รู้จัก....ยุทธเวหา 5 ต่อ 21 เหนือนครลำปาง ของกองทัพอากาศไทย
ยุทธเวหาเหนือฟ้าลำปาง....
โดย....พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๗ เวลา ๑๒๒๐ ฝูงบินขับไล่ที่ ๑๖ กองบินน้อยผสมที่ ๘๕ กองบินใหญ่ภาคพายัพ ณ สนามบินพระบาท ของนครลำปาง ร.อ. เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร วีรบุรุษจาก
สงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ละจากงานประจำรีบวิ่งออกจากอาคารที่ทำการฝูงบิน..ไปที่เครื่องบิน
ขับไล่ หมายเลข ๑ ลำตัวสีเขียวของตนเอง ซึ่งจอดอยู่ในสนามหญ้าข้างทางวิ่ง โดยมี ร.ต.คำรบ เปล่งขำ นักบินลูกฝูงวิ่งตามออกไปไม่ห่าง. .มุ่งหน้าไปยังเครื่องบินหมายเลข ๖ ของตนที่จอดอยู่ไม่ไกลกันนัก
พร้อมกับ พ.อ.อ.จุลดิศถ์ เดชกุญชรนักบินชั้นประทวนที่ออกวิ่งตามไปติดๆยังเครื่องหมายเลข ๔ ที่จอดอยู่
ถัดไป...ไม่นานนัก นักบินทั้งสามนายก็พร้อมในที่นั่งนักบินรีบทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ขนาด ๗๑๐ แรงม้า ของเครื่องยนต์ลูกสูบดาวยี่ห้อนากาซิมา แบบ เอชเอ-๑-โอตะสุ ขนาด ๙ กระบอกสูบ และเมื่อเครื่องยนต์
ทำรอบได้มากกว่า ๒,๐๐๐ รอบ ก็มากพอที่จะออกวิ่งไปข้างหน้า พร้อมที่จะยกตัว เครื่องบินขับไล่แบบ
กิ-๒๗ เจ้านกกระจอกเหล็กสีเขียวสัญชาติไทย เชื้อชาติญี่ปุ่นที่มีความยาวเพียง ๗.๕๓ เมตร ให้พ้นพื้น
ขึ้นสู่เวหาอีกครั้งไม่นานนักเครื่องบินขับไล่แบบ กิ-๒๗ เจ้านกกระจอก ของกองทัพอากาศไทยที่มีชื่อเรียก
แบบราชการว่า เครื่องบินแบบ ๑๕ ( บ.ข. ๑๒ ) ทั้งสามเครื่องก็บินมาสมทบกับเครื่องบินหมายเลข ๓ ของพ.อ.อ.วาสน์ สุนทรโกมล และเครื่องหมายเลข ๗ ที่มี จ.อ. ธาดา เบี้ยวไข่มุก เป็นนักบินที่ได้ขึ้นมา
ทำการลาดตระเวณรักษาเขตบนฟ้าอยู่แล้ว ทั้ง ๕ เครื่องบินมุ่งหน้าตามหาเครื่องบินข้าศึกที่กำลังจะเข้ามา โจมตีจังหวัดลำปาง.ในทิศทางที่ได้รับแจ้งทางวิทยุก่อนหน้านี้..ไม่นานนัก..เครื่องบินทั้ง ๕ เครื่อง ก็พบกับ
เครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดียวแบบ พี-๕๑ มัสแตงจากฝูงบินขับไล่ที่ ๒๕ และเครื่องบินขับไล่ ๒เครื่องยนต์ แบบ พี-๓๘ ไลท์นิ่งจากฝูงบินขับไล่ที่ ๔๔๙ กองทัพอากาศที่ ๑๔ แห่งกองกำลังทางอากาศของกองทัพบก
สหรัฐฯ ที่บินขึ้นมาจากสนามบินในประเทศจีนจำนวน ๒๑ เครื่องเหนือนครลำปาง.นักบินไทย ทั้ง ๕ นาย ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและน่านฟ้าไทย....ดังคำขวัญของกองทัพอากาศไทยที่ว่า...
น่านฟ้าไทย จะไม่ให้ใครย่ำยี
แต่ในเวลาเดียวกันนักบินอเมริกันทั้ง ๒๑ นาย น่าจะถือคติ. เกิดมาชาตินี้ ข้าขอรุกรานชาติอื่นตลอดไป ต่างฝ่ายต่างก็ถือคนละคติ.แน่นอนว่าเมื่อความคิดเห็นต่างกันการรบทางอากาศในระยะประชิดของเครื่องบิน
ขับไล่ หรือที่เรียกตามภาษานักบินว่า DOGFIGHT ที่มีจำนวนมากที่สุดของการรบเหนือน่านฟ้าไทย
ย่อมที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้... ยุทธเวหาเหนือฟ้าลำปาง ๕ ต่อ ๒๑ เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเหนือฟ้าลำปาง
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่คนลำปางในวัยเกินกว่า ๕๐ ปีขึ้นไปจดจำภาพเหตุการณ์ที่ประทับใจ.
ในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี...มันเป็นความภาคภูมิใจของกองทัพอากาศไทยและเป็นความประทับใจของชาวลำปาง
ที่มีวีรบุรุษผู้เกิดมาเพื่อเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ..เพื่อปกป้องชาวลำปาง..ให้รอดพ้นจาก.. มัจจุราชเวหา.
.ผู้เกิดมาเพื่อทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า..ตั้งแต่ยังไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ...เสียอีก. เครื่องบิน
ขับไล่ลูกสูบดาว กิ-๒๗ ( Ki-27 ) ผลิตจากโรงงานของบริษัทนากาชิมาในแมนจูเลีย ออกแบบสร้างมาตั้ง
แต่ปี ๒๔๘๐ กองทัพอากาศจัดซื้อเข้าประจำการตั้งแต่ปี ๒๔๘๕ จำนวน ๑๒ เครื่อง เดิมบรรจุในฝูงบิน
ขับไล่รักษาพระนคร..แต่เมื่อทอ.ได้พิจารณาว่าภัยคุกคามจากข้าศึกนั้นมาจากทางเหนือ..จึงส่งเครื่องบินขับไล่ รุ่นนี้มาเสริมทัพให้กับฝูงบินขับไล่ที่ ๑๖ ซึ่งเดิมมีเครื่องบินขับไล่แบบ ฮ็อว์ค ๗๕ บรรจุประจำการอยู่ก่อน
หน้านี้.โดยมีร.อ.ทวี จุลทรัพย์เป็นผู้บังคับฝูงคนแรก(ภายหลังท่านกลับไปเป็น ผู้บังคับฝูงบินรักษาพระนคร )
โอกาสที่เครื่องบินแบบ โอตะ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ซึ่งล้อพับเก็บไม่ได้หรือขาแข็งเช่นเดียวกับ ฮ็อว์ค๗๕
นั้นจะมีชัยชนะ เหนือเครื่องบินขับไล่ลูกสูบวีเครื่องยนต์เดียวที่มีความทันสมัยกว่าแบบ พี-๕๑ ที่ผลิตจาก
โรงงานของบริษัทนอร์ธอเมริกันและเครื่องบินขับไล่สองเครื่องยนต์ พี-๓๘ ผลิตจากโรงงานของบริษัท
ล็อคฮีท ในอเมริกา ที่มีสมรรถนะที่ดีกว่าและยังผลิตออกมาหลังปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ ไปได้แบบไม่ง่าย
เสียแล้ว แน่นอนว่าการบินรวมกลุ่มกันอยู่นั้น เห็นทีจะมีโอกาสชนะยาก . ผู้ฝูงหนุ่ม ร.อ.เฉลิมเกียรติ สั่งลูกหมู่แยกทำการต่อสู้ มี พ.อ.อ.วาสน์ บินตามเครื่องผู้ฝูงไปทางทิศเหนือ เพื่อต่อสู้กับเครื่องบินขับไล่
ข้าศึก ๘เครื่องที่แยกตัวออกมา.ห่ากระสุนที่พวยพุ้งออกจากปากกระบอกปืนของเครื่องบินทั้งสองฝ่ายที่สาด
เข้าหากัน....มันช่างดูน่าตื่นเต้นและน่ากลัวสำหรับผู้คนที่พบเห็นอยู่เบื้องล่างต่อเหตุการณ์รบในวันนั้น....การต่อสู้แบบ
ประชิดตัวได้เริ่มขึ้น..หลายนาทีผ่านไป..ที่ทั้งสองฝ่ายกินกันไม่ลง...และแล้ว...ความจริงที่ว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
...ก็ยังใช้ได้ผลดีเสมอ...เครื่องบินของผู้ฝูงพลาดท่าถูกยิงเข้าที่เครื่องยนต์...หมดโอกาสที่ผู้ฝูงหนุ่ม..จะได้ต่อสู้
ต่อไปต้องนำเครื่องมีสภาพพิการร่อนลงยังสนามบินพระบาทได้สำเร็จ..แต่ก็ต้องถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บสาหัส
ดีที่ ทหารอากาศ ซึ่งรักษาการณ์อยู่ในสนามบิน ช่วยกันนำท่านออกมาจากซากเครื่องบินได้ ก่อนที่ เจ้านกกระจอก..จะถูกสายฟ้าย้อนกลับมาฟาดซ้ำเข้าให้อีกครั้งจนระเบิดสนั่นไปทั่วสนามบิน..
ขณะเดียวกันพ.อ.อ.วาสน์.ต้องใช้ความสามารถที่มีอยู่ต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึกทั้ง ๘เครื่องต่อไป.
.ท่านสามารถฝากรอยแผลไว้ที่เครื่องบินข้าศึก พี - ๕๑ เครื่องหนึ่ง ในภายหลังมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการ
ว่าเจ้าม้าเหล็กมันแวะลงไปนอนในป่าแถวเชียงรายระหว่างเดินทางกลับบ้านอย่างน้อย ๑ เครื่อง.
แต่ไม่นานนัก ก็ต้องถูกเครื่องบินขับไล่ข้าศึกที่เหนือกว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ รุมยิงล้างแค้น..ได้สำเร็จ
เครื่องบินขับไล่ของ พ.อ.อ.วาสน์ เกิดไฟรุกไหม้.ตัดสินใจโดยร่มลงทั้งที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากไฟลวก
หอบร่มชูชีพออกเดินทางไปตามทางเกวียนในเขตตำบลบ่อแฮ้ว ห่างจากจุด เครื่องบินตกราว ๒ กม. ได้อาศัยเกวียนของผู้ใหญ่บ้าน พาไปขึ้นรถยนต์ของกรมทางหลวงเพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม
(แวนแซนด์วูร์ด)จนกระทั่งคืนนั้นเวลาราวสี่ทุ่ม ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตลง ..
ทางด้าน..เครื่องบินขับไล่ของ พ.อ.อ.จุลดิสถ์ เข้าต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก ๔ เครื่อง การต่อสู้บน
เวหาในครั้งนั้นเป็นการต่อสู้ที่แสดงถึงความกล้าหาญ..
เครื่องบินหมายเลข ๔ของ พ.อ.อ.จุลดิสถ์ ถูกยิงได้รับความเสียหายอย่างหนัก แม้จะใช้ยุทธวิธี
การรบต่างๆนานา นักบินได้รับบาดเจ็บสาหัส..จำต้องร่อนลง ที่สนามบินพระบาท หมดโอกาสต่อสู้ต่อไป
อีกคน...ด้านฝ่าย ร.อ.คำรบ เปล่งขำเสืออากาศจากสมรภูมิกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสผู้เคยพิฆาตเครื่องบิน
โมราณของฝรั่งเศสมาแล้ว.ถูกเครื่องบินขับไล่ข้าศึกเข้ารุม จะเพราะด้วยประสบการณ์รบของท่านหรือความ
ซวยของเครื่องบินข้าศึกก็ไม่ทราบได้..ขณะที่เครื่องบินขับไล่มัสแตง๔ เครื่องกำลังไล่ท่านอยู่นั้น..ท่านกดหัว
เครื่องลงอย่างแรงหมายจะสลัดเครื่องบินขับไล่ข้าศึกทั้งสี่ ที่ตามมาทาง ๖ นาฬิกาให้ได้..ช่วงเวลานั้นขณะที่
เครื่องบินขับไล่แบบ พี-๕๑ เครื่องหนึ่ง กดหัวตามมาติดติดหมายจะฝากรอยแผลให้กับท่าน แต่ความที่
สมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ดีกว่าของมัสแตง..มันเองกลับบินแซงหน้านกกระจอกไป..ทาง ๑๒ นาฬิกา..
เจ้าม้าตัวนั้นมันบินเข้ามาอยู่กลางศูนย์เล็งของปืนกลอากาศแบบ๘๙ ขนาด ๗.๗มม.พอดีไม่รอช้า.กดไกปืน
แบบไม่ยั้งมือ.เพราะมันเป็นโอกาสเดียวที่มีอยู่ในวินาทีนี้...กระสุนพุ่งเข้าใส่เครื่องบินขับไล่เคราะห์ร้าย
เครื่องนั้นเหมือนจับวางเข้าอย่างจัง..มัสแตงพลิกตัวตกลงสู่พื้นเบื้องล่างแถวม่อนพญาแซ่ระเบิดสนั่นเขา.
..เครื่องบินข้าศึกที่เหลือฉีกตัวหลบออกเพราะอยู่ในท่าบินที่เสียเปรียบเครื่องบินไทยใจเด็ดเครื่องนี้.ร.ต.คำรบ
ได้โอกาสเลี้ยวเครื่องบินขับไล่ที่ได้รับความเสียหายของตน..มุ่งหน้าเพื่อจะร่อนลงที่สนามบินพระบาท..ท่านเหลือบไปเห็น หมู่บิน พี-๓๘ บินอยู่ไม่ไกลแนวร่อนของสนามบินถึง ๔ เครื่อง ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปลงที่สนามบิน
เกาะคา.ซึ่งเป็นที่ตั้งของฝูงบินทิ้งระเบิดที่ ๖๒ ของกองทัพอากาศ.เพราะเครื่องเสียหายมากเกินกว่าที่จะต่อสู้
ต่อไป..ในขณะที่ จ.อ.ธาดา...ต้องนำเครื่องบินร่อนลงกลางทุ่งนาใกล้ถนนสาย ลำปาง - เชียงราย ภายหลัง
ถูกยิงได้รับความเสียหายอย่างหนัก..เช่นกัน ห่างจากสนามบินราว ๙ กม.ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็โชคดี
ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก..บรรดาทหารราบแห่งกองพันทหารราบที่๓๒ ช่วยนำส่งโรงพยาบาลในจังหวัด
ลำปางภายหลังเหตุการณ์ยุทธเวหา ๕ ต่อ ๒๑ เหนือฟ้าลำปาง สิ้นสุดลง กองทัพอากาศไทยได้ประกาศว่า
กองทัพอากาศได้สูญเสียเครื่องบินขับไล่ กิ-๒๗ ทั้งหมด ๕ เครื่อง และนักบินเสียชีวิต ๑ นายบาดเจ็บ ๔นาย
ส่วนเครื่องบินขับไล่ข้าศึก มีทั้งหมด ๒๑ เครื่องนั้น ภายหลังมีคำยืนยันว่าจริงๆแล้วเป็น พี-๕๑ มัสแตง
จากฝูงบินขับไล่ที่ ๒๕ จำนวน ๘ เครื่องและเครื่องบินขับไล่สองเครื่องยนต์แบบ พี-๓๘ ไลท์นิ่ง จากฝูงบิน
ขับไล่ที่ ๔๔๙ กองทัพอากาศที่ ๑๔ แห่งกองกำลังทางอากาศของกองทัพบกสหรัฐฯจำนวน ๙ เครื่อง รวม ๑๗ เครื่อง ฝ่ายสัมพันธมิตรสูญเสียเครื่องบินขับไล่แบบพี-๕๑ จำนวน ๔ เครื่อง ตกที่ลำปาง ๑ เครื่อง ตกที่
พะเยา และเชียงรายแห่งละเครื่อง ที่สหรัฐไทยเดิม อีก ๑ เครื่อง ภายหลังสงครามสหรัฐฯประกาศยอมรับ เพียงว่า ได้สูญเสียเครื่องบินขับไล่แบบ พี -๕๑ จากการรบเพียงเครื่องเดียว
------------------------------------------------
เรืออากาศเอกเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูรได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับช่อชัยพฤกษ์ ประดับเหรียญโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รู้จัก Ki-27
โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
บข.๑๒ กิ ๒๗ โอตะ ( Ki-27 otasu ) ผู้สร้าง.....................บริษัทนากาชิมา ประเทศญี่ปุ่น ( ผลิตจากโรงงานแมนส์ยู ที่เมืองฮาร์บิน ในแมนจูเรีย ) ประเภท...................เครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียว เครื่องยนต์...............ลูกสูบดาว ๙ สูบแบบนากาชิมา เอ็นเอ-๑ ให้กำลัง ๗๑๐ แรงม้า ๑ เครื่อง กางปีก.....................๑๑ .๓๑ เมตร ยาว...........................๗.๕๓ เมตร สูง............................๓.๒๘ เมตร ความเร็วสูงสุด........๔๖๒ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบิน..................๔๐,๑๘๐ ฟุต อาวุธ......................... @.ปืนกลอากาศแบบ ๘๙ ขนาด ๗.๗ มม. จำนวน ๒ กระบอก @ลูกระเบิดขนาด ๒๕ กิโลกรัม ๔ ลูก ประจำการ..................บรรจุประจำการ ใน ทอ. ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘
ประวัติย่อ...................เครื่องบินขับไล่แบบ โอตะเป็นเครื่องบินขับไล่ของกองทัพบกญี่ปุ่นที่มีบทบาทอย่างมากในการรบในช่วงต้นของสงครามในเอเชีย ที่กองทัพของญี่ปุ่นบุกเข้าไปในแมนจูเรียและจีนตามข้อเท็จจริงเครื่อง บินขับไล่แบบนี้บริษัทนากาชิมาผู้สร้างกำหนดแบบเป็น เครื่องบินขับไล่แบบ ๙๗ กองทัพบกญี่ปุ่นกำหนดชื่อเป็น เครื่องบินขับไล่แบบกิ ๒๗ ( Ki -27 )กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบนี้มาจำนวน ๑๒ เครื่อง เป็นเครื่องบินที่ผลิตจากบริษัทนากาชิมาที่ สร้างในโรงงานแมนส์ยู เมืองฮาร์บินในแมนจูเรีย โดยรับมอบเข้าประจำการในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มีการกำหนดชื่อเรียกตามแบบกองทัพอากาศไทยในช่วงสงครามว่า เครื่องบินแบบ ๑๕ ภายหลังสงครามมีการกำหนดชื่อเรียกเครื่องบินใหม่เป็น บข. ๑๒ หรือ เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๒ ในระหว่างสงครามเครื่องบินขับไล่แบบนี้มีชื่อเรียกเล่นๆ อยู่สองชื่อคือ "นกกระจอก" เพราะ เป็นเครื่องบิน บินขับไล่ขนาดเล็กแม้ฐานล้อจะพับเก็บเข้าในลำตัวหรือใต้ปีกไม่ได้ แต่ก็มีความคล่องแคล้วมากในเวลาทำการบินต่อสู้ทางอากาศกับเครื่องบินข้าศึก และอีกชื่อที่ทหารอากาศไทยเรียกเครื่องบินเครื่องนี้ก็คือ "โอตะ" ชื่อนี้น่าจะมาจาก คำว่า "โอตะสุ" ( Otasu ) ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง มีการปรับปรุงหรือดัดแปลงเครื่องบินเครื่องนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างหรือเครื่องยนต์ และแม้แต่ระบบอาวุธ คำนี้หมายถึงการดัดแปลงครั้งที่ ๒ ( ครั้งแรกเรียกว่า "โก" Ko ส่วนครั้งที่สามเรียก "เฮอิ" Hei ) เครื่องบินขับไล่แบบ โอตะ นี้ แรกเริ่มได้บรรจุเข้าประจำการในฝูงบินขับไล่ที่ ๑๖ ในฝูงบินรักษาพระนคร โดยมี เรืออากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้บังคับฝูง อยู่ในสังกัดของกองบินน้อยที่ ๙๕ ( บน. ๙๕ ) ต่อมากองทัพอากาศพิจารณาเห็นว่า กำลังจากกองทัพบกไทย และมหามิตร กำลังรุกขึ้นไปทางเหนือ จำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากกำลังทางอากาศที่เข็มแข็ง จึงส่งฝูงบินโจมตี ฝูงบินทิ้งระเบิด และฝูงบินขับไล่ไปประจำทางภาคเหนือ มีการจัดตั้งกองบินน้อยสนามระหว่างสงครามขึ้นมาที่ ลำปาง เป็นกองบินน้อยผสมที่ ๘๕ ที่เชียงใหม่เป็นกองบินน้อยผสมที่ ๙๐ และกองบินน้อยผสมที่ ๘๐ ที่เชียงราย ในส่วนของเครื่องบินขับไล่แบบ โอตะ บรรจุอยู่ในกองบินน้อยผสมที่ ๘๕ ตั้งเป็นฝูงบินขับไล่ที่ ๑๖ โดยบรรจุเครื่องบินขับไล่จากญี่ป่นแบบ โอตะ และเครื่องบินขับไล่แบบ ฮอว์ค ๗๕ จากสหรัฐฯ เพราะเป็นเครื่องบินที่มีรูปร่าง และสมรรถณะที่ใกล้เคียงกัน วีรกรรมที่สร้างชื่อที่สุดของเครื่องบินขับไล่แบบ โอตะ หรือ เซนโตกิ คือ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ กองทัพอากาศสหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินขับไล่พิสัยบินไกลแบบ พี ๓๘ ไลท์นิ่ง และ พี ๕๑ มัสแตง จำนวน ๒๑ เครื่อง เข้ามาโจมตีสถานีรถไฟตลอดจนเส้นทางรถไฟ และสนามบินทั้งสามแห่งในจังหวัดลำปาง แต่แล้วก็เจอการต่อต้านจากเครื่องบินขับไล่แบบ โอตะ ของกองทัพอากาศไทย จำนวน ๕ เครื่อง ที่บินขึ้นต่อสู้ การรบแบบ ๕ ต่อ ๒๑ ที่มีขึ้นเหนือท้องฟ้าจังหวัดลำปางซึ่งนักบินฝ่ายไทยประกอบไปด้วย น.ต. เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูล เป็นผู้บังคับฝูง ร.ท.คำรบ เปล่งขำ , พ.อ.อ. จุลดิศถ์ เดชกุญชร , พ.อ.อ.วาสน์ สุนทรโกมล และ จ.อ.ธาดา เบี้ยวไข่มุก เป็นนักบิน การต่อสู้สิ้นสุดลงเมื่อน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ โอตะ ทั้ง ๕ เครื่องถูกยิงตกหมด ในขณะที่ ข้าศึก ถูกยิงตก ๔ เครื่อง ภายหลังการรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพอากาศยังเหลือเครื่องบินขับไล่แบบ โอตะ นี้ เพียง ๒ เครื่องที่ใช้งานได้และบรรจุอยู่ที่ฝูงบินขับไล่พิเศษที่ ๑ กองบินน้อยที่ ๑ ดอนเมือง คือบ้านหลังแรกและหลังสุดท้ายของ โอตะ เพราะในเวลาไม่นาน กองทัพอากาศก็ต้องทำลายเครื่องบินขับไล่ประวัติศาสตร์นี้ทิ้ง เนื่องจากพันธมิตร อย่างสหรัฐฯ มีข้อแม้ว่า หากต้องการปรับปรุงกองทัพอากาศเพื่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังเริ่มเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ จะต้องทำลายอาวุธทุกชนิดที่ผลิตจากญี่ปุ่นทิ้งให้หมดเราจึงไม่มีเครื่องบินแบบนี้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศแม้แต่เครื่องเดียว เครื่องบินแบบ บข. ๑๒ หรือ ชื่อในสมัยสงครามว่า บ.แบบ ๑๕ นี้ มีชื่อ ไทยว่า "นกกระจอก" และ "โอตะ" มีชื่อเรียกตามแบบฝ่ายสัมพันธมิตรว่า "นาเต" หรือ "นาเตะ" ( Nate ) มีชื่อเรียกจากการรบในยุทธภูมิอินเดียว่า "อับดุล" ( Abdul ) นอกจากกองทัพอากาศไทย แล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็มี บรรจุเครื่องบินแบนี้ไว้ในสนามบินหลายแห่งในประเทศไทยด้วย เช่น แม่สอด , แม่สะเรียง , ตาคลี , สงขลา , ปัตตานี , สุราษฎ์ธานี
Create Date : 07 เมษายน 2550 |
Last Update : 7 เมษายน 2550 20:40:21 น. |
|
11 comments
|
Counter : 16968 Pageviews. |
|
|
|
โดย: อ้วนกลม วันที่: 7 เมษายน 2550 เวลา:21:59:33 น. |
|
|
|
โดย: อ้วนกลม วันที่: 7 เมษายน 2550 เวลา:21:59:47 น. |
|
|
|
โดย: Flying T. Tiger IP: 124.121.106.17 วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:23:59:33 น. |
|
|
|
โดย: l2omeo IP: 161.200.255.162 วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:19:04:26 น. |
|
|
|
โดย: คุณอา IP: 61.7.170.55 วันที่: 12 ธันวาคม 2551 เวลา:16:03:43 น. |
|
|
|
โดย: คนลำปาง IP: 222.123.16.35 วันที่: 10 ตุลาคม 2552 เวลา:8:42:31 น. |
|
|
|
โดย: da IP: 124.120.5.122 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:6:12:10 น. |
|
|
|
โดย: yoddel (yoddel19 ) วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:18:43:14 น. |
|
|
|
โดย: clark IP: 202.248.100.162, 64.255.180.85 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:23:58:07 น. |
|
|
|
โดย: paowolf IP: 118.174.117.65 วันที่: 24 ธันวาคม 2558 เวลา:6:16:49 น. |
|
|
|
โดย: Hugh IP: 139.99.104.93 วันที่: 1 มกราคม 2563 เวลา:1:58:42 น. |
|
|
|
|
|
(ถึงแม้ตอนนี้จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงซะเป็นส่วนใหญ่)
ก็เลยแวะมาภาคภูมิในด้วยคน อยากสารภาพว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งรับรู้นะเนี่ย