|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
|
|
|
Type-206A มือสอง 6 ลำ vs. Type-209 มือหนึ่ง 2 ลำ
ถ้าใช้สำนวนฝรั่งก็จะบอกได้ว่า เรือดำน้ำมันเหมือนจอกศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพเรือไทย เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดดราม่าบ่อยมากและถี่มากหลังจากกองทัพเรือไทยปลดประจำการเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำไปตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ... ไทยเป็นประเทศที่สองในเอเชียที่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการต่อจากญี่ปุ่น แต่การจัดหาเรือดำน้ำชุดที่สองกลับกลายเป้นดราม่าไม่รู้จบจริง ๆ
ดราม่ารอบล่าสุดก่อนหน้านี้ คือการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Vestergotland จากสวีเดนที่ถูกยกเลิกไปคราวนั้น แม้บางเหตุผลจะฟังดูไม่สมเหตุสมผลเช่น เรือดำน้ำดำในอ่าวไทยไม่ได้ แต่เหตุผลหลักหลังจากนั้นคือการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 ก็ทำให้การยกเลิกการจัดหาเรือดำน้ำในคราวนั้นต้องถือว่า รัฐบาลตัดสินใจถูกต้อง
มาคราวนี้กองทัพเรือมาแนวใหม่ โดยเริ่มจากการเริ่มตั้งสำนักงานกองเรือดำน้ำขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการมีเรือดำน้ำมาเมื่อหลายปีก่อน ศึกษาเทคโนโลยี ศึกษาโครงสร้างการจัดหา สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนสบโอกาสที่ว่ากองทัพเรือเยอรมันจะทำการปลดประจำการเรือดำน้ำชั้น Type-206A ออกจำนวน 6 ลำพอดี และเริ่มยกระดับสำนักงานกองเรือดำน้ำมาเป็นกองเรือดำน้ำ โดยมีพลเรือตรีเป็นผู้บัญชาการกองเรือ
ในตัวเลือกท้าย ๆ ของเรือดำน้ำของไทยนั้น นอกจาก Type-206A แล้ว ยังมีชื่อของเรือดำน้ำ Type-209 มือสองจากเกาหลี เรือดำน้ำชั้น Song มือสองจากจีน เรือดำน้ำชั้น Amur จากรัสเซีย และเรือดำน้ำชั้น Vestergotland มือสองจากสวีเดนเข้ามาอยู่ในตัวเลือก จากการติดตามข้อมูลพบว่า จีนได้เสนอขายเรือดำน้ำชั้น Song ซึ่งเชื่อว่าเสนอเป็นเรือดำน้ำมือสองในช่วงราว 5 - 6 ปีก่อน และตามมาด้วยเรือรัสเซีย เรือสวีเดน เรือเกาหลี เรือเยอรมัน
ตัวเลือกสองตัวสุดท้ายเมื่อราว 1 ปีก่อนดูเหมือนจะอยู่ที่เรือชั้น Type-206A มือสองของเยอรมันกับเรือชั้น Type-209 มือสองของเกาหลีใต้
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมเรือ Type-209 ของเกาหลีใต้ถึงชื่อคล้าย ๆ กับ Type-206A ของเยอรมันเลย .... ครับ เพราะ Type-209 คือเรือเยอรมันนั่นเอง เนื่องจากเกาหลีใต้ได้สิทธิบัตรในการต่อเรือดำน้ำเยอรมัน รวมถึงสิทธิบัตรในการส่งออกอีกด้วยนั่นเอง ถ้าจะพูดไปก็คือ ทั้งสองตัวเลือกของกองทัพเรือ ล้วนตกมาอยู่ที่เทคโนโลยีของเยอรมันทั้งสิ้น
ทำไมต้องเป็นเยอรมันนี้ผมก็ยังไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้าให้เดาก็คือ กองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือเยอรมันมีสายสัมพันธ์กันมายาวนานมาก ๆ ทุกวันนี้นักเรียนนายเรือไทยจะมีโอกาสไปเรียนที่โรงเรียนนายเรือเยอรมันจนถึงระดับปริญญาโททุกปี และยังมีหลักสูตรการฝึก การแลกเปลี่ยนต่าง ๆ อีกมากระหว่างสองกองทัพเรือนี้
ถ้าจะบอกว่า กองทัพเรือไทยชอบเรือดำน้ำเยอรมันเพราะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเยอรมันก็คงไม่ผิดนัก เพราะเรามีบุคลากรที่จบจากเยอรมันหลายคนในเวลามากกว่าหนึ่งร้อยปี
ในอีกแง่หนึ่ง ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ของเยอรมันดีครับ คงอารมณ์คล้าย ๆ รถเยอรมันนั่นแหละครับ เรือ U ของเยอรมันมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าเรือ U จะไม่ช่วยให้เยอรมันชนะสงครามโลกได้ แต่มันก็สร้างความปั่นป่วนไปได้ทั่วแอตแลนติก
สุดท้าย ถ้าลองสังเกตุดูตัวเลือกแต่ละตัวเลือกที่กองทัพเรือเลือก จะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวเลือกเรือดำน้ำสำหรับการปฏิบัติการในเขตน้ำที่ไม่ลึกนัก Type-206A ของเยอรมันและ Vestergotland ของสวีเดนถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติงานได้ดีในเขตน้ำที่ไม่ลึกนัก (แอตแลนติกเหนือมีระดับความลึกไม่หนีจากอ่าวไทยเท่าไหร่) เช่นเดียวกับ Amur ของรัสเซียที่ถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับ Type-209 ที่แม้มีขนาดใหญ่หน่อยคือ 1,200 ตัน แต่ก็เป็นเรือที่มีพื้นฐานมาจากเรือที่ใช้ปฏิบัติการในเขตน่านน้ำที่ไม่ลึกนัก จะมีก็แต่เรือชั้น Song ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือราว 2,200 ตันแต่ดำน้ำได้ไม่ลึกมากนัก (อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสีย)
ประเด็นสำคัญก็คือ ดูเหมือนทร.ไม่กะจะเอาเรือไปดำน้ำลึกมากมายอะไรอยู่แล้ว
ตรงนี้เอาเป็นว่า คงไม่ต้องพูดถึงตัวเลือกอื่นแล้วกันครับ เอาเฉพาะสองตัวเลือกนี้ก็พอคือ Type-206A มือสองกับ Type-209 มือหนึ่ง
อย่าเพิ่งสงสัยว่าทำไม Type-209 มีทั้งมือหนึ่งและมือสอง เนื่องจาก Type-209 ที่เกาหลีใต้เสนอให้ไทยในครั้งแรกนั้นเป็น Type-209 มือสองที่ประจำการในกองทัพเรือเกาหลีมาราว 15 ปีและจะมีอายุการใช้งานอีก 15 ปี แต่ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีกลาโหมไปเยือนเกาหลีใต้ ข้อเสนอก็เปลี่ยนเป็น Type-209 มือหนึ่งแทน
ส่วน Type-206A นั้น ยังไงก็มือสอง เยอรมันประจำการมา 35 ปี และจะมีอายุการใช้งานอีก 10 ปีครับ
ผมจะไม่พูดถึงประสิทธิภาพของเรือทั้งสองแบบ เนื่องจากผมคิดว่ามันไม่ควรเอาประสิทธิภาพมาเทียบกัน เนื่องจากมันเป็นคนละเรื่องกันเลย ง่าย ๆ ครับ สมมุติวันนี้คุณจะบอกว่า คุณจะไปซื้อ Altis ตัวใหม่ กับ Vios โฉมตัวเก่ามือสอง ให้ลองเทียบดูว่าอะไรดีกว่ากัน ... แบบนี้เทียบกันไม่ได้นะครับ เพราะ Altis กับ Vios ขนาดก็ต่างกันแล้ว อีกอย่าง Altis เป็นมือหนึ่ง Vios เป็นมือสอง มันไม่รู้จะมาเทียบกันตรง ๆ อย่างไร
ดังนั้น ผมว่าประเด็นน่าจะอยู่ที่ต้องคุยกันดีกว่าว่า ทร.ควรมีเรือมีหนึ่งหรือเรือมือสองดีกว่ากัน
กองทัพเรือไทยปลดประจำการเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำแรกไปในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นับจนถึงวันนี้ก็เกือบ 60 ปีพอดีที่กองทัพเรือไทยไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ แม้ว่ากองทัพเรือจะพยายามติดตามเทคโนโลยีเรือดำน้ำและส่งคนไปเรียนหลักสูตรเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากระยะเวลาที่มีช่วงห่างแบบนี้ คงต้องถือว่า กองทัพเรือไม่มีประสบการณ์ในการใช้เรือดำน้ำแล้ว
การไม่มีประสบการณ์ในการใช้เรือดำน้ำมันก็จะคล้าย ๆ กับถ้าผมจะบอกว่า คุณไม่มีประสบการณ์ในการขับรถ ไม่มีประสบการณ์ในการซ่อมรถ ไม่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษารถนั่นเอง มันจะคล้าย ๆ อย่างนั้น
ความจริงมันก็เหมือนอาวุธชนิดอื่นหรืออะไร ๆ ในชีวิตประจำวันของเราทุกอย่างนั้นแหละครับ
ดังนั้น ถ้าไม่มีประสบการณ์ ก็ต้องสร้างประสบการณ์ การจะสร้างประสบการณ์ก็คือการไปลองใช้มัน ในกรณีของรถยนต์ อาจจะเป็นการไปเรียนขับรถ การยืมรถแม่มาขับ ให้พ่อสอนขับรถ จนกว่าจะพอขับเป็นและปล่อยเดี่ยวได้
เรือดำน้ำก็เช่นเดียวกันครับ ในหลายประเทศที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในการใช้เรือดำน้ำมานานเช่นพวกประเทศผู้สร้างเรือดำน้ำทั้งหลายหรือประเทศที่มีเรือดำน้ำใช้มานานต่อเนื่อง มีหลายประเทศมักจะไปเลือกใช้วิธีการซื้อเรือดำน้ำมือสองมาหัดใช้ก่อน ก่อนก้าวไปใช้เรือดำน้ำมือหนึ่งต่อไป
ยกตัวอย่างที่ดีที่สุดคือสิงคโปร์ครับ ในปี 2538 สิงคโปร์จัดหาเรือดำน้ำชั้น Sjoormen ซึ่งเป็นเรือดำน้ำมือสองของกองทัพเรือสวีเดนเข้าประจำการและเปลี่ยนชื่อเป็นเรือดำน้ำชั้น Challenger จำนวน 1 ลำ และจัดหาอีก 3 ลำในปี 2540 ทั้งนี้ Sjoormen ที่มีอายุราว 30 กว่าปีในตอนจัดซื้อถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติการในเขตหนาวของทะเลบอลติก ซึ่งเมื่อสิงคโปร์จัดหามา สิงคโปร์ก็ทำการปรับปรุงเรือให้สามารถปฏิบัติการในเขตร้อนได้ กล่าวคือการปรับปรุงโครงสร้างและระบบให้รองรับอุณหภูมิน้ำในย่านนี้ การติดตั้งระบบทำความเย็น (พูดง่าย ๆ คือติดแอร์) ติดตั้งระบบป้องกันการกัดกร่อนและติดตั้งเครื่องมือป้องกันการเจริญโตบโตของสัตว์น้ำ (พูดง่าย ๆ คือกันเพรียงเกาะ)
สิงคโปร็ใช้งานเรือดำน้ำชั้นนี้อยู่พักใหญ่ จนในปี 2548 สิงคโปร์ได้ลงนามจัดหาเรือชั้น VasterVestergotland ซึ่งเป็นเรือดำน้ำมือสองจากกองทัพเรือสวีเดนจำนวน 2 ลำเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลาที่จัดซื้อนั้นเรือดำน้ำทั้งสองลำมีอายุราว 20 ปี แม้จะเป็นการจัดหาเรือมือสองอีกครั้ง แต่สังเกตุได้ว่าครั้งนี้สิงคโปร์จัดหามาใช้งานแบบจริงจัง เนื่องจากสิงคโปร์สั่งปรับปรุงเรือชั้น VasterVestergotland ครั้งใหญ่โดยการติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้าไปในตัวเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตั้งระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ซึ่งเป็นระบบของเรือดำน้ำสมัยใหม่ที่ช่วยให้เรือดำน้ำสามารถดำน้ำได้นานขึ้นและลดเสียงที่ปล่อยออกไปซึ่งจะเป็นผลให้เรือดำน้ำดำได้เงียบขึ้น เมื่อเรือปรับปรุงเสร็จแล้ว แทบจะพูดได้ว่าเป็นเรือที่เก่าแต่โครง แต่ข้างในนั้นมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากมายเทียบเท่ากับเรือดำน้ำมือหนึ่งโดยสิงคโปร์ตั้งชื่อเรือดำน้ำชั้นนี้ว่าเรือชั้น Archer และเรือทั้งสองลำนี้เข้าประจำการแล้วเมื่อสองปีที่ผ่านมา และคาดว่าต่อไปกองทัพเรือสิงคโปร์น่าจะปลดประจำการเรือชั้น Challenger ลง
ในทันทีที่เรือชั้น Archer เข้าประจำการ สิงโปร์ก็แสดงความสนใจที่จะร่วมกับสวีเดนและนอร์เวย์ในการพัฒนาเรือดำน้ำชั้น A26 ของสวีเดนซึ่งจะมาทดแทนเรือดำน้ำชั้น Vestergotland ของกองทัพเรือสวีเดนและอาจจะรวมถึงเรือชั้น Archer ในอนาคต ซึ่งคาดว่าเรือดำน้ำชั้นใหม่นี้จะเข้าประจำการได้หลังปี 2563 เป็นต้นไป
ลองจำภาพนี้ไว้ดี ๆ นะครับ นี่คือภาพที่น่าจะเกิดขึ้นกับกองทัพเรือไทยถ้ากองทัพเรือไทยจัดหา Type-206A เพียงแต่เมื่อกองทัพเรือไทยใช้งาน Type-206A ไปราว 10 ปี ในตอนนั้นกองทัพเรือไทยอาจจะเลือกจัดหาเรือดำน้ำมือหนึ่งมากกว่าเท่านั้นเอง
กรณีที่อาจจะคล้าย ๆ กันเช่นกันก็คือเวียดนามนั่นเอง โดยเวียดนามจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo จากรัสเซียในปี 2552 จำนวนถึง 6 ลำ ลำแรกมีกำหนดเข้าประจำการในปี 2556 ทั้งนี้เวียดนามจะมีเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Sang-O ซึ่งจัดหาจากเกาหลีเหนือเข้าจำนวน 2 ลำ (ไม่ใช่มือสอง) ประจำการแล้วระยะหนึ่งซึ่งคาดว่าจะปลดประจำการหลังจากได้รับเรือชั้น Kilo เข้าประจำการ และเรือดำน้ำชั้นนี้ก็มีขนาดเล็กคือมีระวางขับน้ำเพียง 370 ตัน (Type-206A มีระวางขับน้ำ 498 ตัน) แต่ระบบอันล้าสมัยของเรือชั้น Sang-O นั้นเทียบไม่ได้เลยกับระบบอันซับซ้อนของเรือ Type-206A
แต่ถ้าจัดหาเรือดำน้ำมือหนึ่งไปเลยล่ะ? หายากเหมือนกันนะครับ เท่าที่ผมนึกดูยังนึกไม่ออกเท่าไหร่ ท่านใดทราบก็บอกกล่าวกันได้ครับ เท่าที่ใกล้เคียงที่สุดคือมาเลเซียที่ลงนามจัดหาเรือดำน้ำชั้น Scorpene จำนวน 2 ลำไปตั้งแต่ปี 2545 และเพิ่งได้รับเรือดำน้ำไปเมื่อปี 2552 เพียงแต่ว่าในระหว่างที่รอรับเรือดำน้ำทั้งสองลำนั้น มาเลเซียก็จัดการเช่าเรือดำน้ำชั้น Agosta มาฝึกใช้งานก่อน
ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ากองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำ Type-209 มือหนึ่งจากเกาหลีใต้จริง ๆ กรณีนี้น่าจะใกล้เคียงที่สุดที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นข้อสรุปคืออะไร?
ผมขออนุญาตแทงกั๊กว่าผมก็ยังสองจิตสองใจอยู่ (อ้าวแล้วพูดมาทำไมตั้งนาน?) ... เพราะว่าทั้งสองอย่างต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง
เช่นการจัดหา Type-206A มือสองมาก่อนแล้วรอไปจัดหามือ 1 อีกทีอีก 10 ปีนั้น ข้อดีคือเราจะได้ฝึกใช้งานเรือดำน้ำอย่างแน่นอนเป็นเวลา 10 ปี โดยมีเรือใช้ฝึกอย่างน้อย 4 - 6 ลำ และเรือ Type-206A ก็เป็นเรือที่มีคุณภาพดี ได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอ ยิ่งการฝึกใช้งานนั้นมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดความผิดพลาด ซึ่งถ้าผิดพลาดไปก็ไม่เสียหายร้ายแรง เพราะมูลค่าเรือตามข้อเสนอของเยอรมันในครั้งนี้ถือว่าถูกมากอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้ามีกรณีใดที่เสียหายไปก็มีความเสียหายไม่มาก แต่ข้อเสียก็คือ ต้องไปลุ้นกันอีกทีในปี 10 ปีว่า กองทัพเรือจะได้รับงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำใหม่หรือไม่? ซึ่งนี่คือความเสี่ยงที่สำคัญ
ถ้ากองทัพเรือจัดหา Type-209 มือหนึ่งจากเกาหลีใต้ ข้อดีก็แน่นอนว่าจะได้เรือที่ทันสมัยเลยในทันที และจะประจำการไปได้อีก 30 ปีโดยไม่ต้องรอลุ้นความเสี่ยงในการจะได้รับหรือไม่ได้รับงบประมาณในการจัดหาใหม่ แต่ข้อเสียก็คือ กองทัพเรือต้องมั่นใจว่าจะสร้างทักษะและฝีมือของกำลังพลในการปฏิบัติงานและซ่อมบำรุงเรือดำน้ำทั้งสองลำได้ทัน อาจจะเป็นการเช่าเรือเก่ามาใช้ฝึกหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะถ้าสร้างทักษะในการใช้งานได้ไม่ดีพอ การปฏิบัติงานก็จะเกิดความเสี่ยงขึ้น
ดังนั้น ผมจะยังไม่สรุปว่าทางเลือกไหนดี เพราะมันเป็นทางเลือกที่ต่างกันไปคนละด้านเหลือเกิน ผมขอรอข้อสรุปของกองทัพเรือพร้อมกับเหตุผลที่กองทัพเรือให้ก่อนว่ากองทัพเรือจะเลือกแนวทางไหน และเหตุผลเป็นอย่างไร ผมถึงจะขอมาพูดอีกครั้งว่าผมเห็นด้วยหรือไม่ แต่ในตอนนี้ ทุกท่านก็ลองนำข้อมูลกลับไปคิดตามความเห็นของแต่ละท่านได้เลยครับว่า ท่านเห็นอย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม
"การฝึก PASSEX ของกองทัพเรือไทยและเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐ"
//www.thaiarmedforce.com/taf-special/69-tafspecial11.html
Create Date : 19 เมษายน 2554 |
Last Update : 20 เมษายน 2554 8:45:22 น. |
|
0 comments
|
Counter : 4922 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
@ จ่อยน้องลิง @
@ จ่อยหัวหอม @
|
|
|
|
|
|
|