Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
31 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 

"อยู่ไฟ" การดูแลสุขภาพหลังคลอด ภูมิปัญญาไทยที่คุณแม่ยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม





เมื่อวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น การคลอดในยุคปัจจุบันจึงไม่เป็นเรื่องยากเหมือนสมัยก่อน บาดแผลที่ช่องคลอดไม่บอบช้ำมากนัก บางคนเลือกวิธีผ่าตัดแทนการเบ่งคลอดแบบธรรมชาติ พักเพียงวันสองวันก็สามารถทำงานได้แล้ว และอาจเพราะความไม่สะดวก ไม่มีเวลา หรือขาดผู้ใหญ่ที่มีความรู้คอยแนะนำก็ตาม คุณแม่จึงละเลยการอยู่ไฟ หรือไม่ทำอย่างจริงจังเหมือนสมัยก่อน


แต่ในระยะหลายปีมานี้ เมื่อการแพทย์แผนไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ภูมิปัญญาเรื่องการอยู่ไฟจึงถูกนำมาปัดฝุ่น มีการค้นคว้าหาประโยชน์ของการอยู่ไฟโดยอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า ความร้อนจากการอบสมุนไพร การประคบร้อน หรือนาบอิฐ นาบหม้อเกลือก็ดี มีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต

ทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น ลดภาวะความรู้สึกหนาวและอ่อนเพลียเนื่องจากเสียเลือดขณะคลอด และเลือดที่ออกมากับน้ำคาวปลา(ซึ่งก็คือน้ำเหลืองที่ซึมออกมาจากบาดแผลนั่นเอง) ช่วยลดความเจ็บปวดขณะมดลูกหดรัดตัวเข้าสู่ภาวะปรกติ หรือที่เรียกว่ามดลูกเข้าอู่ สมุนไพรต่าง ๆ ที่ใช้ในการอยู่ไฟก็มีสรรพคุณทางยาช่วยให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น ลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการคลอด และรักษาอาการบาดเจ็บจากแผลได้อีกทาง


ขั้นตอนการอยู่ไฟ


การอยู่ไฟในปัจจุบันได้ประยุกต์วิธีการบางอย่างให้ทันสมัย สะอาด ปลอดภัยมากขึ้น จะทำได้หลังจากคลอดแบบธรรมชาติแล้ว 7 วัน หรือถ้าคลอดแบบผ่าตัดหน้าท้องต้องรอให้แผลแห้งและติดกันสนิทเสียก่อนประมาณ 30 วัน ไม่เช่นนั้นความร้อนจากการอยู่ไฟจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว แผลอาจปริแตกได้ สำหรับเวลาในการอยู่ไฟนั้นก็แล้วแต่ความสะดวกของคุณแม่ หากไม่มีเวลาอยู่ไฟนานถึง 1 เดือนเหมือนคุณแม่สมัยก่อน ควรทำต่อเนื่องกันอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7 วัน เพราะถือเป็นช่วงพักผ่อนสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่ฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้น ขั้นตอนในการอยู่ไฟมีดังนี้


การอบสมุนไพร
คือการเข้าไปอยู่ในกระโจมที่มีผ้าคลุมมิดชิด ซึ่งในกระโจมจะมีหม้อต้มสมุนไพร วิธีนี้จึงคล้ายกับการอบไอน้ำในห้องซาวน่า เพียงแต่เป็นไอน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพรต่าง ๆ นั่นเอง การทำกระโจมมีหลายแบบ เช่น กระโจมสามเส้า(แบบอินเดียนแดง) หรือกระโจมที่ใช้ไม้ขัดกันเป็นสี่แฉก มัดเชือกตรงกลางแขวนให้สูงจากพื้นแล้วใช้ผ้าคลุมจนรอบ เป็นต้น การอบสมุนไพรเป็นวิธีการที่จะทำให้ร่างกายได้ขับของเสียออกทางผิวหนัง ช่วยขับน้ำคาวปลา กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และยังช่วยทำให้ผิวพรรณสะอาดสดชื่น


สมุนไพรที่นำมาต้ม
นั้นหากใช้สมุนไพรสดจะดีกว่าสมุนไพรตากแห้ง แต่บางชนิดหาแบบสดยาก ดังนั้นจะใช้ทั้งสดและแห้งรวมกันก็ได้ ได้แก่ ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล ใบหนาด ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบและฝักส้มป่อย ผลมะกรูดผ่าซีก ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ใบเปล้าใหญ่ เถาเอ็นอ่อน

การต้มสมุนไพรสมัยนี้ไม่ต้องใช้หม้อต้มบนเตาถ่านให้ยุ่งยาก สามารถใช้กระทะไฟฟ้าหรือหม้อหุงข้างไฟฟ้าที่มีปุ่มปรับระดับอุณหภูมิได้ วิธีการก็คือให้ผู้ที่อยู่ไฟนุ่งผ้าถุงแล้วนั่งบนเก้าอี้ โดยหม้อต้มอยู่ใต้เก้าอี้แต่ต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนเกินไป ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออกให้ออกมาสูดอากาศข้างนอกได้เป็นระยะ แต่ถ้าเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงไม่ควรทำ

การอาบน้ำสมุนไพร
สมุนไพรในหม้อต้มที่เหลือจากการอบในกระโจม สามารถนำมาผสมน้ำอาบได้ โดยผสมให้น้ำอุ่นปานกลางจะช่วยให้รูขุมขนขยาย ตัวยาสมุนไพรจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัว และช่วยขจัดสิ่งหมักหมม คราบเหงื่อไคล และดับกลิ่นคาวของน้ำคาวปลาได้
การนาบอิฐ ความร้อนจากอิฐที่เผาสุกนั้นจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และขับน้ำคาวปลาได้ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดความเมื่อยล้า และเป็นการให้ความร้อนเข้าสู่ร่างกาย ขับความเย็นที่อยู่ในร่างกายออกเพื่อปรับสมดุลสภาวะของร่างกายให้ปรกติ

การนาบอิฐ
จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที วิธีการก็คือ นำอิฐที่เผาได้ที่แล้ววางลงบนใบพลับพลึง(สรรพคุณช่วย รักษาอาการปวดบวม)ที่มีผ้ารองอยู่สำหรับห่อ และป้องกันความร้อนกระทบผิวหนังโดยตรง จากนั้นนำมาวางนาบบริเวณหน้าท้อง หลัง ต้นขา น่องขา สลับไปเรื่อย ๆ โดยเวลานาบต้องเบามือและไม่นาบนาน ไม่อย่างนั้นผิวหนังจะไหม้พองได้

การนาบหม้อเกลือ
บริเวณที่นาบอิฐไม่ได้จะใช้การนาบหม้อเกลือแทน เพราะหม้อเกลือจะมีขนาดเล็กกว่าก้อนอิฐ สามารถเข้าไปในส่วนที่เป็นซอกหลืบได้ เช่น แขน ข้อพับ ต้นคอ ขาพับด้านใน เป็นต้น
นำเกลือไปตั้งไฟให้ร้อนได้ที่แล้วบรรจุลงในหม้อดิน ห่อด้วยใบพลับพลึงและผ้าเช่นเดียวกับอิฐ แล้วนำไปคลึงหรือนาบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ความร้อนจากเกลือจะถ่ายออกมาสู่ร่างกาย ประโยชน์ที่ได้จึงคล้ายกับการนาบอิฐนั่นเอง

การประคบสมุนไพร มีทั้งแบบสดและแบบแห้ง วิธีการคือนำสมุนไพร ได้แก่ ไพล ขมิ้นชัน ใบมะขาม ใบส้มป่อย ผิวมะกรูด การบูร พิมเสน ฯลฯ มาตำละเอียด ห่อรวมกันด้วยผ้าสะอาดแล้วนำไปนึ่งให้ร้อน จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่ปวดเมื่อยหรือเคล็ดขัดยอก ความร้อนจากลูกประคบจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และตัวยาจากสมุนไพรยังซึมเข้าผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ดขัดยอก และลดอาการปวดได้ แต่ต้องระวังเรื่องการไหม้พองของผิวหนังด้วย ถ้าไม่สะดวกที่จะทำลูกประคบเองก็สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป

ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถช่วยให้ร่างกายที่ทรุดโทรมจากการตั้งครรภ์และคลอดลูก กลับมามีสุขภาพดีและดูดีขึ้นอีกครั้ง เป็นความงามตามธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาไทยที่คุณแม่ยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม

กระบวนการในการอยู่ไฟออกจะไม่สะดวกสำหรับทำเอง เพราะคุณแม่อาจยังเจ็บแผลจากการคลอด หรือยังไม่เคยมีประสบการณ์อยู่ไฟมาก่อน ดังนั้นควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและแนะนำวิธีการต่าง ๆ สมัยก่อนมีหมอตำแยหรือญาติผู้ใหญ่คอยดูแลให้ แต่ปัจจุบันมีสถานบริการที่มีบริการแบบจัดส่งทั้งคนดูแลที่เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถึงบ้าน หรือ Delivery ซึ่งจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่เท่านั้น ยังดูแลเรื่องความสวยงามของคุณแม่อีกด้วย เช่น การนวดน้ำมันหอมระเหยตามธาตุเจ้าเรือน เพื่อช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลของร่างกายและผ่อนคลายความเครียด ทั้งยังป้องกันการเกิดสภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอด และช่วยในการบำรุงผิวพรรณไม่ให้แห้งกร้านและดูสดใสอ่อนเยาว์ หรือการขัดผิวด้วยสมุนไพร ช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออก ทำให้ผิวพรรณสดใสไม่หมองคล้ำ เป็นต้น

credit : คอลัมน์ Beauty นิตยสาร Health & Cuisine ปีที่ : 3 ฉบับที่ : 31 เดือน : สิงหาคม




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2554
0 comments
Last Update : 31 ธันวาคม 2554 16:15:54 น.
Counter : 1405 Pageviews.


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.