bloggang.com mainmenu search


     เมื่อเอ่ยถึงโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว หลายๆท่านคงคิดถึงแต่ไขมันโคเลสเตอรอล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไขมันยังร้ายน้อยกว่า โรคเบาหวาน ผู้ป่วยไขมัน ในเลือดสูงไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือดทุกราย แต่หากเป็นเบาหวานแล้ว รับรองได้ว่าหากไม่ดูแลให้ดี หรือ แม้แต่ดูแลอย่างดีแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิด โรคหัวใจขาดเลือดในอัตราที่สูงมาก เบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัว อย่างหนึ่งสำหรับโรคหัวใจขาดเลือดครับ

โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติเนื่อง จากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สาเหตุเนื่องจากขาดฮอร์โมน อินซูลิน หรือ ไม่ขาด ฮอร์โมน แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนตัวนี้ ผลที่ตามมาคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ปัจจุบัน หากระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะหลังงดอาหาร 6 ชั่วโมงแล้ว ยังสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เราก็เรียกได้ว่าเป็น "โรคเบาหวาน" ได้แล้วครับ

ระดับน้ำตาลที่สูงนี้เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหา ต่างๆตามมา ที่สำคัญคือเป็นตัวการเร่งให้เกิดการเสื่อม ของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมอง หัวใจ ตา ไต แขน-ขา รวมทั้ง หลอดเลือดแดงเล็กๆที่เลี้ยง ปลายประสาทอีกด้วย ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดงเหล่านี้ ดังนั้นจะเห็นว่า "โรคเบาหวาน" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อ โรคทางสมอง อัมพาต โรคระบบประสาท โรคหัวใจ โรคไต โรคตา แม้กระทั่งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือ ED ด้วย

     ผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นโรคหัวใจได้ใน 2 ลักษณะ คือ เมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมจากเบาหวาน ร่วมกับการที่มีไขมัน ในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิด การตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหากอุดตันก็จะเกิดกล้าม เนื้อหัวใจตายตามมา

นอกจากนั้นแล้ว พบว่าในผู้ป่วยเบาหวาน บางราย กล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยกว่าปกติ บีบตัวน้อย กว่าปกติมาก แต่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่ได้ตีบตัน กลุ่มนี้เชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดฝอยเล็กๆที่ เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จากเบาหวาน เราเรียกกลุ่มนี้ว่า diabetic cardiomyopathy ซึ่งยากต่อการรักษา การรักษาที่ดีที่สุดของกลุ่ม หลังนี้คือการผ่าตัด เปลี่ยนหัวใจ

     ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในผู้ป่วย เบาหวาน คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคหัวใจขาดเลือดหลายราย ไม่แสดงอาการ ผิดปกติทางหัวใจนำมาก่อน เช่น เจ็บหน้าอก เหมือนผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วๆไป บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเหล่านี้แสดงอาการของโรคหัวใจ ครั้งแรกด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ หัวใจล้มเหลว โดย ไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลย ทำให้แพทย์ให้การวินิจฉัยโรค ช้ากว่าปกติ ซึ่งแน่นอนว่าการวินิจฉัยล่าช้าย่อมมีผลเสียต่อการพยากรณ์โรค ในระยะยาวด้วย

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

1 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ตลอดเวลา เพื่อหวังว่าจะช่วยชลอการเสื่อมของ หลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย

2 การดูระดับน้ำตาล ไม่ได้อาศัยเพียงการเจาะเลือดก่อนอาหารเช้าเท่านั้น ควรจะต้องดูละเอียดไปจนถึงระดับน้ำตาลหลังอาหาร และ ค่าน้ำตาลเฉลี่ยในรอบ 3 เดือน โดยดูจากน้ำตาลที่เกาะบนเม็ดเลือดแดงด้วย (Hemoglobin A1C)

3 หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆสำหรับโรคหัวใจก็ต้องควบคุมเป็นอย่างดีด้วย เช่น งดบุหรี่ ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ (น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท) ควบคุม ไขมันโคเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือแอล-ดี-แอล โคเลสเตอรอล ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นต้น ซึ่งหมายความ ว่าจำเป็นต้องใช้ยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วย

4 ลดน้ำหนัก และ ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ การลดน้ำหนักจะช่วยให้ร่างกายไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน

5 จำเป็นต้องตรวจปัสสาวะ ดูการทำงานของไต ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ ตรวจอัลตราซาวน์ดูนิ่วในถุงน้ำดีด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะ เป็นปัญหาในอนาคต

6 เมื่ออายุมากขึ้น ควรตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยละเอียด คือ อัลตราซาวน์หัวใจ (echcardiogram) และ การเดินสายพาน (exercise stress test) เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการจนเป็นมากแล้ว

7 อย่าลังเลหากแพทย์แนะนำให้ท่านรักษาด้วยการฉีดยา(ฮอร์โมนอินซูลิน) หรือรับประทานยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด เพราะ จะเป็นผลดีต่อ ท่านในระยะยาว ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

     หากท่านเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่างๆจากเบาหวานขึ้นแล้ว เช่น ไตวาย หัวใจขาดเลือด อัมพาต ตามองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้ หากเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถแก้ไข ให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าเรายังไม่สามารถ ป้องกันโรคแทรกจากเบาหวานได้ 100 % แต่เราก็อาจชลอ หรือ ลดความรุนแรงของ โรคแทรกเหล่านี้ลงได้ แม้เป็นเบาหวาน ท่านก็อาจมีชีวิตปกติสุขได้


ที่มา :กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์


H O M E
Create Date :24 พฤศจิกายน 2552 Last Update :24 พฤศจิกายน 2552 22:04:15 น. Counter : Pageviews. Comments :0