JAS-39 Gripen: บาร์เตอร์เทรด vs. จ่ายเงินสด
ประเด็นแรก ผมไม่รับคำวิจารณ์และการโต้เถียงทางการเมืองใน Blog นี้ครับ
ถ้ายังจำกันได้ สมัยรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำโครงการการจัดหาอาวุธเป็นภาพรวมในระบบ Package ตั้งแต่ปี 2549 - 2558 โดยเน้นที่การแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรกับอาวุธ
ตอนแรกผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริง แต่เท่าที่เห็น ก็มีความพยายามที่จะทำเช่นกัน และทำให้มีหวังว่ามันจะเป็นจริง กล่าวคือการแลกลำไยกับรถเกราะจากจีน ซึ่งต่อมาสัญญาถูกล้มเลิกเนื่องจากเกิดการทุจริตในโครงการลำใย และไม่สามารถตกลงราคากลางกับจีนได้
แต่เมื่อเข้ามาถึงกรณีบ.ข. 20 หรือเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ของกองทัพอากาศ ผมก็ชักจะไม่เชื่อเหมือนเดิมว่ามันจะเป็นจริง แม้ว่าเราจะเล่นเกมส์จนผู้ผลิตทั้งสามรายต่างยอมรับบาร์เตอร์เทรด ซึ่งเห็นแล้วก็น่าตื่นเต้นและน่าชื่นชม แต่พอมองดูไปในสัญญา กลับพบว่ามีหลายจุดที่ปัญหาอาจจะเกิด เช่น ไก่ไทยจะไปแลกนั้นเป็นจำนวนมหาศาล ถึงราว 5 แสนตัน ไทยต้องตกลงราคากลางกับผู้ผลิต ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากกว่ากรณีการตกลงราคากลางกับจีน เพราะมูลค่าสัญญาสูงกว่ากันเกือบ 5 - 7 เท่า หรือราว 3 - 4 หมื่นล้านบาท อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การส่งมอบเครื่องบินจะกระทำได้ช้า ช้ามาก เช่นสมมุติว่าเราเซ็นสัญญาบาร์เตอร์เทรดในวันนี้ (ปี 2550) เราจะต้องส่งไก่ให้กับผู้ผลิตเพื่อที่ผู้ผลิตจะได้นำไปขายเอาเงินมาจ่ายค่าประกอบเครื่องบินเป็นเวลา 10 ปี และไทยจะได้รับเครื่องบินในช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนการส่งมอบสิ้นสุด...........นั่นหมายความว่าเราจะได้รับเครื่องบินในปี 2558 ....... ทอ.ก็จะต้องใช้งาน F-5B ลำที่เพิ่งปลดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่อไป และมันจะมีอายุ 49 ปีในวันนั้น
เห็นอย่างนี้แล้ว ผมพูดได้เลยว่าไม่เห็นด้วยครับ จริงอยู่ที่รัฐบาลที่แล้วมีเจตนาดีที่น่าชื่นชม ในการที่จะขายสินค้าเกษตรและพัฒนากองทัพไปด้วย แต่ในทางปฏิบัติ มีผู้ผลิตไม่กี่รายที่เต็มใจยอมรับการบาร์เตอร์เทรดเต็มจำนวน อีกทั้งการเจรจายังมีปัญหามาก นอกจากกรณีรถเกราะล้อยางจากจีนแล้ว กรณีการจัดหาเรือรบจากเกาหลีด้วยการแลกเปลี่ยนข้าว ก็ต้องล้มเหลว เพราะไม่สามารถตกลงราคากลางได้เช่นกัน
ในกรณีของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก แต่ก็สามารถเจรจาบาร์เตอร์เทรดกับ Su-30MKM ได้เพียง 1 ใน 3 ของสัญญาเท่านั้น คือราว 300 ล้านเหรียญ
ทีนี่จะทำอย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์?
มีหลายหนทางครับ
- การกำหนด offset
วิธีนี้เป็นวิธีที่กองทัพทั่วโลกใช้ครับ โดยเมื่อกองทัพเหล่านั้นจัดหาอาวุธที่ต้องการแล้ว ในสัญญาการสั่งซื้อจะถูกระบุว่า ประเทศผู้ผลิตจะต้องตอบแทนประเทศที่ซื้อโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี, จัดตั้งสายการผลิตในประเทศนั้น, ลงทุนในประเทศนั้น ๆ ฯลฯ แล้วแต่ว่าประเทศนั้นสนใจจะพัฒนาอะไร เช่นในโครงการ MMRCA ของอินเดีย (ซึ่งผมจะเขียนถึงในโอกาสหน้า) นั้น อินเดียต้องการจัดหาเครื่องบินรบ 126 ลำในสัญญามูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้ผลิตจะต้องตอบแทนโดยการลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นจำนวน 50% หรือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- การใช้วิธีเคาน์เตอร์เทรด
วิธีนี้ต่างจากบาร์เตอร์เทรด (Barter Trade) ครับ เคาน์เตอร์เทรด (Counter Trade) คือการที่ผมซื้อสินค้า A จากคุณด้วยเงินสด และคุณ ก็ต้องซื้อสินค้า B จากผมด้วยเงินสด
วิธีนี้ดีกว่าบาร์เตอร์เทรดอย่างไร? ......... keyword มันอยู่ตรงเงินสดนี่แหละครับ ในเมื่อผมซื้อสินค้าของคุณด้วยเงินสด ซึ่งเงินสดเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูงสุด คุณก็จะสามารถที่จะเอาเงินจำนวนนั้นไปทำอะไรได้ง่ายกว่าผมจ่ายคุณด้วยสินค้า A ของผม ซึ่งคุณก็ต้องเอาสินค้า A ไปขายเพื่อหาเงินสดอีกที ..... กรณีนี้กองทัพบกเคยทำครับ การจัดหาปืนใหญ่ L115 ของกองทัพบกจำนวน 36 กระบอกนั้น กองทัพบกจัดซื้อจาก BAE SYSTEM ด้วยเงินสด แต่ประเทศอังกฤษก็ต้องจัดซื้อสินค้าทางการเกษตรจากไทยด้วยเงินสดเช่นกัน ..... ปัจจุบันปืนนี้มีใช้ในกองทัพบกใช้แล้วครับ โดยกองทัพบกมีความสามารถในการประกอบปืนได้ตามเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดมา รวมถึง BAE SYSTEM ยังต้องสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้ไทยใช้ในโครงการบ้านเอื้ออาทร และจัดสร้างห้องแล็ปการเรียนรู้ให้เด็กไทย (ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว ผมยืนยันได้ เพราะไปเห็นมากับตาที่โรงเรียนเก่า) ..... ทุกคนถือเงินสด แต่ขายของได้เหมือนกัน Happy กว่ากันเยอะเลยครับ
แล้วในกรณี Gripen ล่ะ?
ปกติ กลุ่มบริษัท Saab จะเข้าไปทำการลงทุนในประเทศลูกค้าของ Gripen เป็นมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าที่ชาติลูกค้าจ่ายเป็นค่าเครื่องบิน เช่นในกรณีของฮังการีนั้น Saab เข้าไปลงทุนเป็นมูลค่า 110% ของจำนวนเงิน 1,090 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ฮังการีจ่ายไป ส่วนเช็คนั้น Saab เข้าไปลงทุนถึง 130% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด 1,022 ล้านเหรียญสหรัฐ และในกรณีของแอฟริกาใต้ Saab เข้าไปลงทุนและร่วมทุนกับอุตสาหกรรมทางการทหารของแอฟริกาใต้เป็นจำนวนมาก
ไทยล่ะครับ ........... สัญญาของไทยมีมูลค่า 34 พันล้านบาท ตามเงื่อนไขนี้ Saab จะต้องลงทุนในไทยเป็นจำนวนเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าของสัญญา ถ้าลองสมมุติว่า Saab จะลงทุนในไทยเป็นมูลค่าเท่ากับสัญญาคือ 34 พันล้านบาท ........ เงินจำนวนนี้ ก็จะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเหมือนนักลงทุนต่างชาติทั่วไปที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรา และเงินจำนวน 34 พันล้านบาท เมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย ก็จะสร้างเงินใหม่ขึ้นมาอีก 5 เท่าเหมือนกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอื่น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ นั้นคือ 170,000 ล้านบาทนั้นเอง ..... มันก็จะช่วยสร้างงานให้กับคนไทย เหมือนกับนักลุงทุนต่างชาติอื่น ๆ ทุกประการ ซึ่งเราเรียกโปรแกรมนี้ว่า Industrial Offset หรือการตอบแทนทางอุตสาหกรรม
แต่ในเมื่อ Saab ไม่ใช่บริษัทด้านการเกษตร จึงทำให้ผลประโยชน์อาจจะไม่ได้ตกอยู่กับภาคการเกษตรของเราโดยตรง ซึ่งรัฐบาลอยากจะช่วยเกษตรกรโดยตรง ก็สามารถเจรจาให้รัฐบาลสวีเดนรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากไทยไปเป็นมูลค่าเท่ากับสัญญาของเราคือ 34 พันล้านบาทด้วยเงินสด เงินก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเรา 170,000 ล้านบาทเหมือนกับการรับ Industrial Offset เช่นกัน ..... ซึ่งกระบวนการนี้ใช้วิธีเคาน์เตอร์เทรด
ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะเลือกวิธีไหนครับ ซึ่งไม่ว่าวิธีไหน ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประเทศไทยทั้งสิ้น เพียงแต่ต่างหน้าที่ ต่างลักษณะเท่านั้น ใจจริงผมอยากให้เราเลือก Industrial Offset มากกว่า เพราะเขาจะต้องเข้ามาลงทุนในประเทศของเราอย่างน้อย ๆ ก็ 10 ปี ในจำนวน 10 ปีนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมของไทยได้มากมาย
สำหรับการบาร์เตอร์เทรดนั้น ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ครับ ยังควรที่จะต้องพยายามทำอยู่ แต่ควรทำในกรณีการจัดซื้อที่มีมูลค้าน้อยกว่า เช่นไม่เกิน 1 - 3 พันล้านบาท เป็นต้น ซึ่งทำให้การเจรจาในเงื่อนไขต่าง ๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่ามากครับ
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไม การจัดซื้อครั้งนี้ จึงไม่มีบาร์เตอร์เทรด และแม้ไม่มี ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ครับ
Create Date : 27 พฤศจิกายน 2550 |
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2550 7:19:50 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1987 Pageviews. |
 |
|
|