bloggang.com mainmenu search

คอลัมน์ ทัวร์ทโมน

ปริญญา ผดุงถิ่น pui@tourtamoan.com //www.tourtamoan.com

ช่วง 2-3 เดือนนี้ ผมได้โอกาสถ่ายรูปนกเค้าเหยี่ยว (Brown Hawk-Owl หรือ Brown Boobook) ตอนออกหากินกลางคืนถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกที่อุทยานฯแก่งกระจาน ส่วนครั้งที่สองที่หน่วยฯห้วยแม่ดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สดๆ ร้อนๆ ไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เอง

ประสบการณ์ก่อนๆ นั้น หากได้เจอนกเค้าเหยี่ยวง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวัน ก็จะไม่ได้ดูต่อเนื่องไปถึงกลางคืน

เช่นกัน หากได้ดูกลางคืน ก็ไม่ได้ดูกลางวัน

แต่หนล่าสุด ผมกับนกเค้าเหยี่ยวได้อยู่ใกล้ชิดกันมาก เห็นกันแทบทั้งวันทั้งคืน เป็นการเรียนรู้ภาคสนามเกี่ยวกับนกชนิดนี้ ที่ช่วยให้ผมรู้จักตัวตนความเป็น "นกลูกครึ่ง" ของมันได้ดีขึ้นอย่างพรวดพราด

นกเค้าเหยี่ยวมีความพิเศษในตัว ตรงที่ลักษณะของใบหน้าและหาง แตกต่างจากพวกนกเค้าอย่างชัดเจน ราวกับมีการตัดต่อเอาหน้าและหางเหยี่ยว มาใส่ไว้ในตัวนกเค้า

ในภาวะปกติ มันจะออกหากินกลางคืนแบบนกเค้าทั่วไป แต่ถ้าไม่ปกติ ก็มีออกหากินกลางวันเหมือนกัน

เสียงร้องของมัน ใครได้ยินครั้งเดียวก็น่าจะจำได้ตลอดไป ไม่มีสับสนกับนกเค้าชนิดอื่น

เพราะมันร้องว่า "หู่-อั๊บ หู่-อั๊บ" เสียงกลมๆ หวานๆ

เหตุที่ได้โอกาสสังเกตการณ์ใกล้ชิดนกเค้าเหยี่ยว เพราะเป็นช่วงที่มันเลี้ยงลูกวัยรุ่นอยู่ตามต้นไม้ในแคมป์พักแรมพอดี

ตอนกลางคืน ผมได้เห็นลีลาล่าเหยื่อของนกเค้าเหยี่ยวกับตา 2 หน วิธีการของมันคล้ายๆ พวกนกจับแมลง คือโผจากกิ่งเกาะไปจับแมลงกลางอากาศ แล้วบินวนกลับมาที่เดิม

ความมืดตื๋อมาตรฐานตาคน ไม่มีปัญหาเลยกับนกเค้าเหยี่ยว โผ 2 หน ได้แมลงติดกรงเล็บมาทั้ง 2 หน

เวลาตีปีกบินก็มีเสียงดัง ซึ่งแปลว่ามันขาดคุณสมบัติ "บินเงียบ" แบบนกนักล่ากลางคืนแท้ๆ

ตอนเช้าตรู่ฟ้าสาง ยังเห็นมันบินไล่กระรอกที่เพิ่งตื่นนอนจนวิ่งกระเจิง อาการเหมือนเล่นสนุก มากกว่าจะโฉบทำร้ายจริงๆ

เวลาไปนอนตามป่าต่างๆ เป็นเรื่องไม่ยากที่เราจะได้ยินเสียง "หู่-อั๊บ" แว่วๆ มาจากความมืดที่ใดที่หนึ่ง

แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้ยินเสียงร้องนี้ ดังลั่นขับกล่อมอยู่ข้างที่พัก

อย่างที่ผมเจอมาจากห้วยแม่ดี

Credit : ข่าวสดรายวัน 10 พฤษภาคม 2552 หน้า 7

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :26 กรกฎาคม 2553 Last Update :26 กรกฎาคม 2553 10:14:59 น. Counter : Pageviews. Comments :3