90 ปีสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง - รำลึกวีรกรรมทหารอาสาสยาม
กองทหารอาสาสยามเดินสวนสนามประกาศชัยชนะ ณ ประตูชัย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เวลา 11 นาฬิกาของวันที่ 11 ของเดือน 11 เมื่อปี 2461 หรือปี 1918 จักรวรรดิเยอรมันได้ลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงหลังจากที่บัลแกเรีย, จักรวรรดิอ็อตโตมาน, และอาณาจักรออสโตร-ฮังการีได้ลงนามไปก่อนหน้านั้น ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการพร้อมกับชีวิตทหารกว่าสิบล้านคน
ในปีนี้ ทั่วโลกเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 90 ปีของเหตุการณ์ในวันนั้น แม้ว่าใน 90 ปีของลงนามของจักรวรรดิเยอรมันในตอนนั้นจะเป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายของฝ่ายสัมพันธมิตรใน "การทำสงครามเพื่อสันติภาพ" แต่หลังจากโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากปรากฏการณ์ Great Depression อดอร์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งพร้อมกับการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองที่กินเวลากว่า 5 ปีพร้อมกับชีวิตผู้คนอื่นกว่า 50 ล้านคน แม้ว่าฝ่ายสัมพัทธมิตรจะสามารถบรรลุเป้าหมายใน "การทำสงครามเพื่อหยุดสงครามทั้งมวล" อีกครั้ง แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพียงหนึ่งปี โลกก็เข้าสู่สงครามเย็นและตามมาด้วยสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามในยูโกสลาเวีย สงครามต่อต้านการก่อการร้าย สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก พร้อมกับสงครามขนาดกลางและขนาดย่อมมากมายหลายสิบครั้งตลอดเวลา 90 ปีที่ผ่านมา ......
.... และคาดว่าก็คงเป็นเช่นนี้อีกต่อไป
กองทหารอาสาของสยามในพิธีส่งที่ท่าราชวรดิษฐ์
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความตายและความสูญเสียของทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ยังมีค่าควรจดจำในฐานะที่ทหารทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ โดยมีประเทศเกือบ 40 ประเทศในเวลานั้นประกาศสงครามเข้าหากัน หลายประเทศส่งทหารเข้าร่วมรบในสมรภูมิ ....
.... หนึ่งในนั้นคือราชอาณาจักรสยาม ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับฝ่ายอำนาจกลาง (Central Power) และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (Entente Powers) พร้อมทั้งทรงประกาศรับสมัครทหารอาสาที่จะไปราชการสงครามในทวีปยุโรป โดยทรงคัดเลือกเอาไว้จำนวน 1,233 นาย มี จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก เป็นองค์ผู้อำนวยการและบังคับบัญชากองทหาร, พลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ หรือ ผาด เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ (ยศและบรรดาศักดิ์สุดท้ายคือพลเอกพระยาเทพหัสดินทร์) เป็นหัวหน้าคณะทูตทหารสยาม ปฏิบัติราชการแทนสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมรภูมิ และ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ หรือ สุณี สุวรรณประทีป เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารอาสา
กำลังที่สยามส่งไปประกอบไปด้วย
- กองบินทหารบก (หรือกองทัพอากาศในปัจจุบัน) โดยมี พันตรี หลวงทยานพิฆาต หรือ ทิพย์ เกตุทัต เป็นผู้บังคับบัญชา และแบ่งเป็นสามกองบินใหญ่ ประกอบไปด้วยกองบินขับไล่, กองบินลาดตระเวน, และกองบินทิ้งระเบิด - กองทหารบกรถยนต์ (หรือกรมการขนส่งทหารบกในปัจจุบัน) มี ร้อยเอก หลวงรามฤทธิรงค์ หรือ ต๋อย หัสดิเสวี เป็นผู้บังคับบัญชา - หมวดพยาบาล มี ร้อยตรี ชุ่ม จิตต์เมตตา เป็นผู้บังคับหมวด
กองทหารบกรถยนต์ถ่ายภาพก่อนปฏิบัติการกิจในเยอรมัน
หลังจากเข้ารับการฝึกเบื้องต้น กองทหารอาสาของสยามออกเดินทางไปยุโรปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2461 ใช้เวลากว่าเดือนครึ่งจึงเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส โดยกองบินทหารบกเข้ารับการฝึกที่โรงเรียนการบินรบที่เมืองโป และโรงเรียนการฝึกยิงปืนที่เมืองกาโซ แต่ยังไม่ทันได้เข้าสงครามฝ่ายอำนาจกลางก็ยอมแพ้เสียก่อน ส่วนกองทหารบกรถยนต์ได้เข้าไปปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงให้กองทัพฝรั่งเศสในแนวหน้าถึงดินแดนเยอรมัน ตั้งแต่บริเวณเมืองนอยช์ตัท ริมแม่น้ำไรน์, เมืองไกเซอร์เลาเทิร์น, แฟรงกินชไตน์, ชัคเตอร์ร์ไคม์, มูซบัค, แมงกินส์ไฮน์, และลุดวิกซาเฟิร์น ปฏิบัติการรบจนทางการฝรั่งเศสได้มอบเหรียญ ครัวซ์ เดอ แกรต์ ประดับธงไชยเฉลิมพลแก่กองทหารบกรถยนต์ของสยาม
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง กองทหารอาสาของสยามได้ร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะที่ประตูชัยฝรั่งเศสหรือ Arc de triomphe de l'Etoile ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2461 และร่วมเดินสวนสนามอีกครั้งที่กรุงบรัสเซลส์เมืองหลวงของเบลเยี่ยมในวันที่ 22 กรกฎาคม และกรุงลอนดอนในวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
กองทหารอาสาสยามเดินสวนสนามประกาศชัยชนะ ณ กรุงปรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม
กองทหารอาสาสยามเดินสวนสนามประกาศชัยชนะ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ในจำนวนทหารอาสาของสยาม 1,233 นาย มีทหารอาสาเสียชีวิต 19 นาย ซึ่งได้ทำการฝังไว้ที่ตำบล ดายูเบ คูรท์ และทำการฌาปนกิจที่สุสานประเทศเยอรมันนี เมื่อกองทหารอาสาเดินทางกลับสยามในวันที่ 21 กันยายน 2462 แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าให้เชิญอัฐิของทหารอาสาทั้ง 19 นายมาทำพิธี ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ พร้อมกับบรรจุไว้ในอนุเสาวรีย์ทหารอาสา บริเวณมุมตะวันตกเฉียงเหนือของสนามหลวง นอกจากนนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปให้แก่ทหารอาสาทุกคนอีกด้วย
รายนามทหารอาสาที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1
1. นาวาตรี เยื้อน สังข์อยุทธ 2. ร้อยตรี สงวน ทันด่วน 3. จ่าสิบเอก ม.ล.อุ่น อิศรเสนา ณ กรุงเทพ 4. จ่าสิบเอก เจริญ พิรอด 5. สิบเอก ปุ้ย ขวัญยืน 6. สิบตรี นิ่ม ชาครรัตน์ 7. สิบตรี ชื่น นภากาศ 8. พลทหาร ตุ๊ - 9. พลทหาร ซั้ว อ่อนเอื้อวงษ์ 10. พลทหาร พรม แตงแต่งวรรณ 11. พลทหาร ศุข พ่วงเพิ่มพันธุ์ 12. พลทหาร เนื่อง พิณวานิช 13. พลทหาร นาค พุยมีผล 14. พลทหาร บุญ ไพรวรรณ 15. พลทหาร โป๊ะ ชุกซ่อนภัย 16. พลทหาร เชื่อม เปรมปรุงใจ 17. พลทหาร ศิลา นอมภูเขียว 18. พลทหาร ผ่อง อมาตยกุล 19. พลทหาร เปลี่ยน นุ่มปรีชา
อนุเสาวรีย์ทหารอาสา ณ สนามหลวง
แม้ว่าในสงครามครั้งนี้กองทหารอาสาจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบอย่างยาวนาน แต่หลังจากสงครามในครั้งนี้ทำให้สยามได้รับประโยชน์มากมาย เช่น การแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบหลายประการจากชาติตะวันตกทั้งในแง่เศรษฐกิจ ดินแดน และอธิปไตยของสยาม ในส่วนของกองทัพสยาม การส่งทหารเข้าร่วมสงครามยุโรปทำให้นายทหารของกองทัพสยามได้รับวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามามากมาย เช่น ในช่วงก่อนหน้าสงครามนั้นรัฐบาลสยามมีนักบินเพียง 8 นาย แต่หลังจากกองทหารอาสาเข้ารับการฝึกในโรงเรียนการบินของฝรั่งเศสก็ทำให้สยามมีนักบินเพิ่มขึ้นเป็น 97 นายและช่างอากาศอีกหลายร้อยนาย ซึ่งนายทหารเหล่านั้นได้วางรากฐานกิจการการบินของประเทศทั้งในด้านการบินทางทหารและพลเรือนจนกลายมาเป็นกองทัพอากาศไทยและหน่วยงานด้านการบินของไทยหลายหน่วยงานในปัจจุบัน ส่วนกองทหารบกรถยนต์สยามก็ได้รับประสบการณ์ในการรบและวิทยาการด้านรถยนต์ในสมัยนั้นจนสยามมีช่างซ่อมรถยนต์และคนขับรถทางยุทธวิธีหลายร้อยคนซึ่งเป็นรากฐานมาจนถึงปัจจุบัน
เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป
The Medal of Croix de guerre
...... แม้ว่า 90 ปีหลังจากนั้น โลกจะยังคุกรุ่นไปด้วยสงคราม ยังต้องมีทหารและพลเรือนที่ตายและจะต้องตายอีกเป็นจำนวนมาก แต่อย่างน้อยที่สุด ผลลัพธ์จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า
"สงครามไม่เคยเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน"
ขอไว้อาลัยให้กับชีวิตทุกชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในสงครามในครั้งนั้น และหวังว่าเราจะยังได้อยู่ทันเห็นวันที่โลกปราศจากสงครามครับ.
อ้างอิง
"สงครามโลกครั้งที่ ๑"
//web.schq.mi.th/~afed/mil_museum_2007/building_historic_ww1.htm
Create Date : 11 พฤศจิกายน 2551 |
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2551 9:12:20 น. |
|
28 comments
|
Counter : 5225 Pageviews. |
|
|
|