ก็แค่Weblogดองๆทำเล่นไปเรื่อยแหละน่าของกรรมกรกระทู้ลงชื่อและเมล์ที่Blogนี้สำหรับผู้ที่ต้องการGmailครับ
เข้ามาแล้วกรุณาตอบแบบสอบถามว่าคุณตั้งหน้าตั้งตาเก็บเนื้อหาในBlogไหนของผมบ้างนะครับ
รับRequestรูปCGการ์ตูนไรท์ลงแผ่นแจกจ่ายครับ
ติดตามการเคลื่อนไหวของกรรมกรผ่านTwitter

เข้ามาเยี่ยมแล้วรบกวนลงชื่อทักทายในBlogไหนก็ได้Blogหนึ่งพอให้ทราบว่าคุณมาเยี่ยมแล้วลงสักหน่อยนะอย่าอายครับถ้าคุณไม่ได้เป็นหัวขโมยเนื้อหาBlog(Pirate)โจทก์หรือStalker

ความเป็นกลางไม่มีในโลก มีแต่ความเป็นธรรมเท่านั้นเราจะไม่ยอมให้คนที่มีตรรกะการมองความชั่วของ มนุษย์บกพร่อง ดีใส่ตัวชั่วใส่คนอื่น กระทำสองมาตรฐานและเลือกปฏิบัติได้ครองบ้านเมือง ใครก็ตามที่บังอาจทำรัฐประหารถ้าไม่กลัวเศรษฐกิจจะถอยหลังหรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ได้เจอกับมวลมหาประชาชนที่ท้องสนามหลวงแน่นอน

มีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขอให้มวลมหาประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน จงไปชุมนุมพร้อมกันที่ท้องสนามหลวงทันที

พรรคการเมืองนะอยากยุบก็ยุบไปเลย แต่ึอำมาตย์ทั้งหลายเอ็งไม่มีวันยุบพรรคในหัวใจรากหญ้ามวลมหาประชาชนได้หรอก เสียงนี้ของเราจะไม่มีวันให้พรรคแมลงสาปเน่าๆไปตลอดชาติ
เขตอภัยทาน ที่นี่ไม่มีการตบ,ฆ่าตัดตอนหรือรังแกเกรียนในBlogแต่อย่างใดทั้งสิ้น
อยากจะป่วนโดยไม่มีสาระมรรคผลปัญญาอะไรก็เชิญตามสบาย(ยกเว้นSpamไวรัสโฆษณา มาเมื่อไหร่ฆ่าตัดตอนสถานเดียว)
รณรงค์ไม่ใช้ภาษาวิบัติในโลกinternetทั้งในWeblog,Webboard,กระทู้,ChatหรือMSN ถ้าเจออาจมีลบขึ้นอยู่กับอารมณ์ของBlogger
ยกเว้นถ้าอยากจะโชว์โง่หรือโชว์เกรียน เรายินดีคงข้อความนั้นเพื่อประจานตัวตนของโพสต์นั้นๆ ฮา...

ถึงอีแอบที่มาเนียนโพสต์โดยอ้างสถาบันทุกท่าน
อยากด่าใครกรุณาว่ากันมาตรงๆและอย่าได้ใช้เหตุผลวิบัติประเภทอ้างเจตนาหรือความเห็นใจ
ไปจนถึงเบี่ยงเบนประเด็นไปในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันฯเป็นอันขาด

เพราะการทำเช่นนี้รังแต่จะทำให้สถาบันฯเกิดความเสียหายซะเอง ผมขอร้องในฐานะที่เป็นRotational Royalistคนหนึ่งนะครับ
มิใช่Ultra Royalistเหมือนกับอีแอบทั้งหลายทุกท่าน

หยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ตรรกะวิบัติ รณรงค์ต่อต้านการใช้ตรรกะวิบัติทุกชนิด แน่นอนความรุนแรงก็ต้องห้ามด้วยและหยุดส่งเสริมความรุนแรงทุกชนิดไม่ว่าทางตรงทางอ้อมทุกคนทุกฝ่ายโดยเฉพาะพวกสีขี้,สื่อเน่าๆ,พรรคกะจั๊ว,และอำมาตย์ที่หากินกับคนที่รู้ว่าใครต้องหยุดปากพล่อยสุมไฟ ไม่ใช่มาทำเฉพาะเสื้อแดงเท่านั้นและห้ามดัดจริต


ใครมีอะไรอยากบ่น ก่นด่า ทักทาย เชลียร์ เยินยอ ไล่เบี๊ย เอาเรื่อง คิดบัญชี กรรมกรกระทู้(ยกเว้นSpamโฆษณาตัดแปะรำพึงรำพัน) เชิญได้ที่ My BoardในMy-IDของกรรมกรที่เว็ปเด็กดีดอทคอมนะครับ


Weblogแห่งนี้อัพแบบรายสะดวกเน้นหนักในเรื่องข้อมูลสาระใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว ไม่ตามกระแส ไม่หวังปั่นยอดผู้เข้าชม
สำหรับขาจรที่นานๆเข้ามาเยี่ยมสักที Blogที่อัพเดตบ่อยสุดคือBlogในกลุ่มการเมือง
กลุ่มหิ้งชั้นการ์ตูนหัวข้อรายชื่อการ์ตูนออกใหม่รายเดือนในไทย
และรายชื่อการ์ตูนออกใหม่ที่ญี่ปุ่นในตอนนี้

ช่วงที่มีงานมหกรรมและสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำครึ่งปี(ทวิมาส)จะมีการอัพเดตBlogในกลุ่มห้องสมุดรวมสาระอุดมปัญญา
และหิ้งชั้นการ์ตูนของกรรมกรกระทู้


Hall of Shame กรรมกรมีความภูมิใจที่ต้องขอประกาศหน้าหัวนี่ว่า บุคคลผู้มีนามว่า ปากกาสีน้ำ......เงิน หรือ กลอน เป็นขาประจำWeblogแห่งนี้ที่เสพติดBlogการเมืองและใช้เหตุวิบัติอ้างเจตนาในความเกลียดชังแม้วเหลี่ยมและความเห็นใจในสถาบัน เบี่ยงประเด็นในการแสดงความเห็นเป็นนิจ ขยันขันแข็งแบบนี้เราจึงขอขึ้นทะเบียนเขาคนนี้ในหอเกรียนติคุณมา ณ ที่นี้ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

Group Blog
นิยายดองแต่งแล่นบันทึกการเดินทางของกรรมกรกระทู้คำทักทายกับสมุดเยี่ยมพงศาวดารมหาอาณาจักรบอร์ดพันทิพย์สาระ(แนว)วงการการ์ตูนมารยาทในสังคมออนไลน์ที่ควรรู้แจกCDพระไตรปิฎกฟรีรวมเนื้อเพลงดีๆจากดีเจกรรมกรกระทู้รวมแบบแผนชีวิตของกรรมกรกระทู้ชั้นหิ้งการ์ตูนของกรรมกรกระทู้ภัยมืดของโลกออนไลน์เรื่องเล่าในโอกาสพิเศษห้องสมุดรวมสาระอุดมปัญญาของกรรมกรกระทู้กิจกรรมของกรรมกรกระทู้กับInternetคุ้ยลึกวงการบันเทิงโทรทัศน์ตำราพิชัยสงครามซุนวูแฟนพันธ์กูเกิ้ลหน้าสารบัญคลังเก็บรูปกล่องปีศาจ(ขอPasswordได้ที่หลังไมค์)ลูกเล่นเก็บตกจากเน็ตสาระเบ็ดเตล็ดรู้จักกับงานเทคนิคการแพทย์ของกรรมกรรวมภาพถ่ายโดยช่างภาพกรรมกรรวมกระทู้ดีๆการเมือง1กรรมกรกับโรคAspergerรวมกระทู้ดีๆการเมือง2ความเลวของสื่อความเลวของพรรคประชาธิปัตย์ความเลวของอำมาตย์ศักดินาข้อมูลลับส่วนตัวกรรมกรที่ไม่สามารถเผยได้ในการทั่วไปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายรวมบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินเจาะฐานการเมืองท้องถิ่น

ถึงผู้ที่ต้องการขอpasswordกล่ิองปีศาจหรือFollowing Userใต้ดินเพื่อติดตามข่าวการอัพเดตกล่องปีศาจและดูpasswordมีเงื่อนไขว่ากรุณาแจ้งอายุ ระดับการศึกษาหรืออาชีพการงาน และอำเภอกับจังหวัดของภูมิลำเนาที่คุณอยู่ เป็นการแนะนำตัวท่านเองตอบแทนที่ผมก็แนะนำตัวเองในBlogไปแล้วมากมายกว่าเยอะ อีกทั้งยังเก็บรายชื่อผู้เข้ามาเยี่ยมGroup Blogนี้ไปด้วย
ถ้าอยากให้คำร้องขอpasswordหรือการFollowing Userใต้ดินผ่านการอนุมัติขอให้อ่านBlogข้างล่างนี่นะครับ
ข้อแนะนำการเขียนProfileส่วนตัว

อยากติดตั้งแถบโฆษณาแนวนอน ณ ที่ตรงนี้จังเลยพับผ่าสิเมื่อไหร่มันจะยอมให้ใช้Script Codeได้นะเนี่ย เพราะคลิกโฆษณาที่ได้มาตอนนี้ได้มาจากWeblogของผมที่Exteen.comซึ่งทำได้2-4คลิกมากกว่าที่นี่ซึ่งทำได้แค่0-1คลิกซะอีก ทั้งๆที่ยอดUIPที่นี่เฉลี่ยที่400กว่าแต่ของExteenทำได้ที่200UIP ไม่ยุติธรรมเลยวุ้ยน่าย้ายฐานจริงๆพับผ่า
เนื่องจากพี่ชายของกรรมกรแนะนำW​eb Ensogoซึ่งเป็นWebขายDeal Promotion Onlineสุดพิเศษ ซึ่งมีอาหารและของน่าสนใจราคาถูกสุดพิเศษให้ได้เลือกกัน ใครสนใจก็เชิญเข้ามาลองชมดูได้ม​ีของแบบไหนที่คุณสนใจบ้าง

เปรียบเทียบ 'ทีวีสาธารณะ' แบบอเมริกา-ไทย

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

เปรียบเทียบและข้อสังเกตบางประการ ของ PBS ของสหรัฐอเมริกา และไทยพีบีเอสของไทย
กิจการของทีวีสาธารณะ หรือที่รู้จักกันในชื่อ PBS เป็นชื่อของทีวีสาธารณะของอเมริกัน มาจาก Public Broadcasting Service เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1970 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาประมาณ 42 ปีแล้ว โดยมีสำนักใหญ่ที่เมืองอาลิงตัน มลรัฐเวอร์จิเนีย เมืองเดียวกับสถานที่ตั้งสำนักงาน CIA

ส่วน “Thai PBS” อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งเปิดดำเนินการ 15 มกราคม พ.ศ.2551 พยายามเอาปรัชญาหรือแนวคิด (หรือเลียนแบบ) กิจการของทีวีสาธารณะของอเมริกันแห่งนี้ ภายหลังจากที่กิจการ ITV เดิมที่ใช้ระบบการประมูล ประกอบกิจการไม่เป็นผลสำเร็จ

เรียกว่า แม้แต่การก่อเกิดองค์กรก็แตกต่างกันเสียแล้ว แม้ทีวีฟากไทยได้พยายามจะลอกเลียนแบบรูปแบบ (Concept) การบริหารจัดการและการทำรายการของ US PBS ก็ตาม แต่จากรูปการณ์แล้ว หลายอย่างไม่น่าจะเป็นไปตามที่คาดหวังกันไว้แต่แรก

อาจมองได้ว่า ระบบการทำสื่อทีวีของไทยกับระบบของอเมริกันแตกต่างกัน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะเดี๋ยวนี้ระบบการบริหารจัดการเทคโนโลยีและระบบข้อมูลแทบไม่แตกต่างกัน เมื่อโลกกลายเป็นหนึ่งเดียวอย่างไม่สามารถแยกข้อมูลสารสนเทศออกจากกันได้อีกต่อไป อีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจุบันแทบไม่มีพรมแดนด้านข่าวสารข้อมูลหลงเหลืออยู่อีกแล้วนั่นเอง

คงไม่บังอาจเทียบกิจการทีวีสาธารณะของ 2 ประเทศ คือ ไทยกับอเมริกัน ขณะที่ข้างหนึ่งเพิ่งโตมาเพียงไม่กี่ปี อีกข้างหนึ่งโตมา 40 กว่าปี ซึ่งนับว่าแตกต่างกันมาก แต่อย่างที่บอก คือโลกปัจจุบัน ระบบสื่อมวลชนไม่ว่าอเมริกาหรือไทยแทบไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก การหาข้ออ้างเรื่องระยะเวลาการเติบโต หรือการฟูมฟักกิจการจึงไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด

โดยเหตุที่ทีวีสาธารณะเป็นของคนทุกคน ในระบบของอเมริกัน ทีวีสาธารณะนำเสนอรายการที่เน้นเนื้อหาสาระแทบจะเต็มๆ ทีเดียว และโดยเหตุที่อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ จึงมีสถานี PBS ท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วไปในหลายๆ รัฐ รายการและรูปแบบรายการก็แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือรัฐนั้นๆ

รูปแบบทุนสนับสนุนกิจการของ US PBS มาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง ส่วนที่สอง เป็นเงินสนับสนุนจากผู้บริจาค หรือจากบรรดาสมาชิกของ PBS เอง ซึ่งเงินสนับสนุนในส่วนที่สองนี้นับเป็นทุนสนับสนุนส่วนใหญ่ มีจำนวนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าทุนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเสียด้วยซ้ำ

ข้อวิพากษ์ถึงความเป็นกลางของทีวีอเมริกันช่องเดียวกันนี้มีอยู่ แต่ไม่ค่อยมากนัก จากการสำรวจของ Roper polls ซึ่งเป็นสถาบันวิจัย พบว่า US PBS เป็นองค์กรที่คนอเมริกันให้ความไว้วางใจมากที่สุด
ส่วนหนึ่งเพราะสถานีเดียวกันนี้มีรายการที่เน้นไปเพื่อการศึกษาเสียมาก เป็นรายการการศึกษาอย่างจริงจัง (ซีเรียส) หรืออย่างเป็นการเป็นงานเสมือนการทำวิจัย ไม่เป็นแบบสุกเอาเผากิน (นิยามของ “ทีวีเพื่อการศึกษา” ของสื่อองค์กรนี้ไม่ได้หมายถึงการศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกล แต่เป็นการศึกษาผ่านสื่อทีวีเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในหลายๆ ด้านอย่างกลมกลืนกับการรับสื่อในชีวิตประจำวัน เช่น ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสภาพแวดล้อม เป็นต้น)

ในส่วนของการนำเสนอด้านข่าวของ PBS ส่วนใหญ่เป็นการสัมภาษณ์และเป็นการวิเคราะห์ข่าวมากกว่าที่จะเน้นการทำข่าวเสียเอง เช่น รายการ NewsHour ของ จิม เลห์เรอร์(Jim Lehrer) ที่ถือว่าอยู่มานานหลายปี มีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือมาก ส่วนรายการข่าวก็อย่างเช่นรายการ Frontline สำแดงถึงศักยภาพที่เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ไม่เอียงข้าง (ไม่เอียงข้างทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ คงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อย US PBS ก็ได้รับการวิจารณ์ในทำนองนี้น้อยกว่าทีวีอเมริกันช่องพาณิชย์อื่นๆ )

ประเด็นที่ US PBS ถูกวิจารณ์ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดการผู้บริหารและพนักงานในองค์กร ซึ่งเชื่อมกับที่มาของเงินทุนสนับสนุนองค์กร สื่อสิ่งพิมพ์อเมริกันบางฉบับเคยวิจารณ์รูปแบบการบริหารของสถานีแห่งนี้ว่า น่าจะทำให้มีรูปแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในเมื่อผู้บริหารของสถานีมีรายได้จำนวนมากพอๆกับช่องทีวีพาณิชย์อื่นๆ เช่น ABC ,NBC , CBS , FOX หรือ CNN หมายถึง เป็นองค์กรสื่อไม่หวังผลกำไรก็จริง แต่มีลักษณะการทำงานในเชิงพาณิชย์อยู่ในที ซึ่งก็เหมือนองค์กรไม่หวังผลกำไรหลายองค์กรในอเมริกาที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมาก จนผู้บริหารตั้งเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของตัวเองสูงมากจนดูน่าเกลียด

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเดียวกันนี้ คงไม่สามารถวิจารณ์การบริหารงานของ US PBS ได้ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะการให้ความสนับสนุนสถานีแห่งนี้ของประชาชนหรือองค์กรเอกชนต่างๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ส่วนหนึ่ง อย่างน้อยก็มีการระดมทุนเพื่อเป็นทุนในการบริหารงานของสถานีแห่งนี้ทุกปี และยังมีคนอเมริกันให้การสนับสนุนสื่อสาธารณะแห่งนี้อย่างมากมาย หากเมื่อเทียบกับ Thai PBS ที่กลไก (หน่วยงาน) ของรัฐไทยให้การสนับสนุนแล้ว นับว่าแตกต่างกันอย่างมากเลยทีเดียว

คำถามก็คือ คณะกรรมการ(บอร์ด)ของ Thai PBS ที่แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่จะให้เชื่อว่าอิสระจริงได้อย่างไร ในเมื่อผูกโยงกับฝ่ายการเมืองในเรื่องการสนับสนุนด้านการเงินในสัดส่วนที่แทบจะร้อยทั้งร้อย (กฎหมายเปิดโอกาสให้เอกชนไทยสนับสนุนด้านการเงิน แต่ก็น่าเชื่อว่า เงินส่วนนี้มีจำนวนน้อยมาก??? ทั้งยังเป็นเรื่องลึกลับที่รู้กันอยู่เฉพาะวงใน)

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงาน โดยเฉพาะการทำรายการของ US PBS ที่มีการทำงานแบบเป็นทีมสูง แต่ดูเหมือน Thai PBS กลับให้ภาพความเป็นปัจเจกของคนทำรายการมากกว่าอย่างอื่น คือ มุ่งสนองต่อความเป็นปัจเจกของผู้จัดทำ (ผลิต) หรือผู้สร้างสรรค์รายการมากกว่า ทั้งนี้อาจเพราะคนไทยทำงานเป็นทีมกันไม่ค่อยเป็นหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด

ประเด็นที่น่าจับตามองอีกประการที่เกี่ยวกับนโยบายการทำงานของ US PBS คือ การมุ่งกระจายแห่งที่มาของรายการไปยังเอกชนอื่นๆ นอกเหนือเครือข่ายขององค์กร (Third Party Sources) เช่น NETA, American Public Television, WTTW National Productions เป็นต้น เพื่อทำงานด้านผลิตรายการอีกทาง ทำให้เกิดความหลากหลายต่อผู้ชม หรือคนรับสื่อ และมีรายการทางเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดพัฒนาการของการทำสื่อที่มาจากมวลชนจริงๆ แม้กระทั่งการรายงานข่าวจากพื้นที่นั้นๆ ในแต่ละท้องถิ่น

ในประเด็นเดียวกันนี้ ไม่ทราบว่า Thai PBS ได้ก้าวหน้าไปถึงไหน หรือมีการพยายามรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางหรือไว้ที่องค์กรที่กรุงเทพทั้งหมดหรือไม่ , หมายถึง อำนาจของคณะกรรมการด้านโยบายและอำนาจในส่วนของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งหากเป็นอย่างว่านี้ ก็เท่ากับ Thai PBS มุ่งสนองต่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลเท่านั้น และเป็นองค์กรสาธารณะที่มีนโยบายและการบริหารที่คับแคบมาก จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

ขณะเดียวกันในส่วนของรายการที่พยายาม “ดันประชาชน” (นักข่าวพลเมือง) ให้ทำสื่อทีวีให้เป็นนั้น ก็ไม่แน่ชัดว่าจะได้ผลอะไรมากนัก จากปัญหาที่เป็นสาเหตุ 2 ประการ คือ

ประการ แรก แรงจูงใจให้ประชาชน (พลเมือง) ทำรายการออกมาดีๆ มีหรือไม่ ในสัดส่วนเท่าไร หรือเป็นการมุ่งโปรโมทสร้างภาพว่า เป็นทีวีประชาชนหรือเป็นทีวีสาธารณะเท่านั้น โดยที่เงินเดือนและผลตอบแทนของคณะผู้บริหารก็เลยหลักแสนกับแทบทั้งสิ้น

ประการที่สอง ยังไม่มีการประเมินผลรายการพลเมืองดังกล่าวนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด ดูไปจึงไม่ต่างไปจากรายการโชว์รายการหนึ่ง (อย่างน้อยๆ ก็จำอวดภาษาท้องถิ่นให้ได้เห็นกันทางทีวี) ติดอยู่กับกระพี้ ไม่ได้นำเสนอเชิงลึกถึงแก่นจริงๆ ของปัญหา ของชาวบ้านจริงๆ

เปรียบเทียบให้เห็นกันชัดๆ ตรงๆ อย่างนี้ เพราะต่าง(ก็อ้าง)เป็นทีวีสาธารณะด้วยกันทั้งคู่

ที่มา : //www.prachatai.com/journal/2013/02/45485




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2556 14:53:47 น.
Counter : 1558 Pageviews.  

เจาะเครือข่ายขุมทรัพย์ สนธิ ลิ้มทองกุล ปลุกพันธมิตรฯรอบใหม่มีเงินเท่าไหร่?

กล่าวกันว่าการนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 รอบนี้มีเดิมพันค่อนข้างสูง

นั่นเพราะถ้าไม่บรรลุตามข้อเรียกร้องคือให้ทำประชาพิจารณ์ก่อนลงมือผ่าตัดรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลต่อเครดิตของนายสนธิอย่างมิต้องสงสัย ?

ณ ขณะนี้ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่านายสนธิและกลุ่มพันธมิตรฯจะหาบันไดลงอย่างไรหรือไม่?

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นมาดูเครือข่าย “ขุมกำลังทรัพย์”นายสนธิล่าสุดเสียก่อน

ก่อนล้มลายเมื่อหลายปีฐานธุรกิจของนายสนธิคือเจ้าของอาณาจักร“เอ็มกรุ๊ป”ซึ่งมีบริษัทเครือข่ายนับร้อยแห่ง

เฉพาะตัวนายสนธิเองเป็นกรรมการ 13 บริษัท อาทิ บริษัท เดอะ เอ็ม. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , บริษัท เดอะ เอ็ม. กรุ๊ป จำกัด ,บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ผู้จัดการ จำกัด เป็นต้น

ต่อมาเมื่อมีปัญหาทางธุรกิจจนคำพิพากษาล้มละลาย นายสนธิได้ผ่องถ่ายให้นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายเป็นคนดูแล

ปัจจุบันมีธุรกิจอยู่ในกำมืออย่างน้อย 8 บริษัท

1.บริษัท ภูเก็ตบลูสกาย จำกัด ประกอบกิจการทางน้ำ เช่น เจ็ตสกี สกีน้ำ ดำน้ำ ก่อตั้งวันที่ 8 มีนาคม 2547 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 49/1 อาคารบ้านเจ้าพระยา ชั้น 3 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขอนแก่นรังนกไทย ก่อตั้งวันที่ 24 เมษายน 2546 ทุนจดทะเบียน 2 แสนบาท ที่ตั้ง 102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

3.บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ก่อตั้งวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 2 อาคารสีลมเซ็นเตอร์ ชั้น 15 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ทำธุรกิจและรับจ้างทำธุรกิจในเว็บไซต์ นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล 99.9% มีนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล นายพชร สมุทวณิช นายขุนทอง ลอเสรีวานิช นายอุเว่ เฮนเก้ พาร์พาร์ท เป็นกรรมการ

4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรพัฒน์ คอมมิค ก่อตั้งวันที่ 8 เมษายน 2542 ทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท ที่ตั้ง 102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ผลิตและจำหน่ายหนังสือการ์ตูน แบบพิมพ์ (แบบเรียน)

5.บริษัท แอล อินเตอร์เทรด จำกัด ก่อตั้งวันที่ 5 สิงหาคม 2542 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้ง เลขที่ 52/32 หมู่ที่ 13 ถนนกรุงเทพกรีฑา แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ประกอบธุรกิจ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล 50% นายทราน มินท์ เตียน (เวียดนาม) 40% นายอนุชิต สังข์เวียน 9.9%

6.บริษัท เอธนิค เอิร์ธ ดอท คอม โฮลดิ้ง จำกัด พัฒนาเว็บไซด์,บริการออกแบบและอื่น จดทะเบียนวันที่ 18 พฤษภาคม 2537 ทุน 80 ล้านบาท นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ถือหุ้น 60%

7.บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 8 มีนาคม 2545 ทุน 50 ล้านบาท นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ถือหุ้น 79.9% นายวินเนอร์ เดชเพียร 10% 5,000,000.00 นายสุรวิรช์ วีรวรรณ 10%

8.บริษัท เอเอสทีวี(ประเทศไทย)จำกัด ก่อตั้งวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ถือหุ้น 100%

ในบรรดากิจการทั้งหมด รายได้หลักอยู่ที่ บริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ซึ่งมีนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ เป็นกรรมการ

ผลประกอบการปี 2551 รายได้ 664 ล้านบาท กำไรสุทธิ 157.5 ล้านบาท สินทรัพย์ 641.2 ล้านบาท ส่วนปี 2552 ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ขณะที่ผลประกอบการบริษัทอื่นมีรายได้เข้ามาพอสมควรแต่“ขาดทุน”

บริษัท เอธนิค เอิร์ธ ดอท คอม โฮลดิ้ง จำกัด ปี 2552 รายได้ 36.3 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 13.3 ล้านบาท ปี 2551 รายได้ 35.8 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12.9 ล้านบาท

บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด ปี 2552 รายได้ 218.1 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 61.8 ล้านบาท ปี 2551 รายได้ 24.7 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4.9 ล้านบาท

บริษัท เอเอสทีวี(ประเทศไทย) จำกัด ปี 2552 รายได้ 210.6 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท ปี 2551 รายได้ 232.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9 ล้านบาท

จากข้อมูลเห็นได้ว่าฐานะทางธุรกิจอันเสมือนกระเป๋าเงินของคนในครอบครัวยัง“ไม่ค่อยเสถียร”

การนำทัพขับเคลื่อนทางการเมืองรอบนี้ทุกย่างก้าวจึงเต็มไปด้วย “ความหมาย”

จะกล้าประกาศว่า“ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” เหมือนในช่วงเคลื่อนล้มรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช จนถึงรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือไม่

คงต้องลุ้นกันต่อไป?

ที่มา มติชน




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2553 15:32:25 น.
Counter : 629 Pageviews.  

ซีรีส์สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมืองตอนที่12:“ใจเย็นๆมันอาจไม่เห็นผลทันที”

ท่ามกลางกระแสขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่เพียงระอุอยู่ในอณูอากาศของประเทศนี้ หากแต่การปิดกั้นสื่อของรัฐที่กระทำต่อสื่อของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม นำมาซึ่งการหันไปฉวยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ที่เคยเป็นพื้นที่เล่นเกม หาเพื่อน และสนทนาวิสาสะให้กลายเป็นพื้นที่สื่อสารทางการเมืองไปด้วย

เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีตัวเลขผู้ใช้งานเติบโตขึ้น ซึ่งแม้จะไม่อาจเคลมได้ว่าทั้งหมดเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง หากแต่ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่ย้ายชัยภูมิทางการเมืองมาตั้งค่ายรบทางความคิดอยู่ในพื้นที่ออนไลน์เหล่านี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และคอลัมนิสต์ที่คนติดตามอ่านมีความหลากหลายทางอาชีพและสถานะทางสังคม มองว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวในโลกโลกออฟไลน์นั่นเอง ฉะนั้นแล้ว แม้ปรากฏความไร้ระเบียบในการถกเถียงแลกเปลี่ยน ก็เป็นสิ่งที่มันต้องเกิดขึ้นตามปกติ แต่คำถามคือ การศึกษาของไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลและข้อมูลเพียงพอหรือไม่ และปัญหาของความไร้ระเบียบเหล่านี้ มิใช่เรื่องที่สื่อใหม่จึงควรรับผิดโดยลำพังทั้งในประเด็นความแตกแยกทางการเมือง ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน และความปั่นป่วนสับสนนานา

ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการผู้นี้เห็นว่าไม่ควรไปตั้งความหวังอย่างใจร้อนว่าสื่อใหม่จะนำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการรับรู้ข่าวสารที่เปิดกว้าง แต่ถึงอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมมาถึงอย่างไม่อาจยับยั้งได้ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องเผชิญคำถามที่ท้าทายว่า พร้อมจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หรือไม่

1: สื่อใหม่และการท้าทายอำนาจ

อาจารย์เคยเขียนบทความว่าสื่อใหม่ทำให้การไหลเวียนข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง สภาพแบบนี้เป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า
เป็นหลักประกันนั้นแน่นอน แต่ตัวสภาพน่ะมันยังไม่ใช่หลักประกัน ผมอยากจะเลยตัวคำถามนี้ไปนิดหนึ่ง จริงๆ แล้ว การสื่อทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่ารูปแบบของการทำเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ มันเป็นสิ่งใหม่ที่สังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็หยุดความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ด้วย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะอินเตอร์เน็ตอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นในทุกมิติ เศรษฐกิจ การเมือง ถามว่าประเทศไทยสำนึกตัวเองว่าเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์กี่ปีแล้ว ผมว่าซัก 30 ปีแล้วมั้งที่มีคนพูดเรื่องโลกาภวัตน์ เรื่องว่าคุณไม่สามารถควบคุมอะไรต่างๆ นานาได้ ผ่านมาถึงวันนี้ ถามว่าคุณมีการเตรียมพร้อมในการเผชิญกับมันไหม

อินเตอร์เน็ตก็เหมือนกัน มันนำมาซึ่งสื่อสารมวลชนประเภทใหม่อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าแบบเก่า มันดีกว่าในบางเรื่อง แต่มันแย่กว่าในบางเรื่อง แล้วคุณไม่สามารถจะไปบอกมันว่า เราจะไปคุมมันได้เหมือนที่มีกฎหมายการพิมพ์ คนละเรื่องแล้ว ไม่ได้เลย

แต่เนื้อหาที่ปรากฏในออนไลน์ก็ไม่ได้โลกาภิวัตน์เสมอไป คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงนี้ คือชนชั้นกลาง และเว็บไซต์ที่เพิ่มจำนวนมากคือเว็บที่โจมตีคนเสื้อแดง นามสกุลที่ถูกใช้มากที่สุดในเฟซบุ๊กคือนามสกุลรักพ่อ รักในหลวง และพยายามบอกว่าคนเสื้อแดงหมิ่นเจ้า ต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์จากคนเสื้อแดง อาจารย์มองอย่างไร
ผมไม่แน่ใจนะ คงต้องมาเถียงกันว่าคนชั้นกลางคืออะไร ขอนิยามอย่างกว้างก่อนแล้วกัน ตอนเสื้อแดงชุมนุม ผมพบคนที่ผมเรียกว่า “ชาวบ้าน” เป็นแม่ค้าบ้าง อะไรบ้างเข้าอินเตอร์เน็ตแยะเลย ในต่างจังหวัดในช่วงเดือนสุดท้ายของการชุมนุม คนต่างจังหวัดสามารถรู้ข่าวสารการชุมนุมของเสื้อแดงได้ได้จากการที่วิทยุชุมชนถ่ายต่อจากอินเตอร์เน็ต หลังจากที่มันออกแบบปกติไม่ได้แล้ว เป็นต้น ฉะนั้น อินเตอร์เน็ตมันไมได้เพิ่มพลังกับคนชั้นกลางอย่างเดียว ถ้าคุณปล่อยมันโดยเสรี มันจะเพิ่มพลังให้กับคนอีกเยอะแยะ ตามแต่เงื่อนไขของแต่ละฝ่าย คนต่างจังหวัดอาจไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ทุกบ้านแต่เขาก็จะได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

2: ความรับผิดชอบ-ข้ออ้างของการดำรงสถานะ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มักมีคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความรับผิดชอบ มันเป็นคำถามที่ใช้ได้อยู่หรือเชยไปแล้ว
เชย เพราะมึงก็ไม่เห็นจะรับผิดชอบ ไอ้ที่เป็นสื่อกระแสหลักทุกวันนี้รับผิดชอบอะไรนักหนา ทีวีโกหกคุณทุกวัน คุณก็รู้อยู่ หนังสือพิมพ์ก็เหมือนกัน เอาเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย รถชนกันตายกี่ศพ ห้าฉบับยังไม่ตรงกันซักฉบับ

แปลว่าการถามหาความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีแล้ว
ไม่ใช่ อย่าไปนึกว่าความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ลอยอยู่เฉยๆ ทุกคนมีความรับผิดชอบตรงกัน คุณมองจากมุมหนึ่งคุณอาจเห็นว่ารับผิดชอบแล้ว แต่จริงๆ คุณไม่ได้รับผิดชอบ เอาง่ายๆ สื่อกระแสหลักทั้งโลกนี้เลยก็ได้ เคยสนใจความเดือดร้อน ปัญหา ความฝันของคนเล็กๆ บ้างไหม แล้วคุณมาพูดได้ยังไงว่าเป็นปากเสียงของประชาชนได้ไง หนึ่งในข้อดีของสื่ออินเตอร์เน็ตก็คือทำให้ความเห็นของคนเล็กๆ ทั้งหลายได้ปรากฏในที่สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะความเดือดร้อนอย่างเดียว ความเห็นเรื่องจะแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพยังไงก็มีคนพูดเยอะไปหมด จะดึงออกมามากกว่านั้นก็ยังได้อีก แท็กซี่บางคนเสนอว่าให้ยกเลิกไฟเขียวไฟแดงด้วยซ้ำ ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกันว่าแกกำลังคิดอะไรอยู่

มันไม่มีสูตรสำเร็จที่เราจะเชื่ออีกแล้วหรือ
เมื่อไหร่มีสูตรสำเร็จปุ๊บ คือการที่คุณกำลังยกอำนาจให้แก่คนบางกลุ่ม...เสมอ

นอกจากการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนแล้ว บางคนยังบอกว่าโลกอินเตอร์เน็ตมันละลายความอาวุโส กล้าวิพากษ์วิจารณ์นักวิชการ พระ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มากับสื่อออนไลน์หรือเปล่า
ผมไม่แน่ใจว่าอินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์เป็นตัวทำให้ระเบียบทางสังคมเสีย เพราะคุณจะคิดกลับกันก็ได้ว่าระเบียบทางสังคมได้ถูกทำลายไปแล้ว ไอ้สื่อออนไลน์มันอาจเป็นแค่ตัวสะท้อนความไร้ระเบียบนี้ออกมาก็ได้ การตัดสินว่าอันไหนเป็นเหตุอันไหนเป็นผลตัดสินทันทีไม่ได้ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าสังคมมันไร้ระเบียบ ไม่ว่าจะมีสื่อออนไลน์หรือไม่ มันหมดแล้ว ไอ้ระเบียบที่คุณเคยเชื่อถือ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและคนมีอำนาจต้องทบทวน หาทางปรับตัวกับสังคมที่ช่วงชั้นของคนเริ่มเบลอหายไปแล้ว ปรากฏการณ์นี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีอินเตอร์เน็ต ผมเห็นครูบ่นตั้งแต่สมัยผมยังทำงานเป็นครูว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีสัมมาคารวะ ช่วงขั้นระหว่างครูกับศิษย์มันเบลอแล้วมันก็เลยไม่มีสัมมาคาราวะแบบสมัยเรายังเด็ก แล้วการทำลายช่วงชั้นทางสังคมมันเกิดมาตั้งนานแล้ว และไอ้ตัวสื่อนี้มันสะท้อนมาชัด เพราะคุณสามารถปิดบังตัวตนของคุณได้ คุณสามารถด่าได้ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัว นักวิชาการ ดารงดารา

ไม่ได้มองว่าการโพสต์วิจารณ์แบบไม่เปิดเผยตัวนั้นคือการไม่รับผิดชอบ
แล้วทีคอลัมนิสต์ใช้นามปากกาเยอะแยะ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ

แล้วสื่อเก่าสะท้อนความไร้ระเบียบนี้ด้วยไหม
ถ้าอ่านสื่อทางเลือกที่เป็นสิ่งพิมพ์ คุณก็เห็นว่ามันมีการท้าทายอำนาจต่างๆ แยะมากเลย

แต่มันก็ไม่ปรากฏในสื่อหลัก
พวกสื่อใหญ่ๆ พวกนี้จะไม่มีวันเสี่ยง หรือเดินนำสังคม เพราะเขาต้องการทำกำไรกับสินค้าของเขา

แปลว่าสื่อออนไลน์เป็นแพะของความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว
เป็นแพะ เพราะมันตัวเล็กไง ถ้าบทความในประชาไทไปลงไทยรัฐ เขาไม่กล้าฟ้องหรอก แต่ประชาไทมันแมลง จะดีดมันออกเมื่อไหร่ก็ได้

สื่อออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบหรือ
ไม่ใช่ไม่มีความรับผิดชอบ อย่างน้อยมนุษย์ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อตัวเองถูกไหม ไม่ควรเขียนสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ แต่ถามว่าสิ่งที่คุณเขียนออกมาต้องถูกต้องดีงามตลอดรึป่าว ก็แล้วแต่มาตรฐานใครวัด ผมว่าระหว่างสื่อหลักกับสื่อออนไลน์ความรับผิดชอบมันก็พอๆ กันนั่นแหละ เวลาที่สื่อหลักบอกว่าตัวเองรับผิดชอบ ถามว่าคุณรับผิดชอบต่อผู้อ่านหรือนายคุณ เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับนึง เจ้าของหนังสือพิมพ์ให้เงินกู้ไปทำหนังด้วย คุณไม่สามารถเขียนวิจารณ์หนังเรื่องนั้นในทางไม่ดีได้ ถ้าคุณเป็นคนซื้อสัตย์ที่สุดก็แค่ไม่เขียนแม่งเลย แค่นั้นเอง

ฉะนั้น ความรับผิดชอบมันจึงไม่ง่าย แค่ว่ารายงานเท็จเรียกว่าไม่รับผิดชอบ ผมว่ามันถึงยุคที่เราทุกคนต้องระวังตัวเองแล้ว สื่อในปัจจุบันนี้ไม่ว่าสื่ออะไรก็แล้วแต่มันถูกแฉให้เห็นว่ามีอะไรเบื้องหลังกว่าสิ่งที่มันเสนอทั้งสิ้น ไม่ว่าออนไลน์หรือกระแสหลัก ต้องอ่านมันด้วยความระมัดระวัง และเราต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักใช้วิจารณญาณ ระมัดระวังในการรับสื่อทุกชนิดไม่ว่าออนไลน์หรือไม่ออนไลน์

คำว่าความรับผิดชอบ ถูกเอามาใช้เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกสั่นคลอนของสื่อหลักหรือเปล่า พูดอีกอย่างคือ อาจารย์มองว่าการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ไปสั่นคลอนการมีอยู่หรือคุณค่าของสื่อเดิมหรือเปล่า
ไม่เฉพาะสื่อหลัก เมื่อไหร่ที่คุณพูดถึงความรับผิดชอบมันเป็นเกราะป้องกันสถานะของทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็แล้ว เพื่อยืนยันปกป้องสถานะที่คุณมีอยู่ทั้งนั้นแหละ

3: สื่อใหม่กับคุณภาพของการถกเถียง คำถามคือ “ระบบการศึกษาเตรียมคนของเราในการมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน”


แล้วเราจะจัดการกับคนที่ถูกป้ายสีในเว็บบอร์ดยังไง เช่น มีคนมาด่าอาจารย์เสียๆ หายๆ อาจารย์ควรรู้สึกอย่างไร
ก็เฉยๆ

ทุกคนควรจะเฉยๆ ใช่ไหม
คุณมีวิธีตอบโต้เยอะแยะ ตอบโต้เขาไปถ้าได้ผล ฟ้องศาลก็ได้ถ้าคิดว่าคุ้มกับการปกป้องคุณ ก็เท่านั้นเอง แต่ประเด็นที่ผมต้องการพูดถึงที่สำคัญกว่าเรื่องการปกป้องตนเองคือ ถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกมาสิบยี่สิบปีแล้ว แล้วเราได้ปรับตัว ระบบการศึกษาเพื่อเตรียมคนของเราในการมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน ผมว่าเท่าเก่า แสดงให้เห็นว่าสังคมเรามันปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วเราก็หยุดความเปลี่ยนแปลงนั้นไมได้เหมือนกัน ดังนั้น เราเราเป็นคนที่น่าสงสาร เป็นคนอ่อนแอที่เมื่อเผชิญสื่อใหม่ ก็ตีกันเอง ร้อยแปดพันประการ

ตัวสื่อออนไลน์เองจะเป็นกระบวนการให้คนเรียนรู้ในการเท่าทันไหม
ตัวสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อโบราณสมัยพระเจ้าเหาก็ได้ ถ้าเราอยู่ในโลกปัจจุบัน คุณควรอ่านพระลอ ทวาทศมาส อะไรก็แล้วแต่ ด้วยวิจารณญาณมากกว่าเก่า ไม่ใช่ชื่นชมแต่ว่ามันใช้คำไพเราะ อันนั้นก็โอเค แต่ขณะเดียวกันต้องมีวิจารณญาณในด้านอื่นมากกว่านั้นด้วย ฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะสื่อออนไลน์จะมีประโยชน์ในการฝึก แต่มันอยู่ที่คุณฝึกคนให้มีวิจารณญาณ ละเอียดรอบคอบมากขึ้นกับทุกอย่าง จะสื่ออะไรก็ได้แล้วแต่

อาจารย์มีข้อสังเกตเรื่องคุณภาพของความเห็นของประชากรในโลกออนไลน์ไหม เช่น นักวิชาการหลายคนเตรียมตัวมาอย่างดี แต่พอเสนอในสื่อออนไลนัปั๊บ ความเห็นที่มากลับเป็นอะไรไม่รู้ บางทีถึงขั้นไปพูดเรื่องส่วนตัวของเรา
ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมไทย เพราะเราไม่เตรียมตัวคนของเราให้ดีพอ ผลคือ ไม่ว่าในสื่อกระแสหลัก ในสื่อออนไลน์ มันก็ไม่ต่างกันนะ คุณคิดว่าที่เขาเถียงกันในสื่อหลักเขาไม่งัดเรื่องส่วนตัว เรื่องนอกประเด็นขึ้นมาเถียงกันหรอกหรือ ทำอยู่ตลอดเวลา สะท้อนกลับไปดูในห้องเรียน ครูกับเด็กที่เห็นขัดแย้งกันเถียงกันเรื่องอะไร ก็อย่างนี้อีก นักวิชาการก็เหมือนกัน สภาพที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ปรากฏความเสื่อมโทรมเฉพาะในออนไลน์ มันปรากฏทั้งสังคม แต่ออนไลน์มันชัด คนเลยโจมตีออนไลน์

จะมองว่ามันเป็นด้านดีให้คนที่ถูกกดทับได้แสดงออกทั้งเหตุผลและอารมณ์ได้ไหม
อันนี้แน่นอนว่าคุณเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีพื้นที่ในทางสาธารณะ แต่ขณะเดียวกัน นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์ลุกมาด่าแม่คนอื่น พื้นที่สาธารณะที่เปิดขึ้นมันน่าจะเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์กว่านี้ แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่อยากพูดว่าคนพวกนี้มันแย่ เพราะพื้นที่อื่นๆ ที่คนมีอำนาจ คนดัง คนเด่นอะไรก็ตาก็ใช้พื้นที่ได้อีลุ่ยฉุยแฉกเหมือนกัน มันทั้งสังคม พอๆ กัน
ดังนั้น การบอกว่าคนใช้ออนไลน์เพื่อด่ากันได้เพราะไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง มันก็จริงส่วนหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคํญเท่ากับว่า เราจะสามารถแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ เรื่องส่วนตัว คำหยาบได้ไหม ปัญหาคือ เราต้องการแลกเปลี่ยนหรือต้องการสั่งคนอื่น บางคนเก่งหน่อยก็ไม่ใช้คำด่า บางคนไม่ค่อยเก่งก็ด่าเลย เราต้องการให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ หรือให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นแต่เราคิดว่าเขาผิดและต้องการแลกเปลี่ยน และเปลี่ยนความคิดเขาด้วยเหตุผลและข้อมูล

สภาพไร้ระเบียบแบบนี้ จะนำไปสู่อะไรในอนาคต
ถ้าเอาเหนือจากพื้นที่ออนไลน์ ก็คือ ตีกันแบบนี้

แปลว่ามันไม่ดี
ไม่ดี แต่การที่จะทำให้สิ่งไม่ดีเหล่านี้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปปิดกั้นเขา การเรียนรู้การใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ผมว่าเงื่อนไขอันแรกคือคุณต้องมีเสรีภาพ ไม่ใช่ปิดเสรีภาพแล้ว อะ กูจะไปสอนว่าจะใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ได้ลอยๆ คุณต้องยอมจ่าย

แปลว่าให้ตีกันไปก่อน
ไม่ใช่ให้ตีกันไปก่อน เมื่อไหร่ที่คุณตีกันเองไม่ถึงขนาดเลือดตกยางออก ก็ต้องปล่อย เพราะการที่คุณไปเที่ยวห้ามว่าเดี๋ยวเลือดตกยางออก อย่างโน้นอย่างนี้อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นอันว่าไม่มีโอกาสเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ต้องปรับตัวเองก็ไม่เรียนรู้ความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเอง

อย่างนั้นกระบวนการล่าแม่มดที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำความเข้าใจ
ไม่ใช่ๆ การล่าแม่มดไม่ได้กระทำบนพื้นที่ออนไลน์อย่างเดียว มันทำทั้งสังคม พื้นที่ออนไลน์เป็นแต่เพียงสะท้อนจิตใจ สะท้อนอารมณ์ของการล่าแม่มดออกมาชัดๆ เท่านั้นเอง

4: “ออนไลน์เป็นภาพสะท้อนโลกจริงในสังคมไทย”

เมื่อกี๊ที่อาจารย์พูดเรื่องปิดหน้าวิจารณ์ อาจารย์ต้องการให้เปิดหน้าในการถกเถียงใช่ไหม
ผมกำลังชี้ถึงประเด็นที่สำคัญกว่าไม่ว่าจะเปิดไม่เปิดหน้า เราเผชิญความขัดแย้งโดยไม่หันเข้าหาข้อมูลและเหตุผล มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราเอง เมื่อสังคมเปลี่ยนโลกเปลี่ยน เราไม่ยอมเปลี่ยนตาม

แล้วที่บอกว่าเราต้องยอมให้ตีกันก่อน มันโยงทั้งในโลกจริงและออนไลน์ไหม ตอนนี้การพูดเรื่องสันติวิธี การพูดเรื่องปรองดองมันเร็วไปไหม
ไม่เร็ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ใครพูด คนพูดคือคนที่ทำร้ายคนอื่นแล้วให้ปรองดอง ใครเขาจะฟังคุณ เรื่องปรองดองก่อนจะเกิดนาทีนั้น หรือหลังนาทีนั้นทันทีก็พูดเถอะ มันถูกต้องเสมอ ถูกทุกที แต่ใครพูด ไม่ใช่คุณ คนที่ไปฆ่าเขาตายแล้วบอกให้ปรองดองมันเป็นไปไม่ได้ เข้าใจไหม

ความสัมพันธ์ระหว่างโลกออนไลน์ กับโลกจริง มีส่วนเกี่ยวพันกันไหม เช่น มีคนบอกว่าการปล่อยให้เขาเถียงกันเอาเป็นเอาตาย จะไปลดทอนความรุนแรงในโลกจริงหรือไม่อีกด้านก็อาจเชื่อว่ามันยิ่งเพิ่มเชื้อให้ปะทุยิ่งขึ้น
ไม่ทั้งสอง ผมพยายามจะย้ำตั้งแต่คำถามแรก ผมไม่เชื่อว่าออนไลน์เป็นโลกต่างหาก เอางั้นดีกว่า ผมคิดว่าออนไลน์เป็นภาพสะท้อนโลกจริงในสังคมไทย ถ้าอย่างนั้น ถามว่าเราเลิกอินเตอร์เน็ตเลยทั้งประเทศ แล้วคนไทยจะรักกันมากขึ้นไหม ฉะนั้นเวลาวิเคราะห์อะไรบนออนไลน์ ผมไม่อยากเห็นเราแยกมันออกมาจากสังคม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแต่เพิ่มความสามารถคุณในการติดต่อกับคุณ ได้ยินได้ฟังได้กว้างขวางกว่าเดิม เป็นวางนินทาหรือวงสนทนาอันใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้คนไทยเลิกนับญาติกัน

ในมุมอาจาย์สองโลกมันล้อกันไปอยู่แล้ว
แน่นอน มันสะท้อนความสัมพันธ์แบบไทยออกมาชัดๆ เท่านั้นเอง

ความหมายถ้าจะนิยาม ออนไลน์คือพื้นที่หนึ่งในการแสดงความเป็นสังคมไทยออกมา
ใช่ แต่เป็นสังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้วนะ

แล้วออนไลน์ในฐานะเป็นสื่ออันใหม่ มันช่วยเสริมให้อะไรขับเคลื่อนไปเร็วขึ้นบ้างไหม
คืออย่างนี้ สื่อออนไลน์ทั้งหลายมันให้มุมมมองบางอย่างที่สื่อกระแสหลักจะไม่ให้ ถ้าเป็นประเทศที่เปิดเสรีภาพค่อนข้างมากอย่างอเมริกา คือ มันให้มุมมองคนเดินถนน คนทำงานนสพ.มันเป็นคนที่ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจเรียบร้อยแล้ว มันก็จะมองทุกเรื่อง โดยไม่ได้ตั้งใจนะ ในสายตาของสถานะนั้น แต่สื่อออนไลน์มันให้โอกาสคนธรรมดาๆ ได้แสดงความเห็นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ร้อยแปดพันประการ และถ้าคุณรับทั้งสองสื่อ คุณจะเห็นว่าสิ่งที่คุณรับรู้จากสื่อกระแสหลักมีมุมมองอีกมุม เป็นข้อดีแน่ๆ แต่ถามว่ามันจะช่วยผลักให้ประชาธิปไตยก้าวหน้ามากขึ้นไหม ผมว่ามันไม่.. มันก็ช่วยผลักในความหมายที่ว่าทำให้คนเล็กๆ ได้มีโอกาสพูด แต่มันทำให้คนศรัทธาประชาธิปไตยไหม ผมว่าไม่เกี่ยว ไม่น่าจะเกี่ยว

มันมีความต่างกันอยู่สองปรากฏการณ์ การล่าแม่มดในสื่อออนไลน์มีพลังมากในโลกจริง เทียบกับการล่าชื่อยกเลิกกฎหมายหมิ่นเป็นพันชื่อ กลับไม่มีความหมายเลย แปลว่ารัฐหยิบสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ
ไม่ใช่ (เน้นเสียง) ผมไม่คิดแบบเดียวกับคุณ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้อยู่ลอยๆ ไม่มีสถาบันทางสังคมใดในโลกนี้อยู่ลอยๆ การที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ก็เพราะว่ามันเชื่อมโยงกันกับผลประโยชน์สถานะของคนและสถาบันอื่นๆ ในสังคมล้อมรอบไปหมด เป็นสิ่งธรรมดา ถามว่านักการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยากจะรื้ออันนี้ไหม เขาไม่อยากรื้อ เขายังอยากรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมไว้ จะบอกให้เลิกนู่นเลิกนี้ ถามว่าเลิกแล้วจะสะเทือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม อาจสะเทือนหรือไม่สะเทือนก็ได้ แต่การสนับสนุนให้เลิกกฎหมายหมิ่นฯ ก็เท่ากับบอกว่าเราต้องปรับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมการเมืองเหล่านี้กัน อย่างน้อยก็นิดหน่อย ซึ่งทำให้เกิดศัตรูมากกว่าการจับแม่งดีกว่า อย่าลืมว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจับโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร มีคนไปแจ้งความ ตำรวจก็จับคุณ ตำรวจก็ต้องทำเรื่องขึ้นไป ไม่มีใครจะสอบสวนแล้วบอกว่ามันไม่เป็นคดีปล่อยมันกลับบ้านไป เพราะมันเสี่ยงกับตัวเอง ต้องเผชิญกับโครงสร้างที่มันผูกกันอยู่เยอะแยะไปหมด ตำรวจตัวเล็กนิดเดียว แม้สงสารคุณด้วยก็ต้องทำสำนวนส่งฟ้องอัยการ เดี๋ยวอัยการคงปล่อย อัยการดูเสร็จก็ว่าส่งให้ผู้พิพากษาดีกว่าว่ะ เข้าใจไหม ไม่มีใครหวังร้ายกับใครสักคน แต่ทุกคนอ่อนแอเกินว่าจะเผชิญกับโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่โตขนาดนั้น ไม่ใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่คือความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันของทั้งหมด

ทำไมบางเรื่องมีแรงกดดัน บางเรื่องไม่มี
เรื่องไหนที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขามองเห็น อยากให้เป็น เขาก็ใช้ อันไหนไม่สอดคล้องเขาก็ไม่ใช่

อีกประเด็นหนึ่ง สามสิบปีที่แล้ว สื่อทางเลือก เช่น หนังสือเล่มละบาท ทำให้นักศึกษารวมตัว ตอนนี้อินเตอร์เน็ตมีบทบาทแบบนั้นไหม หรือทำให้คนกระจายมากกว่ารวมตัว
เมื่อตอน 14 ตุลา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย เราทั้งหมด ซึ่งหมายถึง นักศึกษา คนชั้นกลางที่เกิดใหม่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีศัตรูอันเดียวกัน ผู้นำกลุ่มเล็กนิดเดียวที่มีอำนาจปืนในมือไม่ยอมปรับเปลี่ยน คุณต้องเปิดพื้นที่ให้คนเกิดใหม่เหล่านี้จะเปิดแค่ไหนอีกเรื่อง แต่ไม่ยอมเปิดเลย ผลก็คือคนเหล่านั้นก็ไม่พอใจ ในกลุ่มผู้มีอำนาจเองก็แตกกันเองด้วย

แสดงว่าสื่อไม่เกี่ยว
เกี่ยวสิ มองสื่อว่าบทบาทของสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน ตอนนั้นมันง่ายเพราะทุกคนสามัคคี ปรองดองกัน ยกเว้นทรราชย์ไม่กี่คน แต่ตอนนี้มันไม่ชัดขนาดนั้นนี่ครับ เพราะว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญเวลานี้ ผมคิดว่าความปรับตัวมันทำได้หลายอย่าง คุณคิดอย่าง ผมคิดอย่าง ซึ่งทำให้เราเห็นขัดแย้งกัน แต่แม้ศัตรูไม่ชัด แต่คุณต้องปรับตัวแน่นอนหลายเรื่อง แต่จะปรับอย่างไร เช่น ช่วงชั้นในทางสังคมไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน จะทำไง คนหนึ่งบอกต้องปลูกฝังความเคารพนบนอบ คนหนึ่งบอกครูต้องปรับตัว ไม่มีใครถูกหมด ผิดหมด

5: การขับเคลื่อนทางสังคมภายใต้สื่อใหม่-ลดอำนาจการครอบงำ

สรุปแล้วรัฐปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่รัฐ แต่หมายถึงคนมีอำนาจทั้งหมดในสังคม อาจรวมผมด้วย หรือทุกคน คนอย่างผมย่อมมีอาญาสิทธิ์บางอย่างทางสังคมอยู่ด้วย ถามว่าผมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีแค่ไหน อาจไม่ดีเท่าไรก็ได้ อาญาสิทธิ์ทั้งหมดมันถูกตั้งคำถามหมด

แล้วคนมีอาญาสิทธิ์ ถ้าฉลาดหน่อยจะปรับอย่างไรให้เข้ากับความไร้ระเบียบอันนี้
ความไร้ระเบียบนี้มันเกิดขึ้นในสังคมคุณนะ อาจไม่เกิดในสังคมอเมริกัน สังคมที่มันปรับตัวได้แล้วไม่เป็นไร คุณไปอ่านข้อถกเถียงในเว็บไซต์อเมริกัน มันไม่ได้ด่าอะไรเลย ไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แน่นอน บางคนเขียนสนุกหน่อยก็เขียนแบบล้อเลียน เยาะเย้ยนิดๆ ไม่ถึงกับด่า แค่พออ่านสนุก

แต่เป็นธรรมดาของรัฐที่จะกลัว และป้องกันความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์
ผมว่ารัฐไทยเป็นมากกว่าคนอื่น เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งสังคม เป็นตัวแทนของคนกลุ่มนิดเดียว ฉะนั้น การต้องการการปรับตัว อาจเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ แต่มึงไม่ใช่รัฐ

คนมีอำนาจปรับตัวไม่ทัน แต่ขณะเดียวกันโครงสร้างทางสังคมก็ทำให้คนในสังคมเกิดความหวาดกลัว
ไม่ใช่ ในทางตรงข้ามเขาออกมาท้าทาย แต่โครงสร้างมันไม่ยอมปรับ โครงสร้างมันถูกท้าทายแยะมาก เช่น คุณจะอ่านความท้าทายความชอบธรรมของสถาบันได้ไม่รู้กี่แห่ง ไม่ใช่ในสื่อหลัก ยิ่งอ่านภาษาอังกฤษออกยิ่งไปกันใหญ่ ไม่รวมใบปลิว ซีดี ทั้งหมดเล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คุณต้องปรับตัวเอง ไม่ใช่เที่ยวไล่จับ จับยังไงก็ไม่หมด ทำยังไงถึงจะปรับตัวเองได้ เผชิญกับความท้ายทายเหล่านี้ได้ ทุกกลุ่มที่อยู่ในอำนาจไม่ได้คิดว่าวิธีการแบบเก่าที่จะจัดการกับการท้าทายมันใช้ไม่ได้แล้ว ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันดีกว่านะ อาจโหดร้ายกว่าก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น

ขอยกตัวอย่าง กรณีการจัดงาน “เราไม่ทอดทิ้งกัน” ของศูนย์ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม “เมษายน-พฤษภาคม 2553” (ศปช.) ซึ่งหลังการจัดงานมีการวิจารณ์กันในเฟซบุ๊กและโต้ตอบกันจนแทบไม่เหลือแนวร่วม ก็เลยสงสัยว่าสื่อออนไลน์เป็นตัวทำลายความคิดชี้นำสังคมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไหม หรือแม้แต่เรื่องคณะกรรมการปฏิรูปก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เละเทะ
พูดง่ายๆ ว่าคุณกำลังถามผมว่าสื่อออนไลน์ครอบงำกว่าสื่อกระแสหลักใช่ไหม

มันไร้ระเบียบมากจนหาอะไรไม่ได้เลย
ถ้าการครอบงำไร้ระเบียบก็แปลว่าครอบงำน้อยลงสิ

แต่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร
ไม่จำเป็น

มันกระจัดกระจายจนไม่สามารถมีความเป็นเอกภาพ
อ้าว คุณอยากได้ความคิดชี้นำเหรอ (หัวเราะ) และผมคิดว่ามันเคลื่อนได้นะ แต่มันไม่ได้เคลื่อนแบบเก่าอีกแล้ว และแบบเก่ามันน่ากลัว เพราะมันเคลื่อนท่ามกลางความครอบงำ เคลื่อนแบบใหม่มันจะลดการครอบงำลงไปแยะ

ถึงที่สุด กรณีศูนย์คนหาย ตลกมากที่ไม่มีใครสามารถวิจารณ์การทำงานของศูนย์ฯ โดยอ้างคนอื่นได้เลย พูดได้เฉพาะในฐานะปัจเจก นี่มันเป็นประชาธิปไตยสุดๆ แต่มันดูไม่มีทิศทางว่าจะไปอย่างไร
อันนี้ควรจะอยู่ตลอดไป คือ มนุษย์มีความเห็นแตกแยกแตกต่าง ในที่สุดเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องเคลื่อน เขาจะคำนวณว่าจะลงทุนแค่นี้ เลยกว่านี้ไม่เอา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ ตอน พธม.เสนอมาตรา7 มีคนถอยออกมาไม่รู้เท่าไร เขาตัดสินใจลงทุนแค่นี้ ถ้ามากกว่าเขาไม่เอา ซึ่งก็ดีไม่ใช่เหรอ ผมว่าสังคมสมัยใหม่ก็ควรจะเป็นอย่างนี้มากกว่า เออ มึงไปไหนก็ควรจะไปกันตลอดทาง

ไทยเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วหรือ
คุณอาจไม่อยากเป็น แต่คุณหนีความเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วหรือ แล้วความเป็นสมัยใหม่คุณหมายถึงอะไร คุณนิยามว่าอะไร

นิยามคือ การใช้ทหารปราบประชาชน ไม่น่าถูกนิยามว่าเป็นรัฐสมัยใหม่
ทหารปราบประชาชน ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐโบราณเลยนะ เพราะมันไม่มีทหาร (หัวเราะ) มันปราบเฉพาะคนแข่งอำนาจกับมัน มันแค่ขูดรีดประชาชนอย่างเดียว รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากกว่ารัฐโบราณแยะ และนั่นเป็นเหตุผลที่เราถึงต้องหาทางคุมรัฐสมัยใหม่ให้ได้

มีทฤษฎีอะไรไหมที่จะอธิบายสังคมออนไลน์ หรือมีเรื่อง Chaos อย่างเดียว
ผมไม่เชื่อเรื่อง Chaos นะ และไม่รู้พวกทฤษฎีนัก แต่ดูตัวอย่างในอเมริกา มีการถกเถียงกันมากก่อนยุคออนไลน์ ช่วง ปี 1960 เรื่องสิทธิคนดำ อย่านึกว่ามาติน ลูเธอร์ คิง ไม่ถูกต่อต้านจากคนดำนะ แยะมาก ทั้งก่อนตายและหลังตาย ถึงที่สุดแล้วยี่สิบปีต่อมา แม้แต่คนดำเองก็ยอมรับว่าหนทางแบบสันติวิธีนั่นเหมาะที่สุดแล้ว จนทุกวันนี้ถามว่าคนดำเสมอภาคคนขาวยัง ก็ยัง มีการผลักดันกันให้เสมอภาคมากขึ้นอยู่ตลอด คุณใช้เวลาจำนวนหนึ่ง มาถึงจุดที่เห็นพ้องต้องกันว่า ควรเสมอภาคมากกว่านี้ และสอง เห็นว่าควรรักษาตัวโครงสร้างเอาไว้ ก็ต้องใช้สันติวิธีในการผลักดัน ผมว่าฉันทามติมันเกิดขึ้นได้ ถ้ามีโอกาส มีเสรีภาพในการถกเถียงกันเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และผมคิดว่าคนที่จะได้ผู้ฟังมากขึ้นคือคนที่ไม่ด่าลูกเดียว

สื่อออนไลน์ทำให้สังคมมีเหตุผลมากขึ้น
ไม่ใช่ สังคมพร้อมจะเรียนรู้การเอาชนะกันด้วยเหตุผล ถ้าเหตุผลชนะจริง แต่สื่อออนไลน์ค่อนข้างจะพิสูจน์แพ้ชนะชัดเจน เช่น หลายปีต่อมาจะเห็นเองว่าใครสาวกเพิ่มหรือลดแค่ไหน ฉะนั้น ใจเย็นๆ นี่พูดแบบคนแก่ มันอาจไม่เห็นผลทันที ในระยะยาวมันจะเริ่มมีผลขึ้นทีละนิดๆ เช่น ผมว่ามันมีการพูดถึงเรื่องกองทัพแยะมาก จะใช้วิธีคุมกองทัพอย่างไร จนเวลานี้ผมคิดว่าถ้ากองทัพไม่ปรับตัว โอกาสที่กองทัพจะรักษาความได้เปรียบ สิทธิประโยชน์ของตัวเองจะเหลือแคบเข้า หนึ่ง คุณต้องเลือกรัฐบาลแค่บางรัฐบาลที่ไม่อ่อนกับสังคมมากนัก หรือสองคุณต้องก่อรัฐประหารซึ่งยุ่งอีก อยู่ยากขึ้นเพราะมีการถกเถียงเรื่องต่างๆ มากขึ้น เช่น จีทีสองร้อย มันก็เป็นทางเลือกที่ไม่คล่องตัวกับปัจจุบันเท่าไร

แต่งบกองทัพเพิ่มเท่าตัว นักการเมืองแทบทุกพรรคไม่กล้าวิจารณ์ทหาร มันสวนกับที่อาจารย์บอก
ไม่ใช่ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ทันที ผมบอกว่าถ้ากองทัพคิดว่าจะอยู่รอดให้สบายใจมากขึ้นต้องปรับตัว แต่ถึงนาทีนี้ยังไม่เห็นการปรับตัวของกองทัพ

วิธีการบริโภคของคนเล่นเฟซบุ๊ก การอ่านอะไรสั้นมีผลต่อการเรียนรู้ไหม
มันมีทั้งข้อดีกว่า เสียกว่า เพราะคุณใช้ข้อมูลและเหตุผลในการยืนยันความคิดคุณได้น้อย คุณไม่สามารถอภิปรายความเห็น เหตุผล ข้อมูลได้อย่างตลอดทั้งระบบ หลายอย่างไม่มีการตรวจสอบเพียงพอ ดังนั้น อย่างที่บอกคนต้องถูกเตรียมให้รู้ว่าคุณต้องตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่าเดิม
การทำให้ข้อมูลค่อนข้างสั้น กระชับ ธรรมเนียมการเขียนอะไรให้สั้น และปราศจากข้อมูลเหตุผลเพียงพอมันขยายไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ด้วย มันทำให้คนปัจจุบันนี้ถูกสอนให้รู้มากกว่าคิด รู้ว่าเรื่องนี้มีคนพูดว่าอะไรจบ ไม่ต้องครุ่นคิด นี่เป็นข้อโจมตีอินเตอร์เน็ต ทีนี้ผมไม่ได้ตามอินเตอร์เน็ตมากพอ เหลืออายุไม่มากนักก็อ่านเท่าที่อยากอ่าน ยังอ่านของโบราณเยอะอยู่

ถ้าว่าความสั้นมีปัญหา วิทยุ โทรทัศน์ไม่ยิ่งกว่าหรือ อ่านซ้ำไม่ได้ด้วย
จริงแน่นอน แต่สื่อที่เป็นตัวหนังสือในทัศนะผมมันไม่ใช่สื่อแบบโทรทัศน์ เมื่อไหร่ที่อ่านหนังสือมันเปิดสมองคุณในการโต้เถียงอภิปรายมากกว่าทีวี นักสื่อสารมวลชนถึงบอกว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อร้อน และสื่อเย็นมันเหมาะกับการคิด วิจารณ์ ซึมซับความหมายซ้อน และเวลาเข้าอ่านเว็บไซต์ สันดานของสื่อร้อนมันครอบงำผม ผมเลือกอ่านข้ามๆ พอรู้ แล้วคลิ๊กใหม่ เพราะอะไรผมก็ไม่รู้ สำหรับผมมันร้อนชิบเป๋งเลย มีเว็บไซต์อะไรในโลกนี้ที่เป็นกลอนอย่างเดียว กลอนนี่อ่านทางหน้าจอได้ไหม (ยิ้ม) ถ้าผมอ่านทางเน็ตผมคงเก็บความไม่ได้ เพราะไหมไม่รู้

ข้อเสียอีกอันที่ฝรั่งเคยพูดถึงมาแล้วคือ อย่างน้อยสื่อกระแสหลักรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเรื่องให้คุณจับได้ ขณะที่เน็ตไม่ค่อยมี มันเป็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันทำให้คนไม่สามารถมองโลกอย่างมีความเข้าใจ มองเป็นจุดๆๆๆ เพราะไม่มีเรื่องข้างหลัง ฝรั่งมีสื่อออนไลน์ที่เป็นเว็บข่าวบอกเหตุการณ์สั้นๆ แยะมาก มันก็เป็นจุดๆๆๆ มันก็จะมองโลกแบบไร้เรื่อง มันก็อาจเกิดสภาวะรู้โดยไม่ได้คิด

ท่ามกลางการวิจารณ์ในโลกออนไลน์ ปรากฏว่าคนที่ผิวบางมากที่สุดคือสื่อและเอ็นจีโอ
เอ็นจีโอ ในทัศนะผม อยู่ในสภาวะที่เสี่ยงมากๆ เสี่ยงต่ออะไร ผมคิดว่าเสี่ยงต่อความไร้ความหมาย เพราะว่ากันจริงๆ เลย สิ่งที่น่าสนใจมากๆคือ PO (People’s Organization) ประชาชนก่อตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นองค์กรเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ประเทศแยะมาก และไม่ได้เอาเงินฝรั่งซักแดง ขณะที่เอ็นจีโอเริ่มนิยามตัวเองไม่ได้ว่าทำอะไร เอ็นจีโอฝรั่งจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เอ็นจีโอที่อธิบายตัวเองได้ดีๆ จะเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้ มีความรู้เฉพาะมากพอจะบอกชาวบ้านได้ แต่เอ็นจีโอที่ทำอะไรที่ชาวบ้านน่าจะทำได้เองจะเริ่มนิยามตัวเองลำบาก และเวลาโดนวิจารณ์เขาจะรู้สึกมากเพราะมันสะเทือนตัวตน

สื่อ มันคล้ายๆ คุณวิจารณ์อายิโนะโมะโต๊ะ เขาทำธุรกิจน่ะ เขากลัวยอดขายตกมากกว่า เขาขายความน่าเชื่อถือ คุณไปทำลายสิ่งเหล่านั้นเขาแล้วโฆษณาไม่เข้าทำไง มันกระเทือนมากนะ

ยกปรากฏการณ์หนึ่งคือ บก.มติชนออนไลน์ หลังถูกกล่าวหาว่าเริ่มแดง คนอ่านมากขึ้นมาก แต่โฆษณากลับลดลง
ผมว่าธุรกิจไม่กลัวแดงหรอก ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบทั่วไปหมด ฝรั่งก็พูดถึงอยู่ว่า นสพ.กระดาษไปไม่รอด พยายามผลักดันออนไลน์ ซึ่งบางฉบับประสบความสำเร็จ แต่โฆษณากลับเข้าไม่ถึง 25% ของสิ่งพิมพ์กระดาษ

ที่มา ประชาไท




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2553 3:23:46 น.
Counter : 448 Pageviews.  

ซีรีส์สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมืองตอนที่11:โลกอนาคตที่ไม่มีการผูกขาดความจริง

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นับเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนของไทยที่เริ่มหันมาสนใจและศึกษานิวมีเดียอย่างจริงจัง ในอดีตเขาเคยเป็นนักข่าวในเครือผู้จัดการในยุคพฤษภาเลือดปี 2535 ก่อนจะไปศึกษาต่อและมาเป็นอาจารย์สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จนกระทั่งปัจจุบัน และใช้เครือข่ายทางสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กสื่อสารกับผู้คน รวมถึงนักศึกษาของตัวเองอย่างใกล้ชิด


นิยาม ‘นิวมีเดีย’
มานะเริ่มต้นด้วยนิยามของนิวมีเดียว่าในแวดวงวิชาการปัจจุบันก็ยังเถียงกันอยู่ว่าควรจะใช้คำนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากอ้างอิงกับเทคโนโลยี เมื่อมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า สิ่งที่เรียกว่าใหม่ในขณะนี้ก็กลายเป็นเก่าได้เสมอ อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจทั่วไป คำว่า นิวมีเดีย หมายถึงสื่อดิจิตอลซึ่งเป็นเว็บไซต์แบบ 2.0 คือ เป็นยุคที่ผู้รับสารสามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและเผยแพร่เองได้ด้วย อีกทั้งยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสื่อสารแทบทุกวงการ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเฉพาะในแวดวงสื่อที่กำลังเผชิญความท้าทายและต้องปรับตัวอย่างหนัก

ที่ผ่านมา กรอบเดิมของ “สื่อสารมวลชน” นั้นอยู่บนฐานที่เห็นผู้บริโภค passive คอยรับอย่างเดียว ถ้าหากมีความไม่เห็นด้วยกับผู้ส่งสารก็อาจมีช่องทางสื่อสารเสียงของตนบ้างเพียงเล็กน้อย ทั้งยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ส่งสารเป็นหลักว่าจะให้ความสนใจแค่ไหน แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นได้เพิ่มอำนาจให้ผู้รับสารชนิดที่ในต่างประเทศถึงกับใช้คำว่า We’re the media. เพราะตัวเราสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง การทำเว็บไซต์ก็ไม่ยากเหมือนสมัยก่อนแล้ว หน้าที่ของคนทำสื่อแบบเดิมๆ ที่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด เหตุการณ์ไหนสำคัญพอที่จะเป็นข่าว หรือเรียกว่าการเป็น gate keeper จึงถูกลดบทบาทลงอย่างสำคัญ


เมื่อ ‘ความจริง’ ไม่ใช่ ‘เอกพจน์’ อีกต่อไป
“ปัญหาต่อเนื่องตามมาก็คือ ในอนาคตหรือกระทั่งตอนนี้จึงไม่มีใครผูกขาดความจริงชุดเดียวอีกต่อไป เมื่อผู้บริโภคโดยเฉพาะคนชั้นกลางสามารถส่งสารได้มากขึ้น เรื่องหรือเหตุการณ์หนึ่งๆ จึงไม่มีความจริงชุดเดียว ไม่แปลกว่า ในอนาคต ความขัดแย้งในสังคมไทย ถ้าเรายังมองในลักษณะของการถูก การผิด ทุกเรื่องก็จะมีปัญหา”
“ฉะนั้น ในอนาคต เราจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อมีความจริงหลายๆ ชุด เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร ที่จะเคารพความจริงอีกชุดหนึ่งหรืออีกหลายๆ ชุดที่แตกต่างจากเรา และจะเรียนรู้ได้อย่างไรว่าความจริงของเรามีจุดบกพร่องตรงไหน สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่าจะบังคับคนอื่นบอกว่าความจริงของคุณนั้นผิดของฉันถูกคนเดียว ซึ่งในอนาคตเป็นเรื่องยากแล้ว และจะเป็นปัญหามากขึ้นถ้าเรายังไม่สามารถบริหารจัดการความต่างตรงนี้ได้” มานะกล่าวและยกตัวอย่างว่า ดูจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ทุกคนพยายามบอกว่า ข้อมูลฉันถูก ข้อมูลเธอผิด ทุกฝ่ายเหมือนกันหมด และทำให้เถียงกันไม่จบ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ใช่ “ข้อยกเว้น” ที่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรูปแบบใหม่ในสังคมผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอยู่เพียงสังคมเดียว มานะบอกว่าในต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เพียงแต่เขาเรียนรู้ในบางเรื่องจนผ่านการยอมรับ มีการถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ขยายขอบฟ้าการวิพากษ์วิจารณ์ และยอมรับซึ่งกันและกันมากกว่าสังคมไทย

ทางออกเพียงอย่างเดียวที่เขานำเสนอ คือ ทำอย่างไร “เรา” จึงจะยอมรับว่ามันอาจมีความจริงที่หลากหลายมากกว่าความจริงหนึ่งเดียว เพราะเทคโนโลยีมันเปิดให้พื้นที่กับคนจำนวนมากสามารถให้ข้อมูล ทัศนคติ ความคิดเห็นที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ เครื่องมืออย่างนิวมีเดียจะขยายตัวทั่วถึงมากขึ้น ไม่ใช่ของคนชั้นกลางเท่านั้น คนชั้นล่างจะมีโอกาสใช้มันสื่อสารได้มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มพลังหรือเปิดความจริงได้อีกมากมายหลายชุด ซึ่งนั่นอาจยิ่งท้าทายสังคมไทยหนักกว่าเดิม

ขณะที่หลายคนกังวลว่าสื่อใหม่อาจเป็นตัวกระพือความขัดแย้งให้หนักหน่วงขึ้น มานะมองว่าเป็นเรื่องปกติและต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ แม้ไม่มีใครรู้ว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านด้านการสื่อสารนี้จะกินเวลายาวนานเท่าใด

“มันต้องเรียนรู้ และคงมีช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่เหมือนกัน พอมีสื่อใหม่ ความจริงไม่ได้มีชุดเดียว ความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งยึดกุมความจริงแน่นหนาเท่าไรยิ่งมีปัญหา สงครามในเฟซบุ๊กเกิดขึ้นก็เกิดจากการยึดกุมความจริงของแต่ละฝ่าย ผ่านคลิป ยูทูป ยังไม่นับการดัดแปลง ตัดต่อ ล้อเลียน ที่นิวมีเดียสามารถทำได้หมด นั่นคืออีกระดับ ต้องเรียนรู้เรื่องการเท่าทันสื่อดิจิตอลมากขึ้นด้วย” อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์กล่าว


โลกเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน...รัฐไม่ (เคย) เปลี่ยน
ในสถานการณ์ความขัดแย้งอันแหลมคม แม้ว่าหลายคนจะมองว่า สื่อใหม่มีบทบาทในการทำความจริงให้หลากหลาย แต่ความน่าเชื่อถือก็ยังคงรวมศูนย์อยู่กับสื่อดั้งเดิม เสมือนมวยคนละรุ่นโดยเฉพาะในเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่ มานะไม่กังวลกับประเด็นดังกล่าวเพราะเห็นว่าสื่อใหม่ไม่ได้มีกลุ่มเดียว เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียวเช่นกัน ดังนั้น ต้องมองกว่ามันไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างสื่อใหม่กับสื่อกระแสหลัก ในความขัดแย้ง แต่สื่อใหม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของทุกฝ่าย

แม้แต่รัฐเองก็กระโดดเข้ามาพยายามควบคุมในโลกใหม่ใบนี้ เช่น การออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกำลังอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อควบคุมโลกออนไลน์อีกหลายฉบับ แต่เขามองว่า อย่างไรเสียรัฐก็ยังคงตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และไม่มีทางประสบความสำเร็จในการควบคุม

“ถึงที่สุดรัฐยังใช้ตรรกะในการควบคุมข้อมูลข่าวสารแบบเดิม เหมือนหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี แต่สื่อใหม่มันไม่ใช่ มันขยายตัวเร็วมาก ปากต่อปาก เป็น viral ต่อให้มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ยังถูกใช้ด้วยตรรกะแบบเดิม ซึ่งมันไม่สามารถหยุดความคิดเห็นที่แตกต่างได้อยู่แล้ว พอเป็นไปไม่ได้ ยิ่งกระพือให้ความขัดแย้งมากขึ้น แสดงความคิดเห็นรุนแรงขึ้น หรือสร้างเป็นเครือข่ายได้มากขึ้นด้วยซ้ำไป อันนี้ต้องบอกว่ารัฐทุกยุคสมัย เพื่อความแฟร์ว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐยุคนี้ เป็นกรอบคิดของคนมีอำนาจที่พยายามควบคุมไม่ให้มีความเห็นที่แตกต่าง เชื่อว่าความจริงต้องมีชุดเดียว ประวัติศาสตร์ต้องมีชุดเดียว โดยอ้างว่าเพื่อความสุขสงบของสังคม ในอนาคตมันจะไม่ใช่แบบนี้อีกต่อไป”

อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่ารัฐไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็คือ การกระโดดเข้ามาเล่นและแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบกันเองภายในสังคมไซเบอร์ ซึ่งมานะเห็นว่าสื่อใหม่มีการควบคุม ตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติของการสื่อสารสองทาง แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีการสร้างบรรยากาศการตรวจสอบกันเองที่น่าห่วงกังวล เช่น ขบวนการล่าแม่มด หรือโซเชียลแซงชั่นที่ไล่ล่านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่สังคมนั้นเห็นว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงมาเปิดเผยเพื่อหามาตรการจัดการทางสังคม แต่ถึงที่สุด มานะเห็นว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่กลายเป็นต่างคนต่างล่ากันและกัน โดยมีรัฐเข้ามาขยายปัญหาด้วยการนำข้อมูลดังกล่าวไปทำการจับกุมดำเนินคดี

“มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่พอเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านมันก็เป็นเรื่องที่คนลองผิดลองถูก ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายเดียวอย่างที่เข้าใจ คำถามคือ ไม่ว่าฝ่ายไหนทำมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งคู่มากกว่า ผมเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วเขาก็จะเรียนรู้กัน ฉันทำเธอได้ก็จะถูกทำบ้าง ถึงจุดหนึ่งจะเรียนรู้ว่าไม่ควรทำแบบนี้ ควรจะเถียงกันดีกว่า แต่ปัญหามันเกิดเพราะรัฐเข้ามายุ่ง”

ความท้าทายต่อ “มืออาชีพ”
ไม่เฉพาะกับรัฐ สื่อใหม่หรือโซเชียลมีเดียยังท้าทายต่อบทบาทของนักข่าวและความเป็นสถาบันของสื่อสารมวลชนอีกด้วย

เขามองว่าเครดิตของนักข่าวก็ถูกตั้งคำถามเยอะ เนื่องจากความจริงเกิดจากการกลั่นกรองของนักข่าว ผ่านทัศนคติส่วนตัว หรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่ครอบงำโดยโฆษณา องค์กรรัฐ ทำให้ที่ผ่านมาผู้บริโภคไม่แฮปปี้กับข้อมูลข่าวสารที่ออกมานัก และมีการวิพากษ์วิจารณ์ กระแทกกันหนักๆ อยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเสียงดังขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ที่ใครๆ ก็สามารถทำเสนอข้อมูล มุมมองตัวเองขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน citizen journalist หรือนักข่าวพลเมืองถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างเป็นทางการและเป็นที่จับตามองอย่างยิ่งในแวดวงการสื่อสาร แม้ว่าในระยะแรกจะโดนดูถูกจากสื่อกระแสหลักในเรื่องความเป็นมืออาชีพ ความเที่ยงตรงของข้อมูล ความเป็นกลาง ความสมดุลของข่าว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักข่าวพลเมืองทุกแห่งในโลก

แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักข่าวพลเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางเริ่มขยายตัวขึ้นมาก พร้อมๆ กับมีการพัฒนาการทำข่าวอย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทุกประเทศมีแนวโน้มเช่นนี้ กระทั่งสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN หรือหลายๆ แห่งก็ต้องมีพื้นที่เฉพาะรองรับนักข่าวพลเมือง


โฉมใหม่การสื่อสารโลก นักข่าวอาชีพ + นักข่าวพลเมือง
เขาเล่าเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลายๆ แห่งเริ่มมีการปรับตัวในการร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างนักข่าวพลเมืองและนักข่าวอาชีพ ตัวอย่างอันลือลั่นก็เช่น โครงการวิกิลีค (Wikileak) ที่มองกันว่าเป็นการทำงานของแฮกเกอร์หรือพวกเจาะข้อมูล หรืออาจเป็นพวกที่อยู่ในวงราชการของประเทศต่างๆ ส่งข้อมูลมา ผ่านกระบวนการบางอย่างกระทั่งเกิดผลกระทบต่อกระแสสังคมวงกว้าง ทั้งนี้เพราะวิกิลีคไม่ได้เปิดประเด็นบนเว็บไซต์ของตัวเองแล้วจบ แต่เปิดผ่านสื่อกระแสหลัก โดยให้ข้อมูลบางส่วนไปก่อนเพื่อให้นักข่าวไปทำการบ้านต่อ เช็คต่อ ขยายประเด็นต่อ แล้วนัดเวลาในการเปิดข่าวพร้อมๆ กัน ซึ่งนับเป็นการร่วมมือกันในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่น่าสนใจ ผสานกับนักพัฒนาที่คอยดึงและกระจายข้อมูล กับดีไซเนอร์ที่ทำหน้าที่ย่อยข้อมูลยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย หรือที่เรียกว่า Info Graphic
“ที่อเมริกาเพิ่งประชุมกันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรียกว่า data journalism หรือ data driven journalism และที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ไปประชุมที่เยอรมนี นั่นก็เป็นการคุยเรื่อง data journalism เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ต่อไปจะไม่มีโต๊ะข่าวเศรษฐกิจ การเมือง แต่จะเปลี่ยนเป็นกองได้เงิน กองไม่ได้เงิน กองที่เอาคอนเทนต์มาแล้วแปลงเป็นสารในสื่ออื่นต่อ เช่น สื่อวิทยุ”

เขายังหยิบยกกรณีที่สื่อกระแสหลักในบางประเทศเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทั่วไปมาร่วมมือกันผ่านเทคโนโลยีบางอย่าง ซอฟต์แวร์บางตัว เพื่อร่วมกันทำข่าวสืบสวนบางเรื่อง เช่น สื่อในอังกฤษค้นข้อมูลการใช้เงินของ ส.ส.แล้วก็ออกแบบคล้ายโอเพ่นซอร์สเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาโหลดไฟล์ไปช่วยกันเช็คดู เพราะข้อมูลมีเยอะมาก หรือบางพื้นที่ก็จัดโครงการขึ้นมาให้คนธรรมดาทั่วไปร่วมมือกับนักข่าวในการนำเสนอข่าวในพื้นที่มากขึ้น นับเป็นการทดลองทางด้านวารสารศาสตร์แบบใหม่ที่กำลังก่อตัว

ถามว่าปลายทางของนักข่าวพลเมืองจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือเหมือนนักข่าวอาชีพหรือไม่ มานะตอบว่า “ไม่จำเป็น เสน่ห์ของคุณก็คือแบบนั้นแหละ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด ไม่จำเป็นต้องมีความจริงชุดเดียว มีหลักสูตรการเขียนข่าวชุดเดียว มันมีการตั้งคำถามกันในแวดวงวารสารศาสตร์เหมือนกัน แล้วผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในหลายๆ แห่งก็สรุปออกมาว่า Journalism ก็คือการเล่าเรื่อง เพียงแค่คุณเล่าเรื่องผ่านอะไร เล่าเรื่องผ่านวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร นักข่าวก็คือนักเล่าเรื่องนั่นแหละ แล้วก็เอาข้อมูลมา บางคนเล่าแล้วใส่สีตีไข่ บางคนเล่าสั้นๆ บางคนเล่าแล้วมีอารมณ์ แล้วแต่เทคนิค ให้รู้ว่าแก่นของเรื่องมันคืออะไร”

ที่สำคัญ เขายังไม่เชื่อเรื่องฐานันดรของสื่อมวลชนด้วย “ถ้ามันมีก็คงเพราะรู้สึก หรือสถาปนากันไปเองว่ามันมี”

ถึงกระนั้น ในแวดวงสื่อสารมวลชนกระแสหลักก็เริ่มมีการปรับตัวในด้านการควบคุมจริยธรรมที่เข้มข้นมากขึ้นให้เท่าทันกับเทคโนโลยี โดยเขาเพิ่งได้เข้าร่วมในการร่างจริยธรรมผู้สื่อข่าวออนไลน์ร่วมกับสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะนักข่าวก็เริ่มหันมาใช้สื่อใหม่หรือเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ทั้งในการหาข่าว คุ้ยข่าว หรือสร้างข่าว และผู้คนที่ติดตามนักข่าวคนนั้นๆ ก็ไม่ได้ตามในฐานะที่เป็น นาย ก. นาย ข. แต่ติดตามและเชื่อถือในฐานะที่เป็นนักข่าว

ท้ายที่สุด เราถามเขาถึงเรื่องของแวดวงการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน คำตอบมีเพียงสั้นๆ ดังคาดว่า ระบบการศึกษาก็เป็นแชมป์รองลงมาจากรัฐ เพราะยังตามไม่ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง มีเพียงสถาบันบางแห่งที่เพิ่งเริ่มต้นในการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันยุคสมัยทันนักศึกษาของตัวเองมากขึ้น

“หลักสูตรมันปรับไม่ยากหรอก แต่คนสอนน่ะปรับยาก ยากมาก” มานะเล่าขำๆ แต่สะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ยังแก้ไม่ตกและยังขาดแคลนการถกเถียงกันในสังคม

ที่มา ประชาไท




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2553 2:59:48 น.
Counter : 700 Pageviews.  

ซีรีส์สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมืองตอนที่10:ความเห็นของประชาชนไม่ใช่ภัยความมั่นคงของชาติ

ทิวสน สีอุ่น เว็บมาสเตอร์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ว่ายังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งแนวทางการตีความคำว่า “ความมั่นคง” อย่างกว้างเป็นปัญหาหลักของเสรีภาพในโลกออนไลน์

ทิวสน สีอุ่น เป็นเว็บมาสเตอร์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต //thainetizen.org/ ตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อน (2552) ขณะยังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ในสาขาวิศวกรรมการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน นอกจากการเป็นเว็บมาสเตอร์แล้ว ยังรับหน้าที่คอยติดตามเก็บข้อมูล เข้าฟังคดีต่างๆ ซึ่งถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประเด็นที่สนใจคือ การรณรงค์ให้ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม เพียงแต่หลายคนอาจไม่รู้ถึงข้อมูล และแม้ว่าผู้ใช้อาจไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่หากไม่ป้องกันก็อาจมีโอกาสที่จะถูกสวมรอยและนำเอา ID ไปใช้ในการทำผิดได้

เสรีภาพมาช้ากว่าที่คิด และความมั่นคงถูกตีความอย่างกว้าง

ทิวสนเขียนบล็อก //tewson.com/ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาบอกเหตุผลที่มาร่วมงานกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า เป็นเพราะเขาเห็นว่าพื้นที่นี้ควรเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ แต่ในความจริงกลับมิใช่เช่นนั้น เสรีภาพในโลกออนไลน์ของไทยมาช้ากว่าที่เขาคิดไว้มากทีเดียว

“อาจจะเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตมันใหม่ คนก็เลยต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กับมันสักพัก แต่ผมคือคนที่อยู่กับมัน เป็นคนที่คุ้นกับมัน ก็อาจจะสามารถช่วยให้คนอื่นคุ้นชินกับมันได้มากขึ้น”

ในฐานะคนทำงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ทิวสน จับประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำให้เขาเห็นว่าปัญหาหลักๆ ก็คือมาตรา 14 ที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต และมาตรา 15 ว่าด้วยความรับผิดของตัวกลางหรือผู้ให้บริการ*ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ถูกใช้คือเรื่องของความมั่นคงและการละเมิดสถาบันหลักของชาติ

เขาติดตามกรณีที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแล้ว 2 กรณีหลักๆ คือ “เบนโตะ” ซึ่งถูกฟ้องในฐานะผู้ใช้ ตามความผิดมาตรา 14 และจีรนุช เปรมชัยพร ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ตามความผิดมาตรา 15

กรณีของ ‘เบนโตะ’ นั้น มีการโพสต์ข้อความลงในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 และผู้โพสต์ถูกจับกุมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ทิวสนบอกเหตุผลว่าคดีนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็นตัวอย่างความกำกวมของมาตรา 14 ที่ตีความเรื่องความมั่นคงอย่างกว้าง

“ตำรวจพบการโพสต์นิยายบนเว็บประชาไท แล้วก็มีการตีความว่าเป็นเรื่องอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ จึงไปขอข้อมูลจากผู้ให้บริการและสืบสาวราวเรื่อง จุดเด่นของคดีคือ เริ่มแรกนั้น การตีความ หรือคนที่ตีความเป็นคณะกรรมการพิเศษซึ่งเป็นตำรวจ และกรรมการนี้ตัดสินว่าเนื้อหาที่ปรากฏเป็นภัยต่อความมั่นคง จากนั้นตำรวจก็ขอหมายศาล”

ปัญหาใหญ่ คนไม่รู้สิทธิและวิธีปกป้องตัวเอง

ข้อสังเกตของทิวสนคือ คณะกรรมการชุดนี้ เป็นภาพแห่งความโปร่งใสในการดำเนินคดี ว่ากองปราบไม่ได้ดำเนินคดีเอง แต่มีคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหา ซึ่งเมื่อเราถามถึงความโปร่งใสหรือไม่ หรือความชัดเจนในการตีความเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายแล้ว เขาตอบเบาๆ ว่า

“จะพูดอะไรได้มากล่ะ ผมคิดว่ามันเป็นแค่การประทับตราเนื้อหาที่เขาเชื่อว่าหมิ่นฯ คณะกรรมการนี้มีหรือไม่ก็มีค่าเท่ากัน แต่ถ้ามีกรรมการชุดนี้ ตำรวจก็มีข้ออ้างที่มีน้ำหนักขึ้นว่ามีการผ่านพิจารณาของคณะกรรมการ”

ประเด็นต่อ คือ ขณะที่มีการจับกุม ผู้ต้องหาไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ทั้งเรื่องการมีทนายความขณะให้ปากคำ และการปกป้องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นหลักฐาน

“คนที่เป็นผู้ต้องหาเขาไม่รู้ว่าเขาควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เช่น การเก็บหลักฐาน มีแนวปฏิบัติอยู่ แต่ปัญหาคือคนทั่วไปไม่รู้ ทำให้เขาไม่สามารถปกป้องสิทธิตัวเองได้ คือกรณีของพี่จิ๋ว (จีรนุช เปรมชัยพร) โชคดีเพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อยู่ด้วย แต่กรณีเบนโตะ ตำรวจแค่ติดสติ๊กเกอร์รอบๆ แล็ปท็อป ตอนให้ปากคำ ผู้ต้องหาไม่มีทนาย ไม่มีคนให้คำปรึกษาในเชิงเทคนิค ตำรวจอ้างว่า ติดสติ๊กเกอร์แล้วไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วฮาร์ดดิสก์ก็ถอดออกได้ ซึ่งอาจจะฟังดูน่าเชื่อถือในชั้นพิจารณาคดีก็ได้”

คำว่า “ติดสติ๊กเกอร์” รอบๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหานั้น ทิวสนอธิบายขยายความว่าหมาย ถึงการเอาเทปกาวติดรอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นการปิดผนึกเพื่อการันตีว่าจะไม่มีการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการ กับข้อมูลเพิ่มเติมในระหว่างที่ถูกอายัด ซึ่งนั่นไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่า คอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหาจะได้รับการจัดเก็บเป็นหลักฐานอย่างปลอดภัยแล้ว เพราะอาจมีการเพิ่มเติมข้อมูลลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้แม้ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นจะไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของผู้ต้องหาแล้วก็ตาม

“ที่เป็นปัญหาคือจำเลยและทนายไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยี ก็น่าจะลำบาก จำเลยเป็นคนมีการศึกษาก็จริง แต่ไม่รู้เรื่องเชิงเทคนิคมากเพียงพอที่จะปกป้องตัวเอง เช่น ไม่รู้ว่าตำรวจควรจะทำอย่างไรกับคอมพิวเตอร์ตัวเองได้บ้างถึงได้ปล่อยให้ยกไปง่ายๆ และตอนที่ตำรวจมาจับก็ยอมขึ้นรถตู้ไปกับตำรวจ ซึ่งเขาน่าจะรู้ว่าเขามีสิทธิได้ปรึกษาทนายก่อน”

เมื่อเราถามว่าตำรวจทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ของจำเลยได้บ้าง

“ก็ถอดฮาร์ดดิสก์ออกไป ใส่ใหม่ได้ และคดีนี้ก็มีการอ้างหลักฐานเป็นเมมโมรี่สติ๊กด้วย ซึ่งมันปิดผนึกไม่ได้ ข้อที่น่ากังวลสำหรับคดีแบบนี้คือการเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปในภายหลัง เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ผมไม่ได้บอกว่าตำรวจจะทำนะ”

ทิวสนกล่าวยืนยันว่าจากการค้นข้อมูลของเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวทางปฏิบัติอยู่ รวมถึงมีเครื่องมือในการปฏิบัติการจัดเก็บหลักฐานอย่างปลอดภัยด้วย แต่เขาพบว่าการปฏิบัติของตำรวจในแต่ละคดีกลับไม่ได้เป็นไปบนมาตรฐานเดียวกัน

“เท่าที่ติดตามดูพบว่าตำรวจมีความรู้ทางเทคนิคเพียงพอที่จะจัดการ ดูจากกรณีที่พี่จิ๋ว (จีรนุช เปรมชัยพร) ซึ่งตำรวจปฏิบัติอย่างดี อยู่ที่จำเลยรู้หรือไม่รู้ แต่ผมจะพูดว่าตำรวจทำไม่เหมาะสมได้หรือเปล่า หรือเป็นเรื่องของผู้ต้องหาควรรู้และปกป้องตัวเอง”

ในเรื่องนี้ เขาเองในฐานะของคนทำงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรณรงค์ให้คนเข้าใจโดยเร็ว “สิ่งที่ต้องรู้ คือ มีเกณฑ์วิธีระเบียบในการอายัดเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเกณฑ์ปฏิบัติของตำรวจ ซึ่งคนทั่วไปควรจะได้อ่าน”

ความคืบหน้าคดีเบนโตะ ทิวสนบอกว่า อยู่ในขั้นตอนสืบพยานจำเลย ในชั้นศาล

มาตรฐานการปฏิบัติในชั้นสืบสวนสอบสวนไม่เป็นอย่างเดียวกัน

อีกคดีที่ทิวสนติดตามอย่างใกล้ชิด คือคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเขาเรียกว่า “พี่จิ๋ว” เขาบอกว่า ความน่าสนใจของคดีนี้ก็คือ การเป็นตัวกลางหรือผู้ให้บริการแล้วถูกดำเนินคดี ซึ่งกรณีตัวกลางเท่าที่เป็นที่รับรู้มี 4 ราย คือ ‘พระยาพิชัย’, กรณีของจีรนุช, เว็บมาสเตอร์ 212 cafe ซึ่งถูกฟ้องร้องเนื่องจากมีคนโพสต์รูปโป๊เปลือย และคดีล่าสุดคือ ‘นปช. ยูเอสเอ’

“ที่น่าสนใจก็คือประชาไทก็มีชื่อเสียงในแง่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เมื่อโดนคดีนี้จึงน่าสนใจว่าเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า และอีกประเด็นคือ โดนจับเพราะเป็นตัวกลางจริงๆ ไม่ได้ทำเอง ก็เลยเข้ากระแสเรื่องความรับผิดของตัวกลาง ในต่างประเทศก็มีปัญหานี้เหมือนกัน และก็ยังมีการจับกุมครั้งที่สองที่ประหลาดมาก”

ทิวสนตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของจีรนุชนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหามากกว่าคดีเบนโตะ ส่วนหนึ่งเขาเชื่อว่าเพราะมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อยู่ด้วยคือตัวเขาเองและอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ตอีกราย

ในแง่ของการตีความกฎหมายหรือกระบวนการดำเนินการ ทิวสนมองว่าถ้าได้อ่านคำฟ้องจะเห็นว่าเป็นการเอาเนื้อหาที่มีผู้โพสต์เป็นนิยายมาตีความ เหมือนกับอ่านใจคนเขียนหรือเดาใจคนเขียน

“ก็เลยดูเหมือนว่า ถ้าจะตีความกันแบบสุดๆ ก็ทำได้ แต่ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง คือถ้าอยากจะจับก็ตีความให้จับได้ และอีกอย่างคือ ตอนที่มาจับแจ้งข้อหาจากกระทู้เดียวแล้วตอนฟ้องก็ไปเอาอีก 9 กระทู้มาซึ่งเป็นกระทู้ที่อายุมากแล้ว และปรากฏอยู่เพียงแค่วันสองวันบนหน้าเว็บ เหมือนเป็นการพยายามหาข้อหามาเพื่อให้โดนสักข้อหาหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่ากันเหนียวหรือเปล่า แต่ก็สงสัยทำไมถึงเพิ่มกระทู้เหล่านี้เข้ามา”

สำหรับทิวสนแล้ว ทั้งกรณีของเบนโตะและจีรนุช เป็นการถูกฟ้องร้องโดยกฎหมายฉบับใหม่ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งยังไม่มีการตีความอย่างจริงจัง ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตควรปฏิบัติคือ ความระมัดระวังเรื่องความสุ่มเสี่ยงในข้อความที่ตัวเองโพสต์

“ผมเข้าใจว่าเราศึกษาวิธีเขียนถึงเรื่องสุ่มเสี่ยงได้จากนักวิชาการ ว่าพูดอะไรได้บ้าง อย่างกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างในการโพสต์ข้อความได้รัดกุม”

อีกประการหนึ่งก็คือ การซ่อนตัว

“เมื่อเรารู้ว่ามีกฎหมายอย่างนี้อยู่ เราก็สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของเราได้โดยวิธีการหลายอย่างที่ทำให้เราไม่สุ่มเสี่ยง ถ้าผมพูดไปก็เหมือนชี้ช่อง แต่คุณสามารถใช้พร็อกซี่ได้”

แต่การแก้ปัญหาแบบนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหลักหมดไป ทิวสนมองว่า สาระสำคัญของมาตรา 14 และ 15 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ก็คือ “คนโพสต์สามารถปกปิดตัวตน ถ้าจับคนโพสต์ไม่ได้ ตัวกลางก็จะซวย” และนั่นก็กลับมาสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ให้บริการ ดังนั้นทางออกที่เขามองเห็นก็คือต้องแก้กฎหมาย

ความขัดแย้งทางการเมืองกับปัญหาเสรีภาพออนไลน์

เมื่อถามถึงบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำรงอยู่ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทยอย่างไรบ้าง ทิวสนตอบบนฐานของประเด็นรณรงค์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า

เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีประเด็นรณรงค์หลัก 5 เรื่องคือ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว ความรับผิดชอบ และความเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่นี้ส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของเครือข่าย 3 ประเด็นหลักๆ คือ กระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งที่ผ่านมามีการบล็อคข้อมูลข่าวสารอย่างมโหฬาร กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งมีการพยายามจับผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นที่ชอบใจของรัฐบาล และกระทบความเป็นส่วนตัว คือมีกระบวนการโซเชียลแซงชั่นเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งส่งผลมาสู่โลกออฟไลน์ ทำให้มีคนโดนจับกุมด้วยความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 แล้ว 2 ราย

แต่แม้จะมีกฎหมายและการปฏิบัติที่เข้มงวดอย่างที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทิวสนกลับมองว่า วิธีการที่รัฐใช้ในการควบคุมความเห็นอันไม่พึงประสงค์อย่างที่กำลังทำอยู่นั้นช่างไร้ประโยชน์ เพราะเขาเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่พื้นที่ที่จะควบคุมได้ และรังแต่จะสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับสิ่งที่ไม่คุ้มต้นทุนที่ต้องจ่าย

“โดยฟังก์ชั่นแล้วอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ เพราะฉะนั้นอย่ามามัวเสียเวลามาควบคุมมันเลย นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกออกไป ก็คือสุดท้ายแล้วคุณทำอะไรกับมันไม่ได้หรอก นอกจากจะทำให้มันช้าลง ซึ่งท้ายสุดมันก็ไม่อาจจะปิดกั้นได้ ถ้ามามัวควบคุมก็จะเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์”

ประเด็นปัญหาเสรีภาพในการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ของไทยเป็นประเด็นที่เขาสนใจอย่างยิ่ง พร้อมๆ กับความไม่เข้าใจแบบคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีว่า ความเห็นของคนในชาติ จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้อย่างไร ยิ่งหากคนมีความเห็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากถึงระดับหนึ่ง ความเห็นนั้นก็ยิ่งไม่ควรกลายเป็นความคิดเห็นหลักๆ ของชาติหรอกหรือ

“ความมั่นคงของชาติก็บอกไม่ได้ว่าตีความยังไง แต่รัฐหรือคนบางกลุ่มเขาอาจจะรู้สึกมากๆ กับคำๆ นี้ อย่างคนไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ ก็อาจจะเป็นภัยต่อความมั่งคงของชาติก็ได้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะว่ามันอธิบายไม่ได้ว่า มันสร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง คือทำไมเขาไม่เขียนให้มันละเอียดว่า อะไรคือความมั่นคง แล้วมันเสียหายอย่างไร

ผมไม่เห็นว่าความเห็นมันจะทำให้เป็นภัยได้ คือความเห็นมันจะทำให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติก็ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว ถ้าจะบอกว่าการแสดงความคิดเห็นมากๆ เป็นภัยความมั่นคง แล้วถ้าความเห็นมันมากขนาดนั้นแล้วมันก็คงเป็นความเห็นหลักๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือมันก็คือความคิดเห็นของคนในชาติ ซึ่งถ้าคิดตามตรรกะแบบผม ก็อาจจะสรุปได้ว่า ความคิดเห็นไม่สามารถเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้”


หมายเหตุ

*มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(๑) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ(๔)

มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มี การกระทําความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา ๑๔

//www.thaiall.com/article/law.htm

ที่มา ประชาไท




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2553 2:59:29 น.
Counter : 606 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]









ผม ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร
สามัญชนคนเหมือนกัน(All normal Human)
คนจรOnline(ได้แค่ฝัน)แห่งห้วงสมุทรสีทันดร
(Online Dreaming Traveler of Sitandon Ocean)
กรรมกรกระทู้สาระ(แนว)อิสระผู้ถูกลืมแห่งโลกออนไลน์(Forgotten Free Comment Worker of Online World)
หนุ่มสันโดษ(ผู้มีชีวิตที่พอเพียง) นิสัยและความสนใจแปลกแยกในหมู่ญาติพี่น้องและคนรู้จัก (Forrest Gump of the family)
หนุ่มตาเล็กผมสั้นกระเซิงรูปไม่หล่อพ่อไม่รวย แถมโสดสนิทและอาจจะตลอดชีวิตเพราะไม่เคยสนใจผู้หญิงกะเขาเลย
บ้าในสิ่งที่เป็นแก่นสารและสาระมากกว่าบันเทิงเริงรมย์
พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ดีๆกับบันทึกในโลกออนไลน์แล้วครับ
กรุณาปรับหน้าจอเป็นขนาด1024*768เพื่อการรับชมBlog
ติดตามการเคลื่อนไหวของกรรมกรผ่านTwitter
และติดตามพูดคุยนำเสนอด้านมืดของกรรมกรผ่านTwitterอีกภาคหนึ่ง
Google


ท่องไปทั่วโลกหาแค่ในพันทิบก็พอ
ติชมแนะนำหรือขอให้เพิ่มเติมเนื้อหาWeblog กรุณาส่งข้อความส่วนตัวถึงผมโดยตรงได้ที่หลังไมค์ช่องข้างล่างนี้


รับติดต่อเฉพาะผู้ที่มีอมยิ้มเป็นตัวเป็นตนเท่านั้น ไม่รับติดต่อทางE-Mailเพื่อสวัสดิภาพการใช้Mailให้ปลอดจากSpam Mailครับ
Addชื่อผมลงในContact listของหลังไมค์
free counters



Follow me on Twitter
New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.