happy memories
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
5 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
แก้รัฐธรรมนูญ (๑)





อาถรรพรัฐธรรมนูญ 'มาตรา ๑๙o'
เปลว สีเงิน


ช่วงนี้ผมออกต่างจังหวัด ภิกขาจารด้วย นำปฏิทินบ้าง โน่น-นี่บ้าง ที่เขาเอามาสวัสดีปีใหม่ไปแจกด้วย โดยเฉพาะปฏิทิน เสียดายครับ ผมใช้อย่างมากก็ ๒ แผ่น ที่ทำงานแผ่น-บ้านแผ่น นอกนั้นรวบรวมใส่ท้ายรถไปตามชายขอบ ไปรอบนี้ได้ปฏิทินห้องเย็น "ดวงใจสมุทร" เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พิมพ์นูนทองสวยงามยิ่ง ๑ กล่อง พอดี๊...พอดี คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้มีความเคารพนับถือกันฉันญาติ ส่งปฏิทิน "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" แผ่นใหญ่มาให้ก่อนเดินทาง ๓ กล่อง ดูจะถูกอก-ถูกใจผู้รับมาก!

หลวงพ่อคูณเวอร์ชั่นนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน มีลายมือท่านเขียนตัวโตๆ "ยิ่งเอา มันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้" กูขอให้ลูกหลานโชคดีปีใหม่-หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"

ทักษิณอยู่ส่วนไหนของจีนล่ะ จะส่งไปให้ซักแผ่น บางที ๒-๓ คำหลวงพ่อคูณนี้ จะฉุดท่านพ้นจาก "หน้าผามรณะ" ที่กำลังหมิ่นเหม่อยู่รอมร่อขณะนี้ก็ได้!

"ยิ่งเอา มันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้" ทักษิณที่เป็นถึงดอกเตอร์ ใคร ๆ ยกย่องว่าฉลาด กลับคิดวาจาทองคำนี้ไม่ได้ และด้วยชีวิตใต้เถนเทวทัต รวยสุดก็ไม่ถึงล้านล้านบาท

แต่หลวงพ่อคูณ ท่านเป็นพระผู้ทรงศีลธรรมดา การศึกษาอาจแค่ ป.๔ ด้วยซ้ำ แต่ท่านกลับเป็นเจ้าของวาจาที่ค่ายิ่งกว่าภูเขาทองคำ และด้วยชีวิต "สละให้หมด" ของท่าน ไม่พูดด้าน ทาน-ศีล-ภาวนา อันหาไม่ได้เลยจากตัวทักษิณ

พูดเฉพาะด้านความรวยเงิน!

ไม่ต้องโกง ไม่ต้องปลุกปั่น ปลุกระดม มอมเมาชาวบ้านให้ล้มชาติ-ล้มสถาบัน ไม่ต้องหนีซมซานเหมือนสุนัขขี้เรื้อน แค่นั่งยอง ๆ อยู่กับที่ หลวงพ่อคูณกลับมีทรัพย์สิน เงินทองไหลมา-เทมาสู่ท่าน นำไปสร้างคน สร้างศาสนวัตถุ สร้างสาธารณประโยชน์ สร้างสาธารณศึกษา ระดับแสนล้านบาท

ทักษิณโกยเอา ยังได้แค่เศรษฐีไทยอันดับ ๑๖

แต่หลวงพ่อคูณโกยออก ถ้าเอาเงินที่ท่านโกยคืนให้สังคมชาติ ก็ไม่ต้องพูดถึงทักษิณให้เป็นเสนียด เฉลียวที่ว่ารวยเอา..รวยเอา อันดับ ๑ ก็ยังไม่รวยเท่าหลวงพ่อคูณ "รวยทาน" อันดับ ๑!

กลับมาถึงประเด็น "ภิกขาจาร" ผมมันเณรเก่า ก็เลยติดคำพระ ที่ว่าไปภิกขาจารน่ะ คือเร่ไปหาอติเรกลาภสุดแต่จะได้มาตุนไว้ น้องนุ่งที่โรงพิมพ์ผมมันกินกัน ๒๔ ชั่วโมง ปีเก่าจะสิ้นแล้ว ก็ต้องไปแสวงหาเสบียงกรังมาตุนเผื่อไว้ปีหน้า พบคุณประเสริฐ กิติเรียงลาภ ที่หน้าพระลาน สระบุรี ก็ได้ข้าวสารหอมมะลิบรรทุกท้ายรถแอ่นกลับมา

ปี ๒๕๕๖ นี่ เสี่ยงทายแล้ว ไทยโพสต์เห็นท่าจะข้าวปลาอาหารและน้ำท่าสมบูรณ์ดี เพราะวันก่อน "ข้าวตราฉัตร" ก็สวัสดีปีใหม่ด้วยข้าวหอมมะลิ "ตราฉัตร" ดังทั่วโลก ส่วนน้ำ คุณจงจิต จากแม่กลอง ก็นำน้ำแร่สวนผึ้งมาให้ดื่มผสมอาบเป็นคันรถ ส่วนน้ำหวาน-น้ำขมนิด ๆ ก็มีมาก จนผมต้องนำส่วนหวานใส่ท้ายรถไปช่วยเผยแพร่ต่อ

ข้าวสารผมมีไม่ถึง ๑๐๐ ถุงยังเกรงว่า เก็บไว้นานคุณมอดจะมาช่วยรับประทาน จึงแจกจ่ายในโรงพิมพ์บ้าง เพื่อนบ้านข้าง ๆ โรงพิมพ์บ้าง เอาไว้แต่พอหุงกิน

แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์คนสวยของผม ล้มตลาดค้าข้าวของไทย เอาเงินหลวงไปกว้านซื้อราคาเหนือตลาด ๑๕,๐๐๐/เกวียน มาเก็บไว้เต็มบ้าน-เต็มเมือง

จุดเทียนเวียนวน "คนน่ะรวย" แต่ที่ซวยคือประเทศ ลงท้ายเสร็จมอด-เสร็จรา อนาคตเป็นที่หวังได้ จะต้อง "ฌาปนกิจทิ้งทั้งโกดัง" ผมอ่านเอกสารนอกราชการ "กินข้าว-กินประเทศ" แล้ว บอกได้คำเดียว ไม่ต้องแก้หรอกยิ่งลักษณ์...รัฐธรรมนูญน่ะ

ป.ป.ช.นัดชี้มูลวันไหน...แผ่สองสลึงได้เลย!

อ่านมติชน เขาลงข่าว ทักษิณโฟนอินมาที่โบนันซ่า เขาใหญ่ อันเป็นแหล่งชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อคืน ๒๓ ธ.ค. ทักษิณโม้ว่า "วันนี้อยู่ที่ปักกิ่ง พบปะผู้นำใหม่ของประเทศจีน หลายคนได้รู้จักกันสมัยเป็นนายกฯ"

ผมอ่านแล้วก็เวทนา หลอกตัวเองยังไม่พอ ยังจะหลอกโลก หลอกสื่อ หลอกสมุนบริวารอีก ระบุชื่อมาซักชื่อซิ "ผู้นำใหม่" ของจีน ที่ทักษิณคุยว่าได้พบปะน่ะ!?

นโยบายภายในของจีน เขา "ตัดหางแม้ว" มานานแล้ว ที่ทำเป็นบินไปจีน ไปพบคนโน้น-คนนี้ ความจริงก็คือ ทักษิณไปปักกิ่งน่ะ...ไปได้ พบคนโน้น-คนนี้น่ะ พบได้ แต่ไม่ใช่ระดับ "ผู้นำใหม่" ของจีนหรอก

แค่ตัวแทน "ระดับสูง" ของรัฐบาลจีนก็ยังไม่มี พูดไปก็เป็นการเปิดโปกลางบ่อน อายสมุนบริวารที่หว่านหลอกไว้เปล่า ๆ เครดิตทักษิณในจีนตอนนี้นะ เอาแค่ผ่าน ตม.จากสนามบินปักกิ่งแล้ว สามารถไปไหน-มาไหนพ้นบริเวณสนามกอล์ฟแถว ๆ สนามบินให้ได้เสียก่อนเถอะ!?

๒-๓ วันก่อน ผมส่องกล้องไมโล-โอวัลตินสโคปไปปักกิ่ง แบงก์ไทยพาณิชย์เขาไปเปิดสาขาที่จีน ในงานกาลาดินเนอร์ มีบิ๊ก ๆ จากเมืองไทย ทั้งระดับเจ้าสัว ระดับเจ้าขุนมูลนายไปกันมากหน้า แต่ทางจีน อย่าว่าแต่ผู้นำใหม่เลยครับ เอาแค่ผู้ตามซักคนก็ยังไม่มี

ทักษิณไป ก็แค่ตะกายอยู่ข้างนอก ออกนอกวงที่เขาขีดให้ได้ซะที่ไหนล่ะ?

จะได้พบกับเจ้าสัว-เจ้าขุนจากไทย นั่นก็คงได้ เพราะคุ้นหน้า-คุ้นอำนาจกัน แต่ก็ต้องไปแถว ๆ สนามกอล์ฟที่จีนเขาขีดเส้นให้อยู่เท่านั้น ที่เอามาเบ่งกล้ามให้เสื้อแดงฟังว่า "ไปพบปะผู้นำใหม่ของจีน"

ฟังแล้ว อ๊ายยยย อายแทน!

แต่ อ้อ...มีอยู่คน "ผู้นำจีน" แต่เป็นผู้นำของทักษิณเขาคนเดียวเท่านั้น ชื่อ "เหยียนปิง" อยู่ในกลุ่มปัวซีไหลที่หัวใกล้ขาด ตอนนี้ถูกกักบริเวณอยู่

นั่นก็คือ ภาพรวมเวลานี้ ทั้งทักษิณ ทั้งเหยียนปิง เป็นบุคคลที่รัฐบาลจีนสนองตอบด้วย "เย็นชา-เมินเฉย"!

เรื่องประชามติแก้รัฐธรรมนูญน่ะ ผมอยากบอกเรา ๆ ท่าน ๆ ว่า ใกล้ปีใหม่แล้ว อะไรที่ถูก-ที่ควรตามกาลเทศะ ก็ปฏิบัติตัว-ปฏิบัติตนไปตามสบาย ไม่ต้องไปเต้น ไปวุ่นวายกับพวกที่ชะตาขาดยังไม่รู้ตัว มัวเมาเขย่าประเทศอยู่ปากเหว-ปากนรกหรอก

ก็จะไปวุ่นกับเขาทำไม ดูรัฐบาล "ฝ่ายผัว-ฝ่ายเมีย-ฝ่ายน้อง" เขาสับขา-สับเขาหลอกกันเองเป็นโศกนาฏกรรมสัตว์การเมืองแห่งปี ๒๕๕๖ ไม่สนุกกว่าหรือ?

ฝ่ายผัว โฟนอินมาทุบโต๊ะ ต้องทำประชามติ ตั้ง ส.ส.ร.แก้ทั้งฉบับ

แต่ฝ่ายเมีย บิ๊กตู่ บิ๊กเหลิม เสริมด้วยบิ๊ก (เจ๊) สด บอกให้เแก้รายมาตรา

ส่วนฝ่ายน้องสาว บิ๊กปู บิ๊กสมชาย และ รมต.นก ๒ หัว กั๊ก..ยังไม่ (ตัดสินใจ) แก้!

แหวกหมอกควันอำนาจยึดประเทศตอนนี้ ทั้งรัฐบาล ทั้งรัฐมนตรี ทั้ง นปช.กำลังระส่ำว่าจะเชื่อฝ่ายไหน และเดินตามฝ่ายไหนดี ในเมื่อคุณผู้หญิงให้เลี้ยวซ้าย คุณผู้ชายให้เลี้ยวขวา และคุณน้องสาวให้ตรงไปข้างหน้า มันก็คงได้เวลา...แบ่งสมบัติกันแล้ว (ละมั้ง?)

ใน ๑ รัฐบาล แต่ ๓ อำนาจขณะนี้ แบ่งเป็น ๒ ขั้ว คือขั้ว "ชินวัตร" ครองอำนาจบริหารประเทศ กับขั้ว "ดามาพงศ์" ที่เริ่มคิดได้ว่า

พรรคก็ของดามาพงศ์ ที่ตั้งพรรคก็ของดามาพงศ์ น้ำ-ไฟ ก็ดามาพงศ์ ค่าส่งเสาไฟเลือกตั้งก็ดามาพงศ์ ถูกด่า ก็จันทร์ส่องหล้าดามาพงศ์ อะไร ๆ ที่ไม่ดี-ไม่เคยได้ ล้วนมาลงที่ดามาพงศ์

แต่อะไรที่ดี-ที่ได้ ไหง "ชินวัตร" กวาดเรียบ!?

เก้าอี้นายกฯ "ชินวัตร" ก็ผูกขาด ตั้งข้าราชการ-ทหาร-ตำรวจ-บอร์ด "ชินวัตร" ก็ผูกขาด จำนำข้าว "ชินวัตร" ก็ผูกขาด ทั้งตลาดการเมือง ตั้งแต่ ๒๕๔๔ ยัน ๒๕๕๕ ไม่มี "ดามาพงศ์" ขึ้นเป็นหงส์ผงาดฟ้า ได้ผูกขาดอะไรบ้างเลยซ้ากกกกคน

เป็นจะอี้ได้จะได๋?

ตู่ก็ไม่เห็นด้วย เหลิมก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้น โฟนอินสั่งการให้เดินหน้าลงประชามติ ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.เขียนใหม่ทั้งฉบับของทักษิณกลางวงเสื้อแดงที่เขาใหญ่เมื่อคืนวันเสาร์ ก็น่าจะถึงเวลาที่ทักษิณควรรู้สึกตัวแล้วว่า

เมื่อ ๒๑/๑๒/๑๒ อันเป็นวันสิ้นโลกผ่านไป อะไร ๆ ที่เคยว่าใช่ ต่อแต่นี้ไป มันไม่เหมือนเดิมในอำนาจสั่งการ นปช.แล้ว!

วิกิพีเดีย เขียนตอนท้ายเรื่อง "จูเลียส ซีซาร์" ว่า....

"ซีซาร์เป็นเผด็จการแต่ก็ไม่เคยเป็นจักรพรรดิ แม้ว่าเขาจะมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนั้น อันเป็นเหตุให้ถูกลอบสังหารในที่สุด คำพูดสุดท้ายของซีซาร์ได้แก่ "เจ้าก็ด้วย ลูกชายของข้า" "

ครับ...ทำให้ผมนึกถึงหน้า บรูตุส หรือ บรูตู่ ขึ้นมาติดหมัด!


จากคอลัมน์ "เปลว สีเงิน คนปลายซอย"
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๔ เม.ย. ๒๕๕๖








"ศาลรัฐธรรมนูญกับระบบเสียงข้างมาก"
ศ.ดร.รรเจิด สิงคะเนติ


ศาลรัฐธรรมนูญในโลกนี้มี ๒ รูปแบบ โมเดลแรกเรียกว่า “ออสเตรียโมเดล” ตั้งขึ้นครั้งแรกที่ออสเตรีย ประมาณปี ค.ศ. ๑๙๒๐ มีหน้าที่หลักคือ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อีกโมเดลเรียกว่า “เยอรมันโมเดล” ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี ๑๙๕๐ มีหน้าที่หลัก คือ

ก. พิทักษ์กติกาเสรีประชาธิปไตย (นิติรัฐ-ประชาธิปไตย)

ข. คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย

ค. ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย

ง. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

บทสรุปของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมาจากบทสรุปที่ว่า “ระบบการปกครองของเยอรมันไม่อาจปล่อยให้เป็นไปตามเสียงข้างมากได้โดยลำพัง” ความหมายคือ เสียงข้างมากนั้นต้องเป็นไปตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และด้วยเหตุนี้เยอรมนีจึงจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมาก

ศาลรัฐธรรมนูญของไทย เป็นศาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันกล่าวคือ มิได้มุ่งหมายให้ทำหน้าที่เพียงการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น หากแต่มุ่งให้ทำหน้าที่ในการพิทักษ์กติกาของเสรีประชาธิปไตย คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน

ทั้งนี้เพราะทั้งไทยและเยอรมนีต่างใช้ “ระบบรัฐสภา” ซึ่งระบบรัฐสภาเองย่อมมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง กล่าวคือ ฝ่ายข้างน้อยในสภาอย่างไรเสียก็ไม่สามารถถ่วงดุลต่อฝ่ายข้างมากได้ ด้วยเหตุนี้เอง การกระทำในรูปกฎหมายทั้งหลายจึงออกแบบให้ฝ่ายข้างน้อยสามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของฝ่ายข้างมากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

กล่าวเฉพาะกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญไทยและเยอรมันมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ รัฐสภาจะแก้ไขไปกระทบหลักการพื้นฐานไม่ได้ ซึ่งเรียกว่า “หลักการชั่วนิรันดร” สำหรับของเยอรมันมี ๒ หลักการ คือ หลักแก้ไขไปกระทบหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับ “รัฐ”ไม่สามารถกระทำได้

เช่นเดียวกับ มาตรา ๒๙๑ (๑) ของรัฐธรรมนูญไทย รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กระทบกับ รูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิอาจกระทำได้ และเช่นเดียวกันของศาลรัฐธรรมนูญไทยและเยอรมันมิได้เขียนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบอำนาจของรัฐสภาในเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่รัฐธรรมนูญเยอรมันนั้น เขียนบนพื้นฐานที่เขาต้องการถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมาก

ดังนั้น รัฐธรรมนูญเยอรมันจึงเขียนช่องทางให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือส่วนหนึ่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่มีสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้กรณีที่เห็นว่าการกระทำใดเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐธรรมนูญไทยมิได้เขียนบนพื้นฐานดังกล่าวมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปให้ประธานรัฐสภา

นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”ตามมาตรา ๒๑๔ ในกรณีที่เป็นองค์กรกลุ่มของไทยมีการตีความว่าจะต้องอาศัยเสียงข้างมาก ดังนั้นมาตรา ๒๑๔ ของไทย จึงไม่สามารถใช้เพื่อถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมากได้

กล่าวโดยสรุป การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิทธิในการยื่นเรื่องตามมาตรา ๖๘ หมายรวมถึงสิทธิของประชาชนที่จะยื่นต่อศาลโดยตรงได้นั้นย่อมมีนัยที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาควบคุมตรวจสอบอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไปกระทบกับหลักการตามมาตรา ๒๙๑ (๑) คือ รูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ อำนาจเช่นนี้ย่อมเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะรัฐสภานั้นมี ๒ ฐานะ กล่าวคือ ฐานะที่ตรากฎหมายธรรมดาก็ผูกพันกับรัฐธรรมนูญแบบหนึ่งรัฐสภาในฐานะที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันกับรัฐธรรมนูญอีกรูปแบบหนึ่ง

ทั้งสองรูปแบบล้วนถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศไทยมิได้ถือ“หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา” หากแต่ถือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น การใช้การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การเข้ามาปกป้องหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเพื่อถ่วงดุลกับ “ระบบเสียงข้างมาก” จึงเป็นการตีความที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ “หลักการชั่วนิรันดร” หรือหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดตามมาตรา ๒๙๑(๑) ของรัฐธรรมนูญไทยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ มิเช่นนั้น ๒ หลักการดังกล่าวก็จะตกอยู่ในเงื้อมมือของระบบเสียงข้างมากโดยลำพัง


จากบทความพิเศษ นสพ.ไทยโพสต์ ๒๕ เม.ย. ๒๕๕๖








"รัฐธรรมนูญฉบับมัดมือชก"
เกียรติ สิทธิอมร


นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ก Kiat Sittheeamorn เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าเป็นการแก้ไขที่ขาดวิญญาณประชาธิปไตยโดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๕o โดยอ้างว่าเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นนั้น เหมือนจะเป็นแค่ถ้อยคำที่สวยหรูดูดีครับ แต่ข้อเท็จจริงก็คือเนื้อหาที่รัฐบาลแก้ไขในหลายมาตรา ยังมีเครื่องหมายคำถามและกังขาว่าจะมีวาระซ่อนเร้น หมกเม็ด อะไรเอาไว้หรือไม่??

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ มีการแก้สาระสำคัญของมาตรา ๑๙o ให้ผิดแผกไปจากเจตนารมย์เดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕o ที่ต้องการให้การทำพันธสัญญาที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรืออธิปไตยในพื้นที่นอกอาณาเขต รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณ ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน เพื่อสร้างความโปร่งใส ไม่ใช่ปกปิดข้อมูล มุบมิบ เหมือนที่ผ่านๆมา

ข้ออ้างที่ฝ่ายรัฐบาลยกขึ้นมา คือมาตรา ๑๙o ก่อให้เกิดผลเสียในทางปฏิบัติ ฝ่ายบริหาร ทำงานไม่สะดวก ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้า เพราะข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไปเจรจาความมา ไม่ว่าจะเป็น เอฟทีเอ หรือเขตการค้าเสรีต่างๆ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

จริงๆแล้วผมคิดว่า การนำข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ มาเปิดเผย ขออนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนถือเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ดีมากครับ ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างมีกฎหมายที่ออกมาในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ข้อผูกพันต่างๆต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น และทุกประเทศไม่เคยมีปัญหาร้ายแรง อย่างที่รัฐบาลนี้กล่าวอ้างมาเลยครับ

ตรงกันข้าม กระบวนการดังกล่าว กลับเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายบริหารด้วยซ้ำไป เพราะกรอบความตกลงต่าง ๆ ได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นกระบวนการที่สร้างความชัดเจนและหนักแน่นให้การเจรจาระหว่างประเทศมีน้ำหนักมากขึ้น

หน่วนงานที่รับผิดชอบก็สามารถอธิบายต่อคู่เจรจาได้ถึงที่มา ที่ไป เหตุผลและความจำเป็นในการปรับปรุงหรือคงไว้ในเนื้อหาของข้อตกลง ว่าเกิดจากความเห็นของตัวแทนคนไทย ไม่โอนเอนหรือแก้ไขไปตามแรงกดดันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

อีกประเด็นสำคัญคือรัฐบาลพยายามตัดเงื่อนไขการทำหนังสือสัญญาที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อ "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ว่าไม่ต้องเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับและมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศอย่างมหาศาล

โดยเฉพาะเรื่องของ "พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ที่เคยเป็นข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้หรือบุคคลที่อยู่นอกประเทศ มีการเจรจากับผู้นำรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ในการทำข้อตกลงร่วมกัน และเตรียมให้สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลด้านอ่าวไทย ซึ่งมีทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซและน้ำมันแก่บริษัทข้ามชาติที่กำลังจ้องตาเป็นมัน

ถ้าแก้ไขมาตรา ๑๙o ได้เมื่อไหร่ เท่ากับว่าข้อตกลงในการให้สัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ยังมีข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง จะไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยรัฐสภา เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารแบบเบ็ดเสร็จ ไร้รอยต่อจริง ๆ ผลประโยชน์มหาศาลที่คนไทยควรได้รับ อาจถูกปกปิด ซ่อนเร้น ขาดความโปร่งใส แฝงไปด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว และผลประโยชน์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้องทันที

ที่ผ่านมาในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลในปี ๒๕๕๔ เราได้เห็นความสำคัญของเจตนารมย์ของมาตรา ๑๙o และพยายามสร้างความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ปัญหาการ "ตีความ" ว่าหนังสือสัญญาใดจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามาตรา ๑๙o บ้าง

รวมทั้งกำหนดให้มีการช่วยเหลือ เยียวยาแก่ผู้ประกอบการรายย่อย จากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาและความตกลงต่าง ๆ เช่น การลดภาษีตามกรอบเอฟทีเอ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น รัฐบาลจึง ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ชาวนา หรือประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลชุดนี้มาบริหารประเทศ ยังไม่พบว่าพยายามผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับเร่งรัดให้มีการแก้ไขสาระสำคัญของมาตรา ๑๙o แบบข้ามขั้นตอนอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริงแล้ว มาตรานี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ แต่อาจเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายอื่น ๆ ของรัฐบาล ก็เป็นสิ่งที่สังคมคงต้องช่วยกันติดตามและตรวจสอบ

อีกตัวอย่างของความไม่น่าไว้วางใจก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ที่เป็นการริดรอนสิทธิในการพิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๕o กำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยผู้กระทำความผิดมีโทษรุนแรงถึงขั้นถูกยุบพรรคการเมือง แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่... พ.ศ....ของรัฐบาล ให้ทำได้เฉพาะการยื่นเรื่องร้องผ่าน "อัยการสูงสุด" เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ส่วนอัยการจะมีความเห็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่จะคาดเดา

คำถามก็คือว่า อัยการเป็นหน่วยงานรัฐ ที่กลุ่มผลประโยชน์สามารถเข้าถึงได้หรือไม่และสามารถเป็นที่พึ่งทางกฎหมายให้กับประชาชน ในกรณีต่าง ๆ รวมทั้งการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้จริงหรือไม่ ทำไมคดีอาญา ประชาชาสามารถแต่งตั้งทนายฟ้องคดีเองได้ ถ้าตำรวจอัยการไม่สั่งฟ้อง วานผู้อ่านนำไปขบคิดต่อครับ

อีกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลกำลังจะ "ปูทาง" ไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการแก้ไขมาตรา ๒๙๑ เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ ส.ส.ร.ขึ้น โดยอ้างว่าส.ส.ร.ชุดใหม่นี้ จะมาจากการเลือกตั้งของคนไทยทั่วประเทศ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาในรูปแบบใดก็ได้ เช่น อาจมีการล้มองค์กรอิสระที่ตรวจสอบคดีทุจริตในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อเปิดทางไปสู่การนิรโทษกรรมคนโกงบ้านโกงเมืองก็ทำได้

โดยที่ประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดิน รักความยุติธรรม เกลียดชังการคอรัปชั่น ไม่สามารถเรียกร้องหรือมีสิทธิคัดค้านตามช่องทางกฎหมายผ่านองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ถือเป็นการริดรอนสิทธิพื้นฐานของประชาชน โดยการใช้เสียงข้างมากในสภา "มัดมือชก" ให้ประชาชนต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐบาลแก้ไขเท่านั้น

นี่หรือคือความเป็นประชาธิปไตย นี่หรือความ "โปร่งใส" ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้น โดยผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและอ้างประชาธิปไตยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับการกระทำของฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงธาตุแท้ และจิตวิญญาณของความ(ไม่) เป็นประชาธิปไตยของคนเหล่านี้


จากคอลัมน์ "สปอตไลต์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๒ เม.ย. ๒๕๕๖









"ทุกอย่างเข้าทางทักษิณ"
ศรุติ ศรุตา


เรียกได้ว่า มาเป็นขั้นเป็นตอนกันเลยทีเดียว สำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เดิมนั้นยื่นมาจ่อคิวที่สภาไว้แล้ว

แม้จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ แต่ก็ไม่ได้นอกเหนือจากการคาดการณ์ไปก่อนหน้านี้

อาศัยจังหวะชุลมุนฝุ่นตลบ

เดินหมากหลายกระดาน เพื่อให้เกิดความสับสน จากกฎหมายกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท ไปแล้ว ก็มาเจอเข้ากับเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดูแล้วไม่น่าจะแก้เพื่อให้ใครได้ประโยชน์ แต่เป็นการแก้เพื่อแสดงให้เห็นว่า อำนาจตุลาการนั้น หากนิติบัญญัติที่มีเสียงเด็ดขาดต้องการจะเพิ่มหรือจะลดก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมมือถึง

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้ตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ให้ผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดเสียก่อน

จากนั้นก็เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยทั้งประเทศกำลังร้อนจัด ก็เริงร่าไปกับมหาสงกรานต์ จนลืมคิดถึงเรื่องความขัดแย้งและสิ่งที่จะไปเร่งกระแสความขัดแย้งไปเสียสิ้น

แล้วก็เป็นจังหวะเดียวกับเรื่องของชาติบ้านเมืองกำลังมีการพิจารณาในศาลโลก

กรณีเขาพระวิหารนั้น ไม่ใช่แค่คนไทย รวม ๆ หากจะพูดให้ชัดเจนก็คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยกพลไปเตรียมเคลื่อนไหวกันที่ภูมิซรอล จ.ศรีสะเกษ กันแล้ว

สัญญาณที่ส่งมาชัดเจนว่า หากศาลโลกตัดสินให้ไทยต้องเสียดินแดนรอบตัวปราสาทพระวิหารเพิ่ม เป็นเกิดเรื่องแน่

ก็เลยเป็นจังหวะดีที่จะเร่งขับเคลื่อนให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้มีการพิจารณาในสภา ดังที่กลุ่ม ๔๒ ส.ส.เพื่อไทยเตรียมจะลุยหลังสงกรานต์นี้

อ้างแค่ว่า เพื่อคนเสื้อแดงที่ยังถูกจองจำอยู่จะได้มีอิสระ !

แต่เนื้อหาร่างกฎหมายก็เป็นที่รู้กันว่า มีใครที่ได้ไปแบบเต็มๆ

ขณะที่ผู้ใหญ่อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็อาศัยช่วงเทศกาลสงกรานต์เล่นบทอ่อนน้อมถ่อมตน ออกปากขอขมาลาโทษผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ได้เคยล่วงเกินมาก่อนหน้านี้

"ผมอยู่ต่างประเทศก็สบายดีครับ แต่ก็มีเหงาคิดถึงบ้านบ้าง เกือบ ๗ ปีแล้ว ก็เริ่มชิน ๆ บ้างครับ วันสงกรานต์ก็จะคิดถึงบ้านเกิดเป็นพิเศษครับ เพราะโตมากับสิ่งแวดล้อมและประเพณีแบบนี้ ผมก็ถือโอกาสนี้เช่นกัน ขอขมาลาโทษกับผู้อาวุโสทั้งหลายที่ผมเคยล่วงเกินทั้งกายกรรมและวจีกรรม และผมขอให้อภัยกับผู้ที่เคยล่วงเกินผมทั้งกายกรรมและวจีกรรม มา ณ ที่นี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก็เพราะผมเป็นคนพุทธ เติบโตมาในประเพณีคนเมืองเหนือ จึงมีความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ครับ"

เรียกได้ว่า งานนี้ครบเครื่อง

มีทั้งฐานเสียงกำลังพล มีทั้ง "มือ" ในสภา แล้วก็มีทั้งการออดอ้อนร้องขอความเห็นใจ

แผนก็คือ ถ้าหาก ๑๘ เมษายนนี้ ยังมีกระแสต้าน ก็ให้เลื่อนและรวมทุกร่างมาจ่อไว้สำหรับวาระแรกของสมัยประชุมหน้า ถ้าหากวาระ ๓ โหวตไม่ทัน ก็อาจให้เปิดสภาสมัยวิสามัญโหวตกันไปเลย

แต่ถ้า ๑๘ เมษายน เสียงค้านเงียบกริบ ก็เข้าสภาพักไว้ ๑ วัน แล้วจัดการวาระแรกให้จบไป

ถามว่า ง่ายขนาดนี้ ทำไมไม่ออกเป็นพระราชกำหนดไปเลย คำตอบก็คือ ผู้เป็นน้องสาวไม่เอาด้วย

ยืนกรานว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล

ก็เลยกลายเป็นที่มาว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ตอบสื่อตอบสาธารณะไปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว

ขณะที่ฝ่ายตรงกันข้ามนั้น ยังรวมกันไม่ติด กลุ่มพันธมิตรก็แบ่งกำลังไปภูมิซรอล กลุ่ม เสธ.อ้าย ก็แทบไม่มีกำลังแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มพันธมิตร

หันไปมองพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ยังมีรอยร้าวจนยากที่จะหาพลังมาขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซ้ำยังต่อกับกลุ่มพันธมิตรไม่ติด แถมยังมีกระแสข่าวว่า บางคนนั้นถึงขั้นผีไม่เผา เงาไม่เหยียบกันเลย

ทั้งที่ความจริง ประชาธิปัตย์มีมวลชน เพียงแต่แกนนำและเทคนิคยังเทียบชั้นกลุ่มพันธมิตรไม่ได้ เมื่อรวมไม่ได้ ต่อไม่ติด ก็ไร้พลังที่จะไปต้าน

ขณะที่กองทัพนั้น แม้จะมีการจัดระเบียบจัดองคาพยพใหม่ไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ยากจะหาประเด็นมากดดันฝ่ายการเมืองยากเต็มทน

จะอ้างถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะเข้าข่าย "หาเรื่อง" เสียมากกว่า

ยกเว้นว่า มวลชนสองฝ่ายปะทะกันจนเสียเลือดเสียเนื้อนั่นแหละ "ยักษ์เขียว" ถึงจะขยับตัว

ประเมินทุกทิศทางแล้ว ทั้งกระแส ทั้งจังหวะ ทั้งศัตรู รวมทั้งมีบททดสอบไปหลายอย่างในก่อนหน้านี้ ปลายสมัยประชุมสภานี้จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมมากที่สุด

ถึงแม้จะมีตุลาการเตือนในก่อนหน้านี้ว่า การใช้เสียงข้างมากลากถูไป โดยที่ไม่คำนึงถึงเสียงข้างน้อยนั้น จะนำไปสู่ความเสียหายของบ้านเมือง แต่ในเมื่อจังหวะมันเหมาะสมเช่นนี้จะละทิ้งไปได้อย่างไร

๗ ปีที่ผ่านไป สำหรับคนคนหนึ่งที่มีโอกาสมากกว่าใครหลายล้านคน แต่กลับไม่มีโอกาสเดินทางกลับบ้านนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไปได้ง่าย ๆ

ที่สำคัญความเห็นของตุลาการ ต่อให้มีพลังต่อความคิดของผู้คนในบ้านเมืองนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปสู่การปลุกเร้าให้มวลชนลุกขึ้นต่อต้านการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้

ขนาดกฎหมายกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท ที่ผ่านสภาไปโดยที่คนฟังยังนั่งงงจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่เห็นมีปฏิกิริยาอะไรจากมวลชน

ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า สุดท้ายแล้วต้องเอาเงินภาษีไปใช้หนี้รวมแล้วกว่า ๕ ล้านล้านบาท

บางคนเห็นดีเห็นงามทั้งที่ไม่รู้รายละเอียดของการใช้เงินเสียด้วยซ้ำไป

บททดสอบเหล่านี้นี่เองที่นำมาซึ่งการตัดสินใจ "เร่งเครื่อง" เอาในช่วงปลายสมัยประชุมสภา ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์พอดี

แต่ที่ประจวบเหมาะไปกว่านั้นก็คือ ความไม่แน่นอนของรัฐบาลนี้ที่เริ่มง่อนแง่น เพราะเจอกับสารพัดเรื่องกัดกร่อนตัวเอง การทอดเวลาออกไปก็จะกลายเป็นความไม่แน่นอน

ทรุดลงเมื่อไหร่ ฝันก็สลายเมื่อนั้น


จากคอลัมน์ "ขยายปมร้อน"
นสพ.คม ชัด ลึก ๑๖ เม.ย. ๒๕๕๖








"อันตรายแผนทำลายองค์กรอิสระ"
บทบ.ก.นสพ.แนวหน้า


การประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติและประกาศอย่างเป็นทางการสอดคล้องกับกลุ่ม ๓๑๒ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ที่ก่อนหน้านี้ร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ที่ออกแถลงการณ์ร่วมไม่ยอมรับในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๕ ต่อ ๓ รับคำร้องของนายบวร

ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันและคณะ ยื่นคำร้องเพื่อให้วินิจฉัยว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ เป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียง ๕ ต่อ ๓ รับคำร้องไว้พิจารณา

คำร้องของ นายบวร และพวกเนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ เป็นการตัดสิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องกรณีที่พบเห็นการกระทำอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง โดยกำหนดให้อำนาจสำนักงานอัยการสูงสุดรับคำร้องแต่เพียงหน่วยงานเดียว ท่ามกลางข้อสงสัยการให้สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งที่ผ่านมามีพฤติการณ์จนถูกตั้งข้อสงสัยว่าถูกครอบงำและรับใช้ระบอบทักษิณผูกขาดอำนาจรับคำร้องเพียงหน่วยงานเดียวน่าจะมีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ที่ค้างอยู่ในวาระที่ ๓ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ อันจะนำไปสู่การผลักดันสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ร่างทรงขึ้นมาล้มล้างรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับเพื่อสถาปนาระบอบทักษิณขึ้นยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ เพื่อนำไปสู่การเดินหน้าผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ต่างอะไรจากการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ หรือแม้แต่มาตรา ๒๙๑ เอง

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยและ กลุ่ม ๓๑๒ สส.และสว. อ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ อันจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาเรื่องดังกล่าว ดังนั้นรัฐสภาจึงไม่ต้องดำเนินการตามศาลรัฐธรรมนูญเพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้

การออกมาประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยสองครั้งติดต่อกันโดยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง พร้อมกับ ปลุกเร้าให้พรรคเพื่อไทยตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญแบบดับเครื่องชน

ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่มี บทบาทสำคัญในระบบตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมือง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตลอดจนบรรดาองค์กรอิสระโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกระบอบทักษิณผ่านทางพรรคเพื่อไทยหมายหัวมีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดให้พ้นทาง เนื่องจากองค์กรอิสระทั้งหลายเหล่านี้เป็นอุปสรรคขวากหนามต่อการแสวงหาผลประโยชน์และแผนผูกขาดอำนาจยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบทักษิณในอนาคต

นอกจากแผนที่จะขจัดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลายแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดที่จะรุกคืบผูกขาดอำนาจด้วยการยึดวุฒิสภาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงที่มาของวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดโดยยกเลิกสว.ระบบสรรหา ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล

การประกาศสงครามแข็งข้อต่อศาลรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายเป็นอย่างยิ่งเพราะเริ่มมองเห็นสัญญาณของแผนการของฝ่ายการเมืองที่จะอาศัยพวกมากลากไปเพื่อรื้อกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับอันจะนำไปสู่การล้มล้างศาลรัฐธรรมนูญและบรรดาองค์กรอิสระทั้งหลาย อันทำลายระบอบตรวจสอบถ่วงดุลเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นผูกขาดอำนาจยึดครองประเทศได้อย่างสะดวกและสมบูรณ์แบบ


จากนสพ.แนวหน้า ๒๒ เม.ย. ๒๕๕๖








"ปล้นประชาธิปไตย"
กษิต ภิรมย์


ออกตัวกันก่อน ว่าผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายโดยตรง แต่ก็อดห่วงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ ก็ขออนุญาตร่วมวิพากษ์วิจารณ์ตามประสาชาวบ้านด้วยคนหนึ่งแล้วกันนะครับ

ช่วงหลัง ๆ เรามักเห็นข่าวการปล้นร้านทองอย่างอุกอาจ โจรผู้ร้ายสมัยนี้ก่อการกันอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะเป็นกลางวันแสก ๆ ท่ามกลางการสัญจรไปมาของผู้คนก็ตาม ต่อให้มีเทคโนโลยีการสอดส่องของกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน แต่พวกโจรผู้ร้ายก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ถึงได้เกิดการปล้นกันซึ่ง ๆ หน้าแบบนี้ โดยที่ชาวบ้านได้แต่ทำตาปริบ ๆ

ย้อนมาที่เหตุการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไทยช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๖ ดูจากพฤติกรรมนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ทำทุกอย่างให้ผ่านสภา ถ้าเรียกว่าปล้นประชาธิปไตยกันซึ่ง ๆ หน้า คงไม่ผิดอะไร

แล้วเขาปล้นกันอย่างไร? ปล้นประชาธิปไตยไปจากใคร?

เรื่องของเรื่องก็คือ รัฐบาลชุดนี้และพรรคร่วมรัฐบาลได้ดึงดันนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ มาตรา ๒๓๗ และกลุ่มมาตรา ๑๑๑ กับมาตรา ๑๙o เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยไม่ฟังเสียงทัดทานผู้ใดและเช่นเคย เรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบวาระหนึ่งด้วยเสียงข้างมากอันท่วมท้นของฝ่ายรัฐบาล

เรียกอีกอย่างว่า เสียงข้างมากในมือฝ่ายรัฐบาลเปรียบเสมือนปืนที่ใช้บังคับ ข่มขู่ เพื่อให้ทุกคนหลับและเงียบ ยอมให้เขาเอาสิ่งที่ต้องการได้ เขาเพิ่งปล้นอำนาจออกไปจากมือประชาชนผ่านทางรัฐสภา

ในมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕o บอกไว้ว่าประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจรัฐตัวจริงนั้น มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของบุคคล หรือพรรคการเมืองที่ส่อไปในทางล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการสะท้อนสิทธิเสรีภาพของการแสดงออก และการมีส่วนร่วม อันเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญยิ่งของความเป็นประชาธิปไตย แต่มาบัดนี้ ฝ่ายรัฐบาลและพรรครัฐบาลได้เสนอตัดการยื่นเรื่องโดยตรงของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหลือช่องทางเดียวคือ ต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น

การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการตัดทอน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีอยู่และระบุอยู่ในตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดได้ว่า เป็นการละเมิดเจตนารมณ์ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ประสงค์ให้มีการมีส่วนร่วม และมีการใช้สิทธิเสรีภาพให้มาก และกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการทำร้ายต่อความเป็นประชาธิปไตย และเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนเป็นการปล้นสิทธิของประชาชน ถือเป็นความผิดทางอาญา

รัฐบาลและพรรคร่วมไม่มีสิทธิ์จะกระทำเช่นนี้ สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลควรกระทำอย่างต่อเนื่องก็คือ ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ใช่มาตัดทอนหรือขโมยไป ซึ่งดันไปเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร ที่กำกับดูแลสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่โดยปริยาย

ส่วนมาตรา ๒๓๗ นั้นก็จะล้างมลทินให้หัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เป็นการที่ฝ่ายการเมืองช่วยพวกพ้องกันเอง ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ จากการแก้ไขมาตรานี้แถมเปิดช่องให้มีการหาแพะรับบาปเมื่อพรรคมีความผิด เพื่อรับโทษแทนผู้ทำผิดที่อาจมีความสำคัญในพรรคได้

กรณีมาตรา ๑๙o ก็เช่นกัน เป็นการให้สิทธิประชาชนผ่านรัฐสภาให้มีอำนาจกำกับดูแล ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศของฝ่ายบริหารในเรื่องความมั่นคงของชาติและเรื่องเขตอาณาของไทย อันได้แก่ การสงบศึกและสันติภาพ สิทธิอธิปไตยนอกเขตอาณา (ทรัพยากรธรรมชาติ) และเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง

แต่มาบัดนี้ ฝ่ายรัฐบาลกำลังบอกว่าให้รัฐสภาพิจารณาแค่เรื่องความมั่นคงและเรื่องเขตอาณาเท่านั้น เรื่องอื่น ๆ ฝ่ายบริหารไปมุบมิบจัดการเองได้หมด เสมือนเป็นการปล้นอำนาจรัฐสภาออกไป

เมื่อรัฐสภาถูกตัดออกจากขั้นตอนเจรจา ก็หมายความว่า ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางอ้อมผ่านรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนตน และไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น เท่ากับเป็นการตัดทอนสิทธิ เสมือนปล้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังเข้าคลอง

ในกรณีมาตรา ๑๑๑ และมาตราอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและพรรครัฐบาลประสงค์ให้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด(จำนวนใหม่ ๒oo คน) มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเพราะประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามา ฟังแล้วก็ดูดี แต่ประเด็นมิได้อยู่ที่แค่การเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญคือ เรื่องบทบาทภาระหน้าที่ของวุฒิสภาที่จะติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งต้องการมุมมอง ความรู้ และประสบการณ์ของผู้ชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง หรือสาขาอาชีพต่าง ๆ เรื่องจึงอยู่ที่ว่าเมื่อเราต้องการให้วุฒิสภาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ แล้วจะมีการปล่อยให้ผู้สมัคร สว.เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชำนาญการ ซึ่งก็มีนัยว่าคุณสมบัติของ สส.และสว.จะไม่แตกต่างกัน อีกทั้งโอกาสที่ สว.จะตกอยู่ในอาณัติพรรคการเมืองก็มีมาก อาจเกิดปัญหาสภาผัวเมีย เพราะคนเหล่านี้จะเป็นผู้สมัครในนามพรรค แทนที่จะเป็นผู้สมัครอิสระ หรือผ่านการกลั่นกรอง เสนอชื่อโดยสมาคมวิชาอาชีพและกลุ่มเฉพาะกิจ กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนออกมาลงคะแนนเสียง

นัยของการแก้ไขกลุ่มมาตรา ๑๑๑ จึงเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองเข้ากุมอำนาจและเมื่อมีเสียงข้างมากทั้ง ๒ สภา ความเป็นเผด็จการรัฐสภาก็เข้มข้นขึ้น ประชาชนจะถูกจำกัดลิดรอนสิทธิ์ต่าง ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ ที่ว่ามาทั้งหมด เป็นการลิดรอนอำนาจของประชาชน มิได้มีเจตนาขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนไทย ทั้งนี้เป็นการแก้ไขเพียงเพื่อผลประโยชน์ และอำนาจของรัฐบาลและนักการเมืองเท่านั้น มันเป็นการปล้นประชาธิปไตยดี ๆ นี่เอง

แล้วประชาชนชาวไทย และภาควิชาชีพต่างๆ จะอยู่นิ่งเฉยได้หรือ? เพราะเรา “ถูกปล้น” ประชาธิปไตยซึ่ง ๆ หน้า ตอนกลางวันแสก ๆ แบบนี้!!


จากคอลัมน์ "เวทีอิสระ"
นสพ.แนวหน้า ๒๔ เม.ย. ๒๕๕๖








"ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแต่รับ(ใช้)อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ"
สารส้ม


การที่ สส.พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาแสดงท่าทีในลักษณะให้ท้ายการเคลื่อนไหวข่มขู่ กดดัน คุกคามศาลรัฐธรรมนูญของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างหนักในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ๆ

สภาวการณ์ร้อนรนทางการเมืองที่เกิดขึ้น เข้าลักษณะ “นายว่า ขี้ข้าพลอย”

๑) หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีที่ สส.และ สว.แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ก็ปรากฏว่า ทักษิณ ชินวัตร ออกอาการจะเป็นจะตายเสียให้ได้

สไกป์เข้ามายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยอย่างน้อย ๒ ครั้ง

เร่งรัดให้ขี้ข้าเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โจมตีศาลรัฐธรรมนูญ และผลักดันนิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ ทักษิณสไกป์เข้ามาในที่ประชุม สส.พรรคกว่า ๒o นาที ประกาศลั่นว่า

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แก้ไขเป็นรายมาตราก็ทำไม่ได้ ทั้งที่เป็นอำนาจของรัฐสภา ดังนั้น รัฐสภาต้องแสดงความเข้มแข็ง เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรับตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันเกินหลักการ ใช้อำนาจตุลาการในการเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากจำเป็นจะต้องยุบสภาก็ต้องยุบ เพื่อให้ได้จำนวนเสียง สส.ของพรรคเพิ่มขึ้น”

แปลความนัยเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ คือ ถ้าขี้ข้าที่มีอยู่ยังไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญตามความต้องการของข้าได้ ก็จะยุบสภาเสียเลยเลี้ยงไว้ก็เปลืองข้าวสุก เลือกตั้งใหม่จะได้ขี้ข้ากลับมามากกว่าเก่า

๒) ในวันเดียวกัน ทักษิณยังพูดถึงการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม กำชับให้ สส.พรรคเพื่อไทยทำตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาในสภาก่อน ส่วนกฎหมายปรองดองล้างผิดที่ค้างอยู่ในสภาก็จะให้พิจารณาต่อไป

“คนที่เป็นรัฐมนตรีต้องแสดงความกล้า เพราะได้ขึ้นฝั่งกันหมดแล้ว มีแต่ผมที่ลอยคออยู่กลางทะเล ดังนั้น คนที่กำลังไปข้างหน้าขอให้ดูคนข้างหลังด้วย” ทักษิณกล่าว

แปลความนัยเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ คือ เมื่อไหร่พวกเอ็งจะล้างผิดให้ข้าเสียที (โว้ย) ไอ้พวกรัฐมนตรีคนไหนไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าชน เอ็งเตรียมตัวหลุดเก้าอี้ได้เลย

ด้วยเหตุนี้เอง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ จึงรีบแสดงออกขึงขังกลางที่ประชุม บอกว่าเตรียมเสนอกฎหมายล้างผิดพรวดเดียวทันทีที่เปิดสมัยประชุมหน้า ใครฆ่าประชาชน ฆ่าทหาร ก็จะได้รับประโยชน์กันทั้งหมด

สามีเจ๊แดงถึงต้องเป็นตัวแทนของทั้ง สส. และสอพลอ อวยนายใหญ่ โดยบอกว่า “ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดให้ประสบสำเร็จตามความปรารถนา พวกเราจะทำทุกอย่างให้ท่านได้กลับบ้านในปลายนี้แน่นอน”

๓) ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ ก็ถึงกับมีมติท้าชนศาลรัฐธรรมนูญ

นายภูมิธรรม แถลงว่า “กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ๑. รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา ๒๙๑ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ รัฐสภาไม่ต้องดำเนินการตามศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ๒. สส.และ สว.จะร่วมกันออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อประชาชนถึงเหตุผลในการคัดค้านการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ...”

รวมทั้งให้เลื่อนระเบียบวาระการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม

๔) ทั้งหมดทั้งปวง..มาจากความอยากกลับบ้านอย่างเท่ ๆ ของคนคนเดียว

ประเทศชาติจะปั่นป่วน วุ่นวาย ความขัดแย้งจะบานปลายอย่างไร ก็ “ช่างแม่มัน”

๕) ล่าสุด สส.เพื่อไทย และรัฐมนตรีในรัฐบาล ถึงกับออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด อ้างว่าไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่เพราะมีที่มาไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจก้าวล่วงฝ่ายบริหารและกระบวนการยุติธรรม โดยขู่ว่าจะปิดล้อมที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้รับการตอบรับตามคำขู่

ขณะเดียวกัน สส.พรรคเพื่อไทยก็ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ป่าวร้องว่าจะทำจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่าการรับเรื่องวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ถูกต้อง เป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ้างแบบนี้ ก็เท่ากับเอาความคิดและความต้องการของนายใหญ่ของตนเป็นใหญ่กว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

พูดเอง เออเอง วินิจฉัยเองเสร็จสรรพ ว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำไม่ถูกต้อง

ถ้าฝ่ายอื่น ๆ ทำเช่นนี้บ้าง บ้านเมืองย่อมเดินไปไหนไม่ได้ เช่น ฝ่ายค้านก็อาจจะอ้างบ้างว่าดีเอสไอทำหน้าที่ไม่ชอบ ทำคดีเกินอำนาจตามกฎหมาย ไม่ยอมรับอำนาจดีเอสไอ หรือกลุ่มเสื้อสีอื่นๆ เขาจะอ้างบ้างได้ไหมว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่รับอำนาจศาลกันหมด

ประชาชนลุกขึ้นมาประกาศบ้างได้ไหมว่า ไม่ยอมรับอำนาจศาลไม่ยอมรับอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ยอมจ่ายภาษีให้ขี้ข้าทักษิณนำไปผลาญ ฯลฯ แบบนี้ ไม่ถูกต้อง

หนทางที่ถูก คือ หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่มิชอบก็ดำเนินการฟ้องร้องกล่าวหาตามกฎหมาย

เสื้อแดงและพลพรรคเพื่อไทยควรเคารพกฎหมายเหมือนฝ่ายอื่น ๆ เขาบ้าง ดังปรากฏว่า เมื่อเห็นว่าดีเอสไอทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง เขาก็ฟ้องร้องดำเนินคดี ขณะเดียวกันก็ยังเข้าไปต่อสู้คดี ชี้แจง ให้การต่อดีเอสไอ ตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่หนีคดี ไม่ล้มกระดาน ไม่ล้มคดี ไม่ล้างผิดให้พรรคพวกของตัวเอง

๖) พฤติกรรมของ สส.เพื่อไทย และพลพรรคเสื้อแดง เป็นการกระทำที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

เป็นไปตามความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

เป็นนักโทษหนีคุก เป็นผู้ร้ายหลบหนีอาญาแผ่นดิน หนีคดีทุจริตโกงกิน อยู่นอกราชอาณาจักรไทย

ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทำไมถึงยอมรับ(ใช้)อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ?


จากคอลัมน์ "กวนน้ำให้ใส"
นสพ.แนวหน้า ๒๕ เม.ย. ๒๕๕๖








"ระบอบทักษิณจ้องกำจัดศาลรธน. อุปสรรคขวางแผนยึดประเทศ"
ทีมข่าวนสพ.แนวหน้า


ระบอบทักษิณผ่านเครือข่ายคือพรรคเพื่อไทยนับวันจะย่ามใจอาจเป็นเพราะถือดีทั้งอำนาจรัฐในมือและกองกำลังเสื้อแดงที่พร้อมจะออกมาอาละวาดใช้ประเทศเป็นตัวประกัน ล่าสุดส่งสัญญาณทำสงครามดับเครื่องชนแตกหักหมายกำจัดศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นอุปสรรคขวากหนามตามแผนเดินหน้ายึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบทักษิณ

ปฏิบัติการดับเครื่องชนเกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ผู้นำตัวจริง สไกป์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยถึงสองครั้งซ้อนโจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนักจนพรรคเพื่อไทยมีมติอย่างเป็นทางการประกาศสงครามกับศาลรัฐธรรมนูญในทุกรูปแบบ

การเปิดศึกกับศาลรัฐธรรมนูญเข้มข้นขึ้นตามลำดับเริ่มจากการที่พรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำออกแถลงไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามด้วยการออกแถลงการณ์ของ ๓๑๒ สส.และสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ที่ร่วมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ หรือแม้แต่ นายสมศักดิ์เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จากพรรคเพื่อไทยก็ยังออกโรงประกาศแข็งข้อต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนี้ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาดรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ยังแถลงว่า สส.พรรคเพื่อไทยเตรียมเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะในเร็ว ๆ นี้

และล่าสุดม็อบเสื้อแดงซึ่งเป็นเครือข่ายระบอบทักษิณยกขบวนไปปักหลักชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญแบบยืดเยื้อเพื่อข่มขู่กดดันและขับไล่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สาเหตุที่เครือข่ายระบอบทักษิณทำสงครามแตกหักกับศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียง ๕ ต่อ ๓ รับคำร้องของ นายบวร ยสินทรประธานเครือข่ายราษฏรอาสาปกป้องสถาบันและคณะ ที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ เป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพราะเดิมรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องในกรณีที่พบเห็นการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทั้งช่องทางยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงหรือยื่นต่ออัยการสูงสุด แต่ร่างแก้ไขมาตรา ๖๘ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับกำหนดให้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีเป้าหมายแอบแฝงเพราะการกำหนดให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นทั้ง ๆ ที่ภาพพจน์พฤติกรรมของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ผ่านมาส่อไปในทางรับใช้ระบอบทักษิณเท่ากับมีแผนที่จะเดินหน้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ซึ่งค้างอยู่ในวาระที่ ๓ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ จึงต้องแก้ไขมาตรา ๖๘ เพื่อให้ร่างแก้ไขมาตรา ๒๙๑ เดินหน้าต่อไปได้อันจะนำไปสู่การผลักดันสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ร่างทรง ขึ้นมาล้มล้างรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับเพื่อปูทางไปสู่แผนยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบทักษิณ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ และหากวินิจฉัยว่าขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็เท่ากับทำให้แผนเดินหน้าผ่านร่างแก้ไขมาตรา ๒๙๑ หวังชำเรารัฐธรรมนูปัจจุบันแล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับเพื่อยึดครองประเทศของระบอบทักษิณต้องมีอันพังพินาศทันที

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญคือหนึ่งในองค์กรอิสระที่ระบอบทักษิณขึ้นบัญชีดำหมายหัวจ้องกำจัดมานานแล้วเพราะเป็นอุปสรรคขวากหนามในการแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของระบอบทักษิณมาตลอด และเผอิญการแก้ไขมาตรา ๖๘ ครั้งนี้เป็นหมากสำคัญตามแผนยึดประเทศของระบอบทักษิณเมื่อถูกขวางจึงต้องทำสงครามดับเครื่องชนขั้นแตกหัก ซึ่งผลที่จะตามมาก็คือการจุดชนวนสุมไฟแห่งความแตกแยกให้ลุกโชนจากการที่พลังมวลชนจำนวนไม่น้อยพร้อมจะออกมาต่อต้านระบอบทักษิณที่นับวันลุแก่อำนาจอย่างย่ามใจ


จากคอลัมน์ "ผ่าประเด็นร้อน"
นสพ.แนวหน้า ๒๔ เม.ย. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 05 พฤษภาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:40:08 น. 0 comments
Counter : 1188 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.