Datalink และสงครามเครือข่ายไทย ลืมอะไรไปหรือเปล่า? ภาค 2
ในเรื่องสงครามเครือข่าย (Network Centric Operations) สำหรับกองทัพไทยแล้วยังมีอีกหลายประเด็นครับ เช่นไม่ว่าอย่างไร ตามหลักการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรบแบบเดิมหรือแบบ Network Centric Operations กองบัญชาการกองทัพไทยต้องเป็นผู้สั่งการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าปัญหาสำคัญก็คือ ....
- ใครจะเป็นผู้ปฏิบัติการ? เพราะกองบัญชาการกองทัพไทยอาจจะเห็นหน่วยต่าง ๆ ทั้งหมด แต่ในการสั่งการให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เรามีขั้นตอนการปฏิบัติ (Procedure) หรือหลักนิยมแล้วหรือยังว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะสำหรับ Network Centric Operations ในระดับยุทธศาสตร์หรือในภาพใหญ่ของการทำสงครามในระดับประเทศแล้ว แทบไม่มีคำว่าทบ. ทร. และทอ.แล้วครับ ทุกหน่วยเชื่อมต่อเข้าหากันหมด ตรงนี้ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายเลยนะครับ เพราะต้องอาศัยการประสานงานกันของทั้งสามเหล่าทัพ ซึ่งต้องออกแบบหลักนิยม (Doctrine) และการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกัน
- และหน่วยระหว่างเหล่าต่าง ๆ ในสนามรบเห็นกันได้หรือยัง? ตรงในี้คือในระดับยุทธวิธี (Tactical) ซึ่งมองถึงภาพเล็กกว่าระดับยุทธศาสตร์ (Strategic) แบบข้อแรก ซึ่งทั้งสามเหล่าทัพต้องมอง เพราะแม้ว่าผู้มีอำนาจสั่งการคือกองบัญชาการกองทัพไทยนั้นจะเห็นทุกหน่วยใน สนามรบได้ แต่ถ้าหน่วยในสนามรบนั้นเห็นกันเองไม่ได้ ประโยชน์ของ Network Centric Operations ก็จะหายไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการลดโอกาสในการโจมตีพวกเดิมกันเอง (Blue On Blue) หรือการเพิ่มการรับรู้สถานการณ์รอบตัว (Situation Awareness) และแม้ว่าจะยังสามารถแยกออกได้อยู่ว่าทบ. ทร. และทอ. ควรจะอยู่ตรงไหนอย่างไร แต่ Network Centric Operations จะทำให้การประสานงานของทั้งสามเหล่านั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตรงนี้ถ้าเราประสานงานกันไม่ได้ หรือ "คุย" กันภายใต้หลักการ Network Centric Operations ไม่ได้ แม้แต่ละเหล่าทัพจะมีการใช้หลักการ Network Centric Operations ภายในเหล่าทัพของตนเองได้ดีเพียงไร แต่ในภาพใหญ่ของการปฏิบัติการ ประสิทธิภาพก็จะได้ไม่เต็มที่ครับ
- สายการบังคับบัญชาเป็นอย่างไร? ซึ่งมันจะเป็นส่วนขยายของคำถามข้อแรกครับ เพราะเอาเข้าจริง ถ้าทอ.สั่งได้แต่ทอ. หรือทร. ไม่รับรู้ข้อมูลหรือการสั่งการจากทบ. การปฏิบัติการก็จะยากมากขึ้น หรือแม้แต่ว่าตรงไหนที่หน่วยในพื้นที่การรบจะสั่งการและปฏิบัติการได้เอง ตรงไหนที่ควรจะให้กองบัญชาการกองทัพไทยสั่งการ หรือแม้แต่ว่าการตัดสินใจใช้กำลังต่อสถานการณ์หนึ่ง ๆ นั้นจะใช้เหล่าทัพใด ตรงนี้ชี้ไปที่ประเด็นของสายการบังคับบัญชา (Chain of Command) ว่ามัความชัดเจนหรือยัง เพราะแม้ว่าเราจะมีหลักปฏิบัติของสถานการณ์แบบนี้อยู่แล้ว แต่หลักปฏิบัตินั้นถูกปรับปรุงให้อยู่ภายใต้หลักการของ Network Centric Operations แล้วหรือยัง
Datalink เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเองครับ การมี Datalink ไม่สามารถเรียกได้ว่าเราปฏิบัติการด้วยหลักการของ Network Centric Operations ได้แล้ว แต่มันยังต้องมีองค์ประกอบอีกมากตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคน หลักนิยม ขั้นตอนการปฏิบัติ ไปจนถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ตั้งแต่ภาพการทำสงครามในระดับใหญ่ที่สุดคือในระดับยุทธศาสตร์ไปจนถึงภาพในระดับเล็กที่สุดคือในระดับยุทธวิธีแล้ว Network Centric Operations จะทำให้หลักการของการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพ (Joint Operation) นั้นต้องถูกนำมาใช้มากที่สุด ถูกต้องที่สุด และแม่นยำที่สุด เราเตรียมการตรงนี้แล้วหรือยัง
เพราะใน Network Centric Operations นั้นทุกเหล่าทัพต้องปฏิบัติการภายใต้กรอบกรอบเดียวกัน ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้และก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น Joint Operation คือสิ่งที่ต้องมีครับ แม้ว่าประเทศเราเคยมี Joint Operation มาแล้วหลายครั้ง เช่นในกรณีแผนยุทธการโปน เซน ตงในกรณีการเผาสถานฑูตไทยในกัมพูชา แต่ตรงนั้นเราไม่ได้ใช้ Network Centric Operations เท่านั้นเอง
มันน่าเป็นห่วงครับ แม้แต่การฝึกร่วมกองทัพไทยทำไปทำมาฝึกได้สักช่วงหนึ่งก็กลายเป็นไม่มีงบประมาณฝึกต่อ ไม่มี Joint Operation แล้ว Network Centric Operations ของกองทัพไทยก็เกิดขึ้นไม่ได้ครับ
สำคัญที่สุดของที่สุดก็คือ กองทัพไทยในภาพรวม ตระหนักถึงประโยชน์และความจำเป็นในการเปลี่ยนถ่ายจากภาพของการปฏิบัติการแบบเดิมไปสู่ Network Centric Operations แล้วหรือยัง ลำพังแค่กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้มากนัก ถ้าไม่รวมกองทัพบกและส่วนที่สำคัญที่สุดคือกองบัญชาการกองทัพไทย (ในฐานะผู้สั่งการหลัก) เข้าไว้ในแนวทางการพัฒนาด้วย
เราเพิ่งเริ่ม เท่ากับว่าเราสามารถเรียนรู้ข้อดีหรือความผิดพลาดจากประเทศที่เริ่มก่อนเราไปแล้ว อย่าก้าวซ้ำรอยเท้าเดิมที่ผิดพลาดเลยครับ
Create Date : 10 ธันวาคม 2552 |
Last Update : 10 ธันวาคม 2552 23:08:11 น. |
|
12 comments
|
Counter : 3069 Pageviews. |
|
|
|