bloggang.com mainmenu search
พัชรินทร์ พลายพูลทรัพย์ รายงาน
ภาพส่วนหนึ่งจาก เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ


โปสเตอร์ ใบปิดหนังหรือแฮนด์บิลของฝรั่ง มีมานานแล้วในญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเอโดะ

ภาพพิมพ์นิชิขิ หรือ นิชิขิ-เอะ คือภาพพิมพ์ไม้ซึ่งเป็นภาพฉากหรือตัวละครคาบูกิที่ได้รับความนิยมของชาวญี่ปุ่นเมื่อ 400 ปีที่แล้ว หรือในยุคเอโดะ ชื่อเก่าของเมืองหลวงโตเกียวเมื่อปีพ.ศ.2143-2410 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคญี่ปุ่นสมัยใหม่

     ล่าสุด ภาพพิมพ์นิชิขิจำนวน 40 รูป นำมาจัดแสดงที่มิวเซียมสยาม กระทรวงพาณิชย์เดิม ท่าเตียน โดยความร่วมมือของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ จัดแสดงตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงหกโมงเย็นไปจนถึงวันที่ 20 ธ.ค.นี้นับเป็นภาพศิลปะโบราณที่แม้แต่ในญี่ปุ่นเองยังหาชมยาก

     ในวันเปิดนิทรรศการ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดยังจัดสาธิตการแสดงละครคาบูกิ อีกหนึ่งศิลปวัฒนธรรม โบราณคู่กับภาพพิมพ์นิชิขิของชาวอาทิตย์อุทัย

จากความงามของภาพพิมพ์ในกรอบเฟรมแบบ 2 มิติ ที่ห้องพิพิธเพลิน 1 แปรเปลี่ยนมาเป็นภาพที่เคลื่อนไหวงดงามราวภาพวาด ที่มาพร้อมความงดงามอลังการของเครื่องแต่งกาย เสียงขับร้องและเสียงเพลงโบราณในห้องเบิกโรง

คาบูกิ มาจากคำสามคำ คือ "คะ" "บุ" และ "กิ" ซึ่งมีความหมายว่า "เพลง" "การร่ายรำ" และ "ความเจนจัดในการแสดง"

บนเวทีละครคาบูกิ ศิลปะสามอย่างดังกล่าวจะอยู่ร่วมกันเสมอจนยากจะแยกสิ่งใดออกจากกัน

     นิชิขิ-เอะ คือภาพพิมพ์ไม้หลากสีแบบญี่ปุ่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงค.ศ. 1760 จนมีความสมบูรณ์และเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยของนายช่างนามว่า "ซูซูกิ ฮารุโนบุ" นับเป็นภาพพิมพ์สีรุ่นแรกๆ ของโลก

เทคนิคการทำภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น เริ่มจากภาพพิมพ์ "อูคิโย-เอะ" ซึ่งใช้แม่พิมพ์อันเดียว และสีดำสีเดียว ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าภาพพิมพ์สีนิชิขิประมาณร้อยปี

ภาพพิมพ์นิชิขิ จะเริ่มด้วยการแกะแม่พิมพ์ต้น แบบสำหรับสีแต่ละสีก่อน จากนั้นจึงใช้วิธีการพิมพ์แบบพร้อมสีที่ต้องการจนจบกระบวนการ

     นิทรรศการที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้มุ่งเน้นให้เห็นภาพพิมพ์ที่เรียกกันว่า "ยาคุชะ" ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "actor prints" ซึ่งเป็นภาพตัวเอกหรือภาพคู่ในละครคาบูกิ ขณะที่ภาพฉากต่างๆ ในละครคาบูกิ และส่วนประกอบของละครที่มีความเชื่อมโยงกันก็นำมาจัดแสดงไว้ใกล้กับภาพตัวเอกของเรื่อง


ด้วยเพราะคาบูกิเป็นมหรสพซึ่งเป็นที่ชื่นชอบในหมู่สามัญชน ตัวละครเอกมีชื่อเสียงมาก ขณะที่ราคาภาพก็ไม่แพงนัก ชาวเอโดะจึงเสาะหาภาพพระเอกคาบูกิ หรือ "ยะคะชะ" ที่ตนเองชื่นชอบมาไว้ในครอบครอง

ภาพบางครั้งไม่ได้ทำขึ้นเพื่อขายเป็นที่ระลึกจากเมืองใหญ่อย่างเอโดะเท่านั้น แต่ยังมีการนำภาพดังกล่าวไปติดเป็นภาพโฆษณาตามโรงละครคาบูกิด้วย

     ถ้าเปรียบกับเมืองไทยหรือเมืองฝรั่งเมื่อราว 30-40 ปีก่อน ภาพนิชิขิก็คงเหมือนกับภาพ สมบัติ เมทะนี อรัญญา นามวงศ์ สรพงศ์ ชาตรี จารุณี สุขสวัสดิ์ เจมส์ ดีน นาตาลี วู้ด มาริลีน มอนโร หรือเอลวิส เพรสลีย์ ที่สาวๆ ในยุคนั้นตัดเก็บมาจากนิตยสารบันเทิง หรือ "ใบปิด" หน้าโรง ที่กลายเป็น "ของเก่าเก็บ" ของนักสะสม ก่อนพัฒนามาเป็นแฮนด์บิล แมกเนส จนมาถึงยุคการเสิร์ชหรือโหลดภาพจากเน็ตในปัจจุบัน

ภาพนิชิขิจึงถือว่ามีบทบาทยิ่งในสมัยนั้น และยังช่วยสะท้อนวิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่ อดีตของโตเกียว นักแสดงผู้ได้รับความนิยมจะส่งผลให้ภาพพิมพ์ของตนเองได้รับความนิยมมากไปด้วย จนกลายเป็นของหายาก

     เสน่ห์วัฒนธรรมในซีกโลกตะวันออก ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านการแสดงอันมีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นโขนไทย งิ้วหรืออุปรากรจีน คาบูกิของญี่ปุ่นก็เช่นกัน ล้วนเป็นศิลปะที่หยั่งรากวัฒนธรรมล้ำลึกซึ่งหาดูได้น้อยมากในซีกโลกตะวันตก

หญิงชื่อ "โอคุนิ" จากศาลเจ้าอิซึโมะ นักแสดงผู้เลื่องชื่อจากเกียวโต ได้รับการกล่าวขานในประวัติศาสตร์ว่าเป็นต้นกำเนิดของละครคาบูกิ เธอรวบรวมศิลปะการแสดงซึ่งเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมาเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของผู้คนในสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีสันติภาพ เป็นการแสดงที่คล้ายการ "รีวิว" เพราะมีการร่ายรำเป็นส่วนใหญ่

     ในสมัยเดียวกัน ในราชสำนักมีการแสดงที่เรียกว่า "กะงักขุ" ขณะที่ในแวดวงนักรบมีละคร "โนห์" คาบุกิจึงเกิดขึ้นในฐานะศิลปะการแสดงของสามัญชน สะท้อนภาพชีวิตจิตใจของชาวบ้านธรรมดาๆ ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองด้วยเจ้าขุนมูลนาย

ในปีค.ศ.1629 รัฐบาลห้ามสตรีแสดงเพราะมีการแสดงที่ส่อไปในทางยั่วยวนทางเพศ ละครคาบูกิจึงต้องใช้นักแสดงชายเท่านั้น นักแสดงชายที่รับบทผู้หญิงในละครคาบูกิเรียกว่า "อนนะงาตะ" อย่างไรก็ตามการร่ายรำในละครคาบูกิยังคงใช้นักแสดงผู้หญิงได้


ก่อนหกโมงเย็นเล็กน้อย ผู้ชมหลากวัยทั้งชาวไทย ญี่ปุ่น และฝรั่ง ทยอยมาถึงตึกเก่าสวยงามของมิวเซียมสยาม

     หลังพิธีเปิดต่างทยอยเข้าชมภาพพิมพ์ในนิทรรศ การ ตัวละครในภาพวาดมีทั้งความสวยงามและดูน่ากลัว ล้วนเป็นศิลปะภาพวาดเสมือนจริงที่ทุกคนสนใจเวียนชมคนละหลายรอบ ก่อนไปรวมตัวกันที่ห้องเบิกโรงเพื่อชมภาพจริงเสมือนวาด

กลางห้องมืด ชุดกิโมโนสีแดงสะดุดตาตั้งตระหง่านอยู่กลางเวทีเมื่อต้องไฟ รวมถึงวิกทรงผมสาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17-18 ที่นำเส้นผมจริงมาใส่ลงในโครงโลหะทีละเส้น

เสียงกรับดังขึ้นเป็นสัญญาณเริ่มการแสดง ตัวละครโดย บันโดะ โคโตจิ ออกมาร่ายรำในระบำซัมบาโซ คนที่ยังไม่เคยดูละครคาบูกิ แถมยังนั่งอยู่หน้าม่านทางออกของตัวละครถึงกับผงะ ด้วยหน้าตาตัวละครที่ดูขึงขัง บวกกับเสียงดนตรีและท่าเต้นในจังหวะดุดัน

ระบำซัมบาโซ เป็นศิลปะการร่ายรำคาบูกิผสมกับศิลปะการแสดงดั้งเดิมของคนพื้นเมืองก่อนเกิดละครคาบูกิและละครโนห์ แม้การร่ายรำจะดูขึงขัง แต่แท้จริงแล้วคือการอวยพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ เกิดความสงบสุข ในช่วงท้ายผู้แสดงยังสะบัดกริ่งดังกรุ๊งกริ๊งมายังผู้ชมคล้ายพระพรมน้ำมนต์ซึ่งสื่อความหมายถึงการให้พรเช่นเดียวกัน

จากนั้น โยชิกิ ทาคาฮาชิ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติญี่ปุ่น ในชุดกิโมโนสีหวาน ออกมาเล่าขานความเป็นมาของภาพพิมพ์นิชิขิและละครคาบูกิ เธอเล่าว่าในประเทศญี่ปุ่นมีโรงละครแห่งชาติถึง 5 แห่งทั่วประเทศที่จัดแสดงคาบูกิ โนห์ และกะงักขุ นอกจากจะช่วยสืบสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นสู่คนรุ่นหลังด้วย รูปภาพในภาพพิมพ์นิชิขิช่วยบ่งบอกให้รู้ว่าคาบูกิในยุคก่อนมีฉาก เรื่องราว และนักแสดงแต่งตัวอย่างไร

คาบูกิจึงเปรียบเสมือนภาพพิมพ์ที่เคลื่อนไหวได้

     การแต่งหน้าถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของตัวละครคาบูกิ ลวดลายที่วาดลงบนหน้าสื่อเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละบทบาท

ในการสาธิตการแต่งตัวเจ้าหญิง สาวน้อยหน้าตาเกลี้ยงเกลาเริ่มพอกคอและหน้าด้วย "สี" ขาว รองพื้น ก่อนเขียนคิ้วทาปาก โดยมีลีลาแต่งแต้มมัดใจชายอยู่ตรงที่หัวคิ้วสีดำ แต่หางคิ้วและหางตาจะต้องตวัดด้วยสีแดงเพื่อให้ดู "เซ็กซี่" ตามคำบอกเล่าของผู้บรรยายหนุ่มชาวญี่ปุ่น

     การแต้มหรือทาสีแดงบนใบหน้ายังเป็นสีที่ปกป้องภูตผีปีศาจร้ายไม่ให้วิญญาณร้ายเข้าร่าง และทาริมฝีปากแดงจัด โดยวาดเรียวปากให้เล็กกว่าปากจริงเพื่อเน้นริมฝีปากให้ดูนูนเด่นขึ้นมา

ผู้บรรยายวัยหนุ่มยังบอกด้วยว่า "สาวงามของชาวญี่ปุ่นจะต้องมีตาตี่ชั้นเดียว และช่องว่างระหว่างตาและคิ้วต้องกว้าง"

ถึงช่วงสวมชุดเจ้าหญิง ต้องใช้ผู้ช่วยถึง 2 คน ในการสวมชุดกิโมโนเต็มยศหลายชั้นทีเดียว

     ก่อนจะถึงการแสดงละครคาบูกิ ผู้บรรยายหญิงและชาย หนุ่มสาวแดนปลาดิบออกมาสอนการรำของชาวญี่ปุ่น พร้อมการันตีว่าท่ารำของญี่ปุ่นที่เป็นการใช้มือใช้ได้กับทุกบทเพลง และทุกท่าล้วนสื่อความหมายของตัวละครในคาบูกิ โดยชวนผู้ชมชาวไทยร่วมรำตามไปด้วย

     ไม่ว่าจะเป็นท่าชี้นิ้ว ท่าบังแดด สื่อถึงการมองไปไกลๆ ท่าทัดหู-ยินดีปรีดา ท่าเสียบมือ-ยินดีต่อเนื่อง ท่ากลองยาวสะพายบ่า-ดีใจ ท่านิ้วชี้สองนิ้ว-สามีภรรยา หรือท่าตบเข่าหรือหน้าขาพร้อมกัน ที่สื่อว่าที่พูดมาทั้งหมดไม่เป็นจริง หรือชวนทำนั่นนี่กันเถอะ

คงคล้ายกับท่าโขนของไทยที่มีทั้งท่าโมโห โศกเศร้า หัวเราะดีใจ หรือยิ้มเขินเอียงอาย

หนุ่มสาวปลาดิบเปิดฉากร่ายรำในบทเพลงจังหวะสบายๆ ของญี่ปุ่น ก่อนพิสูจน์สิ่งที่พูดไปด้วยการชวนคนไทยรำญี่ปุ่นในท่าเดิมด้วยบทเพลงไทยจังหวะสนุกๆ "สุขกันเถอะเรา"

ปรากฏว่าลงตัวเป๊ะ ไม่เชื่อ-ก็ต้องเชื่อ!!

     ช่วงท้ายคือไฮไลต์ การแสดงละครคาบูกิชุด "โยชิโนะ ยามะ" หรือภูเขาโยชินะ บอกเล่าเรื่องราวของเจ้าหญิงที่พ่อแม่กลับมาเกิดเป็นกลองของเจ้าหญิงเอง

ด้วยเพราะเป็นการสาธิต การเกริ่นเรื่องราวเพียงคร่าวๆ เพียงพอสำหรับผู้ชมที่มุ่งชมไปที่ลีลาการร่ายรำและท่าทาง แม้การขับร้องคลอเพื่อบรรยายเนื้อเรื่องจะเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ตาม

     บางช่วงตัวละครหนึ่งจะหยุดนิ่งไม่ไหวติง ปล่อยให้ตัวละครอีกตัวร่ายรำสื่อความหมาย เพิ่มความโดดเด่นบนเวที นอกจากเสียงขับร้องแล้ว การกระทืบเท้าเป็นจังหวะการแสดง ตึง-ตึง ยังเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่เพิ่มเสน่ห์ให้คาบูกิ

ท่าร่ายรำที่ผู้บรรยายสาธิตก่อนหน้านี้มีอิทธิพลมากต่อการเคลื่อนไหวสื่อเรื่องราวไปพร้อมกับความงดงามอลังการ

ภาพนิชิขิรูปที่ 41 ซึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้ากลางเวที

กำลังมีชีวิต!!



สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ข่าวสดออนไลน์ 15 ธันวาคม 2551 หน้า 21

H O M E

Create Date :15 ธันวาคม 2551 Last Update :15 ธันวาคม 2551 13:01:28 น. Counter : Pageviews. Comments :2