พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากการสูญเสีย Huey และ Black Hawk
การค้นหาจบลงแล้วครับ
จากภารกิจผลักดันชมกลุ่มน้อยในพื้นที่ นำมาสู่การตกของ UH-1H พร้อมทหาร 5 นาย และ UH-60L พร้อมทหารและช่างภาพพลเรือน 9 นาย รวมทั้งหมด 14 นาย ถือเป็นความสูญเสียและเป็นอุบัติเหตุทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุดในรอบไม่กี่ปีนี้ของไทย
ในเมื่อพบกับผู้สูญเสียแล้ว หลังจากนี้ พวกนี้คงต้องมานั่งคิดกันแล้วล่ะครับว่า จะป้องกันอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
ตอนการบินไทยจะล้มละลายในตอนนั้นก็คล้าย ๆ แบบนี้ครับ ก่อนหน้านั้นการบินไทยแย่มาก เครื่องบินแย่ บริการแย่ โดสายการบินอื่นแย่งลูกค้าไปหมด แต่ก็ยังไม่ตระหนัก
พอตอนขาดทุนครั้งแรกในรอบ 40 กว่าปี และขาดทุนอย่างหนักถึง 12 บาทต่อหุ้นหรือกว่าสองหมื่นล้านบาท คนการบินไทยเลยเพิ่งคิดได้ แล้วหันมาปรับปรุงการทำงาน มีการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว มีการปรับปรุงบริการ จัดหาเครื่องบินใหม่ที่ประหยัดน้ำมัน ปรับปรุงเครื่องบินเก่าให้ดีขึ้น
แม้ตอนนี้การบินไทยก็ยังไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ น่าจะรอดได้แน่
ผมหวังให้เหตุการณ์นี้เป็นเช่นนั้นกับวงการค้นหาและกู้ภัยของเราเช่นกันครับ
เหตุการณ์นี้คงไม่ใช่ความรับผิดชอบของกองทัพบกแต่เพียงคนเดียว แต่เห็นได้ชัดเลยว่า การค้นหาและภู้ภัยของประเทศไทยต้องได้รับการยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ รวมถึงกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ ด้วย
นี่ยังไม่รวมถึง นิรภัยการบินซึ่งคงจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ เพราะตามสถิติแล้ว แทบไม่มีปีไหนเลยที่อากาศยานของกองทัพทั้งสามไม่ประสบอุบัติเหตุตก
เรื่องนิรภัยการบิน ผมคงไม่แสดงความเห็น เนื่องจากตัวเองนั้นไม่ใช่นักบิน และไม่เชี่ยวชาญเรื่องนิรภัยการบิน คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะทำการสอบสวนสาเหตุและออกกฏระเบียบเพิ่มเติม
แต่สิ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดและพอจะแสดงความเห็นได้ก็คือ การค้นหาและกู้ภัยของไทย
ผมเคยพูดคุยกับพลร่มกู้ภัยหรือ PJ ท่านหนึ่งของกองทัพอากาศ เมื่อครั้งไปช่วยงานถ่ายภาพให้ พี่เขาพูดว่า ถ้านักบินไปโดนยิงตกที่ย่างกุ้งน่ะ พี่ก็ไม่มีปัญญาไปรับหรอก
ทำไม? คำตอบต่อคำถามนี้สามารถตอบต่อคำถามอื่น ๆ ใมสถานการณ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่นักบินถูกยิงตกได้เช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ
1. ประเทศไทยแทบไม่มีอากาศยานสำหรับค้นหาและกู้ภัยโดยเฉพาะเลย UH-1H Huey ที่กองทัพอากาศใช้เป็นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ก็เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการค้นหาและกู้ภัย เพราะนอกจากจะไม่มีเครื่องช่วยเดินอากาศที่เพียบพร้อมแล้ว ฮิวอี้ยังเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีสองใบพัดและมีเครื่องยนต์เดียว กำลังของเครื่องไม่สูงนัก อีกทั้งพิสัยในการบินยังสั้น ทำให้ระยะทางที่บินได้นั้นสั้น และทำให้เวลาในการทำการบินและการปฏิบัติภารกิจในการค้นหาในพื้นที่ที่ต้องการ (Time on Station) ต่ำเกินไป ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการปฏิบัติภารกิจค้นหาและกู้ภัย ซึ่งมักจะต้องการเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางที่มี 2 -3 เครื่องยนต์ เพื่อเพิ่มกำลังของเครื่องและป้องกันข้อผิดพลาดของเครื่องยนต์ (เมื่อเครื่องหนึ่งเสียก็ยังมีอีกเครื่อง) สามารถบรรทุกสัมภาระได้มาก ซึ่งนั้นหมายถึงการบรรทุกเจ้าหน้าที่แพทย์ อุปกรณ์ช่วยเหลือและปฐมพยาบาลไปกับเฮลิคอปเตอร์ได้อย่างครบครัน และสามารถช่วยผู้ประสบภัยขึ้นมาได้มากต่อเที่ยว ที่จะมีประโยชน์ในการช่วยผู้ประสบภถัยที่อยู่กับเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บ เพราะเวลาในช่วงแรกนั้นสำคัญกับความเป็นความตายของผู้บาดเจ็บมากที่สุด
ประเทศไทยเรายังไม่มีเลย เฮลิคอปเตอร์ที่เรามีสำหรับภารกิจกู้ภัยนั้น ล้วนเป็นเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปหรือเฮลิคอปเตอร์ทางยุทธวิธีที่ถูกดัดแปลงมาทั้งสิ้น ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น หรือมีติดตั้งแต่มีไม่ครบ เช่น ระบบค้นหาต่าง ๆ คือ กล้องตรวจจับความร้อนหรือกล้องอินฟาเรดสำหรับการปฏิบัติการในเวลากลางคืน ไฟฉายขนาดใหญ่ ชุดปฐมพยาบาลที่สามารถติดตั้งกับเครื่องได้ เรดาร์ตรวจจับสภาพอากาศ ระบบช่วยเตือนสิ่งกีดขวาง ระบบสื่อสาร
2. นอกจากขาดเฮลิคอปเตอร์แล้ว เรายังขาดอุปกรณ์อื่น ๆ ในการค้นหาและกู้ภัย เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อเกิดเหตุกับอากาศยานขึ้น เรามักจะต้องส่งเครื่องบินที่มีระบบเรดาร์และระบบอินฟาเรดไปค้นหาก่อน เนื่องจากเครื่องบินมีความเร็วสูงกว่าเฮลิคอปเตอร์ เพื่อที่จะได้ค้นหาและระบุตำแหน่งของอากาศยานที่ตกได้ ซึ่งสามารถลดเวลาการบินและการค้นหาของเฮลิคอปเตอร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่บ้านเราไม่มีเลย หรือเครื่องบินที่มีก็ไม่เหมาะสมที่จะมาใช้งานในตรงนี้
3. เราขาดการบูรณาการณ์ระบบการค้นหาและกู้ภัย เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องระดมสรรพกำลังทั้งหมดเข้าค้นหาอากาศยานที่ตก แต่เราจะสังเกตุได้ว่า การค้นหาและกู้ภัยยังขาดการร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เป็นระบบ ขาดการวางแผนประสานงานที่เป็นระบบ ขาดการจำแนกหน้าที่ว่า หน่วยไหนควรจะไปทำอะไร ตรงไหน ที่ไหน โดยใช้อุปกรณ์อะไร จะจัดตั้งศูนย์อำนวยการการกู้ภัยอย่างไร ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเหล่าทัพใดเหล่าทัพหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ กระทรวงทรัพฯ การบินเกษตร และทุกหน่วยงานที่มีอากาศยานใช้งาน ในเหตุการณ์นี้แม้จะมีการประสานร่วมมือในหลายหน่วยงาน แต่ขั้นตอนการปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร
4. เรามีความพร้อมจริงหรือไม่? ทุก ๆ ปีกรมการขนส่งทางอากาศจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการฝึกค้นหาและกู้ภัยอากาศยานและเรือที่ประสบอุบัติเหตุหรือ SAREX ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้วเข้าร่วมชมและสังเกตุการณ์การฝึก SAREX มาตั้งแต่ SAREX 2007-2009 และกำลังเข้าร่วมสังเกตุการณ์ใน SAREX 2011 ในสัปดาห์หน้านี้เช่นกัน แม้ว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนในการเข้ารับการฝึกเนื่องจากไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง แต่จากการสังเกตุก็พบว่า การฝึกนั้นเป็นการฝึกในลักษณะที่คุณ dboy แห่ง TAF พูดไว้ว่าเป็นการฝึกเชิงสาธิต ซึ่งเป็นคล้ายกับการสาธิตหรือแสดงโชว์เท่านั้น เนื่องจกามีการนัดแนะขั้นตอนการปฏิบัติ การจัดลำดับเหตุการณ์ ไปจนถึงการออกแบบสถานการณ์ที่ไม่สมจริงและใช้จริงไม่ได้ในสถานการณ์จริง นี่อาจเป็นคำตอบได้หรือไม่ว่า เมื่อเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น เราจึงยังไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพราะเราไม่เคยฝึกนั่นเอง
นี่เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น เป็นความเห็นที่เป็นมุมมองเฉพาะส่วนที่ตนเองเคยสัมผัส คงยังมีอีกหลายส่วนที่ผมยังไม่เคยสัมผัสและต้องได้รับการแก้ไข
ผมอยากเรียกร้องให้ประเทศไทย ย้ำว่าประเทศไทย ไม่ใช่เพียงกองทัพบก ใช้เหตุการณ์นี้เป็นเสมือนตัวจุดประกายในการปรับปรุงการค้นหาและภู้ภัยของประเทศเราให้มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น แน่นอนมันอาจจะเหมือนวัวหายล้อมคอก แต่ถ้ายิ่งเราไม่ยอมล้อมคอก ก็รับประกันได้เลยว่าจะมีวัวอีกหลายตัวหายอีกแน่นอนในอนาคตครับ
Create Date : 22 กรกฎาคม 2554 |
Last Update : 22 กรกฎาคม 2554 21:16:51 น. |
|
0 comments
|
Counter : 3143 Pageviews. |
|
|
|
|
|