bloggang.com mainmenu search
คอลัมน์ ทางเลือกทางรอด

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง


ปกติในชีวิตประจำวันเป็นคนหนึ่งที่ชอบใช้สมุนไพรไทย ถ้าไปเจอที่ไหนจะอุดหนุนตลอด ล่าสุดทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นำผลิตภัณฑ์ครีมสมุนไพรทากันยุงมาให้ทดลองใช้ แค่เปิดฝาก็ได้กลิ่นหอมของตะไคร้ค่อนข้างแรง หะแรกนึกว่าเป็นตะไคร้หอมหรือตะไคร้ที่เราทานกันอยู่ แต่ที่ไหนได้เป็นตะไคร้ภูเขา เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง จึงต้องขอคำอธิบายจาก "อาจารย์แก้วมาลา ปาละกูล" ภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาอาชีพและการควบคุมป้องกันโรคที่นำโดยยุง

     อาจารย์แก้วมาลาบอกว่า การนำสมุนไพรมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงเป็นงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว โดยสกัดจากน้ำมันตะไคร้ภูเขา น้ำมันชิงเฮา และน้ำมันมะกรูด รวมกับขี้ผึ้งและน้ำมันงา โดยตะไคร้ภูเขาจะใช้ผล มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ และไล่ยุง เป็นสมุนไพรร้อน ส่วนชิงเฮาเป็นยาเย็น ดอกมีสรรพคุณแก้ไข้และไล่ยุง เมื่อยาร้อนกับยาเย็นรวมกันจะได้เป็นกลาง ส่วนมะกรูด ใช้ผิวของผลที่มีกลิ่นหอม บำรุงหัวใจ

ครีมนี้สามารถป้องกันยุงได้หลายชนิดทั้งยุงลาย ยุงเสือ ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญ ในระยะเวลา 3-5 ชั่วโมง และยังช่วยบำรุงผิวได้อีกด้วย


มาทำความรู้จักต้นตะไคร้ภูเขากันก่อน ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ จะขึ้นบนภูเขาเท่านั้น สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป ในประเทศไทยพบที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ที่แม่จัน และที่เขาค้อ ส่วนชิงเฮาเป็นไม้ล้มลุก ไม่จำเป็นต้องปลูกที่สูง ปลูกได้ที่เชียงราย และกาญจนบุรี ทั้งนี้ จะเน้นวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย ผลิตมาได้ 3 ปีแล้ว มีทั้งหลอดเล็ก-หลอดใหญ่-ราคา 50 และ 90 บาท มีวางขายที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อนฯ

นอกจากจะมีครีมทากันยุงแล้ว ทางคณะยังได้ผลิตยาหม่องชิงเฮาด้วย ส่วนประกอบจะคล้ายๆ กับครีมกันยุง มีตะไคร้ภูเขา ชิงเฮา และมะกรูด แต่ตัวยาหม่องจะมีส่วนผสมของขี้ผึ้งเยอะกว่า และสามารถใช้รักษาแผลเบาหวานได้ด้วย

     อาจารย์แก้วมาลาเล่าว่า ทางคณะได้จัดอบรมความรู้ในเรื่องการผลิตสมุนไพร โดยสอนให้ทำผลิตภัณฑ์ครีมทาป้องกันยุงกัด ยาหม่องป้องกันยุง ยาหม่องสำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์น้ำมันงาอะโรมามะกรูด น้ำมันไพรคลายเส้น ลูกประคบให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั้งที่แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี ซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะน้ำมันไพล และน้ำมันงาอโรมามะกรูด บางส่วนทำเป็นสินค้าโอท็อป อย่างเช่นที่แม่ฮ่องสอน มีการตั้งกลุ่มเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ปรากฏว่าขายดีมาก ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้


สำหรับสูตรการทำผลิตภัณฑ์ยาหม่องไพลอะโรมาตะไคร้ภูเขาก็ไม่ยาก มีดังนี้ นำขี้ผึ้งแท้ 30 กรัม มาเคี่ยวจนหลอมละลาย (ตั้งไฟ) กรองให้สะอาด แล้วจึงเติมวาสลีน 70 กรัม และน้ำมันไพล 30 กรัม (น้ำมันงาเคี่ยวกับหัวไพรกรองกากทิ้ง) ลงไปเคี่ยวพร้อมกันจนส่วนผสมเข้ากันจนได้ที่ หลังจากนั้นระหว่างรอ ให้นำน้ำมันระกำ พิมเสน เมนทอล การบูร อย่างละ 30 กรัม น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันตะไคร้ภูเขา อย่างละ 10 กรัม มาผสมในภาชนะแก้วหรือสแตนเลส (ไม่ต้องตั้งไฟ) เมื่อคนจนละลายเข้ากันแล้ว ให้นำส่วนผสมที่ตั้งไฟเคี่ยวและส่วนที่ผสมกัน ในขวดแก้วมาผสมกันอีกครั้งหนึ่งถือเป็นอันเสร็จขั้นตอน เมื่อได้ยาหม่องแล้วให้รีบบรรจุผลิตภัณฑ์ในภาชนะขวดแก้วแล้วปิดฝาป้องกันกลิ่นเจือจาง สามารถนำไปทา ถู นวด โดยมีสรรพคุณ แก้เคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ ผดผื่น

ทั้งนี้ การทำครีมสมุนไพรป้องกันยุงสูตรดังกล่าว เป็นสิทธิบัตรของคณะเวชศาสตร์ฯ หากเอกชนรายใดสนใจจะผลิตในรูปอุตสาหกรรม อาจารย์แก้วมาลาแจงว่า สามารถมาเจรจาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยได้ เพราะในท้องตลาดยังไม่มีใครทำขาย

     นอกจากนี้ทางคณะยังสอนชุมชนในเรื่องการทำสบู่ใส โดยใช้กลิ่นตะไคร้ภูเขา ซึ่งชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนก็นำไปทำขาย ชาวต่างชาติชอบมาก เพราะกลิ่นหอมของตะไคร้ภูเขา บางคนใช้แขวนหน้ารถ

สมุนไพรอีกอย่างที่ทางคณะเวชศาสตร์ฯกำลังทำวิจัยและจะทำจำหน่าย คือซีบาล์ม ยาหม่องผักบุ้งทะเล โดยใช้ผักบุ้งทะเลซึ่งเป็นวัชพืชขึ้นอยู่ทั่วไป มีสรรพคุณช่วยลดอาหารปวดแสบปวดร้อนที่ถูกพิษแมงกะพรุน ถ้าทาก่อนลงทะเลจะช่วยป้องกันและรักษาพิษแมงกะพรุน

     ยุคนี้ผู้คนตกงานกันเยอะแยะ ใครสนใจเข้ารับการฝึกการอบรมของคณะเวชศาสตร์ฯในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลากหลายสูตร รวมทั้งสอนทำน้ำหมักชีวภาพจากจุลินทรีย์ EM ปุ๋ยจุลินทรีย์ EM และน้ำยาล้างจาน EM ติดต่อที่โทร.0-2354-9143


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
มติชนรายวัน วันที่ 07 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 หน้า 23


H O M E
Create Date :12 กุมภาพันธ์ 2552 Last Update :12 กุมภาพันธ์ 2552 21:47:40 น. Counter : Pageviews. Comments :2