Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 
5 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
สอนลูกรักให้รู้จักระวังภัย

 แม่และเด็ก,สอนลูก


ใครว่ามีลูกโตแล้วหมดห่วงกันคะ ลูกโตก็ห่วงไปอีกแบบหนึ่ง ลูกวัยประถมอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้ดี
รู้เรื่องมากขึ้นก็จริง แต่เราก็ยังห่วงอยู่ดี เพราะว่าลูกถึงวัยที่ต้องออกไปจากอกพ่อแม่มากขึ้น
ใช้เวลาอยู่นอกบ้านวันละ 8-10 ชั่วโมง คืออยู่ที่โรงเรียนราว 8 ชั่วโมง เดินทางไป-กลับโดยเฉลี่ยอีกราว 2 ชั่วโมง
เท่ากับว่าลูกไม่ได้อยู่ในสายตาเราวันละ 8-10 ชั่วโมงทีเดียวนะคะ

แล้วภัยนอกบ้านสมัยนี้ก็รอบตัวค่ะ ถ้าเป็นสมัยก่อนเราอาจจะปล่อยให้ลูกป.1 ป.2 เดินไป-กลับโรงเรียนเองได้
แต่เดี๋ยวนี้แม้จะเป็นเด็กผู้ชายก็เถอะ เป็นอันตรายได้ทั้งนั้น ที่โรงเรียนก็ใช่ว่าจะปลอดภัย
ดูข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์สิคะ อ่านแล้วยิ่งรู้สึกกังวลใจ ห่วงไปสารพัด
ครั้นเราจะคอยตามเฝ้าระวังภัยให้ลูกทุกฝีก้าว เหมือนตอนลูกยังเล็กๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้

ส่วนภัยในบ้านก็ยังมีอยู่นะคะ
โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่ชะล่าใจปล่อยลูกให้อยู่บ้านตามลำพัง ก็อาจเกิดอันตรายได้อีกเช่นกัน

ทางที่ดีเราควรฝึกทักษะการดูแลตัวเองให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ เขาจะได้รู้จักระแวดระวัง
และป้องกันตนเองเป็นเบื้องต้น ในเวลาที่อยู่ไกลหูไกลตาพ่อแม่

ต่อไปนี้สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีแก้ปัญหาแบบคร่าวๆ
แต่ก่อนจะบอกเฉลย กระตุ้นให้เขาคิดก่อนค่ะ ว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เขาจะทำอย่างไร
แล้วค่อยเพิ่มเติมในส่วนที่เขาคิดไปไม่ถึง เพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
การเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าจะทำให้เขาตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจ
ซึ่งจะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย หรืออย่างน้อยก็บรรเทาความร้ายแรงลงได้

เหตุเกิดในบ้าน
ถ้าเป็นไปได้ ยังไม่ควรปล่อยลูกวัย 7-8 ขวบอยู่บ้านตามลำพัง เพราะเขาจะรู้สึกเหงาและวิตกกังวล
แล้วถ้ามีเหตุฉุกเฉินก็อาจจะยังควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ดีนัก ลองมองหาทางเลือกอื่นๆ ก่อน เช่น
ฝากให้ญาติหรือเพื่อนบ้านช่วยดูแล แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
พ่อแม่ก็ต้องเตรียมตัวเขา ให้พร้อมในการเผชิญกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าก่อนค่ะ เช่น

* คนแปลกหน้ามาเคาะประตู
ให้ล็อกประตูให้แน่น อย่าเปิดประตูเด็ดขาด ถ้าถูกถามว่ามีใครอยู่ไหม อย่าบอกว่าเราอยู่บ้านคนเดียว
ให้บอกไปว่า ตอนนี้พ่อแม่ไม่สะดวกพบ ค่อยมาใหม่วันหลัง ถ้าเขายังไม่ไปให้โทร.บอกพ่อแม่

* มีโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย ถามว่าพ่อแม่อยู่บ้านไหม
อย่าบอกว่าพ่อแม่ไม่อยู่ บอกแค่ว่าพ่อหรือแม่ยังไม่สะดวกรับสาย ให้สั่งธุระเอาไว้
แล้วจดโน้ตวัน เวลา ชื่อคนที่โทร.มา และหมายเลขติดต่อกลับ
ทวนข้อความทั้งหมดให้เขาฟังสั้นๆ เพื่อไม่ให้มีอะไรตกหล่น

* ไฟดับ
ให้รอสักครู่หนึ่ง เพราะปกติไฟฟ้าจะดับไม่นานนัก ใช้ไฟฉายเปิดเป็นไฟสำรองไปก่อน
อย่าจุดเทียนเอง แล้วก็อย่าขึ้นบันไดตอนมืดๆ ด้วย

* ได้กลิ่นเหมือนแก๊สรั่ว
อย่าเปิดไฟหรือจุดไม้ขีดเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดระเบิดหรือไฟไหม้ได้
พยายามเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ทำให้แก๊สเจือจางลง แล้วรีบโทร.บอกผู้ใหญ่ให้ทราบ
เวลาที่ต้องปล่อยให้ลูกอยู่บ้านตามลำพัง ตกลงกันให้ชัดเจนในเรื่องที่เขาได้รับอนุญาตให้ทำ
และเรื่องที่ห้ามเด็ดขาด เช่น เขาสามารถทำแซนด์วิชกินได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เตาแก๊ส หรือเตาไมโครเวฟ

เด็กวัยนี้เข้าใจอันตรายของกระแสไฟฟ้าแล้วก็จริง แต่เขาอาจจะสมมติตัวเองเป็นนักทดลอง
เราต้องเตือนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้อันตราย ไม่ใช่ของเล่น
และหมั่นตรวจสอบสายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอด้วย



เหตุเกิดนอกบ้าน

* อุบัติเหตุบนท้องถนน
ลองนึกถึงการเดินทางในแต่ละวันของลูกว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
เช่น การขึ้นรถโรงเรียน การข้ามถนน การยืนรอบบาทวิถี

ย้ำให้ลูกข้ามถนนในที่ปลอดภัย (ซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกด้วยค่ะ)
นอกจากกฎพื้นฐานเรื่องการมองซ้ายมองขวาก่อนข้ามแล้ว ยังต้องบอกรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น
ให้เดินข้ามถนนอย่างว่องไว แต่อย่าวิ่ง เด็กๆ มักจะวิ่งตามผู้ใหญ่ที่ยืนอยู่กลางถนน ซึ่งนับว่าอันตรายมาก
เพราะถึงแม้ว่าจะข้ามถนนในช่วงที่แทบจะเป็นเวลาเดียวกัน แต่สภาพท้องถนนก็ไม่เหมือน
โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆ คนขับรถอาจจะมองไม่เห็น

อ้อ! หลีกเลี่ยงการข้ามถนนบริเวณทางโค้งหรือหัวมุมด้วย
เพราะในที่ที่เรามองไม่เห็นรถ รถก็ไม่เห็นเราเหมือนกัน

การขึ้นรถโรงเรียน ให้นั่งอยู่กับที่ อย่าเล่นซนกันในรถ หากเกิดอุบัติเหตุจะบาดเจ็บได้
รอรถจอดให้สนิทแล้วค่อยลง ถ้าต้องข้ามถนน อย่าผลุนผลันข้ามทันที
หรือถ้าต้องรอพ่อแม่มารับที่ริมถนน อย่าลงมาเล่นที่ถนน รถอาจชนได้


* หลงทางในห้างสรรพสินค้า
เดินไปหาพนักงานประจำห้าง บอกเขาว่าหลงทาง ขอให้ช่วยประกาศหาคุณพ่อคุณแม่ให้
แล้วคอยอยู่ตรงนั้นจนกว่าพ่อแม่ของเราจะมาถึง
เวลาไปไหนมาไหน ควรนัดแนะจุดนัดพบ เผื่อเกิดเหตุพลัดหลงกันเอาไว้ล่วงหน้า
และให้ลูกเก็บเศษสตางค์ไว้ในกระเป๋าด้วย เผื่อจะได้มีเงินสำหรับโทรศัพท์ติดต่อพ่อแม่

* ขอไปเล่นหรือไปว่ายน้ำกับเพื่อนตามลำพัง
สำหรับเด็กวัยนี้แม้จะว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็ยังต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่ด้วยค่ะ
เพราะเด็กอาจเล่นกันรุนแรง หรือเกิดตะคริว ทำให้จมน้ำได้

และเวลาไปไหนมาไหน ย้ำให้เขาอยู่รวมเป็นกลุ่มกับเพื่อนๆ เสมอ ห้ามแยกตัวออกมาคนเดียว
(แม้ว่าจะทะเลาะกันก็ตาม) และกำหนดเวลาในการกลับมาถึงบ้านให้ชัดเจน

* ภัยจากคนแปลกหน้า
ผู้ใหญ่มักจะสั่งเด็กๆ ว่า "อย่ารับขนมจากคนแปลกหน้า" หรือ "มีคนที่ไม่รู้จักชวนไปไหน อย่าไป"
แต่…คำเตือนเพียงเท่านี้ไม่พอคะ
เพราะในความเป็นจริง ภาพของคนแปลกหน้าในสายตาเด็กๆ ไม่ได้ดูไม่น่าไว้ใจเสมอไป
คนที่หน้าตาท่าทางดีหรือแม้แต่คนรู้จักของพ่อแม่ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในข่ายนี้
นอกจากนี้เด็กๆ ยังถูกกำชับมาอย่างดีในเรื่องของการรักษามารยาทกับผู้ใหญ่ เช่น ห้ามทำกิริยาหยาบคาย
ถ้าผู้ใหญ่ถามให้ตอบ แล้วไหนยังจะไม่ให้ตะโกนหรือกรีดร้องอีก เพราะถือว่าไม่สุภาพ
ดังนั้น อย่าลืมให้ข้อยกเว้นกับลูกด้วยค่ะ เช่น ในกรณีที่

ถูกคนแปลกหน้าชักชวน เช่น
บอกว่าพ่อแม่ให้มารับแทน หรือพ่อแม่เราได้รับบาดเจ็บ จะพาไปหาที่โรงพยาบาล

อย่าหลงเชื่อแล้วไปด้วยเด็ดขาด ถ้าอยู่ในโรงเรียน ให้ไปหาครูแล้วเล่าให้ครูฟัง
แต่ถ้าอยู่ที่อื่นซึ่งไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย ก็ให้ไปรวมกลุ่มกับคนอื่นๆ แล้วโทรศัพท์เช็กความจริงกับคุณพ่อคุณแม่ก่อน
พยายามสังเกตและจดจำหน้าตาของคนๆ นั้น รวมทั้งลักษณะและทะเบียนรถให้ดี เพื่อเป็นข้อมูลเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง


ถูกคนขับรถตาม ท่าทางมีพิรุธ พยายามอยู่ห่างๆ เอาไว้
อย่าหยุดเดินเพื่อพูดคุยโต้ตอบ ถ้ารถคันนั้นยังคงติดตามเราไปเรื่อยๆ ให้มองหาบ้านที่มีคนอยู่ แล้วเดินเข้าไปเลย
บอกเขาว่าเรากำลังเจอเหตุการณ์อะไรอยู่ บอกให้เขาช่วยโทร.แจ้งตำรวจด้วย

ถูกคนเอามือมาสัมผัสส่วนของร่างกายที่ไม่สมควร
อย่าตกใจให้บอกเขาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่าให้เอามือออกไป หรือร้องออกมาดังๆ แล้วรีบวิ่งออกมา
พ่อแม่ต้องย้ำกับลูกว่า ร่างกายของลูก เขามีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ให้ใครมาสัมผัส
โดยเฉพาะในส่วนเร้นลับของร่างกาย ไม่มีใครมีสิทธิแตะต้องหรือขอดู
ซึ่งพ่อแม่เองหรือแม้แต่หมอ ก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน


เป็นเรื่องสำคัญที่เด็กๆ ต้องรู้สึกว่าสามารถเชื่อใจ
และสามารถบอกเล่าปัญหาของเขาให้พ่อแม่ฟังได้อย่างสบายใจด้วยค่ะ
ควรตั้งไว้เป็นกฎของบ้านไว้เลยว่า คนในครอบครัว จะต้องไม่มีความลับต่อกัน
เพราะผู้ใหญ่หลายคนโดยเฉพาะที่เด็กรู้จักหรือคุ้นเคย อาจจะใช้วิธีข่มขู่หรือติดสินบน เพื่อให้เด็กรักษาความลับ
แต่ต้องบอกลูกให้เข้าใจว่า เขาไม่จำเป็นต้องรักษาความลับ ถ้ารู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่ถูกต้อง

อ่านมาทั้งหมดแล้ว อย่าเพิ่งตื่นตระหนก หวาดระแวงกันเกินเลยไปนะคะ
ในชีวิตจริง ยังมีเรื่องดีๆ อีกเยอะ เรื่องเหล่านี้มีสัดส่วนที่พอจะมีความเป็นไปได้เท่านั้น
ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆ เสมอไป

แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับทุกสถานการณ์…
พ่อแม่เองแม้จะรักและห่วงใยลูกแค่ไหน แต่เราก็ไม่สามารถปกป้องเขาได้ตลอดเวลา
หรือแก้ปัญหาแทนเขาได้ทุกเรื่อง สิ่งที่พอจะทำได้คือสอนให้เขาดูแลตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่มา life & family



สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ



Create Date : 05 กรกฎาคม 2552
Last Update : 5 กรกฎาคม 2552 21:28:37 น. 1 comments
Counter : 1156 Pageviews.

 



สวัสดีค่ะ
แวะมาทักทาย แล้วถ้าว่างๆแวะไป HBD ให้สาวน้อยฟัซซี่ซักหน่อยน้าาา


โดย: little nuch วันที่: 6 กรกฎาคม 2552 เวลา:3:50:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.