bloggang.com mainmenu search
โดย นายแพทย์ วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ศัลยแพทย์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี

มะเร็งขั้วตับกำลังเป็นที่สนใจของสังคม หลายคนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามถึงเจ้ามะเร็งชนิดนี้กันมากว่ามีที่มาที่ไป อย่างไร ไม่ค่อยคุ้นหูกับโรคมะเร็งชนิดนี้ ส่วนใหญ่มักได้ยินแต่มะเร็งตับ จึงถือโอกาสนี้เอาเรื่องมะเร็งขั้วตับมาเล่าสู่กันฟัง

มะเร็งขั้วตับไม่ได้เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด เพียงแต่บอกตำแหน่งของก้อนมะเร็งให้ชัดเจนลงไปมากขึ้นว่ามันอยู่บริเวณขั้วตับ

คำถามที่ตามมาของคนอยากรู้อยากเห็นก็คือว่า แล้วตรงตำแหน่งขั้วตับกับตำแหน่งอื่นๆ ในตับ มันแตกต่างกันอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อการรักษา รักษายากง่ายอย่างไร ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีผลต่อเวลาที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตเหลืออยู่โดยตรง

ถ้าจะแบ่งตำแหน่งของก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นที่ตับ ให้เข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น อาจแบ่งเป็น 3 ตำแหน่งหลัก คือ ที่ผิวตับ ในเนื้อตับ และตำแหน่งที่เรากำลังสนใจอยู่ตอนนี้คือ ที่ขั้วตับ

คำถามที่ตามมาก็คือตำแหน่งไหนรักษายากที่สุด ตำแหน่งไหนอันตรายที่สุด ตำแหน่งไหนส่งผลที่ตามาทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงเร็วที่สุด

ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบ โดยให้ตัวแปรอื่นๆ ที่สำคัญเหมือนกัน อาทิ ขนาดของก้อน คุณภาพตับในส่วนที่ไม่เป็นมะเร็ง ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า บริเวณขั้วตับเป็นตำแหน่งที่อันตรายที่สุดและส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ และระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยมากที่สุดเช่นกัน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น น่าจะเป็นคำถามที่ตามมาติดๆ

ก่อนอื่นอยากให้ผู้อ่านลองหลับตานึกภาพตับที่อยู่ใต้ชายโครงขวาทอดตัวขวางมาถึง ตรงกลางใต้ลิ้นปี่ บริเวณพื้นผิวด้านล่างช่วงกึ่งกลางระหว่างลิ้นปี่กับชายโครงขวาเป็นจุดที่เรียกว่าขั้วตับ

ขนาดของพื้นที่บริเวณขั้วตับประมาณได้กับขนาดของไข่ไก่ เป็นบริเวณที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นที่รวมของโครงสร้างสำคัญ 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 หลอดเลือดแดงที่นำเลือดดีมาเลี้ยงตับเช่นเดียวกับอวัยวะทั่วไป

ส่วนที่ 2 หลอดเลือดดำที่นำเลือดดำจากอวัยวะส่วนใหญ่ในช่องท้องผ่านเข้าสู่ตับ ก่อนกลับเข้าสู่หัวใจ

และส่วนที่ 3 คือท่อน้ำดีที่รับน้ำดีที่ถูกสร้างภายในตับลงสู่ลำไส้เล็ก โดยโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนนั้นมีพังผืดหุ้มล้อมรอบ จึงอยู่เคียงข้างกันตลอดเส้นทาง นับตั้งแต่บริเวณขั้วตับ จนเข้าสู่ภายในเนื้อตับ

เจ้าสามเกลอที่ว่านี้จะอยู่แนบสนิท รักใคร่สามัคคีกลมเกลียว ไปไหนไปด้วยกันตลอดทางจนถึงระดับเซลล์ตับ

จากการอยู่ใกล้ชิดกันของ 3 โครงสร้างบริเวณขั้วตับเช่นนี้ ส่งผลเสียทำให้การลุกลามของโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและมีผลต่อการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดที่จะกล่าวต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนชอบถาม (เผื่อจะได้รีบสังเกตตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ) คืออาการแรกเริ่มของมะเร็งขั้วตับ ก่อนจะกล่าวถึงอาการจำเป็นต้องกล่าวถึงประเภทหรือชนิดของมะเร็งที่มักเกิดที่ตำแหน่งขั้วตับเสียก่อน เนื่องจากอาการจะเป็นอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่มักขึ้นกับชนิดของมะเร็ง

ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นความรู้เบื้องต้นก่อนว่า มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ตับ หาได้เกิดขึ้นจากเซลล์ที่อยู่ในตับเพียงอย่างเดียวไม่ ยังเกิดจากเซลล์มะเร็งของอวัยวะอื่นที่กระจายมาที่ตับ โดยส่วนใหญ่มาทางกระแสเลือด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ ฯลฯ

เรียกได้ว่ามะเร็งของทุกอวัยวะในร่างกายสามารถแวะมาพำนักพักพิงที่ตับได้ทั้งสิ้น

จากการที่ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเลือดมาเลี้ยงมากที่สุด ไฉนเลยเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ จะไม่หลุดมาติดที่ตับได้บ้าง

แต่มะเร็งขั้วตับส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นแพร่กระจายมา มะเร็งขั้วตับส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ในเนื้อตับ ซึ่งแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 ประเภทหลัก คือมะเร็งเซลล์ตับ และมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี

มะเร็งขั้วตับ ส่วนใหญ่มักเป็นมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดีมากกว่ามะเร็งเซลล์ตับ

อาการที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นอาการตัวเหลืองตาเหลือง อาการปวดท้อง ซึ่งเป็นอาการหลักของมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี มากกว่าอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งเป็นอาหารหลักของมะเร็งเซลล์ตับ

โดยมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดีบริเวณขั้วตับเมื่อผู้ป่วยมีอาการ ก้อนเนื้อที่พบมักมีขนาดเล็ก เนื่องจากเกิดขึ้นภายในท่อน้ำดีโดยตรง ก้อนเนื้อขนาดไม่ต้องใหญ่โตมากก็ทำให้เกิดท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง และมักมีอาการคันตามตัวร่วมด้วย

อาการปวดท้อง อาจเกิดจากภาวะน้ำดีคั่งในตับ หรือจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง

นอกจากนั้น จากการที่ท่อน้ำดีบริเวณขั้วตับอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ทำให้ส่วนใหญ่มักมีการลุกลามของมะเร็งไปสู่หลอดเลือดทั้งสองไม่มากก็น้อย ส่งผลให้เกิดการกระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นโดยผ่านทางกระแสเลือด

และแน่นอนที่สุด ทำให้การผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาดมีโอกาสน้อยลง ในขณะที่มะเร็งเซลล์ตับบริเวณขั้วตับนั้น โอกาสเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลืองมักมีน้อยกว่า ส่วนใหญ่มักพบในก้อนที่มีขนาดใหญ่กว่าและกดเบียดท่อน้ำดีบริเวณขั้วตับ

การรักษามะเร็งขั้วตับที่เป็นที่ยอมรับว่าให้ผลการรักษาดีที่สุดคือ การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อปกติโดยรอบออก

เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน มะเร็งขั้วตับถูกจัดเป็นโรคที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ เนื่องจากผู้ป่วยมักเสียชีวิตบนเตียงผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดไม่นาน เนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก

ในระยะหลัง เมื่อความรู้ทางกายวิภาคของบริเวณขั้วตับดีขึ้นและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับการพัฒนามากขึ้น ทำให้การผ่าตัดบริเวณขั้วตับมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ยังอันตรายกว่าตำแหน่งอื่นๆ ในตับอยู่ดี

ในขณะที่การฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด ได้ผลการรักษาไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับมะเร็งของอวัยวะอื่น

ประเด็นสำคัญในเรื่องการรักษาอยู่ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 8 ใน 10 รายเมื่อมาพบแพทย์ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถให้การผ่าตัดเพื่อการหวังผลหายขาดได้ อาจเนื่องจากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปมากหรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนการผ่าตัดที่ยาวนานได้

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักได้รับการรักษา แบบประคับประคอง มีเพียง 2 รายที่เหลือที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการผ่าตัดมะเร็งตับ เนื่องจากการผ่าตัดตับมีอันตรายมากกว่าอวัยวะอื่น จากการที่ตับเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมากที่สุด

และที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในการผ่าตัดตับที่แตกต่างจากอวัยวะอื่น คือการตัดอวัยวะอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็ง หลายอวัยวะสามารถตัดออกได้เกือบหมดหรือทั้งหมดอวัยวะนั้น ในขณะที่การตัดเนื้อตับออกมีความพิถีพิถันมากกว่า เพราะการตัดเนื้อตับออกมากเกินไปเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะตับวายหลังผ่าตัด จากการที่เนื้อตับส่วนที่เหลือไม่เพียงพอในการทำงานปกติของร่างกาย

นอกจากนั้น หากเนื้อตับส่วนที่เหลือมีความผิดปกติจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือชนิดซีเรื้อรัง หรือมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ยิ่งทำให้โอกาสตัดก้อนมะเร็งออกเพื่อหวังผลหายขาดน้อยลงโดยลำดับ

คำถามที่เกี่ยวกับพยากรณ์โรคหรือผู้ป่วยจะอยู่ได้นานแค่ไหน เป็นคำถามยอดฮิตอีกคำถามหนึ่งที่แพทย์ผู้ไม่ได้รักษาผู้ป่วยโดยตรงไม่อาจฟันธงได้

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการข้อมูลอีกหลายด้าน อาทิ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง คุณภาพเนื้อตับที่ไม่ได้เป็นมะเร็งและสภาพร่างกายโดยรวม เช่น โรคประจำตัวอื่นๆ ของผู้ป่วย

มะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นมะเร็ง ที่พบบ่อยที่สุดในเพศชายและสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในเพศชายของประเทศไทย ติดต่อกันมาหลายปี

ก่อนจาก อยากกล่าวถึงศักยภาพด้านการรักษามะเร็งตับของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ความรู้ความสามารถของแพทย์และทีมงาน การฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ การผ่าตัดมะเร็ง การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

ผู้ป่วยคงไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศ เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุผลอื่นร่วมด้วย

Credit : มติชนรายวัน วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551 หน้า 7

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :01 กรกฎาคม 2553 Last Update :1 กรกฎาคม 2553 12:51:30 น. Counter : Pageviews. Comments :0