bloggang.com mainmenu search
เกือบทุกคนคงต้องเคยเผชิญกับการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หรือหลัง ถ้าอาการดังกล่าวสามารถหายได้ภายใน 2-3 วัน เมื่อพักผ่อน ทายา หรือทานยา

หากอาการปวดทุเราลงก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าอาการปวดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงการเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของอาการ "โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง" หรือ Myofascial Pain ซึ่งหากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษาให้ถูกวิธีจะทำให้มีอาการมากขึ้นจนเกิดโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคปวดศีรษะเรื้อรัง โรคไมเกรน โรคความดันโลหิตสูง อาการนอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โครงสร้างร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

     นพ.แวร์สมิง แวหมะ แพทย์อายุรเวทประจำศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดเรื้อรัง Doctor Care ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือ Myofascial Pain Syndrome ว่า ปัจจุบันมีประชากรกว่าร้อยละ 30 มีปัญหาเรื่องโรคปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในสำนักงานที่ต้องนั่งทำงานและใช้คอมพิวเตอร์นานๆ โดยสาเหตุที่ทำให้มีการปวดมีอาการเรื้อรัง เกิดจากการหดเกร็ง สะสมของกล้ามเนื้อจนเป็นก้อนเล็กๆ ขนาด 0.5-1 ซม. ที่เรียกว่า Trigger Point หรือจุดกดเจ็บจำนวนมาก ซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อและเยื่อ พังผืด การเกิด Trigger Point ทำให้กล้ามเนื้อนั้นขาดเลือดและออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงจนทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณที่มี Trigger Point โดยการอักเสบของ Trigger Point จะส่งอาการปวดไปที่กล้ามเนื้อบริเวณจุดรวมของ Trigger Point และบริเวณใกล้เคียง

     การรักษาด้วยการทานยา ทายา การนวด หรือการใช้ความร้อน เพียงทำให้กล้ามเนื้อส่วนบนมีการคลายตัว แต่ไม่สามารถสลายจุด Trigger Point ได้ ดังนั้นอาการปวดเพียงดีขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้น 2-3 วัน ก็จะกลับมาปวดอีก เนื่องจากยังมีการอักเสบของจุด Trigger Point ภายในกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดยังมีอยู่ อาการที่แสดงออกเด่นชัดของโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังคือ มีอาการปวดร้าวลึกๆ ของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยอาจปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลาทำงาน ความรุนแรงของการปวด มีได้ตั้งแต่แค่เมื่อยล้าพอรำคาญจนไปถึงปวดทรมาน และไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ บางกรณีมีอาการชามือและขาร่วมด้วย บางรายมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อาการนอนไม่หลับ หรือมีอาการผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย เช่น ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หลังงอ คอตก ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (MPS) คือ

1.ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม

2.ลักษณะงานที่ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวต่อเนื่องนานๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์

3.การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อซ้ำๆ

4.การทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อท่าเดียวกันซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง

5.การทำงานของกล้ามเนื้อมากเกินไป ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ

6.การขาดการดูแลและการบริหารกล้ามเนื้อเป็นเรื่องที่โชคดี ที่ในปัจจุบันการรักษาโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือ MPS สามารถรักษาได้โดยวิธีการรักษาที่เรียกว่า "Trigger Point Therapy" ซึ่งใช้การรักษาเพียงอาทิตย์ละครั้ง ประมาณ 4-6 ครั้ง ก็สามารถทำให้อาการปวดเรื้อรังที่รบกวนอยู่ทุกวันหายได้

การรักษาแบบ Trigger Point Therapy เป็นการรักษาเพื่อตัดวัฏจักรการปวดเรื้อรัง

1.ลดอาการปวดที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

2.รักษาที่สาเหตุของการปวดแบบเรื้อรัง โดยการสลาย Trigger Point

3.ป้องกันการกลับมาของ Trigger Point โดยการให้ความรู้ในการทำงานที่ถูกต้อง และการดูแลกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี.


ขอขอบคุณ
ที่มา :
ไทยโพสต์ 2 กันยายน 2551
ภาพประกอบ : www.raincrosschiropractic.com



H O M E
Create Date :20 พฤศจิกายน 2552 Last Update :5 กุมภาพันธ์ 2553 19:52:39 น. Counter : Pageviews. Comments :3