Datalink และสงครามเครือข่ายไทย ลืมอะไรไปหรือเปล่า?
Credit: //www.fgan.de/fkie/site/drucken_c28_en.html
นโยบายของกองทัพบกและกองทัพอากาศในปี 2553 นั้นมีจุดที่น่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่สองจุดครับ นั่นก็คือ ทั้งสองเหล่าทัพมุ่งไปที่การพัฒนาระบบเครือข่ายการส่งข้อมูลหรือ Datalink เพื่อทำให้กองทัพก้าวไปสู่การปฏิบัติงานภายใต้หลักการสงครามเครือข่าย (Network-Centric Operations) ครับ โดยกองทัพเรือให้ความสำคัญกับการพัฒนา Datalink ไว้เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาเองโดยงานวิจัยของเหล่าทัพ ส่วนกองทัพอากาศนั้นใช้เทคโนโลยีที่ได้จากโครงการจัดหา Gripen ในการร่วมมือกับเอกชนไทยเพื่อพัฒนาระบบ Datalink ในการใช้งานในเหล่าทัพ ส่วนในส่วนของกองทัพบกนั้นยังไม่มีความชัดเจนที่เปิดเผยมามากนักครับ
Network-Centric Operations คือหลักการการทำสงครามสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกำลังรบในส่วนต่าง ๆ ในสนามรบเข้าด้วยกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานะ และสถานการณ์ของตนกับหน่วยอื่น ไปจนถึงการเพิ่มการเชื่อมต่อ การปฏิบัติการร่วมกัน และการสั่งการที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติการเพิ่มสูงขึ้นมาก ตัวอย่างของการปฏิบัติการตามแนวคิด Network-Centric Operations ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือสงครามอ่าวเปอร์เซียร์ครั้งแรก ซึ่งกองกำลังพันธมิตรประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการสูงมาก สามารถลดการสูญเสียทั้งจากข้าศึกและจากการโจมตีฝ่ายเดียวกันเอง (Blue On Blue) แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการได้อย่างมากเมื่อเทียบกับการปฏิบัติการด้วยวิธีเก่า
หัวใจสำคัญของการพัฒนากำลังรบไปสู่ Network-Centric Operations นั้น นอกจากระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่นระบบเรดาร์ ระบบตรวจจับภาครับ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ระบบ Datalink ก็มีความสำคัญมากในฐานะช่องทางในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดคำสั่งต่าง ๆ ระหว่างหน่วยครับ
ความจริงเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้งสองเหล่าทัพมีแนวทางที่ชัดเจนที่จะพัฒนา Datalink โดยเฉพาะพัฒนาด้วยตัวเอง
แต่ปัญหาที่มองดูแล้วตรงนี้เห็นได้ชัดว่า เหล่าทัพแต่ละเหล่าทัพมุ่งพัฒนา Datalink ให้หน่วยแต่ละหน่วยในเหล่าทัพของตน "คุย" กันรู้เรื่อง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า การคุยกันระหว่างเหล่าทัพ จะทำได้อย่างไร?
มันก็เหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์ครับ ถ้าเราใช้คนละ Protocal กัน มันก็คุยกันไม่ได้ แบบที่เครื่องบิน F-22 ไม่สามารถคุยกับเครื่องบินขับไล่หรือหน่วยอื่น ๆ ของกองทัพสหรัฐได้เพราะระบบ Datalink นั้นต่างกัน ดังนั้น แม้ Datalink ของ F-22 จะมีประสิทธิภาพสูงแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทำให้กองทัพสหรัฐต้องเสียเงินอีกจำนวนมากในการบูรณาการณ์ระบบเข้าด้วยกัน
ความจริงในประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มต้นนั้น น่าจะเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำที่จะมานั่งกำหนดมาตราฐานกันว่า กองทัพไทยในภาพรวมซึ่งรวมถึงกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย จะใช้ Datalink มาตราฐานใดเป็นมาตราฐานกลาง อาจจะไม่ต้อง (และไม่ควร) กำหนดว่าจะต้องเป็นยี่ห้อไหนก็ได้ครับ แต่ต้องกำหนดว่าจะต้องใช้ Protocal อะไร มี Layer ไหนบ้าง Interface เป็นยังไง แล้วให้แต่ละเหล่าไปปรับจูนหรือพัฒนา Datalink ของตนให้เข้ากับมาตราฐานที่ถูกกำหนดขึ้น เรื่องนี้คล้าย ๆ กับว่าเรากำหนดว่าทุกคนต้องใช้รถยนต์เบนซิน ขับเคลื่อนสองล้อ และเกียร์ออโต้ แต่เราไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นยี่ห้อโตโยต้าหรือ BMW แค่ให้เข้ากับมาตราฐานนี้ก็พอ
ซึ่งหน่วยงานที่ควรจะเป็นเจ้าภาพก็ควรจะเป็นกองบัญชาการกองทัพไทยครับ
เพราะถ้าเราไม่ทำตรงนี้ การพัฒนา Datalink ของทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นครับ และมันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาและทำให้ระบบควบคุมและสั่งการ (Command and Control: C2) และก้าวไปถึงการสร้างระบบเครือข่ายการควบคุมและบังคับบัญชารวมของกองทัพไทย (Command, Control, Communications, Computers, Intelligence, Surveillance and Reconnaissance: C4ISR) ในที่สุดครับ
คิดหรือยังเอ่ย? หรือแม้แต่ว่า เราเข้าใจ Network-Centric Operations มากน้อยแค่ไหนแล้ว? นี่เป็นคำถามที่ต้องถามเป็นอันดับแรก ก่อนที่กองทัพไทยจะก้าวไปสู่ Network-Centric Operations อย่างแท้จริงครับ
Create Date : 30 พฤศจิกายน 2552 |
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2552 16:07:25 น. |
|
6 comments
|
Counter : 6197 Pageviews. |
|
|
|