JAS-39 Gripen: ... คำชี้แจงอย่างเป็นทางการของกองทัพอากาศ+สาระสำคัญของข้อตกลงเฟสแรก
ข้อความนี้ นำมาจากข่าวแจกของกองทัพอากาศ และข้อความในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเขียนโดยคุณท้าวทองไหล หรือ พ.อ.อ. รัชต์ รัตนวิจารณ์ เกี่ยวกับโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 (F-5B/E) ครับ เชิญอ่านได้เลยครับ
โครงการจัดซื้อ บ.ทดแทน F-5 B/E ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ นั้นกองทัพอากาศความจริงแล้วจะบอกว่ากองทัพอากาศนั้น ตั้งโครงการที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ทดแทนเครื่องบิน F-5 มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ แล้ว เพื่อเตรียมทดแทน F-5 B/E ที่มีแผนจะปลดประจำการในปี ๒๕๕๐ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าสถานภาพการเงินและงบประมาณของประเทศยังไม่พร้อม กองทัพอากาศจึงชลอโครงการไว้ก่อน
แต่ในช่วงหลายปีนั้นเราได้ทำการศึกษาเรื่องของเครื่องบินขับไล่แบบต่างๆ ในอดีตนั้นอาจจะมองว่ากองทัพอากาศจัดหาแต่เครื่องบินรบจากสหรัฐอเมริกาเพียงชาติเดียว ความจริงแล้วเมื่อก่อนนั้นเครื่องบินขับไล่ที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกานั้นจัดได้ว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะสูงเชื่อถือได้ทั้งการบินการปฏิบัติการรบ ระบบอาวุธ และระบบการส่งกำลังบำรุง ปัจจุบันชาติต่างๆในโลกมีศักยภาพในการสร้างเครื่องบินขับไล่ไม่แพ้สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีนเอง ตรงนี้เองเราก็มามองว่าในขณะนั้นเรามีความต้องการเครื่องบินระดับไหน กองทัพอากาศมีความต้องการเครื่องบินขับไล่ในยุคที่ ๔.๕ ส่วนในยุคที่ ๕ นั้นมันเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็ยังอยู่ในระหว่างการประจำการและการพัฒนาไปพร้อมๆกัน เช่น เครื่องบินแบบ F-22 สำหรับเครื่องบินในยุค ๔.๕ นี้ได้กำหนดคุณลักษณะไว้ ๔ ประการคือ Stealth, Strike-Precision , Stand Off/Fire Forget และ Situation Awareness Network Centric อุปกรณ์เครื่องวัดเป็นแบบดิจิตอล Glass cockpit, เรดาร์ตรวจจับระยะไกลแบบ Active phased array วัสดุพื้นฐานผิวและโครงสร้างเป็นแบบวัสดุผสม Composite แผนแบบด้วยเทคโนโลยีล่องหน (Stealth) ติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางหรือ Network Centric Operations : NCO สามารถติดต่อระหว่างเครื่องบินกับภาคพื้นดิน พื้นน้ำ กับศูนย์บัญชาการ และควบคุม ข้อมูลถูกส่งผ่านได้ตลอดทั่วถึงกันทั้งเครือข่ายในเวลาพร้อมกัน เป็นการทวีอำนาจกำลังรบ (Force multiplier) มีกำลังน้อยเหมือนมีกำลังมาก ตอบสนองต่อการป้องกันประเทศ การป้องกันภัยทางอากาศ การรบร่วมกับหน่วยภาคพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเครื่องบินที่อยู่ในกลุ่มนี้ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 C/D ของสหรัฐฯ เครื่องบินขับไล่ Su-30 ของรัสเซีย เครื่องบินขับไล่ Jas-39 ของสวีเดน และเครื่องบินขับไล่แบบราฟาล ของฝรั่งเศส
กองทัพอากาศได้ตั้งคณะกรรมขึ้นมาพิจารณาในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนเครื่องบิน F-5 B/E โดยคณะกรรมการเหล่านี้จะทำการศึกษาข้อมูลของเครื่องบินแบบต่างๆ โดยละเอียดในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ความต้องการด้านการใช้ปฏิบัติภารกิจ ความเหมาะสมตามสภาพภูมิยุทธศาสตร์ การฝึกอบรม การซ่อมบำรุง การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค อาคารสถานที่ โดยได้กำหนดความต้องการ ของกองทัพอากาศ ออกเป็น ๔ ประการคือ
๑.ต้องมีสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคต มีขีดความสามารถทัดเทียมหรือไม่ด้อยกว่าเครื่องรบที่มีประจำการหรือกำลังนำเข้าประจำการใหม่รอบบ้านของไทย ๒. มีความเหมาะสมตามสภาพภูมิยุทธศาสตร์ในการวางกำลังทางภาคใต้ในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ สามารถสนับสนุนและปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพอื่นตลอดจนคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ๓. เป็นพื้นฐานในการพัฒนากองทัพอากาศในด้านต่างๆต่อไป ทั้งบุคลากรการถ่ายทอดเทคโนโลยีของอากาศยาน การฝึกศึกษา เพื่อให้สามารถดูแลและบำรุงรักษาได้บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยได้รับ Source Code Data ซึ่งหมายถึง รหัสข้อมูลต้นแบบซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของอากาศยาน ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบอาวุธ ระบบการซ่อมบำรุง และอื่นๆจะช่วยให้บุคลากรของกองทัพอากาศได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีต่อไป ในอนาคตได้ด้วยตนเอง
๔. สามารถพัฒนาระบบบัญชาการและควบคุม ตลอดจนระบบควบคุมและแจ้งเตือน ซึ่งเป็น ความต้องการหลักและจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติการทางอากาศ การปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพเพื่อการป้องกันประเทศและคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ซึ่งเครื่องบินที่มีขีดความสามารถที่ต้องการสำหรับเครื่องบินรบในยุคที่ ๔.๕ และราคาเหมาะสมสามารถจัดซื้อได้ตามสภาพงบประมาณของประเทศ มีพิจารณาได้ ๓ แบบ คือ F-16C/D จากสหรัฐฯ , Su-30 MK จากรัสเซีย และJAS-39 C/D Gripen จากสวีเดน กองทัพอากาศได้ทำการศึกษาประเมินค่าเครื่องบินทั้งสามแบบ โดยคณะกรรมการที่กองทัพอากาศตั้งขึ้นนั้น นอกจากจะพิจารณาด้านข้อมูลต่างๆแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเดินทางไปดูงานเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ณ ประเทศผู้ผลิต และนักบินลองเครื่องของกองทัพอากาศ ยังได้ขึ้นทำการทดสอบบินเพื่อประเมินค่าของเครื่องบินขับไล่ทั้งสามแบบด้วย และผลการศึกษาในหลายๆด้านสรุปได้ว่า
Su-30 MK เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีขนาดใหญ่ บรรทุกอาวุธได้มากเหมาะสำหรับการโจมตีข้ามทวีปหรือประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างรัสเซีย จึงมีจุดอ่อนในการตรวจจับได้ง่ายจากระยะไกลเนื่องจากขนาดของเครื่องบิน ต้องจัดซื้อระบบซ่อมบำรุงและอาวุธใหม่ทั้งหมด ต้องเตรียมสร้างอาคารสถานที่ โรงเก็บ โรงซ่อม ซองจอด ใหม่ทั้งหมด การใช้งานมีอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ในเกณฑ์สูงมาก โครงสร้างเครื่องยนต์มีวงรอบการตรวจซ่อมถี่ อาวุธมีอายุสั้น เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน (Life Cycle Cost) อยู่ในเกณฑ์สูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องบินอีกสองแบบ
F-16 C/D เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ขนาดกลาง มีขีดความสามารถด้านปฎิบัติการทางอากาศและโจมตีภาคพื้นดิน อัตราความสิ้นเปลืองอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ระบบการส่งกำลังบำรุงสามารถใช้จาก F-16 A/B ที่กองทัพอากาศใช้งานอยู่ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงมีความคุ้นเคย แต่การซ่อมบำรุงและการใช้งานบางส่วน มีเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายตลอดเวลาการใช้งาน จำกัดด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขีดความสามารถและอาวุธที่ต้องการหากจัดซื้อจะได้เพียงเครื่องบินและขีดความสามารถบางส่วน
JAS-39 C/D Gripen เป็นเครื่องบินที่มีขีดความสามารถเทียบเท่าเครื่องบินในยุค ๔.๕ แบบอื่นๆ ออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันและตอบโต้กับกลุ่มประเทศ Warsaw Pact ในยุคสงครามเย็น ระบบอาวุธและการซ่อมบำรุง ตามมาตรฐาน NATO มีความอ่อนตัว คล่องตัวในการใช้งานและสภาพภูมิประเทศที่จำกัด ข้อเสนอหลักประกอบด้วยเครื่องบินรบ เครื่องบินในระบบบัญชาการและควบคุมพร้อมเทคโนโลยีทั้งระบบของกำลังทางอากาศสมัยใหม่ ให้การถ่ายทอดเทคโนโลยี การซ่อมบำรุง และการฝึกศึกษาด้านเทคโนโลยี
สำหรับรายละเอียดของข่าวแจกล่าสุดมีดังนี้ครับ
คณะรัฐมนตรีมีมติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบิน Gripen 39 C/D
เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Gripen 39 C/D ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๘ ก/ข ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการและครบกำหนดจะปลดประจำการทั้งหมดในปี ๒๕๕๔ โดยมีมติให้กองทัพอากาศก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๕ จัดซื้อเครื่องบิน Gripen 39 C/D ระยะที่ ๑ จำนวน ๖ เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ การฝึกอบรม การปรับปรุงอาคารสถานที่ และการบริหารโครงการ วงเงิน ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยใช้งบประมาณของกองทัพอากาศที่ได้รับการจัดสรรประจำปีตามปกติ และมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยลงนามในข้อตกลงการซื้อขาย (Agreement) ตลอดจนให้กองทัพอากาศรับข้อเสนอพิเศษจากรัฐบาลสวีเดนตามที่กำหนดไว้ในร่างข้อตกลงการซื้อขาย ทั้งนี้พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการ ทหารอากาศ และพลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ เสนาธิการทหารอากาศ เป็นผู้เข้าชี้แจงคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ให้กองทัพอากาศดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๘ ก/ข (F-5 B/E) ตามที่ทราบแล้วนั้น
กองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะกรรมการการจัดซื้อขึ้นโดยมี พลอากาศเอก ไพศาล สีตะบุตร รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน เพื่อจัดทำร่างสัญญาเจรจาต่อรองการจัดซื้อเครื่องบิน Gripen 39 C/D กับผู้แทน รัฐบาลสวีเดน โดยฝ่ายสวีเดนได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหน่วยงาน FMV หรือ Swedish Defense Material Administration (FMV เป็นหน่วยงานขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหมสวีเดน มีหน้าที่ในการจัดเตรียมยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพสวีเดน รวมทั้งการส่งออกยุทธภัณฑ์แก่มิตรประเทศ) เป็นผู้แทนรัฐบาลสวีเดนซึ่งได้ดำเนินการเจรจา และจัดทำร่างข้อตกลงการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว สำหรับเอกสารข้อตกลงการซื้อขาย ครอบคลุมข้อสัญญาและเงื่อนไขเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบเครื่องบิน, การฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่, การส่งกำลังบำรุง และงวดการชำระเงิน ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้รับความร่วมมือจากสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเป็นที่ปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการจัดซื้อ เพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ รัดกุม และ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
สรุปสาระสำคัญในร่างข้อตกลงการซื้อขาย แบ่งเป็น ๒ ส่วน
ส่วนที่ ๑ ข้อเสนอหลัก และการปรับปรุงอาคารสถานที่และการบริหารโครงการ
ประกอบด้วยเครื่องบิน Gripen 39 C/D จำนวน ๖ เครื่อง เป็นเครื่องบินที่นั่งเดี่ยวจำนวน ๒ เครื่อง และที่นั่งคู่จำนวน ๔ เครื่อง พร้อมอุปกรณ์และระบบสนับสนุน การส่งกำลังบำรุง การฝึกอบรม การบริหารโครงการในส่วนที่สวีเดนรับผิดชอบ อุปกรณ์อื่นและการบริการ รวมเป็นเงิน ๑๘,๒๘๔ ล้านบาท
- ๒ - ด้านการปรับปรุงอาคารสถานที่ และการบริหารโครงการประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารสถานที่และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ณ กองบิน ๗ จ.สุราษฎร์ธานี การเดินทางไปฝึกอบรมตามโครงการ และการบริหารโครงการ ในส่วนที่กองทัพอากาศรับผิดชอบ รวมเป็นเงิน ๗๑๖ ล้านบาท รวมงบประมาณการจัดซื้อเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท ตามกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
ส่วนที่ ๒ เป็นข้อเสนอพิเศษจากรัฐบาลสวีเดน โดยกองทัพอากาศจะได้รับมอบเครื่องบิน Saab 340 สำหรับการฝึกจำนวน ๑ เครื่อง และเครื่องบิน Saab 340 ติดตั้งเรดาร์แจ้งเตือนในอากาศแบบ Erieye จำนวน ๑ เครื่อง
พร้อมกันนี้จะได้รับการตอบแทนในลักษณะความร่วมมือทวิภาคี ประกอบด้วย
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศและกองทัพไทยในสาขาต่างๆ ที่ฝ่ายไทยต้องการ
- ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทจำนวน ๙๒ ทุน ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสวีเดน ได้แก่ Royal Institute of Technology Stockholm, Chalmers Technical University in Gothenburg และ Link?ping University ระหว่างปี ๒๕๕๒-๒๕๕๕ และ
- ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ในด้านวิชาการ การลงทุน การผลิตสินค้า และการบริการ ที่จะกำหนดรายละเอียดหลังจากลงนาม ในข้อตกลงการซื้อขายต่อไป
แผนการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ ได้แก่
- การผลิตและส่งมอบเครื่องบินขับไล่ Gripen 39 C/D ใช้ระยะเวลา ๓๖ เดือนหลังจากลงนามในหนังสือข้อตกลงการซื้อขาย
- การฝึกอบรม การส่งมอบอะไหล่และอุปกรณ์ รวมทั้งการเตรียมรับนั้นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน การส่งมอบเครื่องบิน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมในประเทศสวีเดนเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๑ และการส่งมอบอะไหล่และอุปกรณ์เริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๓
- การส่งมอบเครื่องบิน Saab 340 ทั้ง ๒ เครื่อง ดำเนินการได้ในปลายปี ๒๕๕๓
- การส่งมอบเครื่องบิน Gripen 39 C/D ทั้ง ๖ เครื่องจะดำเนินการได้ภายในต้นปี ๒๕๕๔ โดยจะส่งมอบเครื่องบิน ๓ เครื่องแรกในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ และอีก ๓ เครื่องในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อฝึกเพิ่มเติมให้หน่วยบิน มีความพร้อมปฏิบัติการได้ภายในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ สอดคล้องกับแผนการปลดประจำการของเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 ที่สุราษฎร์ธานี
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดซื้อตามโครงการนี้ ได้แก่
- ได้รับเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ จำนวน ๖ เครื่องทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 ทันตามความต้องการ ทางยุทธการ
- ได้รับขีดความสามารถในการตรวจจับอากาศยาน และเป้าหมายภาคพื้นดินและพื้นน้ำ รวมทั้งระบบบัญชาการและควบคุม
- การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสามารถนำมาพัฒนาประเทศต่อไป
- ยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ได้รับในการจัดซื้อตามโครงการนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนกองทัพอากาศและ กองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถเพียงพอ และเท่าทันเทคโนโลยี เพื่อปกป้องอธิปไตย และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และ ความมั่นคงของชาติ ****************************************************************** ข่าวฉบับปรับปรุง...เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๑๐๕
ท้าวทองไหล
ต่อไปนี้ผมเขียนเองแล้วรับ
6 ลำนี้เป็นล็อตแรกครับ อย่างทีเรียนไปตั้งแต่ตอนโน้นว่ากองทัพอากาศกำหนดความต้องการจำนวน 12 ลำ แต่ต้องใช้งบประมาณสูงคือ 38,000 ล้านบาท จึงทำการแบ่งโครงการออกเป็นสองเฟสครับ เพื่อให้มีเครื่องบินเข้าประจำการก่อนจำนวน 6 ลำทดแทน F-5B/E ในฝูงบิน 701 ทั้งหมดอย่างเร่งด่วน ... ทำให้รายละเอียดข้างต้นเป็นรายละเอียดของสัญญาในเฟสแรกเท่านั้นครับ
จากข้อความข้างบนที่ว่า
" - ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ในด้านวิชาการ การลงทุน การผลิตสินค้า และการบริการ ที่จะกำหนดรายละเอียดหลังจากลงนาม ในข้อตกลงการซื้อขายต่อไป"
ในส่วนนี้คือ Gripen Offset Program ครับ ......... Gripen Offset Program เป็นโครงการตอบแทนทางอุตสาหกรรมให้กับชาติลูกค้าที่ทำการจัดหา Gripen ไปใช้งาน โดยกลุ่มบริษัท Saab มีนโยบายที่จะทำการลงทุนในประเทศลูกค้าเป็นมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายไปในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ (ซึ่งในกรณีของไทย ในสัญญาแรกคือ Saab จะต้องเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนที่เท่ากับ หรือมากกว่า 19,000 ล้านบาท) ........ การลงทุนอาจจะมาในรูปของการตั้งโรงงานผลิตสินค้าของกลุ่ม Saab ในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิต การเข้าร่วมลงทุนหรือพัฒนาอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการ หรือการเข้าร่วมลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารของไทย
ซึ่งในกรณีนี้ คงต้องเป็นกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องร่วมกับกระทรวงกลาโหมในการพิจารณาว่า จะให้กลุ่มบริษัท Saab เข้ามาลงทุนในสาขาใด ซึ่งรายละเอียดจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป และเราน่าจะทราบในภายหลังครับเมื่อการเจรจาเสร็จสิ้น
สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นทุนที่ให้กับใคร ซึ่งถ้าอ้างอิงจากข่าวที่ออกมาในช่วงหลายปีก่อน ทุนเหล่านี้จะให้กับนักเรียนนายเรืออากาศไทยไปศึกษาด้านวิศวกรรมอากาศยานและอวกาศในประเทศสวีเดนครับ
ทั้งนี้ เมื่อการเซ็นสัญญาเกิดขึ้น ทาง Swedish Defense Material Administration คงจะมีการเปิดเผยข้อสัญญาอีกครั้งหนึ่งเช่นกันครับ ยังไงต้องลองตามดูครับ
นอกจากนั้นก็คงไม่มีอะไรแล้วล่ะครับ รอเซ็นสัญญาลูกเดียว แล้วจะรู้เองว่าล้มหรือไม่
... ... ...
สุดท้าย อยากจะฝากประโยคอมตะเตือนใจทุกท่านสักนิดว่า
"ตราบใดที่ล้อเครื่องบินยังไม่แตะพื้นเมืองไทย อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้"
Create Date : 11 มกราคม 2551 |
Last Update : 11 มกราคม 2551 7:14:46 น. |
|
12 comments
|
Counter : 1983 Pageviews. |
|
|
|