ภารกิจและการปฏิบัติการจริงของ ทหารพรานและหน่วยแพทย์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
หมู่บ้านตังหยงเปาว์ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่ากำซำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง โดยส่วนมากแล้วจะเป็นประมงพื้นบ้านซึ่งใช้เรือหางยาวหรือเรือกอและเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ชาวบ้านที่นี่เคยถูกขนานนามถึงความสำเร็จของการร่วมมือกันในการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงอวนรุนจากเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยการเข้าร่วมกับชมรมประมงพื้นบ้านปัตตานีในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐในสิทธิในการใช้ทรัพยากรทางทะเลของหมู่บ้าน มีการสร้างเรือตรวจการณ์อย่างดีจำนวนสองลำเพื่อลาดตระเวนตรวจสอบป้องกันไม่ให้เรือขนาดใหญ่ลักลอบเข้ามาจับปลาในซั้ง หรือปะการังเทียมซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวปัตตานี ไปขาย โดยมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจับกุม การต่อสู้ของชาวบ้านทำให้เกิดกฏกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งห้ามไม่ให้เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้ามาทำประมงในน่านน้ำชายฝั่งซึ่งเป็นการทำลายประมงพื้นบ้าน
เกือบ 10 ปีผ่านไป เรือตรวจการณ์ของชาวบ้านสองลำที่เคยใช้ ลำหนึ่งจมเอียงตะแคงอยู่ที่ท่า อีกลำอยู่ในสภาพย่ำแย่ โรงเรียนประจำหมู่บ้านถูกเผา รอบ ๆ หมู่บ้านมีเหตุระเบิดอยู่ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ร่องรอยการเผายางรถยนต์และข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายข้อความบนถนนเข้าหมู่บ้าน
หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านพื้นที่สีแดง ที่ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถแม้แต่จะย่างเท้าเข้าไปได้ ที่นี่กลายเป็นแนวหน้าแรกสุดในการต่อสู้ซึ่งไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยอาวุธระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
เกิดอะไรขึ้นที่นี่?
นั่นคงเป็นสิ่งที่เกินเลยกว่าที่ทีมงานของเราจะหาคำตอบได้ แต่ในทางกลับกัน เราใช้โอกาสนี้ ติดตามผู้ที่กำลังแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ทีมงานของเราสองคนคือคุณ Wingboy และ Skyman ร่วมคณะไปกับชุดปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 24 ในภารกิจการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนในพื้นที่หมู่บ้านตังหยงเปาว์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อเฝ้าดูการปฏิบัติภารกิจของกำลังพลในหน่วยต่าง ๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้
หมายเหตุ: เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องในการรักษาความลับทางการทหารในพื้นที่ปฏิบัติการจริง ทีมงานจึงปิดบังชั้นยศและชื่อนามสกุลของนายทหารที่เอ่ยถึง โดยจะใช้ชื่อสมมุติแทน รวมถึงอำพรางหน้าเมื่อเห็นว่าจำเป็น
เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เสมือนหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อความไม่สงบรอบใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ภาพความรุนแรงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ข่าวการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ครู และผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่เกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์
ในปีที่ 5 ของสถานการณ์ แม้ว่าโดยภาพรวมของสถานการณ์นั้นจะดูดีขึ้น เหตุร้ายรายวันเริ่มลดลง แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็มีการเปลี่ยนยุทธวิธีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของพวกเขา
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ กรมทหารพรานที่ 43 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้รับมอบหมายภารกิจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เกาะติด เข้าหามวลชนที่หลงผิด และเป็นด่านหน้าและหน่วยแรกสุดที่จะเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายเพื่อสร้างมวลชนให้กลับมาเป็นฝ่ายเราอย่างสม่ำเสมอ
กรมทหารพรานที่ 43 โดยหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 รับผิดชอบพื้นที่ 6 อำเภอในจังหวัดปัตตานี ประกอบไปด้วย อ.หนองจิก, อ.เมือง, อ.แม่ลาน, อ.ยะรัง, และ อ. ยะหริ่ง ภายใต้การปฏิบัติการของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ในหน้าที่รับผิดชอบคือป้องกันการก่อเหตุรายวัน และปฏิบัติงานทางด้านการเมืองช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
โครงสร้างของกรมทหารพรานที่ 43 นั้นประกอบไปด้วยกองร้อยทหารพราน 16 กองร้อย และหมู่ทหารพรานหญิง 3 หมู่ โดยแบ่งเข้าสนับสนุนภารกิจของกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การสั่งการของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
"ทหารพราน" เป็นกองกำลังกึ่งทหาร (Para-military unit) จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2521 ในสมัยที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยใช้กองกำลังกึ่งทหารซึ่งมีความอ่อนตัวในการปฏิบัติงานมากกว่าหน่วยทหารหลัก ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทหารพรานได้พิสูจน์คุณค่าทางยุทธการมามากมายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
และที่นี่ ... สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ... ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของคุณค่าของทหารพราน
วันนี้มีคณะใหญ่จากทางฝ่ายยุทธการของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ทางฝ่ายปกครองของอำเภอหนองจิก และทางชุดของทหารพรานลงพื้นที่พบปะชาวบ้านครับ โดยมาแจกพันธุ์ปลาและทิ้งจุลินทรีย์เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำทะเลในบริเวณนั้น
แต่ถัดจากพื้นที่หมู่บ้านนี้ไปไม่ไกล ก็เป็นพื้นที่ซึ่งเกิดเหตุลอบวางระเบิดรถของหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 เพียงหนึ่งวันก่อนที่เราจะเข้าไป โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บมากจนต้องพิการหรือเสียชีวิต
หนึ่งผู้ที่ร่วมคณะไปกับเราในวันนั้น คือกำลังพลทหารพรานหญิงของหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43
ทหารพรานหญิงถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงที่สถานการณ์กำลังปะทุถึงขีดสุด ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในช่วงนั้น มักจะเกิดการชุมนุมของผู้หญิงและเด็กหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงเสมอ แนวคิดการจัดตั้งทหารพรานหญิงจึงถูกนำมาใช้เพื่อขจัดอุปสรรคในด้านศาสนาที่มีผลต่อการปฏิบัติการ รวมถึงด้วยความเป็นผู้หญิง ความนุ่มนวลในการปฏิบัติการจึงมีมากกว่าผู้ชาย
แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพียงไม่นาน การชุมนุมของผู้หญิงและเด็กก็แทบจะหายไปหมด และทหารพรานหญิงก็ประสบความสำเร็จในการเข้าหาชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
อีกหน่วยหนึ่งที่ลงปฏิบัติภารกิจในวันนั้นก็คือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 24 กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 ซึ่งลงพื้นที่รับตรวจรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยโดยไม่คิดมูลค่า
พื้นที่หมู่บ้านนี้มีประวัติเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง ทางกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารจึงประสานส่งหน่วยทหารพรานเข้าเกาะติดพื้นที่เพื่อสร้างมวลชน ทำให้ทหารพรานจะเป็นหน่วยแรกสุดที่เข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงนั้น โดยการจัดตั้งชุดสันติสุขเข้าไปตั้งฐานในหมู่บ้านเพื่อรับรู้ความต้องการของชาวบ้านโดยตรง และเป็นการจำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้
"ส่วนมากแล้วทหารพรานหญิงจะมาจากในพื้นที่ พวกนี้มีฝีมือดี ศิลปะป้องกันตัวนี่กินขาด เป็นครูสอนวิชาอาวุธให้ทหารพรานชายด้วยซ้ำ" ทหารพรานคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง
งานมวลชนเป็นงานที่ใช้การเมืองนำการทหาร ที่นี่ ปืนเป็นอาวุธประจำกายรองจาก "ความเข้าใจ" ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้จากประเทศผู้ผลิตอาวุธทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่ทหารพรานต้องสร้างขึ้นมาเองกับมือ
ที่นี่คือสนามรบที่ไม่มีแนวหน้าหรือแนวหลัง เพราะทุกคนอยู่ในแนวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพลทหารหรือนายพล
(ในภาพคือ พลตรีจีระศักดิ์ ชมประสพ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี)
"ทหารพรานมีหน้าที่เข้าหาชาวบ้าน มีอะไรก็เรียกทหารพรานได้หมด เราทำได้หมดตั้งแต่ทำการรบ การเฝ้าระวัง การลาดตระเวน ไปจนถึงเป็นครูสอนเด็กนักเรียน เป็นวิทยากรสาธิตการเลี้ยงไก่ เป็นหน้าที่ของทหารพรานทั้งสิ้น"
"ที่นี่เราทำงานกันไม่มีวันหยุด ทำงาน 7 วันตลอด 24 ชั่วโมง"
และแน่นอน ในเครื่องแบบพร้อมรบ ..... มือขวาถือปืน มือซ้ายถือถุงขนม
เช่นเดียวกับการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งวันนี้รับหน้าที่รักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยโดยไม่คิดมูลค่า
โดยส่วนมากแล้ว หน่วยต่าง ๆ มักจะใช้ทหารพรานเป็น "ล่าม" ในการสื่อสารภาษายาวีกับชาวบ้านที่พูดภาษาไทยไม่ได้ นี่ก็เป็นข้อได้เปรียบหนึ่งของทหารพรานซึ่งมาจากในพื้นที่
ชายคนนี้มีอาการปัสสาวะติดขัดมานาน หมอวินิฉัยว่าน่าจะเกิดจากนิ่ว จึงแนะนำให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
ชายคนนี้มีอาการคันตามตัว ผิวหนังเป็นสะเก็ดโดยทั่วไป หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินในระยะที่ค่อนข้างรุนแรง จึงให้ยาแก้คัน แนะนำให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเช่นกัน
ชายคนนี้มีอาการหายใจไม่อิ่มมาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว หมอวินิฉัยว่าน่าจะเกิดโรคถุงลมโป่งพอง จึงแนะนำให้พยายามหยุดสุบบุหรี่ และไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอีกเช่นกัน
ด้วยจรรยาบรรณที่สำคัญที่สุดของแพทย์คือ มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกวรรณะ ให้การรักษาแก่มนุษย์ทุกหมู่เหล่าไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือแนวคิดใดโดยเท่าเทียมกัน และนั่นย่อมหมายถึงการรักษาทุกคนไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นแนวร่วมหรือราษฏรผู้บริสุทธิ์ก็ตาม
ภารกิจเหล่านี้เป็นภารกิจของทหารและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่จะนึกไม่ถึง นั่นเป็นเพราะว่าทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในสงครามที่เป็นสงครามซึ่งต้องใช้การเมืองนำการทหาร จำนวนกระสุนที่ยิงออกไป น้อยกว่าจำนวนชั่วโมงที่เจ้าหน้าที่เข้าหาชาวบ้าน ซึ่งนั่นจะทำให้การแก้ปัญหายั่งยืนมากกว่าการใช้กำลัง
เพราะนี่คือสงครามการช่วงชิงจิตใจของมวลชน
"เราต้องดูแลให้เกิดความยุติธรรม เรื่องอุ้มฆ่า ซ้อม ทรมาน เมื่อก่อนยอมรับว่าอาจจะมี แต่ตอนนี้เรายอมให้มีไม่ได้ ตรงนี้เรากำชับลูกน้องอยู่เสมอ เพราะถึงแม้เราไม่ลงโทษ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็จะสั่งลงโทษแน่นอน"
"พี่ว่ามันจะจบเมื่อไหร่?" เราลองถาม
... ... ...
"ไม่รู้เหมือนกัน"
คงยังไม่มีใครรู้ แน่นอนเราก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดภาคใต้ทำอยู่ก็คือ พยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดที่ 1 บททั่วไป มาตราที่ 1 นั้น มีข้อความซึ่งแทบไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเลยแม้ว่าประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลกก็ตาม
"ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"
..... จะแบ่งแยกมิได้
คุณความดีใดที่เกิดจากบทความทั้งสองตอนนี้ของ ThaiArmedForce.com เราขออุทิศให้กับทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าศาสนาใด ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา
ทีมงานและสมาชิกของ ThaiArmedForce.com ขออวยพรและส่งแรงใจให้กับทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกคนที่กำลังทำให้หน้าที่ของตนในพื้นที่ ไม่ว่าที่ไหน เราขอให้ทุกท่านปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จลุล่วงและปลอดภัย และได้กลับบ้านไปหาคนที่ท่านรักในที่สุด.
ทีมงาน ThaiArmedForce.com ขอขอบคุณ
- ผู้บังคับการ และนายทหารประชาสัมพันธ์ของกรมทหารพรานที่ 43 พร้อมทั้งกำลังพลทุกคน และรวมถึงกำลังพลของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 24 กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 ทางเรากราบขออภัยที่ปกปิดชื่อ-นามสกุลจริงของทุกท่าน เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน - พันตรีหญิง ผุสดี เติมยอด ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า - พันเอกบรรพต พูลเพียร หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า - พลโทพิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4
Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2553 |
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2553 22:10:16 น. |
|
8 comments
|
Counter : 4073 Pageviews. |
|
|
|
ตกลงว่าทหารพรานนี่เป็นทหารมียศแบบทหารแล้วเป็นข้าราชการอะเปล่าอะ