ไปกด Link ได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/skymantaf หรือ Follow ได้ที่ Twitter https://twitter.com/skymantaf หรือที่ http://www.thaiarmedforce.com นะครับ
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
14 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
RTAF 40Th Year Anniversary of Huey #2

ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วครับ

"RTAF UH-1H 'Huey' 40th Year Anniversary"

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=22-06-2009&group=2&gblog=141

บทความนี้คือสองที่สอง ขอเชิญรับผมได้เลยครับ!

RTAF 40Th Year Anniversary of Huey #2

ในกองทัพต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นของทัพขนาดใหญ่ที่มีเครื่องบินเป็นพัน ๆ ลำ หรือกองทัพขนาดเล็กที่มีเครื่องบินเพียงไม่กี่ลำ แทบทั้งหมดจะมีเฮลิคอปเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแทบทั้งสิ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะเฉพาะที่หาไม่ได้จากเครื่องบินแบบอื่นนั่นก็คือการสามารถลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และลงจอดในพื้นที่ใด ๆ ก็ตามที่ต้องการ โดยใช้ใบพัดซึ่งก็คือปีกที่หมุนได้ในการสร้างแรงยกนั่นเอง

กองทัพไทยทั้งสี่เหล่ามีเฮลิคอปเตอร์ใช้ในราชการรวมกันแล้วมากกว่าสองร้อยลำ ราวครึ่งหนึ่งคือฮิ้วอี้ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั่นเองครับ ฮิวอี้ในแต่ละเหล่าทัพจะมีบทบาทแตกต่างกันออกไป ในส่วนของฮิวอี้ของกองทัพอากาศนั้นก็จะมีหน้าที่เฉพาะนั่นก็คือ การค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบครับ

ขอเชิญทุกท่านทำความรู้จักกับภารกิจนี้ ... ภารกิจที่ต้องเสียงภัยไปช่วยคนที่แม้ไม่เคยรู้จักกัน ... ให้มากขึ้นในตอนที่สองของบทความนี้ครับ



That Other May Live

ภารกิจค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบ (Combat Search and Rescuse) หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า CSAR นั้นเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดภารกิจหนึ่งในการปฏิบัติการทางอากาศ ภารกิจนี้จะกระทำเมื่ออากาศยานของฝ่ายเราถูกข้าศึกยิงตกและนักบินสามารถดีดตัวออกมาได้ (หรือถ้านักบินเสียชีวิตก็จะเป็นการพิสูจน์ทราบอากาศยานที่ตก) และเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยพร้อมด้วยเครื่องบินคุ้มกันจะต้องมีภารกิจเข้าไปช่วยเหลือนักบินที่ถูกยิงตกกลับบ้าน ซึ่งส่วนมากแล้วจะอยู่หลังแนวข้าศึก



องค์ประกอบของการทำภารกิจนี้อยู่ภายใต้หลักการของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนี้ได้แก่ นักบิน, พลปืน, และพลร่มกู้ภัย ถ้าขาดใครคนหนึ่งไปนั้นอาจทำไม่สามารถปฎฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงได้เลย

นอกจากนักบินแล้ว เราลองไปรู้จักแต่ละคนให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ

เริ่มจากพลปืน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ป้องกันเฮลิคอปเตอร์ทั้งลำจากการยิงของข้าศึก การป้องกันนี้มาจากการยิงของปืนกลที่ติดตั้งอยู่ที่ประตูทั้งสองข้างของฮิวอี้ ในกองทัพอากาศไทยนั้นเราใช้ปืนกล M60D เป็นปืนหลัก ข้อแตกต่างที่สำคัญของปืนกล M60D กับปืนกล M60 ที่เราเคยเห็นกันตอนเรียนรด.ก็คือมันถูกออกแบบมาให้มีด้ามจับและไกปืนที่สามารถจับและยิงได้ด้วยมือทั้งสองข้าง ซึ่งจะแตกต่างจากปืนกล M60 ที่ใช้งานบนพื้นดินที่จะมีไกปืนและด้ามจับคล้าย ๆ กับปืนที่เราคุ้นเคยกันทั่วไปครับ ด้านข้างจะมีกล่องกระสุนซึ่งจะมีสายกระสุนที่ป้อนกระสุนเข้าไปในปืนกล M60D และมีกระเป๋าเก็บปลอกกระสุนที่ถูกยิงแล้วในอีกด้านหนึ่งของปืน ส่วนมากแล้วพลปืนจะนั่งอยู่ตรงที่นั่งข้าง ๆ ที่เยื้องไปด้านหลังของทั้งสองข้างครับ



อีกคนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ หน่วยพลร่มกู้ภัยของหน่วยอากาศโยธินแห่งกองทัพอากาศครับ หน่วยนี้มักจะเป็นหน่วยที่ผู้คนมักจะลืม ๆ ไปในภาวะปกติ แต่จะเป็นหน่วยที่ทุกคนคิดถึงมากที่สุดเมื่อตกอยู่ในอันตราย ถ้าจะเทียบคร่าว ๆ ให้เห็นง่าย ๆ แล้ว อากาศโยธินก็คือทหารราบของทหารอากาศ ส่วนหน่วยพลร่มกู้ภัยหรือ Pararescue Jumper (เรียกย่อ ๆ ว่า PJ) ก็คล้าย ๆ หน่วยรบพิเศษของอากาศโยธินนั่นเองครับ ผู้ที่ทำงานในหน่วยนี้จะต้องผ่านการฝึกอย่างหนักไม่แพ้หน่วยรบพิเศษชั้นนำอื่น ๆ ของประเทศ และยังต้องมีความสามารถพิเศษในการปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บก่อนที่จะนำผู้บาดเจ็บไปถึงมือของหมอที่ฐานทัพของฝ่ายเรา ในวันที่พวกเราไปเยี่ยมกองบิน 2 เพื่อถ่ายภาพชุดนี้นั้นจึงได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเหล่า PJ ที่มาประจำอยู่ที่กองบิน 2 แห่งนี้ ทุกคนใจดี เฮฮา และยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ถ้าสังเกตุดี ๆ นอกจากปีกจากหลากหลายหลักสูตรแล้ว เรายังสังเกตุเห็นปีกรูปฉลามบนเกลียวคลื่นซึ่งผู้ที่ผ่านหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำ/จู่โจมหรือหน่วยซีลของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือเท่านั้นที่จะมีโอกาสติดได้ครับ



ในส่วนของเฮลิคอปเตอร์นั้น นอกจากปืนกล M60D แล้ว ยังมีอุปกรณ์อีกอันหนึ่งที่จำเป็นนั่นก็คือ รอกกู้ภัย (Hoist) นั่นเองครับ เราอาจจะเคยเห็นตามภาพยนต์ที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้ประสบภัยผูกตัวเองกับรอกเพื่อให้มันค่อย ๆ ดึงขึ้นมาในตัวเฮลิคอปเตอร์ นั่นคือหน้าที่สำคัญของมันครับ



We Will Bring You Home

ในภาวะปกติแล้ว จะมีเฮลิคอปเตอร์สองลำเข้าทำภารกิจนี้ โดยเครื่องหนึ่งจะเป็นเครื่องที่ทำการช่วยเหลือนักบิน ซึ่งจะนำ PJ ไปส่ง ณ จุดที่นัดหมายกับนักบินแล้ว และอีกเครื่องหนึ่งจะทำการบินคุ้มกันโดยใช้ปืนกล M60D ซึ่งติดอยู่ทั้งสองข้างของประตูในการยิงกดดันข้าศึก และอาจจะมีเครื่องบินขับไล่หรือเครื่องบินโจมตีบินโจมตีทิ้งระเบิดกดดันข้าศึกหรือป้องกันเครื่องบินของข้าศึกที่อาจจะเข้ามาขัดขวางภารกิจได้

การปฏิบัติการจะเกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินฝ่ายเราถูกยิงตก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการถูกยิงตกในลักษณะนี้มักจะมาจากเครื่องบินถูกยิงตกในระหว่างการปฏิบัติภารกิจในแนวหน้าของฝ่ายเราหรือแม้แต่ลึกเข้าไปในแนวหลังของข้าศึกครับ

ปกติแล้วนักบินทุกคนจะต้องผ่านหลักสูตรการเอาตัวรอดหลังจากกระโดดออกมาจากเครื่องบินแล้ว สิ่งที่นักบินต้องทำก็คือ ต้องจัดตั้งการติดต่อสื่อสารกับกองกำลังฝ่ายเราให้ได้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการนัดแนะจุดรับกลับ และวันเวลาที่จะไปรับครับ

อย่างที่เรียนให้ทราบไปว่า ในภาวะปกติแล้วกองทัพอากาศจะส่งเฮลิคอปเตอร์สองลำเข้าไปช่วยเหลือนักบิน และเนื่องจากเฮลิคอปเตอร์บินได้ช้า ความคล่องตัวต่ำกว่าเครื่องบินปีกตรึง รวมไปถึงความสามารถในการป้องกันตัวนั้นค่อนข้างต่ำกว่าเครื่องบินปีกตรึงอยู่แล้ว การบินเข้าไปช่วยเหลือจะต้องมีเทคนิคการบินที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษ เช่นการบินต่ำเพื่อป้องกันการถูกตรวจจับด้วยเรดาร์และลดโอกาสที่จะถูกยิงจากอาวุธภาคพื้น (เพราะกว่าข้าศึกจะเห็นฮ.ก็อยู่บนหัวและบินผ่านไปอย่างรวดเร็วแล้ว) ไปจนถึงการบินเกาะภูมิประเทศที่เป็นการใช้ภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์ในการกำบังตัวเองจากการตรวจการณ์และการโจมตีของข้าศึกครับ



เมื่อมาถึงจุดนัดพบ ชุดค้นหาจะต้องให้นักบินให้สัญญาณที่ได้ตกลงกันไว้เพื่อเป็นการระบุตำแหน่งและเป็นการยืนยันอีกครั้งว่านี่คือนักบินของเราจริง ๆ ไม่ใช่ข้าศึกปลอมตัวมา สัญญาณเหล่านั้นอาจจะเป็นคำถาม-คำตอบทางวิทยุ หรือสีของระเบิดควันที่นักบินที่ถูกยิงตกจะโยนออกมา

หลังจากยืนยันได้แล้ว ชุดค้นหาจะต้องส่งหน่วย PJ ลงสู่พื้นดินอย่างรวดเร็ว เนื่องจากระหว่างการส่งหน่วย PJ นั้นฮิ้วอี้จะบินช้าและต่ำซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเป็นเป้านิ่งของกระสุนปืนของข้าศึกได้ การส่งหน่วย PJ โดยปกติแล้วจะเป็นการร่อนลงจอดและให้หน่วย PJ วิ่งลงจากฮิวอี้ กระบวนการนี้จะใช้เวลาไม่กี่วินาที แต่ถ้าพื้นที่ตรงนั้นไม่มีที่ว่างมากพอที่จะให้ฮิวอี้ร่อนลงจอดได้ ก็จะต้องส่งหน่วย PJ ลงโดยโรยเชือกแล้วให้หน่วย PJ โรยตัวลงมา (แบบหลังนี้เราจะเห็นได้บ่อยในงานวันเด็กครับ) หลังจากนั้นฮิ้วอี้จะปลดเชือกทิ้งและรีบบินหนีออกจากพื้นที่นั้นทันทีเพราะตอนนี้เท่ากับฮิวอี้เปิดเผยตำแหน่งของตนเองต่อข้าศึกแล้ว อยู่นานจะยิ่งอันตราย



นอกจากหน้าที่บนฟ้าของฮิวอี้อีกลำและเครื่องบินโจมตีที่จะต้องทำการยิงหรือทิ้งระเบิดกดดันถ้ามีความจำเป็นแล้ว หน้าที่บนพื้นดินของหน่วย PJ คือเข้าถึงตัวนักบินและในกรณีที่นักบินบาดเจ็บก็ต้องช่วยปฐมพยาบาล นอกจากนั้นก็จะต้องทำการวางแนวป้องกันการโจมตีของทหารราบข้าศึกที่อาจจะใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีได้

เมื่อนักบินพร้อมที่จะถูกนำตัวกลับ ฮิวอี้ลำเดิมก็จะบินเข้ามารับทั้งหมดกลับไปโดยบินไปรับ ณ พื้นที่ที่ได้มีการนัดแนะกันเอาไว้ซึ่งอาจจะไม่ใช่พื้นที่เดิมที่เป็นจุดร่อนลงในตอนแรกถ้ามีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากข้าศึก และเช่นเดียวกับในตอนแรก การรับกลับอาจจะเป็นได้ทั้งการร่อนลงจอดและรับนักบินและหน่วย PJ ขึ้นเครื่อง หรือวิธีที่อันตรายกว่าคือการดึงตัวนักบินขึ้นไปโดยใช้รอกกู้ภัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของภูมิประเทศที่เป็นจุดรับครับ



ถ้าลองสังเกตุดูจะพบว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนสำคัญต่อภารกิจนี้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะถ้าไม่มีนักบิน PJ ก็คงไม่สามารถเข้าถึงจุดที่นัดหมายได้อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีพลปืนหรือเครื่องบินคุ้มกัน ชุดค้นหาก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจมตีเสียเอง และถ้าไม่มี PJ แล้วก็ไม่รู้จะหาใครไปพาตัวนักบินที่ถูกยิงตกกลับมา ดังนั้น ไม่มีใครสำคัญน้อยกว่าใครหรือมีใครสำคัญมากกว่าใคร ทุกคนคือองค์ประกอบที่ทำให้ภารกิจลุล่วงด้วยกันทั้งสิ้น

ภารกิจค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบอาจจะฟังดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่หลายครั้งที่ผ่านมากลับกลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าภารกิจอื่น ๆ หลายเท่า หลายครั้งตั้งแต่สมัยที่ประเทศของเรายังตกอยู่ในภาวะสงครามกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือกับกองกำลังต่างชาติ ผู้ช่วยชีวิตที่กำลังไปช่วยคนที่เขาไม่เคยรู้จักกลับต้องจบชีวิตเสียเอง หรือฝ่ายเราอาจจะต้องทุ่มกองกำลังและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อทำให้การช่วยเหลือปลอดภัยมากพอที่จะประสบความสำเร็จ คิดในแง่เศรษฐศาสตร์แล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้มค่านัก แต่การที่หน่วยค้นหาและช่วยชีวิตทำให้นักบินที่กำลังบินเข้าไปในแนวหลังของข้าศึก ห่างไกลจากฐานและการสนับสนุนของฝ่ายตนเองรู้เสมอว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น จะต้องมีคนพยายามพาพวกเขากลับบ้าน ก็น่าจะทำให้อย่างน้อยพวกเขามีกำลังใจที่จะฝ่ากระสุนเข้าไปเป็นหัวหอกในการทำการรบที่จะทำให้กำลังทางอากาศของฝ่ายเราสร้างความได้เปรียบสูงสุดในการทำการรบได้



นั่นก็คือพวกเขารู้ว่าคนข้างหลังจะไม่ลืมพวกเขานั่นเอง

ภารกิจนี้อาจจะดูเหมือนไกลตัว แต่เทคนิคและการฝึกที่ได้รับจากภารกิจนี้ถูกใช้อยู่เสมอ ๆ เมื่อประเทศประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินถล่ม หรือแม้แต่ภัยพิบัติสึนามิที่ผ่านมา เฮลิคอปเตอร์เป็นอากาศยานแบบเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการทำภารกิจนี้ ฮิวอี้และเจ้าหน้าที่ PJ อาจจะไม่ต้องถือปืน แต่ในความหมายเดียวกันของภารกิจนั้นก็คือการช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติที่เป็นเหมือนผู้ที่ถูกทิ้งอยู่เบื้องหลังนั่นเอง

We leave no man behind, in war or peace!




Yet Another Mission

แต่ใช่แต่เพียงภารกิจค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงสงครามเท่านั้น

ในภาวะปกติฮิวอี้ก็ยังมีหน้าที่อื่นอีกเช่นกัน

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ปกติแล้วประเทศเราใช้อะไรตรวจตราน่านฟ้า?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้ลงทุนพัฒนาระบบ ๆ หนึ่งที่ชื่อว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศอัตโนมัติของกองทัพอากาศ หรือ Royal Thai Air Defense System ที่บางท่านอาจจะเคยได้ยินในชื่อ RTADS นั่นเองครับ

RTADS คือเครื่องข่ายเรด้าร์ประสิทธิภาพสูงทั้งแบบเรดาร์ตั้งประจำและแบบเคลื่อนที่ รวมไปถึงเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือน (AEW&C) ซึ่งมีเรดาร์ที่มีรัศมีตรวจจับครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและส่วนที่เกี่ยวข้อง ระบบเรดาร์ของ RTADS จะเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านสามช่องทางคือ การสื่อสารไร้สายด้วยสัญญาณไมโครเวฟ, การสื่อสารผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงของกองทัพ และการสื่อสารผ่านดาวเทียม ข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาร์ต่าง ๆ จะถูกส่งเข้าสู่ศูนย์ความคุมส่วนกลางของกองทัพอากาศ และเชื่อมต่อกับระบบป้องกันภัยทางอากาศอัตโนมัติร่วมของกองบัญชาการกองทัพไทย (Joint Air Defence Digital Information Network : JADDIN) ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่ช่วยสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงประสานการปฏิบัติการกับเหล่าทัพอื่น ในอนาคตเมื่อ RTADS พัฒนาเสร็จสมบูรณ์มันจะทำหน้าที่ควบคุมและเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติการทางอากาศทั้งหมดของไทย และเป็นระบบใหญ่ที่จะประกอบไปด้วยระบบย่อยต่าง ๆ เช่น เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตี เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินตรวจการณ์ เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือน ไปถึงเฮลิคอปเตอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติการทางอากาศในอนาคตจะมีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลที่รวบรวมได้ผ่านข่ายการส่งข้อมูล (Datalink) เพื่อทำให้กำลังทางอากาศทั้งหมดเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายตามหลักการของสงครามแบบใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Warfare) และ RTADS ก็เป็นเพียงเครือข่ายของกองทัพอากาศเท่านั้น ยังมีเครือข่ายของกองทัพเรือและกองทัพบกที่จะเชื่อมโยงเข้าหากันอีกด้วย



แล้วฮิวอี้เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งเหล่านี้?

สถานีเรดาร์ของ RTADS มักจะต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับให้คลื่นเรดาร์สามารถทำการตรวจจับได้ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด และพื้นที่นั้นมักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ไม่ใช่แต่สถานีเรดาร์เท่านั้น ในบางช่วงยังต้องจัดตั้งสถานีสื่อสารและคมนาคมซึ่งเคยเชื่อมสัญญาณระหว่างสถานีเรดาร์แต่ละแห่งเข้าด้วยกัน

หนึ่งในนั้นก็คือสถานีสื่อสารบนยอดเขาชะเมา

เขาชะเมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยองและอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี จุดสูงสุดของเขาชะเมาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,024 เมตร โดยสถานีสื่อสารเขาชะเมาใช้พื้นที่ 1.5 ไร่บนยอดเขาในการตั้งสถานีสื่อสาร ตรงจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นมาได้โดยใช้เวลาราวครึ่งวันครับ



แต่สถานีสื่อสารนี้ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงเนื่องจากเราไม่สามารถลากสายไฟจากตีนเขาขึ้นมาถึงยอดได้ ตัวสถานีจึงต้องใช้เครื่องปั่นไฟเพื่อให้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ใช้งานได้ และเครื่องปั่นไฟก็ต้องใช้น้ำมัน การแบกน้ำมันเดินขึ้นเขาคงไม่สนุกสักเท่าไหร่ นอกจากนั้นยังต้องแบกอาหารและเครื่องยังชีพขึ้นไปอีกด้วย กองทัพอากาศจึงใช้ฮิวอี้ในการส่งกำลังบำรุงให้กับสถานีนี้ โดยใช้ฮิวอี้จากหน่วยแยกของฝูง 203 ที่มาประจำ ณ กองบิน 6 ดอนเมืองครับ

ในวันที่พวกเราได้มีโอกาสติดตามภารกิจนี้ไป ฮิวอี้บินขึ้นจากหน่วยแยกที่ดอนเมืองในช่วงเช้าผ่านจังหวัดฉะเชิงเทราเข้าสู่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวงโดยใช้เวลาบินราว 1 ชั่วโมง ความยากของภารกิจนี้ไม่ใช่การเดินทางไปยังสถานี แต่เป็นการร่อนลงบนสถานีครับ



สถานีตั้งอยู่บนยอดเขาโดยทำการปรับพื้นที่ให้มีลักษณะเหมาะสมที่จะตั้งสถานีและทำจุดร่อนลงจอดได้ (ซึ่งเมื่อครั้งสร้างสถานีใหม่ ๆ ก็ใช้ฮิวอี้ในการขนวัสดุอุปกรณ์ขึ้นไปเช่นกัน) สถานีตรงนี้มีเมฆค่อนข้างมาก บางครั้งมีเมฆปกคลุมจนไม่สามารถมองเห็นตัวสถานีได้ ลมด้านบนนั้นค่อนข้างแรงเนื่องจากภูมิประเทศเป็นช่องเขา ถ้านักบินทรงตัวเครื่องได้ไม่ดีอาจทำให้ลมตีจนเครื่องตกได้ จุดนี้นับเป็นจุดที่ลงได้ยากที่สุดจุดหนึ่งของเฮลิคอปเตอร์ครับ



ในการขนส่งนั้นจะขนสิ่งอุปกรณ์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นน้ำมันในถังสองร้อยลิตร อาหาร น้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในสถานี และอาจจะทำการสับเปลี่ยนกำลังพลที่ประจำอยู่บนสถานีด้วย โดยกองทัพอากาศมีจุดจอดที่บริเวณด้านล่างนอกอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นจุดพักของฮิวอี้และเป็นจุดรับส่งสิ่งอุปกรณ์ที่ต้องขนส่งครับ



การบินขนส่งอาจจะต้องบินระหว่างตัวสถานีและจุดจอดหลายรอบขึ้นอยู่กับจำนวนของสิ่งที่ต้องส่ง ในวันที่พวกผมไปสังเกตุการณ์ภารกิจนั้นอากาศค่อนข้างเปิด ทัศนวิสัยดีมาก การบินจึงไม่ลำบากมากนัก อากาศข้างบนเย็นสบายตลอดทั้งปี ซึ่งจะว่าไปมันเป็นที่ที่ค่อนข้างเหมาะกับการตากอากาศมากทีเดียว ถ้าไม่ติดที่ว่าคุณอาจจะต้องนอนอยู่ที่นั่นโดยไม่ได้เห็นโลกภายนอกเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือนอนหิวสักหลาย ๆ คืนถ้าอากาศปิดจนฮิวอี้มาส่งกำลังบำรุงไม่ได้

นอกจากสถานีที่นี่แล้ว ยังมีสถานีเรดาร์และสถานีสื่อสารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของฮิวอี้ที่ต้องส่งกำลังบำรุงให้กับสถานีต่าง ๆ ที่คอยจับตาความเคลื่อนไหวบนฟากฟ้าของเมืองไทยให้เรา และหลายครั้งความพยายามเหล่านั้นก็คุ้มค่า!




Nothing is Perfect

แม้ว่าในอดีตกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ฮิวอี้จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถของมัน แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย ข้อจำกัดหลักของฮิวอี้ก็มีหลายประการ

ประการแรกก็คือขนาด ฮิ้วอี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งผลที่ตามมาก็คือน้ำหนักบรรทุกที่ไม่มากเท่าเฮลิคอปเตอร์ขนาดที่ใหญ่กว่า นอกจากนั้นมันยีงมีพิสัยการบินที่ไม่ไกลนัก ทำให้เป็นเรื่องลำบากที่จะบินลึกเข้าไปในแนวหลังของข้าศึกมาก ซึ่งตรงนี้เป็นข้อจำกัดหลักของมัน

ประการต่อมาก็คือการออกแบบ เนื่องจากความต้องการออกแบบเฮลิคอปเตอร์ที่บำรุงรักษาง่าย ราคาไม่แพง มันจึงมีเครื่องยนต์เพียง 1 เครื่อง และมีใบพัดเพียงสองกลีบ แม้ว่ามันจะเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจทั่ว ๆ ไปได้ แต่ในบางภารกิจนั้น ด้วยเครื่องยนต์เพียงหนึ่งเครื่องและใบพัดสองกลีบทำให้มันมีกำลังและแรงยกไม่เพียงพอ โดยเฉพาะภารกิจที่ต้องบรรทุกน้ำหนักมาก

ประการสุดท้ายก็คือ ฮิวอี้มีระบบที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ของการซ่อมบำรุงที่ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่มันก็ตามมาด้วยข้อจำกัดที่ว่ามันมีเครื่องมือช่วยเหลือนักบินในการทำการบินอย่างจำกัดเช่นกัน แตกต่างจากเฮลิคอปเตอร์สมัยใหม่ที่มีเครื่องช่วยเดินอากาศค่อนข้างมาก



เมื่อฮิวอี้หลายลำต้องปลดประจำการลง เฮลิคอปเตอร์ที่มาทดแทนจึงมักเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า มีน้ำหนักบรรทุกมากกว่า มีเครื่องยนต์และใบพัดที่สามารถสร้างแรงยกได้มากกว่า เช่น UH-60L Black Hawk ของกองทัพบก เป็นต้น แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการจัดหาสูง จึงยังทำให้กองทัพบกไม่สามารถจัดหาได้ครบตามจำนวนความต้องการ โดยเฮลิคอปเตอร์ Black Hawk นั้นวางโครงการจัดหาในขั้นต้นไว้ที่ 33 ลำ แต่ถูกตัดลดลงมาเหลือ 7 ลำในท้ายที่สุด เช่นเดียวกับกองทัพอากาศนั้นเคยจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบ Bell 412EP เพื่อทดแทนฮิวอี้ แต่ในช่วงเวลานั้นประเทศเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้งบประมาณที่เคยได้รับไม่เพียงพอที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์ทดแทนฮิวอี้ได้ทั้งหมด อีกทั้งงบประมาณยังถูกตัดลดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้กองทัพบกและกองทัพอากาศเลือกที่จะยืดอายุการใช้งานของฮิวอี้ออกไปโดยผ่านการปรับปรุงเพื่อยืดอายุการใช้งานหรือแม้แต่การปลดประจำการเครื่องที่ไม่คุ้มค่าในการยืดอายุ นอกจากนั้นกองทัพบกยังได้จัดหาฮิวอี้มือสองที่ปลดประจำการจากกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติของสหรัฐจำนวน 30 ลำผ่านโครงการขายยุทโธปกรณ์ส่วนเกินหรือ Excess Defense Article ของสหรัฐ เราจึงเรียกชื่อเล่นของฮิวอี้ล็อตนี้ว่า Huey EDA ตามชื่อย่อของโครงการ จุดสังเกตุว่าฮิวอี้ลำไหนคือฮิวอี้ที่จัดหาผ่านโครงการนี้นั้นจะดูได้จากเสาอากาศวิทยุบริเวณส่วนหาง ซึ่งฮิวอี้ชุดนี้มีระบบที่ทันสมัยกว่าฮิวอี้ชุดที่ประจำการในกองทัพบกไทย โดยได้รับการปรับปรุงระบบช่วยเดินอากาศ ระบบสื่อสาร และกล้องมองกลางคืนสำหรับการปฏิบัติภารกิจในเวลากลางคืน ในระยะยาวอีกราว 4 - 5 ปีข้างหน้ากองทัพบกคาดหวังที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์ Black Hawk หรือรุ่นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติมอีกจำนวน 9 ลำ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะงบประมาณในช่วงนั้น



สำหรับกองทัพอากาศนั้น ได้กำหนดความต้องการในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ที่มีน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุดไม่ต่ำกว่า 8.5 ตัน หรือบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 15 คน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำหรับภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตจำนวน 16 ลำ โดยแบ่งการจัดหาเป็น 3 เฟส เฟสละ 4 ลำ, 8 ลำ, และ 4 ลำตามลำดับ ซึ่งตามโครงการแล้วเฟสแรกจะดำเนินการจัดหาในปีนี้ แต่จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กลับมาอีกครั้ง ทำให้โครงการยังต้องถูกเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าภาวะงบประมาณของประเทศจะสามารถสนับสนุนโครงการได้ ทำให้เรายังคงเห็นฮิวอี้ของกองทัพอากาศบินปฏิบัติภารกิจไปอีกสักระยะหนึ่งแน่นอน

สำหรับแบบของเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศที่จะมาทดแทนฮิวอี้นั้น เมื่อมองจากการที่กองทัพอากาศลงนามจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบ S-92 จำนวน 3 ลำมาเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแทนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเดิมที่ต้องลดระดับลงไปตามเกณฑ์แล้ว เฮลิคอปเตอร์ที่น่าจะมาทดแทนฮิวอี้ก็น่าจะเป็น S-92 รุ่นใช้งานทางทหารเช่นกัน พิจารณาจากประวัติการปฏิบัติการของกองทัพอากาศที่เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งกับเฮลิคอปเตอร์สำหรับค้นหาและกู้ภัยที่มักจะเป็นรุ่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน



The Best Helicopter Ever in Service in Thailand

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ฮิวอี้ที่แม้ประเทศไทยจะได้รับมอบมาโดยไม่คิดมูลค่าผ่านการช่วยเหลือจากทหารจากสหรัฐ มันกลับกลายเป็นกระดูกสันหลังของการปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ของไทยมาตลอด ฮิวอี้มีส่วนร่วมกับสมรภูมิแทบทุกสมรภูมิที่ไทยเคยผจญในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หลายครั้งเสียงใบพัดสับอากาศหนัก ๆ ของมันเป็นเหมือนเสียงสวรรค์ที่ทำให้หลายคนรอดชีวิตจากการช่วยเหลือ และมันยังมีส่วนร่วมกับสังคมไทยในเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ มาโดยตลอด แม้ว่าฮิวอี้จะเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองในอดีตที่กำลังเริ่มยุติบทบาทไปตามกาลเวลา ในอนาคตมันก็จะจอดสงบนิ่งในพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ต่าง ๆ คงเหลือเพียงแต่ความทรงจำของคนที่เกี่ยวข้องกับมันและเคยได้สัมผัสมัน แม้เวลานี้อาจจะเป็นการเริ่มต้นของบทสุดท้ายของการปฏิบัติการในประเทศไทย แต่เมื่อเรามองกลับไปสู่ผลงานที่มันเคยทำมาในอดีต คงยากที่จะหาเฮลิคอปเตอร์แบบใดในประวัติศาสตร์ของไทยเทียบกับความยิ่งใหญ่ของมันได้ เราขอขอบคุณฮิวอี้ทุกลำและผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วซึ่งช่วยทำให้มันทำงานในหน้าที่ได้อย่างดีเสมอมา

[b]เราขอขอบคุณ.[/b]




Appendix

บทความทั้งสองตอนนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากความช่วยเหลือต่าง ๆ ของ

- นาวาอากาศโท อรรถยุทธ ขาวสอาด นายทหารตรวจสอบมาตรฐานการบิน นักบินเฮลิคอปเตอร์ กองตรวจสอบมาตรฐานการบิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ นักบินฮิวอี้ฝีมือดีของกองทัพอากาศไทยที่กรุณาให้เกียรติและให้โอกาสผมและเพื่อน ๆ ในการถ่ายทอดเรื่องราวของเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม
- นาวาอากาศโท วสันต์ บัณฑิตศักดิ์สกุล ผู้บังคับฝูงบิน 203 กองบิน 2 โคกกระเทียม และนายทหารของฝูง 203 ทุกท่านที่กรุณาสนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งต่าง ๆ รวมถึงให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี
- นายทหารทุกนายของหน่วยแยกของพลร่มกู้ภัยประจำกองบิน 2 ที่สละเวลาและแรงกายสาธิตการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบพร้อมให้กับเราและทุกคนได้รับชม
- ช่างประจำเครื่องและนายทหารสรรพวุธของฝูง 203 ทุกคน ที่บำรุงรักษาเครื่องบินให้อยู่ในสภาพร้อมและเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราร้องขอให้เป็นอย่างดี
- ขอขอบคุณหนังสือที่ระลึกในวาระโอกาส 40 ปีการเข้าประจำการของฮิวอี้ในกองทัพอากาศไทยที่เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับการเขียนบทความครับ
- คุณความดีที่เกิดขึ้นจากบทความนี้ ขออุทิศให้กับผู้เกี่ยวข้องกับฮิวอี้ที่ล่วงลับจากการรบ อุบัติเหตุ หรือสาเหตุใด ๆ ก็ตาม
- สุดท้าย ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนจบครับ

สวัสดีครับ.




Create Date : 14 กรกฎาคม 2552
Last Update : 14 กรกฎาคม 2552 5:30:24 น. 6 comments
Counter : 1905 Pageviews.

 
เช้า ๆ ก็ยังมาเจิม อิอิ


โดย: น้าหนูนีล_น้องขวัญ วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:5:32:15 น.  

 
คู่นี้เค้าผลัดกันเจิมดีจริงๆ
ไม่ให้คนหล่อได้เจิมบ้างเลย

งอนๆๆๆๆ










โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:7:35:04 น.  

 
ตามสองหมิงมาติดๆ น้าโยเป็นนกฮุกแล้ว ทำงานกลางคืน คริคริ


โดย: แม่น้องขวัญ_ซาแมนต้า วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:44:11 น.  

 
ได้ที่ 4 อะ


โดย: น้องผิง วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:54:35 น.  

 


โดย: Skyman (Analayo ) วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:11:20 น.  

 


พักแยะ ๆ นะค่ะเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว


โดย: น้าหนูนีล_น้องขวัญ วันที่: 15 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:21:21 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Analayo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]




หากโลกนี้มีความยุติธรรม เราคงไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจหรอก/Skyman
@ จ่อยน้องลิง @
@ จ่อยหัวหอม @
X
X



free counters


Friends' blogs
[Add Analayo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.