะเยาหลักที่ 45 (พ.ศ. 2021) ระบุว่า เจ้าพันหลวงได้นิมนต์พระเถระจากที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญกุศล สมเด็จพระราชาอโสกราช ได้เสด็จมาสดับพระธรรมเทศนา จึงอนุโมทนาด้วยกับการบุญของเจ้าพันหลวง กรณีนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ระบุว่า ผู้ใช้นามนี้ไม่น่าจะเป็นใครอื่น นอกจากพระยายุทธิษฐิระ โดยอาจกล่าวได้ว่าขณะนั้นพระยายุทธิษฐิระ มีอำนาจค่อนข้างมากทางฟากตะวันออกของแคว้นล้านนา ไปตลอดจนสุดเขตแดนที่ต่อเนื่องกับสุโขทัยของอยุธยา แต่การยกย่องตนเองนี้กลับไม่เป็นผลดีกับพระองค์ เพราะปีถัดมา พระเจ้าติโลกราช ทรงให้อัญเชิญ พระแก่นจันทน์ จากเมืองพะเยา อ้อมไปทางเมืองน่าน แพร่ เขลางค์(ลำปาง) ลำพูน จนถึงเชียงใหม่ นัยหนึ่งคือการแสดงพระราชอำนาจของพระเจ้าติโลกราช ให้ประจักต่อชาวล้านนาตะวันออก เพราะเส้นทางไปเชียงใหม่ อันที่จริงไม่จำเป็นต้องผ่านไปทางน่าน หรือลำปางก็ได้ ต่อจากนั้น ก็ทรงปลดพระยายุทธิษฐิระ เข้าไปช่วยราชการที่ในนครเชียงใหม่แทน ดังจารึกวัดป่าเหียง (จารึกพะเยาหลักที่ 5) (พ.ศ. 2026) เปลี่ยนพระนามการเรียกพระยายุทธิษฐิระ เป็นเพียง "ลูกพระเป็นเจ้า" แทนการเรียกยศหรือตำแหน่ง โดยที่ "พระเป็นเจ้า" ได้หมายถึงพระเจ้าติโลกราช


ราชวงศ์พระร่วง

(พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)
สิ้นสุด พ.ศ. 1981
(พระมหาธรรมราชาที่ 4)
ประมุข
- ผู้ก่อตั้ง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
- สุดท้าย พระมหาธรรมราชาที่ 4

ราชวงศ์พระร่วง หรือ ราชวงศ์สุโขทัย เป็นราชวงศ์ที่นักประวัติศาสตร์ใช้เรียกกลุ่มเจ้าผู้ปกครองแคว้นสุโขทัย ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อครั้งสมัยสุโขทัยเรียกชื่อว่าราชวงศ์ใดกันแน่ หากแต่เมื่อรวบรวมหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็มักพบว่าผู้คนภายในเขตสุโขทัยหรือบ้านเมืองแว่นแคว้นอื่นมักเรียกพระมหากษัตริย์ของสุโขทัยในนามว่า "พระร่วง" ซึ่งเป็นนามที่รู้จักไปอย่างกว้างขวางของผู้คนกลุ่มไทยในสมัยโบราณ เชื้อสายของวงศ์พระร่วงนี้สืบทอดยาวนานตลอดสมัยสุโขทัย จนตกอยู่ใต้ปกครองของอยุธยาแล้วก็ยังปรากฏอยู่ผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างอาณาจักร สัญลักษณ์หรืออนุสรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์พระร่วงที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่าคือ รูปพระร่วง-พระลือ ในซุ้มพระร่วง-พระลือที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงราชวรวิหาร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตามความเชื่อของคนรุ่นเก่าแก่ในจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า ที่นี่คือนิวาสถานดั้งเดิม หรือต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วง


ประวัติ

ราชวงศ์พระร่วง เป็นเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ชนชั้นปกครองไทยที่มีอำนาจอยู่ในระยะสมัยประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่า "สมัยสุโขทัย" ฐานอำนาจของราชวงศ์พระร่วงก็คือ ศรีสัชนาลัยสุโขทัย ที่เป็นทั้งศูนย์การปกครองรัฐบาลและที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ความชัดเจนในแง่ความเป็นมาของราชวงศ์นี้ไม่สามารถที่จะชี้ชัดระบุให้แน่นอนลงไปได้ เพราะมีหลักฐานหรือสิ่งที่กล่าวอ้างน้อยมาก พระร่วงในความทรงจำของคนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางลงมาเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าตำนานแล้ว เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวอภินิหารและความน่ามหัศจรรย์ ผนวกไปกับเรื่องราวของบ้านเมืองสถานที่ต่างๆ ในแถบกลุ่มอาณาจักรสุโขทัยเดิม (ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร ปากยม และพระบาง)

ราชวงศ์พระร่วง เป็นราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นเมื่อคราวพ่อขุนบางกลางหาวทรงราชาภิเษกเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ คำว่าพระร่วงเป็นคำกลางๆ ที่ใช้เรียกกษัตริย์หรือผู้นำแห่งรัฐสุโขทัย โดยคำว่าร่วง แปลว่า รุ่ง (โรจน์) ในสำเนียงไทยกลางจึงตรงกับคำว่า รุ่ง ซึ่งไปพ้องกับสำเนียงล้านช้างที่อ่านว่า ฮุ่ง ซึ่งอาจจะสืบเนื่องกับตำนานท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง อันเป็นวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง อย่างไรก็ตามแต่ คำว่าพระร่วงเป็นคำที่คิดขึ้นใหม่เมื่อครั้งสถาปนาวงศ์ มิใช้ราชวงศ์เดิมที่ติดตัวพ่อขุนบางกลางหาว มาแต่ต้น ความหมายของคำว่าร่วงนี้ ต่อมาเป็นพระนามพระพุทธรูปองค์หนึ่งว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธปูชนียบพิตร เป็นการย้ำความหมายให้ ร่วงโรจน์ มีความหมายไปในทางเดียวกับ รุ่งโรจน์ อีกด้วย

ด้วยเหตุความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้ โดยมากจึงคิดกันว่า พ่อขุนศรีนาวนำถุม พ่อขุนผาเมือง ตลอดจนพระมหาเถรศรีศรัทธา ทรงเป็นราชวงศ์พระร่วงเช่นกัน แต่อันที่จริง ทั้งสามพระองค์นี้เป็นราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (หรือราชวงศ์นำถุม หรือราชวงศ์ผาเมือง) โดยเอกสารทางวิชาการส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่า ต้นวงศ์ (ผู้สถาปนา) คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และยังสืบเนื่องต่อมาจนถึงพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเชื่อกันว่าสืบมาจนถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงแยกมาตั้งวงศ์ใหม่ (ราชวงศ์จักรี)

รายนามและพระนามผู้ที่อยู่ในราชวงศ์พระร่วง-สุโขทัย


บุคคลตามจารึกในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์พระร่วง

1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระนามเดิม บางกลางหาว
2. นางเสือง
3. พ่อขุนบานเมือง
4. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
5. พญาเลอไท
6. พญางั่วนำถุม (ผสมวงศ์นำถุมทางราชินิกุล)
7. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)
8. พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไท)
9. พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไท)
10. พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)
11. พระมหาเทวี (พระพี่นางในพญาลิไท)
12. พระศรีเทพาหูราช พระโอรสในพระมหาเทวี และขุนหลวงพะงั่ว (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
13. พระยาราม (พระเชษฐาพระมหาธรรมราชาที่ 4 ครองศรีสัชนาลัย)
14.พระยายุทธิษฐิระ (พระโอรสในพระยาราม เจ้าเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 3อีกต่อหนึ่ง)
15. สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
16.สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
17.พระนางสาขา
18. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
19. ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ของกษัตริย์อยุธยาต้องมาจากราชวงศ์พระร่วง
20. สมเด็จพระสุริโยทัย
21. ขุนพิเรนทรเทพ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
22. พระสุพรรณกัลยา (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
23.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
24. สมเด็จพระเอกาทศรถ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
25. สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
26.สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
27. สมเด็จพระเชษฐาธิราช (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
28. สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
29. หม่อมเจ้าหญิงในราชวงศ์พระร่วง สมัยพระนารายณ์มหาราช
30. หม่อมเจ้าเจิดอุภัย
31. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
32.พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)
33. สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
34.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ในนามราชวงศ์จักรี) และเชื้อพระวงศ์จักรีทุกพระองค์
35. สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (สืบเชื้อสายจากเจ้าแสนซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ)
36.ผู้ที่มีนามสกุลว่า "ชูโต" โดยการสืบเชื้อสาย (สืบเชื้อสายจากเจ้าแสนซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ)
37.ผู้ที่มีนามสกุลว่า "ณ บางช้าง" โดยการสืบเชื้อสาย (สืบเชื้อสายจากเจ้าแสนซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ)

credit : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


Create Date : 06 มีนาคม 2555
Last Update : 6 มีนาคม 2555 6:03:05 น. 0 comments
Counter : 11587 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.