bloggang.com mainmenu search
คอลัมน์ HEALTH

โดย เกด-ริน


"ไบโอเอเชีย 2008" ก้าวแรก (แต่ก้าวใหญ่) ของประเทศไทยในการประกาศตัว เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพแห่งเอเชียงานนี้ไม่ใช่แค่การนำเสนองานวิจัย แต่ยังเป็นการต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ จึงถือเป็นเวทีพบปะระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักธุรกิจและนักลงทุนกว่า 700 คนจาก 20 ประเทศมาอัพเดตนวัตกรรม เทคโนโลยีทั้งในและ ต่างประเทศ

     ไฮไลต์ในงาน อาทิ การนำเสนองานวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ปีล่าสุด "ศ.ดร.ฮารัลด์ ซูร์ เฮาเซ่น" (จากข้อมูลรายงานว่า โดยเฉลี่ยทุกๆ 4 ชั่วโมงมีหญิงไทยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ 1 คน)

     TCELS Innovation Zone นำเสนอการค้นพบยีนแพ้ยาเนวิราปีน ซึ่งเป็นยาต้าน ไวรัสเอดส์ในสูตรของจีพีโอเวียร์ และการค้นพบยีนแพ้ยาต้านโรคมะเร็งของคนไทย โดยเฉพาะ ซึ่งข้อมูลล่าสุดนี้มีผู้ป่วยโรคเอดส์ไทยใช้ยาต้านไวรัส 139,690 ราย เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อยารวมกว่า 4,382 ล้านบาท การค้นพบยีนแพ้ยานี้จะช่วยลดความล้มเหลวในการรักษา และประหยัดงบซื้อยา ในสูตรดื้อยาลงได้ไม่ต่ำกว่าปีละถึง 5,800 ล้านบาท !

     ไทย สเตมไลฟ์ บริษัทจัดเก็บรักษา สเต็มเซลล์ เปิดเผยข้อมูลความก้าวหน้า ในการรักษาสมองพิการ ด้วยการใช้สเต็มเซลล์จากรกและสายสะดือของทารกแรกเกิดผู้นั้น ปัจจุบันรักษาครบ 1 ปีแล้ว อาการดีขึ้นชัดเจนจนสามารถเดินเองได้โดย ไม่ต้องมีใครช่วย

ด้านไบโอแอ็กทีฟก็ไม่น้อยหน้า เปิดตัวเครื่องตรวจยีนอัตโนมัติเครื่องแรกของโลก ชื่อ "GeneXpert" ซึ่งสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบว่ามีพันธุกรรมเดียวกับตัวอย่างหรือไม่ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น

     นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลงานวิจัยอีกหลายชิ้น ที่น่าสนใจเช่น ม.มหิดลนำเสนองานวิจัยค้นหาสารต้านเชื้อไข้เลือดออก และการวิจัยเพื่อควบคุมยุงลายแนวใหม่ รวมทั้งการวิจัยปลูกพืชเพื่อดูดซึมสารพิษในดินและน้ำ ฯลฯ

ท่ามกลางวิกฤต วิทยาศาสตร์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องของชีวิตและสุขภาพ ยังไงก็ถือเป็นความจำเป็นที่เร่งด่วนยิ่งกว่า...

สู้ KRAS สู้ "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

     งานประชุม American Society of Clinical Oncology (ASCO) ประจำปีล่าสุด เปิดเผยว่า ยีน KRAS (Kirsten Rat Sarcoma : เค-ราส) เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพตัวแรกที่สามารถคาดการณ์ถึงผลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลามได้ ซึ่ง KRAS นี้เป็นพันธุกรรมชนิดหนึ่งในร่างกายมนุษย์ มีหน้าที่กระตุ้นการสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในภาวะปกติ KRAS จะทำงานภายใต้การควบคุมของกลไกร่างกาย แต่หากผิดปกติอาจ กลายพันธุ์และขาดการควบคุม ผลที่ตามมาคือ ทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเร็วขึ้น ทนทานและแพร่กระจายง่ายขึ้น

     รศ.น.พ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดลุกลามทุกคนควรได้รับการตรวจยีน KRAS ในชิ้นเนื้อมะเร็ง โดยข้อดีช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพราะหากพบว่าผู้ป่วยมียีน KRAS แบบ wild type (ซึ่งจะพบประมาณ 60%) จะตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยยาทาร์เก็ตที่จำเพาะต่อ "อีจีเอฟอาร์" (ยาที่มุ่งเป้าไปปิดกั้นสัญญาณที่ตัวรับบนผิวเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ) แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาแบบทาร์เก็ต อีจีเอฟอาร์ ร่วมกับยาเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง แต่หากตรวจพบว่ายีน KRAS ของ ผู้ป่วยเป็นแบบกลายพันธุ์ (40% ของผู้ป่วย) วิธีการรักษาแบบเดิมก็อาจไม่ได้ผลที่ดีพอ การที่แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมียีน KRAS ประเภทใด จะช่วยให้เลือกใช้ยาได้ตรงสาเหตุยิ่งขึ้น"

     วิธีตรวจ เริ่มจากการสกัดสารพันธุกรรม (DNA) จากชิ้นเนื้อมะเร็ง ซึ่งสามารถตรวจจากชิ้นเนื้อที่ทางโรงพยาบาลได้เก็บไว้จากการผ่าตัดอยู่แล้ว ผู้ป่วยจึงไม่ต้องเจ็บอีกครั้ง สำหรับเทคโนโลยีการตรวจ KRAS ในเมืองไทยอยู่ระหว่างการพัฒนา ปัจจุบันใช้เวลาตรวจประมาณ 10 วัน สามารถติดต่อแพทย์เพื่อเข้าตรวจได้ที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ //www.kras-info.com

กินจุบกินจิบอย่างฉลาด

     คุณด้วยรึเปล่าที่ไม่ค่อยกินอาหารเช้า แล้วไปหิวตาลายเอาตอนสายๆ ที่สำคัญมักคว้าขนมหรือของขบเคี้ยวกรุบกรอบใส่ปาก พอตกบ่ายก็เริ่มงงและหิวอีกรอบ...

     อาจารย์กฤษฎี โพธิทัต ที่ปรึกษาด้านโภชนาการ อธิบายว่า คนที่กินอาหารวันละหลายมื้อมีโอกาสอ้วนน้อยกว่าคนที่กินน้อยมื้อกว่าครึ่ง หลายคนอาจคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ แต่จากการวิจัยพบว่าผู้ที่กินอาหารวันละ 4 มื้อเล็กๆ ขึ้นไป (คือ อาหาร 3 มื้อและอาหารว่าง 1 มื้อ) มีโอกาสลดความอ้วนได้ถึง 45%

ทั้งนี้เพราะการกินอาหารระหว่างมื้อทำให้เราไม่หิวมากเกินไป จึงสามารถควบคุมปริมาณอาหาร ในมื้อถัดไปได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้กระปรี้กระเปร่า เริ่มต้นงานได้อย่างสดใส

     ทั่วไป คนจะรู้สึกหิวเมื่อระดับน้ำตาลในเลือด ลดต่ำลงถึงระดับหนึ่ง สมองจึงสั่งการว่า "หิว" และหยุดกินเมื่อรู้สึก "อิ่ม" แต่ระบบการทำงานของร่างกาย กว่าสมองจะรับรู้ว่าอิ่มต้องใช้เวลาถึง 15 นาที ซึ่งร่างกายอาจได้รับอาหารเกินความต้องการไปซะแล้ว นักวิชาการจึงแนะให้เคี้ยวอาหารช้าๆ คำละอย่างน้อย 15 ครั้งก่อนกลืน

     การเลือกของว่างก็มีผลเช่นกัน แนะนำพวก ผลไม้ เพราะมีแป้งและไขมันต่ำแต่มีไฟเบอร์สูง ที่สำคัญ อย่ากินจนอิ่ม แค่รู้สึกว่าไม่หิวแล้วก็ให้หยุด หรือชะลอสปีดในการกินลง ระวังอย่าทำกิจกรรมอื่นๆ ไประหว่างกินอาหารว่าง เพราะจะเพลินจนเกินอิ่ม :D

อาหารระหว่างมื้อ

ผลไม้ที่แป้งน้อย เช่น สับปะรด ชมพู่ ฝรั่ง

แซนด์วิชจากขนมปังโฮลวีต

นมหรือนมถั่วเหลือง

โยเกิร์ตธรรมชาติ

ถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์

ถั่วเมล็ดแห้งต้ม เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง

ผักสดต้มสุก (หน้าพิเศษ D-Life)


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ประชาชาติธุรกิจ 8 ธันวาคม 2551 หน้า 17

H O M E
Create Date :09 ธันวาคม 2551 Last Update :9 ธันวาคม 2551 18:18:20 น. Counter : Pageviews. Comments :0