RTAF UH-1H 'Huey' 40th Year Anniversary
RTAF 40Th Year Anniversary of Huey
คงมีอากาศยานเพียงไม่กี่แบบที่จะสามารถประจำการได้จนถึง 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา UH-1H หรือ 'ฮิวอี้' (Huey) ที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทยและก่อนหน้านั้นในปี 2510 ในกองทัพบกไทยและกองบินตำรวจ ไปจนถึงกองทัพเรือไทย ปัจจุบันมีฮิวอี้มากกว่าร้อยลำเคยเข้าประจำการและกำลังประจำการอยู่ในหน่วยงานเกือบทุกหน่วย และฮิ้วอี้ยังคงเป็นกระดูกสันหลังของปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ของไทยไปอีกหลายปี เราอาจจะกล่าวได้ว่าฮิวอี้คือเฮลิคอปเตอร์ที่ดีที่สุดที่เคยมีประจำการในประเทศไทย
The Legend Begin
จากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์และความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดสงครามขนาดใหญ่จากประเทศข้างเคียงที่มีแนวคิดทางการปกครองที่ต่างกันในช่วงสงครามเย็น ทำให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยในช่วงนั้นกังวลว่า ถ้าประเทศประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มประเทศสังคมนิยมแล้ว อาจจะทำให้สหรัฐต้องสูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค ซึ่งนั้นจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ อาจจะส่งผลให้สหรัฐเพลี่ยงพล้ำในสงครามเย็นได้ ดังนั้น การช่วยเหลือประเทศพันธมิตรจึงถูกจัดอยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของไทยจากการที่สหรัฐหนุนหลังสถานะของไทยให้เป็นประเทศที่ไม่แพ้สงครามจากการดำเนินงานของเสรีไทย เมื่อโลกเข้าสู่สงครามเย็น สหรัฐส่งความช่วยเหลือทางทหารมากมายสู่ประเทศไทยทั้งในรูปของการฝึก การศึกษา และอาวุธตามโครงการช่วยเหลือทางทหารในสมัยนั้น และนั้นก็รวมถึงอิ้วอี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อรับมอบเข้าประจำการในปี 2511 แล้ว กองทัพอากาศกำหนดชื่อเรียกว่า เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 6 (ฮ.๖) โดยมีภารกิจคือค้นหาและกู้ภัย, สนับสนุนการโทรคมนาคม, สนับสนุนหน่วยภาคพื้นดินทั้งของกองทัพอากาศเองและของเหล่าทัพและหน่วยงานราชการอื่น ๆ ในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ การช่วยเหลือประชาชน การขนส่งทั่วไป และอื่น ๆ ซึ่งในขณะเดียวกันกองทัพอากาศได้มีคำสั่งกองทัพอากาศเฉพาะที่ 26/11 ลงวันที่ 17 กรกฏาคม 2511 จัดตั้งฝูงบิน 32 ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบิน 3 ซึ่งตั้งอยู่ ณ ฐานทัพอากาศดอนเมืองในสมัยนั้น เพื่อรองรับการเข้าประจำการของฮิวอี้ที่ได้รับมอบในล็อตแรกจำนวน 4 ลำในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2511 และรับมอบเรื่อยมาจนครบ 25 เครื่องในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2512 เมื่อรับเข้าประจำการครบแล้ว กองทัพอากาศก็มีคำสั่งกองทัพอากาศเฉพาะที่ 44/12 ลงวันที่ 21 เมษายน 2512 ย้ายที่ตั้งของกองบิน 3 ที่ประกอบไปด้วยฝูงบินเฮลิคอปเตอร์อีก 3 ฝูงคือ ฝูงบิน 31, 32, และ 33 เข้าที่ตั้ง ณ จังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนั้นกองทัพอากาศยังได้จัดฮิวอี้หมายเลขทะเบียนกองทัพอากาศ ทอ.7/12 ถวายเป็นเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยเริ่มถวายงานตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2512 ในขณะที่เครื่องมีชั่วโมงการใช้งาน 12.2 ชั่วโมง และปฏิบัติภารกิจถวายงานจนถึงปีพ.ศ. 2515 จึงลดระดับลงเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งสำรองในขณะที่มีชั่วโมงบิน 845.05 ชั่วโมงและจัดฮิวอี้หมายเลขทะเบียนกองทัพอากาศ ทอ.29/15 ชั่วโมงบิน 12.4 ชั่วโมงเป็นเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะหลักแทน และถวายงานจนถึงปีพ.ศ. 2519 ก็ลดระดับลงเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งสำรองในขณะที่มีชั่วโมงบิน 828 ชั่วโมงเช่นกัน หลังจากนั้นกองทัพอากาศจึงจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 6ก หรือ UH-1N จำนวน 2 ลำมาเป็นเครื่องบินพระที่นั่งทดแทน
ปัจจุบันฮิวอี้หมายเลข ทอ.7/12 หมายเลขประจำเครื่อง 20337 ยังประจำการอยู่ ณ ฝูงบิน 203 ส่วนฮิวอี้หมายเลข ทอ.29/15 หมายเลขประจำเครื่อง 20347 นั้นประสบอุบัติเหตุตก ณ ภูกระดึง จังหวัดเลย ในวันที่ 4 ตุลาคม 2551
ในปีพ.ศ. 2520 กองทัพอากาศได้ทำการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการกองทัพอากาศ พ.ศ.2520 เป็นผลให้กองทัพอากาศยุบเลิกฝูง 32 และโอนย้ายเฮลิคอปเตอร์และเจ้าหน้าที่ไปยังฝูงบิน 203 กองบิน 2 โคกกระเทียม จ.ลพบุรี จนถึงปัจจุบัน โดยทำการย้ายเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2523
ปัจจุบันกองทัพอากาศวางกำลังฮิวอี้ ณ ฝูงบิน 203 กองบิน 2 โคกกระเทียม และสนามบินอื่น ๆ คือกองบิน 1 โคราช, กองบิน 6 ดอนเมือง, กองบิน 7 สุราษฎร์, กองบิน 21 อุบล, กองบิน 23 อุดร, และกองบิน 41 เชียงใหม่ เพื่อทำภารกิจค้นหาและกู้ภัยอากาศยานที่ตกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
At war ..... On Duty
ภัยคุกคามจากการปฏิบัติการของกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ด้วยการซุ่มโจมตีขบวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งกลายมาเป็นวันเสียงปืนแตกที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองมาอีกกว่า 20 ปี
ด้วยสภาพสังคมในขณะนั้น ความเลื่อมล้ำของคนในสังคม ความไม่ยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชน รวมถึงปัจจัยรอบด้านยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์การสู้รบรุนแรงขึ้น หลายคนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเนื่องจากถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่อีกหลายคนก็เข้าป่าด้วยความจำเป็นที่ต่างออกไป พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถยึดครองพื้นที่และขยายอิทธิพลไปทั่วทุกภาคของไทย จึงมีสมรภูมิการสู้รบเกิดขึ้นทุกภาคและแทบทุกพื้นที่เช่นกัน
ทำให้ฮิวอี้ทั้งจากของกองทัพอากาศเองและไปจนถึงกองทัพบกมีบทบาทสำคัญในหลายพื้นที่ ทั้งในภารกิจปกติคือการส่งกำลังบำรุง ไปจนถึงภารกิจการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบ
ภารกิจที่เป็นที่รู้จักกันดีภารกิจหนึ่งก็คือ "ยุทธการ ร่วมใจ-10" เพื่อช่วยเหลือเรืออากาศโท พงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ นักบิน F-5 ที่ถูกยิงตกโดยอาวุธไม่ทราบชนิดของกองกำลังคอมมิวนิสต์ ขณะเข้าทิ้งระเบิดนาปาล์ม ณ ยุทธภูมิเขาค้อ อำเภอหล่มศักดิ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันที่ 11 มิถุนายน 2519 ซึ่งเครื่องตกกลางป่าห่างจากเป้าหมายราว 2 กิโลเมตร
หลังจากการตก เครื่องบินตรวจการณ์ O-1 Birddog ได้เข้าทำการพิสูจน์ทราบจุดตก ซึ่งอยู่ในหุบเขาบริเวณบ้านภูชัย เขตเขาค้อ ห่างจากแม่น้ำเข็กราว 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวหลังของข้าศึก โดยคาดว่านักบินจะสามารถดีดตัวออกไปได้ กองทัพจึงเปิดยุทธการร่วมใจ-10 ในการค้นหานักบินที่ถูกยิงตกทั้งทางอากาศและทางพื้นดิน โดยมีพลตรี ยุทธศิลป์ เกสรศุกร์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธการ กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของเรืออากาศโท พงษ์ณรงค์เข้าร่วมทำการค้นหาด้วย
การค้นหามีการส่งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ (ซึ่งรวมถึงฮิวอี้) และทหารพื้นราบจำนวนมากเดินทางเข้าไปยังจุดตกที่ได้รับรายงานจากเครื่องบินตรวจการณ์ โดยใช้กำลังระลอกแรกซึ่งเป็นการสนธิกำลังระหว่างทหารและตำรวจจำนวน 110 นาย แต่ถูกฝ่ายกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์โจมตีตอบโต้จนถูกตัดขาด และต้องขอความช่วยเหลือจากกำลังหลักในระดับกองพัน พร้อมทั้งการยิงสนับสนุนจากหน่วยปืนใหญ่และเครื่องบินโจมตี ทำให้ในปฏิบัติการนี้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวน 4 นาย เสียชีวิต 13 นาย และกองกำลังของฝ่ายรัฐเข้าไปยังพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นจุดตกไม่ได้ ซึ่งภายหลังในเดือนสิงหาคมปี 2526 หลังจากการสู้รบสงบลงแล้ว ชาวม้งสองคนในพื้นซึ่งเคยเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ได้แจ้งต่อทางกองทัพว่าเป็นผู้ฝังศพนักบินที่ถูกยิงตกในวันนั้น และนำทางให้กองทัพอากาศเข้าไปขุดศพกลับมาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พร้อมเลื่อนยศให้เป็นนาวาอากาศตรี และนำซากเครื่องบิน F-5 ที่ตกมาตั้งแสดง ณ ฐานอิทธิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนุสรณ์สถานที่เขาค้อ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กับชนรุ่นหลังถึงความโหดร้ายของสงครามต่อไป
อีกภารกิจหนึ่งก็คือภารกิจการช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย ภายใต้แผนยุทธการ 2 แผนคือ "แผนยุทธการสามชัย" และ "แผนยุทธการผาภูมิ" ซึ่งเป็นการสนธิกำลังจากทั้งกองทัพบก หน่วยนาวิกโยธินกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ และพลเรือนเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งแผนยุทธการสามชัยเป็นการปฏิบัติการทางทหารจริงที่แผงอยู่ใต้การฝึกที่มีชื่อว่า "การฝึกร่วม 16" และ "การฝึกร่วม 17" ตามลำดับ ฮิวอี้ของกองทัพบกและกองทัพอากาศทำหน้าที่ในการลำเลียงกำลังพลเข้าสู่พื้นที่การรบ รวมถึงส่งกำลังบำรุงทั้งเครื่องกระสุนและอาหารให้กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในฐานปฏิบัติการในพื้นที่การรบ และลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่ หลายครั้งเป็นการบินฝ่ากระสุนเข้าไปยังจุดลงจอด (Landing Zone) ในขณะที่ยังเกิดการสู้รบกันอยู่ ครั้งที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งก็คือการบินเข้าไปรับทหารที่บาดเจ็บสาหัสจากการสู้รบที่ดอยผาจิ จนสามารถส่งทหารที่บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย
ซึ่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 14 มิถุนายน 2512 ก็มีเหตุการณ์ที่ร้อยโท ชูชาติ วณีสอน ได้ขับฮิวอี้เข้าไปยังฐานปฏิบัติการบริเวณบ้านผาแลเหนือซึ่งถูกกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโจมตีอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ฐานปฏิบัติการขาดน้ำ อาหาร เครื่องกระสุน การส่งกำลังบำรุงถูกตัดขาด มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากและฐานใกล้ละลาย (Overrun) ร้อยโท ชูชาติ วณีสอน พร้อมด้วยพันตำรวจเอก รัตน์ พรหมโมบล นักบินที่สองและพลประจำปืนอีกสองนาย ตัดสินใจนำฮิวอี้ขึ้นบินเข้าไปยังฐานปฏิบัติการเพื่อส่งกระสุนให้กับทหารพร้อมรับผู้บาดเจ็บกลับมา ระหว่างลงจอดที่ฐานและกำลังลำเลียงผู้บาดเจ็บขึ้นนั้น กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ระดมยิงเข้าใส่เฮลิคอปเตอร์ที่จอดอยู่ที่จุดลงจอด กระสุนสองนัดถูกร้อยโท ชูชาติ วณีสอน โดยนักแรกตัดเส้นเลือดใหญ่เฉียดกระดูกแขนท่อนล่าง ส่วนนัดที่สองตัดกล้ามเนื้อหัวใจทะลุออกบริเวณด้านหลัง ร้อยโทชูชาติ วณีสอนก็ยังแข็งใจทำการบินขึ้นและบินกลับสู่ฐานพร้อมเสียชีวิตทันทีที่ฮิวอี้ร่อนลงจอดโดยยังไม่ได้มีโอกาสแม้แต่จะดับเครื่อง วันที่ 14 มิถุนายน จึงกลายมาเป็นวันการบินทหารบกเพื่อรำลึกถึงร้อยโท ชูชาติ วณีสอนที่เสียชีวิตในวันนั้น
ภายหลังการประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ช่วยให้ประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นจนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสลายตัวไปในที่สุด ซึ่งภายใต้คำสั่งนี้ยังมีปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ขั้นสุดท้ายหลายปฏิบัติการ หนึ่งในนั้นก็คือ "ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก" ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ที่ใช้กำลังพลรวมถึง 7,756 คนในพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังคอมมิวนิสต์ในเขตงานที่ 15 เข้าค้อ บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ยุทธการผาเมืองเผด็จศึกนั้นถือเป็นยุทธการที่มีการใช้ฮิวอี้ส่งกำลังพลเข้าสู่พื้นที่การรบเป็นจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง มีการสู้รบและการสนับสนุนทางอากาศมากมาย คล้ายกับภาพยนต์เรื่อง We Were Soldier ซึ่งผลการปฏิบัติการมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวน 125 คน บาดเจ็บ 425 คน กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิตจำนวนมาก อีกทั้งทางราชการยังสามารถยึดค่ายพัก ทำลายสำนักอำนาจรัฐ โรงเรียนการเมือง ในบริเวณนั้น รวมถึงสามรถสร้างถนนสายเขาค้อ-สะเดาพง นางั่ว-สะเดาะพง และป่าแดง-สะเดาะพง ได้สำเร็จ ทำให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ในเขตงานที่ 15 ไม่สามารถกลับมาขยายอิทธิพลได้อีก
หลังจากการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์รวมถึงการปะทะกับกองกำลังต่างชาติตามแนวชายแดนสิ้นสุดลง บทบาทของฮิวอี้เปลี่ยนจากหน้าที่ในสนามรบมาช่วยสนับสนุนงานด้านอื่นเช่น การปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ การบินสนับสนุนโครงการในพระราชดำริหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการหลวง ไปจนถึงการค้นหาและช่วยชีวิตอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุตกหลายครั้ง รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติอย่างเช่นน้ำท่วมหรือแผ่นดินถล่มที่เกิดขึ้นแทบทุกปี ฮิวอี้ได้รับบทบาทที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในเหตุการณ์สึนามิที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปี 2547 ซึ่งฮิวอี้ของกองทัพอากาศและกองทัพบก รวมถึงอากาศยานแทบทุกแบบของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างระดมกำลังกันเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันในช่วงสัปดาห์แรกไปจนถึงภารกิจการบูรณะและฟื้นฟูในอีกหลายเดือนต่อจากนั้น แม้ว่าประเทศเรายังไม่เคยประสบการณ์ในการช่วยเหลือภัยธรรมชาติในระดับนี้และรวมถึงการจัดการในบางจุดยังไม่ดีพอ แต่ก็ยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นการช่วยเหลือที่ประสบความสำเร็จที่สูงมากในบรรดาประเทศที่ได้รับผลประทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนั้น
เมื่อสถานการณ์ก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้น กองทัพอากาศได้จัดกำลังทางอากาศภายใต้กองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 ซึ่งประกอบกำลังจากอากาศยานหลายแบบรวมถึงฮิวอี้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดนภายใต้ และก็ยังปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันกองทัพอากาศมีฮิวอี้ประจำการอยู่จำนวนราว 18 ลำ ซึ่งรวมถึงฮิวอี้ที่ได้รับโอนมาจากกองทัพเรืออีก 2 ลำ และกองทัพบกก็ยังมีฮิวอี้ใช้งานอีกกว่า 50 ลำในปัจจุบัน ฮิวอี้ยังเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญของกองทัพบกและกองทัพอากาศไปอีกหลายปีจนกว่าจะมีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่เข้ามาทดแทนจนครบ ณ ช่วงเวลานั้น แม้ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ประเทศเราต้องประสบ ฮิวอี้ก็ยังคงพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เหมือนที่มันเคยทำมากว่า 4 ทศวรรตที่ผ่านมา
ในตอนหน้า ผมจะท่านไปรู้จักกับภารกิจต่างของฮิวอี้พร้อมภาพสวย ๆ อีกเช่นเคย คอยติดตามนะครับ ^ ^
ขอขอบคุณ: - นาวาอากาศโท วสันต์ บัณฑิตศักดิ์สกุล ผู้บังคับฝูงบิน 203 กองบิน 2 โคกกระเทียม - นาวาอากาศโท อรรถยุทธ ขาวสอาด นายทหารตรวจสอบมาตรฐานการบิน นักบินเฮลิคอปเตอร์ กองตรวจสอบมาตรฐานการบิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ - นักบิน ช่างเครื่อง อากาศโยธิน และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับฮิวอี้ทุกคน
Create Date : 22 มิถุนายน 2552 |
Last Update : 24 มิถุนายน 2552 8:48:48 น. |
|
12 comments
|
Counter : 2262 Pageviews. |
|
|
|
จะกินน้อย ๆ เดี๋ยวเป็นแบบป้าจู