Offset: การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบกลาโหม
จากกงาน LIMA 2011 ซึ่งผมและเพื่อน ๆ ได้ไปกันมาครับ เห็นแล้วก็ชื่นชมจริง ๆ กับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมทางทหารของมาเลเซีย มันดูต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อนมากทีเดียว ผมดูแล้วอีกซัก 10 ปี อุตสาหกรรมทางทหารของมาเลเซียน่าจะก้าวขึ้นไปแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ และจะทำให้อาเซียนมี Big 3 ด้านนี้ 3 ประเทศคือสิงคโปร์ อินโดนิเซีย มาเลเซีย
โดยเฉพาะโครงการ MRCA2 ซึ่งรมต.กลาโหมมาเลเซียประกาศชัดว่า จะซื้อเครื่องบินจากประเทศที่เสนอ Offset ได้ดีที่สุด แปลว่าในปัจจุบันปัจจัยด้านประสิทธิภาพของเครื่องบินไม่ใช่ปัจจัยเดียวอีกแล้วที่จะตัดสินว่าควรซื้อเครื่องบินหรืออาวุธอะไร
Offset คือการที่ว่าเราจ่ายเงินซื้ออาวุธออกไปยังประเทศผู้ผลิต และประเทศผู้ผลิตตอบแทนกลับมาในรูปอื่นที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งมักจะมาในรูปของการลงทุนโดยตรง การร่วมทุนกับอุตสาหกรรมในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ
โดย Offset มีสองแบบคือ Direct Offset และ Indirect Offset โดย Direct Offset คือการลงทุนกลับในอุตสาหกรรมทางทหารโดยตรง เช่นอินเดียจะซื้อเครื่องบินขับไล่ ก็ให้บริษัทนั้นมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่หรืออุตสาหกรรมทางทหารที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง ส่วน Indirect Offset คือการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางทหาร เช่นในกรณีของอินเดียก็อาจจะลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้า พลังงาน หรือรถยนต์ เป็นต้น
Offset ไม่ใช่การเอาเงินของทหารไปให้หน่วยงานอื่น หรือเอางบประมาณของตนเองไปสร้างประโยชน์ให้หน่วยงานอื่น แบบนี้ถือว่าเ้ข้าใจผิดอย่างร้ายแรงครับ Offset คือการที่กองทัพก็ยังได้อาวุธอย่างที่ต้องการเหมือนเดิม ไมไ่ด้ถูกลดงบประมาณ เพราะ Offset ที่ได้จะได้จากบริษัทหรือประเทศผู้ผลิตส่งกลับมาในรูปของการลงทุนหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งมันจะให้ผลลัพธ์ไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว มันจึงทำให้งบกลาโหมที่ปกติจะมีแต่กลาโหมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ทำให้กระทรวงอื่น ๆ และภาคเอกชนได้ประโยชน์ด้วยโดยกลาโหมไม่เสียอะไร
จุดสำคัญของการรับ Offset คือต้องมีภาคเอกชนและอุตสาหกรรมในประเทศมารับ Offset ด้วย เพราะให้กองทัพรับไปอย่างเดียวจะเกิดประโยชน์น้อยมาก เพราะมันจะไม่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถนำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ไม่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ต่างจากการให้เอกชนมารับ Offset ด้วยซึ่งจะัไ้ด้ทั้งหมดเลย
ในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศจะมีนโยบายเกี่ยวกับ Offset โดยตรง (Offset Policy หรือ Offset Regulation) โดยคร่าว ๆ แล้วจะกำหนดว่า ถ้าจัดซื้ออาวุธมูลค่าเกินกว่าเท่าไหร่ จะต้องให้ Offset ตอบแทนคิดเป็นกี่ % ของเงินที่จ่ายไป อย่างอินเดีย (ุถ้าจำไม่ผิดอินเดียเรียก Offset มูลค่า 50% ของโครงการถ้ามูลค่าโครงการเกิน 200 ล้านรูปี) ในหลายประเทศเรียก Offset มากเกินครึ่ง และหลายครั้งที่ได้ Offset กลับมา 100% หรือมากกว่า 100% ของเงินที่จ่ายไป ซึ่งจะเป็น Win-Win ทั้งผู้ซื้อจะได้เงินลงทุนโดยตรง ได้เทคโนโลยี ได้พัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนคนที่ให้ Offset ก็ไม่ได้เสียอะไร กลับจะได้ผลประโยชน์ในระยะยาวคือได้ฐานการผลิต ได้ Partner ได้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดจาก Partner ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ดังนั้นทุึกคนจึงยินดีที่จะให้ Offset ถ้ามีการเรียกร้องครับ จึงให้เห็นว่าโครงการจัดหาในหลาย ๆ ประเทศนั้นไม่ถูกยกเลิกแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการ F-X ของญี่ปุ่นมูลค่า 4 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อเครื่องบินทดแทน F-4 ที่ยังไม่ยกเลิกเพราะญี่ปุ่นจะได้ Offset มหาศาลจากโครงการนี้
มาเลเซียมี Offset Policy มาสิบกว่าปีแล้ว ตอนนี้เขากำลังจะปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์กับประเทศมากขึ้น และ Offset ก็เป็นส่วนสำคัญที่พัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารของเขา ในประเทศไทยไม่มี Offset Policy การซื้ออาวุธทุกอย่างไม่มีการเรียกร้อง Offset ทั้ง ๆ ที่ควรทำ
แต่บางกรณีกองทัพก็ได้ Offset โดยไม่ได้ตั้งใจและเหมือนจะไม่รู้ตัว เช่นการต่อเรือ OPV ซึ่งกองทัพเรือให้อู่กรุงเทพร่วมต่อและให้ BAE ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ทั้งทร.และอู่กรุงเทพ โดยอู่กรุงเทพสามารถต่อเรือขายได้จากแบบที่ได้อีก 10 ปี แบบนี้เรียกว่าได้ Offset ซึ่งน่าจะเป็นเคสแรก ๆ ในประเทศไทยครับ อีกเคสนึงที่ใกล้เคียงการได้ Offset คืิอการซื้อปืนใหญ่จาก BAE ของทบ. ซึ่งได้เทคโนโลยีการประกอบปืนใหญ่ และ BAE บริจาคและลงทุนสร้างห้องแล็บวิทยาศาสตร์ให้สถานศึกษาในประเทศไทย รวมถึงอังกฤษยังซื้อสินค้าเกษตรของไทยเป็นการตอบแทน เสียแต่ว่ามันไม่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมรับด้วย มันก็เลยยังไม่ใช่ Offset แท้ ๆ แต่ก็ถือว่าเริ่ดแล้วครับ แต่อย่างกรณีการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการซื้อ Gripen ของทอ.นั้นแทบจะไม่ได้เป็น Offset เลยครับ เพราะเทคโนโลยีที่ได้มากทอ.ก็เก็บไว้คนเดียว ทั้งที่ความจริงควรให้ TAI หรือบริษัทเอกชนในไทยร่วมรับไปด้วย ซึ่งมันจะัไม่เกิดประโยชน์เลยเพราะทอ.ก็เอาไปเก็บไว้คนเดียว และถ้าจัดการไม่ดี อีกไม่เกิน 4 ปีนับจากนี้มันจะหายไปแน่นอน และไม่ได้ร้องขอการลงทุนจากสวีเดน หรือไม่ก็เขาเสนอมาแล้วแต่ทอ.ไม่ยอมสานต่อจนสำเร็จ ตรงนี้น่าเสียดายมากเพราะมันเกือบจะเป็นเคสแรกที่ไทยได้ทั้ง Direct และ Indirect Offset แต่ทำไปทำมาสิ่งที่ได้กลับไม่ถูกส่งต่อไปยังภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการศึกษาเลย หรือถ้าส่งตอ่ไปก็น้อยมากจนไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่ก็นั่นแหละ ของแบบนี้ให้หน่วยงานอื่นออกมาทำ คำถามคือกองทัพจะยอมรับหรือเปล่า? เพราะกองทัพจะเข้าใจไปเองหรือเปล่าว่าการทำแบบนี้คือการให้เอกชนมาหากินกับกองทัพ (ซึ่งผิด) หรือเข้าใจไปเองว่าเอางบกองทัพไปเป็นประโยชน์กับคนอื่น (ซึ่งเกือบถูกแต่ต้องทำ) ก็เลยต้องมาถามว่า กองทัพเข้าใจจริง ๆ หรือเปล่าว่า Offset คืออะไร? หรือไม่ก็คือได้มาแล้วแต่กั๊กไว้คนเดียวไม่ยอมให้ใคร? เพราะถ้าคนอื่นเขาเข้าใจ แต่กองทัพยังไม่เข้าใจ ชาตินี้ก็ไม่มีวันเกิดครับ เพราะกองทัพจะไม่ร่วมมือ
โลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว สงครามขนาดใหญ่แบบที่ต้องเอารถถังเป็นกองพล ๆ เอาเรือรบเป็นกองเรือ ๆ เอาเครื่องบินเป็นกองบิน ๆ มันไม่มีอีกแล้ว ความขัดแย้งถูกจำกัดอยู่เพียงความขัดแย้งท้องถิ่น (Local conflict) เท่านั้น (แบบตอนรบกับเขมรนี่ยิ่งชัดเจน) ทุกวันนี้การที่กองทัพจะพูดแต่เพียงว่าให้ผมซื้ออาวุธเถอะเพราะเราต้องสร้างกำลังทหารให้เข้มแข็งมันไม่เพียงพออีกต่อไป ตราบใดที่การซื้ออาวุธไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งความมั่นคงทางทหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางเทคโนโลยีของประเทศ มันก็เป็นการยากที่จะตอบสังคมได้ว่าเราอยากได้อาวุธแบบนี้ไปทำไม
ผมว่ามันถึงเวลาแล้วครับที่ประเทศไทยควรมี Offset Policy อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียที
Create Date : 13 ธันวาคม 2554 |
Last Update : 18 ธันวาคม 2554 13:55:39 น. |
|
0 comments
|
Counter : 4134 Pageviews. |
|
|
|
|
|