bloggang.com mainmenu search

โยธิน อยู่จงดี

กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติยังคงแรงอย่างต่อเนื่องอีกทั้งยังมีทีท่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก เราเคยเห็นการแต่งบ้านสไตล์ธรรมชาติ สปา หรือแต่งบ้านลดโลกร้อนกันไปบ้างแล้ว การแต่งนั้นเน้นไปที่ภาพรวมภายนอกและการออกแบบบ้านใหม่เป็นหลัก ในขณะที่ห้องน้ำซึ่งเป็นประเด็นที่เรากำลังพูดถึงในวันนี้กลับเป็นห้องที่หลายคนมักมองข้าม ด้วยความที่เป็นห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งในบ้าน ห้องแคบ ๆ ที่เราใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน หลายคนจึงไม่รู้จะเอาธรรมชาติเข้ามาใส่ไว้อย่างไร วันนี้เรามาพูดถึงการแต่งห้องน้ำสไตล์ธรรมชาติที่พอแต่ง ๆ ไปแล้ว อาจให้ความรู้สึกได้ปล่อยทุกข์กลางทุ่งกันเลยทีเดียว

นำธรรมชาติใส่ห้องน้ำ

     การนำธรรมชาติเข้ามาใส่ไว้ในบ้าน ทำได้ 2 ทาง ก็คือ เปิดผนังโล่งให้เห็นโลกภายนอก รับแสงแดด สายลม และสีสันในโลกกว้าง ต่อมาคือ นำสัญลักษณ์ความเป็นธรรมชาติเข้ามาไว้ในห้องน้ำ ทางแรกเหมาะสำหรับบ้านใหม่และคนที่คิดจะปรับปรุงบ้าน แต่สุดท้ายแล้วนอกจากจะต้องเปิดบ้านเราก็ยังต้องตกแต่งภายในห้องน้ำเสริมอีกทางอยู่ดี

ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างห้องน้ำมากนัก ด้วยการนำกระถางต้นไม้อย่าง พลูด่าง พลูฉลุ พลูฉีก พัดโบก เฟิร์นข้าหลวง กล้วยไม้บางชนิด บอนไซ เข้ามาปลูกในห้องน้ำ ใช้เครื่องปั้นดินเผา หรือแม้แต่การทำรางไม้ควบคู่กับการใช้กระเบื้องในการตกแต่ง หินผิวเกลี้ยงสีขาวหรือดำ จัดเป็นสวนเล็ก ๆ ภายในห้องน้ำ

อย่างไรก็ตาม การแต่งห้องน้ำให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติยังต้องการพื้นที่ในการวางอย่างลงตัว อย่างส่วนที่เปียกน้ำน้อยที่สุดจะเหมาะสำหรับการวางของตกแต่งและควรดูปริมาณแสงแดดที่ส่องลงมาถึงห้องน้ำในแต่ละวันว่ามีขนาดไหน เพราะต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ก็ต้องการ

3 สไตล์ห้องน้ำเสริมธรรมชาติ

1) ห้องน้ำสไตล์บาหลี

     การแต่งห้องน้ำสไตล์บาหลี มีจุดเด่นอยู่ที่การผสมผสานระหว่างธรรมชาติและเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ สะท้อนเอกลักษณ์ของบ้านในเขตป่าร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี สามารถทำได้ด้วยการใช้วัสดุยอดนิยมอย่างไม้แกะสลักลวดลายพื้นเมือง หินทราย เพิ่มอารมณ์เย็น ไม่ให้ไม้นั้นดูอบอุ่นจนเกินไป รวมทั้งใช้ผ้าลายพื้นเมืองบาหลีมาเป็นวัสดุตกแต่งควบคู่กับไม้ในห้องน้ำ จะช่วยเรารู้สึกเหมือนอยู่ในบ้านเขตป่าร้อนชื้นได้อย่างดี

2) ห้องน้ำสไตล์สปา

     การตกแต่งห้องน้ำในสไตล์สปา เริ่มเป็นที่นิยมหลังจากธุรกิจสปาเริ่มบูมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา การแต่งห้องน้ำสไตล์สปานั้นเหมาะสำหรับห้องน้ำที่เปิดโล่งรับธรรมชาติเข้ามาไว้ในบ้าน ของแต่งห้องน้ำสไตล์สปาจะหนีไม่พ้นวัสดุประเภทหินทราย ผ้า และต้นไม้ดอก เข้ามาไว้ภายในห้องน้ำ

ที่สำคัญก็คือตะเกียงน้ำมันหอมระเหยต้องมีติดเอาไว้ตลอด ลองนึกภาพดูว่าเรากำลังนอนแช่น้ำอุ่น ๆ ในอ่างอาบน้ำ พร้อมกลิ่นหอม ๆ ของดอกไม้ท่ามกลางธรรมชาติสีเขียวที่เราจำลองเอาไว้ จะมีความสุขขนาดไหน

3) ห้องน้ำสไตล์รีสอร์ต

     มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างห้องน้ำสไตล์รีสอร์ตและห้องน้ำสไตล์สปา แต่จุดเด่นของห้องน้ำสไตล์รีสอร์ตที่ชัดเจน ก็คือให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมตะวันออกอย่างบาหลีและกลิ่นหอม ๆ ของสปา เราสามารถใส่ความเป็นธรรมชาติได้อย่างต้องการ ด้วยวัสดุอย่าง หิน ทราย ลูกไม้ และของต่าง ๆ ที่หาได้ตามธรรมชาติ โดยแบ่งได้เป็นหลัก ๆ คือ สไสตล์ทะเลและสไตล์ป่าร้อนชื้น

การแต่งสไตล์ทะเล สามารถแต่งได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกพื้นที่แห้งในห้องน้ำส่วนหนึ่ง สำหรับทำพื้นที่ของทะเลเพื่อสร้างอารมณ์ โดยจุดเด่นสำคัญในการสร้างอารมณ์ทะเลมีอยู่ 3 สิ่ง คือ หิน ทราย และหอย ถ้ามี 3 อย่างนี้ อารมณ์ทะเลจะบรรเจิดสุด ๆ

การแต่งสไตล์ป่าร้อนชื้น การแต่งบ้านสไตล์นี้จำเป็นต้องให้ห้องน้ำสามารถรับแสงแดดเท่าที่จะทำได้โดยยังคงความเป็นส่วนตัวอยู่ ต้นไม้ที่ใช้แต่งห้องน้ำจะเป็นไม้ใบที่ต้องการแสงแดดพอประมาณ และความชุ่มชื้นอย่างไม้พวกใบเฟิร์น เป็นต้น การแต่งแนวนี้ไม่ต้องมีอะไรมาก ขอให้ดูแลไม้ใบเหล่านี้ให้สวยงามอยู่เสมอก็พอ แต่ถ้าไม่ต้องการเสียเวลาดูแล เดี๋ยวนี้ตามศูนย์เฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้านมีต้นไม้ปลอมอย่างเนียนขายโดยทั่วไปครับ น่าจะเหมาะสำหรับคนทำงานที่ไม่มีเวลาดูแลเองอย่างยิ่ง

     สุดท้ายหัวใจหลักของการแต่งห้องน้ำให้ใกล้ชิดธรรมชาติก็คือ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นจุดเด่นที่สุดเพียงอย่างเดียว เน้นความสมดุลเป็นหลัก และที่สำคัญก็คือความสวยไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่อยู่ที่ไอเดียและการลงมือทำ เท่านี้คุณก็จะได้ห้องน้ำแบบแนบชิดธรรมชาติราวกับนั่งอยู่กลางป่าได้ไม่ยากเลยครับ

ขอขอบคุณ
ที่มา :
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ.2551 หน้า C8
ภาพประกอบ :www.charlesandhudson.com

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์


H O M E
Create Date :26 มกราคม 2553 Last Update :26 มกราคม 2553 15:42:38 น. Counter : Pageviews. Comments :0