กองพลทหารม้าที่ 3 ไม่มีความจำเป็นกับกองทัพบกไทย
... ที่พูดนี่คือความเห็นของผมเอง โดยมาจากเหตุผลด้านยุทธการและการบริหารล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับใครเป็นเจ้าของไอเดียนี้นะครับ กรุณารับทราบไว้ด้วย ผมวิจารณ์โครงการ ไม่ได้วิจารณ์คนออกไอเดีย เพราะผมก็ไม่ได้รู้จักกับคนออกไอเดียเป็นการส่วนตัว ผมจะไปวิจารณ์ทำไม และไม่ได้บอกว่าใครโกง เพราะผมยังไม่รู้เลยว่าใครโกง หรือมีการโกงเกิดขึ้น ... ผมจะไปรู้ได้อย่างไร เพราะผมก็เป็นแค่พลเรือนธรรมดา
แต่ผมไม่เห็นด้วยเลย ... เพราะผมยังนึกไม่ออกว่า เราจะต้องเพิ่มกำลังรบไปทำไม?
เพราะสถานการณ์ชายแดน? .... ผมไม่คิดอย่างนั้นน่ะครับ
เอ้า พูดกันตรง ๆ ครับว่าสมมุติเรามีปัญหาถึงขั้นต้องลงไม้ลงมือกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออก ... ว่ากันเฉพาะเรื่องทหารม้า ซึ่งรวมถึงรถถังและรถเกราะ ถ้าวัดแค่จำนวนแล้ว ทบ.ไทยมีรถถังมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้เกือบ 2 เท่า ยังไม่นับความทันสมัยของรถถังที่มากกว่า บวกกับกำลังทางอากาศ กองทัพไทยสามารถรับมือกับกองทัพประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้ได้สบาย
เรื่องจำนวนกำลังรบที่น้อยกว่าจึงไม่น่าจะเป็นประเด็น
ถ้ายุทธยานยนต์ที่มีอยู่ไม่ทันสมัยเพียงพอล่ะ? ... ทางแก้ไม่ใช่การตั้งกองพลใหม่ครับ แต่คือการปรับปรุงหรือจัดหายุทธยานยนต์ทดแทนของเดิมที่มีอยู่
ยกตัวอย่างได้ง่ายที่สุดคือ บรรดาหน่วยทหารม้านอกกองพลทั้งหลายที่ยังใช้ M41 อยู่จำนวนถึง 200 คัน ด้วยเงิน 7 หมื่นล้านบาท ทบ.สามารถปลดประจำการรถถังทั้งหมด และจัดหารถถังหลักที่ทันสมัยของโลกในปัจจุบันจำนวน 200 ได้ด้วยวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
เหลืออีก 5 หมื่นล้าน สามารถนำไปปรับปรุงรถถังที่มีอยู่ให้ทันสมัยมากขึ้น เปลี่ยนรถเกราะล้อยาง และรถสายพานลำเลียงพลได้ทั้งหมดโดยได้ของใหม่ จัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปหรือเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ปืนเล็กยาวใหม่ ปืนใหญ่รุ่นใหม่ที่ทบ.ตั้งโครงการไว้
เชื่อไหมครับ ถึงซื้อทั้งหมดนี่ เงินยังเหลือเลย
แต่ 7 หมื่นล้านบาทใน 10 ปี ทบ.ได้กองพลทหารม้าขึ้นมาใหม่ 1 กองพล แน่นอนว่าบางส่วนจะเป็นการควบรวมหน่วยเดิมให้มาขึ้นกับกองพลใหม่ แต่ยังไงก็ยังมีการจัดตั้งหน่วยใหม่ ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะไม่ตกอยู่กับหน่วยหรือเหล่าอื่นของกองทัพบก ที่ก็มีความต้องการในการปรับปรุงและจัดหาเช่นกัน ... ในหลายโครงการดูแล้วมีความเร่งด่วนมากกว่าด้วย
กองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังจัดตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ ทั้ง ๆ ที่แนวคิดการมีกองพลทหารราบที่ 15 เป็นแนวคิดที่ดี และกองพลทหารราบที่ 15 จะเป็นกองพลที่ต้องดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน คือการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมจึงมีความเร่งด่วนต่ำกว่ากองพลทหารม้าที่ 3?
หรือแม้แต่กองพลทหารราบที่ 7 ซึ่งมีแนวคิดที่จะจัดตั้งในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 3 ในภาคเหนือ ฟังดูแล้ว ก็ยังมีน้ำหนักของเหตุผลในการจัดตั้ง มากกว่ากองพลทหารม้าที่ 3 ด้วยซ้ำ
กองทัพบกสามารถมีกิจการทหารม้าที่ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร สมศักดิ์ศรีได้ ถ้าเพียงแต่กองทัพบกลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยทหารม้าที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองพลทหารม้าที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ หรือหน่วยทหารม้านอกกองพลและทหารม้าอากาศทั้งหลาย ... โดยใช้อัตรากำลังที่มีอยู่เดิม แต่เปลี่ยนยุทโธปกรณ์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น
กองทัพบกไทยมีงบลงทุนและงบในการเสริมสร้างกำลังรบปี ๆ หนึ่งราว 38,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 80,000 ล้านบาท .... งบประมาณในการตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 ถ้าคิดค่าเฉลี่ย 10 ปี จะตกที่ปีละ 7 พันล้านบาท หรือเกือบ 20% ของงบประมาณการเสริมสร้างกำลังรบทั้งหมด
แต่นั่นเป็นกรณีคิดเฉลี่ย ถ้าในปีแรกกองทัพบกลงทุนเพียง 1 พันล้าน หมายความว่าปีต่อ ๆ ไปอาจมีบางปีที่ต้องลงทุนมากกว่า 7 พันล้าน (เพราะปีแรกลงทุนน้อย) และมีแนวคิดชัดเจนว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ กองทัพบกก็จะดึงงบประมาณของส่วนอื่นในกองทัพบกมาใช้จัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3
นั่นหมายความว่า หน่วยหรือเหล่าอื่นของกองทัพบกจะได้รับการดูแลน้อยลง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความพร้อมรบที่ต่ำลงเนื่องจากขาดงบประมาณ และอาจส่งผลถึงความพร้อมรบโดยรวมของทั้งกองทัพบกเอง
กองทัพบกมีหลายหน่วยงานอยู่ภายใต้การดูแล แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ต่างกันไป และต่างก็สนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าหน่วยงานอื่นมีศักยภาพลดลง .... กองพลทหารม้าที่ 3 ก็จะไม่ช่วยให้การปฏิบัติการดีขึ้นแต่อย่างใด กลับกันอาจจะแย่ลงด้วยซ้ำ
หรือแม้แต่ในกรณีที่หน่วยงานอื่นในกองทัพบกไม่ถูกตัดงบ นั่นก็แปลว่ากองทัพบกหรือกระทรวงกลาโหมต้องไปดึงงบประมาณจากกระทรวงอื่น .... นั่นหมายถึงงบการศึกษา งบสาธารณสุข หรืองบคมนาคม
7 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้าได้ 2 สายเชียวนะครับ
การมีกองพลทหารม้าที่ 3 ที่เข้มแข็งและมีแสนยานุภาพสูง จะมีประโยชน์อันใด ถ้าองคาพยพอื่นของกองทัพบกต้องอ่อนแอลง หรือองคาพยพอื่นของกระทรวงกลาโหมต้องอ่อนแอลง หรือแม้แต่องคาพยพอื่นของรัฐต้องอ่อนแอลง ... ความมั่นคงของชาติหมายถึงการผลักดันของพลังอำนาจของชาติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร และเทคโนโลยี ... ถ้าพลังอำนาจทางทหารมีความเข้มแข็ง (แต่เพียงบางส่วน) แต่กลับต้องทำให้พลังอำนาจด้านอื่นต้องลดลง จะมีประโยชน์อันใดในกรณีที่เราต้องการการรับประกันความมั่นคงของชาติ?
กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือแม้แต่หลาย ๆ หน่วยงานของกองทัพบกเอง กำลังทำในสิ่งที่เหมือนกันและไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือการไม่เพิ่มอัตรากำลังพล ไปจนถึงการปรับลดอัตราลงด้วยซ้ำ เพื่อทำให้หน่วยงานมีความคล่องตัวและประหยัดงบประมาณ หลายหน่วยงานไม่มีการเพิ่มอัตรากำลังใหม่มากหลายปีแล้ว มีแต่อัตรากำลังที่เท่าเดิมหรือลดลง
ทำไมหน่วยงานในส่วนนี้ของกองทัพบกต้องทำในสิ่งที่สวนทางกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเป็นอยู่ของกองทัพไทยในภาพรวม การเพิ่มกำลังรบในส่วนของทหารม้าจะมีประโยชน์อันใด ถ้ากองทัพบกต้องทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปยังกองพลตั้งใหม่ และทำให้ส่วนอื่น ๆ ของกองทัพบกเองอ่อนแอลง ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของหน่วยงานเหล่านั้นเลย และทั้ง ๆ ที่การศึกษาภัยคุกคามของกองทัพไทยก็พูดชัดเจนว่า โอกาสในการเกิดสงครามเต็มรูปแบบขึ้นนั้น น้อยเต็มที และทั้ง ๆ ที่รัฐบาลก็กำลังพยายามจัดทำงบประมาณสมดุล เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของชาติ กำลังสร้างระบบสวัสดิการให้ประชาชนมีหลักประกันและความมั่นคงของชีวิตในขั้นพื้นฐาน
การจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 จะทำให้กองทัพบกหรือประเทศชาติได้ประโยชน์จริง ๆ หรือ? ... ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองพลใหม่ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้นะครับ ถ้ามีผู้ใดถามขึ้นมา เพราะเงินที่ใช้คือเงินภาษีของประชาชน
"ห้ามผู้ใดใช้บทความนี้เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนไม่ว่าทางใด"
Create Date : 15 มกราคม 2554 |
Last Update : 15 มกราคม 2554 19:15:58 น. |
|
6 comments
|
Counter : 9975 Pageviews. |
 |
|
|